ม็อบสหภาพแรงงานทีพีไอกว่า 500 คน บุกธนาคารเจ้าหนี้ ยื่นหนังสือให้ถอดถอน
"อีพีแอล" ออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู ขณะที่โรงงานจังหวัดระยอง
พนักงานอีก 1 พันคน ร่วมชุมนุมให้กำลังใจ พร้อมโกนหัวประท้วง อ้าง "อีพีแอล"
ไร้ความสามารถและขาดความชอบ ธรรม ด้านคณะกรรมการเจ้าหนี้ออกหนังสือยืนยัน
พอใจผลงานอีพีแอลและสนับสนุนให้บริหารต่อ
วานนี้ (8 ส.ค.) เวลา 10.30 น. สหภาพแรงงานทีพีไอ นำโดยนายวิชิต นิตยานนท์
รองประธานสหภาพฯ ร่วมกับพนักงานทีพีไอประมาณกว่า 500 คน ได้เดินทางมาชุมนุมประท้วงที่ธนาคารกรุงเทพ
จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เพื่อ เรียกร้องให้ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่พิจารณาถอด
ถอนบริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด หรืออีพีแอล ออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ
หลังจากนั้นในช่วงบ่ายเวลาประมาณ 13.30 น. กลุ่มสหภาพที่พีไอ ได้เคลื่อนขบวนไปยังธนาคารกรุงไทย
จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ นานาเหนือ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้คณะกรรมการเจ้าหนี้ถอด
ถอนอีพีแอล โดยมีนายดุสิต เต็งนิยม รองกรรม การผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
เป็นตัวแทนรับเรื่อง ก่อนที่กลุ่มพนักงานทีพีไอจะสลายตัวไป
การเดินทางไปยังธนาคารกรุงเทพในช่วงเช้านั้น ตัวแทนได้ยื่นรายชื่อพนักงานทีพีไอที่ร่วม
ลงชื่อให้ถอดถอนอีพีแอลกว่า 7,000 รายชื่อ รวม ทั้งตัวแทนของกลุ่มสหภาพทีพีไอ
จำนวน 5 คน มีการโกนหัวประท้วงด้วย ประกอบด้วย นายนาวา วงษ์สูง นายสุวรรณ
ชนะนา นายประภาส เส็งหนองแบน นายวิโรจน์ ตั้งวัฒนมนตรี และนายธีรพงษ์ กาญจนาคง
ขณะเดียวกันที่จังหวัดระยอง พนักงานทีพีไอเกือบ 1,000 คน ก็ได้มีการรวมตัวประท้วงที่บริเวณหน้าโรงงานทีพีไอ
เพื่อร่วมเป็นกำลังใจให้พนักงานทีพีไอที่ชุมนุมประท้วงอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ
สำนักงานใหญ่
สำหรับการชุมนุมประท้วงที่หน้าโรงงานจังหวัดระยอง พนักงานทีพีไอกว่า 10
ราย ได้โกนหัวร่วมประท้วงกับพนักงานทีพีไอที่ชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพฯ และยังเผาหุ่น
ปาไข่ เผาพริกเผาเกลือ เพื่อทำการสาปแช่ง อีพีแอล ซึ่งการ ชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
จนกระทั่งเวลา 12.00 น กลุ่มพนักงานที่มาชุมนุมต่างเริ่มแยกย้ายกันไป
ด้านนายดุสิต เต็งนิยม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
กล่าวภายหลังจากที่รับหนังสือจากสหภาพ แรงงานทีพีไอ ว่า ธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้ส่วนน้อยเพราะมีหนี้ประมาณ
10 ล้านบาทเท่านั้น และหนี้ส่วนใหญ่ได้มีการโอนไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
(บสท.) แล้ว
แถลงการณ์สหภาพแรงงานทีพีไอฯ ระบุว่า ตลอดเวลา 1 ปี 7 เดือน ที่อีพีแอลเข้ามาบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ
ตามคำสั่งของศาลล้มละลายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 นั้น ปรากฏว่า ผลประกอบการของทีพีไอตกต่ำมาโดยตลอด
และจะส่งผลเสียหายต่อทีพีไอถึงขั้นล้มละลายได้ จึงได้มีการลงชื่อกว่า 7,000
คน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการเจ้าหนี้ถอดถอนอีพีแอลออกจากการเป็นผู้บริหารแผน
สำหรับสาเหตุของการยื่นให้ถอดถอนครั้งนี้ สหภาพแรงงานทีพีไอ ได้หยิบยกประเด็นหลักรวม
3 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ผลการดำเนิน งานของทีพีไอ (EBITDA) ลดลงอย่างต่อเนื่อง
และไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะขาดผู้ชำนาญการในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
แม้ว่าจะมีการดึงเอาดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ มาเป็นผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งผู้บริหารคนอื่นๆ
ก็ไม่สามารถดำเนินการได้
ประการที่สอง การบริหารงานของอีพีแอล ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล มุ่งหาผลประโยชน์จากการขายทรัพย์สินรองของทีพีไอ
อาทิ การขายโรงไฟฟ้าทีพีไอให้กับกลุ่มบ้านปี รวมการใช้จ่ายในการบริหารแผนอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก
ตัวอย่าง ในปี 2543 กำหนดค่าใช้จ่ายไว้ 300 ล้านบาท แต่ จ่ายจริงสูงถึง 453
ล้านบาท และในปี 2544 ที่กำหนดไว้เพียง 252 ล้านบาท แต่จ่ายจริงถึง 1,005
ล้านบาท ขณะที่ 3 เดือนแรกมีการใช้จ่าย ไปแล้วกว่า 156 ล้านบาท จากที่แผนกำหนดไว้เพียง
63 ล้านบาท
ประการสุดท้าย การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการที่ล้มเหลว มีการปรับระบบโครงสร้างการบริหารใหม่จากเดิมบริหารในรูปแบบ
Business Unit เป็น Strategic Business Unit และล่าสุดเปลี่ยนเป็น Corporative
Structure รวมทั้งได้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานที่สำคัญๆ ทำให้เกิดความสับสนในการบริหารงานและไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานได้
ด้านคณะกรรมการเจ้าหนี้ ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานเครือทีพีไอ
โดยยืนยันที่จะให้อีพีแอลเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอต่อไป และแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไออยู่ในกรอบที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาทางการเงินของทีพีไอ
โดยไม่มีความคิดหรือความตั้งใจที่จะให้ทีพีไอต้องปิดกิจการและขายสินทรัพย์ทั้งหมด
"เจ้าหนี้ทั้งหลายมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาทางของทีพีไอ และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
โดยการเปลี่ยนหนี้บางส่วนให้เป็นทุน การให้กู้ในวงเงินหมุนเวียนแก่ทีพีไอเมื่อปลายปีที่ผ่านมาจำนวน
80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องและเพิ่มการผลิตได้ และจะคงอยู่กับทีพีไอในระยะยาวด้วยการเข้าเป็นผู้ถือหุ้น"
นอกจากนี้ ตั้งแต่เข้าบริหารงานในทีพีไอตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน การดำเนินงานต่างๆ
ยังไม่มีผลกระทบต่อพนักงานในทางลบ และได้มีการเพิ่มผลประโยชน์ และสวัสดิการให้กับพนักงานทีพีไอ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามแผนงาน ถูกขัดขวางโดยผู้บริหารชุดเดิม จะสังเกตได้จาก
การที่อดีตผู้บริหารได้ฟ้องร้อง ผู้บริหาร และพนักงานของผู้บริหารแผนถึง
35 คดี ซึ่งทำให้สูญ เสียทั้งเวลาปฏิบัติงาน เสียค่าใช้จ่าย และสูญเสียความมั่นใจของผู้เกี่ยวข้อง
เช่น ลูกค้า และนักลงทุน เป็นต้น
"คณะกรรมการเจ้าหนี้ เชื่อว่า ทีพีไอ จะอยู่ ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงต่อการล้มละลายปิดกิจการ
หากผู้บริหารเดิมกลับมามีอำนาจในบริษัท เนื่องจากว่าความสนับสนุนของเจ้าหนี้ในด้านการ
เงินต่างๆ อาจจะถูกเพิกถอน อาทิ การยกเลิกเงิน กู้ในรูปวงเงินหมุนเวียน"