อัยการหวังดีเอสไอขยายผลคดีเอ็นพาร์คหลังพบเอาผิด 5 ผู้ต้องหาเอกชนไม่ได้ เชื่อกระชากหน้ากากไอ้โม่งบิ๊ก บบส.หมกเม็ดสัญญา เหตุ บบส.ไม่ให้สิทธิ์เอ็นพาร์คซื้อหนี้คืนก่อนรายอื่น อธิบดีดีเอสไอรับลูกทันควันเร่งงานสอบสวนขยายผลหาผู้รับผิดชอบ ข้องใจ บบส.ยอมให้มีการขายทรัพย์ต่ำกว่าราคาประเมิน เผยหากพบมีผู้กระทำความผิดจะเป็นคดีใหญ่ ขอเวลา 2-3 สัปดาห์รู้ผลแน่
หลังจากอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตผู้บริหารของบริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) (N-PARK) และผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 5 คน กรณีกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อบุคคลอื่นอันเป็นการเสียหายแก่ N-PARK โดยได้ส่งสำนวนพร้อมคำสั่งไม่ฟ้องไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นโต้แย้งความเห็นของอัยการหรือไม่นั้น นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อธิบดีอัยการสำนักคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทำความเห็นแย้งของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
นายอรรถพลกล่าวว่า แม้สำนวนคดีที่ก.ล.ต. กล่าวโทษ นายทศพงศ์ จารุทวี อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท แนเชอรัลพาร์ค หรือเอ็นพาร์ค ในข้อหาถ่ายเทผลประโยชน์จากเอ็นพาร์คให้ นางสว่าง มั่นคงเจริญ ตามข้อกล่าวหาที่ระบุว่า เอ็นพาร์คขายบริษัทย่อยในราคาต่ำกว่าทุน มีสิทธิ์ซื้อคืนแล้วไม่ยอมซื้อคืน ทำให้บบส.เสียหายก็ตาม แต่เมื่ออัยการพิจารณาสำนวนแล้ว เห็นว่าในสัญญาของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ยังมีความเคลือบแคลงหลายประการ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามดุลพินิจของข้อกฎหมาย ก็ไม่สามารถเอาผิดเอ็นพาร์คหรือผู้ซื้อ ได้ เพราะสัญญา บบส.ไม่ได้ระบุให้สิทธิ์เอ็นพาร์ค ซื้อคืน ทั้งๆ ที่ในกรณีบริษัทอื่นๆ ภายหลังปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ในสัญญาของ บบส.จะระบุให้สิทธิ์ลูกหนี้ซื้อคืนก่อนรายอื่นเสมอ "อัยการได้ส่งสำนวนสอบสวนไปพร้อมกับหนังสือถึงดีเอสไอ โดยระบุให้ดีเอสไอไปสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีข้อสัญญาของ บบส.ที่ไม่ระบุให้สิทธิ์เอ็นพาร์คซื้อคืนก่อนรายอื่น ทำให้มีการขายทรัพย์ดังกล่าวให้เจ้าหนี้รายอื่น โดยสัญญาดังกล่าวอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์และเปิดช่องให้ บบส.สามารถ ขายทรัพย์ต่ำกว่าราคาประเมิน"
ขณะที่พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวว่า ดีเอสไอได้ทำการแยกสำนวนการสอบสวนออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกประเด็นอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 คนนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาเหตุผลของอัยการที่ลงความเห็นสั่งไม่ฟ้องว่าจะพิจารณาส่งความเห็นแย้งไปยังอัยการหรือไม่
ส่วนที่ 2 คือ ประเด็นที่อัยการสั่งให้ ดีเอสไอสอบสวนขยายผลว่าเหตุใดบบส. จึงยอมให้ขายทรัพย์ต่ำกว่าราคาประเมิน ซึ่งในส่วนนี้ กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน พล.ต.อ.สมบัติยอมรับว่า หากพบมีผู้กระทำความผิด เชื่อว่าจะเป็นคดีใหญ่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวน ประมาณ 2-3 สัปดาห์
นายอรรถพลเชื่อว่าในที่สุดแล้วคงมีไอ้โม่งโผล่มาแน่นอน ซึ่งหากมีผู้กระทำความผิดก็ต้องเข้าข่ายทุจริตได้ ส่วนจะมองว่าฮั้วกันหรือไม่ ต้องมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อว่ามีการดำเนินการร่วมกันหลายคนหรือไม่
ส่วน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานบบส. รับผิดชอบด้วยหรือไม่นั้น นายอรรถพลกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่เชื่อว่าขั้นตอนการทำสัญญาต้องมีผู้บริหารระดับชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน
ย้อนรอย บบส.ยุคหม่อมอุ๋ย
สำหรับคณะกรรมการ บบส. ที่ได้รับการแต่งตั้งวันที่ 2 ธ.ค. 2540 และครบวาระช่วง 3 ปีในวันที่ 1 ธ.ค. 2543 ประกอบด้วย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ตำแหน่งประธานกรรมการ ส่วนกรรมการ ได้แก่ นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์, รศ.นิพันธ์ จิตรประสงค์, ดร.โชคชัย อักษรนันท์, นายวิสุทธิ์ มนตริวัต, นางทัศนา รัชตโพธิ์, นายสุทธิพันธุ์ นิมมานเหมินท์ และนายประภัศร์ ศรีสัตยากุล กรรมการและเลขานุการ และกรรมการผู้จัดการ
ขณะที่คณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2544 และครบวาระวันที่ 15 ม.ค.47 ประธานกรรมการยังคงเป็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แต่ได้ยื่นลาออกก่อนครบวาระเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2546 (วาระที่ครบกำหนด 15 ม.ค.47) ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รศ.นิพันธ์ จิตรประสงค์, นายสุทธิพันธุ์ นิมมานเหมินท์, ดร.โชคชัย อักษรนันท์, ผช.ศ. แน่งน้อย ใจอ่อมน้อม, นายชวลิต นิ่มละออ, นายกฤช ฟอลเล็ต และนายสิน เอกวิศาล นั่งตำแหน่งกรรมการและเลขานุการ และกรรมการผู้จัดการ แทนนายประภัศร์ ศรีสัตยากุล ที่ครบวาระเมื่อ วันที่ 31 พ.ค. 2544
โดยแนวทางของการปรับโครงสร้างหนี้ บบส. ขณะนั้นชี้แจงว่า แบ่งเป็นส่วนของการประนอมหนี้ ทางบบส.ลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับกลุ่มเอ็นพาร์ค ซึ่งประกอบด้วยลูกหนี้ 34 ราย เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2542 โดยมีภาระหนี้เงินต้นคงค้าง (UPB) 11,141.40 ล้านบาท ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ ได้ใช้แนวทางการประนอมหนี้กับลูกหนี้ยึดมาตรฐานเดียวกันทุกราย ไม่เลือกปฏิบัติ คือการพิจารณาตามความสามารถของการชำระหนี้ในเวลาดังกล่าวเป็นหลัก
ทั้งนี้ การชำระหนี้โดยการโอนกรรมสิทธิ์ให้บบส.แบ่งเป็น 1.ทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ต้องการขายตลาด บบส.ให้สิทธิลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดที่ลูกหนี้ยินยอม และ2.ทรัพย์สินที่มีความเป็นไปได้ทางการตลาดน้อย หรือทรัพย์ที่ไม่สามารถพัฒนาเป็นโครงการได้ภายใน 3 ปี รวม 13 แห่ง ส่วนนี้จะโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมาชำระหนี้ให้บบส.ก่อน แต่จะให้สิทธิ์กับลูกหนี้ หรือบุคคลอื่นใดที่ลูกหนี้ยินยอมมาซื้อคืนตามราคาที่ตกลงบวกอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด
|