|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2548
|
|
กลางฤดูร้อนอันแสนระอุของกรุงปักกิ่ง ผมยกแขนโบกรถฮุนไดโซนาต้าสีเขียว-เหลือง...
จะเรียกว่า แท็กซี่สองสี เป็นน้องใหม่บนท้องถนนของกรุงปักกิ่งก็คงไม่ผิดนัก เพราะนอกจากสีสันที่สดใสบาดตาแล้ว แท็กซี่เหล่านี้ยังเป็นแท็กซี่รุ่นใหม่ของค่ายฮุนได ซีตรอง และโฟล์กที่เพิ่งออกมาใหม่เมื่อต้นปี 2548 นี้เอง โดยทางเมืองปักกิ่งหวังว่า แท็กซี่แบบใหม่นี้ช่วยลบภาพคร่ำครึของการคมนาคมในปักกิ่งไปได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่เมืองแห่งนี้จะเป็นเจ้าภาพมหกรรมโอลิมปิกในอีก 3 ปีข้างหน้า
ในระดับโลก สถานการณ์พลังงานกำลังตกอยู่ในภาวะตึงเครียด ราคาน้ำมันดิบ พุ่งขึ้นไปทะลุ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนที่เมืองไทยราคาน้ำมันขายปลีกก็ปรับขึ้นกันพรวดพราดเป็นรายวัน ประชาชนต่างหน้าเขียวหน้าดำกันถ้วนหน้ากับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันด้วยความสงสัย ผมจึงหันไปสนทนากับพี่โชเฟอร์ถึงสถาน การณ์ของเมืองจีนบ้าง
"รถรุ่นใหม่ใช้น้ำมันเบนซินกันหมดเลย ตอนแรกผมจะหารถใช้แก๊สแบบรุ่นเก่า (ยี่ห้อเซี่ยลี่ สีแดง) อยู่เหมือนกัน แต่เขากำลังจะโละรถรุ่นเก่าไม่ให้วิ่งแล้ว ก็ต้องใช้เบนซิน ไป ไม่มีทางเลือก" พี่โชเฟอร์ตอบมาด้วยน้ำเสียงเซ็งเล็กๆ
จริงๆ ก็น่าเห็นใจกันอยู่หรอก เพราะตั้งแต่ผมมาอยู่ปักกิ่ง แม้ 3 ปีจะเป็นระยะเวลาที่สั้น แต่ผมกลับรู้สึกได้ว่า ข้าวของและค่าครองชีพในเมืองแห่งนี้นั้นสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ยกตัวอย่างง่ายๆ ราคาค่าน้ำประปา (อัตราที่ใช้ในครัวเรือน) จากปลายปี 2545 ที่ราคาขึ้นจากลูกบาศก์เมตรละ 2 หยวน มาถึงปี 2548 นี้เพิ่มมาอยู่ที่ 3.7 หยวน หรือเกือบเท่าตัว และมีแนวโน้มว่าน่าจะเพิ่มขึ้นถึง 5-6 หยวนภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่าน มาเศรษฐกิจจีนนั้นเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลให้การผลิตและการบริโภคต่างๆ เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งก็แน่นอนว่า ภาวะความขาดแคลนทรัพยากรย่อมเป็นผลกระทบที่เปรียบเสมือนเงาตามตัว ไม่เพียงแต่น้ำ วัสดุก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม หรือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งไฟฟ้า น้ำมัน ต่างก็ถีบราคาสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ขณะที่ในปีที่ผ่านมาในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ คือ 24 จาก 31 มณฑล/เมือง ต่างก็ประสบภาวะการขาดแคลนไฟฟ้าด้วยกันทั้งสิ้น
หากหันมามองเฉพาะในด้าน "พลังงาน"
เดิมจีนเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันได้เพียงพอกับความต้องการของตนเอง นอกจากนี้ยังถือเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันได้มากอันดับต้นๆ ของโลก จนกระทั่ง ในปี 1993 (พ.ศ.2536) คล้อยหลังจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจมาได้ทศวรรษกว่าๆ จีนก็เริ่มกลายสภาพเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน โดยถึงปัจจุบันประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนแห่งนี้ได้กลายเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันอย่างดุเดือด โดยเป็นรองก็เพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น
ทั้งนี้ประเด็น "ความมั่นคงทางพลังงาน" นี้ ในสายตาของผู้นำจีนแล้ว ถือเป็นปัญหาหนักอกที่สุดประการหนึ่ง เนื่องจากการขาดแคลนพลังงานย่อมเป็นปัจจัยฉุด "การขยายตัวทางเศรษฐกิจ" อันเป็นนโยบายสำคัญของประเทศมิให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจีนจึงต้องกระทำทุกวิถีทางเพื่อหาพลังงานมาป้อนเด็กยักษ์ที่กำลังโตวันโตคืนคนนี้ ส่งผลให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างก็รู้สึกได้ถึงการแผ่รัศมี การดึงดูดพลังงานเข้ามาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจตนเองของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าไปเป็นซื้อน้ำมันหรือร่วมพัฒนาแหล่งน้ำมันในตะวันออก กลาง อินโดนีเซีย เอเชียกลาง อเมริกากลาง-ใต้ ขณะที่มีความขัดแย้งและแข่งขันกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่น เช่น ในการซื้อและขนส่งน้ำมันมาจากรัสเซีย และการพัฒนาแหล่งพลังงานในทะเลจีนตะวันออก
ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวที่สร้างความแตกตื่นให้วงการพลังงานโลก คือ CNOOC (China National Offshore Oil Corp) หรือจงไห่โหยว ( ) บริษัทน้ำมันใหญ่อันดับสามของจีน เสนอขอซื้อบริษัทยูโนแคล (Unocal) บริษัทน้ำมันใหญ่ของอเมริกา ในราคา 18,500 พันล้านเหรียญ (ราว 740,000 ล้านบาท)
หนึ่งมูลเหตุสำคัญของการไล่กว้านซื้อน้ำมันอย่างบ้าเลือดของจีนนั้น ก็คือ ตลาดรถยนต์ของประเทศจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และยอดขายรถยนต์ที่พุ่งขึ้นเหมือนติดจรวด โดยในปี 2545 ปริมาณรถเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 ต่อมาในปี 2546 เพิ่มขึ้นร้อยละ 75 ก่อนที่รัฐบาลจะติดเบรกเรื่องการปล่อยกู้ซื้อรถยนต์ทำให้ในปีที่แล้วยอดการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ลงเหลือร้อยละ 15 แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีแนวโน้มว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ในระดับร้อยละ 10-20 ต่อไปอีกหลายปี
ทุกวันนี้ ภาพแห่งการเป็น "นครหลวงแห่งจักรยาน" ของปักกิ่ง กำลังจะเลือนหายไป ปักกิ่งในวันนี้เริ่มมีสภาพเหมือนมหานครต่างๆ ทั่วโลก ที่เต็มไปด้วยรถยนต์ และแม้จะมีการสร้างถนนเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็ไม่อาจบรรเทาภาวะรถติดให้คลายลงได้แต่อย่างใด ซึ่งภาพที่ปักกิ่งนี้ก็ปรากฏขึ้นเช่นเดียวกับตามหัวเมืองใหญ่อื่นๆ ในประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม หากเบนหน้าจากสถานการณ์น้ำมัน หันไปมองสถานการณ์พลังงานในภาพรวมแล้ว ก็จะพบว่า สถานการณ์พลังงานของจีน แม้จะอยู่ในภาวะที่น่าวิตก แต่ก็ยังไม่ถึงกับตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เหมือนสถานการณ์ในประเทศไทย
ความแตกต่างของจีนกับไทยก็คือ ขณะที่ไทยผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงที่เราไม่มี ผลิตไม่ได้เองและต้องนำเข้าเป็นหลัก จีนเขาผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากร ภายในประเทศที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือก็คือ ถ่านหิน
ปัจจุบัน จีนอาศัยการผลิตไฟฟ้าจากวิธีเผาถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 75-80 เลยทีเดียว ขณะที่อีกราวร้อยละ 20 นั้นมาจากเขื่อน โรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างๆ ส่วนที่เหลือนั้นมาจากโรงไฟฟ้นิวเคลียร์ ขณะที่สัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชนิดอื่นๆ รวมถึงพลังงานทางเลือกอย่างเช่น น้ำมันก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานลมนั้นยังคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยเหตุที่ว่า การผลิตไฟฟ้าจากการเผาถ่านหินนั้นเป็นการผลิตพลังงานที่ค่อนข้างสกปรก และในแต่ละปีมีคนงานจีนตายในเหมืองถ่านหินจากเหตุการณ์เหมืองถล่มหลายพันคน ทำให้ทางรัฐบาลจีนเริ่มหันไปหาทางเลือกในการผลิตพลังงานจากวิธีการอื่นเพิ่มเติม โดยมีการตั้งเป้าหมายในอีก 15 ปีข้างหน้าหรือใน พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) ว่า การผลิตไฟฟ้าจากแก๊ส และนิวเคลียร์จะต้องคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 และ ร้อยละ 5 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ตามลำดับ
นอกจากนี้ทางรัฐบาลจีนเองก็พยายามสนับสนุน คิดค้นวิจัยเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานใหม่ๆ อย่างเช่น เทคโนโลยีเชื้อเพลิงเหลวจากถ่านหินที่เรียกว่า Coal Lique-faction หรือเทคโนโลยี Polygeneration ในการแปรถ่านหินให้เป็น Syngas (อ่านเพิ่มเติม : Energy : China's Burning Ambition จากนิตยสาร Nature ฉบับ 30 มิถุนายน 2005) รวมไปถึงการประดิษฐ์รถพลังไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยชิงหัว ถือเป็นศูนย์กลางในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อยู่
แน่นอนว่าในยุคที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคน้ำมันแพงเช่นนี้ "การประหยัด" ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องกระทำควบคู่ไปกับการหาพลังงานทดแทนด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ มีนักวิชาการจีนได้นำเสนอนโยบายในการประหยัดน้ำมันสำหรับรถยนต์ไว้อย่างน่าสนใจคือ หนึ่ง รัฐควรออกกฎหมายห้ามผลิตและนำเข้ารถยนต์ที่ประสิทธิภาพในการเผาผลาญน้ำมันของเครื่องยนต์ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด สอง เร่งวิจัยพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สาม กำหนดให้รถโดยสารประจำทางและสาธารณะหันมาใช้เครื่องยนต์ที่เผาผลาญด้วยก๊าซธรรมชาติแทน สี่ เร่งการวิจัยและพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าและไฮโดรเจน ห้า ให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้รถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมัน
ทั้งนี้ในประเด็นที่ 5 ได้มีการขยายความต่อไปอีกว่า เป็นมาตรการที่สามารถปฏิบัติได้เลย โดยทางภาครัฐและประชาชนจะต้องร่วมมือกันคือ รัฐบาลจะต้องมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ขนาดเล็ก โดยการปรับอัตราภาษีส่วนภาคประชาชนก็ต้องช่วยกันรณรงค์ปรับค่านิยมนั่งรถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมันกว่า
สำหรับผมเองในทัศนะส่วนตัว ผมมองว่า ประชากรจำนวนไม่น้อยของจีนโดยเฉพาะคนรุ่นอายุ 40 ปีขึ้นไป ไม่น่าจะมีปัญหากับราคาน้ำมันมากเท่าใดนัก หรือหากได้รับผลกระทบก็มีแต่เพียงทางอ้อมเนื่องจากราคาสินค้า หรือค่าโดยสารของการขนส่งสาธารณะที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ต่างก็เติบโตมาในสภาวะแวดล้อมของจีนยุคเก่าที่การเดินทางพึ่งพา จักรยาน' เป็นหลัก นอกจากนั้นคนรุ่น 40 ปีขึ้นไปถือว่ายังทำงานอยู่ในระบบขององค์กรแบบดั้งเดิม ที่หน่วยงานจัดหาทุกอย่างให้ที่พักใกล้กับที่ทำงาน ตลาด-ร้านค้า โรงเรียน แหล่งสันทนาการ ต่างก็อยู่ภายในบริเวณที่ไม่ไกลจากที่พักนัก ทำให้พวกเขาไม่เห็นความจำเป็นของการใช้รถยนต์ส่วนตัว
ในอีกมุมหนึ่ง คนรุ่นหลังที่อายุ 40 ปีลงมา คนรุ่นนี้ตั้งมาตรฐานชีวิตของตัวเองไว้สูงขึ้น ต้องมีบ้านใหญ่พอตัว มีรถยนต์ส่วนตัว เพื่อที่จะขับรถไปที่ทำงานได้ คนรุ่นนี้น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง
ในแง่ของประชาชนเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ โดยส่วนตัวผมคิดว่าสำหรับชาวจีนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเผชิญกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่รุนแรง และค่าครองชีพที่สูงขึ้นมหาศาล ภายใต้สภาวะที่น้ำมันโลกแพงหูฉี่เช่นนี้แม้การดำรงชีวิตจะหนักหนาขึ้นแต่คงไม่เข้าขั้นอาการสาหัส เช่นคนไทย
|
|
|
|
|