|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หุ้นไทยเด้งรับจีนปรับค่าเงินหยวน บวก 10.72 จุด หรือปิดที่ 659.64 จุด ประธานบลจ. กสิกรไทยเตือนนักลงทุนระวังเงินร้อน ด้าน "สมคิด" ยังเดินหน้าหาประโยชน์จากหยวน เตรียมดึงบริษัทจดทะเบียนชั้นนำของไทยโรดโชว์เมืองจีนสิงหาคมนี้ หวังดึงเม็ดเงินลงทุนจากจีนเข้าประเทศ พร้อมสั่งทีมที่ปรึกษากระทรวงคลัง-แบงก์ชาติดูแลค่าผลกระทบจากการประกาศลอยตัวหยวนใกล้ชิด ภาคเอกชนแนะแบงก์ชาติไม่ควรแทรกแซง ค่าเงิน
ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (25 ก.ค.) ดัชนีเปิดตัวในแดนบวกและปิดที่ 659.64 จุด เพิ่มขึ้น 10.72 จุด (1.65%) ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของวัน ขณะที่จุดต่ำสุดอยู่ที่ 652.16 จุด มูลค่าการซื้อขาย 10,893.89 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการปรับค่าเงินหยวนของประเทศจีน โดยนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 1,151.71 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 29.30 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,181.01 ล้านบาท
นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวรานนท์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดปรับตัวขึ้นทางเทคนิค และเป็นผลจากการปรับค่าเงินหยวนของประเทศจีน โดยหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวแรง คือ กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ เช่น PTT, PTTEP, KBANK ซึ่งหุ้น PTTEP นำตลาดเนื่องจากการได้รับสิทธิในการสำรวจปิโตรเลียมที่พม่า ด้านมูลค่าการซื้อขายที่เบาบางเนื่องมาจากตลาดยังมีความเปราะบางอยู่ "
มูลค่าการซื้อขายยังน้อยนั้น เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มีความมั่นใจในตลาด และเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งข่าวการปรับขึ้นค่าเงินหยวนเป็นปัจจัยบวกที่มีน้ำหนักไม่มากพอ ทั้งนี้นักลงทุน ยังรอดูว่าจะมีการขาดดุลการค้าหรือไม่" นางสาวปองรัตน์กล่าว
นายสุกิจ อุดมศิริกุล หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุน บล. พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินหยวน แข็งค่าขึ้นประมาณ 2% ยังไม่มีนัยมากนักที่จะกระทบธุรกิจ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นเรื่องดังกล่าวคงไม่ส่งผลต่อพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน แต่หากแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นยังมีอย่างต่อเนื่องซึ่งก็มีความเป็นไปได้ก็อาจจะสร้างผลกระทบได้ในที่สุด
ในช่วงนี้เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่เป็นนักลงทุนเก็งกำไรเข้ามา เนื่องจากนักลงทุนจำนวนมากยังกังวลใน ปัจจัยต่างๆ อยู่ ขณะนี้การลงทุนควรถือครองเงินสด มากกว่า ส่วนที่ยังมีหุ้นอยู่ในพอร์ตควรรอให้ดัชนีมีการปรับขึ้นก่อนจึงค่อยขายออกมา
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เชื่อว่าการปรับตัวขึ้นของดัชนีในครั้งนี้เป็นการขึ้นในช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น ขณะเดียวกันตลาดหุ้นในภูมิภาคก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ปัจจัยราคาน้ำมัน และตัวเลขเศรษฐกิจ ที่จะประกาศภายในสัปดาห์นี้ ยังถือเป็นปัจจัยที่นักลงทุนจะต้องจับตามอง แนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้ คาดว่าตลาดห้นมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้อีก แต่อาจจะไม่ปรับตัวขึ้นมามากเหมือนกับวานนี้ โดยหุ้นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการปรับค่าเงินหยวนได้แก่กลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มพลังงาน
ชิ้นส่วนยานยนต์ดี-ปิโตรฯรับผลลบ
นายสาธิต วรรณศิลปิน ผู้จัดการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. พัฒนสิน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดในการปรับขึ้นค่าเงินหยวน ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ได้รับประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยค่าเงินบาท ที่แข็งค่าช่วยให้ต้นทุนการนำเข้าลดลง ส่วนกลุ่มพลังงาน ประเภท โรงกลั่นและถ่านหิน ระยะสั้นคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนนำเข้าที่ลดลง และระยะยาวเสียประโยชน์จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากอุปสงค์ของจีนที่ลดลง
ด้านกลุ่มปิโตรเคมีจะได้รับผลกระทบในด้านลบเนื่องจากรายได้อยู่ในรูป $US และจากการส่งออก และเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ลดลง ขณะที่กลุ่มธนาคารไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
สมคิดนำ บจ.โรดโชว์จีน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง กรณีที่จีนประกาศลอยตัวค่าเงินหยวนแบบมีการจัดการว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีของตลาดหุ้นไทย ที่จะสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากจีนได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) ได้เตรียมที่จะนำบริษัทชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดฯไปโรดโชว์ที่ประเทศจีน เพื่อให้นักลงทุนจีนได้รู้จักบริษัทดังกล่าว มากขึ้น
"ผมคิดว่าช่วงเดือนสิงหาคม 2548 เป็นช่วงเวลา ที่เหมาะสม เพราะการที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นก็ทำ ให้นักลงทุนจีนมีอำนาจในการซื้อมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็น ช่วงเวลาที่ดีที่เราจะนำบริษัทชั้นนำของไทยไปแนะนำให้นักลงทุนจีนรู้จักถึงที่ ซึ่งตรงนี้จะสามารถดึง เม็ดเงินลงทุนให้มาบ้านเราได้มากขึ้น"
นายสมคิดกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทีม ปรึกษากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ยังไม่จำเป็น ต้องเรียกธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เข้ามาหารือถึงมาตรการรองรับในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม การที่จีนปรับค่าเงินหยวนนั้น ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงตลอด อีกทั้งยังส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยอีกด้วย
"หลังจากที่เปิดตลาดช่วงเช้าวานนี้แล้ว ทิศทาง ตลาดหุ้นยังไปในทางที่ดี ไม่มีอะไรผิดปกติ ผมว่าตอนนี้ยังเป็นจังหวะที่ดีเพราะทำให้ตลาดหุ้นไทยได้ประโยชน์ตรงนี้ไปด้วย ไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด" นายสมคิดกล่าว
หม่อมอุ๋ยยันปล่อยบาทตามกลไก
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในวานนี้ (25 ก.ค.) หลังปิดตลาดในประเทศ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 40-42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับที่ค่อนข้างนิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่น โดยยังนิ่งต่อเนื่องตั้งแต่วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลังจากการประกาศลอยตัวค่าเงินหยวน ของจีน ซึ่งทำให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น 2% ส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่นแข็งค่าขึ้นตามลำดับ เช่น เงินเยนแข็งขึ้น 1.1% เงินยูโรแข็งขึ้น 1.204% ขณะที่เงินบาทแข็งขึ้นเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ ดังนั้น ธปท.จะยังปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามธรรมชาติอีกระยะหนึ่ง "
หลังจากเปิดตลาดออนชอร์ช่วงเช้าวันจันทร์ ค่าเงินของเราก็ยังนิ่งอยู่ ซึ่งการที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น 2% ขณะที่ค่าเงินบาทของเราแข็งขึ้นแค่ 1% ต้องถือว่าน่าพอใจ ตอนนี้คงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดก่อน" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปรับค่าเงินหยวนของจีนว่า ในส่วนของไทยคงไม่ได้รับผลดีหรือผลเสีย เพราะเป็นการปรับตัวของค่าเงินจีนในทิศทางที่สหรัฐฯอยากให้เป็นมานานแล้ว
สิ่งที่ต้องจับตาต่อไป ได้แก่ สหรัฐฯจะพอใจการปรับ ค่าเงิน หยวนของจีนในช่วงที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม ทางการจีนคงจะเน้นการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยลักษณะการปรับเปลี่ยนค่าเงินจะต้องทยอยปรับ เพื่อไม่ให้เป็นการทำร้ายตนเองมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่จีนจะต้องหาจุดสมดุล
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธาน บลจ. กสิกรไทย กล่าวว่า ใน 12 เดือนข้างหน้า คาดว่าค่าเงินหยวนจะค่อยๆ แข็งค่าขึ้นไปอีกร้อยละ 5-10 ซึ่ง ขณะนี้ต้องติดตามดูว่าทางการจีนจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งตามทฤษฎีแล้วเงินหยวนแข็งค่าขึ้นจะกระทบทำ ให้การส่งออกของจีนลดลง และกระทบต่อการขยาย ตัวทางเศรษฐกิจของจีน แต่ต้นทุนสินค้าของจีนนั้นยังได้เปรียบเรื่องต้นทุนค่าแรง จีนยังเกินดุลบัญชีเดิน สะพัดมหาศาล ดังนั้น จึงเป็นที่คาดว่าจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนให้ชะลอลงประมาณร้อยละ 0.1-0.2 จากที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9 ในปีนี้ "
ภาพรวมหลังจากค่าเงินหยวนแข็งขึ้น ค่าเงินเอเชียรวมถึงเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นตาม แต่ก็นับว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะส่งออกสินค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผลดีที่ตามมาคือนักลงทุนจะสนใจมาลงทุนในตลาดทุนของเอเชียมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นของไทยจะได้รับผลบวกมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักด้วย และจากนี้ไปกลไกของค่าเงินจะเดินได้ด้วยตัวเอง ประกอบกับไทยมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ธปท. จึงไม่ควรจะเข้าไปแทรกแซงค่าเงินอีก" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า ในระยะสั้นจะมีเงิน ทุนต่างประเทศไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทย แต่อาจจะเป็น ระยะสั้นๆ ดังนั้น นักลงทุนชาวไทยจึงควรระมัดระวังการลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย ถดถอยสวนทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยปี 2547 มูลค่าซื้อขายติดลบร้อยละ 13.5 ในขณะที่ปีนี้ก็มีมูลค่า การซื้อขายที่ไม่ดีนัก ซึ่งหากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศ เช่น ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การเร่งการส่งออก การแก้ปัญหาภาคใต้ การสร้างความมั่นใจของนักท่องเที่ยวจากผลกระทบสึนามิ หากแก้ปัญหาได้ดีก็จะสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนและกลับเข้ามาซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้น
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า โดยสรุปแล้ว การปรับค่าเงินหยวนของจีนได้ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการแข็งค่าในอัตราที่น้อยกว่าการปรับค่าเงินหยวน ซึ่งทำให้ในรอบ แรกนี้ดูเหมือนว่า การปรับค่าเงินหยวนดังกล่าว น่าจะเป็นผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซีย รวมทั้งไทย โดยที่ไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกไปยังจีน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ควรจะตระหนักก็คือ จีนได้หันมาผูกค่าเงินของตนกับตะกร้าเงิน ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเงินแบบค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ที่จะทำให้การเคลื่อนไหวของเงินหยวน/ดอลลาร์ มีอัตราน้อยกว่าการเคลื่อนไหวของเงินเยน/ดอลลาร์ และเงินยูโร/ดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน ทางการจีนยังจำกัดกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน/ดอลลาร์ไว้ที่เพียงร้อยละ 0.3 จากค่ากลางที่ทางการจีนเป็นผู้กำหนด ซึ่งการใช้ระบบดังกล่าวน่าจะทำให้จีนยังคงสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันของตนไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินดอลลาร์ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เงินเยนและเงินยูโรแข็งค่าขึ้น แต่ภายใต้ระบบตะกร้าเงินที่จีนใช้ เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าเงินเยนและเงินยูโร
สำหรับผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนนั้น แม้ว่ากระแสการเก็งกำไรในค่าเงินหยวนและค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาค อาจจะส่งผลให้เงินทุนจากต่างประเทศ ไหลเข้าสู่ตลาดทุนของไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ตลาดหุ้นและค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้นได้ ส่วนผลต่อตลาดพันธบัตรนั้น การแข็งค่าของเงินบาทน่าที่จะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ผ่านการปรับลดของต้นทุนการ นำเข้าสินค้า โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งทำให้น่าจะถือได้ว่า เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดพันธบัตรไทย
"สิ่งที่ตามมาจากการปรับค่าเงินหยวนของจีน ก็คือความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงดังกล่าว นอกจากจะมีผลต่อผู้ส่งออกและนำเข้าแล้ว ยังจะมีผลโดยตรงต่อแบงก์ชาติในการที่จะบริหารจัดการทุนสำรองของประเทศ"
|
|
|
|
|