|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
พิษลอยตัวดีเซลกระทบหนักผู้ประกอบการขนส่ง-รถโดยสาร-เรือ-เครื่องบิน ขยับขอลอยตัวตาม ค่าขนส่งขึ้นพรวดอีก 15-20% ส.ค.นี้ ส่วนการบินไทยขึ้นค่าตั๋วอีกระลอก ด้านสิงห์รถบรรทุก-เรือประมงจอดสนิทนับถอยหลังปิดกิจการเปลี่ยนอาชีพ "สุริยะ" ถอดใจคุมไม่ไหว อั้นได้แค่รถไฟ "อดิศร" ไม่สน กร้าวอยู่ไม่ได้ก็ให้เจ๊งไป ขณะที่พาณิชย์ท่องคาถาเดิมคำนวณแล้ว ต้นทุนขึ้นจิ๊บจ๊อยห้ามผู้ผลิตอ้างขอขึ้นราคาสินค้า ล่าสุดสินค้าจ่อขึ้นราคา 18 รายการ แต่ยังไม่ได้อนุมัติ ยันปีนี้เงินเฟ้อคุมได้ 3.8%
หลังจากรัฐบาลตัดสินใจประกาศปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคม เปิดเผยว่า ปัญหาต้นทุนราคาน้ำมันกับการขนส่งรัฐจะพิจารณาในภาพรวม ซึ่งยอมรับว่าการขนส่งอื่นๆ เช่น รถโดยสาร เรือ ควบคุมลำบากเพราะเป็นส่วนที่มีเอกชนเกี่ยวข้องด้วย แต่ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นั้นจะยังคงให้ตรึงราคาต่อไปแม้ ร.ฟ.ท.จะเสนอขอปรับค่าโดยสารรถชั้น 3 ขึ้นอีก 8 สต.ต่อกม.ก็ตาม เพราะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องการให้ ร.ฟ.ท.เป็นฐานในการลดต้นทุนการขนส่งและการพัฒนาลอจิสติกส์ ซึ่งคาดว่าภาพรวมเรื่องค่าโดยสารและขนส่งจะสรุปภายในเดือน ก.ค.นี้
"อดิศร" กร้าวไม่ไหวก็หยุดไป
นายอดิศร เพียงเกษ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ยังไม่มีนโยบายให้ปรับค่าโดยสารรถโดยสารขณะนี้หลังจากที่ได้อนุมัติให้ปรับไปแล้วก่อนหน้านี้ เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดคิดว่าอยู่ไม่ได้ก็ให้หยุดไป เพราะอยากรู้ว่าขาดทุนจริงหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาเห็นว่าเมื่อมีการเปิดเส้นทางใหม่ก็มักจะมีผู้ประกอบการเข้ามาขอเสมอ ส่วนอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมคงจะต้องรอผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้
นายธวัชชัย เผ่าเหลืองทอง ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า นายอดิศรได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านขนส่งทางบกเพื่อหามาตรการรองรับกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในส่วนของบริการรถโดยสาร หากคำนวณตามตาราง จัดเก็บค่าโดยสาร ผู้ประกอบการสามารถเรียกร้อง ขอปรับราคาได้แล้วอีก 1 ขั้น หรือ 3 สตางค์ต่อกิโลเมตร โดยในส่วนของ บขส. ได้ขอความร่วมมือไปยังรถร่วมบริการ บขส.ให้ตรึงค่าโดยสารให้อยู่ในราคาเดิมต่อไปอีก 3-4 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ใช้บริการ ส่วนการยกเลิกค่าขานั้นคงต้องหารือ ถึงความเหมาะสม เพราะเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของ บขส. อีกทั้งน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้ บขส.มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ บขส.พยายามที่จะลดต้นทุนโดยการรวมเที่ยววิ่งที่มีผู้โดยสารน้อย
นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีสมาชิกของสมาคมประมาณ 2 หมื่นคันทั่วประเทศอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ ทั้งเรื่องของการยกเลิกการเก็บค่าขา การปราบปรามไม่ให้รถตู้เถื่อนวิ่งทับเส้นทางรวมถึงช่วยเรื่องเปลี่ยนเครื่องยนต์ประมาณ 50% เพื่อมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีต้นทุนในการติดตั้งประมาณเครื่องละ 6-7 แสนบาท หลังจากที่ทางคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางได้อนุมัติให้ปรับอัตราค่าโดยสารขึ้นอีก กม.ละ 3 สตางค์ไปแล้วตั้งแต่ เมื่อลอยตัวราคาน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 22.99 บาท แต่หากราคาน้ำมันถึงระดับลิตรละ 23.50 บาท คงจะต้องมีการปรับค่าโดยสารขึ้นอีก 3 สตางค์ต่อกม. เพราะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นลิตรละ 1.21 บาท ค่าโดยสารจะปรับเพิ่ม 3 สตางค์ต่อกม.
ด้านนางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมบริการของ บขส.กล่าวว่า วานนี้ได้เรียกประชุมด่วนสมาชิกสมาคมฯ เพื่อหาแนวทางรับมือกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่ในเบื้องต้นเห็นว่า หากมีการปรับราคาอีกครั้งในระยะสั้น หลังจากปรับราคาไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา อีก 3 สตางค์ต่อกิโลเมตร จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบหนัก และอาจลดการใช้บริการลง สุดท้ายผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบเอง
ค่าขนส่งขึ้น 15-20% เริ่ม 1 ส.ค.นี้
ด้านนายทองอยู่ คงขันธ์ โฆษกสหพันธ์ขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตัวแทนผู้ประกอบการขนส่ง 9 สมาคม เตรียมปรับราคาค่าขนส่งขึ้นทันที อีก 15-20% จากการยกเลิกจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันเนื่องจากทำให้ต้นทุนน้ำมันของผู้ประกอบการปรับเพิ่มขึ้นแล้วอีก 47% ดีเซล โดยจะให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป
นายชัชวาล พจนานุภาพ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบก กล่าวว่า การลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นผู้ประกอบการขนส่งได้ปรับตัวในด้านการลดต้นทุนมาตั้งแต่ต้นปี 2547 รวมถึงการพยายามลดวิ่งเที่ยวเปล่า ซึ่งการปรับราคาน้ำมันทุกๆ 1 บาท จะต้องปรับค่าขนส่งประมาณ 3-5% เป็นกลไกตลาดและผู้ขนส่งและผู้ใช้บริการจะตกลงร่วมกัน ปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องการความชัดเจนขณะนี้ คือ การกำหนดน้ำหนักบรรทุกถาวร เนื่องจากขณะนี้กรมทางหลวงได้ประกาศผ่อนผันไว้ที่ 26 ตันมา 3 ปีแล้ว ซึ่งเมื่อยังไม่ชัดเจนเรื่องนี้ก็จะมีผู้ประกอบการที่บรรทุกเกินและได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ไม่สามารถตัดสินใจลงทุน ปรับปรุงสภาพรถที่สอดคล้องกับน้ำหนักบรรทุกได้เพราะรัฐไม่ชัดเจนว่าจะประกาศกฎหมายถาวรที่เท่าไร
บินไทยขึ้นค่าเซอร์ชาร์จอีก
นายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปรับขึ้นค่าเซอร์ชาร์จน้ำมันโดยจะปรับเที่ยวบินในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจาก 15 เหรียญสหรัฐ ต่อที่นั่งต่อเที่ยวบินเป็น 20 เหรียญสหรัฐ ส่วนระหว่างทวีปซึ่งรวมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ปรับจาก 25 เหรียญสหรัฐ เป็น 35 เหรียญสหรัฐ เป็นการปรับเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ โดยค่าเซอร์ชาร์จน้ำมันระหว่างทวีปของสายการบินต่างชาติปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐหรือมากกว่า
"การปรับราคาดังกล่าวทำให้การบินไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 350 ล้านบาท"
นายกนกกล่าวว่า การบินไทยจะมีการติดตามภาวะราคาน้ำมันเพื่อพิจารณาปรับทุกๆ สัปดาห์ จากเดิมมีการพิจารณาทุกๆ 3 เดือน ปัจจุบันต้นทุนน้ำมันของการบินไทยอยู่ที่ 26% ของค่าใช้จ่ายรวม จากปี 2546 มีต้นทุนน้ำมันอยู่ที่ 20-21% ขณะที่น้ำมันที่ซื้อล่วงหน้าไว้ 37% ขณะนี้เหลือ 16%
เรือโดยสารขอขึ้น 2 บาท
นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เปิดเผยว่า เตรียมเสนอแนวทางการปรับอัตราค่าโดยสารของเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาในวันนี้ (14 ก.ค.) โดยแนวทางดังกล่าวจะมีทั้งไม่อนุมัติให้ปรับค่าโดยสารและอนุมัติให้ปรับค่าโดยสารขึ้น 2 บาท แต่จะทยอยปรับขึ้นครั้งละ 1 บาท พร้อมทั้งแนวทาง ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนเครื่อง ยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิง
ในการพิจารณาครั้งนี้ได้ยึดตามราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 21 บาท ซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับค่าโดยสารจนกว่าจะถึงวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ส่วนเรือข้ามฟากนั้นทางผู้ประกอบการได้ขอปรับราคาขึ้นอีก 1 บาท เป็น 3 บาท แต่จากการพิจารณาพบว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 60 สตางค์เท่านั้น ดังนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ผู้ที่ใช้บริการเป็นประจำสามารถใช้คูปองในราคาเที่ยวละ 2.50 บาท ส่วนผู้โดยสารทั่วไปเสียค่าโดยสารเที่ยวละ 3 บาท
สิงห์รถบรรทุกจอดสนิทรอวันตาย
ว่าที่พันตรีวุฒิชัย บุญประสิทธิ์ รองเลขาธิการ สมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคอีสาน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการรถบรรทุกประมาณ 70% ในภาคอีสานต่างจอดรถกันหมดแล้วเพราะแบกรับค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ไหว ยังคงเหลือแต่รถบรรทุกที่เป็นของบริษัทขนาดใหญ่ที่รับจ้างขนสินค้าให้กับบริษัทขนาดใหญ่ๆเท่านั้น และเชื่อว่าภายในอีกไม่เกิน 3 เดือน กิจการรถบรรทุกจะล่มสลาย ล้มกิจการกันเกลื่อนเมือง และเมื่อนั้นจะเข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจ เท่าที่ทราบขณะนี้เจ้าของกิจการรถขนส่งหลายรายได้ประกาศขายรถบรรทุกแล้ว โดยเฉพาะตนกำลังยื่นเรื่องให้สถาบันการเงินของรัฐช่วยเหลือในการนำรถบรรทุกในครอบครองทั้ง 20 คัน แปลงสินทรัพย์เป็นทุน เพื่อที่จะหันไปทำกิจการใหม่ต่อไป
ด้านนายกำพล เพชรกำแพง เลขานุการสมาคมขนส่งทางบก จ.นครสวรรค์ กล่าวเช่นเดียวกันว่า มีผู้ประกอบการหลายรายจอดรถทิ้งไม่ได้ออกวิ่ง ทั้งนี้ น้ำมันดีเซลถือเป็นต้นทุนกว่า 70% ของต้นทุนทั้งหมด และยังไม่รวมค่าบริหารจัดการอีก 15% ทำให้ธุรกิจประกอบการขนส่งรอวันปิดกิจการโดยเฉพาะรายเล็กๆ สู้ไม่ไหวก็ต้องปิดตัวลงก่อน ทุกวันนี้ธุรกิจขนส่งแทบไม่มีกำไร แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างเดียว โดยไม่มีการปรับรายได้ หากคิดค่าเสื่อมรถบรรทุก และค่าผ่อนรถรายเดือนกับสถาบันการเงิน เรียกว่าเจ๊งแทบอยู่ไม่รอด สถานการณ์น้ำมันดีเซลลอยตัวถือว่ากระทบต่อเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ธุรกิจรากหญ้ารายเล็กๆ ไม่ค่อยใช้บริการขนส่ง ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งต้องแย่งงานทำ ฉะนั้น การปรับราคาค่าขนส่งขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ลำบากมากต้องทนต่อไป เชื่อว่าหากผลกระทบที่เกิดขึ้นวงกว้างมากขึ้นย่อมส่งผลต่อผู้ประกอบการอีกหลายรายที่อาจเบี้ยวค่าส่งรถค่างวดรายเดือนต่อไฟแนนซ์ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี
ประมงเตรียมหยุด
นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา และ ส.ส.เขต 5 พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากการประกาศลอยตัวน้ำมันดีเซลแล้ว ภายใน 1 เดือนนี้ เรือประมงขนาดใหญ่ต้องหยุดประกอบอาชีพกว่า 90% อย่างแน่นอน ภายหลังจากที่เรือประมงส่วนใหญ่ต่างทยอยจอดท่าเทียบ เรือสงขลาอย่างแน่นขนัดมาก่อนแล้ว ทำให้เกิดปัญหา หนี้สินครัวเรือนที่นำทรัพย์สินไปจำนำเพื่อหาเงินมาต่อทุนทำประมง และหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูง
"หากประมงหยุดหาปลารัฐบาลอาจจะคิดว่าไม่มีผลกระทบอะไรมาก แต่อยากให้พิจารณาธุรกิจต่อเนื่องของประมง ซึ่งมีทั้งรายใหญ่และรายย่อยเป็นจำนวนมากที่จะมีความเสียหายมูลค่ามหาศาล" นายประพรกล่าว
นายทวี บุญยิ่ง นายกสมาคมประมงจังหวัดระนอง และกรรมการบริหารสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนมีเรือประมง 14 ลำ แต่ได้หยุดทำประมงเป็นการชั่วคราวแล้วทั้ง 14 ลำ เนื่องจากสู้กับภาระการขาดทุนจากการปรับตัวขึ้นราคาน้ำมันดีเซลต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว ในส่วนของเรือประมงรายอื่นๆ ก็ได้เริ่มทยอยกันจอดเรือบ้างแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีเรือหลายลำต้องจอดเรือบางส่วน จะออกนำเรือออกทำประมงเฉพาะลำที่มีประสิทธิภาพดีเท่านั้น เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงการขาดทุนให้น้อยที่สุดเพื่อความอยู่รอด รวมทั้งเรือประมงนอกน่านน้ำก็เริ่มขาดทุน บางรายขอพักตั๋วสัมปทานชั่วคราว
ดีเซล-ค่าแรงกระทบต้นทุนจิ๊บจ๊อย
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ทำให้ราคาปรับขึ้นจาก 22.09 บาท/ลิตร เป็น 22.99 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 90 สตางค์/ลิตรว่า กรมฯ ได้คำนวณผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลแล้ว พบว่ากระทบต้นทุนการผลิตสินค้าตั้งแต่ 0.07-6% โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพราะมีน้ำหนักในการบรรทุกมาก ส่วนสินค้าที่มีน้ำหนักน้อยราคาแพงจะมีผลกระทบน้อยที่สุด
ทั้งนี้ สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มได้รับผลกระทบ 0.0141-0.1951% โดยนมข้นหวานได้รับผลกระทบต่ำสุด อาหารสำเร็จรูปได้รับผลกระทบสูงสุด "
ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นอีก 90 สตางค์ ยังส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าไม่มากนัก เพราะการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะใช้น้ำมันเตาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผลกระทบจะอยู่ในเรื่องค่าไฟฟ้า แต่น้ำมันดีเซลจะกระทบต่อด้านการขนส่ง ซึ่งโดยรวมก็ไม่มาก ส่วนค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นยอมรับว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมบ้าง แต่รัฐบาลได้ผ่อนผันโดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการ ดังนั้นทั้งราคาน้ำมันดีเซลและค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะไม่กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า" นายศิริพลกล่าว
นายศิริพลกล่าวว่า ส่วนผลการศึกษาถึงผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่จะปรับ ขึ้นอีกวันละ 6 บาทเป็น 181 บาท จากเดิม 175 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในกรุงเทพฯ เป็นฐานการคำนวณ ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น 0.010-0.699% สินค้าที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ ผงซักฟอก ขณะที่เครื่องแบบนักเรียนได้รับผลกระทบมากที่สุด
นายศิริพลกล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการได้ยื่นขอปรับราคามาแล้ว 18 รายการตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นสินค้าในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบนำเข้า และกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าประเภท อาหารและเครื่องดื่ม แต่กรมฯ ยังไม่ได้อนุมัติ เพราะผู้ประกอบการยังส่งเอกสารต้นทุนย้อนหลัง 2 ปีมาให้ไม่ครบ อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะพิจารณาให้อย่างเป็นธรรมสูงสุด
"มาตรการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้ายังเหมือนเดิม ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ยังยืนยันตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์คือ 3.8% ดังนั้น ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ไม่ใช่ข้ออ้างในการที่ผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาสินค้าโดยเด็ดขาด ซึ่งกรมฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" นายศิริพลกล่าว
|
|
|
|
|