ผมกลับไปเยี่ยมเยือนซิดนีย์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเคยไปย่ำเท้าแบกเป้ชมเมืองเมื่อสองปีก่อนหน้านั้น โดยระหว่างทาง ผมมีโอกาสไปแวะชมเมืองเมลเบิร์น เพื่อเปรียบเทียบความเป็นไปของสามเมืองใหญ่ของประเทศออสเตรเลีย
ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้วิถีชีวิตของคนออสเตรเลียเปลี่ยนแปลงไป การปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะน้ำมันแพงมีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่ดูจะได้รับความสนใจน่าจะเป็นเรื่องของพลังงานทดแทน
การเดินทางในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย สิ่งแรกที่ผมเผชิญเมื่อก้าวเท้าเหยียบผืนแผ่นดินเมืองซิดนีย์ คือ ราคาค่าแท็กซี่ที่ปรับสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาน้ำมันแพง
ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันของประเทศออสเตรเลีย มีการพยายามสร้างโมเดลเพื่อวิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันจะขึ้นไปสูงสุดที่เท่าไร และราคาจะเสถียรอยู่ที่เท่าไรในอนาคต บ้างก็วิเคราะห์ว่าจะพุ่งขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐอเมริกา บ้างก็มองว่า ไม่น่าจะร้ายแรงแบบนั้น แต่ก็ยังไม่มีโมเดลใดให้ภาพที่น่าเชื่อถือได้
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ 60 เหรียญสหรัฐ ดูจะได้รับการพูดถึงค่อนข้างมาก และจำเป็นต้องหาทางรับมืออย่างเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่จะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ โดยมีการพูดถึงในเรื่องของนโยบายภาครัฐบาลว่า ถ้าราคาน้ำมันยืนระยะอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐจะทำให้ประเทศออสเตรเลียมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 12,000 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี (หนึ่งเหรียญออสเตรเลียเท่ากับ 31-32 บาทไทย) อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2,300 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปีเช่นกัน
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่คาดการณ์ว่าจะต้องเผชิญคือ ปัญหาเงินเฟ้อ ที่จะตามมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลียเองก็เผชิญกับการกดดันจากการตั้งภาษีน้ำมันที่ค่อนข้างสูง และหลายๆ ฝ่ายก็เรียกร้องให้ลดภาษีในส่วนนี้ลงมา
ในเมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ มีการพูดถึงเรื่องราคาน้ำมันแพงนับแต่ราคาเริ่มค่อยๆ ไต่ระดับมาเรื่อยๆ ในช่วงปีกลาย และทำให้น้ำมันก๊าซโซฮอลล์เป็นพลังงานทดแทนที่ถูกกล่าวถึงค่อนข้างมาก
น้ำมันก๊าซโซฮอลล์ หรือน้ำมันเบนซินผสมเอทานอล
เอทานอลเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลซึ่งต้องอาศัยอ้อยในการผลิต โดยเอทานอลจะถูกผสมลงในน้ำมันเบนซินเพื่อเพิ่มค่าออกเทน
รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นรัฐที่มีการผลิตอ้อยและน้ำตาลมากถึง 95% ของผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทั้งหมดของประเทศออสเตรเลีย
ปัจจุบันในแต่ละปีมีการซื้อขายเอทานอลทั่วโลกรวมกันประมาณสามพันล้านลิตร ญี่ปุ่นเป็นประเทศนำเข้าเอทานอลอันดับหนึ่ง โดยเมื่อปี 2001 มีการนำเข้าประมาณ 450 ล้านลิตร และคาดการณ์ว่าความต้องการเอทานอลของญี่ปุ่นจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้เมื่อมีการออกกฎหมายให้น้ำมันมีส่วนผสมเอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศบราซิลกำหนดค่ามาตรฐานของปริมาณเอทานอลที่ผสมในน้ำเบนซินอยู่ที่ 25%
เดือนกุมภาพันธ์ปีกลาย มีข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ประเทศบราซิลในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก มีโครงการจะตั้งโรงงานผลิตเอทานอลในรัฐควีนส์แลนด์ โดยมีเป้าหมายเพื่อป้อนตลาดน้ำมันในแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น และรัฐบาลบราซิลได้ส่งผู้แทนเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ปลูกอ้อยของรัฐควีนส์แลนด์และมองถึงลู่ทางที่เป็นไปได้ในการลงทุน
เช่นเดียวกับที่ Peter Beattie นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐควีนส์แลนด์เพิ่งเดินทางไปพบประธานาธิบดี Luiz Inacio Lula da Silva ของประเทศบราซิลเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา เพื่อพูดคุยถึงความคืบหน้าในการมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตเอทานอลในรัฐควีนส์แลนด์ รวมถึงการไปดูงานการใช้เอทานอลของตลาดน้ำมันบราซิลอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลยังคงอนุญาตให้ผสมเอทานอลในน้ำมันได้เพียงสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น และ Peter Beattie ก็พยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้กฎหมายในเรื่องนี้อยู่อย่างคึกคักตลอดมา
เมื่อเทียบกับประเทศบราซิล ผลิตภัณฑ์อ้อยร้อยละ 43 จะนำไปผลิตน้ำตาล และอีก 57 เปอร์เซ็นต์จะใช้ผลิตเอทานอล ด้วยเทคโนโลยีในการแปรรูปผลิตภัณฑ์อ้อย ทำให้ประเทศบราซิลสามารถนำอ้อยมาผลิตไฟฟ้าและผลพลอยได้อื่นๆ นอกเหนือจากเอทานอลได้อีกด้วย ในขณะที่เทคโนโลยีในประเทศออสเตรเลียยังค่อนข้างต่ำทำให้ไม่สามารถผลิตผลพลอยได้อื่นๆ ได้เหมือนที่ประเทศบราซิลทำได้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวเมื่อปีที่ผ่านมาว่า Peter Beattie ได้เข้าพบวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยในช่วงเวลานั้น เพื่อเสนอให้ไทยร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการผลิตก๊าซโซฮอลล์ เพื่อนำผลที่ได้จากการศึกษาไปเสนอให้กับประเทศบราซิลเพื่อชวนทำโครงการผลิตก๊าซโซฮอลล์ร่วมกันสามฝ่าย
ในขณะที่ประเทศไทยเองก็วางแผนที่จะใช้กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 4 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ร่วมกันผลิตก๊าซโซฮอลล์ โดยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต แต่ก็ยังเป็นแค่แนวคิดเท่านั้น
อย่างไรก็ดี กลับมีรายงานจากรัฐบาลกลางออสเตรเลียซึ่งศึกษาถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเอทานอลอย่างเต็มตัว พบว่า จะสามารถสร้างงานเพิ่มขึ้นได้น้อยกว่า 500 ตำแหน่ง แต่รัฐต้องเสียเงินสนับสนุนมากถึง 70 ล้านดอลลาร์ต่อปี
แต่การเคลื่อนไหวที่คึกคักของฝ่ายการเมืองระดับรัฐ ก็ทำให้รัฐควีนส์แลนด์ มีความหวังในเรื่องการแก้ปัญหาน้ำมันแพง ที่เป็นรูปเป็นร่างมากกว่าที่อื่น
สำหรับพลังงานจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานทดแทนอีกตัวหนึ่ง ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) มีปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาจากปัญหาราคาน้ำมันพุ่งกระฉูด โดยประเทศโปรตุเกส, อินเดีย, ญี่ปุ่น และสเปน เพิ่งสร้างจุดรับก๊าซขึ้นมาใหม่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
เทคโนโลยีในการเปลี่ยนสภาพก๊าซให้กลายเป็นของเหลวช่วยลดปริมาตรของก๊าซลงไปได้ถึง 600 เท่า ปัญหา คือ การหาลูกค้าที่สามารถสร้างจุดรับก๊าซธรรมชาติเหลวนั้น, เปลี่ยนสภาพของเหลวให้เป็นก๊าซเหมือนเดิม และส่งเข้าสู่ท่อส่งก๊าซในที่สุด การสร้างจุดรับก๊าซจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อมีจุดรับก๊าซมากขึ้น ก็จะทำให้การขายก๊าซได้รับความนิยมสูงขึ้น
เช่นเดียวกับที่มีการลงทุนในภาคเอกชนออสเตรเลีย นำโดยบริษัท Woodside Petroleum และ BHP Billiton ที่ลงทุนกว่า 20,000 ล้านเหรียญออสเตรเลียในธุรกิจส่งก๊าซธรรมชาตินี้ โดยมีโครงการสร้างศูนย์ผลิต LNG ตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย
มีการคาดการณ์กันว่า ปริมาณความต้องการ LNG ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า คือ ขึ้นไปถึง 240 ล้านตันในปี 2010, 380 ล้านตันในปี 2030 และ 730 ล้านตันในปี 2040
ซึ่งประเทศออสเตรเลียเองก็มีปริมาณก๊าซสำรองจำนวนมหาศาล บวกกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ทำให้ออสเตรเลียถูกมองว่า จะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิต LNG ในอนาคต และมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะแย่งส่วนแบ่งของอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศผู้ส่งออก LNG อันดับหนึ่งของโลก แต่เนื่องจากอินโดนีเซีย ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีปัญหามากมาย ทำให้นักลงทุนไม่ค่อยไว้วางใจในการทุ่มเงินเข้าไปลงทุน การขาดแคลนเงินลงทุนใหม่ๆ ทำให้ประเทศอินโดนีเซียต้องผิดนัดสัญญาการส่ง LNG อยู่ตลอดมาเพราะไม่สามารถผลิตได้ทันและเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า
การสร้างจุดรับส่งก๊าซที่เพิ่มขึ้นและการสร้างตลาดซื้อขายล่วงหน้าก๊าซธรรมชาติ ทำให้ LNG มีอนาคตที่ค่อนข้างสดใสมาก
และปริมาณก๊าซสำรองจำนวนมากนี้ ก็จะทำให้ออสเตรเลียไม่ต้องกลัวกับปัญหาราคาน้ำมันแพงในอนาคตมากนัก
ในเมลเบิร์นเอง ผมมีโอกาสเข้าไปเที่ยวที่ตลาดควีนวิกตอเรีย (Queen Victoria Market) ซึ่งเป็นตลาดขายสินค้าหลากหลายคล้ายๆ ตลาดจตุจักรบ้านเรา
ที่ตลาดแห่งนี้ อาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์ผ่านแผ่นเซลล์สุริยะแล้วแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในตลาด โดยโครงการนี้เป็นการร่วมมือกันของตลาดควีนวิกตอเรีย, สภาเมืองเมลเบิร์น, Australias Greenhouse Office, และบริษัททางด้านพลังงานของเอกชนอีกสองแห่ง
ในขณะที่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์เองมีข่าวว่า ราคาแท็กซี่ปรับเพิ่มขึ้นอีก 2.87% ในพื้นที่ตัวเมืองและ 3.48% ในพื้นที่นอกเขตเมือง เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น
ส่วน Qantas ซึ่งเป็นสายการบินหลักของประเทศออสเตรเลียวางแผนที่จะลดพนักงานมากถึง 5,000 ตำแหน่ง เพราะทนกับต้นทุนราคาน้ำมันไม่ไหว
วิกฤติราคาน้ำมัน ทำให้หลายคนต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายต้องเพิ่มขึ้นในขณะที่รายได้ยังคงเท่าเดิม
ผมเดินทางจากสนามบินสู่ที่พักกลางกรุงซิดนีย์ในบ่ายวันจันทร์ โดยที่ยังไม่รู้อนาคตว่า ราคาค่าแท็กซี่กลับไปสนามบินอีกครั้งจะเพิ่มขึ้นสูงอีกเท่าไร
|