|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2548
|
|
ในขณะที่รัฐไทยกำลังแก้ปัญหาน้ำมันแพงโดยประกาศให้ประชาชนประหยัดไฟ และกำหนดให้สถานีวิทยุโทรทัศน์งดออกอากาศหลังเที่ยงคืนนั้น ประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรปกำลังพยายามแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการเสาะแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ในการผลิตพลังงานมาทดแทนการพึ่งน้ำมันหรือแหล่งพลังงานที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
ทางเลือกหนึ่งก็คือการใช้พลังลมจากกังหันหมุน (Wind Farm) กังหัน (Turbine) สีขาวสูง (เฉลี่ยประมาณ 25-80 เมตร) พร้อมใบพัดสามใบ ตั้งอยู่ตามท้องทุ่งของชนบทอังกฤษ เป็นภาพที่ยังไม่คุ้นตาของอังกฤษนัก ไม่ใช่เพราะกังหันที่ว่านี้เป็นเทคโนโลยีใหม่แกะกล่อง แต่เป็นเพราะกระแสต่อต้านการติดตั้งกังหันในท้องไร่ จากชาวไร่และชาวชนบทของอังกฤษมากกว่า
อังกฤษเริ่มติดตั้งกังหันผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นตัวแรกที่ฟาร์มชื่อ Delabole ในแถบคอร์นวอลล์ ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1991 โดยมีกังหันด้วยกันทั้งหมด 10 ตัว แต่ละตัวผลิตกระแสไฟได้ 400 กิโลวัตต์
จากวันนั้นถึงวันนี้ (มิ.ย.05) อังกฤษมีกังหันผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ทั้งหมด 1,273 ตัว ภายในฟาร์ม 105 แห่งทั่วประเทศ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1,037.7 เมกะวัตต์ จ่ายไฟให้กับประชาชนได้กว่าครึ่งล้านครัวเรือน (ข้อมูลจากสมาคมพลังงานลมของอังกฤษ (The British Wind Energy Association))
ในอนาคตรัฐบาลอังกฤษมีแผนที่จะพึ่งกังหันให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้เป็นปริมาณ 10% จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ทุกประเภทภายในปี 2010 นี้ ซึ่งจะคิดเป็น 3% ของจำนวนกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ทั้งประเทศใช้ในแต่ละปี
ถ้ากังหันมีประโยชน์ช่วยลดมลภาวะและลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานที่สูญสิ้น เช่นน้ำมันกับถ่านหินแล้ว ทำไมชาวอังกฤษ หลายคนถึงต่อต้านเทคโนโลยีดังกล่าวกันนัก
เหตุผลหนึ่งที่ถูกยกมาแย้งก็คือ พลังงานลมผลิตไฟได้น้อย และเชื่อถือไม่ได้ วันไหนที่ไร้ลมหรือลมน้อย กระแสไฟผลิตได้ไม่เพียงพอ ถ่านหินหรือน้ำมันก็จะต้องถูกนำมาใช้แทนอยู่ดีและต้องมีเตรียมสำรองไว้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการพึ่งแรงลมอย่างเต็มที่แทนแหล่งพลังงานที่สูญสิ้นนั้นไม่มีวันเป็นไปได้
บ้างก็ว่ากังหันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เช่นแหล่งที่ลมแรงมักเป็นเขตป่าสงวน การนำกังหันไปติดตั้งตามที่ดังกล่าวจะทำลายทัศนียภาพอันงดงามของอังกฤษไป รายได้จากการท่องเที่ยวจะพลอยลดลงไปด้วย นอกจากนี้กังหันที่ปั่นเร็วมากๆ เป็นสาเหตุทำให้นกเป็นจำนวนมากต้องตายลง เพราะบินเข้าไปหากังหันขณะจับเหยื่ออยู่จึงถูกปั่นจนตัวขาด อย่างในกรณีของกังหันที่อัลตามองต์ แคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ ที่คร่าชีวิตนกจำนวนประมาณ 1,700-4,700 ตัวไปในแต่ละปี เพราะถูกกังหันปั่นตาย (The Guardian 6 กรกฎาคม 05) อีกทั้งชาวนาหลายคนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่มีกังหันติดตั้ง ก็บ่นว่าเสียงดัง "ฮึมๆ" ของใบพัดหลายตัวที่ถึงจะไม่ดังมากแต่ก็ดังอยู่ตลอดเวลา เป็นมลพิษทางเสียงที่ก่อกวนชีวิตอันเป็นปกติสุขของตนและครอบครัวจนหลายคนทนไม่ได้ ครั้นจะย้ายกังหันไปติดตั้งในทะเล ก็ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายมาก แถมยังอาจไปกินที่แหล่งจับปลาของชาวประมง เกิดเป็นข้อพิพาทกันเข้าไปอีก สรุปก็คือหลายคนเสนอให้โละเทคโนโลยีกังหันนี้ทิ้ง
แต่ทางสมาคมพลังงานลมของอังกฤษกลับโต้ข้อกังขาดังกล่าวทั้งหมด โดยรายงานว่ากังหันลมของอังกฤษนั้นปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้เกินระดับ 1,000 เมกะ วัตต์แล้ว นับเป็น 1 ใน 8 ประเทศทั่วโลกที่ผลิตไฟฟาจากลมได้เกินระดับนี้ (โดยมีเยอรมนีนำหน้าสุด สามารถผลิตไฟฟาจากแรงลมได้ถึง 16,629 เมกะวัตต์) อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากลมในประเทศอังกฤษ มีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งทางสมาคมฯ หวังว่าคงจะสามารถผลิตไฟฟาได้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังแย้งว่า การติดตั้งกังหันใช้พื้นที่เพียงน้อยนิด ชาวนายังสามารถใช้ที่ดินที่เหลือทำการเกษตร ปล่อยแกะเล็มหญ้าต่อไปได้ตามเดิม ส่วนเรื่องมลพิษทางเสียงนั้น ถึงจะก่อปัญหาแก่คนบางกลุ่มบ้างแต่ก็ไม่มากนักถึงกับเป็นอันตราย และจริงๆ แล้วเสียง "ฮึมๆ" ที่น่ารำคาญก็มีอยู่ทั่วไปและมีตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ได้มาจากกังหันเท่านั้น ปัญหาจริงๆ จึงน่าจะมาจากความรักธรรมชาติเกินเหตุของชาวชนบทอังกฤษบางกลุ่มมากกว่า ที่จะเอาแต่ชื่นชมทิวทัศน์อันงดงามตามทุ่งนารอบๆ บ้านของตัวเอง หรือมัวแต่กลัวราคาที่ดินแถวบ้านจะตกเพราะมีกังหันไปติดตั้ง คอยแต่จะปกป้องผลประโยชน์ของตน โดยไม่คำนึงถึงอนาคตและวิกฤติพลังงานที่เรากำลังเผชิญกันอยู่
ถ้าพูดถึงการรักษาธรรมชาติและช่วยกันประหยัดพลังงานแล้ว อังกฤษยังล้าหลังประเทศอื่นๆ ในยุโรปอยู่มาก ในขณะที่หลายประเทศรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะเพื่อนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) มานานนมแล้ว ความคิดดังกล่าวในประเทศอังกฤษยังคงเป็นได้แค่ความคิดเท่านั้น ที่นิวคาสเซิลนี้ทางเทศบาลทำได้ก็แค่ติดป้ายโฆษณารณรงค์การรีไซเคิลและลดการใช้พลังงานตามที่ต่างๆ หรือลงประกาศในนิตยสารรายเดือนแจกฟรีของทางเทศบาล ว่าภายในเขตนิวคาสเซิลมีจุดรับขยะประเภทแก้ว พลาสติก และขยะสดที่สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้ ตั้งอยู่ที่ใดบ้าง แต่ละจุดที่เขาตั้งไว้นั้น อยู่ห่างจากตัวเมืองไปไกลโข คนที่มีรถและอนุรักษ์ธรรมชาติจริงๆ เท่านั้น ถึงจะมีปัญญาขนขยะจากบ้านตัวเองไปส่งตามจุดต่างๆ ได้ ส่วนภายในตัวเมืองนิวคาสเซิล เทศบาลทำได้แค่จัดถังรองรับขยะประเภทหนังสือพิมพ์ ขวดพลาสติก และกระป๋องน้ำอัดลม ซึ่งมีตั้งอยู่เพียงไม่กี่จุด แถมยังไม่มีถังรองรับขวดแก้วไว้ด้วย ดูแล้วเหมือนจะเป็นโครงการที่ทำไม่เสร็จหรือทำลวกๆ มิหนำซ้ำภายในตึกเทศบาลของเมืองนิวคาสเซิล เหล่าพนักงานก็ยังเปิดไฟตามห้องต่างๆ ทิ้งไว้ทั้งคืน ไฟเหลืองนวลของโคมไฟห้อยระย้าจากห้องประชุมใหญ่มักถูกเปิดทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ ทั้งๆ ที่ทางรัฐบาลเองรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน แต่ตนกลับไม่ยอมทำให้ประชาชนเห็นเป็นแบบอย่าง
ผิดกับเมืองเล็กๆ ติดทะเลอย่างเมืองฟาโนของอิตาลี ที่ผู้คนแยกขยะแห้งขยะเปียก และขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ กันมานานแล้ว หรือประเทศอนุรักษ์พลังงานอย่างเยอรมนีที่นอกจากจะรีไซเคิลกัน เป็นกิจวัตรแล้ว ก็ยังเป็นผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเช่นลมและแสงอาทิตย์อีกด้วย โดยที่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เยอรมนีเพิ่งเปิดตัวแผงรับแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของตนไปหมาดๆ แผงที่ว่านี้ เป็นของบริษัท Powerlight ตั้งอยู่ที่รัฐบาวาเรีย กินเนื้อที่ 62 เอเคอร์ (155 ไร่) ผลิตไฟได้ 10 เมกะวัตต์ เพียงพอสำหรับประชาชน 9,000 ครัวเรือน การส่งเสริมการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ของเยอรมนีสอดคล้องกับนโยบายลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ของนายกรัฐมนตรีเกอร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ ซึ่งวางแผนทยอยปิดโรงงานผลิตพลังงานนิวเคลียร์ของตนไปเรื่อยๆ โดยเริ่มปิดโรงงานแห่งแรกลงเมื่อปลายปี 2003 และตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องปิดโรงงานนิวเคลียร์ทั้งหมดในประเทศให้เสร็จสิ้นภายในปี 2025 โดยจะหันมาพึ่งพลังงานลมและแสงอาทิตย์แทน (ข่าวบีบีซี 14 มิถุนายน 2003)
แวะกลับมาดูประเทศไทยของเรา ซึ่ง น่าจะนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้ได้มาก เพราะแดดมีเหลือเฟือ แต่ภาพแผงรับแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านผู้คนทั่วไปกลับยังคงเป็นภาพที่หาดูได้ยากอยู่ จะมีก็แต่หน่วยงาน รัฐบางแห่งที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาลองใช้ดูบ้างแล้ว ดังนั้นสิ่งที่รัฐควรเร่งทำคือสนับสนุนให้ประชาชนนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ให้มากกว่านี้ รวมทั้งรณรงค์แยกขยะรีไซเคิล เพื่อช่วยประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ เพราะการแก้ปัญหาแบบแนะให้ประชาชนดับไฟคนละหนึ่งดวงไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน แต่การลงทุนในการวิจัยและการรณรงค์เรื่องพลังงานหมุนเวียนน่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า
|
|
|
|
|