จับตาทีเอประกาศพลิกโฉมธุรกิจสื่อสารด้วยการจับมือ 10 พันธมิตรลุยตลาดข้อมูลมัลติมีเดียสำหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
และสร้างการบริการต่อเนื่องอย่างครบวงจร หลังเห็นแนวโน้มตลาดต่างประเทศโต
หวังเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยให้เป็นแบบไลฟ์สไตล์ที่บริโภคเนื้อหาสาระด้านต่างๆ
ด้วยความเร็วสูง
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเทเลคอมเอเซียคอร์ปอเรชั่น
จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ เปิดเผยว่า ทีเอได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการพันธมิตรข้อมูลอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
หรือ บรอดแบนด์คอมมูนิตี้ กับตัวแทนบริษัทพันธมิตรจำนวน 10 ราย ประด้วย บริษัทอินเตอร์แอคทีฟมีเดียเซอร์วิส,
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บริษัทเนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป, บริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่,
บริษัทบำรุงราษฎร์เมดิคอลเซ็นเตอร์, บริษัทเจเนอรัลอิเลคทรอนิคคอมเมิร์ซเซอร์ซิส,
ธนาคารไทยพาณิชย์, กลุ่มบริษัทยูไนเต็ดบรอดคาสติ้งคอร์ปอเรชั่น, บริษัทบี.เอ็ม.มีเดีย
(ไทยแลนด์) และบริษัท ฟรีวิลล์โซลูชั่นส์ ซึ่งพันธมิตรทั้ง 10 รายมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาข้อมูลและบริการด้านต่างๆ
เช่น การศึกษา บันเทิง ธุรกิจ การเงิน การธนาคาร และสุขภาพ
สำหรับโครงการดังกล่าวทีเอมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการนำเสนอข้อมูลรูปแบบใหม่ทางสื่ออินเทอร์เน็ต
เพื่อรองรับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และตอบสนองความต้องการของตลาดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่แนวโน้มกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังเป็นการนำไปสู่การสร้างธุรกิจการให้บริการข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อไป
โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือลูกค้าระดับองค์กร บริษัท และผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไป
“จากความมือครั้งนี้จะเป็นจุดหักเหและจุดเริ่มต้นที่ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจสื่อสาร
แต่จะมีผลต่อทุกอุตสาหกรรมในการให้บริการ และการนำเสนอสินค้าต่างๆ”
โครงการบรอดแบนด์คอมมูนิตี้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลความเร็วสูงถึง
5 กิกะบิตต่อวินาที โดยทีเอเป็นผู้วางระบบเครือข่าย เพื่อให้บริการใน 3 รูปแบบคือ
ทีเอ เมโทรเน็ต, ทีเอ เอ็กซ์เพรส และทีเอ เคเบิล โมเด็ม
“การนำเสนออินเทอร์เน็ตให้ถึงบ้าน ไม่ใช่การพลิกโฉมการสื่อสาร ไม่ใช่การพลิกโฉมชีวิตประจำวัน
หรือการทำงาน หากปราศจากเนื้อหาสาระที่สำคัญในประเทศ แม้ต่างประเทศมีเนื้อหาสาระมากกว่า
แต่การบริโภคหรือคอนซูมของต่างประเทศยังมีปัญหาเรื่องคอขวดเกตเวย์ ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง”
บรอดแบนด์ที่จะมีคุณค่ากับผู้บริโภคจะเกิดไม่ได้หากไม่มีเนื้อหาสาระที่ดีของท้องถิ่น
แม้จะมีเทคโนโลยีดี แต่ไม่มีเนื้อหาที่ดีแล้ว เทคโนโลยีที่มีก็ไม่เกิดประโยชน์
ทั้งนี้การทำโครงการบรอดแบนด์คอมมูนิตี้ จะทำให้ผู้บริโภคตั้งแต่เด็กถึงคนชราสามารถใช้ประโยชน์ในการบริโภคแบบอินเตอร์แอ็คทีฟได้
และจะทำให้คำว่าสื่อสารหมดไปหรือกลายเป็นคำโบราณเหมือนรหัสมอส
จากบริการตรงนี้ทีเอเรียกว่าแอ็คเซ็ส โซลูชั่น ซึ่งเป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระออนไลน์
โดยมีส่วนสำคัญคือ
1. สร้างความสะดวกสบาย และประหยัดเวลา
2. บริโภคเนื้อหาสาระที่จะใช้ในชีวิตประจำวันที่มีประโยชน์
“ต่อไปที่เราเห็นบนจอคอมพิวเตอร์จะไม่เห็นอีก ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ออฟฟิศ
หรือโลตัสโน้ต เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาผู้บริโภคสามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้แบบไลฟ์สไตล์
ว่าต้องการอยากจะทำอะไร สามารถคลิกเข้าไปได้ และดูแล้วดูอีกได้” เขากล่าว
แนวโน้มเกี่ยวกับบรอดแบนด์ทั่วโลกมีอัตราการอย่างรวดเร็ว อย่างในเกาหลีที่ให้บริการถึงบ้านด้วยความเร็ว
4 เมกะบิตต่อวินาที และมีผู้ใช้บริการสูงถึง 9 ล้านหลังคาเรือนจากประชากร
15 ล้านหลังคาเรือน หรือบริการของชงหวา เทเลคอม ที่เปิดให้บริการระยะแรกมีผู้ใช้เพียง
1 แสนราย หลังจากให้บริการได้เพียง 1 ปีมีผู้ใช้เพิ่มเป็น 1.3 ล้านราย และขณะนี้ทีเอพร้อมแล้วที่จะให้มีการบริโภคเนื้อหาสาระในความเร็วที่สูง