ผ่าชะตากรรมตลาดหุ้นไทยปี 2548 เจอปัจจัยลบทั้งภายนอก-ใน ประดังเข้ามาไม่หยุดหย่อน น้ำมันแพง-เศรษฐกิจขาลง-ดอกเบี้ยในประเทศขาขึ้น ก่อการร้ายภาคใต้ทวีความรุนแรงหลังออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่างชาติประเมินสถานการณ์ชะลอลงทุนใหม่ มิหนำซ้ำนักลงทุนต่างชาติหมดตัวเล่นในตลาดหุ้น หลังหุ้นปตท.เสน่ห์ลด แม้ราคาหุ้นไทยยังถูกแสนถูกแต่ก็ไม่สน หวังหุ้นเบียร์ช้างเข้ามาเติมเต็มเสน่ห์ตลาดหุ้นไทยที่ขาดหายไป ขณะที่รายใหญ่ในประเทศบาดเจ็บจากหุ้นปิคนิคระนาว พบมาร์เกตแคปหุ้นปิคนิค หายไป 1.2 หมื่นล้านบาท
สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยเข้าขั้นลำบาก เนื่องจากต้องเผชิญปัจจัยภายในประเทศ และภายนอกประเทศที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา น้ำมันที่ปรับตัวสูงแล้วสูงอีกโดยไม่ยอมลดลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย ปัญหาการก่อการร้ายที่กำลังสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยภายในประเทศไทยเองต้อง เผชิญกับเศรษฐกิจขาลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ที่สำคัญการก่อการร้ายในภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงถึงขั้นต้องมีการออกพระราชกำหนดฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อหวังแก้ปัญหาและป้องกันการก่อวินาศ-กรรมขยายวงกว้างสู่ใจกลางประเทศ ส่งผล ให้นักลงทุนต่างชาติจับตามองปัญหาก่อการ ร้ายในไทยไม่นิ่ง มิหนำซ้ำกลับรุนแรงขึ้น จึงชะลอการนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในเมืองไทยออกไปก่อน
ขณะที่ล่าสุด ประเทศจีนมีการปรับค่าเงินหยวน ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและประเมินสถานการณ์เข้มข้นขึ้น
แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์เปิดเผยว่า แม้พีอีเรโชตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ระดับ 8-9 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ว่าราคาหุ้นไทยต่ำมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านก็ตาม แต่ไม่พบว่านักลงทุนต่างชาติจะนำเงินเข้าลงทุนเพิ่มขึ้น โดยชะลอการลงทุนเนื่องจากกังวลปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
ถึงแม้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-21 ก.ค.) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,241.54 ล้านบาท, นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 1,721.62 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 116.26 ล้านบาท
ทั้งนี้ เม็ดเงินที่ซื้อสุทธิดังกล่าวนั้นนักวิเคราะห์ ระบุไว้เป็นเม็ดเงินเก่าที่มีการขายไปก่อนหน้านี้แต่ยังไม่ได้นำออกไป จึงกลับเข้ามาทยอยซื้อกลับไปบ้างซึ่งการซื้อแต่ละวันก็ไม่ถึง 1 พันล้านบาท
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังมองว่า หุ้น ปตท. (PTT) ความน่าสนใจน้อยลงแล้ว เพราะได้เข้ามาลงทุนจนราคาปรับตัวสูงขึ้นมากต้องทยอยขายหุ้นปตท.ออกมาทำกำไร และเมื่อประเทศไทยมีการประกาศลอยตัวน้ำมันไปยิ่งทำให้โอกาสที่จะเห็นการเก็งกำไรในหุ้นปตท.ลดน้อยลง นักลงทุนต่างชาติจึงเหมือนกับหมดตัวเล่นแล้วสำหรับตลาดหุ้นไทย
อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่สามารถนำสินค้าใหม่ หรือหุ้นที่มีขนาดใหญ่เข้ามาซื้อขายได้
โดยเฉพาะหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทุกคนให้ความสนใจ ตลอดจนหุ้นเบียร์ช้าง หรือบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) ที่มีขนาดมาร์เกตแคปใหญ่ระดับ 2 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า โดยเฉพาะหุ้นเบียร์ช้างนั้นเป็นที่รับรู้กันว่ามีการเตรียมความพร้อมมานานและพร้อมมากที่สุด หรือพร้อมมากกว่าหุ้นกฟผ.ด้วยซ้ำ หากเบียร์ช้างไม่เข้ามานักลงทุนต่างชาติก็ไม่นำเม็ดเงินใหม่เข้ามาลงทุน เพราะสถานการณ์ในประเทศไทยในเรื่องของเศรษฐกิจขาลง จนนักลงทุนต่างชาติปรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยกับปัญหาภาคใต้ ยังเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลอยู่
ซึ่งหากมีหุ้นใหญ่ตัวใหม่เข้ามาดึงดูดใจ ก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติได้มีหุ้นตัวใหม่ให้เข้ามาซื้อขายหรือลงทุนได้
สำหรับบรรยากาศการลงทุนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณการซื้อขายเบาบางลงโดยอยู่ในระดับ 1 หมื่นล้านบาทเศษต่อวัน บางวันปริมาณการซื้อขายลดลงเหลือเพียง 8 พันกว่าล้านบาท ส่งผลปริมาณการซื้อขายตลอดในเดือนกรกฎาคม (14 วันทำการ ) มีจำนวน 198,384.65 ล้านบาท เฉลี่ยต่อวัน 14,178 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน (22 วันทำการ) มีจำนวน 327,104.42 ล้านบาท เฉลี่ยเกือบ 15,000 ล้านบาท
โดยในเดือนนี้เหลือเวลาทำการอีกเพียง 5 วันเท่านั้น
แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่าน มามาร์เกตติ้งหรือเจ้าหน้าที่การตลาด ได้แนะนำให้นักลงทุนถือเงินสด เพื่อรอดูสถานการณ์ตั้งแต่ก่อนที่จะถึงวันหยุดเทศกาลเข้าพรรษาช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวหลายวันติดต่อกันแล้ว ยังต้องการประชุมเรื่องอัตรา ดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการซื้อขายเก็งกำไรรายวัน ได้รับผลความเสียหายจากกรณีหุ้นปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (PICNI) ที่ทรุดตัวลงค่อนข้างมาก ภายหลังการกล่าวโทษอดีตผู้บริหารปิคนิค ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมช่วงที่ผ่านมาซบเซาลงถนัดตา
มาร์เกตแคปตลาดหรือมูลค่าตลาดรวมลดลงมาอยู่ที่ 4.469 ล้านล้านบาท จากที่ในเดือนมิถุนายน มีมาร์เกตแคป 4.649 ล้านล้านบาท
สำหรับหุ้นปิคนิค มาร์เกตแคปหรือมูลค่าหุ้นลดลงเป็นอย่างมาก จากการถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงิน และการกล่าวโทษอดีตผู้บริหาร เฉพาะแค่วันที่เปิดให้มีการซื้อขายหุ้นปิคนิคครั้งแรกเมื่อแก้ไขงบการเงินแล้วกำไรสุทธิลดลงจาก 700 ล้านบาท เหลือ 200 กว่าล้านบาท ราคาหุ้นทรุดตัวลงไปถึงกว่า 60% มีการบังคับขายไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (บีอี) และงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2548 ลดลง 35.40%
โดยมาร์เกตแคปวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นเครื่องหมายเอสพี (ห้ามทำการซื้อขาย) เพื่อแก้ไขงบการเงินอยู่ที่ 16,253 ล้านบาท (17 พ.ค.) และลดลงเป็นลำดับนับจากวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้มีการซื้อขายหุ้นได้หลังแก้ไขงบการเงินแล้ว (30 มิ.ย.) เมื่อราคาหุ้นปิคนิคทรุดจาก 11 บาทมาที่ 4.90 บาทลดลง 55.45% ในวันนั้น ส่งผลมาร์เกตแคปลดลงมา อยู่ที่ 7,240.23 ล้านบาท ก่อนจะไปต่ำสุดที่ 3,575.79 ล้านบาท (13 ก.ค.) เป็นวันที่ราคาหุ้นต่ำสุด 2.24 บาท
แต่มาล่าสุด (21 ก.ค.) มาร์เกตแคปอยู่ที่ 4,492.13 ล้านบาท (ราคาหุ้น 3.04 บาท) คิดเป็นมาร์เกตแคปหายไป หรือเม็ดเงินที่นักลงทุนถือยู่ในมือหายไปถึง 11,760.87 ล้านบาท โดยวันที่มาร์เกตแคปต่ำสุด คือ 3,575.79 ล้านบาท (13 ก.ค.)
หากเทียบมูลค่าหุ้นปิคนิคตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน จะพบว่ามูลค่าหุ้นปิคนิค หรือมาร์เกตแคปลดลงไปถึง 76.26% หรือ 14,432.14 ล้านบาท จากอยู่ที่ 18,924.27 ล้านบาทในต้นปี (ราคาหุ้น 14.60 บาท) โดยมาร์เกตแคปสูงสุดอยู่ที่ 21,397.88 ล้านบาท (7 ก.พ.)
อย่างไรก็ตามหากเปรียบมูลค่าหุ้นปิคนิคก่อนแขวนเอสพี ซึ่งขณะนั้นมาร์เกตแคปอยู่ที่ 16,253 ล้านบาท (17 พ.ค.) กับวันที่มาร์เกตแคปต่ำสุดที่ 3,575.79 ล้านบาท จะพบว่ามูลค่าหุ้นปิคนิคหายไปทั้งสิ้น 12,678 ล้านบาท อนึ่ง มูลค่าหุ้นปิคนิคที่หายไปใกล้ เคียงกับค่าเสียหายที่บริษัทฟ้องร้องจากหนังสือพิมพ์ ฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้
|