|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์พาณิชย์ไทย ฉวยจังหวะจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก รุกธุรกรรมด้านการเงิน นำร่องโดย 3 แบงก์ใหญ่ "ไทยพาณิชย์" ประกาศจับมือ "China Exim Bank" หวังต่อยอดธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศ ขณะที่แบงก์กรุงเทพ เปิดสาขาปักกิ่งเพิ่ม ตั้งเป้าขยายสินเชื่อ 4 พันล้านบาท ส่วน "กสิกรไทย" เตรียมเจรจาธนาคารท้องถิ่นลุยปล่อยกู้ธุรกิจเอสเอ็มอี
สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก หลังจากที่ได้มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก เพราะเล็งเห็นว่าจีนยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก จึงเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้าไปในประเทศจีนรวมถึงนักธุรกิจในประเทศไทยด้วย
ขณะที่ภาคการเงินของไทย ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เองก็ได้ขยายธุรกรรมทางด้านการเงินในประเทศจีนเช่นเดียวกัน โดยล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศเข้าไปทำธุรกิจอย่างเป็นทางการ ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ก็มีแผนที่จะร่วมกับสถาบันการเงินของจีนทำธุรกรรมด้านการเงินเช่นเดียวกัน
นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงรูปแบบการเข้าไปดำเนินธุรกรรมการเงินของธนาคารพาณิชย์ในประเทศจีน ว่ามีอยู่ 3 รูปแบบหลัก คือ การเปิดสาขาในประเทศจีน ซึ่งธนาคารกรุงเทพยึดรูปแบบนี้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน และได้ผลดีในอดีตที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันรูปแบบดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผลดีมากนัก เพราะการเปิดสาขาสามารถทำธุรกรรมขนาดใหญ่ๆ ไม่ได้สร้างผลกำไรกลับคืนมาได้น้อย
รูปแบบที่ 2 การเข้าไปซื้อกิจการของธนาคารในประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเริ่มนิยมหันมาใช้รูปแบบนี้ เพราะสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าการเปิดสาขา แต่ขณะนี้ยังติดปัญหาข้อกำหนดของทางการจีนที่กำหนดให้ต่างชาติ ถือหุ้นได้ไม่เกิน 20% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยไม่สามารถใช้วิธีการนี้ได้ เพราะยังมีขนาดเล็กอยู่เมื่อเทียบกับธนาคารอื่น
รูปแบบสุดท้าย การสร้างความสัมพันธ์กับธนาคารในประเทศจีนเพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจ ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์เองได้ใช้รูปแบบดังกล่าว ด้วยการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (The Export-Import Bank of China)
"แบงก์กรุงเทพเข้ามาทำธุรกิจในจีนนานแล้ว และมีสาขารวมถึง 4 แห่ง หากไทยพาณิชย์จะใช้รูปแบบเดียวกันก็คงจะช้า หรือเดินตามหลังแบงก์กรุงเทพ ดังนั้นธนาคารจึงต้องใช้แนวทางการสร้างความสัมพันธ์กับแบงก์จีน ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ดีและเหมาะสมกับธนาคาร"
นายวิชิตกล่าวว่า ขณะนี้จีนเป็นเป้าหมายของธุรกิจการค้าและการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้การขยายธุรกิจเข้าไปในจีนทวีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างมาก ธนาคารจึงร่วมมือกับ China Exim Bank เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทย-จีนอย่างเป็นทางการ อาทิ การจัดหาและระดมเงินทุน-สินเชื่อสกุลเงินบาท-หยวนให้กับโครงการร่วมทุน แผนการลงทุนของเอกชนในธุรกิจอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลของ 2 ประเทศ ให้การสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เหมืองแร่ ก่อสร้าง ฯลฯ
"นักลงทุนจีนต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะที่นักลงทุนไทยเองก็ต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศจีน ดังนั้นธนาคารทั้ง 2 แห่ง จะทำหน้าที่ประสานงานทั้งด้านเงินทุนและสินเชื่อ รวมถึงธุรกรรมด้านการเงินอื่นๆ เพื่อสนับสนุนนักลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ ให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้คาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้ จะเห็นจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น"
นายหยาง จือหลิน ประธานธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (The Export-Import Bank of China) กล่าวว่า China Exim Bank ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากหลังจากก่อตั้งขึ้น โดยมีหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ 1. การส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกสินค้าไฮเทค จากปี 2536 ก่อนก่อตั้งที่มียอดส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 27% เพิ่มขึ้นเป็น 56% ในปี 2547
ประการที่ 2. ผลักดันให้เกิดการแข่งขันเพื่อส่งออก ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่อ่อนแอทางการเงิน เพื่อส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศนั้น โดยขณะนี้ China Exim Bank ปล่อยสินเชื่อกระจายอยู่ 128 ประเทศทั่วโลก
ประการสุดท้าย สนับสนุนผู้ประกอบการจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อกระจายสินค้าจีนออกสู่ตลาดโลก ด้วยการสนับสนุนบริษัทจีน หรือเข้าไปร่วมทุนดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ
นายหยาง กล่าวว่า China Exim Bank มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนธุรกิจในทุกๆ ด้าน เพราะขณะนี้มีฐานเงินทุนใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินประเภทเดียวกัน และคาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้ จะสามารถแซงขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 โดยอันดับแรก ณ ขณะนี้คือ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าสหรัฐฯ ตามลำดับ
"China Exim Bank ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นพิเศษ ทั้งด้านการลงทุนและการเงิน แต่ที่ผ่านมาโครงการยังไม่ใหญ่พอ แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันถือว่ามีความสำคัญมาก และขณะนี้จีนสนใจธุรกิจใหญ่ๆ ในไทยหลายโครงการ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเกิดขึ้น"
สำหรับธนาคารกรุงเทพนั้น ล่าสุดได้เปิดสาขาที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ตั้งเป้าระยะเวลา 3 เดือน จะปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากมีฐานลูกค้าจำนวนมาก และปี 2549 จะปล่อยสินเชื่อใหม่ 12,000 ล้านบาท สิ้นปียอดสินเชื่อจะอยู่ที่ประมาณ 16,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่ 3 สาขาสามารถทำกำไรสุทธิได้ 1-1.5% ของกำไรทั้งหมดของ ธนาคารหรือประมาณ 120-180 ล้านบาท
ขณะที่นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารอยู่ในระหว่างการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ในจีนเพื่อที่จะขยายช่องทางธุรกรรมทางการเงินด้านการปล่อยสินเชื่อในประเทศจีน โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากมีสัดส่วนสูงกว่า 80% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบของประเทศจีน
|
|
|
|
|