Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2532
พยัคฆ์ลำพอง             
โดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช
 

 
Charts & Figures

ฐานะทางการเงิน พ.ศ.2527-2531

   
related stories

Role Model 2002 Agents of Influence

   
www resources

โฮมเพจ บางกอกโพสต์
โฮมเพจ เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป

   
search resources

เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป, บมจ.
โพสต์ พับลิชชิง,บมจ
สุทธิชัย หยุ่น
เท่ห์ จงคดีกิจ
Printing & Publishing
Newspaper




"เมื่อ 18 ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับที่สองของเมืองไทยได้ถือกำเนิดขึ้นในซื่อ ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น คำถามที่ใครๆ

ในตอนนั้นมีอยู่ในใจต่ออนาคตของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นคือ "จะไปได้สักกี่น้ำ" ไม่มีใครมองหนทางข้างหน้าของเนชั่นไกลไปกว่า

วันสุดท้ายที่ต่างคนต่างเก็บข้าวของแยกย้ายกันไปหางานใหม่จะมาถึงเมื่อไร ไม่มีใครคิดมาก่อนว่า เนชั่นจะเดินผ่านสถานการณ์เที่ยวลำบากล้มลุกคลุกคลานมาได้ไกลจนถึงวันนี้

วันที่เนชั่นไม่ได้เป็นแค่หัวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเท่านั้น

แต่ได้เติบใหญ่ขยายตัวขึ้นเป็นกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่แข็งแกร่ง และบุกไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่โพสต์สูญเสีย เท่ห์ จงคดีกิจ ไปให้เนชั่น

โพสต์จะปรับขบวนของตนอย่างไร? การอำลาจากบางกอกโพสต์ไปอยู่ในเครือเนชั่นของเท่ห์ จงคดีกิจ

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดคิดของคนในวงการหนังสือพิมพ์มาก่อน แม้กระทั่งเมื่อเริ่มมีข่าวกระเส็นกระสายออกมาแล้วก็ยังเชื่อกันว่าเป็นเรื่องโจ๊กที่พูดกันเล่นๆ

ต่อเมื่อมีการแถลงยืนยันอย่างเป็นทางการ ทั้งโดยตัวเท่ห์เองร่วมกับฝ่ายบริหารของเนชั่นนั่นแหละ ความคลางแคลงใจในความเป็นไปได้ของปรากฏการณ์อันนี้จึงได้ยุติลงพร้อมๆ

กับความประหลาดใจก็ได้เข้ามาแทนที่ ถ้าคนที่ไปจากโพสต์ในครั้งนี้จะเป็นคนอื่น ความประหลาดใจนี้ก็คงจะไม่มี แต่คนที่ลาจากไปในคราวนี้เป็นถึงบรรณาธิการบริหาร

และเป็นคนที่อยู่กับบางกอกโพสต์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จวบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 40 ปี "คุณเท่ห์นั้นเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นสถาบันไปแล้ว"

ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการน้ำหมึกรายหนึ่งพูดถึงสถานะของเท่ห์ในประวัติศาสตร์ของวงการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในบ้านเรา

ช่วงเวลาอันยาวนานและประสบการณ์อันเหลือล้นในบางกอกโพสต์ทำให้ภาพลักษณ์ของเขากลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับภาพพจน์ของโพสต์ ไม่ใช่เรื่องกินเลยที่จะกล่าวว่า "โพสต์ก็คือเท่ห์

และเท่ห์ก็คือโพสต์" แล้วจู่ๆ บุคคลที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของบางกอกโพสต์ก็หันหลังทิ้งรังเก่าของตัวไปอย่างไม่มีเยื่อใย ก็น่าที่ความประหลาดใจจะต้องเกิดขึ้น

และยิ่งเพิ่มดีกรีขึ้นไปอีกเมื่อทางเลือกสำหรับก้าวต่อไปของเท่ห์คือไปอยู่กับเนชั่น ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี

ไม่มีใครรู้ว่าเท่ห์คิดอย่างไรต่อการตัดสินใจในการไปอยู่กับเนชั่น และไม่มีใครรู้ว่า สุทธิชัย หยุ่น แห่งเนชั่น ต้องการอะไรจึงอ้าแขนรับเท่ห์เอาไว้

แต่การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเสมือนการประกาศชัยชนะของกลุ่มเนชั่น เป็นชัยชนะในความหมายที่ว่า แม้แต่คนที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของคู่แข่งยังยอมรับในความสำเร็จ

และแสดงความยอมรับออกมาด้วยการไปร่วมหัวจมท้ายด้วย เพราะคนอย่างเท่ห์นั้นจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ด้วยศักดิ์ศรีของผู้นำในด้านงานข่าวของบางกอกโพสต์ ด้วยประสบการณ์ที่เข้มข้น

ซึมลึกในวงการนี้ นอกจากเหตุผลเบื้องหลังบางอย่างแล้ว ที่ที่เท่ห์จะไปอยู่จะต้องยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียง มีความสำเร็จและมีอนาคตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่ที่ตัวเองลาจากมา มิฉะนั้นแล้ว

ไฉนเลยเท่ห์จะยอมสละความเคารพนับถือในตัวเองเพื่อแลกกับการตัดสินใจกระทำในสิ่งที่ใครๆ ก็มองว่าเป็นการตบหน้าตัวเองเช่นนี้

การตัดสินใจของเท่ห์จึงเป็นประหนึ่งการประทับตรารับรองความสำเร็จของกลุ่มเนชั่นโดยปริยาย เช่นเดียวกับที่เท่ห์คือสัญลักษณ์ของบางกอกโพสต์ เมื่อพูดถึงเดอะ เนชั่น

ก็จะปรากฏเงาของหนุ่มใหญ่วัยสี่สิบเศษๆ นามว่า สุทธิชัย หยุ่น ทาบทับอยู่ เนชั่นคือ สุทธิชัย หยุ่น และ สุทธิชัย หยุ่น คือเนชั่น คือความรับรู้ของคนทั่วๆ

ไปที่ได้สัมผัสกับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ด้วยความที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง และเป็นคนเดียวที่เหลืออยู่ที่สร้างเดอะเนชั่นขึ้นมาด้วยน้ำมือ และชีวิตจิตใจของตัวเองตั้งแต่ต้น สุทธิชัยเป็นลูกจีนเกิดที่หาดใหญ่

ผ่านการศึกษาชั้นต้นที่บ้านเกิด พอจบมัธยมจากโรงเรียนแสงทองวิทยา ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่อัสสัมชัญพาณิชย์ ที่นี่เองที่เป็นแหล่งบ่มเพาะความแตกฉานทางด้านภาษาอังกฤษให้กับเขา

และสิ่งที่ติดตัวมาโดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่รู้สึกก็คือ ความรู้และสำนึกของการทำธุรกิจที่ดูเหมือนจะถูกบดบังมาโดยตลอดด้วยภาพของความเป็นนักหนังสือพิมพ์ "ผมไม่เคยผ่านมหาวิทยาลัย

และไม่เคยเรียนการทำหนังสือพิมพ์มาก่อน" สุทธิชั ยพูดถึงอดีตของตน เพราะหลังจากจบการศึกษาที่อัสสัมชัญแล้ว สุทธิชัยก็ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานทันที เริ่มต้นที่แผนกโฆษณาของบริษัทดีทแฮล์ม

ทำอยู่ที่นี่ระยะหนึ่งก็ผันตัวเองไปเป็นพนักงานแปลขององค์การยูซ่อม พร้อมๆ กับเริ่มเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ในนามปากกาว่า "กาแฟดำ"

ความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักหนังสือพิมพ์เป็นแรงผลักดันให้เขาสมัครเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุทธิชัยเองก็คงจะเหมือนคนหนุ่มสาวที่เป็นคนกลุ่มน้อยในช่วงนั้น ที่ค้นพบว่า

ชีวิตในสถาบันการศึกษาขั้นสูงสุดของชาติอย่างมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาคาดหวัง ความรู้ทางภาษาอังกฤษทำให้เขามีโลกแห่งความรับรู้ที่กว้างไกลกว่าคนทั่วไปในรุ่นๆ เดียวกัน

โดยการอ่านหนังสือ นิตยสารต่างประเทศ และทำให้ตระหนักว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไม่ได้ให้สิ่งที่เขาต้องการ

ความรับรู้เหล่านี้ทำให้เขาพบว่าสิ่งที่สอนกันในมหาวิทยาลัยนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ ชีวิตนักศึกษาสิ้นสุดลงเมื่อเวลาผ่านไปเพียงปีกว่า เมื่อเขาถูกเชิญให้ออกเพราะปฏิเสธที่จะทำข้อสอบตอนที่อยู่ปี 2

เมื่อหาสิ่งที่ต้องการไม่ได้จากห้องเรียน เขาตัดสินใจกระโจนเข้าสู่สนามเรียนรู้จากของจริงเอาเลย ถ้าไม่นับการเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ปฐมบทแห่งการก้าวเข้ามาสู่โลกหนังสือพิมพ์ของผู้ชายคนนี้เริ่มต้นชึ้นที่ บางกอกโพสต์ในฐานะพนักงานพิสูจน์อักษรและจัดหน้า

เป็นบทเดียวกับที่นักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าก่อนได้เดินผ่านก่อนที่จะไต่เต้าขึ้นไปเป็นนักข่าวอย่างเต็มตัว พื้นฐานทางการศึกษา ความใฝ่รู้

การทำงานหนักบวกกับความตั้งใจอย่างแรงกล้าและความสามารถส่วนตัวทำให้เขาผ่านบทเรียนบทแรกและบทต่อๆ ไปได้อย่างรวดเร็ว จากพนักงานพิสูจน์อักษรที่ซึมซับเอาข่าวทุกข่าวที่ผ่านสายตา

สุทธิชัยเขยิบขึ้นไปเป็นนักข่าวเต็มตัวในเวลาต่อมา และเลื่อนชั้นขึ้นไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวในประเทศ จนถึงตำแหน่งหัวหน้าข่าวในประเทศ พร้อมๆ

รับหน้าที่บรรณาธิการบางกอกโพสต์ฉบับวันอาทิตย์ไปในตัวด้วย บางกอกโพสต์เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับแรกที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 โดยอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยโอเอสเอส (OSS-

Office Strategic Service) ชาวอเมริกันชื่อ อเล็กซานเดอร์ แม็คโดนัลด์ โอเอสเอส เป็นหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ

ซึ่งมีบทบาทสำคัญในงานข่าวและการประสานงานกับขบวนการใต้ดินของประเทศที่ถูกยึดครองโดยฝ่ายอักษะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวแม็คโดนัลด์เองประจำอยู่ที่พม่า

มีภารกิจหลักในการติดต่อกับขบวนการเสรีไทย ทำให้เขารู้จักกับผู้นำเสรีไทยหลายๆ คนในขณะนั้น จากความสัมพันธ์นี้ เมื่อสงครามสงบลง แม็คโดนัลด์ตกลงใจที่จะอยู่ในไทยต่อไป

และได้ร่วมกับเพื่อนเสรีไทยก่อตั้งบางกอกโพสต์ขึ้น ตัวเขาเองนอกจากจะเป็นหุ้นส่วนใหญ่แล้วยังรับหน้าที่บรรณาธิการด้วย บางกอกโพสต์จึงเกิดขึ้นโดยฝรั่งและบริหารงานโดยฝรั่งมาตั้งแต่ต้น

และยังคงเป็นเช่นนี้เรื่อยมา แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนและผู้บริหารในระยะต่อมา ("ผู้จัดการ" เคยเสนอเรื่องราวของบางกอกโพสต์โดยละเอียดมาครั้งหนึ่งแล้วในฉบับเดือนมีนาคม 2529)

สิ่งนี้เป็นความรู้สึกที่รบกวนจิตใจของสุทธิชัยตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ที่บางกอกโพสต์ นอกเหนือไปจากนโยบายการนำเสนอข่าวทีให้ความสำคัญกับข่าวต่างประเทศมากกว่าข่าวในประเทศ

สุทธิชัยซึ่งรับผิดชอบการทำข่าวในประเทศย่อมต้องไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอนเมื่อข่าวที่ตัวเองทำมากับมือถูกมองข้ามไปอยู่เสมอๆ คนไทยหลายๆ คนที่อยู่ในบางกอกโพสต์ตอนนั้นก็คงจะมีความรู้สึกเช่นนี้

แต่ที่แสดงออกอย่างชัดเจนนอกจากสุทธิชัยเองแล้วก็มี ธรรมนูญ มหาเปารยะ บรรณาธิการข่าวในประเทศ และ ม.ร.ว.หญิงสุนิดา กิติยากร ธิดาของพระองค์เจ้าหญิงสุทธิสิริโสภา

ซึ่งรั้งตำแหน่งบรรณาธิการข่าวสังคมในขณะนั้น ความขัดแย้งมาถึงจุดลงเอยเมื่อบางกอกโพสต์ซื้อกิจการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอีกฉบับหนึ่ง

"ตอนที่โพสต์กับเวิลด์ยังแข่งกันอยู่ก็ยังพอมองเห็นลู่ทางว่าจะสร้างคนไทยขึ้นมารับช่วงต่อไปได้ แต่พอโพสต์ซื้อเวิลด์ก็กลายเป็นการผูกขาด อำนาจสิทธิขาดทั้งหลายตกอยู่ในมือฝรั่ง"

สุทธิชัยเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งถึงจุดเริ่มต้นของความลงเอยในความขัดแย้งซึ่งไปถึงข้อสรุปของตัวเองว่า "ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะสามารถบริหาร

สามารถที่จะออกหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเองได้" สุทธิชัย ธรรมนูญ และคุณหญิงสุนิดา จึงตัดสินใจลาจากบางกอกโพสต์เพื่อมาออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ ในชื่อว่า "ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น"

ซึ่งออกวางตลาดเป็นฉบับแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2514 เงินทุนในการดำเนินการนั้นมีอยู่สองล้านบาทซึ่งได้มาจากการขายหุ้นให้กับเพื่อนฝูงของทั้งสามคนร่วมสองร้อยคน

โดยทั้งสามเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินงานร่วมกับคนที่ชักชวนออกมาจากโพสต์และเวิลด์ประมาณ 20 คน เงินสองล้านบาทในเวลานั้นอาจจะมีค่ามากอยู่

แต่ธุรกิจการทำหนังสือพิมพ์นั้นมีคนเปรียบเปรยว่าเหมือนเอาทองคำใส่เข้าไปในแท่นพิมพ์แล้วก็ออกมาเป็นกระดาษ ต้องลงทุนในระยะแรกอย่างมหาศาลและกว่าจะเก็บดอกเก็บผลได้ก็ใช้เวลานาน

เงินสองล้านบาทจึงแทบจะไม่มีความหมายอะไรนัก เอากันแค่ค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าออฟฟิศ เพียงชั่วสองสามเดือนก็แทบจะหมดแล้ว

ตลาดหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในขณะนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในมือบางกอกโพสต์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นเพียงฉบับเดียวปีที่ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น ออกมานั้นบางกอกโพสต์ก่อตั้งมาแล้วถึง 25 ปี

มีฐานที่มั่นคง แน่นหนา มีภาพพจน์ ชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของผู้อ่าน เทียบกันแล้วก็เหมือนเด็กทารกแรกเกิดกับผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ไม่มีทางที่จะไปแข่งขันกันได้

จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่มีใครมองเห็นอนาคตของหนังสือพิมพ์น้องใหม่ฉบับนี้เอาเสียเลย แม้แต่คนที่ควักกระเป๋าซื้อหุ้นก็ซื้อเพราะความเป็นเพื่อนกัน ไม่ได้คิดว่าจ่ายเงินไปแล้วจะได้ผลตอบแทนกลับคืนมา

เพราะเห็นว่าไปไม่รอดแน่ กรรมการผู้จัดการของบางกอกโพสต์ในสมัยนั้นคือ ไมเคิล กอร์แมน พูดกับสุทธิชัยว่า เนชั่นต้องเจ๊งแน่ภายใน 3 เดือน!

แม้แต่ตัวสุทธิชัยเองก็ยังไม่มั่นใจต่อชะตากรรมของเนชั่นในยุคแรก "ผมเพียงแต่ต้องการพิสูจน์ว่าเราได้พยายามแล้ว ว่าในวงการนี้นักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งไม่ได้ยอมแพ้ง่ายๆ ถ้าจะเจ๊งก็เจ๊ง

แต่อย่างน้อยได้พยายามแล้ว" ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น

จึงเกิดขึ้นโดยมีองค์ประกอบพื้นฐานจากแรงสร้างสรรค์ ความยึดมั่นในอุดมการณ์ของคนหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ ที่ต้องการจะพิสูจน์ความเชื่อบางอย่างของตัวเอง แนวความคิดทางธุรกิจนั้นอย่าไปพูดถึงเลย

ถ้าจะมีก็เพียงแค่ทำอย่างไรถึงจะยืดชีวิตให้ยืนยาวไปให้นานที่สุดเท่านั้น ถ้าสุทธิชัยจะยอมละความยึดมั่นในหลักการของตนลงเสียบ้าง การเริ่มต้นของ ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น

ก็อาจจะดูมั่นคงแน่นหนามากขึ้น เพราะมีผู้เสนอตัวที่จะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่เขา และพรรคพวก แต่สุทธิชัยปฏิเสธ เพราะนโยบายหลักของเขาคือ กองบรรณาธิการต้องเป็นผู้กำหนด

และควบคุมนโยบายการทำหนังสือ การมีนายทุนสนับสนุนทางด้านการเงินจะทำให้อำนาจต่อรองอันนี้ต้องสูญเสียไป และสิ่งนี้เป็นหลักการที่สุทธิชัยยึดถือมาตลอด

และประกาศออกมาเป็นนโยบายของเนชั่นว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เมืองไทยในช่วงปีแห่งการก่อเกิดของ ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น

กำลังมีหน่ออ่อนของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบังเกิดขึ้น ระบอบการปกครองแบบเบ็ดเสร็จภายใต้อำนาจของกองทัพที่สืบทอดกันมากว่าหนึ่งทศวรรษนับจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จนถึงสมัยถนอม ประภาส ได้สร้างความอึดอัด ความเบื่อหน่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ความไม่พอใจในวิถีการปกครองที่เป็นอยู่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ

ในขณะที่บางกอกโพสต ์ยังคงเสนอข่าวต่างประเทศเป็นด้านหลัก และข่าวภายในประเทศก็อยู่ในทิศทางที่พยายามไม่เข้าไปแตะต้องกับอำนาจรัฐในขณะนั้น เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ว้อยซ์ ออฟ เดอะ

เนชั่นให้เนื้อที่ส่วนใหญ่กับข่าวในประเทศ โดยเฉพาะด้านการเมืองที่เป็นประสบการณ์และความถนัดของคนทำอยู่แล้ว เป็นข่าวการเมืองที่นำเสนอกันอย่างตรงไปตรงมา

มีท่วงทำนองของการวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง ลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็นที่ถูกอกถูกใจของปัญญาชน ชนชั้นกลางบางส่วนที่กำลังตั้งคำถามกับระบบการเมือง การปกครองในขณะนั้น

คนกลุ่มนี้คือฐานผู้อ่านของ ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น ในระยะนั้น! ศรัทธาของผู้อ่านส่วนหนึ่งยังเกิดขึ้นจากการประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นหนังสือของคนไทยของ ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น

เป็นปากเป็นเสียงของคนไทยในขณะที่โพสต์นั้นมีภาพพจน์ความเป็นหนังสือพิมพ์ของฝรั่งอยู่เต็มตัว

และเสนอข่าวในลักษณะสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่กำลังเป็นใหญ่อยู่ในภูมิเอเชียอาคเนย์ในช่วงนั้น ความรู้สึกชาตินิยมของผู้อ่านคนไทยที่อ่านภาษาอังกฤษได้

เป็นตัวสร้างฐานผู้อ่านส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนั้นมาจากผู้อ่านที่เป็นชาวต่างประเทศที่อยากจะรู้ว่าคนไทยคิดอย่างไรบ้าง "ตอนนั้นความรู้สึกร่วมของคนอ่านมีมาก

หนังสือพิมพ์ไทยทั้งหลายก็เชียร์เราเต็มที่บอกว่าเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีพวกบ้าๆ บอๆ กล้าทำ เป็นแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์บ้าง อะไรบ้าง" สุทธิชัยย้อนความหลังกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน การเกิดขึ้นของ ว้อยซ์

ออฟ เดอะ เนชั่น

ยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจในการต่อรองกับบางกอกโพสต์ของบรรดาเอเยนซี่ทั้งหลาย เพราะบางกอกโพสต์เคยเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเพียงฉบับเดียว มีสิทธิที่จะขอขึ้นราคาค่าโฆษณาได้ตามต้องการ

การเกิดขึ้นของ ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น ทำให้การต่อรองของเอเยนซี่มีมากขึ้น แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีสิทธิพูดอะไรเลย การสนับสนุนทางด้านโฆษณาจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้ว้อยซ์ ออฟ เดอะ

เนชั่น คงอยู่ได้ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น ยืนอยู่ได้นานกว่าที่ใครต่อใครคาดหมายกันเอาไว้ แต่ก็เป็นการยืนอยู่แบบเลือดตาแทบกระเด็น

เพราะถึงอย่างไรกลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษก็ยังมีอยู่จำกัด และในกลุ่มที่มีอยู่จำกัดนี้ เก้าในสิบคนเป็นผู้อ่านของบางกอกโพสต์ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2514

เสรีภาพทางด้านสื่อมวลชนเปิดกว้างอย่างไม่เคยมีมาก่อน กลุ่มผู้อ่านที่ชื่นชอบกับบุคลิกของเนชั่น ที่เน้นข่าวการเมืองและบทวิพากษ์วิจารณ์ ถูกดึงไปโดยหนังสือพิมพ์ไทยหลายๆ ฉบับที่หันมาเล่นข่าว

วิพากษ์วิจารณ์การเมืองมากขึ้น ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น เองยังเปิดหนังสือภาษาไทยขึ้นอีกสองฉบับคือ ประชาชาติรายวันมี ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นบรรณาธิการ อีกฉบับหนึ่งคือ ประชาชาติรายสัปดาห์

มีธัญญา ผลอนันต์ เป็นบรรณาธิการ ปัญหาผู้อ่านน้อย โฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักก็น้อย ทำให้ฐานะการเงินของเนชั่นอยู่ในภาวะย่ำแย่ตลอดมา แถมยังมีการรั่วไหลอย่างมากมาย

ปัญหาการรั่วไหลที่ชัดเจนมากที่สุดคือ การเก็บค่าโฆษณาที่ไม่มีการควบคุมและตรวจสอบอย่างรัดกุม สิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานเก็บเงินเวลาไปเก็บค่าโฆษณาอยู่เสมอก็คือ

มีผู้มาเก็บเงินไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นใครและเงินที่เก็บไปนั้นไปอยู่ที่ไหน เป็นปัญหาจนกระทั่งว่า บิลล์ค่าโฆษณาที่มีอยู่ไม่รู้ว่าใบไหนเก็บมาแล้ว ใบไหนยังค้างอยู่

เมื่อรายได้ไม่มีเข้ามา แต่รายจ่ายนั้นมีแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นค่ากระดาษ ค่าหมึก ค่าฟิล์ม"วิกฤติการณ์ทางการเงินจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ที่ชัดเจนที่สุดคือ วิกฤติการณ์ทุกๆ 15 วัน

ซึ่งเป็นวันจ่ายเงินเดือนพนักงานซึ่งต้องผัดผ่อนอยู่ทุกงวด จนกลายเป็นเรื่องที่พนันขันต่อกันในหมู่พนักงานว่า เงินเดือนงวดที่จะมาถึง จะได้รับกันวันไหน ปัญหาหนักหนาถึงขั้นที่ว่า

ต้องมีการจัดลำดับสำคัญของรายจ่ายว่าเรื่องไหนจะจ่ายก่อน เรื่องไหนจ่ายทีหลัง โดยมีรายจ่ายด้านเงินเดือนมาเป็นอันดับแรกด้วยเหตุผลธรรมดาๆ ว่า

กองทัพต้องเดินด้วยท้องจะจ่ายช้าไปกว่ากำหนดสักสองสามวันก็ต้องหามาจ่ายให้ได้ ก่อนที่จะถึงวันจ่ายเงินเดือน รายได้ที่เป็นตัวเงินเข้ามาจะถูกกักเอาไว้ ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นจะถูกระงับหมด

เพื่อเอาเงินมาจ่ายเงินเดือน ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังไม่พอ จนต้องมีการจัดคิว การรับเงินเดือนพนักงานชั้นผู้น้อยจะได้รับในวันแรก วันต่อๆ ไปก็เป็นคิวพนักงานที่มีอาวุโสและตำแหน่งสูงขึ้น

เสร็จจากการจ่ายเดือนแล้วก็เป็นคิวของเจ้าหนี้รายอื่น เมื่อทำอย่างนี้บ่อยๆ เข้าก็ไม่มีซัปพลายเออร์รายไหนปล่อยเครดิตให้อีกต่อไป "ถ้าจะซื้อฟิล์มโกดัก บอกให้เขามาส่งเขาไม่มา

เขาบอกว่าหนี้เก่ายังไม่จ่าย เพราะฉะนั้นถ้าต้องการใช้ฟิล์มต้องเอาเงินสดไปซื้อที่ร้านเอง" อดีตผู้ร่วมงานกับเนชั่นในยุคแรกยกตัวอย่างความขัดสนที่เกิดขึ้น สุทธิชัย หยุ่น

จะเริ่มเรียนรู้การทำธุรกิจในภาคปฏิบัติจริงๆ นอกเหนือจากความโชกโชนในงานข่าวก็ในสถานการณ์อย่างนี้แหละ เมื่อต้องวิ่งหมุนเงินมาหล่อเลี้ยงหนังสือ แหล่งเงินนั้นมีทั้งจากสถาบันการเงิน

ซึ่งในระยะต่อมาก็ต้องปฏิเสธลูกหนี้าชรายนี้เพราะไม่เคยจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทั้งจากญาติเพื่อนฝูงและสุดท้ายคือการแลกเช็คในตลาดนอกระบบ ถูลู่ถูกัง ประคับประคองกันมาอย่างนี้ห้าปีเต็มๆ

จนยอดหนี้สินทั้งสถาบันการเงินและเจ้าหนี้การค้ารวมกันแล้วเกือบๆ 40 ล้านบาท ดูกันจากภายนอกก็น่าจะไปได้อยู่ เพราะชื่อ ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้อ่านในระดับหนึ่งแล้ว

แต่ใครจะรู้ดีไปกว่าสุทธิชัย หยุ่น และผองเพื่อนว่าเหน็ดเหนื่อยกันเพียงใด เหนื่อยงานนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาของการทำหนังสือพิมพ์ที่คละเคล้าไปกับความมัน

แต่เหนื่อยใจเพราะต้องแก้ไขสถานการณ์การเงินเฉพาะหน้าอย่างไม่หยุดหย่อนเป็นสิ่งที่ถ้าไม่เจอกับตัวเองก็ไม่มีทางรู้ว่าเป็นอย่างไร ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น เดินมาถึงบทสุดท้ายในเดือนตุลาคม 2519

ในเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่กลางเมืองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม คณะปฏิรูปมีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ฉบับไหนอยากจะเปิดต้องไปขออนุญาตต่อกระทรวงมหาดไทย

สุทธิชัยในตอนนั้นย่างเข้าวัยที่นำหน้าด้วยเลขสามแล้ว ประสบการณ์ห้าปีกับว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น ทำให้เขาเป็นที่ยอมรับในฐานะมืออาชีพ ทั้งในและนอกประเทศ

และยังยืนในความเป็นกลางและความเป็นอิสระของวิชาชีพนี้ แต่ปัญหาการบริหารหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งให้อยู่รอดไปได้นั้น ประสบการณ์ที่ผ่านมา

คงจะทำให้เขาเข้าใจได้ว่าลำพังแค่ฝีไม้ลายมือและความมุ่งมั่นในวิชาชีพเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออย่างแน่นอน หนังสือพิมพ์ไม่ได้เป็นเพียงสื่อในการนำเสนอข่าวสาร

และเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น การทำหนังสือพิมพ์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การหาเงินทุนสักก้อนให้ได้

แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตออกมาตามแนวความคิดและความถนัดของคนทำโดยคาดหวังว่าจะเป็นที่ยอมรับของคนอื่น แต่การทำหนังสือพิมพ์ได้กลายเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง

ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบในการจัดการเฉกเช่นเดียวกับธุรกิจประเภทอื่น!! เมื่อเอ่ยถึงเดอะเนชั่น ในฐานะของหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษใครๆ ก็จะต้องนึกถึงชื่อสุทธิชัย หยุ่น ควบคู่กันไปด้วย

และถ้าพูดถึงเนชั่นในความเป็นกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ชั้นแนวหน้าชื่อสุทธิชัย หยุ่น ก็ยังไม่หายไปไหน แต่จะมีอีกชื่อหนึ่งเคียงอยู่คู่กัน มีไม่กี่คนที่รู้ว่าทำไมจะต้องมีชื่อที่สองนี้ด้วย ในช่วงที่ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น

กำลังตกอยู่ในวังวนของวิกฤติการณ์ทางการเงินซึ่งโหมเข้ามาเป็นระลอกๆ ภาระหน้าที่ทางด้านกองบรรณาธิการหนึ่ง ความไม่จัดเจนในการแก้ปัญหาทางธุรกิจหนึ่ง

ทำให้สุทธิชัยจำเป็นต้องหาคนเข้ามาจัดการกับปัญหานี้ คนที่เขาชวนเข้ามาคือ เชวง จริยะพิสุทธิ์ เพื่อนที่เรียนอัสสัมชัญมาด้วยกันเชวงนั้นรู้จักกับนักเรียนเก่าอัสสัมชัญอีกคนหนึ่งคือ ธนาชัย

ธีระพัฒนวงศ์ ซึ่งเป็นรุ่นน้องของสุทธิชัยหนึ่งปี ธนาชัยเมื่อจบจากอัสสัมชัญใหม่ๆ เริ่มต้นชีวิตการทำงานกับหน่วยจัสแม็คของสหรัฐอเมริกา ทางด้านบัญชี การบริหารบุคคล และงานบริหารทั่วๆ ไป

"มันเป็นอาชีพที่ไม่ถาวร เพราะสงครามเวียดนามมีทีท่าว่ากำลังจะยุติลง" ธนาชัยพูดสั้นๆ ถึงเหตุผลที่ลาออกจากจัสแม็คหลังจากที่อยู่มาได้ 8 ปี ก่อนหน้าที่จะถูกชักชวนจากเชวงให้มาอยู่กับเนชั่นนั้น

ธนาชัยกำลังมองหาลู่ทางที่จะทำธุรกิจของตัวเอง แต่ไปติดขัดอยู่ตรงที่ไม่มีเงินทุนเพียงพอ เมื่อได้รับคำชักชวนจากเชวง

ความเป็นศิษย์เก่าร่วมสถาบันเดียวกันที่เห็นหน้าค่าตามาตั้งแต่ยังนุ่งกางเกงขาสั้นทำให้เขาตัดสินใจมาตามคำชวน ธนาชัยมาอยู่กับ ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2519

โดยที่ยังไม่มีตำแหน่งหน้าที่อย่างเป็นทางการ นอกไปจากการรับรู้แต่เพียงว่า เข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤติการณ์ทางด้านการเงินร่วมกับเชวง ประสบการณ์ทางด้านบัญชีและการบริหารเป็นเวลา 8 ปีที่จัสแม็ค

เกือบจะไม่ช่วยอะไรธนาชัยได้เลยในการเริ่มต้นงานใหม่ ปัญหาทางด้านการเงินที่เรื้อรังมาหลายปี ทำให้เขาไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าวิ่งหมุนเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายวันต่อวัน

"หกเดือนแรกทำอะไรไม่ได้ นอกจากหาเงินมาจ่ายเงินเดือน" หกเดือนแรกของธนาชัยคือหกเดือนสุดท้ายก่อนการปิดฉากของว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น เมื่อปี 2519

ซึ่งหลังจากถูกปิดแล้วต้องหยุดกิจการไปหนึ่งเดือนกว่า ตอนนั้น บริษัทเดอะเนชั่นอยู่ในสภาพที่ไร้เจ้าของไปชั่วขณะ เพราะผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทต่างก็มีความรู้สึกร่วมอยู่อย่างหนึ่งคือ

พอกันทีสำหรับกิจการที่ไม่มีอนาคตอย่างนี้ หลังจากที่ต้องขาดทุนมาหลายปี จังหวะที่หนังสือพิมพ์ถูกปิดจึงเป็นช่วงที่เข้าล็อกพอดีกับการหันหลังให้กับมัน ความหวาดหวั่นว่าจะต้องรับภัยทางการเมือง

หากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อีกเพราะทั้งตัวสุทธิชัยและ ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น ถูกแขวนป้ายให้เป็นคอมมิวนิสต์ ก็เป็นเหตุหนึ่งของการตัดสินใจบอกเลิกสังฆกรรมอย่างไม่ต้องคิดมาก

โครงสร้างผู้ถือหุ้นของเนชั่นในสมัยนั้นค่อนข้างกระจายมาก มีผู้ถือหุ้นเกือบสามร้อยคน ไม่มีใครเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากอย่างแท้จริง

ซึ่งเป็นไปตามเจตนาของสุทธิชัยเองที่ไม่ต้องการให้ใครมีเสียงดังที่สุดเพื่อป้องกันการเข้ามาควบคุมนโยบายการทำงานของกองบรรณาธิการ

เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงจึงไม่มีใครที่จะทุ่มเทให้ความสนใจกับชะตากรรมหลังการถูกปิดของว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น อย่างจริงจัง ไม่สามารถเรียกประชุมผู้ถือหุ้นหรือแม้แต่กรรมการบริษัทได้

"ตอนนั้นประธานบริษัทคือ คุณไพโรจน์ ไชยพร แกก็บอกว่าไม่เอา ไม่ยุ่งแล้ว การเมืองอย่างนี้จะให้ยุ่งกับหนังสือพิมพ์อย่างนี้ได้อย่างไร แกบอกให้หยุดเสีย" สุทธิชัย ย้อนหลังถึงความแคว้งคว้างในครั้งนั้น

มีเพียงสุทธิชัย และ ม.ร.ว.สุนิดา เท่านั้นที่ยืนยันว่าว่าจะทำต่อไป ธรรมนูญ มหาเปารยะ ที่เป็นผู้ก่อตั้งคนหนึ่งนั้นได้เสียชีวิตไปก่อนแล้วด้วยโรคมะเร็งภายหลังการก่อตั้งได้เพียงสองปี

สุทธิชัยชวนเชวงให้ร่วมกันต่อไปได้สำเร็จ ส่วนธนาชัยที่มีทีท่าว่าจะไม่เอาด้วยในตอนแรก ก็เปลี่ยนใจกลับเข้ามาใหม่ "สู้กันด้วยใจอย่างเดียวเท่านั้นจริงๆ" สุทธิชัยบอกว่า "เรามีภารกิจ

เรามีพันธะทางใจที่สำคัญต้องรับผิดชอบคนที่ทำงานมาด้วยกัน" ก่อนหน้านั้นสุทธิชัยเคยไปจดทะเบียนหัวหนังสือพิมพ์อีกหัวหนึ่งในชื่อของ เดอะ เนชั่น รีวิว กับทางสันติบาล

ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นที่จะต้องมีหัวไว้หลายๆ หัวเผื่อไว้ในกรณีที่หัวที่ออกอยู่ถูกปิด จดทะเบียนเอาไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ไปรับมาจากสันติบาล

พอตัดสินใจที่จะทำต่อก็นึกขึ้นได้ว่ายังมีหัวอยู่อีกหัวหนึ่ง "เดอะ เนชั่น ในยุคที่สองจึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในชื่อว่า เดอะ เนชั่น รีวิว โดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดำเนินการในชื่อ บริษัทบิสสิเนส รีวิว จำกัด

มีทุนจดทะเบียนครั้งแรก ห้าแสนบาทเป็นเงินจากพระองค์เจ้าหญิงสุทธสิริโสภาทั้งหมด โดยพระองค์เจ้าหญิงทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทเชวงเป็นกรรมการผู้จัดการ

ธนาชัยเป็นผู้จัดการทั่วไปและสุทธิชัยเป็นบรรณาธิการโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในซอยกิ่งเพชร ที่เป็นสำนักงานเดิมของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เดอะ เนชั่น รีวิว ออกวางตลาดอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 8

พฤศจิกายน 2519 เป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยเงินทุนจดทะเบียนเพียงห้าแสนบาท เดอะ เนชั่นก็ต้องตกอยู่ในวังวนของวิกฤติการณ์เช่นเดิมคือการแก้ปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้า

จะหายใจสะดวกก็เพียงช่วงแรกๆ ซึ่งพระองค์เจ้าหญิงสุทธสิริโสภาทรงประทานเงินกู้ยืมจำนวน 5 ล้านบาทให้ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 12% ต่อปี และมีเงื่อนไขว่าให้ชำระคืนภายในห้าปี

เงินห้าล้านบาทกับการทำหนังสือพิมพ์ที่ต้องใช้เงินทุนสูงมาก เพียงระยะเวลาไม่นานก็หมดลง เดอะเนชั่นต้องแก้ปัญหาด้วยการแลกเช็คในตลาดการเงินนอกระบบด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว

ตอนที่เปิดบริษัทใหม่คือ บิสสิเนสรีวิว ขึ้นมานั้น เท่ากับว่าบริษัทเก่าเจ้าของ ว้อยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น คือบริษัทเดอะเนชั่นต้องปิดไปโดยปริยาย หนี้สินที่มีอยู่หลายสิบล้านบาทนั้น

บางส่วนค้ำประกันโดยกรรมการบางคนเป็นการส่วนตัว กรรมการบางคนนั้นมี ม.ร.ว.สุนิดา และสุทธิชัย ที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทใหม่รวมอยู่ด้วย

ทั้งสองคนนี้ถูกเบล็กลิสต์จากธนาคารเจ้าหนี้แห่งหนึ่งและบอกต่อกันไปอีกหลายๆ ธนาคารไม่ให้กู้ยืมเงินโดยเด็ดขาด จนกว่าจะชำระหนี้ที่ค้ำประกันเอาไว้ก่อน ธนาชัยตระหนักดีว่า

ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้ ก็จะไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นมาได้ เพราะไม่มีเงิน "ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องหมุนเงินไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้" เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"

เจ้าหนี้รายใหญ่ที่เป็นสถาบันการเงินในตอนนั้นคือ "ธนาคารกรุงเทพ" ประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือในตอนแรก เพราะหนี้เก่ายังเคลียร์ไม่หมดธนาชัยต้องเข้าพบกับดำรงค์

กฤษณามระ หาทางแก้ปัญหาโดยยอมทำสัญญาว่าจะรับผิดชอบหนี้ที่สุทธิชัยและ ม.ร.ว.สุนิดาค้ำประกันไว้เอง ขอให้ทางแบงก์กรุงเทพ เอาชื่อทั้งสองคนนี้ออกจากแบล็กลิสต์และให้เครดิตกับทางบริษัท

ทางแบงก์กรุงเทพยินยอมและตกลงปล่อยวงเงินให้กับเดอะ เนชั่น เป็นจำนวนหลายล้านบาท ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายปัญหาทางด้านการเงินลงไปได้ แต่เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นๆ เท่านั้น

และเป็นเพียงปัญหาเดียวในหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกันมา ปัญหาใหญ่ที่สุดในตอนนั้นคือ รายได้ที่เข้ามาน้อย ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการขายตัวหนังสือพิมพ์เอง

หรือรายได้จากโฆษณาซึ่งเป็นรายได้สำคัญของธุรกิจหนังสือพิมพ์ในบ้านเรา เพราะโครงสร้างราคาของหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยนั้นมีลักษณะที่ค่อนข้างจะพิกลอยู่ กล่าวคือ

ราคาขายต่อฉบับต่ำกว่าต้นทุนที่เป็นจริง สืบเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตสูงมากโดยเฉพาะค่ากระดาษ และภาวะการแข่งขันทำให้ต้องยืนราคาไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นเวลาหลายๆ ปี

รายได้จากโฆษณาจึงเป็นตัวที่จะทำให้หนังสือพิมพ์อยู่รอดได้ และรายได้จากโฆษณาก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้อ่านว่าจะมีมากพอที่ผู้ลงโฆษณาจะตัดสินใจลงโฆษณาหรือไม่ ธนาชัยสรุปปัญหาของเดอะ เนชั่น

รีวิว ออกมาได้ว่า เป็นเพราะหนังสือขายได้น้อย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โฆษณาเข้ามาน้อย และการที่หนังสือขายได้น้อยนั้นก็เป็นเพราะว่า หนังสือพิมพ์นั้นไม่ดี ความไม่ดี ไม่มีคุณภาพ

ในความหมายของธนาชัยนั้นนอกเหนือจากคุณภาพกระดาษ คุณภาพในการพิมพ์แล้ว ก็คือ ข่าวที่ เดอะ เนชั่น รีวิว เสนอนั้นไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ธนาชัย

วิเคราะห์จุดนี้บนพื้นฐานแนวคิดแบบนักการจัดการตลาด ที่เน้นการผลิตสินค้า ซึ่งในที่นี้คือหนังสือพิมพ์ตามความต้องการของผู้อ่าน เดอะ เนชั่น รีวิว ในยุคแรกนั้นมีจุดเด่นที่ข่าวในประเทศ

ซึ่งหนักไปในทางข่าวการเมือง แต่จะให้ความสำคัญกับข่าวทางด้านอื่นๆ น้อยเช่น ข่าวต่างประเทศ ข่าวธุรกิจ ข่าวกีฬาน้อย ในขณะที่บางกอกโพสต์จะมีความหลากหลายของข่าวมากกว่า

มีคอลัมน์หลายๆ ประเภท มีแจ้งความประกาศรับคนเข้าทำงาน มีหน้าตารางการเดินเรือ ซึ่งธนาชัยมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความหลากหลายที่มีเสน่ห์ของหนังสือพิมพ์ที่ เดอะ เนชั่น ไม่มี

กลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในประเทศไทยนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นกลุ่มผู้อ่านที่เป็นคนไทยเกือบ 80% ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบัน และกลุ่มผู้อ่านกลุ่มนี้เป็นนักธุรกิจเสียเป็นส่วนใหญ่

เป็นผู้อ่านที่ต้องการทราบความเป็นไป ข่าวสารทางด้านธุรกิจนอกเหนือจากสิ่งที่เกิดขึ้นในทางการเมือง ซึ่ง เดอะ เนชั่น ยังไม่สามารถสนองตอบในจุดนี้ได้ ในความเห็นของธนาชัยแล้ว เดอะ เนชั่น

จะอยู่รอดต่อไปได้นั้นต้องมีการปรับปรุงตัวหนังสือพิมพ์เสียใหม่ กองบรรณาธิการจะต้องทำข่าวที่ผู้อ่านสนใจและต้องการไม่ใช่ทำตามความสนใจและความถนัดของตนเอง

การทำหนังสือพิมพ์ในบ้านเราที่ผ่านมามักจะเริ่มต้นจากการจัดทีมงานกองบรรณาธิการ หางเงินทุนหรือนายทุนมาสักคนแล้วก็เริ่มทำกันไป

พอทุนหมดหรือเกิดความขัดแย้งกับเจ้าของทุนก็ยกทีมออกมาหาทุนใหม่ เริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะเดินกลับไปสู่จุดเดิมอีก ล้มลุกคลุกคลานกันเรื่อยมาอย่างนี้ แต่ไหนแต่ไรมา

กองบรรณาธิการจะมีความสำคัญที่สุดในฐานะผู้ผลิตตัวสินค้าองค์ประกอบด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การจัดจำหน่ายตลอดจนการบริหารภายในมักจะตกเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญรองลงมา

"ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าพอคุณผลิตของได้พอหาทุนมาได้ ก็จะผลิต มันจะต้องมีอะไรมากกว่านั้น ที่จะมาร่วมกันทำให้เกิดความสำเร็จ"

"อะไรมากกว่านั้นที่ธนาชัยพูดถึงคือระบบการบริหารและระบบการตลาด ระบบการบริหารก็คือ การวางแผนการทำงานร่วมกัน การประสานงานกันระหว่างฝ่ายต่างๆ

แต่เดิมมานั้นการทำงานในเดอะเนชั่นจะอยู่ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างทำ ไม่เคยมีการประชุมร่วมกัน แต่ละส่วนงานทำไปตามหน้าที่และความเข้าใจของตัวเอง "มีห้องประชุมห้องหนึ่งซึ่งกว้างพอสมควร

แต่ในห้องนั้นเต็มไปด้วยขี้ฝุ่นและใยแมงมุม เพราะเขาไม่เคยประชุมกันเลย" เป็นสิ่งที่ธนาชัยรู้สึกแปลกเอามากๆ กับการทำงานที่ไม่เคยมีการประชุมกันเลย กว่าจะเปลี่ยนทัศนคติของทุกๆ คน ให้เข้าใจว่า

แต่ละแผนกมีความสำคัญเท่ากันในการที่จะทำให้บริษัทรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ไปได้ ก็ใช้เวลาและความพยายามกันพอสมควร ต่อจากนั้น ธนาชัยก็หันมาจัดการกับปัญหาการขยายตลาดของ เดอะ

เนชั่น เป้าหมายที่แท้จริงของการขยายตลาดสำหรับสินค้าอย่างหนังสือพิมพ์นั้นไม่ได้อยู่ที่รายได้จากการขายดังเช่นสินค้าชนิดอื่นๆ

การขยายจำนวนผู้อ่านเป็นฐานที่สำคัญในการสร้างรายได้จากการลงโฆษณาเท่านั้น หัวใจของการทำธุรกิจหนังสือพิมพ์ไม่ได้อยู่ที่การขายหนังสือ แต่อยู่ที่รายได้จากค่าโฆษณา

"รายได้จากการขายหนังสือของเราในขณะนี้เทียบกับรายได้จากโฆษณาแล้ว โฆษณาทำรายได้มากกว่าสี่ห้าเท่าตัว" ธนาชัยเปิดเผย เพราะราคาขายของหนังสือพิมพ์เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

สาเหตุสำคัญก็คือ ถึงแม้หนังสือพิมพ์จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อนำเสนอข่าวสาร

แต่จำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยยังมีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะทำให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับพิมพ์ออกมาได้ในปริมาณสูงๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อฉบับสูงไปด้วย อีกประการหนึ่งนั้น

วัฒนธรรมในการอ่านของประชาชนในบ้านเรา ยังไม่ได้พัฒนาไปถึงขั้นที่หนังสือพิมพ์กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน จนผู้ทำหนังสือพิมพ์สามารถตั้งราคาตามต้นทุนที่เป็นจริงได้

ราคาขายของหนังสือพิมพ์จึงต่ำกว่าต้นทุนการผลิต แต่ก็ต้องขายให้ได้มากที่สุดยอดขาย จำนวนคนอ่าน ไม่ได้เป็นตัวสร้างรายได้โดยตรง

แต่เป็นสิ่งที่ผู้ลงโฆษณาหรือเอเยนซี่ใช้เป็นตัวตัดสินใจในการลงโฆษณา การจะสร้างรายได้จากโฆษณาจึงจำเป็นต้องมีฐานผู้อ่านที่แน่นหนาและมากมายในระดับหนึ่งเสียก่อน

ดังนั้นสิ่งที่ธนาชัยยึดเป็นหลักการในการปรับปรุงงานด้านการตลาดของเดอะเนชั่น รีวิว ก็คือ "การจัดจำหน่ายต้องนำการโฆษณา" ด้วยเหตุผลว่า "หนังสืออะไรที่ทำมีคนอ่านน้อย โฆษณาน้อย

มีคนอ่านมากโฆษณามาก แล้วคนอ่านแบบไหนโหษณาจะมาแบบนั้น" เปรียบเทียบกันระหว่าง เดอะ เนชั่น รีวิว กับบางกอกโพสต์เมื่อช่วงปี 25192520 แล้ว

ตอนนั้นบางกอกโพสต์เหนือกว่าและพร้อมกว่าในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นทุนรอนชื่อเสียง เครื่องมือ อุปกรณ์และศรัทธาของคนอ่าน ในขณะที่เดอะ เดอะ เนชั่น รีวิว เหมือนกับเริ่มต้นจากศูนย์

กระบวนการกอบกู้ชีวิตของ เดอะ เนชั่น ภายหลังจากสามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้าไปได้แล้ว ปรับระบบการบริหารให้มีการทำงานร่วมกันได้ ก็มาถึงการตลาด

จุดเริ่มแรกคือการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน กลุ่มเป้าหมายที่ เดอะ เนชั่น รีวิว วางเอาไว้นั้นคือกลุ่มธุรกิจ ทั้งที่เป็นเจ้าของกิจการเองและเป็นลูกจ้าง เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีกำลังซื้อมาก

และเป็นกลุ่มที่กำลังขยายตัวออกไปมากขึ้น เมื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว ก็มาถึงวิธีการที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ ถ้าเป็นสินค้าอุปโภค บริโภคชนิดอื่นๆ วิธีที่ใช้ก็คงเป็นการโฆษณา โปรโมชั่น

ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่เดอะ เนชั่น ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะทำอย่างนั้นได้ วิธีการที่ดีที่สุดคือ การขายแบบไดเร็กต์เซลส์ "เราอบรมคนของเรา เอาไปขายให้ได้ถ้าขายไม่ได้กลับมาป้อนข้อมูลว่า

เป็นเพราะอะไร" ธนาชัยเล่าให้ฟังถึงวิธีการในตอนนั้น อีกวิธีหนึ่งคือ การแจกหนังสือพิมพ์ให้อ่านฟรีเป็นเวลาหนึ่งถึงสองอาทิตย์ หลังจากนั้นก็ส่งคนไปติดตามผล

ข้อมูลที่ได้กลับมาจากพนักงานที่ไปขายหนังสือให้กับลูกค้านั้นเป็นสิ่งที่เดอะ เนชั่น รีวิว นำมาใช้ปรับปรุงคณภาพหนังสือพิมพ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้อ่านมากยิ่งขึ้น

โดยการเพิ่มข่าวธุรกิจมากขึ้น มีแจ้งความโฆษณาคลาสสิฟลายมากขึ้น เพิ่มหน้าจาก 12 ขึ้นเป็น 16 หน้า เพื่อเสนอข่าวหลายๆ ด้านให้มีความหลากหลายมากขึ้น "ตอนที่เราเริ่มปรับนั้นราวๆ ปี 2522

ค่อยๆ ปรับเรื่อยมา จนถึงปี 2524" ธนาชัยระบุวัน เวลาที่ เดอะ เนชั่น เริ่มปรับเปลี่ยนโฉมหน้า ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่ทำให้เดอะ เนชั่น มาถึงทุกวันนี้ได้

ยุทธวิธีที่เป็นหัวใจของความสำเร็จในการขยายตลาดของ เดอะ เนชั่น ก็คือการขยายตลาดสมาชิกเป็นหลัก ธนาชัยอ้างว่า "สมาชิกเรามีมากมายมหาศาล จนกระทั่งเวลานี้ เรามีสายส่งเกือบ 300 คน

จำนวนสมาชิกของหนังสือในเครือทั้งหมดมีจำนวนสูงสุด" ความจำเป็นที่ เดอะ เนชั่น หันมาเล่นกับตลาดสมาชิกมากนั้น ก็เพราะว่าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษขายยากกว่าหนังสือพิมพ์ภาษาไทย

คนทั่วไปจะไม่ค่อยอ่านกัน และคนขายตามแผงจะมุ่งไปขายที่หนังสือพิมพ์ภาษาไทยมากกว่า เพราะขายง่าย เดอะ เนชั่น จึงต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุดโดยการใช้ระบบสมาชิก

ข้อดีของการจัดจำหน่ายในระบบสมาชิกอย่างหนึ่งก็คือ มีผู้อ่านที่แน่นอนและถาวร อย่างน้อยก็ตลอดช่วงเวลาของการเป็นสมาชิก ผู้อ่านกลุ่มนี้จะไม่หนีไปไหน และโอกาสที่จะเป็นสมาชิกต่อไปเรื่อยๆ

มีอยู่ถึง 90% จึงเป็นฐานที่สำคัญ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ สมาชิกต้องจ่ายเงินก่อนแล้วค่อยๆ ทยอยรับหนังสือไปจนครบอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากในสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ต้องจ่ายเงินตอนซื้อสินค้านั้นเลย

ระบบสมาชิกทำให้ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์มีเงินก้อนหนึ่งมาเป็นทุน โดยไม่ต้องมีต้นทุนทางด้านดอกเบี้ยเลย จำนวนผู้อ่านที่เป็นสมาชิกของเดอะ เนชั่น นั้นมีอยู่ประมาณ 60% จากยอดจำหน่ายในแต่ละวัน

ซึ่งเดอะ เนชั่นอ้างว่ามีประมาณ 40,000 ฉบับต่อวัน เป็นการขายตามแผง 20% ตามโรงแรม และเอเย่นต์ตั๋วเครื่องบิน 15% ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ 3% ที่เหลืออีก 2%

เป็นส่วนที่แจกเพื่อส่งเสริมการขาย จุดเด่นของเดอะ เนชั่น อีกอย่างหนึ่งก็คือ ใช้กิจกรรมทางการตลาดเข้าช่วยส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ที่ฮือฮามากก็คือการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ในหัวข้อเรื่อง

"เมืองไทยในรอบ 15 ปี" เมื่อปี 2529 ซึ่งเป็นปีครบรอบที่ 15 ของ เดอะ เนชั่น เป็นนิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของเมืองไทยตั้งแต่ ปี 2514

ถึงปี 2529 กิจกรรมอีกประเภทหนึ่งคือ การเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันกีฬาบางประเภทเช่น กอล์ฟ หรือการวิ่งมินิมาราธอน และการเป็นสปอนเซอร์ร่วมกับสินค้าหรือห้างสรรพสินค้าบางแห่ง

จัดรายการชิงโชคในโอกาสสำคัญๆ เป็นกิจกรรมการตลาดที่เป็นไปเพื่อสร้างภาพพจน์และชื่อ เดอะ เนชั่น ให้ติดหูติดตาและเป็นที่รู้จักของคนอ่านมากขึ้น กิจกรรมอีกประเภทหนึ่งคือ

การแจกและแถมสินค้าสมนาคุณสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก ซึ่ง เดอะ เนชั่น เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ใช้วิธีการทางการตลาดแบบนี้ และเป็นวิธีการที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยเพราะของสมนาคุณ เดอะ เนชั่น

ได้มาฟรี โดยแลกเปลี่ยนกับการลงโฆษณาให้กับสินค้านั้น เป็นกิจกรรมการตลาดที่พุ่งเป้าไปที่การขายจำนวนสมาชิกให้มากที่สุด ซึ่งธนาชัยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลเอามากๆ

ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้คือ การปรับปรุงคุณภาพหนังสืออย่างสม่ำเสมอ การจัดจำหน่ายโดยผ่านระบบสมาชิกเป็นหลัก และการสร้างกิจกรรมทางการตลาดอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ เดอะ เนชั่น

สามารถสร้างฐานผู้อ่านได้อย่างน่าพอใจ ตรงจุดนี้เองที่ทำให้เริ่มมีโฆษณามากขึ้น อัตราการเพิ่มของรายได้จากโฆษณาเพียงอย่างเดียว ระหว่างปี 2524 ถึง 2531 ประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ย

และรายได้จากโฆษณานี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เดอะ เนชั่น สามารถพลิกฟื้นฐานะทางการเงินขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว "เราเริ่มมีกำไรตั้งแต่ปี 2524 และกำไรต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้"

เป็นคำกล่าวของธนาชัยกับ "ผู้จัดการ" และตั้งแต่ปี 2527 ก็สามารถล้างยอดการขาดทุนสะสมที่มีมาตั้งแต่แรกได้หมด และกำไรสุทธิของปี 2531 นั้น ข้อมูลที่ยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ

รุบุว่า เนชั่น พับลิซชิ่ง กรุ๊ป มีกำไรสุทธิสูงถึง 44 ล้านบาท สูงที่สุดนับตั้งแต่ดำเนินการมา นอกจากเดอะ เนชั่น รีวิว แล้วยังมีหนังสือพิมพ์และนิตยสารอีกสี่ฉบับที่อยู่ในเครือคือ บิสสิเนส รีวิว

ซึ่งเกิดขึ้นมาราว พ.ศ.2516 เป็นนิตยสารรายปักษ์ภาษาอังกฤษที่เสนอเนื้อหาข่าวทางด้านธุรกิจ อีกเล่มหนึ่งคือ นิตยสารแสนสนุก เป็นนิตยสารท่องเที่ยวภาษาอังกฤษที่ออกมาเดือนละครั้ง

เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เป็นหนังสือแจกฟรีที่แถมไปกับสมาชิกของเดอะ เนชั่น หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงรูปเล่มใหม่เป็นแมกกาซีน พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ต และปรับปรุงเนื้อหาใหม่เมื่อปี 2529

ก็เริ่มมีการขายตามแผงบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วยังเป็นการแจกให้กับสมาชิก และธุรกิจในวงการท่องเที่ยว รายได้ทั้งหมดของแสนสนุกมาจากค่าโฆษณา

เพราะป็นนิตยสารท่องเที่ยวภาษาอังกฤษเล่มเดียวในขณะนี้ และมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนคือ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เดือนตุลาคม ปี 2530 เนชั่น ออกหนังสือพิมพ์ใหม่อีกฉบับหนึ่ง

เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายวัน เสนอข่าวเกี่ยวกับธุรกิจในชื่อว่า กรุงเทพธุรกิจ เพราะทั้งธนาชัยและสุทธิชัย มองว่ายังไม่มีหนังสือพิมพ์อย่างนี้ในตลาด ยังมีช่องว่างอยู่ "ทีแรกใครๆ ก็เป็นห่วงว่า

จะทำได้หรือ เพราะเราเคยชินกับการอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ รายสัปปดาห์มากว่า" สุทธิชัยเปิดเผย

ปัจจุบันกรุงเทพธุรกิจยังคงไปได้ดีนอกเหนือจากการโฆษณาและส่งเสริมการขายกันอย่างขนานใหญ่แล้ว ก็เป็นเพราะคนอ่านเริ่มเกิดความเคยชินกับการอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันด้วย

กลางเดือนพฤษภาคม 2531 เนชั่น ออก เดอะ เนชั่น และกรุงเทพธุรกิจ กรอบบ่ายออกมา "นโยบายของเราในการออกกรอบบ่ายคือการให้บริการแก่สมาชิก

เพราะคนที่เป็นสมาชิกกรอบเช้ารายปีทั้งสองฉบับจะได้กรอบบ่ายอีกโดยไม่ต้องเพิ่มเงิน" สุทธิชัยกล่าว บริษัท บิสสิเนส รีวิว เจ้าของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น รีวิว ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เนชั่น พับลิชชิ่ง

กรุ๊ป เมื่อเดือนมีนาคม 2531 และได้จัดโครงสร้างใหม่โดยการรวมนิตยสารและสิ่งพิมพ์ฉบับอื่นๆ ที่อยู่ในเครือซึ่งเคยแยกออกเป็นบริษัทย่อยๆ เข้ามาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ เนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป

เพียงบริษัทเดียว หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกับ เนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป ก็ได้ยื่นขอเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับอนุมัติให้เป็นบริษัทจดทะเบียนเมื่อเดินมิถุนายน 2531

เหตุผลในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่มีอะไรมากไปกว่า การระดมเงินทุน เพื่อนำมาใช้ในการขยายงาน ซึ่งธุรกิจหนังสือพิมพ์ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และสอง การเข้าตลาดหุ้น

เป็นสถานะหนึ่งในการยกระดับภาพพจน์ของบริษัทให้อยู่ในระดับสากล เพราะด้านหนึ่งมันสะท้อนถึงความมั่นคงในฐานะการดำเนินงาน และอีกด้านหนึ่งก็แสดงออกถึงการพร้อมให้สาธารณชนผู้ซื้อหุ้น

เดอะ เนชั่น เข้าตรวจสอบผลการดำเนินงานได้ เหตุผลทั้ง 2 ประการนี้ให้หลักประกันทั้งด้านเงินทุนดำเนินการและจิตวิทยาของผู้บริโภคในเชิงบวกทั้งสิ้น ที่สำคัญเหนืออื่นใด เดอะ เนชั่น

ได้ก้าวเข้าสู่ระดับเดียวกับโพสต์แล้ว เนื่องด้วยทั้งคู่ต่างเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกัน ทั้งๆ ที่เนชั่นมีประสบการณ์และอายุการรับผลสำเร็จมาน้อยกว่าโพสต์อย่างเทียบกันไม่ได้

เนชั่น เข้าตลาดหุ้นครั้งแรกด้วยเงินทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ส่วนที่นำเข้าตลาดนั้นคือ 30% อีก 70% ของของสุทธิชัยและธนาชัยแบ่งกันคนละครึ่ง สุทธิชัยอธิบายว่า

ที่จำเป็นต้องถือหุ้นส่วนใหญ่ไว้ก็เพื่อไม่ให้ใครเข้ามากำหนดนโยบายทางด้านกองบรรณาธิการได้ เนชั่นมีการเพิ่มทุนครั้งล่าสุด จาก 20 ล้านบาทขึ้นเป็น 100 ล้านบาททีเดียวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

การเพิ่มทุนตรงนี้เพื่อนำเงินไปใช้ในการย้ายที่ทำงานใหม่จากที่ปัจจุบันที่อยู่ที่ซอยแสงจันทร์ ถนนสุขุมวิท ไปยังบริเวณกิโลเมตรที่ 5 ถนนบางนา-ตราดบนเนื้อที่ 10 ไร่

และการลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์กับแท่นพิมพ์เพื่อขยายงานต่อไป ในการเพิ่มทุนครั้งหลังนี้ มีกลุ่มดาวโจนส์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ระดับโลกเจ้าของหนังสือพิมพ์ ดิ วอลสตรีท เจอร์นัล ดิเอเชี่ยน

วอลสตรีท เจอร์นัล และนิตยสารแบรอน เข้ามาถือหุ้นด้วย 3% ก่อนหน้านี้ทั้งเนชั่น และดาวโจนส์ เคยมีความสัมพันธ์ในทางธุรกิจมาก่อน คือเนชั่นเป็นผู้แทนจำหน่าย เอเชี่ยน วอลสตรีท เจอร์นัล

ในประเทศไทย และเป็นตัวแทนโฆษณาจากประเทศไทยในหนังสือที่อยู่ในเครือดาวโจนส์ทั้งหมด ต่อจากนั้นก็มีการคุยกันในเรื่องที่จะพิมพ์ เอเชี่ยน วอลสตรีท เจอร์นัล

ในประเทศไทยนอกเหนือจากที่พิมพ์ในโตเกียวฮ่องกงและสิงคโปร์แล้ว โดยใช้โรงพิมพ์ของเนชั่น และให้เนชั่นเป็นตัวแทนจำหน่ายในภูมิภาคนี้ "ระหว่างที่คุยกันอยู่ เขาก็เสนอว่าไหนๆ

ก็ทำงานร่วมกันหลายอย่าง ก็ขอมีส่วนในด้านหุ้นบ้าง" สุทธิชัยเปิดเผยถึงที่มาของการร่วมทุน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสัญญากันว่า ทางดาวโจนส์ สามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกปีละหนึ่งเปอร์เซ็นต์อีก 5 ปี

แต่ทั้งหมดรวมกันกับหุ้นที่ซื้อไปแล้ว 3% จะต้องไม่เกิน 8% "เขามอบสิทธิในการออกเสียงให้ผมกับคุณธนาชัยด้วย" สุทธิชัยกล่าว

เพื่อแสดงให้เห็นว่าดาวโจนส์นั้นไม่ได้ต้องการเข้ามามีสิทธิมีเสียงในการบริหารงานของชั่นแต่อย่างใด ความเติบโตของเนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป นั้น ในด้านหนึ่ง

เป็นผลมาจากการที่คู่แข่งอย่างบางกอกโพสต์เองก็อยู่ในภาวะที่เรียกว่าเกือบจะหยุดนิ่งมาโดยตลอด บางกอกโพสต์นั้นมีความได้เปรียบกลุ่มเนชั่นอยู่มากไม่ว่าจะเป็นความพร้อมในเรื่องเงินทุน

วิทยาการหรือชื่อ "บางกอกโพสต์" ความแตกต่างประการหนึ่งในแง่โครงสร้างผู้ถือหุ้นระหว่างเนชั่นกับโพสต์ก็คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ๆ ของบางกอกโพสต์นั้นเป็นกลุ่มที่มีธุรกิจอื่นอยู่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ กลุ่มอิตัลไทย ของหมอชัยยุทธ กรรณสูต หรือกลุ่มชำนิ วิศวผลบุญแห่งจีเอสสตีล การเข้ามาถือหุ้นของคนเหล่านี้เป็นการเข้ามาในฐานะนักลงทุนที่หวังรายได้

ผลตอบแทนจากเงินปันผลนอกเหนือไปจากการใช้หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจของตนในบางครั้งบางคราว ในขณะที่ทางฝ่ายเนชั่นนั้น หนึ่งในสองของผู้เป็นหุ้นใหญ่คือ สุทธิชัย

หยุ่น คือนักหนังสือพิมพ์ที่โชกโชน มีความรู้ ความจัดเจนในวิชาชีพนี้เป็นอย่างดี และเชื่อกันว่าวิญญาณของนักหนังสือพิมพ์นั้นย่อมต้องการทำหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นเจ้าของอยู่ให้ดีที่สุด

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งนั้นคือความแตกต่างในด้านโครงสร้างทางการบริหาร คณะกรรมการบริหารของบางกอกโพสต์นั้น ไม่มีตัวบรรณาธิการอยู่ในตำแหน่งด้วย ในขณะที่ทางฝ่ายเนชั่น กรุ๊ป นั้น

สุทธิชัย หยุ่น ซึ่งเป็นบรรณาธิการของ เดอะ เนชั่น เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารด้วย แน่นอนว่าในฐานะหุ้นส่วนใหญ่ เขาย่อมได้เป็นกรรมการแน่ แต่เหตุผลจริงๆ เป็นเพราะว่า

สุทธิชัยนั้นยืนยันว่าธุรกิจหนังสือพิมพ์นั้น สินค้าคือตัวหนังสือพิมพ์ จะต้องมีคุณภาพ

คุณภาพในความหมายนี้คือการมีนโยบายของทางกองบรรณาธิการเองที่เป็นอิสระซึ่งต้องเป็นสิ่งที่ยอมรับกันในคณะกรรมการบริหาร

และการทำหนังสือพิมพ์นั้นเป็นวิชาชีพอย่างหนึ่ง ที่ต้องการคนที่มีความเข้าใจบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ จึงสมควรที่จะมีสิทธิมีเสียงในการกำหนด บริหารนโยบายด้วย

ความแตกต่างประการสุดท้ายนั้นบางกอกโพสต์เป็นหนังสือพิมพ์ที่มาก่อนเนชั่นเกือบ 20 ปี มีกลุ่มผู้อ่านอยู่แล้ว และเชื่อว่า "บางกอกโพสต์" นั้นขายได้

กลุ่มผู้อ่านโพสต์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่อ่านกันมานานแล้ว มีความภักดียี่ห้อมาก และมีภาพพจน์ของความเป็นหนังสือพิมพ์ในระดับสากลมาก ทำให้บางกอกโพสต์ไม่จำเป็นต้องทำอะไรมาก

โดยเฉพาะในด้านการตลาด เป็นที่รู้กันในบรรดาเอเยนซี่โฆษณาว่า ถ้าจะลงโฆษณากับบางกอกโพสต์นั้นจะต้องเป็นฝ่ายวิ่งเข้าไปหาเอง ในขณะที่ฝ่ายเนชั่นนั้นคือผู้มาทีหลังมาด้วยความไม่มีอะไรเลย

จึงต้องขยัน ทำทุกอย่างเพื่อที่จะไล่ บางกอกโพสต์ให้ทัน เมื่อปีที่แล้ว บางกอกโพสต์ได้จ้าง ABC (Audit Bureau of Circulations Limited)

ซึ่งเป็นสถาบันรับรองยอดจำหน่ายสิ่งตีพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกให้ทำการสำรวจยอดจัดจำหน่ายของบางกอกโพสต์ ผลออกมาว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2531 ยอดจำหน่ายของบางกอกโพสต์คือ

33,400 ฉบับต่อวัน และช่วงครึ่งหลังของปีที่ยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการประมาณ 36,00037,000 ฉบับต่อวัน เนชั่นเองอ้างว่ายอดจำหน่ายของเดอะเนชั่น ในขณะนี้ คือ 40,000

ฉบับต่อวัน แต่เป็นตัวเลขที่เนชั่นอ้างเองยังไม่ได้มีการตรวจสอบจาก ABC ทำให้แวดวงเอเยนซี่กะประมาณยอดจำหน่ายของ เดอะ เนชั่น ว่าน่าจะต่ำกว่าที่อ้างครึ่งหนึ่งคือ 20,000 ฉบับต่อวัน

"จากตัวเลขการสำรวจของดีมาร์ในด้านโพสต์นำเนชั่นอยู่ประมาณ 5%" เอเยนซี่รายหนึ่งเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ในด้านการเป็นผู้นำทางด้านการโฆษณานั้น เดือนมกราคม 2532 บางกอก

โพสต์หน้าโฆษณาคิดเป็นความยาวคอลัมน์นิ้วแล้วเท่ากับ 25,500 คอลัมน์นิ้ว ในขณะที่เดอะ เนชั่นมี 14,000 คอลัมน์นิ้ว บางกอกโพสต์มีเนื้อที่โฆษณาประเภทแจ้งความคลาสซิฟายเท่ากับ 37,000

คอลัมน์นิ้วในขณะที่เดอะ เนชั่นมีอยู่ 18,500 นิ้ว นั่นคือ บางกอกโพสต์มีเนื้อที่โฆษณาประเภทดิสเพลย์มากกว่าเดอะ เนชั่น 45% และมากกว่าในประเภทคลาสซิฟาย 50%

แต่ว่าข้อมูลเนื้อที่โฆษณานี้เป็นตัวเลขของทางบางกอกโพสต์แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะทางเดอะ เนชั่น ไม่ได้เปิดเผย และค่าโฆษณาของบางกอกโพสต์นั้นสูงกว่าของเดอะ เนชั่นประมาณ 30%

จากข้อมูลทั้งหมดนี้จึงยังเรียกได้บางกอกโพสต์ก็ยังคงอยู่ในฐานะผู้นำในตลาดหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ เพียงแต่ว่าเดอะ เนชั่น นั้นมาแรงขึ้นทุกที

จนหากว่าบางกอกโพสต์ไม่มีการเตรียมรับมือแล้วฐานะของทั้งสองฉบับในตลาดอาจจะมีการสลับที่กันก็ได้ บางกอกโพสต์เองดูเหมือนจะตระหนักในเรื่องนี้อยู่

และตั้งแต่ปีที่แล้วก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน เดือนสิงหาคม 2531 มีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการคนใหม่ จาก เอียน เจมส์ ฟอว์เซ็ท ซึ่งเกษียณอายุและเลื่อนเป็นที่ปรึกษาของบริษัท

ผู้ที่มาแทนเขาคือ ไนเจล ไอ โอกินส์ ชาวอังกฤษ

ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบางกอกโพสต์นั้นเป็นตำแหน่งบริหารงานวันต่อวันสูงสุด ควบคุมดูแลงานด้านจัดจำหน่ายการตลาด รวมไปถึงมีอำนาจที่เป็นทางการเหนือตัวบรรณาธิการด้วย

โอกินส์นั้นเพิ่งจะอายุครบ 35 ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จบการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจจาก College of London ประเทศอังกฤษ เคยเป็นกรรมการผู้จัดการของ Far East Trade Press Ltd

ที่ฮ่องกง และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาของ International Publishing Co, London และบริหารงานด้านการตลาดของ TIme Publishing ที่สิงคโปร์

ความเป็นคนหนุ่มของโอกินส์และประสบการณ์ในด้านการตลาดของสิ่งพิมพ์ในต่างประเทศ ทำให้เชื่อว่าบางกอกโพสต์กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ กลางเดือนตุลาคม 2531

ที่ประชุมคณะกรรมการบางกอกโพสต์มีมติให้ซื้อที่ดินจำนวน 7 ไร่ ที่คลองเตย เพื่อสร้างสำนักงานและโรงพิมพ์แห่งใหม่ พร้อมกับขยายการผลิตซึ่งโอกินส์บอกว่าทั้งหมดนี้ใช้เงินลุงทุนประมาณ 450

ล้านบาท การโยกย้ายสำนักงานและการขยายกำลังการผลิต โอกินสŒเป"ดเผยว่าเป็นแผนที่จะรองรับการจับมือกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ระดับโลกเพื่อใข้โรงพิมพ์ของบางกอกโพสต์เป็นที่ผลิต

"หนึ่งในนั้นคือ ผู้พิมพ์แมกกาซีนของผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก อีกรายหนึ่งนั้นอาจจะเป็นไฟแนนเชี่ยล ไทม์เปิดเผย ไฟแนนเชี่ยล ไทม์ นั้นเคยเข้ามาติดต่อกับทางเดอะ เนชั่น

พร้อมๆ กับดาวโจนส์แต่ช้าไปหน่อยเดอะ เนชั่น จึงจับมือกับดาวโจนส์ไปเสียก่อน และเมื่อเดือนที่แล้ว

บางกอกโพสต์ก็ได้ประกาศสินค้าใหม่ของตนออกมาซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อนคือหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะออกมาอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมนี้

ก้าวที่สำคัญที่สุดและเรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของบางกอกโพสต์ในระยะเฉพาะหน้านี้ เห็นจะไม่พ้นการปรับปรุงหนังสือพิมพ์ของตนเองอย่างขนานใหญ่ ภายใต้การบริหารงานของบรรณาธิการคนใหม่คือ

ไพศาล ศรีจรัสจรรยา ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนมิถุนายนนี้ ไพศาลจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนหรือไม่ยังไม่มีใครรู้

แต่ถ้าดูจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของบางกอกโพสต์เองในชั่วครึ่งหลังของปีที่แล้ว รวมไปถึงการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารที่จะไม่ต่ออายุการเป็นบรรณาธิการของเท่ห์ จงคดีกิจ

ทำให้เชื่อกันว่าบางกอกโพสต์เองก็กำลังปรับขบวนครั้งใหญ่เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของเนชั่น กรุ๊ป สุทธิชัยและธนาชัยยังคงจะต้องเหนื่อยไปอีกนานเป็นแน่!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us