|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2548
|
|
วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเพียงวันครบรอบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เท่านั้น แต่ยังเป็นฤกษ์ดีสำหรับ 2 แบงก์ใหญ่ของไทยที่เข้าไปรุกธุรกิจในจีนอีกด้วย
เศรษฐกิจของประเทศจีนทุกวันนี้ความน่าสนใจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภาคการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว ธุรกิจบริการด้านการเงินก็เป็นตลาดที่สถาบันการเงินทั่วโลกให้ความสนใจจับจ้องอยู่ไม่น้อย รวมไปถึงธนาคารของไทยด้วยเช่นกัน และถึงวันนี้ธนาคารไทยที่ได้เริ่มรุกเข้าทำธุรกิจในประเทศจีนอย่างชัดเจนแล้วมีอยู่ 3 รายด้วยกัน คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
ในกรณีของไทยพาณิชย์ ผู้บริหารยอมรับว่าการจะเข้ามาเริ่มเปิดสาขาในประเทศจีนในเวลานี้ถือว่าช้าไปเสียแล้ว ประกอบกับการเปิดสาขาเพียง 1-2 แห่งในขณะที่จีนกำลังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมากเช่นนี้ก็ไม่เกิดผลอะไรนัก โดยก่อนหน้านี้ไทยพาณิชย์เคยเปิดสาขาที่หนานหนิงเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ได้ปิดตัวลงในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
มาครั้งนี้ไทยพาณิชย์จึงเลือกเดินทางลัดด้วยการเข้าเป็นพันธมิตรกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (The Export-Import Bank of China) หรือไชน่าเอ็กซิมแบงก์ เพื่อเป็นช่องทางในการจัดหาและระดมเงินทุนสำหรับสินเชื่อสกุลเงินบาทหรือหยวนให้กับโครงการร่วมทุนและแผนการลงทุนของเอกชนในภาคธุรกิจที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศให้การสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เหมืองแร่ ก่อสร้าง รวมไปถึงสินเชื่อเพื่อการนำเข้าและส่งออก
การลงนามในความร่วมมือระหว่างธนาคารทั้ง 2 แห่ง ถือเอาฤกษ์ดีในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 30 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน จัดขึ้น ณ มหาศาลาประชาคม โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยและเวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนร่วมเป็นสักขีพยาน
ไชน่าเอ็กซิมแบงก์ตั้งขึ้นในปี 2537 เป็นสถาบันการเงินในสังกัดและดำเนินการภายใต้การดูแลของรัฐบาลกลาง มีหน้าที่ในการสนับสนุนนโยบายด้านอุตสาหกรรม การค้ากับต่างประเทศ เศรษฐกิจและการเงินของรัฐบาล โดยให้บริการการเงินและส่งเสริมธุรกิจส่งออกของจีน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในเวทีโลก
ปัจจุบันไชน่าเอ็กซิมแบงก์ถือเป็นธนาคารด้านการส่งออกและนำเข้าที่มีมูลค่าทรัพย์สินเป็นอันดับสาม รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา และคาดว่าจะสามารถแซงขึ้นมาเป็นอันดับสองได้ภายใน 2 ปีนี้ โดย ณ สิ้นปี 2547 มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 1.48 ล้านล้านบาท และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดในธนาคารจีน เทียบเท่าฐานะความแข็งแกร่งทางการเงินของประเทศจีน
การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยพาณิชย์และไชน่าเอ็กซิมแบงก์จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันลงนามในครั้งนี้ใช้เวลารวม 2 ปีกว่า
"จุดที่ทำให้เรารู้จักกันก็คือเราออก L/C ให้ลูกค้าเรา แล้วทางไชน่าเอ็กซิมแบงก์ไม่รับ ที่ไม่รับไม่ใช่ว่ามีปัญหา แต่เป็นเพราะเขาไม่รู้จักเรา เราก็เลยต้องมาคุยกัน มาอธิบายให้เขารู้จักว่าเราเป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร" ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ย้อนอดีตถึงจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์
การเป็นพันธมิตรกันระหว่างไทยพาณิชย์และไชน่าเอ็กซิมแบงก์ครั้งนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจจีนที่จะขยายการลงทุนมายังประเทศไทยอีกด้วย โดยที่ผ่านมาจีนได้เริ่มนำเงินลงทุนออกต่างประเทศบ้างแล้ว อาทิ การซื้อธุรกิจพีซีจากไอบีเอ็มของ Lenovo บริษัทคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของจีน รวมไปถึงการเสนอซื้อ Maytag และ Unocal ของสหรัฐอเมริกา โดย Haier และ CNOOC เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยคาดว่าการลงทุนที่จีนสนใจจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับการผลิตของจีน เช่นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี
หยางจือหลิน ประธานกรรมการ ไชน่าเอ็กซิมแบงก์ระบุว่า ที่ผ่านมาจีนได้เข้ามาลงทุนในไทยบ้างแล้ว แต่ยังเป็นโครงการขนาดเล็ก การลงนามร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสให้จีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และขณะนี้กำลังศึกษาอยู่หลายโครงการด้วยกัน โดยจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างไทย-จีน
สำหรับธนาคารกรุงเทพนั้นถือได้ว่าเป็นหัวหอกในการรุกเข้าสู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการรุกเปิดสาขาในต่างประเทศ ที่ทำล่วงหน้าธนาคารอื่นมากว่า 10 ปี โดยในปี 2529 เปิดสำนักงานผู้แทนที่ปักกิ่ง ต่อมาในปี 2535 เปิดสาขาแห่งแรกที่เมืองซัวเถาและสาขาเซี่ยงไฮ้ในเดือนธันวาคม 2536 ตามมาด้วยสาขาเซียะเหมิน ในเดือนมีนาคม 2541
ล่าสุดสำนักงานผู้แทนปักกิ่งได้รับอนุมัติจากทางการจีนให้ยกระดับขึ้นเป็นสาขา โดยทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาเช่นเดียวกับการลงนามของไทยพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่มีสาขาอยู่ในกรุงปักกิ่ง จะให้บริการทางการเงินได้อย่างครบถ้วน อาทิ บริการสินเชื่อ บริการธุรกรรมด้านตั๋วสินค้าเข้าและสินค้าออก บริการโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการออกหนังสือค้ำประกัน โดยจะให้บริการทางการเงินในปักกิ่ง และพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ ได้แก่ เทียนจิน ชิงเต่า ต้าเหลียน และเฉินหยาง
ในกรณีของธนาคารกสิกรไทยก็ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าทำธุรกิจในจีนเช่นกัน โดยขณะนี้มีสาขาอยู่ที่คุนหมิงและสำนักงานตัวแทนที่เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง แต่ยังอยู่ในระหว่างการหารูปแบบที่ชัดเจนในการเข้าทำธุรกิจที่มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานที่มีความคืบหน้าไปบ้างแล้ว ได้แก่ ความร่วมมือกับไชน่ายูเนี่ยน เพย์ (China Union Pay-CUP) ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและเดบิตรายใหญ่ของจีน ซึ่งผู้ถือบัตรของ CUP สามารถใช้บริการผ่านทางตู้ ATM และเครื่องรูดบัตรของกสิกรไทยได้ ช่วยให้นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถใช้บัตร CUP ในประเทศไทยได้
คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะถึงจะเริ่มมองเห็นว่า โมเดลของธนาคารแห่งใดที่จะประสบความสำเร็จในประเทศจีน ดินแดนแห่งโอกาสผืนนี้
|
|
|
|
|