การลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งฉบับใดของใครคนหนึ่งนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ
แต่การลาออกจากบางกอกโพสต์ของเท่ห์ จงคดีกิจ นั้น
กลายเเป็นเรื่องที่ผิดปกติและสร้างความประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง
ความไม่ปกตินั้นสืบเนื่องมาจากบางกอกโพสต์ถือได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่เก่าแก่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั้งในและนอกประเทศ
การเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารกองบรรณาธิการย่อมทำให้เกิดความสนใจต่อผู้ที่รู้จักหนังสือพิมพ์ฉบับนี้
และความผิดธรรมดาอีกประการหนึ่งก็เพราะว่า คนที่ลาออกคือ
คนที่อยู่บางกอกโพสต์มาตั้งแต่แรกเริ่มตลอดมาจนถึงปีที่ 43 ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้
แถมยังเป็นการลาออกเพื่อไปร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ที่เเป็นคู่แข่งกันมาตลอดอย่างเดอะ
เนชั่น
ประวัติความเป็นมาของเท่ห์ค่อนข้างจะลึกลับอยู่พอสมควรเป็นที่รับรู้กันแต่เพียงว่า
เขาไม่ใช่คนไทยโดยกำเนิด เพิ่งจะมาเปลี่ยนสัญชาติเเป็นไทยในภายหลัง
แต่ในเรื่องถิ่นกำเนิดที่แท้จริงนั้นยังไม่มีใครรู้อย่างชัดเจน รู้กันแต่ว่าสัญชาติเดิมของเท่ห์นั้นคือสิงคโปร์
คนที่เคยสืบเสาะเชื้อชาติที่แท้จริงของเท่ห์บางคนบอกว่า เท่ห์เป็นคนพม่า
แต่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่สิงคโปร์ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาเลย์
แต่กระแสข่าวอีกด้านหนึ่งก็ระบุว่า พื้นเพเดิมของเขานั้นเป็นคนมาเลย์ทีเดียว
ไม่ได้พลัดถิ่นมาจากไหน
แต่เป็นคนมาเลย์ที่อาศัยอยู่บนเกาะสิงคโปร์ พอสิงคโปร์แยกตัวเป็นประเทศอิสระหลังสงครามโลกครั้งที่สองเขาก็เลยกลายเป็นคนสิงคโปร์ไปโดยอัตโนมัติ
จุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำงานที่บางกอกโพสต์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่แน่ชัด
เสียงหนึ่งบอกว่าเขาเคยร่วมกับ OSS ซึ่งเป็นหน่วยงานลับของค่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับขบวนการรักชาติของประเทศที่ถูกยึดครองโดยฝ่ายอักษะ
พอสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง อเล็กซานเดอร์ แม็คโดนัลด์ เจ้าหน้าที่ของ OSS
ที่ติดต่อกับขบวนการเสรีไทย ได้ร่วมกับผู้นำเสรีไทยบางคนก่อตั้งบางกอกโพสต์ขึ้น
เท่ห์ก็เลยได้เข้ามาร่วมงานกับบางกอกโพสต์ด้วยสายสัมพันธ์นี้ อีกเสียงหนึ่งแย้งว่า
เท่ห์ไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรกับ OSS การเข้ามาในบางกอกโพสต์ของเขาก็เพราะว่าเขาพูด
อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษได้
ช่วงที่บางกอกโพสต์เกิดขึ้นมาก็กำลังหาคนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ซึ่งมีอยู่น้อยคนในตอนนั้น
เท่ห์ก็เลยได้เป็นส่วนหนึ่งของบางกอกโพสต์ด้วยเหตุนี้ แม้แต่เรื่องอายุที่เจ้าตัวบอกกับใครต่อใครว่า
อายุ 69 ปี ก็ยังอุตสาหะมีข้อมูลใหม่ว่าน่าจะมากกว่านั้นคือ 72 ปี มีอยู่เพียงสิ่งเดียวที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับเท่ห์ก็คือท่วงทำนองการทำหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีจุดยืน
ไม่เป็นตัวของตัว
ต้องคอยเกาะอำนาจทางการเมืองอยู่ทุกสมัย ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่หลายเรื่อง
ในช่วงก่อนปี 2516 เเป็นที่รู้จักกันว่าบางกอกโพสต์ โดยการนำของเท่ห์ เสนอข่าวที่ยืนอยู่ข้างรัฐบาลถนอม
ประภาส มาโดยตลอดแต่ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2514 จนสามทรราชย์ต้องเดินทางออกนอกประเทศ
วันรุ่งขึ้นบางกอกโพสต์พาดหัวทันทีว่า
"บุคคลที่น่ารังเกียจได้เดินทางออกจากประเทศไปแล้ว" ตามมาด้วยข่าวการขุดคุ้ยเบื้องหลังการโกงชาติของทั้งสามคนอีกพักใหญ่
ช่วงปี 2516-2519 ซึ่งเป็นช่วงที่ฝ่ายซ้ายมีบทบาทสูงในสถานการณ์ทางการเมือง บางกอกโพสต์เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่แสดงท่าทียึดเกาะกับอำนาจเดิมอยู่อย่างเหนียวแน่น
โดยการสนอข่าวในทำนองดิสเครดิตขบวนการนักศึกษาและนักการเมืองค่ายสังคมนิยมอยู่เสมอ
จนถูกกล่าวหาว่าเป็นกระบอกเสียงของกองทัพและอเมริกา หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม
2519
ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นถูกปิด บางกอกโพสต์กลับเป็นหนังสือพิมพ์ที่เปิดดำเนินการได้รวดเร็วที่สุด
อีกฉบับหนึ่งคือ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ว่ากันว่าเพราะทั้งสองฉบับนี้
เกื้อกูลเป็นอย่างดีกับกลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ ยุคสมัยที่พลเอกเปรม
ติณสูลานนท์
ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเเป็นเวลาถึงแปดปีเท่ห์มีความสัมพันธ์เป็นอย่างดีกับรัฐบาลนี้โดยผ่านความสัมพันธ์ที่มีมาก่อนหน้านั้นกับประสงค์
สุ่นศิริ
เลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยที่ประสงค์ยังเเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงอยู่
บางกอกโพสต์ได้ข่าวเอ็กซคลูซีฟทางการเมืองระดับสูงอยู่เสมอ ในขณะที่เดอะเนชั่น
และหนังสือพิมพ์ไทยฉบับอื่นไม่เคยระแคะระคายมาก่อนเลย ก็ด้วยเสียงกระซิบจากเลขาคู่ใจคนนี้
และบางกอกโพสต์ก็ตกข่าวไปหลายข่าวเหมือนกัน เเป็นการตกข่าวอย่างจงใจ
เพราะเป็นข่าวที่ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล นักข่าวบางกอกโพสต์ต้องทำข่าวด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงนั้น
โดยเฉพาะข่าวที่อาจจะมีผลกระทบต่อรัฐบาล
ตัวอย่างที่ชัดเจนและกระทบต่อความรู้สึกของคนในบางกอกโพสต์เเป็นอย่างมากก็คือ
การเกิดกรณีพิพาทสามหมู่บ้านที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ระหว่างไทยกับลาวเมื่อปี
2528
ช่างภาพของบางกอกโพสต์บุกเข้าไปถ่ายภาพถึงในพื้นที่ แต่ภาพดังกล่าวไม่มีโอกาสนำสู่สายตาคนอ่าน
อีกกรณีหนึ่งคือ ข่าวขุนส่า ที่นักข่าวบางกอกโพสต์
และนักข่าวต่างประเทศเดินทางไปสัมภาษณ์ขุนส่าในเขตพม่า หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นไม่ได้ข่าวนี้ยกเว้นบางกอกโพสต์
แต่แล้วข่าวดังกล่าวกลับถูกยกออกไป ทั้งสองกรณีนี้มีเบื้องหลังอยู่ว่า
เท่ห์ยกหูโทรศัพท์ไปถามความเห็นจากประสงค์ว่าจะลงได้ไหม ซึ่งประสงค์ไม่เห็นด้วยที่จะเสนอข่าว
สองข่าวนี้จึงถูกยกออก ในช่วงหลังของรัฐบาลเปรม
เท่ห์ได้เปิดคอลัมน์ใหม่ในบางกอกโพสต์ใช่ชื่อว่า HAVE YOU HEARDIT เเป็นคอลัมน์ทำนองข่าวกรอง
ข่าวซุบซิบเกี่ยวกับบุคคลและเหตุการณ์ในแวดวงการเมือง การทหาร และหลายๆ ครั้ง
คอลัมน์นี้ถูกใช้เเป็นเครื่องมือในการกระแนะกระแหนนักหนังสือพิมพ์ด้วยกันหรือบุคคลอื่นที่ออกข่าวในทางลบต่อรัฐบาลเปรมและประสงค์
เท่ห์เเป็นผู้เขียนคอลัมน์นี้เองสัปดาห์ละครั้ง
ใช่นามปากกาว่า "จิ้งจก" ซึ่งนักข่าวหลายคนกล่าวว่า เเป็นนามปากกาที่สอดคล้องกับบุคลิกและพฤติกรรมของคนเขียนเเป็นอย่างยิ่ง
ภายหลังการสิ้นสุดยุคเปรมเมื่อกลางปี 2531
ชื่อของเปรมและประสงค์ก็เริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของเท่ห์ ประสงค์ถึงกับเปรยกับนักข่าวบางกอกโพสต์ว่า
"บางกอกโพสต์คงจะไม่ลงเรื่องของผมอีกต่อไปแล้ว"
ด้วยจุดยืนที่ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเช่นนี้ ทำให้เท่ห์ไม่เเป็นที่ยอมรับของนักข่าวส่วนใหญ่ในบางกอกโพสต์
และประกอบกับเท่ห์เองก็ไม่เคยแสดงบทบาทการเเป็นบรรณาธิการในการปรับปรุง
พัฒนาวางแผนงานเพื่อเพิ่มคุณภาพของหนังสือแต่อย่างใด คนในกอง บ.ก.มองว่า
เท่ห์ไม่เคยทำอะไรเลย "วิธีทำงานของเท่ห์ เขาไม่เคยคุมงานข่าว
ไม่เคยตรวจข่าวยกเว้นเรื่องที่แสดงจุดยืนของหนังสือพิมพ์ไม่กี่เรื่อง ปกติเขาจะมาถึงที่ทำงาน
สิบโมงเช้า เดินไป เดินมา ยืนสังเกตการณ์อยู่พักหนึ่งแล้วก็หายไป ไม่มีใครรู้ว่าไปทำอะไร
พอห้าโมงเย็นก็กลับมาใหม่" อดีตนักข่าวอาวุโสของบางกอกโพสต์เล่าให้ฟังถึงกิจวัตรประจำวันของเท่ห์
บางกอกโพสต์ในยุคที่เท่ห์เเป็น บ.ก.อยู่จึงเเป็นยุคที่นักข่าวคนเดิมกล่าวว่า
"เละเทะพอสมควร" ที่อยู่มาได้ก็เพราะความสามารถเฉพาะตัวของนักข่าว แต่ก็เเป็นการอยู่แบบไม่มีทิศทาง
ปลายปี 2528
มีการรวมตัวกันของนักข่าวยื่นหนังสือให้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวบรรณาธิการ
ทางผู้บริหารของบางกอกโพสต์และเท่ห์พยายามที่จะลดแรงกดดันอันนี้ลงด้วยการรับปากว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานในเวลาอันไกล้
ความพยายามหนึ่งที่แสดงออกมาคือ การนำ
ดร.ปรัชญาทวี ตะเวทิกุล ซึ่งเเป็นรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น
เข้ามาเป็นผู้ช่วยเท่ห์ โดยมีคำมั่นสัญญาแบบสุภาพบุรุษว่า
ปรัชญาทวีจะขึ้นสู่ตำแหน่งบรรณาธิการต่อจากเท่ห์ในอีกไม่ช้า พร้อมๆ กันนั้นก็ดำเนินการสลายกำลังของนักข่าวร่นใหม่ๆ
ที่เเป็นผู้ร่วมกลุ่มก่อกระแสเรียกรองการเปลี่ยนแปลง
โดยการโยกย้ายให้ไปอยู่ในตำแหน่งงานที่ไม่มีโอกาสจะเข้ามารวมตัวกันอีก ปรัชญาทวีอยู่ที่บางกอกโพสต์ได้เพียงปีเศษๆ
ก็ต้องลาออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2530
เพราะเท่ห์ไม่ได้มอบหมายงานให้ทำเลย เนื่องจากการดึงปรัชญาทวีเข้าไปเเป็นเพียงเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากนักข่าวที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเท่านั้น
อำนาจและบทบาททั้งหมดยังอยู่ในมือของเท่ห์
ก่อนหน้าที่ปรัชญาทวีจะลาออก เท่ห์คิดที่จะโยกย้ายเขาไปแขวนในตำแหน่งที่ปรึกษา
ประจวบกับปรัชญาทวีเกิดความเบื่อหน่ายถึงที่สุด จึงชิงลาออกมาเสียก่อน
ปรัชญาทวีพูดกับเพื่อนข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศหลังลาออกมาใหม่ๆ ว่า
เขาเจ็บปวดกับการกระทำของเท่ห์มาก แต่กระแสความไม่พอใจในตัวเท่ห์
การเรียกร้องบรรณาธิการคนใหม่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เท่ห์ต้องขัดแย้งกับระดับบริหารของบางกอกโพสต์ซึ่งนำมาสู่การลาออกในที่สุด
คนที่มีบทบาทและมีอิทธิพลมากที่สุดในบางกอกโพสต์คือ เอียน เจมส์ ฟอว์เซ็ท
กรรมการผู้จัดการคนก่อนและเเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการในปัจจุบัน ฟอว์เซ็ทเเป็นชาวออสเตรเลีย
แต่ไปประกอบอาชีพนักข่าวอยู่ที่อังกฤษหลายปี เขาเข้ามาร่วมกับบางกอกโพสต์เมื่อปี
2519 ตอนนั้นกรรมการผู้จัดการของบางกอกโพสต์คือ ไมเคิล กอร์แมน ซึ่งเเป็นคนของลอร์ดทอมสัน
อดีตหุ้นใหญ่ที่สุดของบางกอกโพสต์ส่งเข้ามาดูแลตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 กอร์แมนนั้นยังเกี่ยวดองกับลอร์ดทอมสัน
เพราะไปแต่งงานกับหลานสาวของลอร์ดทอมสันด้วย
ซึ่งลอร์ดทอมสันได้ยกหุ้นบางกอกโพสต์จำนวนหนึ่งให้กับหลานสาวและตกมาเเป็นของกอร์แมนในตอนหลัง
ฟอว์เซ็ทเองก็เเป็นคนที่ลอร์ดทอมสันส่งเข้ามา
เพราะหลังจากกอร์แมนเป็นกรรมการผู้จัดการได้สองปีก็มีข่าวว่า มีการเบียดบังเงินของบริษัทไปใช่ส่วนตัว
ฟอวเซทจึงถูกส่งเข้ามาเป็นหูเเป็นตาคอยประกบกับกอร์แมน
ในฐานะบรรณาธิการร่วม ตอนนั้นเท่ห์ยังเป็นแค่ผู้อาวุโสสูงสุดในกองบรรณาธิการเท่านั้น
บรรณาธิการตัวจริงคือกอร์แมน
แต่กอร์แมนก็ไม่เคยมีประสบการณ์การทำหนังสือพิมพ์มาก่อนการส่งฟอร์เซ็ท
ซึ่งเคยเป็นนักข่าวมาก่อน จึงเเป็นความต้องการอีกข้อหนึ่งของลอร์ดทอมสันที่ต้องการให้ฟอว์เซ็ทคอยดูแลกองบรรณาธิการที่เท่ห์มีบทบาทสูงสุดอยู่
บางกอกโพสต์จึงมีมุ่งเล็กในมุ่งใหญ่อยู่ถึงสามหลังด้วยกันคือ ไมเคิล กอร์แมน
เท่ห์ จงคดีกิจ และเอียน ฟอว์เซ็ท ที่ดูเหมือนจะเป็นขมิ้นกับปูนกันก็คือ
กอร์แมนกับฟอว์เซ็ทเพราะฝ่ายหลังอยู่ในฐานะที่ต้องคอยตรวจสอบ จับตาดูการทำงานของฝ่ายแรก
ความขัดแย้งระหว่างกอร์แมนกับฟอว์เซ็ทมีมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงปี 2526
ที่กอร์แมนตกเเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทที่บางกอกโพสต์ลงบทความของมนตรี
เจนวิทย์การ โจมตีการไปเยือนเวียดนามของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และอาจารยนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง
กอร์แมนถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่ศาลผ่อนผันให้ลดโทษจำคุกเป็นการกักบริเวณ
1 เดือนแทน ฟอว์เซ็ท อาศัยจังหวะนี้ยึดใบอนุญาตการเเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์
ผู้โฆษณาจากกอร์แมน
และเข้าเป็นกรรมการผู้จัดการ เช่นเดียวกับเท่ห์ที่ขึ้นเเป็นบรรณาธิการของบางกอกโพสต์อย่างเต็มตัว
โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบางกอกโพสต์ในตอนนี้ได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่ลอร์ดทอมสัน
เคยถือหุ้นใหญ่อยู่ถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นคนไทยเช่น
กลุ่มเชาว์ เชาว์ขวัญยืน กลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มอิตัลไทย เพราะลอร์ด ทอมสัน
ได้พยายามลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเมื่อตอนเพิ่มทุนจดทะเบียนปลายปี 2519 และหลังจากที่ลอร์ดทอมสันเสียชีวิตลง
ทายาทก็ได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นคนไทยเดิม
ฟอว์เซ็ตนั้นแม้จะไม่มีความขัดแย้งที่ปรากฏอย่างชัดเจนกับเท่ห์ แต่ก็ไม่ค่อยจะสบอารมณ์กับวิธีการทำงานของเท่ห์ที่ไม่ทำอะไรที่จะเเป็นการปรับปรุงบางกอกโพสต์ให้ดีขึ้น
ในขณะที่คู่แข่งอย่างเดอะ เนชั่น กำลังไล่กวดมาติดๆ พื้นฐานการเเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก่อนของเขาทำให้เขารู้ว่าถ้าขืนบางกอกโพสต์ยังอยู่ในมือของเท่ห์ต่อไป
ตำแหน่งผู้นำต้องหลุดไปอยู่กับคู่แข่งในไม่ช้าแน่ ยิ่งเมื่อทาง กอง บ.ก.แสดงปฏิกิริยาไม่ยอมรับเท่ห์อย่างเปิดเผยก็เป็นเสมือนสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงแล้ว
การนำปรัชญาทวีเข้ามาก็เเป็นส่วนหนึ่งที่เขาเเป็นผู้ริเริ่มด้วย ก่อนหน้านั้นเคยมีการดึง
อลัน ดอว์สัน นักข่าวชาวอเมริกันและรอน คิด ชาวอังกฤษเข้ามาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ
เพื่อหวังจะลดบทบาทของเท่ห์ แต่ทั้งสองคนก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเท่ห์ไม่มอบหมายงานอะไรให้ทำเลย
เดือนกรกฎาคม 2531 ฟอว์เซ็ทเกษียณจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ คนที่มาแทนคือ
ไนเจล
โอกิ้น ซึ่งเชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์กับฟอว์เซ็ทมาก่อนในระดับหนึ่ง ตัวฟอว์เซ็ทเองนั้นเข้ารับตำแหน่งใหม่เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ
ถึงแม้จะลดบทบาทในด้านการบริหารงานประจำวันลงไปแล้วแต่ฟอว์เซ็ทก็ยังคงเป็นผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริง
เขายังเป็นผู้ถือใบอนุญาตเเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาตามกฎหมายอยู่
และแม้จะมีหุ้นอยู่ไม่ถึง 1% แต่ฟอว์เซ็ทเเป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่
ทั้งในแง่ความสามารถในการประสานธุรกิจเข้ากับวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และที่สำคัญคือ
ฟอว์เซ็ทโอนอ่อนผ่อนตามผู้ถือหุ้นเสมอในกรณีที่ผู้ถือหุ้นต้องการให้บางกอกโพสต์งดเสนอข่าวบางข่าวที่กระทบต่อธุรกิจของผู้ถือหุ้น
ตัวอย่างเช่น
การเสนอข่าวเรื่องการประมูลท่าเรือแหลมฉบังที่กลุ่มอิตัลไทย ของหมอชัยยุทธ
กรรณสูต ผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งได้งานไปทั้งๆ ที่เสนอราคาสูงกว่ากลุ่มฮุนได
จากเกาหลีใต้
ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่ามีลับลมคมในระหว่างหมอชัยยุทธกับการท่าเรือฯ
บางกอกโพสต์หลุดข่าวนี้ออกไป ทำให้หมอชัยยุทธโกรธมาก ถึงกับต่อว่าต่อขานกับตัวฟอว์เซ็ท
"ฟอว์เซ็ทบอกมาทาง กอง บ.ก.ว่าทีหลังต้องระมัดระวังการเสนอข่าวที่จะกระทบต่อผู้ถือหุ้นด้วย"
นักข่าวบางกอกโพสต์คนหนึ่งเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" และคำเตือนของฟอว์เซ็ท
ก็ได้กลายเเป็นกฎที่ไม่ได้ประกาศแต่นักข่าวโพสต์ทุกคนจะต้องยึดถือ ในกรณีของผู้ถือหุ้นจิราธิวัฒน์
ฟอว์เซ็ทเคยสั่งให้ทีมงานข่าวธุรกิจ
และทีมข่าวหน้าส่งนักข่าวไปทำข่าวในเชิงประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลนี้อยู่หลายครั้ง
ซึ่งเเป็นสิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้กับเท่ห์เลย หลายๆ
ครั้งที่ฟอว์เซ็ทเคยเปรยกับผู้ไกล้ชิดว่า กำลังหาทางยุติสัญญาว่าจ้างที่ทำกับเท่ห์ให้เร็วที่สุด
โดยการเสนอเงินให้เท่ห์จำนวนหนึ่งและตำแหน่งใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานในกองบรรณาธิการ
สัญญาว่าจ้างของเท่ห์นั้นมีกำหนดสิ้นสุดตอนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เท่ห์เองหวังว่าคงจะได้รับการต่อสัญญาออกไปอีก แต่ฟอว์เซ็ทเห็นว่า เวลาสำหรับเท่ห์ในตำแหน่งบรรณาธิการได้หมดลงแล้ว
"เราคิดว่าตอนนี้เเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะเปลี่ยนตัวบรรณาธิการ
ให้คุณเท่ห์รับผิดชอบน้อยลง เพราะอายุมากแล้ว มันเป็นเวลาที่เขาควรจะเกษียณจากงานที่ต้องรับผิดชอบเต็มเวลาแล้วไปทำหน้าที่ปรึกษา
ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับองค์กรได้มากกว่า" ไนเจล
โอกิ้น เปิดเผยเหตุผลการไม่ต่ออายุการเเป็นบรรณาธิการของเท่ห์กับ "ผู้จัดการ"
แต่เท่ห์ไม่ได้คิดเช่นนั้น เขายังต้องการอยู่ในตำแหน่งเดิมอยู่ และอย่างเงียบเชียบโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
เท่ห์ยื่นใบลาออกจากบางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2532 ด้วยเหตุผลสั้นๆ
ว่า "ผมต้องการเเป็นอิสระ" ท่ามกลางความประหลาดใจของคนในบางกอกโพสต์และคนในวงการหนังสือพิมพ์
"เราเสียใจมากที่เขาจากไป และเสียใจเป็นพิเศษเมื่อเขาไปร่วมกับคู่แข่งของเราคือ
เดอะ เนชั่น" โอกิ้น พูดถึงความรู้สึกของตัวเองหลังจากที่ทราบแน่ชัดว่าเท่ห์ลาออกไปอยู่กับเนชั่นแน่
ไม่มีใครรู้ว่าเขาและคนอื่นๆ ในบางกอกโพสต์รวมทั้งฟอว์เซ็ทรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ
หรือเปล่า "ไปก็ดีสิ เราก็ดีใจไปเท่านั้น คุณเท่ห์อยู่ที่นี่ก็ไม่ได้ทำอะไรอยู่แล้ว"
นักข่าวคนหนึ่งของบางกอกโพสต์คนหนึ่งพูดออกมาเช่นนี้จริงๆ เช่นเดียวกับคำพูดของโอกิ้นที่ว่า
การจากไปของเท่ห์ ไม่มีผลอะไรต่อบางกอกโพสต์เลย การไปอยู่กับเนชั่น เป็นเพียงแค่
Big
Surprise เท่านั้น กับการที่เท่ห์ตัดสินใจไปอยู่กับเครือเนชั่นนั้น ผู้สันทัดกรณีท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า
เท่ห์กำลังไปด้วยอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่มีใครที่บางกอกโพสต์ให้ความสำคัญกับเขาอีกต่อไป
ก็เลยแก้เผ็ดด้วยการวิ่งเข้าไปหาเนชั่นเสียเลย
นักจิตวิเคราะห์ละแวกถนนพระอาทิตย์ท่านหนึ่ง อธิบายกรณีนี้ตามความถนัดของตนว่า
การเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์นั้นก็เหมือนการมีหัวโขนครอบอยู่บนศีรษะ
ไปที่ไหนก็มีคนเคารพยกย่องให้ความสำคัญกับหัวโขนที่สวมอยู่ ยิ่งหัวโขนใบใหญ่เท่าไร
ความเคารพนับถือที่แสดงออกมาก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น นานๆ
เข้าก็กลายเเป็นความเคยชินและหลงไปกับหัวโขนใบนั้น ต่อเมื่อถึงเวลาที่จะต้องลงจากเวที
ถอดหัวโขนออกก็เกิดความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ และยอมรับไม่ได้ที่จะต้องอยู่โดยปราศจากหัวโขน
นักหนังสือพิมพ์บางคนแก้ปัญหานี้ด้วยการหาหัวโขนใบใหม่มาสวมใส่แทน บรรยายรูป
1. เท่ห์ จงคดีกิจ อดีตบรรณาธิการบริหารบางกอกโพสต์ที่ย้ายค่ายมาอยู่กับคู่แข่งเครือเนชั่น
ในฐานะบรรณาธิการอาวุโส ไม่มีใครในบางกอกโพสต์เสียใจกับการจากไปของเขา 2.
เอียน เจมส์ ฟอว์เซ็ท กรรมการผู้จัดการคนก่อนของบางกอกโพสต์
ตอนนี้อยู่ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการของบางกอกโพสต์ เป็นคนที่เชื่อกันว่าทำให้เท่ห์ต้องทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
3. ดร.ปรัชญาทวี ตะเวทิกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ
กระทรวงการต่างประเทศ เขาเคยลาออกจากตำแหน่งนี้มาครั้งหนึ่งเมื่อกลางปี
2530 เพื่อไปรับตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการของบางกอกโพสต์
ก่อนที่จะออกมาอย่างเจ็บปวดและขมขื่นกับการกระทำของเท่ห์ จงคดีกิจ