การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นประวัติการณ์ในโลก กำลังสร้างระเบียบเศรษฐกิจสังคมและการเมืองแบบใหม่ขึ้นมา การพังทะลายของลัทธิคอมมิวนิสต์และการบุกตลาดที่เสรียิ่งขึ้น ของประเทศในโลกที่กำลังพัฒนา กำลังผลักดันให้หน่วยธุรกิจทั้งหลาย ขวนขวายที่จะทำการค้าและ ไปลงทุนในนานาประเทศทั่วโลกกันมากขึ้น การปฏิวัติสารสนเทศกำลังสร้างข้อต่อที่ทรงพลังที่จะเชื่อมโยงชาติ บริษัท และประชาชนเชื้อชาติต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ระดับการศึกษาที่ดีขึ้น กำลังสร้างชนชั้นกลางของโลกขึ้นมา คนชั้นกลางเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหน ก็จะมีแนวคิดคล้ายคลึงกันในเรื่องความเป็นพลเมือง มีความคิดที่คล้ายกัน ในเรื่องความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ และมองสิทธิมนุษยชนในลักษณะเดียวกัน
ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ในไทเป วิศวกรหนุ่มคนหนึ่งกำลังทำงานออกแบบระบบโทรศัพท์ระบบดิจิทัลที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมไม่แพ้ผลงานชิ้นที่ดีที่สุดของวิศวกรในสหรัฐหรือยุโรป ชาวจีน ในไต้หวันคนนี้ อาศัยอินเทอร์เน็ตในการติดต่อกับคนเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดในสหรัฐ
ในจีนแผ่นดินใหญ่ ตอนเหนือของเมืองเทียนจิน ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างเป็นพายุบุแคม คนงานประกอบรถยนต์คนหนึ่งกำลังตั้งอกตั้งใจอ่านเอกสารเกี่ยวกับวิธีการจำนองซื้อคอนโดมิเนียมทันสมัยในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
ที่เม็กซิโกซิตี้ หนุ่มสาววัยทำงานคู่หนึ่งหอบเงินออมของตนไปลงทุนกับกองทุนรวมกองทุนหนึ่งด้วยความหวังว่า จะอาศัยรายได้จากกองทุนนี้เพื่อส่งเสียลูกสองคนที่กล่าวมานี้ คือหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการปฏิวัติครั้งใหม่ มันคือการปฏิวัติทุนนิยมที่จะส่งแรงผลักดันเศรษฐกิจของโลกให้ปรากฏ เป็นโฉมใหม่ในศตวรรษที่ 21
การปฏิวัตินี้ ดำเนินอยู่แล้วในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งในเอเชียส่วนที่เป็นคอมมิวนิสต์ และประเทศเผด็จการในลาติน อเมริกา โภคทรัพย์ที่เหลือเฟือกำลังดึงคนนับล้าน ๆ ขึ้นมาจากความยากจน ทำให้คนมากมายได้มีโอกาสซื้อสินค้า ที่เคยเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสุดเอื้อมนานาชนิดได้เป็นครั้งแรก ไมว่าจะเป็นรถยนต์ คอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นวีดีทัศน์ ขณะเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อก็ตามมาติด ๆ
การเมืองโลกก็กำลังเข้าสู่ยุคใหม่เช่นกัน ประชาธิปไตยที่กำกับด้วยรัฐธรรมนูญ กำลังแผ่อิทธิพลไปทั่วยุโรปกลาง รัสเซีย ลาตินอเมริกา เกาหลีและไต้หวัน ความคิดต่าง ๆที่ส่งผ่านไปทางการออกอากาศ แพร่ภาพผ่านดาวเทียม เครื่องโทรสารและศูนย์การติดต่อสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต กำลังงัดข้ออยู่กับรัฐบาลประเทศที่กวดขันควบคุมประชากรของตนอย่างเคร่งครัดที่สุด
ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะความตายของระบอบคอมมิวนิสต์ นานาชาติส่วนใหญ่ เหลือทางเลือกอยู่เพียงทางเดียว นั่นคือการเข้าร่วมดำเนินแนวเศรษฐกิจแบบตลาดไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง
การปฏิวัตที่กำลังเกิดขึ้นในระดับโลกขณะนี้ มิใช่มีเพียงการปฏิวัติทุนนิยม หากยังมีการปฏิวัติด้านสารสนเทศด้วย ในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลนี้ ผู้คนทั่วโลกกำลังเคลื่อนย้ายจากเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมมาสู่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมในจำนวนที่มากอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
อุปกรณ์อีเล็คทรอนิคส์ที่มีราคาถูกลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะแพร่กระจายออกไปถึงทุกแง่มุมของชีวิตทางด้านเศรษฐกิจด้วยความรวดเร็วยิ่งกว่าที่จะจินตนาการไปถึงได้ความก้าวหน้าในด้านการสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เชื่อมโยงให้ของคนทั่วโลกติดต่อถึงกันได้ แล้วการปฏิวัติสารสนเทศก็จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กำลังสร้างโอกาสใหม่ในการทำกำไร เงินนับแสน ๆ ล้านจากตะวันตก กำลังหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ
ในยุคใหม่นี้ บริษัทต่าง ๆ จะบีบบังคับให้ลูกจ้างต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ฝ่ายผู้บริหารของบริษัท ก็ทำหน้าที่วางแนวทางในการจัดองค์กรในระดับโลก หน่วยธุรกิจทั้งหลายมีแนวโน้มที่จะหาพันธมิตรและหุ้นส่วนอยู่ตลอดเวลา เพราะจำเป็นต้องแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และตลาด รวมทั้งจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็ว
ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ นักวิชาชีพที่มีทักษะก้าวหน้าจะเป็นที่ต้องการมาก การเคลื่อนย้ายทุนไปทั่วโลกแลกเปลี่ยนกลยุทธ์และการสร้างวัฒนธรรมผู้บริโภคทั่วโลกจะเกิดขึ้นด้วยฝีมือของเทคโนแครตชั้นหัวกระทิ ซึ่งจะมีคนที่มิใช่คนในซีกโลกตะวันตกเข้ามาสมทบเข้าพวกด้วยมากขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ดี จะมีคนอีกนับร้อย ๆ ล้านที่ไม่ได้ประโยชน์จากระเบียบเศรษฐกิจแบบใหม่ ผู้ที่จะตกกระแสประวัติศาสตร์นี้ ก็ได้แก่ชาวรัสเซียรุ่นเก่าที่ว่างงาน ชาวอินเดียที่อพยพย้ายถิ่นและคนขี้คร้านรุ่นใหม่ของยุโรปและสหรัฐ ถึงลัทธิทุนนิยมจะนำเอาความมั่งคั่งมาให้ แต่การแบ่งปันโภคทรัพย์นั้น มิได้เป็นไปอย่างเสมอภาคทั่วถึง เมื่อถึง เวลาลัทธิทุนนิยมจะต้องสร้างนวัตกรรมแปลกใหม่ที่จะดับความไม่พอใจในเรื่องนี้ให้ได้
ระเบียบที่สถาปนาไว้อย่างมั่นคงแล้ว ย่อมจะถูกโค่นล้มลงจนได้สักวันหนึ่ง ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ความคิดใหม่ในด้านการจัดองค์กร และวิธีคิดแบบใหม่ ๆ ทำให้เศรษฐกิจต้องเปลี่ยนแปลงไปภายในระยะเวลาไม่กี่สิบปี ระหว่างทศวรรษที่ 1760 ถึง 1830 เครื่องจักรไอน้ำ โรงทอผ้า และศิลปวิทยาการ ได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น ช่วงปี ค.ศ. 1880 ถึง 1930 เป็นยุคที่สร้างขึ้นมาจากพลังงานไฟฟ้า การผลิตแบบแมสและประชาธิปไตย
ตอนก่อนจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นี้ ลางที่บอกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญยิ่ง ปรากฎอยู่รอบตัวเรา นายทุนชาวจีน ผู้ประกอบการชาวรัสเซีย ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลาของอาฟริกาใต้ อัตราเงินเฟ้อ 7% ในอาร์เจนติน่า การติดต่อเชื่อมโยงทางอินเทอร์เน็ตที่ขยายตัวออกไปเดือนละ 15% ใยแสงส่งข้อมูลวินาทีละ 40 ล้านบิต ผู้คนทุกระดับชั้น นับตั้งแต่จอมเผด็จการไปจนถึงคนงานที่สายพานงานประกอบชิ้นส่วนไร้ทักษะ ดูจะตระหนักถึงพลังที่สำแดงเดชอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นประวัติการณ์ในโลก กำลังสร้างระเบียบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองแบบใหม่ขึ้นมา การพังทะลายของลัทธิคอมมิวนิสต์และการบุกตลาดที่เสรียิ่งขึ้น ของประเทศในโลกที่กำลังพัฒนา กำลังผลักดันให้หน่วยธุรกิจทั้งหลาย ขวนขวายที่จะทำการค้าและ ไปลงทุนในนานาประเทศทั่วกันมากขึ้น การปฏิวัติสารสนเทศกำลังสร้างข้อต่อที่ทรงพลังที่จะเชื่อมโยงชาติ บริษัท และประชาชนเชื้อชาติต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ระดับการศึกษาที่ดีขึ้นกำลังสร้าง ชนชั้นกลางของโลกขึ้นมา คนชั้นกลางเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหน ก็จะมีแนวคิดคล้ายคลึงกันในเรื่องความเป็นพลเมือง มีความคิดที่คล้ายกันในเรื่องความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ และมองสิทธิมนุษย์ชนในลักษณะเดียวกัน
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติทุนนิยมที่เกิดขึ้นมาเองในขณะนี้ คือความคิดที่ทรงพลังเกี่ยวกับความเปิดกว้าง รัฐบาลทั่วทุกหนทุกแห่งกำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแนวเสรีนิยม บริษัทข้ามชาติทั้งหลาย กำลังเร่งการแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ข้ามพรมแดนที่เปิดกว้าง นักลงทุนทั่วโลก กำลังกดดันบริษัททุกหนทุกแห่งให้เปิดเผยฐานะของตน ในขณะที่ประชากรก็เรียกร้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่กว้างขวางยิ่งขึ้น
ผลตอบแทนของความเปิดกว้างดังกล่าวนี้ ปรากฏออกมาให้เห็นกันอยู่แล้ว ความเติบโตของประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชียระหว่างปี 1985 ถึง 1990 มีอัตราถัวเฉลี่ยต่อปีสูงจนน่าเวียนศีรษะ ถึง 7.8% ในประเทศจีน คนที่ดำรงชีวิตอยู่ในระดับที่ถือว่ายากจน ลดลงจาก 33% ในปี 1970 เหลือเพียง 10% ในปี 1990 ประเทศทางแถบลาตินอเมริกาที่มัวอืดอาดเชื่องช้าในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 เริ่มมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตรา 3% มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 เศรษฐกิจที่ยอบแยบทรวดเซของยุโรปตะวันออก ดูจะพร้อมที่จะสร้างความเติบโตในอัตรา 4 ถึง 6% ในช่วงเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ แม้ประเทศในเขตกึ่งทะเลทรายในอาฟริกาที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ก็ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีผู้ให้ความสนใจที่จะไปลงทุนกัน
รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนากำลังเพียรพยายามกดระดับเงินเฟ้อให้ต่ำเข้าไว้ พร้อม ๆ กับเร่งทำการค้ากับโลกภายนอกและส่งเสริมการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ ในทศวรรษที่ 1990 ประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุด 16 ประเทศ ได้ลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ส่วนประเทศที่ควบคุมการปริวรรตเงินตราอย่างเข้มงวด และตั้งกำแพงขวางทุนเอกชนจากต่างชาติ ต่างก็ประสบกับปัญหาความยุ่งยากทางเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ พอล โรเมอร์ นักเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์-เนีย ที่เบิร์คลีย์กล่าวว่า “ชาติที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ได้หันเหนโยบายไปจากแนวการพึ่งตนเองและการตั้งตนเป็นอริกับโลกภายนอกอย่างเก่า และมองเห็นว่าการเชื่อมโยง (กับโลกภายนอก) ให้เร็ว ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นประโยชน์แก่ตน”
ยิ่งกว่านั้น ไม้วัดปกติก็อาจจะนำมาใช้ประเมิน ลู่ทางของความมั่งคั่งไพบูลย์ของโลกได้ไม่ถูกต้อง เพราะจะได้ค่าต่ำเกินไป ในทศวรรษภายหลังจากการปฏิวัติของบอลเชวิค ในปี ค.ศ. 1917 และ การสิ้นสุดของลัทธิอาณานิคม ในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ความเพียรพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งเน้นที่การวางแผนส่วนกลาง และการลงทุนที่รัฐบาลเป็นผู้นำเสียเป็นส่วนใหญ่ คนที่เก่งที่สุดและปราชญ์เปรื่องที่สุด นับตั้งแต่ในบราซิลไปจนจรดสหภาพโซเวียต ต่างก็จะเข้าไปทำงานเป็นข้าราชการทหาร และสถาบันทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตตอนที่พี.ที. โบเออร์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ล่วงลับได้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยของอินเดียกว่าสิบแห่ง ในปี ค.ศ. 1970 เขาได้พบว่าบรรดาอาจารย์และนักศึกษาที่นั่นต่างเชื่อว่า การวางแผนจากศูนย์กลางเป็นสิ่งจำเป็นต่อการยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ปัญหามีอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นว่า จะใช้แบบอย่างเพื่อการพัฒนาของโซเวียตหรือของจีนดี
ปัจจุบันนี้ ดุลยอำนาจได้เคลื่อนย้ายไปแล้วอย่างเด็ดขาด จากนักวางแผนของรัฐบาลไปสู่ตลาด เมื่อตลาดใหญ่และกฎหมายปล่อยให้คนสร้างบริษัทและเก็บกำไรเอาไว้เอง พลเมืองที่มีความสามารถก็หันไปเป็นผู้ประกอบการและผู้สร้างโภคทรัพย์กันมากขึ้น งานวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจแบบต่าง ๆ ของโลก ของนักเศรษฐศาสตร์ 3 คน คืออันเดร ชไลเฟอร์, เควิน เมอร์ฟี และโรเบิร์ต วิชนี ประเมินไว้ว่า หากว่านักศึกษามหาวิทยาลัย เข้าเรียนในสาขาวิศวกรรมเพิ่มขึ้น 10% อัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้นปีละ 0.5% “สิ่งที่ครั้งหนึ่งเรียกขานกันว่า ประเทศในโลกที่สามกำลังพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีอัตราความเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่าที่จะเป็นไปได้ตามแบบแผนเก่า” โดนัลด์ เอ็น. แม็คคลอสกี นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไอโอวา กล่าว
ช่วงระยะเวลาที่ยาวนานทำให้ความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ระหว่างปี 1870 ถึงปี 1990 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ถัวเฉลี่ยต่อคน ต่อปีในสหรัฐ เพิ่มขึ้นปีละ 1.75% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในโลก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 2,224 ดอลลาร์ เป็น 18,258 ดอลลาร์ ถ้าหากว่าอัตราความเติบโตของอเมริกันน้อยลงเพียงเปอร์เซ็นต์เดียว เหลือ 0.75% จีดีพีถัวเฉลี่ยต่อประชากร 1 คน ใน 1 ปี ในปี 1990 จะมีค่าเท่ากับ 5,519 ดอลลาร์ หรือพอ ๆ กับของเม็กซิโกและฮังการี (โรเบิร์ต เจ. บาร์โร. มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด)
ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ การค้าที่เสรียิ่งขึ้นในโลกจะกระตุ้นความเติบโตด้วยการเปิด โอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น ๆ การค้ายังส่งเสริมการแพร่กระจายเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเทคนิคในการผลิตด้วย บริษัทเจเนรัล อีเล็คทริค โค. กำลังทุ่มเงินนับเป็นสิบ ๆ ล้านดอลลาร์ ลงไปกับการสร้างโรงงานและโรงไฟฟ้าในประเทศเม็กซิโกและอินเดีย บริษัท ไมโครซอฟต์มีรายได้กว่า 50% จากการค้าระหว่างประเทศ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ กำลังเร่งเครื่องลุยเข้าไปในเอเชีย อาคเนย์ เช่นเดียวกับที่โฟล์คสวาเกน กำลังวิ่งเข้าไปในจีน
แน่นอน การปฏิวัติล้วนแต่สร้างความปั่นป่วนโกลาหลด้วยกันทั้งนั้น ลัทธิทุนนิยม ชนิดที่ยังล้าหลังในดินแดนที่กว้างใหญ่ของประเทศอดีตสหภาพโซเวียต เรื่อยไปจนถึงป่าอเมซอนในบราซิล มีลักษณะที่โหดร้ายและบ่อยครั้งทีเดียวที่เป็นอาชญากรรม ในประเทศกำลังพัฒนามากมาย มีสลัมและโรงงานที่ใช้คนงานอย่างทารุณอยู่ดกดื่น กลายเป็นดินแดนของความทุกข์ยากขมขื่นเหมือนอย่างในนิยายของชาร์ลส์ ดิกเค่นส์ และเต็มไปด้วยความตึงเครียดทางสังคมและการเมือง ความเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศจีนและที่อื่น ๆ ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างน่าเป็นห่วง การคอร์รัปชั่นและระบบราชการที่แข็งกร้าว ขาดความคล่องตัว ฝังตัวลงอย่างมั่นคง ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ก็ระเบิดรุนแรงขึ้นมา
กระนั้น ผลกระทบจาการรวมตัวกันในระดับโลก ที่มีต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ ยังสูงจนน่าตกใจ ตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมานี้ในขณะที่พรมแดนของชาติมีความสำคัญลดลง จังหวะก้าวในการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็เร่งเร็วขึ้น อังกฤษจำต้องใช้เวลาเกือบ 60 ปี ในการเพิ่มผลผลิตถัวเฉลี่ยต่อประชากร 1 คนขึ้นอีกเท่าตัว โดยเริ่มมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1780 ญี่ปุ่นใช้เวลา 34 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ในทศวรรษที่ 1880 และเกาหลีใต้ ใช้เวลาเพียง 11 ปี หลังจากปี 1966 เป็นต้นมา “ตอนเปลี่ยนศตวรรษนี้ อัตราความเติบโตที่สูงลิ่วนั้น อยู่ในระดับปีละ 4% แต่มาเดี๋ยวนี้ มันหมายถึงระดับเกิน 10% เสียอีก” (เจฟฟรีย์ ดี. ซาคส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) ศาสตราจารย์จากสถาบันธุรกิจอีกคนหนึ่งเสริมว่า “มีกระบวนการหนึ่งกำลังดำเนินอยู่เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชากรส่วนใหญ่ของโลกร่ำรวยมั่งคั่ง และมั่งคั่งยิ่งกว่าในปัจจุบันนี้มากมาย ได้ภายในชั่วคนเดียว” (เฮนรี เอส. โรแวน, มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด)
ดูอย่างเช่นสามภูมิภาคของโลก ที่ซึ่งกำลังเปิดให้เอกชนประกอบธุรกิจกันได้อย่างเสรี อันได้แก่เอเชียเกือบทั้งทวีป รวมทั้งอินเดียและจีน เม็กซิโกและส่วนต่าง ๆ ในลาตินอเมริกา ตลอดจนบรรดาประเทศในยุโรปตะวันออกหลายประเทศ บริเวณเหล่านี้ มีประชากรโลกอาศัยอยู่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และมีจีดีพีประมาณ 20% ของจีดีพีของชาติอุตสาหกรรม หากว่าสามภูมิภาคนี้มีอัตราความเติบโตถัวเฉลี่ยปีละ 8% ซึ่งน้อยกว่าความเติบโตของสี่เสือแห่งเอเชียตะวันออก (อันได้แก่ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์และฮ่องกง) ในทศวรรษที่ 1980 ประเทศเหล่านี้ก็จะมีส่วนในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจแก่โลกได้มาก พอ ๆ กับบรรดาชาติอุตสาหกรรม ภายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศรวมทั้งไต้หวัน และเกาหลี ก็จะเข้ามาอยู่ในพวกกลุ่มชาติที่มั่งคั่ง “เพราะอัตราความเติบโตของตลาดในประเทศพัฒนามีอัตรา สูงยิ่งกว่าในโลกที่พัฒนาแล้วเรากำลังจะได้มองเห็นการเข้ามาบรรจบกันแล้ว” (กิลส์ คีตติ้ง, ซีเอส เฟิร์ส บอสตัน, ลอนดอน)
ความล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการพึ่งพาอาศัยกันทั่วโลก ก็คืออัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลง จริงอยู่ ราคาสินค้าอุตสาหกรรมจะสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีอุปสงค์ใหม่จากเขตเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเข้ามาสมทบ แต่การแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างชาติ ต่าง ๆ จะกำกับอุปสงค์ของค่าจ้างให้อยู่ในระดับพอประมาณ และกดดันผู้ผลิตภายในประเทศ มิให้ขึ้นราคาสินค้าจนสูงมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นไปได้ว่า ที่ยิ่งมีความสำคัญกว่านั้น ก็คือ แนวปฏิบัติตามนโยบายของธนาคารกลางทั้งหลาย ซึ่งเป็นตัวเล่นที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากที่สุดในเวทีโลก ธนาคารกลางหรือธนาคารชาติเหล่านี้ ล้วนมีอุดมการณ์ต่อต้านเงินเฟ้อคล้าย ๆ กัน
แหล่งผู้มีฝีมือ แต่การณ์กับตาละปัตรเป็นว่า ในช่วงเวลาที่ดูจะมีลู่ทางสำหรับความมั่งคั่งไพบูลย์ทั่วโลกมากยิ่งกว่าสมัยใดมานั้น โลกอุตสาหกรรมกลับดูจะประสบปัญหาที่น่าวิตก เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เคยกระโดดโลดเต้นอย่างคึกคักแน่นิ่งลงไป อัตราการว่างงานในยุโรป สูงถึง 11% ขณะเดียวกัน บริษัทข้ามชาติของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ก็เร่งการใช้จ่ายในการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ “พลเมืองธรรมดาสามัญ ในประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าที่สุด จะเกิดความสับสนและหวาดผวากับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเขา” (ริชาร์ด ลิปซีย์, สถาบันวิจัยแอดวานซ์ รีเสิร์ช ของแคนาดา)
และยังจะมีอีกมากมายที่จะตามมา นับตั้งแต่ยุโรปตะวันออกไปจนถึงเอเชีย จรดลาติน อเมริกา ประเทศต่าง ๆ มากมายกำลังกระตือรือร้นที่จะแข่งขันกันด้วยแรงงานค่าจ้างถูกที่มีอยู่เหลือเฟือ การแข่งขันในเวทีนานาชาติทวีสูงขึ้น พร้อม ๆ กับที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าแรงรายชั่วโมงสำหรับคนที่เรียนไม่จบระดับมัธยมในสหรัฐ ตกลงถึง 22.5% ในช่วงระหว่างปี 1973 ถึง 1993 เวลาที่ผู้ผลิตเยอรมันมองหาที่สร้างโรงงานใหม่ ก็มักจะมองไปยังที่อื่นนอกประเทศ ซึ่งต่างอย่างเห็นได้ชัดจากในอดีต เพราะถึงอย่างไรค่าจ้างรายชั่วโมงของคนงานอุตสาหกรรมเยอรมันก็สูงกว่าไต้หวันถึง 4.5 เท่า สูงกว่าคนงานเม็กซิโก 9 เท่า และสูงกว่าอัตราจ้างแรงงานรัสเซียถึง 54 เท่าตัว
แต่สิ่งสำคัญมิใช่เพียงแค่แรงงานราคาถูก การแข่งขันกันผลิตสินค้าคุณภาพสูงและบริการที่ซับซ้อนซึ่งชาติอุตสาหกรรมครองความเป็นใหญ่มาแต่เดิม กำลังดำเนินไปด้วยความเร่าร้อนดุเดือดยิ่งขึ้น นครใหญ่ ๆ อย่างสิงคโปร์ ปีนังและไทเป เป็นถิ่นที่มีผู้มีความสามารถในด้านวิศวกรรมเป็นเลิศ อินเดียมีคนงานที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์อยู่นับล้าน ๆ ยุโรปตอนกลางเกลื่อน ไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ที่ปราชญ์เปรื่อง และเมื่อบริษัท ฮิวเลต-แพ็คการ์ด เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นในกัวดาลาจาราเมื่อสามปีก่อน มันก็เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า ยุคไฮ-เทคของเม็กซิโกได้มาถึงแล้ว
ในโลกอุตสาหกรรม การประท้วงต่อต้านการแข่งขันกำลังเริ่มมีเสียงดังขึ้น ๆ และเริ่มจะมีลักษณะหยาบคายมีการเรียกร้องให้ห้ามคนต่างชาติอพยพเข้ามา ให้ห้ามการสั่งเข้าแรงงานราคาถูกจากประเทศจีนและฮังการี ให้อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของเราเอาไว้ ประธานกรรมการบริหารของบริษัทวาณิชธนกิจใหญ่ของฝรั่งเศส Compagnie Financiere de Paribas แสดงความหงุดหงิดว่า เสียงประท้วงเหล่านี้มีทีท่าว่าเหมือนกับจะพูดว่า “ปิดพรมแดนเสีย และขอให้เราอยู่อย่างผาสุกตามลำพัง”
กระนั้น หากว่าผู้วางนโยบายยอมตาม มันก็สามารถจะชักนำไปสู่หายนะทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ อย่างน้อยบทเรียนในประวัติศาสตร์ก็สอนเอาไว้เช่นนั้น ช่วงเวลาระหว่างปี 1870 ถึง 1913 ก็คล้ายกับช่วงนี้ คือเป็นช่วงเวลาของการไหลของทุนระหว่างชาติ ในปี ค.ศ. 1913 ส่วนหุ้นของหลักทรัพย์ต่างชาติที่ค้าขายในลอนดอน มีอยู่ 59% ของหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ขายอยู่ และเมื่อถึงปี 1919 มูลค่าหุ้นของการลงทุนโดยตรงในต่างชาติ ก็มีค่าโดยประเมินสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์ หรือหนึ่งในสามของการลงทุนทั้งหมดในโลก คนประมาณ 36 ล้านคน เดินทางออกไปจากยุโรป สองในสามของจำนวนนี้ ย้ายถิ่นไปอยู่สหรัฐ และยังมีคนจีน และอินเดียจำนวนมากยิ่งกว่านี้อีก ที่เดินทางไปยังพม่า อินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ การค้าทวีสูงขึ้น นวัตกรรมในด้านเทคโนโลยีเฟื่องฟูขึ้น ความเติบโตทางเศรษฐกิจพุ่งพรวดกระนั้น นโยบายกีดกันเพื่อนบ้านที่ยากจน ก็ยังสิ้นสุดลงด้วยการกลายเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดสงครามโลกขึ้น 2 ครั้ง และเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งมโหฬารขึ้นมา
ทุกวันนี้ การพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจระหว่างชาติ กำลังก่อให้เกิดความบาดหมางขัดแย้งกันมากมายอีกครั้งหนึ่ง ชาติต่าง ๆ เจรจากันอย่างขมขื่นกับเรื่องมลภาวะข้ามพรมแดน สิทธิในด้านทรัพย์สินทางปัญญาและมาตรฐานของสถานที่ทำงานที่แตกต่างกัน ที่ยิ่งร้ายไปกว่านั้นก็คือ สงครามอันโหดเหี้ยมในคูเวต บอลข่าน อังโกล่าและจุดร้อนแรงอื่น ๆ การสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารและการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียและที่อื่น ๆ เปิดหนทางให้กับเพลิงสังหารที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความก้าวหน้าในเรื่องดินแดน-การเมือง ในตะวันออกกลางและในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและรัสเซีย การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมิใช่เกมรวมเลข ศูนย์การค้าทั่วโลกขยายตัวขึ้นปีละกว่า 6% นับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา และรวดเร็วยิ่งกว่าความเติบโตของจีดีพีของโลกกว่า 50 % จำนวนชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในชาติทุนนิยม กำลังบัญชาให้ต้องมีเคหสถาน ถนนหนทาง ระบบประปา โทรศัพท์ที่ดีขึ้น รวมทั้งต้องมีสินค้าอุปโภคบริโภคมากยิ่งขึ้นด้วย อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น จะสร้างตลาดที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการทำกำไรให้กับทุกคน ซึ่งรวมถึงชาติอุตสาหกรรม “พลังของการรวมตัวเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีอิทธิพลยิ่งกว่าในสมัย ปลายศตวรรษที่ 19 มาก” (เดวิด เฮล, เคมเปอร์ ไฟแนนเชียล คอส)
เพราะการปฏิวัติด้านสารสนเทศเป็นสำคัญ บริษัทต่าง ๆ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอุตสาหกรรม จึงยังจะมีข้อได้เปรียบอย่างน่าเกรงขาม จากความเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก “เทค-โนโลยีสารสนเทศ เป็นพลังที่ทรงอิทธิพลที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในการสร้างประสิทธิภาพของทุน” (จอห์น เอส เมโย, ห้องแล็บเบลส์ บริษัทเอทีแอนด์ที) ชาติอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ เป็นผู้หนุนอยู่เบื้องหลังให้อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูขึ้น และกำลังสร้างเครือข่ายใยแสงที่กว้างขวาง รวมทั้ง เครือข่ายบริการใหม่ของทางหลวงสารสนเทศ อินฟอร์เมชันซูเปอร์ไฮเวย์ โลกอุตสาหกรรม กำลัง วางมาตรฐานที่สูงสำหรับคุณภาพและความยืดหยุ่นในการผลิต เพื่อผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ และตลาดทุนที่มั่งคั่งของมัน ก็กำลังเสนอให้ทรัพยากรที่มีอยู่เหลือเฟือเพื่ออุดหนุนธุรกิจใหม่ ๆ หรือยกเครื่องธุรกิจเก่า ๆ
ชนชั้นที่มั่งคั่ง แน่นอนว่า แกนของตลาดที่เชื่อมอยู่กับผลตอบแทนในอัตราสูง จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น บางหน่วยธุรกิจทำนองนี้จะประสบกับความตกต่ำอย่างรุนแรง แต่บ้างก็จะกระโจนนำหน้าไป ดูได้ง่าย ๆ จากรายได้สุทธิของบริษัทไอบีเอ็ม บริษัทนี้มีรายได้ 6,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 1984 แต่กลับมาขาดทุนเกือบ 9,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1993 ตลาดหุ้นของประเทศกำลังพัฒนามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยถัวเฉลี่ย 20% ในปี 1994 เมื่อพิจารณาในรูปของเงินสกุลดอลลาร์ ทว่าผลตอบแทนที่ตระการตานี้ ยังมีความถดถอยซ่อนอยู่เบื้องหลังด้วย อย่างเช่นตลาดตุรกีที่ทรุดลงไป 50% จีน 48% และอิสราเอล กว่า 30% ความเสี่ยงที่น่าหวาดเสียวเช่นนี้ กำลังส่งเสริมบริษัทข้ามชาติมากมายของสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป ให้เชื่อมสัมพันธ์กับหุ้นส่วนต่างชาติ เพื่อขยายตัวให้กว้างขวางออกไปในโลก และลดความเสี่ยงในการลงทุนไปด้วยพร้อม ๆ กัน บริษัท เอทีแอนด์ที กำลังสร้างพันธมิตรอย่างกว้างขวางกับบริษัทโทรคมนาคมมากมายในยุโรป และ มิตซูบิชิ ก็มีความสัมพันธ์ในเชิงร่วมมือกับบริษัทเดมเลอร์ เบนซ์ ความเป็นพันธมิตรมีอยู่ทั่วไปในอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนสูง และอาศัยความรู้เป็นพื้นฐาน อย่างเช่นเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีชีวะ “ผู้คนจะทำงานใกล้ชิดกันยิ่งกว่าแต่ก่อน” (พอล เอ. แอลแลร์ บริษัทซีร็อกซ์)
ผู้บริโภคที่จะซื้อผลิตภัณฑ์และบริการ จะมีไม่ขาดลัทธิทุนนิยมโลกกำลังสร้างชนชั้น ที่มั่งคั่งในนานาประเทศ เป็นพวกนักวิชาชีพชาวกรุงที่ทำงานอย่างสะดวกสบาย ให้กับบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนิวยอร์ค โตเกียว หรือบัวโนสแอเรส คนนับล้าน ๆ ในเอเชีย ลาตินอเมริกาและที่อื่น ๆ เขยิบฐานะขึ้นมาอยู่ในพวกชนชั้นกลาง เช่นเดียวกับในสหรัฐหรือญี่ปุ่น ชนชั้นกลางในชาติทุนนิยมที่กำลังรุ่ง ต่างเพิ่มมาตรฐานการครองชีพของตนด้วยการซื้อสินค้าที่เป็นตัววัตถุในโฮจิมินห์ ซิตี้ ประเทศเวียดนาม มีดีลเลอร์ของโตโยต้าอยู่ถึง 3 ราย ที่ตั้งอยู่ห่างกันไม่กี่ไมล์ และห้างขายเมอร์ซีเดส ก็กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
ผู้บริโภคกำลังเรียกร้องบริการที่ดีขึ้นอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีข้างหน้านี้ ประเทศที่ยากจนจะใช้เงินนับล้านล้านดอลลาร์ไปกับการสร้างถนนใหม่ ๆ ระบบระบายน้ำ ระบบโทรศัพท์ การศึกษาและสิ่งปลูกสร้างกับอุปกรณ์ในด้านการบำรุงดูแลสุขภาพ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมานี้ ครัวเรือนที่เข้าถึงน้ำสะอาด มีเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งและการผลิตพลังงาน และอัตราสายโทรศัพท์ต่อประชากรต่อปีในชาติที่กำลังพัฒนา ได้เพิ่มขึ้นไปแล้วเท่าตัว กระนั้น คนอีก 1,000 ล้านคนก็ยังขาดน้ำสะอาด ไฟฟ้ายังไปไม่ถึงคนอีก 2,000 ล้านคนและความต้องการเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัย ก็ยังมีสูงกว่าอุปทาน (ธนาคารโลก) หลาย ๆ ประเทศกำลังโอนระบบโครงสร้างถาวรสำหรับการสื่อสาร คมนาคม ฯลฯ ไปให้เอกชนดำเนินการเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพระหว่างปี 1988 ถึง 1992 มูลค่าการโอนให้เอกชนในประเทศกำลังพัฒนา 25 ประเทศ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 61,000 ล้านดอลลาร์ และการลงทุนกับโครงสร้างถาวร ก็สามารถเร่งการก้าวกระโดดให้กับกิจกรรมด้านระบบเศรษฐกิจได้
เห็นได้ชัดว่า การรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วโลก มีมาพร้อมกับคุณประโยชน์มหาศาล ขณะเดียวกัน คนที่มองการณ์ในด้านร้าย ที่ประกาศถึงความตกต่ำของโลกอุตสาหกรรมก็มักจะเถียงว่า การเข้ามาบรรจบกันของทั้งโลกนั้นคือการบีบให้แคบชิดลงต่างหาก แม้ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ความไม่เสมอภาคระหว่างชาติที่มั่งคั่งและยากจน ก็ยังมากเสียจนต้องใช้เวลานับสิบ ๆ ปี จึงจะหมดไป ช่องว่างเรื่องค่าจ้างระหว่างคนงานในการผลิต ในประเทศที่มั่งคั่งกับประเทศที่ยากจน ยังคงสะท้อนถึงความแตกต่างด้านทักษะและอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา ริชาร์ด บี. ฟรีแมน นักเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า คนงานเม็กซิกันประมาณ 43% ผ่านการศึกษาในโรงเรียนมาไม่ถึง 6 ปี ในขณะที่คนงานผลิตของอเมริกันในกลุ่มนี้ มีเพียง 3%
ทั้งเศรษฐกิจก็มิได้เติบโตเป็นเส้นตรงด้วย ที่ชายแดนของลัทธิทุนนิยม รวมทั้งในประเทศที่เคยรวมอยู่ในอดีต สหภาพโซเวียตและประเทศจีน มีวงจรที่ชั่วร้ายของการปฏิรูปและความถดถอย ที่คงจะมีวนเวียนเป็นวัฏจักรต่อไปอีกหลายสิบปี ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาประชากรในชาติที่กำลังพัฒนามากมาย จะยิ่งเลวร้ายลง ผู้วางนโยบายทั่วโลกยังกังวลว่าแรงบีบ ทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจโลก ที่แก่งแย่งแข่งขัน จะจุดชนวนให้เกิด “สงครามวัฒนธรรม” ขึ้น อาทิ ระหว่างศาสนาฮินดูกับอิสลาม ค่านิยมแบบขงจื๊อกับค่านิยมแบบตะวันตก “แนวที่ผิดพลาดระหว่างอารยธรรมต่าง ๆ จะเป็นแนวรบสำหรับอนาคต” (ซามูเอล พี. ฮันทิงตัน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด)
หลักเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน ความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีฝังรากลึก ลัทธิทุนนิยมญี่ปุ่นสมัยใหม่ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในการสร้างองค์การขนาดใหญ่ ๆ ในขณะที่ลัทธิทุนนิยม อเมริกัน สร้างอุตสาหกรรมใหม่หมดได้ดีกว่า (พีเทอร์ เบอร์เกอร์, สถาบันเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยบอสตัน) ทุนนิยมจีนแตกต่างจากทุนนิยมฝรั่งเศสมาก กระนั้น แง่มุมที่เด่นของลัทธิทุนนิยม ก็คือความสามารถของพลเมืองจากทั่วโลก ในอันที่จะทำความตกลงกันได้ นายทุนญี่ปุ่น อเมริกัน ฝรั่งเศส จีนและรัสเซีย สามารถแข่งขัน เจรจา สร้างพันธมิตรและขายหลักทรัพย์ให้กันได้ โดยมีเป้าหมายและหลักเหตุผลอย่างเดียวกัน (โรเบิร์ต ฮีลโบรเนอร์)
ลัทธิทุนนิยมมีชัยชนะแล้ว เพราะมันต่างจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่มีขอบเขตตายตัว และสามารถปรับตัวได้ในศตวรรษที่ 21 จะมีลัทธิทุนนิยมวิวัฒนาการขึ้นมาอีกหลายแบบ
นับตั้งแต่ที่การปฏิวัติอุตสาหกรมได้เริ่มขึ้น มาตรที่ใช้วัดความก้าวหน้าของชาติอุตสาห-กรรมที่ทันสมัย ก็คือปริมาณโภคทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น หากเมื่อมาถึงยุคใหม่ ชัยชนะของความคิดเสรีนิยมของชนชั้นกลาง นับตั้งแต่เรื่องการค้าเสรีไปจนถึงแนวคิดประชาธิปไตย ประกอบกับการแพร่กระจายของนวัตกรรมในด้านเทคโนโลยี น่าจะปรับปรุงมาตฐานการครองชีพให้สูงขึ้นทั่วโลก ทำให้คนส่วนใหญ่ ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มั่งคั่งขึ้น
|