Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน1 สิงหาคม 2545
"เวิลด์คอม" ทำหุ้นโลก-เงินดอลล่าร์ฮวบ             
 


   
www resources

Worldcom Homepage

   
search resources

Worldcom




รอยเตอร์/อีโคโนมิสต์/CNBC/วอชิงตันโพสต์ - เมื่อเวิลด์คอม ยักษ์เบอร์สองด้านโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกา ออกมายอมรับว่ามีความไม่ชอบมาพากลอยู่ในระบบบัญชีของตัว ตลาดหุ้นทั่วโลกวานนี้ (26) ถึงกับช็อกระนาวไม่ว่าจะในเอเชีย ยุโรป หรือสหรัฐฯ เพราะมันคืออีกหนึ่งตัวตอกย้ำว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯยากจะฟื้นคืนความเข้มแข็งได้

และมันกระแทกหัวใจนักลงทุนอย่างแรงครั้งที่ร้อยกับแปดแล้วว่าหุ้นที่ยังถือไว้ในพอร์ตอีกมหาศาลนั้น แพงเกินกว่าที่กลัวๆ กันอยู่เพียงใด ยิ่งกว่านั้น สถาบันการเงินที่พบว่าลูกหนี้ดูดีรายแล้วรายเล่ากลายเป็นลูกหนี้เน่าระนาว อาจเป็นชนวนพาเศรษฐกิจสหรัฐฯทรุดกลับไปสู่ภาวะหดตัวเอาง่ายๆ

บัดนี้ นักลงทุนไม่ยอมเชื่อกันแล้วว่าตลาดหุ้นคืออาณาจักรการลงทุนเพื่อทำกำไร ในเมื่อภาคธุรกิจอเมริกันเต็มไปด้วยความเน่าเฟะซุกซ่อนรอเพียงเวลาที่หนอนจะไต่ออกมาฟ้อง ในเมื่อบรรดาตัวเลขผลกำไรหรูหราในยุคเรืองรองของวอลล์สตรีทล้วนกลายเป็นตัวเลขที่เชื่อถือไม่ได้

และในเมื่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทธุรกิจทั้งหลายกลายเป็นธุรกิจเสี่ยงสูงเปี่ยมด้วยหนี้ธุรกิจอาการไม่ดี นักลงทุนไม่อาจหลอกตัวเองได้อีกต่อไป แต่แห่กันผวาหนักว่า องค์ประกอบสำคัญส่วนนี้ของเศรษฐกิจสหรัฐฯมีดีกรีความป่วยไข้เกินการเยียวยา

และเมื่อสหรัฐฯป่วย เศรษฐกิจเจ้าอื่นๆ ของโลกก็ย่อมจับไข้หนักไปด้วย ดังนั้นนักลงทุนในทุกตลาดทุกภูมิภาคเฮละโลกันหนีตายออกจากตลาดหุ้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นสำคัญสารพัดตัวดิ่งนรกอย่างระนาว

ดัชนีหุ้นคอสพีของตลาดหุ้นโซลควงสว่านโหม่งพสุธาลึก 7.16% ขณะที่ดัชนีหุ้นนิกเกอิของตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็เสียหายสาหัส 4.02% ด้านดัชนีหุ้นชั้นแนวหน้าของยุโรปในตลาดเช้าร่วงเละเจ้าละ 3-4%

ในภาวะระส่ำอย่างนี้ นักลงทุนเสื่อมความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์อย่างรุนแรง

และยิ่งเมื่อคำนึงถึงคำพูดของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯที่กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25) ว่าไม่คิดจะเข้ายุ่งเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ กระแสทิ้งเงินดอลลาร์ก็ยิ่งทวีตัว

เงินดอลลาร์อ่อนอย่างรวดเร็วไปสู่ระดับ 0.99 ดอลลาร์ต่อยูโร ในชั่วโมงการเทรดรอบเช้าของยุโรป และดิ่งลงสู่ระนาบ 119 เยนต่อดอลลาร์โดยไม่คำนึงถึงปฏิบัติการของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่เข้าแทรกแซงตลาดเมื่อเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า

CFOเวิลด์คอมอาจโกง 4 พันล้านดอลล์

หลังจากที่ตลาดหุ้นที่วอลล์สตรีทวันอังคาร ปิดการเทรดหลายชั่วโมงแล้ว บริษัทเวิลด์คอม ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทางไกลรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐฯ แถลงว่าได้ไล่ออกประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน หรือซีเอฟโอ นามสกอตต์ ซัลลิแวน หลังจากพบความผิดปกติในระบบบัญชี ซึ่งอาจเป็นการโกงครั้งมโหฬารร่วมๆ 3,000 - 4,000 ล้านดอลลาร์

ผลจากเรื่องนี้จะทำให้เวิลด์คอมต้องทำรายงานผลประกอบการขึ้นมาใหม่ให้ถูกต้อง ตั้งแต่ผลประกอบการของ 4 ไตรมาสเต็มๆ ของปี 2001 และของไตรมาส 1/2002 ด้วย

แม้เวิลด์คอมยังไม่ให้รายละเอียดมาก แต่ตลาดพูดกันให้แซ่ดแล้วว่า เวิลด์คอมมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นบริษัทล้มละลายเจ้าใหม่ ซึ่งนั่นคือข่าวร้ายฉกรรจ์สำหรับวงการธนาคาร ที่มีพอร์ตลูกหนี้ยักษ์เน่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและรวดเร็ว จนน่าสงสัยว่าระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯจะเข้มแข็งอยู่ได้อย่างไรในภาวะแย่ๆ เช่นนี้

ข่าวเวิลด์คอมนับเป็นความน่าผิดหวังอย่างร้ายกาจสำหรับนักลงทุน ที่ต้องรับข่าวร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าบริษัทดูดีดูเลิศรายแล้วรายเล่า ไล่เรียงได้ตั้งแต่จอมยักษ์อย่างเอนรอน คอร์ป มาจนถึงขาใหญ่อย่างไทโก้ ที่แท้แล้วก็รายงานฐานะการเงิน รายงานผลประกอบการที่ไม่เป็นจริง

นิตยสารดิอีโคโนมิสต์รายงานว่า เท่าที่ผ่านมา บริษัทอเมริกันกว่า 1,000 รายแล้วที่ออกมาประกาศตัวเลขผลประกอบการใหม่ โดยย้อนหลังแก้ไขไกลลงไปถึงปี 1997 ทีเดียว ในการนี้จะมีการสารภาพว่ารายงานก่อนหน้านี้ล้วนแต่เป็นการเผยแพร่ตัวเลขที่ผิดพลาด ตลอดจนตัวเลขที่ชวนให้เข้าใจผิดว่าดีเลิศดียิ่ง

หุ้นกลายเป็นของร้อนไปทั่วโลก DJIA ทรุดทะลุ 9,000 อย่างง่ายๆ

ตลาดหุ้นในสหรัฐฯเปิดตลาดวันวานในอาการดิ่งเหวเสมือนตลาดหุ้นพรรคพวกที่ทรุดเละล่วงหน้า โดยมีหุ้นในกลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มไฮเทค ไปจนถึงกลุ่มสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะหุ้นซิตี้แบงก์ หุ้นเจพี มอร์แกน เชส หุ้นจีอี ล้วนถูกเทกระจาดเสียหายหนัก

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ใช้เวลาไม่กี่นาที ก็ทรุดทะลุแนวรับอันแข็งแกร่งระดับ 9,000 อย่างง่ายดาย หลังจากที่ดัชนีซูเปอร์สตาร์ตัวนี้ไม่เคยต่ำกว่าพรมแดนเก้าพันนี้เลยนับจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ต้นปีนี้

ก่อนหน้านั้น ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ทรุดไปปักหลักอยู่ในปริมณฑล 8,900 ในชั่วโมงทำการของฝั่งเอเชียและยุโรป

สถานการณ์ของหุ้นในเอเชียและยุโรปสาหัสล่วงหน้าก่อนสหรัฐฯ ในวิสัยทัศน์ว่า หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯผู้เป็นลูกค้ารายใหญ่ตกสู่ภาวะป่วยหนัก เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ย่อมต้องถูกหางเลขไปด้วย นอกจากนั้น ในเมื่อแท้ที่จริงแล้วผลประกอบการของเจ้าพ่อด้านโทรคมนาคมมิได้ดีจริง นักลงทุนย่อมผวาว่าผลประกอบการในวงการโทรคมนาคมของประเทศต่างๆ ก็ยากจะดีไปด้วย หากไม่ใช่ว่าเคยแย่ในอดีต ก็มีความเป็นไปได้ที่จะย่ำแย่ในอนาคต

หุ้นโทรคมนาคม ตลอดจนหุ้นต่างๆ ในแวดวงไฮเทค ไปถึงหุ้นพื้นฐานทั้งหลาย ล้วนแต่ถูกนักลงทุนเทกระจาดสาดเสียเทเสีย

ดัชนีหุ้นคอสพีของตลาดโซลตกตื่นย่ำแย่เกินใคร ปิดตลาดติดลบ 7.15% เหลืออยู่แค่ 701.87 ดัชนีหุ้นนิกเกอิของตลาดญี่ปุ่นคะมำคว่ำลงไป 4.02% ปิดตลาดที่ระดับ 10,074.56 และดัชนีหุ้นฮั่งเส็งของตลาดฮ่องกงร่วงลึก 2.4% ปิดตลาดที่ระดับ 10,355.92

ด้านดัชนีหุ้นของตลาดลอนดอน ตลาดแฟรงก์เฟิร์ต และตลาดปารีส ก็ดิ่งสาหัสตั้งแต่ตลาดเช้ายันตลาดบ่าย ในดีกรีติดลบมากกว่าสามเปอร์เซ็นต์ไปจนถึงมากกว่าสี่เปอร์เซ็นต์

ดอลลาร์ดิ่งหาสะดือทะเล BOJทุบเยนอ่อนไม่สำเร็จ

ขวัญผวาและความเสื่อมศรัทธาต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลบั่นทอนค่าเงินดอลลาร์อย่างมโหฬาร เงินดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่เงินเยนกับเงินยูโรดีดแข็งอย่างรวดเร็ว เพราะนักลงทุนแห่หนีตายออกจากตลาดการเงินสหรัฐฯ

ดอลลาร์เมื่อเทียบกับยูโรจะแตะระดับหนึ่งต่อหนึ่งได้อย่างแน่นอน แล้วดอลลาร์จะอ่อนไปไกลกว่านั้นได้ไม่ยาก นักวิเคราะห์ฟันธงอย่างนั้น

เงินเยนถูกกระแสเทขายดอลลาร์งัดขึ้นจากระดับ 120.42 เยนต่อดอลลาร์ ไปเคลื่อนไหวแถวๆ 119 เยนต่อดอลลาร์ภายในไม่ทันจะข้ามวันวานนี้

กระแสทุบเงินดอลลาร์ดันขึ้นเงินเยนเชี่ยวกราก โดยไม่หวั่นเกรงกับปฏิบัติการแทรกแซงตลาดที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจดำเนินการเมื่อวานเลย

บีโอเจแสดงจุดยืนแจ่มชัดมาหลายรอบแล้วว่า สามารถทำใจยอมให้เงินเยนแข็งได้ไม่เกิน 120 เยนต่อดอลลาร์ อันเป็นระดับที่ภาคธุรกิจบอกว่าหากแข็งกว่านี้จะส่งผลต่อยอดขายและผลกำไร นักวิเคราะห์จึงค่อนข้างเชื่อว่า การแทรกแซงตลาดด้วยการเทขายเงินเยนรับซื้อดอลลาร์จะปรากฏอีก

อย่างไรก็ตาม ดีลเลอร์บอกว่าแรงขายเยนซื้อดอลลาร์ที่บีโอเจกระทำเป็นคำรบที่สองในรอบสัปดาห์นี้ ยากจะต้านกระแสตลาดที่กำลังแรงอยู่ในขณะนี้

ยิ่งกว่านั้น ท่าทีของประธานาธิบดีจอร์จ บุชแห่งสหรัฐฯ ก็ช่วยโหมกระแสนี้โดยตรง ล่าสุดบุชพูดจากที่ประชุมสุดยอดกลุ่มจี 8 ที่แคนาดาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า

“ดอลลาร์จะแสวงหาระดับของมันเอง โดยอิงอยู่กับพลังตลาด”

นักลงทุนวิ่งหาพื้นที่ปลอดภัย ทองกลับไป 325 บอนด์กระฉูด

เม็ดเงินที่หอบหิ้วกันหนีออกจากตลาดหุ้น ยังเดินยุทธศาสตร์หลักอย่างเคร่งครัด คือวิ่งเข้าหาสินทรัพย์จำพวกกำไรต่ำมั่นคงสูง ตลาดทองคำและตลาดตราสารหนี้

ราคาทองคำตลาดสปอตที่อ่อนลงไปแถวๆ 319 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อวันอังคาร พุ่งกระฉูดกลับไปยังระนาบ 324.5 ดอลลาร์ต่อออนซ์อย่างรวดเร็ว

ตราสารหนี้ก็เป็นสินค้าซื้อง่ายขายคล่องไปเช่นกัน ราคาบอนด์กระทรวงการคลังสหรัฐฯกระเด้งขึ้น ขณะที่ยีลด์อ่อนลงทันตา เช่น ยีลด์ของตั๋วเงินคลังสหรัฐฯประเภท 2 ปี อ่อนลง 0.2106% อยู่ที่ระดับแค่ 2.63% อันเป็นระดับต่ำสุดๆ ที่ไม่ได้เห็นมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

เวิลด์คอมยอมรับแต่งบัญชีเงินสดหมุนเวียน

เวิลด์คอม ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทางไกลอันดับ 2 ของสหรัฐฯ สร้างความตื่นตะลึงไปทั่ว ด้วยการเปิดเผยว่าได้ปรับแต่งตัวเลขเงินสดหมุนเวียนสูงเกินจริงเฉียด 4,000 ล้านดอลลาร์ระหว่าง 5 ไตรมาสที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งในกรณีการปลอมแปลงบัญชีครั้งมโหฬารที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจทั่วโลก

นอกจากนั้น ปัญหาดังกล่าวที่ถูกตรวจพบระหว่างการตรวจสอบบัญชีภายใน ยังก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความอยู่รอดของเวิลด์คอม ตลอดจนเอ็มซีไอ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทางไกลที่ถูกซื้อเข้ามาในปี 1998 ทั้งนี้เพราะนอกจากถูกทางการตรวจสอบเรื่องวิธีการทำบัญชีแล้ว เวิลด์คอมในขณะนี้ยังกำลังดิ้นรนหนักเพื่อหาเงินมาโปะหนี้มูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์

เดือนที่แล้ว หุ้นของบริษัทถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไปอยู่ระดับจังค์บอนด์ ราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีหล่นวูบกว่า 94% ก่อนที่บริษัทจะออกมาเปิดเผยเรื่องราวฉาวโฉ่นี้ในคืนวันอังคารด้วยซ้ำ

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เวิลด์คอมจะขอรับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายล้มละลาย ตามรอยเอนรอน, โกลบัล ครอสซิ่ง และอีกหลายบริษัทที่มีเรื่องอื้อฉาวทางบัญชีนับจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เวิลด์คอมพยายามหนีสถานะดังกล่าวด้วยการประกาศปลดพนักงาน 1 ใน 5 หรือ 17,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดหวังให้เวิลด์คอมสั่งปลดมาหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้แล้ว

แทนที่จะมีกำไร 1,400 ล้านดอลลาร์อย่างที่รายงานไว้ในปี 2001 และ 130 ล้านดอลลาร์สำหรับไตรมาสแรกของปีนี้ เวิลด์คอมสารภาพว่า ในช่วงเวลาเหล่านั้น บริษัทขาดทุน แต่ไม่ยอมระบุยอด

เวิลด์คอมยังประกาศปลด สก็อตต์ ดี. ซัลลิแวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการวางกลยุทธ์ด้านการเงินระหว่างกลางถึงปลายทศวรรษ 1990 ที่นำเวิลด์คอมขึ้นมาจากบริษัทสื่อสารชั้นสองสู่ระดับเวิลด์คลาส มีธุรกิจใน 65 ประเทศ และว่าจ้างพนักงาน 80,000 คนทั่วโลก ผ่านการกว้านซื้อกิจการ ซึ่งรวมถึงการเทคโอเวอร์เอ็มซีไอด้วยเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1998

ซัลลิแวนใกล้ชิดสนิทสนมกับ เบอร์นาร์ด เจ. เอบเบอร์ส ที่รั้งตำแหน่งประธานบริหารเวิลด์คอมมายาวนาน และเพิ่งลาออกกระทันหันในเดือนเมษายน เขาติดหนี้บริษัทอยู่มากกว่า 366 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงหนี้ที่บริษัทค้ำประกันให้ด้วย

คณะกรรมการอำนวยการบริษัท (บอร์ด) ของเวิลด์คอมเผยว่า ซัลลิแวนพยายามอธิบายกระบวนการคิดและวิธีการบันทึกบัญชีที่เขาใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สามารถยอมรับได้สำหรับคณะอนุกรรมการตรวจสอบบัญชีของบริษัท และเคพีเอ็มจี

วิธีการดังกล่าวคือการเปลี่ยนต้นทุนการดำเนินงาน อาทิ การลงบัญชีว่าการบำรุงรักษาเครือข่ายพื้นฐาน เป็นรายการการลงทุน ซึ่งถือเป็นอุบายทางบัญชีเพื่อปิดบังค่าใช้จ่ายของบริษัท ทำให้เงินสดหมุนเวียนมีจำนวนสูงเกินจริง และรายงานผลกำไรแทนการขาดทุน

ทั้งนี้ จนถึงเดือนที่แล้ว ผู้ตรวจสอบบัญชีของเวิลด์คอมยังคงเป็น อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน ที่เคยตรวจสอบบัญชีให้เอนรอน และโกลบัล ครอสซิ่ง แต่เดือนที่แล้ว เวิลด์คอมตัดสินใจเลิกสัญญากับ อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน และจ้างเคพีเอ็มจีมาตรวจสอบบัญชีแทน และขอให้เคพีเอ็มจีเข้ามาจัดการรายงานการเงินประจำปี 2001 และ 2002 ของบริษัท

“คณะผู้บริหารอาวุโสของเราช็อกไปตามๆกันกับสิ่งที่ตรวจพบเหล่านี้ ผมอยากรับประกันกับลูกค้าและพนักงานของเราว่า บริษัทจะยังคงอยู่รอดและยังคงยึดมั่นกับอนาคตระยะยาว” จอห์น ดับเบิลยู. ซิดมอร์ ผู้รับตำแหน่งประธานบริหารต่อจากเอบเบอร์ส กล่าว

เวิลด์คอม ที่เคยมีมูลค่าสูงสุด 115,300 ล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน 1999 เมื่อราคาหุ้นของบริษัทพุ่งไปยืนจังก้าอยู่ที่ 62 ดอลลาร์ต่อหุ้น มาวันนี้กลับกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าไม่ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากข่าวนี้แพร่งพรายออกไป ราคาหุ้นของบริษัทหล่นไปเหลือแค่ 26 เซนต์เท่านั้น

นอกจากซัลลิแวนแล้ว เวิลด์คอมยังอนุมัติการลาออกของ เดวิด มายเออร์ส จากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสและผู้ควบคุมการเงิน บริษัทยังแจ้งเรื่องนี้ไปยังเอสอีซีที่เริ่มตรวจสอบบัญชีของบริษัทมาตั้งแต่เดือนมีนาคม

สำหรับในสายตานักลงทุนนั้น การที่เวิลด์คอมยักย้ายถ่ายเทตัวเลขเงินสดหมุนเวียน ไม่ใช่แค่รายงานผลกำไร ถือเป็นเรื่องใหญ่เอาการ เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรมา นักลงทุนจะเชื่อว่าเงินสดหมุนเวียนเป็นดัชนีบ่งชี้สถานะการเงินของบริษัทที่เชื่อถือได้มากกว่า เพราะปลอมแปลงไม่ง่ายเหมือนตัวเลขผลกำไร

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us