|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
วานนี้ (25 ก.ค.48) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้การต้อนรับนายโยอิชิ โอกุดะ ประธานสหพันธ์ภาคธุรกิจญี่ปุ่นหรือเคดันเร็น และประธานคณะกรรมการผู้บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน แห่งประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายทนง พิทยะ รมว.พาณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายไทย ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นประกอบด้วย นายโฮชิ มาซาโยชิ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายกิจกรรมภาครัฐและอุตสาหกรรม บริษัทโตโยต้า, นายนิชิกาว่า โยคิโอะ เลขานุการภาคพื้นโตเกียว, นายเรียวอิจิ ซาซากิ ประธานบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย และนายโทกิโนโยะ อาซูชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมหารือ
ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าวแสดงความยินดีที่การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEP) คืบหน้าไปได้ด้วยดี และหวังว่าการเจรจาจะสำเร็จโดยเร็ว โดยได้ระบุถึงประเด็นสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ฝ่ายไทยมีความสนใจ พร้อมกับย้ำว่าการเข้าสู่ตลาดสินค้าเกษตรในตลาดญี่ปุ่นค่อนข้างยาก ญี่ปุ่นควรจะเปิดกว้างในประเด็นดังกล่าว และไม่อยากที่จะให้เกิดกรณี ที่ตกลงกันได้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังถูกกีดกัน
โดยในเรื่องนี้ ทางญี่ปุ่นแจ้งว่าได้มีการเปิดกว้าง ในการเจรจาเปิดเสรีสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้นแล้ว ซึ่ง นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายทนงเป็นตัวแทนเพื่อเจรจาหาข้อยุติต่อไป
ขณะเดียวกัน นายกฯ ได้กล่าวขอบคุณญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการเจรจาและสนับสนุนนโยบาย Detroit of Asia ของไทย และรับทราบความต้อง การของฝ่ายญี่ปุ่นที่สนใจในสินค้าอุตสาหกรรม
"ในการพบกันครั้งนี้ นายกฯ ขอให้ญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้องของไทยในการเจรจา เพราะพื้นฐานการเจรจาของฝ่ายไทยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ประโยชน์ของผู้บริโภคและการจ้างงานโดยรวม มิใช่ ภาคธุรกิจใดภาคธุรกิจหนึ่ง และพยายามให้การเจรจาเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย" แหล่งข่าวกล่าวถึงข้อ เสนอของนายกรัฐมนตรีต่อผู้เข้าร่วมหารือฝ่ายญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ในการหารือ ประธานสมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ความเห็นต่อการเจรจาเอฟทีเอ โดยได้แสดงความกังวลค่อนข้างมากต่อการลดภาษีในหมวดสินค้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย เพราะไทยยังมีการปิดกั้นการเปิดเสรีค่อนข้างมาก "
ประธานเคดันเร็นบอกว่ายินดีสนับสนุนให้ไทย เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเพื่อส่งออกไป ยังภูมิภาคต่างๆ เนื่องจากไทยมีศักยภาพและพื้นฐาน ทางอุตสาหกรรมและการผลิตที่ดี อีกทั้งการพัฒนาฐานการผลิตสินค้าญี่ปุ่นในไทยจะส่งผลดีต่อการบริโภค การเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง การจ้างงาน และการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลไทย รวมไปถึงความหลากหลายของการผลิตสินค้าและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่จะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย และคาดหวังว่าจะมีความชัดเจนของการเจรจา" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ขอความชัดเจนจากนายกฯ ในเรื่องการเปิดเสรีรถยนต์ขนาดสูงกว่า 3000 ซีซี และการลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำว่าพร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอของญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นจะต้องพิจารณาข้อเสนอของไทยในเรื่องเกษตรด้วย ทั้งนี้ รายละเอียดต่างๆ ได้มอบหมายให้เป็นหน้าของที่หัวหน้าคณะเจรจา (นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงต่างประเทศ) ที่จะต้องไปเจรจากันต่อไป
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการหารือฝ่ายญี่ปุ่นแจ้งว่า ท่าทีของนายกรัฐมนตรีต่อข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นในครั้งนี้ดีมาก เพราะมีแนวโน้มว่าไทยจะรับพิจารณาข้อเสนอของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการเปิดเสรีรถยนต์ และลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ โดยนายกฯ พูดทำนองว่าถ้าเปิดให้ญี่ปุ่นแล้ว ค่ายรถยุโรปที่ต้องการเปิดตลาดในไทย ก็ควรที่จะมาทำเอฟทีเอกับไทย จึงจะได้สิทธิ์ที่เท่ากัน
ค่ายรถหรูนอกญี่ปุ่นค้านสุดตัว
นายวิชัย จั่วแจ่มใส เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า สมาคมฯได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยหากจะมีการเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ขนาด 3000 ซีซี ขึ้นไปทันที หลังจากมีการทำข้อตกลงเอฟทีเอขึ้น "
สมาคมฯได้ชี้แจงไปยังคณะเจรจาเอฟทีเอไปแล้วว่า หากเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทันทีเป็น 0% จะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ประกอบในประเทศ หรือ CKD ตายทันที"
ทั้งนี้ สมาคมอุตฯ และกลุ่มอุตสาหกรรม ยานยนต์ฯ เห็นว่า หากเปิดเสรีนำเข้าทันทีไม่เพียงส่งผลกระทบรถยนต์ในระดับเดียวกัน แต่ยังลามไปถึงรถยนต์ที่มีขนาด 2000 ซีซีขึ้นไปด้วย สุดท้ายก็ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยหันไปใช้รถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ใหญ่ราคาถูกกว่า
นอกจากนี้ยังเกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิตที่เข้ามาลงทุนในไทยก่อนหน้านี้ ซึ่งเขาเข้ามาตามคำชักชวนของรัฐบาลว่า จะให้อย่างนั่นอย่างนี้ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบายไปอีกอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่รัฐบาลชักชวนเข้ามา แล้วอย่างนี้จะบอกว่าผู้ประกอบการเขาผิดหรือไม่
นายวิทย์ สิทธิเวคิน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า เข้าใจเรื่องที่รัฐบาลจะสรุปการเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นให้จบภายในสิ้นเดือนนี้ แต่บางภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบรุนแรง ควรที่จะมีระยะเวลาในการปฏิบัติระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว
ทั้งนี้ การเปิดเสรีรถยนต์นำเข้าขนาด 3000 ซีซีขึ้นไปไม่อยากจะให้รัฐบาลเร่งรีบเปิดทันที ควรจะมีระยะเวลาประมาณ 5 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัว รวมถึงรัฐบางเองจะได้กลับมาศึกษาข้อดีและเสียของการเปิดเสรีให้รอบคอบ เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ในประเทศที่มีการวางรากฐานมา ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สำหรับทางค่ายวอลโว่และออดี้ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ในเรื่องดังกล่าวขณะนี้ทางบริษัทยังไม่สามารถที่จะให้ความคิดเห็นอะไรได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ซึ่งในขณะนี้ทางรัฐบาลเองยังไม่ได้ประกาศชัดเจนในเรื่องของการยกเลิกภาษีดังกล่าวเป็นเพียงแค่กระแสข่าวในช่วงนี้เท่านั้นจึงต้องรอให้ทางรัฐบาลประกาศนโยบายที่ชัดเจนก่อน
**ไทยเตรียมสรุปท่าทีวันนี้
นายทนง พิทยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การพบปะกันในครั้งนี้ ไม่มีอะไรมาก เป็นการมาหารือถึงความคืบหน้าของการเจรจา ซึ่งทางญี่ปุ่นมาแจ้งว่าพร้อมที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ส่วนไทยจะต้องเปิดเสรีอะไรตอบแทน เป็นเรื่องที่คณะเจรจาจะต้องไปเจรจากันต่อไป
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เป็นการหารือกันตามปกติ ไม่มีเรื่องของการกดดันอย่างแน่นอน ซึ่งการเจรจาเปิดการค้าเสรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้น ทุกอย่างจะเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ และเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
"เรื่องกดดันไม่มีแน่นอน เป็นการพูดคุยกันธรรมดา หารือกันตามปกติ" นายสมคิดกล่าว
ทางด้านนายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า คงต้องไปเจรจากันต่อ แต่จะยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เพราะอะไรที่ญี่ปุ่นเรียกร้องมาแล้วทำความเสียหายให้แกไทยก็คงจะไม่รับง่ายๆ และหากอะไรที่เป็นประโยชน์ก็จะผลักดันให้ญี่ปุ่นรับข้อเสนอของไทย โดยเฉพาะเรื่องสินค้าเกษตร
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ที่กระทรวงพาณิชย์ นายทนงกล่าวอีกครั้งว่า วันนี้ (26 ก.ค.) จะมีการประชุมร่วมกันของคณะทำงานจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยมีนายสมคิดเป็นประธาน มีนายพิศาล และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งจะเป็นการประชุมเตรียมการก่อนที่คณะเจรจาฝ่ายญี่ปุ่นจะเข้าพบพ.ต.ท.ทักษิณ ช่วงปลายเดือนนี้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าการเจรจาจะจบลง และคาดว่าจะสามารถ ลงนามได้ในเร็วๆ นี้
"ในรอบนี้จะมีการคุยกันในรายละเอียดที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพื่อให้ได้ข้อสรุป ส่วนที่ภาคเอกชนเรียกร้องว่าสินค้าเกษตรไทยได้น้อยไป ไม่คุ้มกับที่เรายอมเปิดตลาดให้ญี่ปุ่น อยากให้เข้าใจว่า ทุกประเทศต้องปกป้องอุตสาหกรรมภายในของตัวเองอยู่แล้ว การที่จะมาดูว่าใครได้ใครเสียนั้นยาก" นายทนงกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า การเจรจานอกรอบระดับคณะทำงานของทั้ง 2 ฝ่ายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายญี่ปุ่นได้ขอไทยให้พิจารณาตอบสนองข้อเรียกร้องฝ่ายญี่ปุ่นในเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์เพิ่มมากขึ้น โดยญี่ปุ่นขอให้ไทยยกเลิกภาษีรถยนต์สำเร็จรูปทั้งขนาดต่ำและสูงกว่า 3000 ซีซี ภายในปี 2553 และในระหว่าง 5 ปีนับจากวันที่ลงนามความตกลงนี้ไปจนถึงปี 2553 ขอให้มีโควตาปลอดภาษีให้รถยนต์สำเร็จรูปญี่ปุ่นด้วย ส่วนชิ้นส่วนยานยนต์ ญี่ปุ่นขอให้ไทยยกเลิกภาษีให้ทุกรายการเร็วกว่า 7 ปี
ในเรื่องนี้นายทนงกล่าวว่า เรื่องที่ไทยจะลดภาษีรถยนต์ CBU และชิ้นส่วนยานยนต์ ให้ฝ่ายญี่ปุ่นหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรมกับคณะเจรจาที่จะต้องตกลงกันว่าจะเปิดตลาดให้สินค้าญี่ปุ่นหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะคุยกันในรายละเอียดในวันนี้เช่นเดียวกัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้จะเป็นการประชุมรับฟังข้อมูลจากคณะเจรจาฯของฝ่ายไทยเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปกรอบของความร่วมมือทั้งหมด ก่อนที่จะมีการประชุมเจรจาร่วมกันระดับรัฐมนตรีของทั้ง 2 ฝ่ายอีกครั้งปลายเดือนนี้ เพื่อสรุปการจัดทำข้อตกลงเอฟทีเอ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการลงนามระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย กับรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น โดยมีนายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นสักขีพยาน
|
|
 |
|
|