|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ชาติเล็งปรับลดประมาณการจีดีพีจาก 4.5-5.5% เหลือ 3.5-4.5% แต่ยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยไม่ซ้ำรอยวิกฤต ปี 40 เหตุมีเงินลงทุนจากต่างประเทศในระยะยาว บวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะกลับมาเฟื่องอีก เผย 5 เดือนแรกแม้ไทยขาดดุล การค้า 6.6 พันล้านเหรียญเพราะยังไม่ลอยตัวน้ำมันทำให้ประชาชน ไม่ประหยัดเท่าที่ควร "สุรนันทน์" โต้ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นที่ตกต่ำของ ม.หอการค้าฯสวนทางความจริง ชี้เป็นผลสำรวจก่อนรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยของปี 2548 ซึ่งจัดทำในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะมีการประชุมในวันนี้ (18 ก.ค.) และจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งจะทราบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีจะขาดดุลเท่าไหร่
สำหรับการที่สำนักวิจัยต่างประเทศ 2 แห่งได้ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 2.8% ของผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นั้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ไม่มีความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด
ขณะที่รายงานข่าวจาก ธปท.แจ้งว่า ธปท.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งจะประกาศตัวเลขที่ชัดเจนในวันที่ 28 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงเป็น 3.5-4.5% จากเดิมที่คาดว่าจีดีพีในปีนี้จะขยายตัว 4.5-5.5% แต่ขณะนี้หลายฝ่ายได้พยายามผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้ มีอัตราการขยายตัวที่ระดับ 4% และ ธปท.ยังเชื่อว่าในปีต่อไปเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2548 นี้ จะไม่เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ ในไทยในระยะยาวรวมทั้งไทยไม่มีหนี้ในส่วนของ กองทุนเพื่อการกู้ยืมระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งต่างกับในช่วงที่เกิดวิกฤต และเชื่อว่าในครึ่งปีหลังสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยพิจารณาจากดัชนีชี้วัดในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ Book to Bill Ratio ของสหรัฐอเมริกา ที่ชี้ว่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 25% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้ภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังขยายตัวได้ดีขึ้น
ในส่วนของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล (เมกะโปรเจกต์) ที่มีมูลค่าการลงทุนจำนวน 1.7 ล้านล้านบาทนั้น ทาง ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมีความกดดันในระดับต่ำที่สุด โดยโครงการที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเป็นจำนวนมากจะดำเนินการในช่วงปลายปีจนถึงต้นปี 2549 เพื่อให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าไม่ขาดดุลรุนแรงมาก อีกทั้งการเร่งระดมเงินออมให้เพียงพอต่อการลงทุน และลดการกู้ยืมจากต่างประเทศ แต่หากเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวก็ต้องยอมรับ ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาติดลบได้อีก
นอกจากนี้ ธปท.จะดูแลสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็ง และสามารถให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนในระดับรากหญ้า เพื่อให้เข้าถึงระบบการเงินได้มากขึ้น และตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ก็มีนโยบายให้สถาบันการเงินมีการแข่งขันที่เข้มข้น และมีฐานะทางการเงิน ที่เข้มแข็ง
สำหรับภาวะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น ประชาชนบางส่วนยังไม่มีการประหยัดอย่างเต็มที่เพราะรัฐบาลยังตรึงราคาน้ำมันอยู่บ้าง จึงส่งผลให้ยอดการนำเข้าสูงขึ้น โดยในไตรมาสแรกดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยติดลบ 3.3% ของจีดีพี หรือประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดุลการค้า ขาดดุล 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ยังคงเกินดุลอยู่
ทั้งนี้ ล่าสุด ธปท.ในรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ประจำเดือนพฤษภาคมได้ระบุว่า 5 เดือนแรกของปี ไทยขาดดุลการค้าแล้ว 6.6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 4.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีจะขาดดุลไม่เกิน 3 พันล้านดอลลาร์ โดยเชื่อมั่นว่า การที่ภาครัฐปล่อยลอยตัวราคาน้ำมัน ดีเซลจะช่วยให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งยอดการนำเข้าก็จะลดลงตาม
รัฐบาลโต้ดัชนี ศก.ของ ม.หอการค้าไทย
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงถึงกรณีที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ประจำเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 80.5 ต่ำสุดในรอบ 37 เดือนว่า ผลการสำรวจดังกล่าวได้สุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งดัชนีอาจจะสวนทางกับข้อมูลความเป็นจริงในหลายประการ และมิได้รวมถึงการสุ่มตัวอย่างจากภาคการเกษตรหรือประชาชนที่เป็นกำลังซื้อในภาคชนบท ได้แก่ เกษตรกร ซึ่งข้อมูลเดือน พ.ค. ชี้ให้เห็นว่าราคาสินค้าเกษตรยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 16.3% ทำให้รายได้ในรูปตัวเงินของเกษตรกร เพิ่มขึ้น 6.7% และจะสะท้อนในรายจ่ายการซื้อสินค้า ซึ่งดัชนีการบริโภคของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.3% ปรับตัวดีขึ้นจาก ติดลบ 0.7% ของเดือน เม.ย.
นายสุรนันทน์กล่าวอีกว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต้องแยกให้ชัดเจนว่ากระทบต่อรายจ่ายของประชาชนในส่วนใด เนื่องจากปกติรายจ่ายจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ รายจ่ายที่จำเป็นต่อการยังชีพ (Committed expenditure) เช่น อาหาร ยารักษาโรค เสื้อผ้า ค่าเดินทาง เป็นต้น และรายจ่ายเพื่อคุณภาพ ชีวิตหรือเพื่อความพึงพอใจส่วนตัว (Expenditure for quality of life) เช่น รายจ่ายเพื่อการบันเทิง รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคที่คงทนถาวร เช่น มือถือ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ จักรยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาจากตัวเลขต่างๆ แล้ว ส่วนที่กระทบคงจะเป็นค่าเดินทาง ซึ่งหากเป็นการเดินทาง โดยระบบขนส่งมวลชนแล้ว รัฐบาลได้ตรึงราคาค่าโดยสารไว้ รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลนั้น รัฐบาลก็ได้ขยายขอบเขตของโครงการ 30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค ซึ่งจะเป็นการลดรายจ่ายของประชาชน
"การสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลจะออกมาตรการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ซึ่งแนวคิดของมาตรการคือ ต้องการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ของประชาชน เพื่อเป็นการ แบ่งเบาภาระในยามภาวะราคาน้ำมันแพง เพราะรัฐบาลต้องการให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่ง ปีหลังจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 4.5-5%"
|
|
|
|
|