|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ศุภวุฒิ สายเชื้อ" คาดช่วงไตรมาส 3 นี้ ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากพิษลอยตัวน้ำมันดีเซลเต็มรัก หวั่นมาตรการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ-ราคาสินค้าแข่งกันปรับราคา ดันเงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด มีผลดึงดอกเบี้ยขึ้นสูงเหมือนอดีต ขณะที่ "หม่อมอุ๋ย" เชื่อนโยบายดอกเบี้ยสูงสกัดเงินเฟ้อเริ่มทำงาน ย้ำถึงเวลาดอกเบี้ยขาขึ้น-บรรเทาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งติดลบ ด้านแบงก์พาณิชย์ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ "โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" ระบุ บัวหลวงยังไม่ปรับเหตุสภาพคล่องยังมีสูง
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการและประธานสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในงานสัมมนาประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กับภาคธุรกิจวานนี้ (14 ก.ค.) ถึงผลกระทบจากการลอยตัวน้ำมันดีเซล และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยปัจจัยที่น่าเป็นห่วง คือ อัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้น
แม้มาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคได้ แต่รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้เกิดสถานการณ์แข่งกันปรับตัวขึ้นไปอีกระหว่างเงินเดือนกับราคาสินค้า เพราะจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไม่หยุด ซึ่งเมื่อนั้นสถานการณ์จะกดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงสกัดเงินเฟ้อ โดยอาจจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นไปถึง 5-6% ขณะที่ผู้กู้ต้องแบกรับภาวะดอกเบี้ยที่สูงประมาณ 8-9% เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
"ถ้ามองว่ารัฐบาลจะใช้เงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สำหรับปรับเงินเดือนข้าราชการ และเอกชนใช้เงินประมาณ 5 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท ในการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้พนักงานอีก 6 บาทต่อวัน ก็เท่ากับใช้เงินรวมประมาณ 2.5-3 หมื่นล้านบาท ตรงนี้ไม่มีปัญหาเพราะยังน้อยมากเมื่อเทียบกับจีดีพี แต่ไม่ใช่เรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มเงินเดือนขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด ดังนั้น สุดท้ายต้องมีฝ่ายที่เสียสละ ประชาชนต้องยอมรับภาระที่เกิดจากน้ำมันแพง" นายศุภวุฒิกล่าว
มองดุลบัญชีจะกลับมาบวก
นายศุภวุฒิมองว่า การปล่อยลอยตัวดีเซล เป็นสิ่งที่เดินมาถูกทางแล้ว เพราะการปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนด ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคในประเทศลดการบริโภคทันที ขณะที่ผู้นำเข้าน้ำมันดิบจะไม่นำเข้า เพื่อกักตุนอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังลดลง และจะทำให้ดุลการค้าเริ่มติดลบน้อยลง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวก
ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงเดือนที่เหลือกลับมาเป็นบวกประมาณกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือทำให้ทั้งปีดุลบัญชีเดินสะพัด ในปี 2548 นี้ กลับมาเกินดุลประมาณ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ขาดดุลสะสมอยู่ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี
5 ปีข้างหน้าจีดีพี 5-6% ต่อปี
นายศุภวุฒิยังได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้าว่า จะมีอัตราการขยายตัวสูงสุดระดับ 5-6% ต่อปี ซึ่งหมายความว่าสัดส่วน รายได้จากภาคส่งออกจะต้องเพิ่มจาก 26% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน เป็น 35% ในปี 2553 หรือทำให้อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกจะต้องโต เป็น 2 เท่าของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือ อยู่ในระดับ 10-12% ต่อปี และอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกจะต้องโตต่อเนื่องในระดับ 15-16% เพื่อชดเชยการนำเข้าสำหรับขยาย การลงทุนในอัตราใกล้เคียงกัน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลมากกว่า 2% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงหากยังต่ำกว่า 4% ต่อจีดีพี
"การขาดดุลเล็กน้อยเพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นไร ประเด็นคือ เราอย่าปล่อยให้ขาดดุลเกิน 4% ต่อปี เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเลือกทั้ง 2 อย่าง คือทั้งอัตราการขยายตัวสูง และดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบต่ำ ถ้ากดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้เกิน 2% ต่อปี จีดีพีก็จะต่ำกว่า 5-6% อย่างแน่นอน ส่วนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน (เมกะโปรเจกต์) จะทำให้เราอาจขาดดุลถึง 5% ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งหากขาดดุลชั่วคราวก็ไม่เป็นไร"
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้น นายศุภวุฒิประเมินว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงเกิดจากเรื่องของปริมาณ ความต้องการซื้อ (ดีมานด์) และปริมาณความต้องการขาย (ซัปพลาย) เป็นหลัก ขณะที่การเก็งกำไรของกองทุนเก็งกำไรเป็นแต่เพียงการเข้ามาผสมโรงเท่านั้น เพราะหากมองจากราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า จะเห็นว่าสูงกว่าราคาปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเก็งกำไรอยู่ในระดับปกติ
ทั้งนี้โดยส่วนตัวมองว่าราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 60 เหรียญต่อบาร์เรล น่าจะเป็นสภาวะที่สูงสุดแล้ว เพราะระดับราคา 50-60 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นระดับที่ทำให้ดีมานด์เริ่มลดลง และราคาน้ำมันดิบในตลาดในปีหน้าน่าจะอยู่ในระดับเข้าใกล้ 40 เหรียญต่อบาร์เรล มากกว่า เข้าใกล้ 60 เหรียญต่อบาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมองว่า ในส่วนของราคาน้ำมันดีเซลจะสูงกว่าน้ำมันเบนซิน โดยคาดว่าระดับสูงสุดน่าจะอยู่ที่ 26 บาทต่อลิตร และ 25 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง แต่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศจะยังคงระดับ สูงไปอีก 4-5 ปี โดยเฉพาะในส่วนของน้ำมันดีเซลที่ยังเป็นหนี้กองทุนอยู่ถึง 8.5 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมด 9.2 หมื่นล้านบาท
อุ๋ยเชื่อกดดันแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยได้ผล
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราแลกเปลี่ยนรัฐบาลให้ ธปท. ตัดสินใจดำเนินการตาม ความเหมาะสมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหลังจากที่ ธปท. ได้ใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงเพื่อด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปหลายครั้ง ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการปรับขึ้นไปบ้างแล้ว แต่เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะยาว ซึ่งเป็นสัญญาณให้เห็นว่าดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น
"แบงก์พาณิชย์ขยับขึ้นดอกเบี้ยระยะยาวไปคอยก่อนแล้ว ส่วนดอกเบี้ยระยะสั้นจะขยับตามเมื่อไหร่ แบงก์พาณิชย์แต่ละแห่งเขาคงตัดสินใจของเขาเอง" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ทั้งนี้ เหตุผลของการตรึงนโยบายดอกเบี้ยสูงของแบงก์ชาติในช่วงนี้มีสาเหตุหลักมาจากความพยายามสกัดเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดประเมินไว้ที่ 3.8% และลดความกดดันของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งติดลบมาต่อเนื่อง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่รัฐบาลประกาศออกมาจะมีความสมดุลทั้งในการสร้างเสถียรภาพ และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจะกระตุ้นให้เกิดภาวะการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจที่ดีนั้นจะต้องมุ่งเน้นให้ประชาชนอยู่ได้
สำหรับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้นั้น ธปท.ได้มีการประเมินภาพรวมใหม่แล้ว โดยคาดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีนี้จะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าการขาดดุลใน 5 เดือนแรกของปี
ล่าสุด นายระเฑียร ศรีมงคล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารนครหลวง ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.25% ประเภท 6, 12 และ 36 เดือน โดยมีผลในวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารประเภท 6 เดือน เพิ่มเป็น 1.25% จากอัตราเดิม 1.00% ประเภท 12 เดือน เพิ่มเป็น 1.50% จากอัตราเดิม 1.25% และเงินฝากประจำประเภท 36 เดือน เพิ่มเป็น 2.25% จากเดิม 2.00%
ทั้งนี้ สาเหตุในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากธนาคารเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการปรับเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นเช่นกัน ดังนั้นธนาคารจึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งก็จะทำให้สามารถแข่งขันกับธนาคารอื่นได้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในสัปดาห์นี้ธนาคารยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
บัวหลวงยังนิ่งเหตุสภาพคล่องล้น
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย เพราะสภาพคล่องของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูง โดยการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นจะต้องพิจารณาจากสภาพคล่องและการบริหารเงินของธนาคารเป็นหลัก ส่วนการที่ธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ประกอบในการพิจารณา หากเห็นว่ามีผลกระทบต่อการแข่งขันก็จะนำมาพิจารณาและมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคาร
สำหรับทิศทางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะต้องปรับขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันของระบบธนาคารพาณิชย์ถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำ โดยการปรับขึ้นจะเป็นลักษณะการทยอยปรับ นอกจากนี้ การขยายสินเชื่อก็ยังมีการเติบโตขึ้น เนื่องจากนักธุรกิจมีความเข้าใจว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความเข้มแข็งโดยการลงทุนซึ่งก็ส่งผลให้สินเชื่อของธนาคารขยายตัวได้
นายปราการ ทวิสุวรรณ เจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจสาขากรุงเทพฯ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคมนี้ ธนาคารจะประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้สภาพคล่องของธนาคารยังคงมีในระดับที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ แต่โดยแนวโน้มคงจะต้องมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
กรุงศรีฯชี้ครึ่งปีหลังดอกเบี้ยขึ้น 0.5%
นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 3 ถือว่าเป็นการปรับล่าช้ากว่าที่เคย คาดการณ์ว่าธนาคารน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และการที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในช่วงนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าสภาพคล่องในระบบเริ่มลดลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและสินเชื่อ โดยคาดว่าครึ่งปีหลังระบบธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.50% จะเป็นการทยอยปรับ 2 ครั้ง หรือครั้งเดียวก็แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละแห่ง ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีการเติบโตมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มปรับขึ้นเป็น 0.50-1.0%
"แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในครั้งนี้จะแตกต่างจากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยผู้ประกอบการจะไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะการปรับขึ้นจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัว ได้ทัน หลายธนาคารได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ถือว่าช้ากว่าที่ประมาณการว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อระดมเงินฝาก และเตรียมขยายธุรกิจซึ่งทิศทางต่อจากนี้ธนาคาร ก็น่าจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเรื่อยๆ โดยขึ้น กับการบริหารสภาพคล่องของแต่ละแห่ง" นางชาลอตกล่าว
|
|
|
|
|