เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทไอบีเอ็ม (IBM) เปิดเผยว่า มีแผนเข้าซื้อกิจการบริษัทไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สคอนซัลติ้ง
(PricewaterhouseCoopers Consulting) ด้วยมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
(ประมาณ 1.47 แสนล้านบาท) ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะช่วยยกระดับธุรกิจของไอบีเอ็มจากการจำหน่ายเพียงคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์
ไปเป็นผู้ให้บริการด้านไอทีแก่ลูกค้าองค์กรในรูปของบริการแบบครบวงจร
การฟื้นตัวของไอบีเอ็มจากปัญหาลึกที่เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นผลจากการผสมผสานผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่เข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาเชิงธุรกิจให้กับลูกค้า
ซึ่งบริการต่างๆเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกลยุทธ์ของไอบีเอ็ม
"กลยุทธ์ด้านการแข่งขันของไอบีเอ็มคือ การผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อลูกค้า"
สตีเฟ่น มิลูโนวิช (Steven Milunovich) นักวิเคราะห์จากเมอร์ริลลินช์ (Merrill
Lynch) กล่าว "และการเข้าเทคโอเวอร์ของไอบีเอ็มในครั้งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวตามแนวทางดังกล่าว"
สำหรับไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส บริษัทบัญชีและที่ปรึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
การทำสัญญาในครั้งนี้เป็นวิธีแยกธุรกิจทั้งสองออกจากกันอย่างรวดเร็วที่สุด
และยังยกเลิกแผนก่อนหน้านี้ ที่จะจำหน่ายหุ้นของบริษัทคอนซัลติ้งให้กับประชาชนด้วย
หลายปีที่ผ่านมา มีนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า งานด้านคอนซัลติ้งและงานด้านบัญชีควรถูกแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด
เพื่อลดความกดดันของผู้ตรวจสอบบัญชี ให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระจากเจ้าหน้าที่บัญชีของบริษัท
ซึ่งเป็นลูกค้าและใช้บริการด้านคอนซัลติ้งจากบริษัทที่ผู้สอบบัญชีทำงานอยู่
บริษัทไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สพยายามแยกธุรกิจด้านคอนซัลติ้งออกจากธุรกิจด้านบัญชีมาเป็นเวลา
2 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีจังหวะเหมาะ ก็มาเกิดกรณีโกงบัญชีของบริษัทเอนรอน (Enron)
ขึ้นเสียก่อน ซึ่งผู้สอบบัญชีของไพร์ซวอร์เตอร์เฮาส์คูเปอร์สคือ อาร์เธอร์
แอนเดอสัน (Arthur Andersen) ก็เข้าไปพัวพันกับกรณีดังกล่าวด้วย เขาได้รับเงินจากเอนรอนในจำนวนที่สูงมากเป็นค่าบริการด้านคอนซัลติ้ง
"นี่เป็นจุดสิ้นสุดสำหรับความพยายามของเรา ที่จะแยกธุรกิจซึ่งเรารู้สึกว่ามันขัดแย้งออกจากกัน"
ซามูเอล เอ ดิพิแอซซา จูเนียร์ (Samuel A. DiPiazza Jr.) ประธานคณะผู้บริหาร
บริษัทไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สกล่าว "มันเป็นวันที่ยิ่งใหญ่สำหรับบริษัทของเรา"
แผนจำหน่ายไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สคอนซัลติ้งจะเหลือไว้เพียงธุรกิจด้านบัญชี
หรือ บริษัทดีลอยตต์แอนด์ทัช (Deloitte & Touche) พร้อมธุรกิจคอนซัลติ้งอีกส่วนหนึ่ง
ซึ่งดีลอยตต์บอกว่าจะแยกส่วนคอนซัลติ้งออกไปช่วงปลายปีนี้ และนั่นเป็นการยุติเส้นทางที่ขัดแย้งโดยสมบูรณ์
ตามความเคลื่อนไหว ไอบีเอ็มกำลังจะซื้อการเติบโต ซึ่งขณะนั้นบริษัทกำลังประสบปัญหารายได้หดตัว
พร้อมๆกับการถดถอยของตลาดเทคโนโลยี
ไอบีเอ็มตั้งเป้ารายได้สำหรับบริการคอนซัลติ้งและเทคโนโลยีของไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สไว้ที่
4.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2002 ส่งผลราคาหุ้นไอบีเอ็มพุ่ง 61 เซนต์ ไปอยู่ที่
71.79 ดอลลาร์ แต่ก็กลับร่วงลงมาอีกภายในไม่กี่ชั่วโมง
ธุรกิจด้านบริการของไอบีเอ็มมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรศที่แล้ว
และขณะนี้ก็เป็นหน่วยธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ด้วยตัวเลขรายได้ 35 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
ธุรกิจด้านบริการของไอบีเอ็มจะทำทุกอย่างตั้งแต่ซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ของลูกค้า
ไปจนถึงซัพพลายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไอทีที่ลูกค้าต้องการ เช่น ฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์,
เน็ตเวิร์ค, ซ่อมบำรุง หรือแม้แต่การฝึกอบรม โดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือน
ซึ่งเรามักรู้จักกระบวนการดังกล่าวในชื่อของ "เอาต์ซอร์สซิ่ง"
(Outsourcing)
ไอบีเอ็มทำได้อย่างยอดเยี่ยมในส่วนของบริการด้านเทคโนโลยี แต่สำหรับธุรกิจด้านคอนซัลติ้งแล้ว
กลับไม่มีบทบาทเอาเสียเลย ขณะที่ไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สโดดเด่นอย่างที่สุด
และเนื่องจากบริษัทต่างๆต้องการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกำจัดจุดด้อยของกระบวนการทางธุรกิจ
ตั้งแต่ระบบจัดซื้อ (Procurement) ไปจนถึงลูกค้าสัมพันธ์ หรือซีอาร์เอ็ม
(Customer Relation Management) ดังนั้นธุรกิจประเภทคอนซัลติ้งอย่างไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สจึงสามารถสร้างบริการเสริม
และผูกสัมพันธ์กับลูกค้าได้นานขึ้น นักวิเคราะห์กล่าว
เพื่อให้บรรลุความสำเร็จ ไอบีเอ็มจำเป็นต้องก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นปกติในกระบวนการรวมกิจการขนาดใหญ่ไปให้ได้
หมายถึงการหลอมรวมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละองค์กรเข้าด้วยกัน และพนักงานจำนวนนับพันๆที่ต้องทำงานร่วมกันให้ได้
ธุรกิจโกลบอลเซอร์วิสของไอบีเอ็มมีพนักงานอยู่ประมาณ 150,000 คน ขณะที่ไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สคอนซัลติ้งมีอยู่
30,000 คน ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งคงต้องหายไป
"ในเชิงกลยุทธ์แล้ว ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นสิ่งถูกต้องและสมควรอย่างยิ่งสำหรับไอบีเอ็ม"
เดวิด กรอสแมน (David Grossman) นักวิเคราะห์จากโธมัสเวสเซิลพาร์ตเนอร์ส
(Thomas Weisel Partners) ในซานฟรานซิสโกกล่าว "แต่อย่าลืมว่า พวกเขากำลังซื้อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคน
รับผิดชอบความความสัมพันธ์ของคนกว่า 30,000 ชีวิต ซึ่งต้องจับรวมเข้าไว้ในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายสูง"
แน่นอนว่า ไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สต้องเสียบางอย่างในธุรกิจปัจจุบันไป
เนื่องจากลูกค้าบางรายเป็นบริษัทเทคโนโลยีคู่แข่งของไอบีเอ็ม จอห์น อาร์
จอยซ์ (John R. Joyce) ประธานฝ่ายการเงิน บริษัทไอบีเอ็ม กล่าว บริษัทต้องการรักษาความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้
แต่ "ความเป็นไปได้ค่อนข้างเลือนลาง"
การเจรจาระหว่างไอบีเอ็มกับไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สเริ่มขึ้นเมื่อวันที่
18 กรกฎาคม ในนิวยอร์ก ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลต.สหรัฐอเมริกา (Securities
and Exchange Commission) และเนื่องจากบริษัทไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้สอบบัญชีของไอบีเอ็ม
ดังนั้นในช่วง 3 ปีนับจากนี้ การสอบบัญชีของโกลบอลเซอร์วิสกรุ๊ปของไอบีเอ็มจะถูกโอนไปเป็นหน้าที่ของบริษัทบัญชีรายอื่นแทน
แต่จากการตกลงร่วมกันซึ่งผ่านการอนุมัติจากกลต.สหรัฐแล้ว ทำให้ไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สจะเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีทั้งหมดของไอบีเอ็มต่อไป
ในการเจรจา เกรก เบรนน์แมน (Greg Brenneman) ประธานบริษัทไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สคอนซัลติ้ง
กล่าวว่า ทั้งคู่พบว่าเป้าหมายทางธุรกิจและวิสัยทัศน์ของพวกเขาคล้ายกันมาก
ผู้บริหารของบริษัท เช่น ฮิวเลตต์แพคการ์ด (Hewlett-Packard) กล่าวว่า พวกเขาก็มีแผนเจรจากับไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สในเร็วๆนี้ด้วยเช่นกัน
ที่จริงคือ เอชพีก็จ้องตะครุบกิจการคอนซัลติ้งของไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สอยู่เช่นกัน
ที่สำคัญคือ เคยเจรจากันมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2000 ด้วยมูลค่าประมาณ 18
พันล้านดอลลาร์ แต่การเจรจายืดเยื้อ พร้อมๆกับการดิ่งลงของหุ้นของเอชพี ดังนั้นการต่อรองในครั้งนั้นจึงตกไป
ณ วันนี้ ในช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไอบีเอ็มตกลงซื้อไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สด้วยมูลค่า
3.5 พันล้านดอลลาร์ เป็นเงินสด 2.7 พันล้าน ที่เหลือเป็นหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพ
(Convertible Note)
ในธุรกิจคอนซัลติ้ง จะไม่มีชื่อไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สอีกต่อไป "เราตั้งใจจะยุบไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สคอนซัลติ้งเข้าไว้ภายใต้แบรนด์ของไอบีเอ็ม"
ดักลาส ที อีลิกซ์ รองประธานฝ่ายไอบีเอ็มโกลบอลเซอร์วิสกล่าว
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ไอบีเอ็มตัดสินใจซื้อไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สคอนซัลติ้งในครั้งนี้ก็คือ
เพื่อเติมเต็มฐานของไอบีเอ็มให้ครบสมบูรณ์แบบ เวอ์จิเนีย โรเมตตี้ (Virginia
Rometty) ผู้บริหารธุรกิจคอนซัลติ้งของไอบีเอ็มหลังการรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์กล่าว
นอกจากนั้นเธอยังต้องการลดรายจ่ายลงด้วย รวมถึงการลดขั้นเงินเดือน "เมื่อใดก็ตามที่คุณนำองค์กรสองแห่งมารวมกัน
การปรับลดเงินเดือนถือเป็นเรื่องปกติ" โรเมตตี้กล่าวโดยไม่ระบุจำนวนที่แน่นอน