|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2548
|
|
ตั้งแต่ก่อนที่ราคาน้ำมันโลกจะพุ่งพรวดทะลุระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในขณะนี้ ราคาน้ำมันที่แพงมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ก็ได้ทำให้เศรษฐกิจของตะวันออกกลางเมื่อปีก่อน เติบโตถึงร้อยละ 5.6 และยังทำให้อัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัวสูงที่สุดจนทำลายสถิติในรอบหนึ่งชั่วอายุคน
ซ้ำยุคทองของน้ำมันอันเป็นลาภลอยที่ มาถึงตะวันออกกลางอย่างไม่คาดฝันนี้ ยังไม่มี ทีท่าจะสิ้นสุดลงง่ายๆ ปีที่แล้ว ผลกำไรงามๆ จากน้ำมันที่แพงขึ้น ทำให้ซาอุดีอาระเบียมีงบประมาณเกินดุลมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของประเทศ
ส่วนตลาดหุ้นต่างๆ ในภูมิภาค ต่างแฮปปี้กันถ้วนหน้าด้วยตัวเลขการเติบโต 2 หลักหรือแม้กระทั่ง 3 หลัก นักท่องเที่ยวพากันหลั่งไหลเข้าไปในดูไบและโมร็อกโก ส่วนอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างก็เจริญรุ่งเรืองสุดขีด ตั้งแต่กรุงไคโรจนถึงกรุงอาบูดาบี จนชั้นแต่แค่คำว่า "เจริญรุ่งเรือง" ยังน้อยเกินไป ที่จะอธิบายความอู้ฟู่ของตะวันออกกลางในยามนี้
อย่างไรก็ตาม เงินที่ได้มาง่ายๆเนื่องจากราคาน้ำมันเกิดแพงอย่างเป็นบ้าเป็นหลังเช่นนี้ อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งก็จะส่งผลต่อไปให้ความต้องการบริโภคน้ำมันลดต่ำลง และที่สำคัญก็คือ อาจทำลายความตั้งใจของโลกอาหรับ ที่กำลังพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจ ด้วย การกระจายธุรกิจให้นอกเหนือไปจากการพึ่งพาแต่รายได้จากน้ำมันแต่เพียงแหล่งเดียว
เมื่อ 30 ปีก่อน ชาติอาหรับผู้ผลิตน้ำมัน เคยแปรผลกำไรมหาศาลที่ได้มาง่ายๆ เนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งพรวดไปเป็นสวัสดิการที่เหลือเฟือแก่ประชาชน ซึ่งได้สร้างนิสัยคาดหวังสูงให้แก่พลเมืองของตน ซึ่งต่อมาได้แปรเปลี่ยนเป็นความขมขื่นโกรธแค้นต่อรัฐ เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำ
ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจอาหรับที่รุ่งเรืองจากราคาน้ำมันแพงในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 จึงกลับสร้างคนอย่างอุสมะ บินลาดิน ขึ้นมา ซึ่งก็คือคนที่ต้องการจะทำลายประเทศชาติของตน โดยใช้ ความโกรธแค้นของประชาชนเป็น เครื่องมือ เมื่อรัฐไม่อาจให้สวัสดิการ อย่างฟุ่มเฟือยได้เหมือนเก่า
อย่างไรก็ตาม ตะวันออกกลางอาจมีปฏิกิริยาต่อยุคทองทาง เศรษฐกิจของตนในครั้งนี้ แตกต่างออกไปจากที่ผ่านๆ มา ซาอุดีอาระเบีย ราชาแห่งประเทศที่ค้าน้ำมัน ได้ส่งเสริมภาคธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันจนเติบโตอย่างสม่ำเสมอและแข็งแกร่ง ส่วนอียิปต์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพยายามทำให้โลกอาหรับเอาอย่างระบบสังคมนิยมของตนที่ล้มเหลวในเวลาต่อมา ขณะนี้ได้กลายเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่สุดของตะวันออกกลาง ในการส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้รุ่งเรือง
รายได้ต่อหัวของประชากรในทั้งสองประเทศกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากเคยตกต่ำมาอย่างยาวนาน ซึ่ง เป็นสัญญาณแห่งความหวังว่า ชาติอาหรับอาจสามารถขจัดความทุกข์ยาก ขมขื่นของชาวอาหรับ ซึ่งผู้ก่อการร้ายฉวยโอกาสนำไปเป็นเชื้อไฟของการก่อการร้ายได้
ในขณะที่ในช่วงทศวรรษ 1970 ชาติอาหรับได้ผ่องถ่ายรายได้มหาศาล ที่ได้จากน้ำมันแพงไปเป็นบัญชีเงินฝาก ในธนาคารสวิส หรือซื้อเครื่องบินไอพ่น หรูหรา แต่ครั้งนี้เงินส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในบ้าน และไหลเข้าไปลงทุนในภาคเอกชน อย่างเช่น โครงการสร้างสนามบินมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นอกจากนี้ ชาติในอ่าวเปอร์เซียต่างกำลังแข่งกันดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ และ ลงนามในข้อตกลงการค้ากับชาติตะวันตก บาห์เรน ซึ่งเป็นชาติเล็กจ้อยในตะวันออก กลาง เพิ่งจะแตกแถวไปลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ บาห์เรนกับโอมานยังได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในธุรกิจโทรคมนาคม ซาอุดีอาระเบียก็เช่นกัน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า การแข่งขันนี้จะนำประสิทธิภาพใหม่ๆมาสู่สถาบันการเงิน รัฐบาล และระบบกฎหมายของชาติตะวันออกกลาง
เพียงแค่ 2 ปีก่อน บริษัทอาหรับซึ่งมักเป็นของคนตระกูลเดียว บริษัทในลักษณะ นี้ได้ครอบครองกว่า 95% ของเศรษฐกิจของอาหรับ ยังเกลียดการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น แต่ขณะนี้รุ่นลูกหลานของตระกูลเหล่านี้ได้เริ่มพิสมัยการระดมทุนในตลาดหุ้น ซึ่งนับเป็น สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ และเมื่อไม่นาน มานี้ หุ้น IPO ของ Ettihad Etisalat บริษัทยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของอาหรับ ได้รับคำสั่งซื้อจากชาวซาอุฯ ถึง 4.3 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดของซาอุดีอาระเบีย และสามารถระดมทุนได้ถึง 13,600 ล้านดอลลาร์
ถึงแม้เศรษฐกิจอาหรับจะโตถึง 5% แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ เช่นเอเชียใต้อยู่มาก เนื่องจากภาคเอกชนอาหรับ ยังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนในภาคธุรกิจที่เน้นการใช้แรงงานสูง ทำให้ไม่เกิดการสร้างงานใหม่ๆ ให้แก่คนที่ตกงาน และสุดท้าย แม้ราคาน้ำมันจะพุ่งทะลุระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ถ้าคิดมูลค่าที่แท้จริงแล้วยังถือว่าราคาน้ำมันในขณะนี้ยังถูกกว่าเมื่อ 25 ปีก่อน
ดังนั้น หากตะวันออกกลางต้องการจะรักษาการเติบโตนี้ไว้ต่อไป ก็จะต้องพยายามต่อไป ที่จะถีบตัวเองให้หนีห่างจากการพึ่งพิงรายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียว ซึ่งพวกเขาก็กำลังเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ ต้องพยายามเดินต่อไปให้ได้เท่านั้น
แปลและเรียบเรียงจาก Newsweek June 27, 2005
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
|
|
|
|
|