Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2537
สิ่งแวดล้อมวันนี้ มีเพียงจิตสำนึกบนริมฝีปาก             
โดย โสภิดา วีรกุลเทวัญ
 

 
Charts & Figures

ตารางแสดงการเปรียบเทียบผลการตรวจวัดตะกั่ว, ฝุ่นละออง, คาร์บอนมอนนอกไซด์ บริเวณริมเส้นทางจจราจรระหว่างปี 2534-2536
โครงการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร


   
search resources

Environment




"เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนพูดกับกำแพง พูดแล้วกระเด้งใส่หน้าตัวเอง ถ้าไปบรรยายที่ไหนแล้วแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไป สมมุติมีคนฟัง 50 คน เหมือนมีพลาสติกหรือกระจกกั้นอยู่แล้วสะท้อนเข้าหาตัวผมคนฟังรู้สึกเหมือนผมพูดเรื่องอะไรไม่รู้"

ณ วันนี้ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหา-วิทยาลัย น่าจะดีใจที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้และพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เขากลับไม่ค่อยแน่ใจนักเปรียบเทียบได้กับคำสอนในศาสนาคริสต์ที่บอกว่า... ห้ามเอ่ยนามพระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความเคารพ... ฝรั่งพูดคำว่า GOD ทุกวัน จนกลายเป็นคำอุทานที่หาความหมายใดๆ ไม่ได้หรือว่าสิ่งเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นกับคำว่า "สิ่งแวดล้อม"...???

กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2537 การสัมผัสได้ถึงปัญหาจากสภาพความเป็นอยู่รอบตัวทำให้ยาจกที่นั่งขอเศษเงินอยู่ริมถนนธุรกิจสายสำคัญตลอดจนถึงนายกรัฐมนตรีที่รับรู้ว่า เราทุกคนกำลังถูกรมควันพิษในเมืองแห่งนี้ โดยไม่ต้องรอให้หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า กรุงเทพมหานครติดอันดับต้นๆ ในสิบอันดับแรกของเมืองที่มีอากาศเสียรุนแรงที่สุดในโลก

งานวิจัยที่ยังไม่เสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำการศึกษาเรื่องคุณภาพชีวิตของ คนเมืองหลวงกับปัญหาสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ ในทัศนะคนเมืองหลวงไม่ว่าจะเป็นเขตเมืองชั้นในชั้นกลางหรือชั้นนอก ห้าอันดับแรกคือปัญหาการจราจร ตามด้วยปัญหาอากาศเสียและควันพิษ ความเน่าเสียของนํ้าความแออัดของชุมชน และปัญหาขยะซึ่งก็ตรงกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่จัดอันดับไว้ในใจ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าสื่อต่างๆ ทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างบรรจุเรื่องราวที่เป็นความสนใจของผู้คนในสังคม การประชาสัมพันธ์รณรงค์ผ่านสื่อเหล่านี้สร้างความตื่นตัวให้กับคนทุกสาขาอาชีพตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา ดารานักร้อง ตลอดจนนักธุรกิจระดับเล็กถึงระดับใหญ่

กิจกรรมของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมีปรากฏให้เห็นแทบทุกวันในหน้าหนังสือ-พิมพ์ ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิเช่น พลเอกวิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานร่วมใจรักษาสิ่งแวดล้อมโดยให้นักศึกษาวิชาทหารทำความสะอาด เก็บขยะ ตามเกาะรัตนโกสินทร์ 25 แห่ง ร่วมใจกำจัดผักตบชวาในคลองทวีพัฒนา

คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย แห่งดุสิตธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการสาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกัยมลภาวะ หอการค้าไทยจัดงานรณรงค์ให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษโดยการจัด ประกวดคำขวัญ

มล.ตรีทศยุทธ เทวกุล ก่อตั้งสโมสรคนรักแม่นํ้าเจ้าพระยาเพื่อร่วมสร้างสรรค์และฟื้นฟูแม่นํ้าเจ้า- พระ ยาโดยจัดงานแสดงศิลปะ "สานนํ้าไท" เป็นต้น ในภาคธุรกิจบริษัทเอกชนหลายแห่งมีแนวคิดในเรื่องสิ่งแวดล้อม ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลรณรงค์เรื่องการประหยัดนํ้า และมีการนำถุงพลาสติกย่อยสลายด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และกระบวนการทางชีวภาพมาใช้

ห้างแมคโครหันมาใช้พลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้แทนการใช้ถาดโฟมบรรจุอาหาร ห้างโรบินสันรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะประเภทต่างๆ ก่อนทิ้งลงถัง

สภาทนายความเสนอให้แก้ปัญหาระดับนโยบายในเรื่องอากาศเสีย โดยเรียกร้องให้รัฐบังคับใช้นํ้ามัน ไร้สารตะกั่วและไม่อนุญาตให้ผลิตรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะที่ก่อให้เกิดปัญหาควันขาว

วันต้นไม้แห่งชาติ นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย มีนโยบายเน้นเป็นพิเศษให้ปลูกต้นไม้เพื่อแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อม

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้นที่พอจะให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ทุกกลุ่มคนในสังคมต่างมีความตื่นตัวและอยากทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมกันแทบทั้งนั้น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการบ่นสนทนาถึงปัญหาเหล่านี้กันในแทบทุกวงการ

แกรมมี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของบริษัทเอกชนที่สอดแทรกในการเสนอเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อม ระยะ หนึ่งอัลบั้มเกือบทุกชุดของศิลปินนักร้องในค่ายแกรมมี่จะมีเพลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่นเพลงโลกเราสวยงาม ในอัลบั้มของนูโวชุดบุญคุณ ปูดำ เพลงนํ้าเสีย นํ้าใสของนรินทร ณ บางช้าง ในชุดอย่างแรง ที่ส่งผลให้วัยรุ่น ร้องเพลงที่สอดแทรกสาระอยู่บ้าง นอกเหนือจากเพลงรักหวานจ๋อยหรือเพลงอกหักเสียเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่รวมถึงรายการโทรทัศน์โลกสวยด้วยมือเรา รายการวิทยุกรีนเวฟที่ดีดีเจจะพูดคุยถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทายปัญหากับแฟนรายการทางบ้าน เช่น ขยะในกรุงเทพฯ มีส่วนประกอบของอะไรมากที่สุด แฟนรายการที่ตั้งอกตั้งใจฟังอยู่ทางบ้านตอบคำถามถูกต้องจะได้รับรางวัลเป็นถุงผ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

หากยกตัวอย่างต่อไปอีกคงยืดยาวมากเสียจนใครหลายคนปรายตามองด้วยความเบื่อหน่ายแล้วทิ้งท้ายไว้ก่อนเดินจากไปว่า ...ชีวิตไม่ได้มีแต่สิ่งแวดล้อมนะจะบอกให้...

การประชาสัมพันธ์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมและมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย แม้จะมีเสียงเล็ดลอดอยู่บ้างว่าเป็นเรื่องที่เห่อตามแฟชั่น แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธถ้าจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ดีหากถามต่อไปว่าแล้วทำให้อะไรดีขึ้นบ้าง ใครที่จะเป็นคนตอบคงต้องหยุดคิดชั่วอึดใจหนึ่ง ก่อนที่จะตอบแบบไม่อยากคิดว่า "ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร" ขยะ ...เรื่องไม่เล็กของคนกรุง

"เราสร้างจิตสำนึกขึ้นมาถึงระดับหนึ่ง คิดว่าคุณภาพเยาวชนคงจะดีขึ้นในความคิดความอ่านสื่อมวล- ชนเขียนคอลัมน์ต่างๆ ประชาชนให้ความสนใจ แต่ละคนเริ่มทำอะไรมากขึ้น อย่างเรื่องขยะเราก็รักษาความสะอาดในบ้านหน้าบ้าน คนที่ทำแล้วเริ่มดูว่าข้างบ้านทำมั้ย เทศบาลทำมั้ย ความรู้สึกของคนขยับมาถึงขั้นที่มีความคาดหวังกับคนอื่น กับหน่วยงานรัฐมากขึ้นซึ่งภาครัฐจะต้องมาสอดรับต่อให้ได้ ถ้าทำไม่ได้สิ่งที่เราทำ มาก็ล้มเหลว"

คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" สมาคมสร้างสรรค์ไทย หรือชื่อเล่นที่คุ้นหูมากกว่าว่า "ตาวิเศษ" เป็นองค์กรเอกชนที่รณรงค์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ โดยเน้นเรื่องขยะอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2527

งานชิ้นแรกที่ติดหูติดตาคนกรุงมาจนทุกวันนี้คือโฆษณาชุด อ๊ะ...อ๊ะ..อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ คุณหญิงชดช้อยได้ไอเดียจากลูกๆ ที่ชอบดูการ์ตูนเป็นสื่อโดยหวังให้เด็กๆ เป็นตำรวจช่วยตรวจตราในเรื่องการ รักษาความสะอาด

ตาวิเศษในยุคแรกเริ่มด้วยสายสัมพันธ์ของคุณหญิงชดช้อยซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ ทำให้สามารถดึงเพื่อน ฝูงที่อยู่ในวงการธุรกิจหลายคนมาร่วมระดมความคิดและใช้กลยุทธ์ทางการตลาดให้ "ตาวิเศษ" เป็นเสมือน สินค้าตัวหนึ่ง และยังมีบริษัทโฆษณาใหญ่อย่างลินตาสมาช่วยในเรื่องการตลาดอีกด้วยงานของสมาคมจึงประสบความสำเร็จอย่างเยี่ยมยอด ในแง่การประชาสัมพันธ์รณรงค์เรื่องขยะส่งผลให้ในระยะหลังบริษัทต่างๆ ที่ต้องการมีภาพพจน์ในงานด้านนี้เสนอตัวเข้าร่วมโครงการรณรงค์ต่างๆ ของสมาคมจำนวนไม่น้อย

ประเด็นที่คุณหญิงชดช้อยเห็นว่ากำลังเป็นปัญหาในเรื่องขยะคือ หลังจากที่รณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะให้เป็นที่ รักษาความสะอาดแล้ว การจัดเก็บขยะซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักงานเขต และสำนักงานรักษาความสะอาดของกรุงเทพมหานครไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์ ทำให้หลายคนที่เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตปฏิบัติในทางที่ถูต้องหมดกำลังใจมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะทำเพียงลำพัง

"ที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน การจัดเก็บไม่เป็นระบบอย่างจริงจังจะเป็นกี่ร้อยกี่พันเอ็นจีโอก็ทำไม่ไหว คนเขาจะลืมไปแล้วนะว่าหน้าที่ของเราไม่ใช่ไปเก็บขยะไปแยกแล้วนำไปรีไซเคิล เรายอมรับว่าการเข้าถึงประชาชนเรามีวิธีการต่างๆ ที่ดีกว่า แต่ในเวลาเดียวกันกับที่เราทำ รัฐต้องรองรับเราด้วย เราเป็นแค่หน่วยงานที่จะไปรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ความรู้ ช่วย กทม. เขากำลังจะลืมไปแล้วนะว่าการปฏิบัติงานทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาเป็นหน้าที่ของรัฐ" คุณหญิงชดช้อยระบายความอึดอัดใจที่มีต่อหน่วยงานของรัฐ

การแยกขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้นั้นเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นทางออกหนึ่งในการลดขยะของคนกรุง คุณหญิงเห็นว่าการรณรงค์ที่ผ่านมาในเรื่องการรักษาความสะอาดและทิ้งขยะในภาชนะที่รองรับนั้นเข้ากับสถานการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ระยะหลังขยะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจึงได้ขยับมารณรงค์ใน เรื่องการแยกขยะประเภทต่างๆ ก่อนทิ้งลงถังเพื่อที่จะได้ง่ายต่อการนำขยะส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ออก จากขยะที่จะส่งต่อไปกำจัด

ปัจจุบันนี้การทำถังขยะแยกประเภทเป็นที่แพร่หลาย เริ่มจากสำนักรักษาความสะอาดได้จัดทำถังขยะสามประเภทคือถังสำหรับขยะเปียก ขยะแห้งและเศษกระดาษ ทางสมาคมสร้างสรรค์ไทยร่วมกับห้างสรรพ- สินค้าโรบินสันจัดทำถังขยะสามประเภท คือถังสำหรับใส่ขยะทั่วไป ถังใส่พลาสติก แก้วและโลหะ และถังใส่กระดาษ ทางเซ็นทรัลเองก็ได้จัดทำถังขยะแยกประเภทด้วยเช่นกัน โดยจัดทำเป็นห้าประเภทแยกถังใส่พลาสติกออกจากโฟม

สำนักรักษาความสะอาดได้จัดทำโครงการขยะแยกถังมาได้ราวสองปีเศษ ชุมพร พลรักษ์ ผู้อำนวยเขตปทุมวันได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งว่า ทางเขตปทุมวันได้นำถังไปวางตามจุดทิ้งขยะบน ถนนหลายสาย พบว่าค่อนข้างประสบความล้มเหลวเพราะทั้งขยะเปียกและขยะแห้งยังคงปะปนกัน

"ตอนที่เราเริ่มเรื่องการรีไซเคิล เราก็พยายามติดต่อบริษัทที่รับสิ่งเหล่านี้กลับไปผลิตได้ ร่วมกับทางกทม. เชิญผู้ผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบเหล่านี้มาให้ข้อมูลว่า เขาสามารถใช้ขยะที่ทิ้งได้ขนาดไหนเพื่อสร้างระบบรองรับการรีไซเคิลขึ้นมา ในเมืองนอกเทศบาลไหนที่พร้อมเรื่องการรีไซเคิลเขาจะตั้งโรงงานขึ้นมาเพื่อที่จะรองรับ มีรถขนขยะแต่ละประเภทเป็นกระบวนการที่ยาวหน่อยและแพงแต่ก็มีความจำเป็นสำหรับสิ่งแวดล้อม ตอนนี้อย่างน้อยเราก็พยายามให้ประชาชนรู้เรื่องรีไซเคิลไปก่อน"

คุณหญิงชดช้อยชี้ถึงจุดที่เธอเห็นว่ายังไม่มีกระบวนการสอดรับต่อจากการรณรงค์ให้มีการแยกขยะและ ตราบใดที่กระบวนการนี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจังถุงขยะที่ได้รับการแยกเหล่านั้น ก็ถูกโยนไปกองอยู่ในรถเก็บ ขยะคันเดียวกันและพร้อมที่จะแตกออกมาปนเปื้อนกับขยะอื่นๆ ทำให้การแยกขยะที่สู้อุตส่าห์รณรงค์ให้เห็นประโยชน์กันอย่างแพร่หลายหมดความหมายไปอย่างช่วยไม่ได้

หากให้ความหมายของการรีไซเคิลหรือการนำกลับมาใช้ที่พูดถึงกันมากในตอนนี้ว่าเป็นเรื่องการแยก ขยะประเภทกระดาษ ขวดแก้ว โลหะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่นั้น สิ่งนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องใหม่นักในสังคมไทย ภาพซาเล้งที่เข้าไปรับซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า รับซื้อขวดเบียร์ ขวดเหล้า มีให้เห็นอยู่แม้กระทั่งทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยหาเช้ากินคํ่าจากสิ่งที่คนทั่วไปโยนทิ้งอย่างไม่แยแส นับตั้งแต่ซาเล้งที่มีการรับซื้ออย่างค่อน ข้างเป็นกระบวนการไปจนถึงเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะของสำนักงานเขต เลยไปถึงผู้คนจำนวนหนึ่งที่หากินอยู่กับการคุ้ยขยะบนภูเขาขยะที่หนองแขมและอ่อนนุช ซึ่งเป็นสถานที่เทกองของขยะกทม. ตลอดเส้นทางของขยะผู้คนที่ทำเพื่อปากท้องเหล่านี้ได้เข้าไปช่วยในการลดปริมาณขยะอย่างไม่ได้ตั้งใจ

กระดาษที่ซาเล้งมารับซื้อตามบ้านเรือน จะถูกนำไปรวมกันที่ศูนย์เพื่อรวบรวมไปยังโรงงานกระดาษ โรงงานจะนำกระดาษเหล่านั้นมาเข้าเครื่องสับละเอียดเพื่อตีเข้ากับเนื้อเยื่อกระดาษใหม่ ตัวกล่องกระดาษด้านในที่เป็นกระดาษลูกฟูกลอนๆ หรือกระดาษชำระที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำกระดาษเก่าผ่าน กระบวนการและนำกลับมาใช้ใหม่

การนำกระดาษกลับมาใช้ใหม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เมื่อถึงวันนี้วันที่สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องทันสมัย กระดาษรีไซเคิลกลายมาเป็นสัญญาลักษณ์แสดงถึงความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมของผู้ใช้

บทบาทของภาคธุรกิจเอกชนอย่างห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าต่างๆ ได้รับการกล่าวถึงค่อนข้างมากว่าเป็นแหล่งผลิตขยะแหล่งใหญ่ เนื่องจากเป็นสถานที่จับจ่ายใช้สอยของคนกรุง มีการใช้โฟมบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซุปเปอร์มาร์เก็ต

เซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ของกรุงเทพที่ขยายสาขาถึง 13 แห่ง ได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นเมื่อปี 2534 มีกิจกรรมเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อสาธารณประโยชน์หลายอย่าง งานที่เซ็นทรัลค่อนข้างภูมิใจ มากคือการเป็นผู้ริเริ่มนำถุงพลาสติกประเภทที่ย่อยสลายได้ด้วยแสงอาทิตย์และกระบวนการทางชีวภาพมาใช้เพื่อช่วยในเรื่องปัญหาขยะ ปัจจุบันมีห้างร้านต่างๆ ที่ใช้ถุงย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์แบบเดียวกับที่เซ็นทรัลใช้อยู่ 40 แห่งและถุงที่ย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ 4 แห่ง

"เราใช้ถุงย่อยสลายนี้มาปีเศษแล้วถุงพลาสติกโดยทั่วไปเฉลี่ยใบละประมาณ 50 สตางค์ ส่วนถุงที่ย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์ใบละ 60 สตางค์ แต่ถ้าเป็นถุงที่ย่อยด้วยชีวภาพต้นทุนสูงถึง 65 สตางค์ ต้นทุนที่แพง ขึ้นนี้เราไม่ได้ใช้กำไรของซุปเปอร์มาร์เก็ตมาทำ แต่ใช้งบพิเศษของบริษัทเวลานี้เรามีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากสารบางตัวที่ใช้ผลิตถุงนี้เป็นวัตถุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สิ่งแวดล้อมไม่ใช่ของถูก ถ้าหากรัฐเห็นประโยชน์ในสิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยในเรื่องการลดภาษีได้"

ประทีป นครชัย ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณกิจของห้างเซ็นทรัล และผู้จัดการมูลนิธิเพื่อ

สิ่งแวดล้อมกล่าวถึงบทบาทของห้างที่เข้ามาช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมแม้ว่าจะต้องเสียต้นทุนที่สูงขึ้นก็ตาม

"ถุงพลาสติกเหล่านี้ย่อยสลายได้ด้วยแสงอุลตร้าไวโอเลต ถ้าเผื่อจะให้ย่อยได้ต้องเอาถุงพลาสติกไปตากแดด ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือขยะที่กองทับถมในรถขยะกทม. ถูกนำไปกำจัดโดยวิธีฝังกลบและเทกองสูงเป็น ภูเขาขยะ กทม.ไม่ได้มีหน้าที่เอาถุงเหล่านี้ไปตากแดดเมื่อไม่โดนแดดพลาสติกก็ไม่แตกตัว เมื่อไม่แตกตัวแบคทีเรียก็กินไม่ได้ ถุงก็ไม่ย่อยสลาย" นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งเอกชนที่มีความต้องการจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจคิดไม่ถึง

องค์ประกอบของขยะจำนวนมากที่สร้างปัญหาเกิดจากการบริโภค ซึ่งรับเอากระแสวัฒนธรรมตะวัน- ตกเข้ามาสู่สังคมเมือง ตัวอย่างเช่นเครื่องดื่มจากกระป๋องที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นแทนขวดซึ่งนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายกว่า อันที่จริงแล้วกระป๋องเหล่านี้สามารถรวบรวมกลับมาหลอมและนำกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของ วัตถุดิบได้แต่ในสภาพที่เกิดขึ้น คือการจัดเก็บที่ไม่เป็นระบบทำให้กระป๋องส่วนใหญ่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ แม้ว่าซาเล้งจะเข้าไปมีส่วนช่วยในการเก็บอยู่บ้างก็ตาม

"ผมคิดว่า ควรจะเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่ผลิตสินค้าประเภทนี้ออกมาขายให้กับผู้บริโภคเพราะถ้าเขาไม่ผลิตออกมาคนก็ไม่มีโอกาสทิ้ง อันนี้เป็นความรับผิตชอบทางสังคม ทีนี้สังคมไม่แข็งแกร่งพอที่จะบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของเขา เราก็เลยปล่อยให้ทิ้งไปแบบนี้เขาอาจจะบอกว่าเขารับผิดชอบก็ได้แต่ต้องเพิ่มกระป๋องละสลึง ก็เพิ่มไปสิเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ใช่ปล่อยให้ธรรม-ชาติเป็นตัวรองรับ" ธงชัย พรรณสวัสดิ์กล่าว

หากพิจารณาในแง่การจัดการเรื่องขยะแล้วจะพบว่ามีปัญหาตลอดทั้งกระบวนการซึ่งแบ่งออกเป็นสอง ขั้นตอนใหญ่ๆ คือการจัดเก็บ และการกำจัด

ปริมาณขยะของกรุงเทพฯ ปัจจุบันประมาณ 6,000 ตันต่อวัน เหลือเป็นมูลฝอยตกค้างที่ไม่ได้รับการจัดเก็บวันละประมาณ 600 ตัน กทม.มีวิธีการกำจัดสามวิธีคือ การหมักให้ขยะย่อยเป็นปุ๋ยซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น การกำจัดโดยเอกชนประมูลไปฝังกลบที่นครปฐมประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมดและการเทกองกลางแจ้งที่อ่อนนุช และหนองแขม ซึ่งวิธีการนี้แทบจะเรียกว่าไม่ได้มีการจัดการใดๆ (ดูเส้นทางขยะของกรุงเทพมหานครประกอบ)

การกำจัดขยะเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาขยะประมาณสามในสี่ที่กทม.จัดเก็บถูกนำมาเทกองรวมกันจนเป็นภูเขาขยะที่อ่อนนุชและหนองแขม จนกระทั่งราวสองสามปีมานี้จึงมีการประมูลให้เอกชนเข้ามาช่วยกำจัดโดยการนำไปฝังกลบ

กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ว่ากทม.ได้สะท้อนปัญหานี้ในงานอภิปรายเรื่องการวิจัยกับการแก้ไขปัญหากรุงเทพมหานครช่วงกลางปีที่แล้วว่า

"เรามีกองขยะใหญ่ที่อ่อนนุช หนองแขมประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งต้องทำทางใดทางหนึ่ง อาจจะจ้างเอกชนนำไปกำจัดให้ถูกสุขลักษณะต้องใช้เวลาถึงสองปี หรือไม่ก็ทำลายหุบเขาคลุมด้วยดินเสีย เป็นวิธีการที่ทำได้เร็วกว่าและถูกกว่า ภายในสองปีนี้จะเป็นการทำลายขยะประจำวันพร้อมๆ กับทำลายกองขยะใหญ่ที่สะสมมาหลายสิบปี"

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่หมักหมมมานานก็ยังคงหมักหมมต่อไปจนกว่าจะมีงบประมาณก้อนใหญ่ในการแก้ไขปัญหาตกมาถึง...

ขยะสารพิษเป็นภยันอันตรายเงียบๆ ที่ยังไม่ได้รับการกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นกระป๋องยาฆ่าแมลง ถ่านไฟฉาย หลอดนีออน ที่เพิ่มปริมาณการใช้ในแต่ละครัวเรือนมากขึ้นทุกวัน ขยะจำพวกนี้เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วไปอยู่ที่ไหน

"จมอยู่ในกองขยะทั่วไป" ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ตอบปัญหาในเรื่องนี้ เขายกตัวอย่างถ่านไฟฉายที่จมอยู่ในกองขยะเมื่อฝนตก กองขยะจะเน่า เกิดแบคทีเรียเข้าไปกัดกินตัวถ่านหมดอายุที่เยิ้ม เมื่อฝนตกชะเอาสารต่างๆ ไหลซึมลงใต้ดินปนเปื้อนกับแหล่งนํ้าและอาจซึมเข้าไปชั้นบาดาล และเมื่อวันนั้นมาถึงปัญหาต่างๆ คงสายเกินแก้ ...

"ในถ่านไฟฉายจะมีโครเมียม นิเกิล ทองแดง มันก็เหมือนกับแร่ต่างๆ ที่อยู่ในสินแร่ใช้ทางวิศวกรรม ไปดึงออกมาและนำกลับมาใช้ใหม่ ตอนแรกอาจเป็นเรื่องของเครื่องกลตีให้มันแตก และใช้วิธีเคมีสกัดออกมา การสกัดออกมาเป็นส่วนๆ เขามีเทคโนโลยีอยู่แล้ว อย่างนี้ผมถึงเรียกว่ารีไซเคิล"

นักวิชาการได้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะเป็นอันตราย ขณะเดียวกันก็มีเทคโนโลยีที่จะเป็นทางออก ของปัญหาได้แต่ในการจัดการแก้ไขยังไม่มีคำตอบว่าใครจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการกับภัยมืดที่ยังมองไม่เห็น

เมื่อมองดูภาพรวมของปัญหาขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด แล้วย้อนกลับไปที่การประชาสัมพันธ์ รณรงค์ในปัญหานี้ จะพบว่าเนื้อหาในการประชาสัมพันธ์เป็นเพียงขั้นตอนต้นๆ ที่มีส่วนแก้ปัญหาในระดับผิวเผินเท่านั้น อากาศเสีย...สิ่งคู่กายคนไทยวันนี้

อากาศเสียเป็นปัญหาที่คนกรุงมีโอกาสสัมผัสได้ใกล้ชิดมากที่สุด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับมีหน่วยงานเอกชนที่รณรงค์ในเรื่องนี้ไม่มากนัก การรณรงค์ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก ต้องใช้ความรู้เทคนิคทางวิชาการในการทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไข

หน่วยงานเอกชนที่ให้ความสนใจติดตามปัญหาอากาศเสียและควันพิษ ได้แก่โครงการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตของนายแพทย์บุญเทียม เขมาภิรัตน์ และชมรมป้องกันควันพิษ ของดร.พิจิตต รัตตกุล ทั้งคู่ต่างเคยเป็นแคนดิเดทผู้ว่าฯ กทม.ระยะหลังงานรณรงค์ของหมอบุญเทียมร่วมกับภาครัฐในการตรวจจับควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์เงียบหายไป ส่วนงานของชมรมป้องกันควันพิษ ซึ่งต่อมาจดทะเบียนเป็นมูลนิธิป้องกันควันพิษ และพิทักษ์สิ่งแวดล้อมยังมีงานรณรงค์ออกมาเป็นระลอกๆ

"เราเริ่มรณรงค์ตั้งแต่ปี 2533 ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าอากาศเสียคือปัญหา ถ้าเราทำการรณรงค์โดยขาดรูป-ธรรม มันจะเป็นการพูดเฉยๆ แล้วในที่สุดก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา เราเริ่มงานโดยวิธีปฏิบัติเลยว่าให้นำนํ้ามันไร้สารตะกั่วมาใช้ เอารายชื่อให้คนกรุงเทพเซ็น คนเขารู้อยู่แล้วว่าสิ่งแวดล้อมไม่ดี การจะไปตอกยํ้าอยู่เรื่อยๆ คนปวดหัวเปล่าๆ ต้องบอกวิธีแก้ไขเลยว่าคืออะไร"

ดร.พิจิตต ค่อนข้างจะมีจุดแข็งในการทำการรณรงค์เนื่องจากสามารถดึงเอาศักยภาพของความเป็นนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และการเข้าถึงมวลชนในการทำงานทางการเมืองมาใช้ผสมผสานกันและในขณะเดียวกันก็ไม่เน้นในเรื่องความเป็นพรรคการเมืองมากเกินไป ทำให้ได้รับการยอมรับในวงกว้าง

สื่อที่มูลนิธิป้องกันควันพิษฯ ใช้ในการประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นแผ่นป้ายติดบนเสาไฟฟ้าตามสี่แยกต่างๆ ให้ความรู้กับประชาชน เช่น คนกรุงเทพเก้าแสนคนเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากฝุ่น-ละอองและควันพิษ เป็นต้น มูลนิธิได้รณรงค์ให้ตำรวจจราจรแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการสวมหน้ากากป้องกันควันพิษ ในระยะแรกได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและค่อยๆ เงียบหายไปตามกาลเวลา

สาเหตุใหญ่ของปัญหาอากาศเสียในกรุงเทพฯ มาจากการคมนาคมขนส่งร้อยละ 80 ตัวเลขจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่าปี 25335 จำนวนรถยนต์ในกทม. สูงถึง 2,475,654 คัน และยอดจดทะเบียนรถใหม่ในเขตกทม. ระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายนมีจำนวน 324,818 คัน โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีรถเพิ่มเฉลี่ยเดือนละประมาณหนึ่งหมื่นคัน การจราจรติดขัดจึงเป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดของคนกรุงเทพฯ ตามติดด้วยปริมาณอากาศเสียที่เพิ่มสูงถึง 6 เท่าระหว่างที่จราจรติดขัด

คุณภาพนํ้ามันและคุณภาพรถยนต์แต่ละคันเป็นเหตุทำให้คุณภาพอากาศเลวร้าย จากการเรียกร้องของ หลายฝ่าย หน่วยงานรัฐได้ปรับปรุงคุณภาพนํ้ามันดีเซลโดยการลดอุณหภูมิการกลั่นจาก 370 องศาเซลเซียส เหลือ 357 องศาเซลเซียส การลดอุณหภูมิการกลั่นให้ตํ่าลงทำให้เขม่าจากการกลั่นตกค้างอยู่ที่โรงกลั่นแทนที่จะติดมากับนํ้ามันและกลายเป็นควันดำที่ปล่อยจากท่อไอเสียของรถที่ใช้นํ้ามันดีเซลบนท้องถนน แต่การลดอุณหภูมิการกลั่นลงทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 3-4 เช่นจากเดิมเคยได้ 100 ลิตร จะเหลือเพียง 96 ลิตร โรงกลั่น นํ้ามันจึงไม่ค่อยเต็มใจในการลดกำไรของตนเองมากนัก

ปัจจุบันนํ้ามันที่ใช้กันอยู่ จึงมีทั้งนํ้ามันดีเซลที่มีอุณหภูมิการกลั่น 370 องศา และ 357 องศา เช่นเดียวกับนํ้ามันเบนซินที่มีทั้งชนิดไร้สารตะกั่วและชนิดมีสารตะกั่ว การรณรงค์ให้ผู้ใช้รถเติมนํ้ามันไร้สารตะกั่วค่อนข้างแพร่หลาย แต่ปริมาณการใช้ยังคงน้อยอยู่คือมีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น ตามนโยบายของรัฐกำหนดไว้ว่าปี 2539 จะเหลือเพียงนํ้ามันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่วเพียงอย่างเดียว หากไม่มีการโยกโย้เลื่อนกำหนดระยะเวลาการใช้ออกไปอีก

สำหรับในเรื่องคุณภาพรถนั้น ดร.พิจิตต เสนอว่ากรมการขนส่งทางบกควรเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วน ในการช่วยการตรวจคุณภาพรถให้การปล่อยของเสียอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด เพราะลำพังการตรวจของกรมการขนส่งทางบกที่รับผิดชอบอยู่นั้นจะติดปัญหาเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่ และงบประมาณในการลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือ

"ถ้าร่างกฎระเบียบของกรมการขนส่งทางบกออกมา เอกชนก็สามารถลงทุนเครื่องมือเหล่านี้ได้และเขาก็มีวิธีแก้ไขปรับปรุงให้กับรถที่ไปตรวจให้ตรงกับมาตรฐาน สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือถ้าเรารณรงค์ว่าคุณอย่าให้รถปล่อยของสกปรกออกมา คนที่เป็นเจ้าของรถไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร ขับรถอยู่มีคนบอกว่ารถคุณควันดำ มันต้องมีสถานที่บอกได้ว่าสกปรกแค่ไหนและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ด้วย" ดร. พิจิตตเสนอแนะ ของเสียจากยานพาหนะที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ คือฝุ่นละออง คาร์บอนมอนอกไซค์ และตะกั่ว ในบรรดาสารทั้งสามตัวนี้ตัวที่ก่อให้เกิดผลอันตรายถึงชีวิตเมื่อสูดดมเข้าไปมากๆ ได้แก่ คาร์บอนมอ-นอกไซค์ อาการอ่อนเพลีย แน่นหน้าอก เป็นสัญญาณเตือนภัยที่บอกให้รู้ว่าได้รับก๊าซตัวนี้เข้าไปจำนวนหนึ่ง แล้ว และหากยังคงสูดดมต่อไปจนถึงจุดหนึ่งอาจเสียชีวิตได้

แต่ในปัจจุบัน การตรวจสอบควันเสียจากรถยนต์ มีเพียงควันดำเท่านั้นที่ได้รับการตรวจสอบ ???...

"มีการตรวจจับเฉพาะควันดำเพราะมันเห็นชัด สำหรับคาร์บอนมอนอกไซค์ ไม่มีเครื่องมือในการ ตรวจ วิธีการตรวจต้องวัคที่เครื่องวิ่ง 2000 รอบต่อนาที ต้องมีแท่นให้รถขึ้นไปจอด และเร่งเครื่องบนแท่นนั้น ซึ่งเราไม่มีอุปกรณ์นี้ เราก็เลยจับแต่ควันดำ ตัวควันดำก่อให้เกิดความระคายเคืองก็จริง แต่ไม่ถึงตาย สำหรับคาร์บอนมอนอกไซค์ เป็นก๊าซที่เรามองไม่เห็น เราก็บอกว่าไม่เป็นไร" ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เขาแสดงความเห็นในเรื่องการติดตั้งเครื่องฟอกไอเสียรถยนต์ (CATALYTIC CONVERTER) ที่เริ่มใช้กับรถใหม่ที่เติมนํ้ามันไร้สารตะกั่วเมื่อต้นปี 2536 โดยหวังว่าเครื่องฟอกตัวนี้จะเป็นตัวที่ทำให้คาร์บอนมอนอกไซด์กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยทำให้เกิดไนโตรเจนออกไซด์นั้น จะใช้ได้มีประสิทธิภาพ ต่อเมื่อมีการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ที่ดีเท่านั้น

"ถ้าตัวเครื่องฟอกไอเสียเกิดเสียขึ้นมา ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ราคาเป็นหมื่น ในเมื่อไม่มีการตรวจจับคาร์บอนมอนอกไซด์ เจ้าของรถก็ไม่เอาไปเปลี่ยน การตรวจจับคาร์บอนมอนอกไซด์มันยากต้องมีเครื่องมือ เขาก็เลยคิดเอากล่องมหัศจรรย์นี้ไปติดที่รถ แต่ลืมคิดไปว่ากล่องนี้มีอายุและจะใช้งานได้ต่อเมื่อเครื่องยนต์ดี ในสภาพบ้านเรากล่องนี้คงจะใช้ได้ซักสามเดือนแล้ก็กลายเป็นกล่องพลาสติกติดอยู่ที่รถ ซึ่งเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุ เราไม่ได้บอกว่าตัวนี้ไม่ดีแต่ควรจะตั้งมาตรฐานการปล่อยของเสียออกมาและทำอะไรก็ได้ให้ได้ตามมาตรฐานนั้น" ธงชัยชี้ให้เห็นถึงการจัดการปัญหาที่ไม่ถึงต้นตออย่างแท้จริง

คุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครฉายแววแห่งความเลวร้ายตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว จากการศึกษาของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ช่วงปี 2522-2533 พบว่าเข้มข้นสูงสุดของคาร์บอนมอนอกไซด์ในอากาศถึง 41.6 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินขีดมาตรฐานของสหรัฐที่กำหนดค่าเป็น 35 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์-เมตรเฉลี่ย 1 ชั่วโมง

สำหรับเวลานี้ จากการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษพบว่าฝุ่นละอองเป็นตัวก่อปัญหามากเกินกว่า มาตรฐานอยู่ในระดับที่รุนแรง โดยเฉพาะบริเวณที่มีการจราจรแออัดอย่าง ย่านเยาวราช สีลม หัวหมาก ประตูนํ้า สำหรับค่าเฉลี่ยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และสารตะกั่วตลอดทั้งปี 2535-2536 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ตํ่ากว่ามาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานที่เมืองไทยใช้อยู่ในเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของคาร์บอนมอนอกไซด์หรือสารตะกั่ว ล้วนเป็นค่าที่ตํ่ากว่ามาตรฐานสากล

"เรื่องอากาศเสียต่างจากเรื่องขยะไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเดียว อย่างถ้าเราพูดถึงการไม่ ใช้โฟมเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ ของผู้ผลิตเสียส่วนหนึ่ง แต่เรื่องอากาศ ผมคิดว่าผู้บริโภคคือเจ้าของรถสองล้านคัน เขามีจิตใจพร้อมที่จะช่วยลดอากาศเสียในกรุงเทพฯ แต่รัฐต้องมีกฎเกณฑ์ ผู้ผลิตรถต้องยอมลงทุนในการทำรถที่สะอาด ไม่ใช่ว่าจะผลิตรถขายแต่เพียงอย่างเดียว" อดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพกล่าว นํ้า...ปัญหาที่ยังหาคนตระหนักน้อย

ขยะและอากาศเสีย เป็นปัญหาที่แต่ละคนเห็นชัดว่าตนเองมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหาเหล่านั้น ส่วนนํ้าเสียปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่คนกรุงกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ กลับเป็นสิ่งที่แต่ละคนไม่ค่อยรู้ตัวว่าตน มีส่วนร่วมมากนัก หรือถึงรู้ตัวก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาในระดับปัจเจกชนจนกระทั่งถึงวันหนึ่งที่คลองทุกสายในกรุงเทพฯ เน่าสนิท ส่งผลถึงแม่นํ้าเจ้าพระยาตอนล่างบางบริเวณเริ่มมีสีดำคลํ้าส่งกลิ่นโชย พอให้รับรู้ถึงความวิกฤติที่กำลังมาเยือน

ความตื่นตัวในการรับรู้ถึงปัญหาของคูคลอง และแม่นํ้าเจ้าพระยาเป็นไปอย่างต่อเนื่องมาหลายปี สมาคมสร้างสรรค์ไทยทำการประชาสัมพันธ์โครงการรักเจ้าพระยากับตาวิเศษ มีการรณรงค์กับคนกรุงทั่วไปไม่ให้ทิ้งขยะลงแม่นํ้าลำคลองรณรงค์เฉพาะกลุ่มกับร้านอาหาร ภัตตาคารริมแม่นํ้าให้สร้างบ่อดักไขมันเพื่อกรองสิ่งสกปรกก่อนทิ้งลงสู่แหล่งนํ้าสาธารณะ การรณรงค์ของกรุงเทพมหานครร่วมกับสมาคมพัฒนาคุณภาพ ชีวิตที่มี จิรพล สินธุนาวา เป็นเลขขาธิการเชิญชวนร้านค้าในตลาดสดใช้ถังดักไขมันก่อนทิ้งนํ้าเสีย

มีการจัดตั้งคณะกรรมการโลกสวยด้วยมือเราโดยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนแก้ปัญหาคูคลองภายใต้ชื่อโครงการนํ้าใสสู่คลองสวย เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษม เป็นแห่งแรกโดยใช้ระบบบ่อเติมอากาศเพื่อเพิ่มออกซิเจนลงในนํ้าและประกาศให้บริเวณนั้นเป็นเขตรักนํ้า มีการจำลองบรรยากาศกรุงรัตนโกสินทร์ยุคที่ได้รับสมญานามเวนิสตะวันออกเพื่อให้คนในปัจจุบันรำลึกถึงความสะอาดสดใสในอดีต

การแก้ไขปัญหานํ้าเสียเป็นเช่นเดียวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จะต้องมองปัญหาทั้งกระบวนการและลงมือจัดการในทุกแหล่งกำเนิดของปัญหาเหล่านั้น โครงการคลองสีเขียว โครงการนํ้าใสสู่คลองสวย หรือโครงการที่รณรงค์อื่นใดเกี่ยวกับคลอง คงไม่อาจคืนความสดใสให้กับคลองได้ตราบเท่าที่คลองซึ่งมีความ- หมายมากมายในอดีตทำหน้าที่เป็นเพียงรางระบายนํ้าทิ้งของทุกครัวเรือนในกรุง ทั้งที่ทิ้งโดยตรงและทิ้งผ่านท่อระบายนํ้าของกรุงเทพมหานคร

สาเหตุของนํ้าเสียในแถบแม่นํ้าเจ้าพระยาตอนล่างช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานคร เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นนํ้าเสียจากชุมชนร้อยละ 700 ที่เหลือมาจากอุตสาหกรรม ทั้งนี้เป็นเพราะบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของอาคารบ้านเรือนเสียเป็นส่วนใหญ่แต่ละครัวเรือนทิ้งนํ้าเสียลงท่อระบายนํ้าไหลลงสู่คูคลองสายต่างๆ จนกระทั่งไหล ลงสู่แม่นํ้าเจ้าพระยาในที่สุด จำนวนประชากร อาคารบ้านเรือนที่เพิ่มมากขึ้นเป็นตัวเพิ่มปริมาณนํ้าเสียมากเป็นทวีคูณจนเกินกว่าที่กำลังของธรรมชาติจะบำบัดได้

ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และคณะได้ทำการศึกษาความสกปรกของนํ้าเสียจากกิจกรรมต่างๆ ในกรุงเทพฯ พบว่าภัตตาคารร้านอาหารเป็นกิจกรรมที่มีส่วนก่อให้เกิดมลพิษทางนํ้ามากที่สุด คือปริมาณความสกปรกถึง 49,660 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน ทั้งนี้เศษอาหารที่ปะปนมากับนํ้าล้างอาหารและจานชามเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดความสกปรกแก่แม่นํ้าลำคลองได้มาก กิจกรรมรองลงมาได้แก่ ตลาดสด

ส่วนความสกปรกจากกิจกรรมของคนกรุงเท่ากับ 53 กรัมโอดีบีต่อคนต่อวันซึ่งมาจากนํ้าส้วมร้อยละ 21.4 นํ้าาเสียจากการอาบนํ้าร้อยละ 31.1 ซักผ้าร้อยละ 6.6 และนํ้าจากการทำครัวมีความสกปรกถึงร้อยละ 50.3 ตามลำดับแต่นํ้าเสียจากส้วมนั้นจะผ่านบ่อเกรอะหรือบ่อซึม ก่อนที่จะปล่อยลงท่อระบายนํ้าทำความสกปรกลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่นํ้าเสียจากส่วนอื่นๆ เป็นการไหลลงสู่ท่อระบายนํ้าสาธารณะโดยตรง

"ที่ผ่านมาเรามีการบำบัดนํ้าเสียขนาดเล็กมาก ทำไว้เฉพาะแห่ง แถวชุมชนห้วยขวาง คลองจั่น การเคหะแห่งชาติเขาทำไว้แล้วโอนให้กทม. ถ้าเราพูดโดยรวมก็ต้องบอกว่าไม่มี ตอนนี้กรุงเทพมีนํ้าเสียวันละล้านสองแสนลูกบาศก์เมตรเป็นนํ้าจากชุมชนเสียเป็นส่วนใหญ่ เวลาเราทิ้งไปนํ้าเสียลงคลองส่งต่อถึงเจ้าพระ- ยาทำให้ช่วงสะพานกรุงเทพลงไปนํ้าสีดำคลํ้ามากส่งกลิ่นเหม็น ถ้าทิ้งไว้อีกห้าหกปีสภาพเจ้าพระยาคงเหมือนคูคลองในกทม." มานะ นพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักระบายนํ้า กรุงเทพมหานครกล่าว

กรุงเทพมหานครมีแนวคิดเรื่องการบำบัดนํ้าเสียชุมชนมาตั้งแต่ปี 2524 สิบปีต่อมาจึงได้รับอนุมัติโครงการ เวลานี้การบำบัดนํ้าเสียรวมได้รับการกล่าวถึงมาก หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นทางออกสำหรับปัญหานํ้าเสีย โครงการบำบัดนํ้าเสียรวมแห่งแรกคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปีนี้มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือโรงบำบัดนํ้าเสีย สี่พระยา คลุมพื้นที่ 2.7 ตารางกิโลเมตร สามารถบำบัดนํ้าเสียได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยรับนํ้าเสียจากประชาชนจำนวนหนึ่งแสนคน ในเขตป้อมปราบและส้มพันธวงศ์

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณนํ้าเสียที่ได้รับการบำบัดจากโครงการแห่งแรก กับปริมาณนํ้าเสียทั้งหมดที่คนกรุงก่อขึ้นโครงการนี้สามารถช่วยบำบัดนํ้าเสียได้เพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น สำหรับโครงการบำบัดนํ้าเสียรวมระยะที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีขีดความสามารถในการบำบัดนํ้าเสีย 350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จราวปลายปี 2539 ซึ่งจะช่วยในการบำบัดเพิ่มเป็นร้อยละ 31.6 และกว่าทั้ง 6 โครงการที่กทม. มีแผนในการก่อสร้างจะเสร็จสิ้นคาดว่าเป็นปี 2542 จะสามารถบำบัดนํ้าเสียจากชุมชนได้ร้อยละ 70 ของนํ้าเสียทั้งหมด

"พอนํ้าเสียออกจากบ้านเข้าสู่ท่อระบายนํ้า เราจะทำท่อดักไว้นำไปบำบัดก่อนทิ้งลงคลองก็จะทำให้คลองสะอาดขึ้น สมมุติถ้าเราทำเสร็จสามโครงการแรกก็เพียงแต่ไปหยุดยั้งความเน่าเสีย หมายความว่าแค่รักษาสภาพปัจจุบันไว้ได้ และอีกสี่ปีที่โครงการเสร็จถึงช่วงนั้นคุณภาพนํ้าจะดีขึ้นบ้าง โดยตัวแม่นํ้าเจ้าพระยาจะมีระบบบำบัดตามธรรมชาติ เพียงแต่เราไม่ไปเพิ่มเติมความเน่าเสียลงไป ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น" ผู้อำนวยการสำนักระบายนํ้าทำความเข้าใจล่วงหน้ากับผู้คนที่คาดหวังว่าเมื่อมีระบบบำบัดนํ้าเสียชุมชนแล้ว จะแก้สถาน-การณ์ความวิกฤติได้อย่างเฉียบพลัน

อย่างไรก็ตาม แม่นํ้าเจ้าพระยาตลอดทั้งสายยาวถึง 370 กิโลเมตร ไหลผ่าน 9 จังหวัด กิจกรรมทุกประเภทที่เพิ่มความเน่าเสียสู่สายนํ้าแห่งนี้ล้วนส่งผลกระทบอย่างไม่อาจแยกส่วนได้ และถึงแม้ว่าเจ้าพระยาตอนล่างที่ได้รับการตรวจพบว่าอยู่ในขั้นวิกฤติจะได้รับการแก้ไขปัญหาโดยสร้างระบบบำบัดนํ้าเสียรวม แต่ก็ เป็นการแก้ปัญหาในเชิงรับ

ที่ผ่านมาถึงแม้ว่า จะมีกฎหมายข้อบังคับในการก่อสร้างเครื่องบำบัดนํ้าเสียของโรงงานอุตสาหกรรม มีการควบคุมมาตรฐานนํ้าทิ้งของอาคารขนาดใหญ่ประเภทต่างๆ แต่ก็ดูไม่มีความหมายมากนักในทางปฏิบัติ เนื่องจากการขาดจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการ และความไม่เข้มงวดเอาจริงเอาจังในการ ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ

ความเข้มงวดในการใช้มาตรการทางกฎหมายดูจะเป็นจริงขึ้นอีกครั้ง ภายหลังจากการประกาศใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่เมื่อปี 2535 ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษได้เตรียมการในเรื่องการกำหนดค่ามาตร-ฐานคุมการปล่อยนํ้าเสียจากอาคารประเภทต่างๆ เช่นอาคารชุด โรงแรม โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา อาคาร สำนักงานต่างๆ ตลอดจนถึง ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคารและร้านอาหาร

"มาตรฐานนี้จะมีผลบังคับใช้กับอาคารควบคุมทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพนํ้าในระดับรุนแรงกรมควบคุมมลพิษจะเข้มงวดเป็นพิเศษ และกำหนดมาตรการลงโทษอย่างเฉียบขาด" นิศากร- โฆษิตรัตน์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพนํ้า กรมควบคุมมลพิษกล่าว

หน่วยงานรัฐยังต้องตามแก้ปัญหามากกว่าการป้องกันเช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ความรุนแรง ของนํ้าเสียถึงขั้นที่แม่นํ้าสายหลักของประเทศวิกฤติ ทำให้ภาครัฐมีความตื่นตัวเป็นพิเศษ มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายต่อหลายชุดทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ปลายปีที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้ง "เจ้าพระยาออธิริตี้" ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานโดยตรงในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเจ้าพระยาตลอดทั้งสาย ซึ่งแต่เดิมการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้าโดยรัฐอ้างว่าต้องผ่านขั้นตอนของหน่วยงานต่างๆ มากมาย

กรมควบคุมมลพิษ สังกัดกระทรวงวิทย์ฯ ได้ว่าจ้างสมาคมสร้างสรรค์ไทยแลสมาคมวิศวกรสิ่งแวด-ล้อมไทยเข้ามาช่วยในการประชาสัมพันธ์รณรงค์ และฝึกอบรมให้กับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลุ่มเอกชนทั่วไป

ความวิกฤติของเจ้าพระยาเป็นปัญหาของทั้งลุ่มนํ้าที่มีผลต่อคุณภาพนํ้าซึ่งจะต้องถูกนำกลับมาเป็นนํ้า เพื่อการอุปโภค-บริโภคของคนกรุงอีกครั้งหนึ่ง หากความเน่าเสียรุนแรงเพียงใด คุณภาพของนํ้าดิบที่นำมาผลิตเป็นนํ้าประปาของคนกรุงก็เลวลงเพียงนั้น ...

ความต้องการมีส่วนร่วมในเรื่องสิ่งแวดล้อมหากเป็นไปอย่างฉาบฉวยหรือเป็นการรณรงค์ที่ไร้เดียงสา จนเกินไปนัก กิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นก็ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกระตุ้นโดยที่ปัญหาสภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ร่วมใจกันแก้ปัญหา อย่าเป็นแค่ลมปาก !!!

"ความจริงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนมหาศาล อีกหนึ่งกระทบอีกอันหนึ่ง บางทีเรามองไม่ออกว่ากระทบอะไรด้วยซํ้าไป แต่ความที่มนุษย์มีความเก่งในการจัดแยกและมองเป็นส่วน ทำให้มองง่ายขึ้นและกลายเป็นว่าใครๆ ก็ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ วิธีการแก้ไขสิ่งแวดล้อมเราแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ CONSTRUCTION METHOD เช่น การติดเครื่องฟอกไอเสียรถ สร้างโรงบำบัดนํ้าเสีย เครื่องฟอกอากาศ อีกอันเรียกว่า NON CONSTRUCTION METHOD เป็นสิ่งที่ปัจเจกชนช่วยกันทำได้ เช่นการปิดไฟ ปิดแอร์ ปิดนํ้า การทิ้งขยะให้เป็นที่" ธงชัย พรรณสวัสดิ์อธิบายเรื่องราวทางสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันเป็นยุคสมัยแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นกระแสของโลก ความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องภาพลักษณ์ที่ดีเช่นเดียวกับที่ประชาธิปไตยเป็นคำตอบที่ดีของระบบการเมืองอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธ บท-บาทธุรกิจเอกชนที่มีความมั่นคงทางผลกำไรแล้ว การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรเป็นสิ่งที่ตามมา บริษัทห้างร้านหลายแห่งหันมาให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเข้ามาร่วมประชาสัมพันธ์กระตุ้นจิตสำนึกของผู้คนในสังคมธุรกิจเอกชนหลายแห่งถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายถึงการใช้สิ่งแวดล้อมเพื่อการสร้าง ภาพพจน์ให้กับองค์กร

"เมื่อต้นปีที่แล้วเรารณรงค์เรื่องประหยัดนํ้า มีคนบอกว่าเซ็นทรัลกำลังใช้กรีนด์มาร์เก็ตติ้งกับการประหยัดนํ้า ผมถามว่าแปลว่าอะไร เขาบอกว่าเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาหากินในทางธุรกิจ ผมฟังแล้วใจหาย งานอย่างเรื่องการใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายหรือรณรงค์ประหยัดนํ้า เราไม่ได้อะไรเลย เราอยู่ได้โดยไม่ต้องทำเรื่องแบบนี้" ประทีป นครชัย แห่งห้างเซ็นทรัลแสดงทัศนะ

เซ็นทรัลเล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องการขาดแคลนนํ้า จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์โดยการเชิญชวนให้ประ- ชาชนส่งใบเสร็จชำระเงินค่านํ้ามาจับฉลาก ใครที่เสียเงินค่านํ้าน้อยที่สุด จะได้รับรางวัลผลของการตัดสิน ครั้งนั้นผู้ที่ได้รับรางวัลใช้นํ้าเพียง 2-3 ยูนิตเท่านั้น เนื่องจากซื้อบ้านจัดสรรไว้หลังหนึ่งโดยที่ไม่ได้เข้าไปอยู่เลยจึงปิดวาวล์นํ้าไว้

"การทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเราต้องมีแผน มีจุดยืน หลายคนอยากช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ทำเปะปะโดยไม่มีจุดยืน เสียดายเงินค่ะ ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดผลนะเกิดผลด้านประชาสัมพันธ์ว่าทุกคนกำลังเล่นเรื่องสิ่ง-แวดล้อมอยู่แต่ไม่ได้เกิดผลอย่างจริงจังเพราะในห้าปีที่ผ่านมามีคนเข้ามาเล่นเยอะ เราควรเข้ามาช่วยผลักดันให้สิ่งแวดล้อมมีความหมายขึ้น ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานแต่ละแห่งน่าจะแนะนำว่าประชาชนควรปฏิบัติ อย่างไร" คุณหญิงชดช้อย ให้ความเห็นในฐานะรุ่นพี่ที่รณรงค์สิ่งแวดล้อมเมืองมานาน

พรเทพ พรประภา กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามกลการ จำกัด เป็นนักธุรกิจอีกผู้หนึ่งที่ให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมเขาเริ่มโครงการ THINK EARTH เมื่อสามปีก่อน และเมื่อไม่นานมานี้ได้รับรางวัล GLOBOL 500 จากสหประชาชาติซึ่งเป็นรางวัลเดียวกับที่คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช แห่งสมาคม สร้างสรรค์ไทยเคยได้รับ

เขามองปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาว่ามักจะเป็นการพูดถึงกันเล่นๆ แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง พรเทพเล่าถึงงาน THINK EARTH ในเขตกทม.ว่า "เรารณรงค์ในเรื่องจิตสำนึก ผลิตสื่อทุกรูปแบบมุ่งในการสร้างจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชน เรามีโครงการสร้างโลกสีเขียวให้เด็กและเยาวชน เรามีโครงการโลกสีเขียวให้เด็กไทย โดยการส่งเจ้าหน้าที่ไปบรรยายพร้อมใช้สไลด์มัลติวิชั่นเรื่องสิ่งแวดล้อมตามโรงเรียน รณรงค์ปลูกต้นไม้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ถนนคอนแวนต์ ทำเรื่องคลองสวยสะอาดปราศจากมลพิษร่วมกับ ททท. มีกิจกรรมวาดภาพ ประกวดภาพถ่ายสิ่งแวดล้อม รณรงค์เรื่องการใช้นํ้าอย่างประหยัด ถ้าเราพูดแบบวิชาการคนก็จะไม่เข้าใจ เราต้องการทำแบบง่ายๆ ให้ทุกคนเข้าใจ"

ธีระ พันทุมวนิช ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์กรที่เพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่นานแต่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโครงการคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่มี อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ถือเป็นงานชิ้นสำคัญของสถาบันที่ได้รับความร่วมมือจากนักธุรกิจชั้นนำจำนวนมาก

"ตอนนี้มีบริษัทต่างๆ มาเล่นเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมาก ผมอยากให้ทำมากกว่าสร้างภาพพจน์ คือทำไปเถอะ จะทำรูปแบบไหนก็ดีทั้งนั้น ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรแต่ขอให้ทำมากกว่าเดิมอีกนิดได้ไหมบริษัทที่สนใจให้การบริจาคเงินสนับสนุนงานด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มหันมาดูสินค้าของตัวเองในกระบวนการผลิตมากขึ้นได้ไหม"

ในแง่ผู้ผลิตสินค้า ธีระเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้ผลิตจะต้องพิจารณาให้ครบวงจรในการผลิตสินค้า นอกเหนือจากการคิดว่าผลิตสินค้าเพื่อให้ขายได้เท่านั้น ผู้ผลิตควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการนำสินค้านั้นกลับ ไปหลังจากที่สินค้านั้นหมดสภาพการใช้งานแล้ว มิใช่ปล่อยให้เป็นภาระของธรรมชาติดังเช่นที่ผ่านมาในอดีต

ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ รัฐควรจะเร่งแก้ปัญหาโดยรวมก่อนได้แก่ นํ้าเสีย ขยะ ซึ่งมีเทคโนโลยีในการจัดการปัญหาอยู่แล้ว ขาดแต่ในเรื่องการลงทุนก่อสร้างระบบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถใช้ระบบเศรษฐกิจเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดยการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจ่ายค่ากำจัดขยะเพิ่มมากขึ้น หรือการเริ่มเก็บค่าบำบัดนํ้าเสีย

จากงานวิจัยคุณภาพชีวิตคนเมืองหลวงกับปัญหาสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดล คณะผู้วิจัยได้ตั้งคำถามนำเพื่อให้คนกรุงเทพฯ แสดงทัศนะว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องต่างๆ ที่คิดว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ ได้โดยถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการให้รถกรุงเทพฯ ทุกคันใช้นํ้ามันไร้สารตะกั่ว การห้ามรถควันดำวิ่งในกรุงเทพฯ โดยเด็ดขาด การแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ ในสามประเด็นนี้คนเมืองมากกว่าร้อยละ 80 เห็นว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แต่สำหรับประเด็นในเรื่องภาษีที่คนเมืองจะต้องจ่ายเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมเช่น เรื่องนํ้าเน่าเสีย ปัญหานํ้าท่วม มีคนเมืองประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เห็นด้วย

แม้ว่าคนกรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่จะเห็นว่าข้อเสียของการอยู่อาศัยในเมืองแห่งนี้ คือปัญหาสภาพแวดล้อม แต่คนกรุงก็เห็นว่าเมืองหลวงไม่ควรย้ายไปไหน ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังในเรื่องสภาพแวดล้อมมากกว่า

"ประชาชนต้องร่วมกันกดดันให้รัฐบาล นักการเมืองสนใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รัฐสามารถตั้งมาตรการเฉพาะหน้าอย่างเรื่องฝุ่นละอองเอานํ้ามาฉีดถนนตอนกลางคืนได้ไหม หรือการบังคับให้ใช้ก๊าซธรรมชาติกับรถประจำทางทั้งหมด อันที่สองคือประชาชนต้องพร้อมที่จะจ่ายเงิน และเข้ามามีส่วนร่วมกับเอ็นจีโอในการแก้ไขปัญหา เรื่องสิ่งแวดล้อมหลักการมีอยู่ว่าต้องช่วยกันทำถ้าหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำหรือมัวแต่บ่น ก็จะเป็นแบบทุกวันนี้ ทำกระเตาะกระแตะกันไป" ธีระให้ความเห็น

จนถึงวันนี้ หมดเวลาสำหรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่เพียงลมปาก ถึงคราที่จะต้องลงมือปฏิบัติเสียที ก่อนที่เราจะหมดโอกาสแม้แต่จะพูด...   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us