หลังจากประกาศ "ถอยมาตั้งหลัก" เพราะมีการขยายงานไปอย่างไร้ทิศทางเมื่อปลายปี
2538 มาวันนี้ สนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศชัด จะสร้าง Multi-media Information
Superhighway ประสาน 3 ธุรกิจเข้าด้วยกัน โดยมีแกนนำอยู่ที่การสร้างดาวเทียมเพื่อการแพร่ภาพและกระจายเสียงหรือ
Broadcasting Satelite เป้าหมายตลาดของเขาคือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยใช้การระดมทุนจากโลกตะวันตกทั้งหมด
วันนี้ "Mr.Globalization กำลังทำให้คนทั้งโลกเห็นว่าเขาคือคนเอเชียยุคใหม่ที่ลุกขึ้นสู้กับโลกตะวันตก
โดยใช้อาวุธเช่นเดียวกันคือสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ DTH ธันวาคม 2540 เป็นกำหนดการยิงดาวเทียม
L-Star1 นับจากนี้ไป จับตา สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ชนะ!
ครั้งหนึ่งแจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ หยิบนิตยสาร "ผู้จัดการ" ขึ้นมาวางเบื้องหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร
"บิสซิเนส คอมพิวเตอร์ แมกะซีน" พลางกล่าวว่า "ผมไม่ชอบหนังสือผู้จัดการ
แต่หากคุณจะทำหนังสือ คุณก็ควรทำให้ได้อย่างหนังสือเล่มนี้"
นี่มิใช่คำบอกเล่าที่เกินเลย แจ๊คมีธุรกิจส่วนตัวคือบริษัทคือบริษัท แอดวานซ์
รีเสิร์ช ซึ่งเป็นเจ้าของบิสซิเนส คอมพิวเตอร์ แมกะซีน (ต่อมาใช้ชื่อให้กะทัดรัดขึ้นว่า
BCM) ในยุคนั้น พลากร จิรโสภณ รับหน้าที่บรรณาธิการบริหาร, สมชัย จิว หัวหน้ากองบรรณาธิการ
ส่วน "ผู้จัดการ" ของสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นนิตยสารที่มีเนื้อหาเจาะลึก การนำเสนอเร้าใจ
คำพูดของแจ๊คสามารถกระชับความให้รัดกุมได้ว่า สำหรับ "ผู้จัดการ" เขา "ชื่นชมแต่ไม่ชอบ"
ชีวิตของสนธิ ก็เป็นไปในทำนองนี้
การเป็นคนเจ้าความคิดซึ่งแสดงออกด้วยถ้อยคำอัครฐาน ถึงอกถึงใจ มีการกระทำที่ล้ำยุคล้ำสมัย
ทำให้เขาคุ้นเคยพอควรกับภาวะถูก "ชื่นชมแต่ไม่ชอบ"
ความกล้าริเริ่ม ตั้งแต่การออกนิตยสารผู้จัดการเมื่อพ.ศ.2525 เรื่อยมาจนถึงการประกาศตนเป็นชาวเอเชียคนแรกที่กล้าทำสิ่งพิมพ์สู้กับโลกตะวันตก
ตลอดจนการคิดยิงดาวเทียม L-Star ในปลายปี 2540 ทำให้ชีวิตของสนธิไม่ว่าจะอยู่ในชุดสูทสง่างามสักเพียงใด
ท่วงท่ายิ่งยงสักแค่ไหน ก็ดูเหมือนนักกายกรรมผาดโผน ไต่เส้นด้ายแห่งชีวิตอย่างน่าหวาดเสียวมาโดยตลอด
ทั้งที่บางครั้ง เมื่ออายุมากขึ้น เขาก็นั่งรำพึงถึงชีวิตอยู่อย่างสงบเงียบ
ไม่ต่างจากจอมยุทธ์ผู้อยากวาดชีวิตด้วยสีขาว
"อุปมาอุปไมยเหมือนวัยรุ่นเที่ยวเตร่มาก ผมผ่านมาหมดแล้วทุกอย่างในชีวิตจนกระทั่งสรุปได้ว่า
สัจธรรมของชีวิตก็คือความไม่แน่นอน" สนธิกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
"ความปรารถนาของผมเริ่มลดลงแต่ความทะเยอทะยานยังมีอยู่ ต้องการให้คนไทยและคนเอเชียสามารถยืนอยู่ในโลกนี้อย่างสง่าผ่าเผย
โดยที่ไม่โดนโลกตะวันตกดูถูก อยากให้โลกเห็นฝีไม้ลายมือของคนไทย เช่น คุณชาญ
อัศวโชค แห่งอัลฟาเทค"
ชาญถูกสื่อมวลชนตะวันตก เรียกว่า "มร.ชิป" เขาประกอบอุตสาหกรรมผลิตชิปหรือไมโครโปรเซสเซอร์
ในขณะที่สนธิถูกเรียกว่า "มร.โกลบอลไลเซชั่น" สร้างเนื้อสร้างตัวจากการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์
ก่อนขยายไปสู่โทรคมนาคม บรอดคาสติ้ง และมีเดีย
ความเหมือนกันของสนธิกับชาญคือทำธุรกิจโดยอาศัยลำแข้งของตนเอง ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
และมิได้รับการค้ำจุนจากภาครัฐ สู่ยุคเหมือนจะแพ้
5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจของสนธิภายใต้โฮลดิ้งคอมปานีที่ชื่อว่า เดอะเอ็ม
กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขยายตัวไปหลายด้านรวดเร็วเหมือนประกายไฟไหม้ลามทุ่ง
เป้าหมายอยู่ที่การเป็นกิจการระดับภูมิภาคหรือ Regional Company ทำให้สนธิมีธุรกิจที่น่าสนใจอยู่มากมาย
ทั้งสิ่งพิมพ์ระดับภูมิภาค เช่น นิตยสารเอเชีย อิงค์ (Asia Inc.) หนังสือเอเชีย
ไทมส์ (Asia Times) การเป็นผู้ร่วมให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบพีซีเอ็น
1800 ในนามบริษัทไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส ตลอดจนการตั้งบริษัทลาวสตาร์
เริ่มโครงการดาวเทียมแอล-สตาร์ เพื่อดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหรือทีวี
ไดเร็กต์ ทู โฮม (DTH)
การขยายงานอย่างไร้ทิศทาง การพยากรณ์ธุรกิจผิดพลาดในบางส่วน ความล้มเหลวในด้านการบริหารต้นทุน
ประกอบกับสภาพธุรกิจตกต่ำ ทำให้สนธิต้องทำการปรับโครงสร้าง (restructure)
องค์กรเสียใหม่ โดยการตัดทิ้งธุรกิจที่ขาดทุน ลดพนักงานที่ล้นเกิน
โดยเฉพาะในส่วนสิ่งพิมพ์ภายใต้บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
หรือ MGR ซึ่งปรากฏว่ามีการขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก ในงบสิ้นปี 2538 นั้น
MGR มีการขาดทุนถึง 347.1 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงานและการขาดทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้มีการปรับตัวโดยการตัดขายเงินลงทุนในบางกิจการออกและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
รวมถึงการจ้างพนักงานออกด้วย
ในรอบสองปีที่ผ่านมา สนธิยุบหนังสือหลายเล่ม เช่น สปอร์ตเอ็กซ์เพรส, ผู้จัดการพร็อพเพอร์ตี้,
หุ้นไทยรายสัปดาห์ และไฟแนนเชียลเดย์ ตลอดจนมีการลดพนักงานของทั้งกลุ่มประมาณ
200 คน โดยการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายและเพิ่มให้อีกหนึ่งเดือน
มันเป็นการปรับตัวทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะแต่ที่ผู้จัดการเท่านั้น
สนธิให้คำอธิบายในเรื่องนี้ว่า ในประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของโลกนั้นมักจะต้องผ่านพ้นช่วงวิกฤติกันมาแทบทุกฉบับ
ไม่ว่าจะเป็น ไฟแนนเชียลไทมส์, นิวยอร์กไทมส์ ซึ่งจะเกิดวิกฤติในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมนั้นๆ
สำหรับ MGR นั้น สนธิเปิดเผยว่า "คาดว่าในสิ้นปี 2539 คงจะมีกำไรนิดหน่อย
ซึ่งได้มาจากการขายหนังสือบางชุดออกไป ในส่วนของการดำเนินการจริงๆ นั้น เรายังไม่ได้กำไร
อย่างไรก็ดีผมคิดว่าเรามีการปรับปรุงซึ่งจะเห็นผลได้ชัดจริงๆ เพราะเราสามารถลดยอดการขาดทุนไปได้หลายจุด
เราหยุดทำอะไรหลายอย่างที่ไม่ควรจะทำแต่ต้นไปแล้ว ตลอดจนเราได้จัดระเบียบของการแยกแยะบัญชีขึ้นมา
อะไรก็ตามที่มันไม่มีอนาคต หรือมีอนาคตแต่ต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี เราจะยุบหมด"
ทั้งนี้ งบกำไรขาดทุนของ MGR เมื่อสิ้นปี 2539 ปรากฏว่าบริษัทมีผลขาดทุนลดลงเหลือ
186.1 ล้านบาท
สนธิยังมีแนวโน้มที่ไม่หยุดนิ่งในเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพราะเขายึดหลักที่ว่า
"การเปลี่ยนแปลงไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเคล็ดลับในยุคนี้คือความไม่แน่นอน ผมไม่อยากพูดคำนี้เพราะผมเกลียดมันมากแต่ผมค้นพบว่ามันเป็นความน่ากลัวมากในยุคโลกานุวัตร
เราจึงต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา"
การลดขนาดองค์กรทางธุรกิจของกลุ่มผู้จัดการลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นการเตรียมพร้อมที่สำคัญ
เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับยุทธศาสตร์ที่ไม่มีการหยุดนิ่ง เมื่อยุทธศาสตร์ไม่หยุดการเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อให้เข้ากับยุทธศาสตร์ใหม่จึงไม่หยุด
เขาอธิบายว่า "นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เราจำเป็นต้องทำกำลังเราให้เล็กและแข็งแรง
ไม่มีไขมัน เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์แล้ว การเปลี่ยนแปลงในองค์กรก็จะถูกกระทบน้อยที่สุด
เพราะเราผอมอยู่แล้ว เราพร้อมที่จะปรับตัวไปด้านอื่นได้ทันที จุดที่ยากที่สุดคือทำอย่างไรจะให้คนในองค์กรมีความพร้อมในเรื่องนี้"
นั่นเป็นจุดที่ทำให้คนไม่ค่อยได้เห็นภาพรวมของกลุมผู้จัดการชัดเท่าภาพที่เกิดขึ้นในเบื้องหน้า
คือการจ้างพนักงานออก ทั้งที่ในหลายองค์กรนั้นไม่ได้ใช้วิธีนี้ อย่างไรก็ดี
การที่ผู้จัดการตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่คนหนังสือพิมพ์ด้วยกันตลอดก็เพราะ
"ความเป็นสนธิ" ที่ได้รับการ "ชื่นชมแต่ไม่ชอบ"
ยุทธศาสตร์เอ็มกรุ๊ป แผนระดับโลก
เอ็มกรุ๊ป เป็นกิจการในลักษณะโฮลดิ้งคอมปานี มีการลทุนทางธุรกิจใน 3 กลุ่มใหญ่คือ
1) โทรคมนาคมและเทคโนโลยี 2) มีเดียและบรอดคาสติ้ง 3) อุตสาหกรรมการพิมพ์
ต่อไปกิจการในแต่ละกลุ่มที่จะมีบริษัทในลักษณะโฮลดิ้งคอมปานีของตนเอง โดยอยู่ภายใต้ร่มธงของเอ็มกรุ๊ป
แต่ละกลุ่มธุรกิจจะต้องหาพาร์ตเนอร์ร่วมลงทุน เพื่อขยายธุรกิจและดำเนินการระดมทุนโดยการออกพันธบัตรและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งเขาเล็งไปที่ตลาด Nasdaq ในสหรัฐฯ เป็นอันดับแรก
ในกลุ่มของมีเดียฯ นั้น เขามีโครงการจะออกตราสารหนี้ (debt instrument)
และการใช้ส่วนของทุน (equity) ที่ตลาด Nasdaq ด้วย โดยคาดว่าจะระดมเงินประมาณ
100-200 ล้านเหรียญ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์นั้นก็ตั้งเป้าระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้และการใช้ส่วนของทุนเช่นกันในวงเงินประมาณ
100-150 ล้านเหรียญ
สนธิมองว่า กลุ่มธุรกิจของเขาเป็นกลุ่มภูมิภาค ในช่วงของการเริ่มต้นกิจการเช่นนี้
เขาจะระดมทุนจากประเทศในโลกตะวันตก ซึ่งนักลงทุนมีความเข้าใจในกิจการของเขาดี
แต่ตลาดผู้บริโภคหลักของเขา แม้จะครอบคลุมไปทั่วโลก แต่กลุ่มที่เน้นคือย่านเอเชีย-แปซิฟิก
แม้ในเวลานี้กิจการที่ก่อให้เกิดรายได้หลักยังคงเป็นกลุ่มที่ 2 และ 3 แต่ในอนาคตเมื่อมีการดำเนินการด้านการตลาดของกิจการดาวเทียมได้สำเร็จ
นั่นคือแหล่งรายได้สำคัญของกลุ่ม
"กลุ่มของเราเป็นกิจการระดับภูมิภาคไม่ใช่ระดับชาติ จะเห็นได้ว่าในพอร์ตการลงทุนของแต่ละกลุ่มจะเป็นธุรกิจในไทยไม่เกิน
30% เช่นในกกลุ่มสิ่งพิมพ์ มีผู้จัดการรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีเอเชียไทมส์,
เอเชียอิงค์, A&M, และเทรดพับลิเคชั่นที่สิงคโปร์ รวมถึงบัชแม็กกาซีน
(BUZZ) ที่ลอสแองเจลิสด้วย"
ความหมายของสนธิคือเมื่อธุรกิจมีเดียประสานเข้ากับบรอดคาสติ้ง ก็จะเป็นผลดีในเชิงการตลาด
และเป็นแพ็กเกจนี้สามารถระดมทุนจากตลาดนอกประเทศได้เพื่อมาทำรีไฟแนนซ์เงินกู้ต่างๆ
ที่มีอยู่ ขณะเดียวกันสนธิประกาศว่าพร้อมที่จะถอนหุ้นของตนเอง "ผมไม่แคร์ว่าจะถือสัก
40% ผมก็โอเค และผมเชื่อว่าด้วยวิธีนี้ตลาดเมืองนอกน่าจะดีต่อไปอีกสัก 2-3
ปีในขณะที่ตลาดเมืองไทยอาจจะซบเซาต่ออีก 2-3 ปี ผมค่อนข้างจะถือว่าเรามีโชคในคราวเคราะห์หลังจากที่เราเหน็ดเหนื่อยเรื่องการปรับองค์กรมาแล้ว"
ต้องถือว่าสายตาของเขากวาดไปทั่วโลกจริงๆ!
แพ็กเกจที่เขาสร้างขึ้นนั้นเกื้อหนุนธุรกิจซึ่งกันและกัน และยังมีฐานการตลาดที่กว้างในระดับภูมิภาคด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจสิ่งพิมพ์ถือเป็นฐานข้อมูลสำหรับธุรกิจสื่อสาร เช่น
อินเทอร์เน็ต ซึ่งบริษัทในเครือเอ็มกรุ๊ปคือ ไอเน็ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย
และมีบริษัทลูกคือบริษัทเอเชีย แอ็กเซส หรือ Asia Access เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในชื่อบริการ
เอเชีย แอ็กเซส (เดิมใช้ชื่อว่า เอเชีย ออนไลน์)
หรืออย่างกิจการหนังสือพิมพ์ เอเชียไทมส์ นั้นเขาเล่าว่า "มีนักลงทุนจำนวนมากที่สนใจลงทุนในกลุ่มมีเดียแอนด์พับลิชชิง
ที่มี regional presentation กับ global presentation ทุกวันนี้ผมพิมพ์เอเชียไทมส์
ผ่านดาวเทียมไปลงที่นิวยอร์ก แล้วปีนี้จะไปที่ยุโรป ซึ่งเอเชียไทมส์ก็จะเป็นหนังสือพิมพ์ที่เรียกว่า
global newspaper ที่คนไทยเป็นเจ้าของที่มี presence อยู่ทั่วโลก ตรงนี้เป็นจุดที่ดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติมาก"
ABCN ประสาน DBS
นอกจากกลุ่มธุรกิจที่ 2 และ 3 แล้ว กลุ่มที่น่าสนใจที่สุดในเวลานี้คือกลุ่มที่
1 ซึ่งมีดาวเทียมเป็นตัวชูโรง โครงการดาวเทียมแอล-สตาร์ เกิดขึ้นอย่างทันการเป็นจุดที่ต้องจับตาว่าจะสามารถแปรเปลี่ยนลางแพ้ของสนธิให้กลายเป็นวี่แววแห่งชัยชนะหรือไม่
แต่แนวคิดของเขาอาจจะเป็นเรื่องที่เกินจินตภาพของสังคมไทยเพราะคงไม่มีใครคิดว่าบุคคลที่เคยเป็นแค่นักข่าวจะคิดการใหญ่เช่นนี้
แม้สนธิจะเริ่มก่อร่างสร้างตัวจากการเป็นนักข่าว แต่ทุกวันนี้ "มิสเตอร์โกลบอลไลเซชั่น"
คือนักธุรกิจระดับภูมิภาคที่มีกิจการซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 20,000
ล้านบาทไปแล้ว!!
โครงการดาวเทียมแอล-สตาร์ของสนธิยังมีความสับสนกันอยู่ในหมู่คนทั่วไปว่า
แอล-สตาร์ เป็นธุรกิจให้เช่าช่องสัญญาณเหมือนดาวเทียมไทยคมหรืออย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
ไม่ใช่ สนธิต้องการใช้แอล-สตาร์ ดำเนินธุรกิจ DTH และธุรกิจสื่อสารข้อมูล
บริษัท Direct Broadcasting Satellite Asia (DBS) ในเครือเอ็มกรุ๊ป จึงเป็นผู้เช่าช่องสัญญาณเกือบทั้งหมด
และเป็นผู้ดำเนินการธุรกิจที่ว่านั้นขณะที่ ABCN เป็นบริษัทเจ้าของดาวเทียมแอล-สตาร์
เป็นผู้จัดสร้างและดูแลดาวเทียม
ในปี 2538 สนธิตั้งบริษัท Asia Broadcasting and Communication Network
Plc. (ABCN) ด้วยทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท บริษัทนี้เข้าถือหุ้นในบริษัทลาวสตาร์จำนวน
80% ที่เหลือเป็นหุ้นของรัฐบาลลาว ทั้งนี้ก็เพื่อดำเนินโครงการดาวเทียมแอล-สตาร์
โดยอาศัยสิทธิวงจรของประเทศลาว
ABCN มีผู้ถือหุ้นรายสำคัญคือ เอ็มกรุ๊ป 38% ไออีซี 24% ยูคอม 19% (ต่อมาลดเหลือ
10% เพราะได้ขายหุ้นต่อแก่รายย่อย) บริษัทลอรัลสเปซแอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด
5% (เป็นบริษัทแม่ของสเปซลอรัล หรือ S.S.Loral ผู้สร้างดาวเทียมแอล-สตาร์)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร 2% ต่อมาบริษัทอิโตชู คอร์ปอเรชั่น ของญี่ปุ่นได้เข้าถือหุ้นด้วย
5% อย่างไรก็ดี จะต้องมีการสรุปสัดส่วนการถือหุ้นที่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง
อนาคตดาวเทียม
สนธิเปิดเผยกับนิตยสาร "ผู้จัดการ" เกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดสร้างดาวเทียมแอล-สตาร์
ซึ่งในตอนนี้ก่อสร้างไปได้ประมาณ 50% แล้วโดยมีบริษัทผู้สร้างคือ S.S.Loral
ด้านผู้ยิงดาวเทียมคือบริษัท Orion Sparks ซึ่งก็ได้รับเงินมัดจำค่างวดไปดำเนินการสร้างจรวดเพื่อยิงดาวเทียมแล้วและมีความคืบหน้าประมาณ
40%-50% เช่นกัน
ส่วนสถานีภาคพื้นดินที่เวียงจันทน์นั้นบริษัท Telesat จากประเทศแคนาดากำลังจะลงมือก่อสร้าง
ซึ่งที่ดินผืนนี้รัฐบาลลาวให้มาเรียบร้อยแล้ว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มีการปรับพื้นดินเพื่อการก่อสร้างแล้ว
ด้านการตลาด ได้เริ่มมีการเตรียมการพอสมควรในการหาหุ้นส่วนในแต่ละประเทศ
เช่น ในเกาหลีได้กลุ่มบริษัท Khumho ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมและสายการบิน
Asiana ของเกาหลี ในอินเดียได้บริษัท Bennett Coleman ซึ่งบริษัทนี้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์
The Times of India ในไต้หวันได้เจ้าของกิจการ cable operator รายหนึ่ง ในญี่ปุ่นแม้ไม่ได้มีหุ้นส่วนทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในญี่ปุ่น
แต่ว่าได้บริษัทแห่งหนึ่งเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการจัดทำเนื้อหาช่องญี่ปุ่น
9 ช่องที่จะออกมาให้กับสมาชิกชาวญี่ปุ่นได้ดูกัน บริษัทนั้นคือ Itochu ซึ่งเป็นเทรดดิ้งเฟิร์มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดมาตรการทางการตลาดระดับภูมิภาค ในส่วนของซอฟต์แวร์ให้มีลักษณะคล้ายๆ
กันและมีการแลกเปลี่ยนซอฟต์แวร์กันได้ แต่ขณะเดียวกันในแต่ละประเทศนโยบายการตลาดจะแตกต่างกันไปตามสภาพสถานะทางสังคม
เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของแต่ละสังคม
ทางด้านการเงินนั้น บริษัท ABCN มีทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท แต่ได้มีการเพิ่มทุนในภายหลังอีก
โดยหุ้นส่วนใหม่ที่เข้ามาร่วมทุนได้แก่ บริษัท Itochu, บริษัท S.S.Loral,
บริษัท Khumho บริษัท Bennett Coleman ซึ่งก็คือบรรดาผู้ที่เป็นหุ้นส่วนในแต่ละประเทศก็ได้เข้าเป็นผู้ร่วมลงทุนในตัวบริษัท
ABCN ด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ดี สนธิเปิดเผยว่า "เงินทุนจดทะเบียนนั้นยังไม่เพีงพอ เพราะในการยิงดาวเทียมทั้งสองวงนั้นเราต้องใช้เงินประมาณ
500 กว่าล้านเหรียญ ทุนมีแค่ 100 กว่าล้านเหรียญ จึงไม่พอ"
ดังนั้น สนธิจึงได้ออกพันธบัตรประเภทที่เรียกว่า High Yield Bond ซึ่งคาดว่าน่าจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ประมาณ
10.50%-11.00% ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่อันเดอร์ไรต์บอนด์ตัวนี้คือบริษัท DLJ
ซึงเป็นวาณิชธนกิจที่เชียวชาญเรื่องดาวเทียมในตลาดนิวยอร์ก ร่วมกับบริษัท
Goldman Sachs
ขั้นตอนการออกบอนด์ตัวนี้ ได้มีการแจ้งรายละเอียดข้อมูลต่างๆ หรือทำ filing
กับ SEC สหรัฐฯ แล้ว และได้มีการแก้ไขข้อมูลหลายครั้งแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะจบกระบวนการแจ้งข้อมูล
และบริษัทจะทำโรดโชว์ใน 4 ประเทศคือ สหรัฐฯ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ สกอดแลนด์
บริษัท ABCN ตั้งใจจะระดมทุนจากการขายบอนด์ตัวนี้รวมทั้งสิ้น 350 ล้นเหรียญ
และคาดว่าจะมีการขายหุ้นใหม่ด้วย นัยหนึ่งคือเขาตั้งใจจะออกทั้งส่วนของ debt
และ equity โดยในส่วนที่เป็นหุ้นนั้นตั้งเป้าระดมเงิน 120 ล้านเหรียญในตลาด
Nasdaq สหรัฐฯ ซึ่งราคาหุ้นนั้นบริษัทอันเดอร์ไรต์ทั้ง 2 ประเมินว่าราคาหุ้นใหม่น่าจะอยู่ระหว่าง
2.20-3.60 เหรียญ ทั้งนี้ บริษัทจะรอช่วงจังหวะที่จะออกหุ้นใหม่เพื่อให้มีราคาที่ดีพอ
ในการรอดูจังหวะตลาดของการออกหุ้นใหม่นั้น บริษัทอันเดอร์ไรต์ทั้งสองเสนอว่าจะสามารถหา
Bridging loan หรือเงินกู้ระยะสั้นมาให้ ABCN ใช้ลงทุนได้ก่อนเพื่อเป็นเม็ดเงินให้เต็มตามที่ต้องการ
500 ล้านเหรียญในการสร้างดาวเทียม 2 ดวง
นี่คือแผนการเงินที่ตั้งไว้สำหรับการลงทุนสร้างดาวเทียมของบริษัท ABCN
เป็นเรื่องน่าสนใจที่สนธิใช้วิธีระดมทุนจากโลกตะวันตกมาลงทุนในโลกตะวันออก
หรือแม้กระทั่งชื่อดาวเทียม L-Star ซึ่งเจ้าของสัมปทานดาวเทียมคือรัฐบาลลาวเพราะการขออนุญาต
ITU เพื่อให้ได้ Orbital Slot ได้นั้น รัฐบาลเท่านั้นที่เป็นผู้มีสิทธิ์ขอจาก
ITU เอกชนไม่สามารถขอได้
ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่นักลงทุนสหรัฐฯ สามารถทำความเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็น
และคนที่กล้าเสี่ยงลงทุนก็ยินดีที่จะร่วมลงทุนในลักษณะ venture capital
สนธิกล่าวว่า "ในขณะนี้ที่เราใช้ไฟแนนซ์ที่หสรัฐฯ เพราะนักลงทุนที่นั่นเข้าใจเรื่องมีเดียแอนด์บรอดคาสติ้ง
ดีกว่าคนอื่นเยอะ แต่ผมเชื่อว่าหลังจาก 2-3 ปีนี้แล้ว เมื่อผลการดำเนินงานเราดี
ตลาดเอเชียก็สนใจที่จะลงทุนด้วย"
ดาวเทียม L-Star ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวเป็นระยะเวลา 30 ปี ABCN ซึ่งเป็นผู้บริหารดาวเทียม
L-Star ได้ขอใช้จุดวงโคจรดาวเทียมหรือ Orbital Slot และได้รับอนุญาตจาก ITU
แล้วที่ 116 องศาตะวันออก ซึ่งอยู่บริเวณน่านฟ้าเหนือประเทศเกาหลี
ดาวเทียม 2 ดวงนี้ (แอล-สตาร์ 1 และ 2) มีจุดต่างจากดาวเทียมที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ทำ
DTH โดยเฉพาะ โดยมี KU Band ทั้งหมดดวงละ 32 ทรานสปอนเดอร์ หรือช่องสัญญาณ
รวม 2 ดวง 64 ช่องสัญญาณ ไม่มี C Band
นอกจากนี้ดาวเทียม L-Star ทั้ง 2 ดวงยังมีกำลังส่งแรงมาก อาจกล่าวได้ว่าแรงมากที่สุดในบรรดา
KU Band ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น Super High Power สนธิกล่าวว่า "ความแรงของกำลังส่งดาวเทียมดวงนี้
ทำให้ในภูมิภาคนี้เท่าที่สำแสงมันตกลงไปตามที่เรากำหนดไว้สามารถรับโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมได้
150 ช่องความแรงของมันอำนวยความสะดวกให้ผู้รับใช้จานรับดาวเทียมแค่ขนาด 1
ฟุตครึ่งถึง 2 ฟุตเท่านั้น และความแรงของมันทำให้ไม่มีผลกระทบจากภูมิอากาศ
เช่น ลมแรง หรือ ฝนตก (rain effect) เป็นต้น ประเด็นนี้เป็นสิ่งจำเป็นมากในการทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในอินเดียในช่วงฤดูมรสุม
หรือแม้กระทั่งในเมืองไทย"
จุดเด่นอีกข้อของดาวเทียม 2 ดวงนี้คือ มีการกำหนดหรือบีบความเข้มของลำแสง
3 ส่วน คือ ลำแสงตะวันตก หรือ West Beam ครอบคลุมบริเวณ อินเดีย ปากีสถาน
บังกลาเทศ ศรีลังกา ลำแสงกลาง ปกคลุมประเทศอินโดจีนทั้งหมดรวม พม่า ไทย สิงคโปร์
มาเลเซีย รวมทั้งมณฑลยูนนานและเสฉวนด้วย ลำแสงตะวันออก ครอบคลุมฮ่องกง ไต้หวัน
เกาหลี ตลอดจนพื้นที่ทางชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีนทั้งหมด ตั้งแต่เกาะไหหลำ
กวางตุ้ง กวางโจว ขึ้นไปถึงปักกิ่ง
"สามลำแสงนี้เป็นลำแสงที่เราออกแบบมาเพื่อทำ DTH โดยเฉพาะ"
จุดยุทธศาสตร์อีกประการหนึ่งที่สนธิเปิดเผยไว้คือ "หลังจากที่เรายิงดาวเทียม
L-Star แล้ว ใครก็ตามที่จะยิง DTH ต่อไปต้องขอให้ ABCN ประสานความถี่ เพราะว่า
116 องศาตะวันออกที่เราขอไว้นั้นกับอีก 4-5 จุดที่เรากำลังขออนุมัติอยู่นั้นมันเหมือนกับเป็นการล็อกพื้นที่เอาไว้หมดเพราะฉะนั้นพูดถึงความได้เปรียบทางธรกิจเราจึงมีมากที่สุด
นอกจากนี้เรายังเป็นคนเดียวที่ขออนุญาตยิงดาวเทียมมด้าน broadcasting เพราะก่อนหน้านั้นจะเป็นดาวเทียมเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมทั้งนั้น
และ ITU ก็เพิ่งออกกฎใหม่ด้วยว่าใครก็ตามที่จะยิงดาวเทียมเพื่อทำ broadcasting
ต่อไปต้องได้รับอนุมัติจากทุกประเทศที่ลำแสงดาวเทียมจะยิงลงไป แล้วจึงนำในอนุมัตินี้มาขออนุญาตจาก
ITU" นั่นเท่ากับเป็นการบล็อกคู่แข่งทางธุรกิจที่อาจจะเกิดตามมาในอนาคต
เขากล่าวว่า "เราอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบในทางธุรกิจ!"
สนธิคุยต่อไปถึงประเด็นที่ว่า L-Star ต่างจาก Star TV ของกลุ่มรูเพิร์ต
เมอร์ด็อคอย่างไร?
เขากล่าวว่า "Star TV เป็น free TV กล่าวคือคนที่ซื้อจนดาวเทียมของสตาร์ทีวีก็สามารถรับทีวีของสตาร์ทีวีได้
และสตาร์ทีวีก็จะมีรายได้จากการขายโฆษณาซึ่งภาวะการขายโฆษณานั้น บางประเทศขายได้
บางประเทศขายไม่ได้ แต่ของ L-Star นั้นจะมีรายได้จากการขายสมาชิกด้วย"
นอกจากทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแล้ว เอ็มกรุ๊ปยังจะทำ high speed transmission
ผ่านดาวเทียม เช่น DTO/Direct to Office เอาจานมารับข้อมูลผ่านเข้า PC ได้ทันที
จำนวนหน่วยความจำมีมากมายมหาศาล และมีความเร็วสูงมากราคาถูกมากด้วย
และยังทำ Regional Internet ได้ด้วยโดยเชื่อมโยงผ่านดาวเทียมภูมิภาคนี้
นี่คือการเคลื่อนย้ายข้อมูลโดยผ่านดาวเทียม
ดังนั้นหน้าที่ของดาวเทียมดวงนี้มี 3 อย่างคือ Broadcasting, Direct PC,
Regional Internet"เราไม่ได้ทำดาวเทียมดวงนี้ในธุรกิจโทรคมนาคมเลย เราไม่มีเสียงหรือ
voice มีก็เฉพาะ Broadcasting ซึ่งคนส่วนมากจะเข้าใจเราผิดเสมอ คิดว่าเราทำเหมือนไทยคมหรือเอเชียแซท
ซึ่งมันไม่ใช่" สนธิกล่าว
เขาท้าทายว่า "วาณิชธนกิจนั้น หากเขาไม่มั่นใจ เขาไม่ทำอันเดอร์ไรต์พันธบัตรให้เราหรอก
พวกนี้เขาเห็นแผนงานของเราเห็นความคิดสร้างสรรค์ของเรา เขาถึงทำการรับประกันการจำหน่ายพันธบัตรให้เรา
ในตลาดนิวยอร์กนั้น DLJ คือวาณิชธนกิจที่มีความชำนาญเฉพาะในเรื่องของการอันเดอร์ไรต์ดาวเทียม
หรืออย่างโกลด์แมน ซาค ซึ่งหากไม่แน่ใจจริงคงไม่ทำให้เรา"
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมทางการตลาด การมุ่งไปสู่ดาวเทียมนับว่ามีเหตุผลอยู่พอควร
รายได้ของสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะในประเทศไทยลดต่ำลง เพราะภาวะการแข่งขันสูง และการประหยัดงบโฆษณาของกิจการต่างๆ
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2539 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2538 ทุกสื่อมีรายได้จากค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น
คือโทรทัศน์เพิ่มขึ้น 20.6% วิทยุ 15.1% ภาพยนตร์ 2.5% โฆษณากลางแจ้ง 11.4%
แต่รายได้โฆษณาหนังสือพิมพ์กลับลดลง -1.0% นี่เป็นข้อมูลจากคู่แข่ง ดาต้าแบงก์
หนังสือพิมพ์จะอยู่รอดได้ และเป็นธุรกิจที่มีความสมเหตุสมผลมากขึ้น ก็คือใช้วิธีการสร้างมูลค่าเพิ่ม
โดยอาศัยช่องทางของอิเล็กทรอนิกส์ มีเดีย
ในแง่ประชากรศาสตร์ กลุ่มเป้าหมายด้านบันเทิง จะมีอายุในระหว่าง 15-59 ปี
อยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานอีกทั้งยังอยู่ในเมืองเป็นหลัก มีรายได้และกำลังซื้อสูง
แต่กลับมีข้อจำกัดในการหาสถานที่สันทนาการ จึงต้องหันเข้าหาแหล่งบันเทิงภายในบ้าน
เช่น โทรทัศน์ ซึ่งกำลังมีแต้มต่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับสันทนาการด้านอื่นๆ
โครงสร้างประชากรในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่เป็นผลดีต่อโทรทัศน์
คนที่มีอายุในระหว่าง 15-59 ปี จะเพิ่มสัดส่วนต่อประชากรรวมขึ้นจาก 62.6%
ในปัจจุบันเป็น 66.8% ในปี ค.ศ.2005 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 23% จาก 36.7 ล้านคนในปีค.ศ.1994
เป็น 45.3 ล้านคนน ในปีค.ศ.2005
หากพิจารณาการดำเนินธุรกิจดาวเทียมของบางกลุ่ม เช่น อินเทลแซท ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศเมื่อ
33 ปีที่แล้ว ก็ยิ่งจะเห็นได้ว่าอนาคตนั้นอยู่ที่ดาวเทียมเพื่อการแพร่ภาพและกระจายเสียง
ญี่ปุ่นเป็นลูกค้ารายใหญ่ของอินเทลแซท ในขณะที่จีนเป็นตลาดใหม่ที่มีอนาคตในตลาดย่านนี้
บริการหลักของอินเทลแซทคือบริการชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศบริการแพร่ภาพส่งสัญญาณโทรทัศน์และบริการเครือข่ายสื่อสารระหว่างประเทศ
รายได้ของอินเทลแซทจะมาจากการส่งสัญญาณโทรทัศน์ถึง 30% มีแนวโน้มว่าตลาดทีวี
ไดเร็กต์ ทู โฮม หรือ Direct to home (DTH) จะช่วยเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ธุรกิจบนฟ้า ปรัชญาชีวิต
สนธิเริ่มผลักดันเรื่องดาวเทียมอย่างเป็นจริงเป็นจังในวัย 46 ปี ปัจจุบันเขาอายุ
50 ปี แม้ยังคงมีท่าทีมุ่งมั่น ข้อเขียนและคำพูดห้าวหาญ แต่เขาก็เปลี่ยนแปลงไปบ้างตามวันเวลา
อย่างน้อยก็ดูเยือกเย็นขึ้น
ครั้งหนึ่งในการประชุมเรื่องกระทะข่าว ซึ่งหมายถึงการทำระบบดาต้าเบสของกลุ่มสิ่งพิมพ์ผู้จัดการ
เมื่อบรรณาธิการคนหนึ่งกล่าวขึ้นมาในที่ประชุมว่า "ข่าวของค่ายอื่นไม่เห็นจะมีอะไร"
สนธิแย้งด้วยน้ำเสียงเยือกเย็นว่า"อย่าพูดว่าเราดีกว่าคนอื่น"
ในเชิงจิตวิทยาคนในวัย 40-50 ปี จะคิดได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลที่สุด ยิ่งสนธิเป็นนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์
เรื่องที่เขาคิดจึงไม่ใช่เรื่องอ่านเล่น ประเภทอ่านแล้วฉีกทิ้งได้เลย
หากมันเรื่องเล่นๆ โครงการดาวเทียมของเขา ก็คงไม่มีพันธมิตรยุทธศาสตร์อย่าง
เทเลแซท มหาอำนาจดาวเทียมจากแคนาดา ซึ่งเริ่มดาวเทียมในเชิงพาณิชย์ก่อนสหรัฐฯ
เสียอีก คงไม่มีผู้ร่วมถือหุ้นอย่างอิโตชู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นเทรดดิ้งเฟิร์มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
คงไม่มีผู้ส่งดาวเทียมอย่างแอเรียนสเปซ บริษัทอันดับ 1 ของโลกในด้านนี้ และคงไม่มีวาณิชธนกิจอย่างโกลด์แมน
ซาค รับประกันการจำหน่ายหุ้นของ ABCN
มนุษย์ในวัยประมาณ 20-25 ปี มีลักษณะสับสนต่อชีวิต 25-30 ปี รู้จักชีวิต
30-40 ปี อยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว จึงเร่าร้อนต่อชีวิต 40-50 ปี เริ่มเข้าใจชีวิต
พ้นจากนี้จึงเอ็นดูชีวิตและให้อภัยต่อชีวิต
สนธิมีอายุ 50 ปี สิ่งที่เหลืออยู่และเขาฝันที่จะเห็นมันเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจังก็คือโครงการดาวเทียมนี่แหละ
แหล่งข่าวระดับสูงใน ABCN กล่าวว่า "ทำเรื่องดาวเทียมกับสนธิแล้วสบายใจสนธิไม่ใช่คนที่มีความกังวล
เขาจะบอกเสมอว่า ทำไปเถอะ อย่าไปคิดอะไรมาก ขอให้เข้าใจว่า เราเริ่มจากศูนย์
หากโครงการสำเร็จ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติแต่ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไม่เสียหายอะไร
อย่างดีเราก็เหลือศูนย์เท่าเดิม คนยังเข้าใจไม่ชัดเจนเกี่ยวกับดาวเทียมของเรา
เพราะเขาจะบอกให้โลว์โปรไปล์ อย่าพูดบ่อยหากจะแถลงข่าวแต่ละครั้ง ก็ต้องมีความคืบหน้าที่เป็นจริง"
สองโครงข่ายใหญ่แห่งภูมิภาค
แอล-สตาร์ 1 มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรในเดือนธันวาคม 2540 ส่วนแอล-สตาร์
2 จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี 2541 เฉพาะแอล-สตาร์ จะส่งสัญญาณโทรทัศน์ได้ถึงประมาณ
150 ช่อง ขยายเป็น 500 ช่องเมื่อแอล-สตาร์ 2 ให้บริการ
นี่เป็นการเริ่มโมเดลธุรกิจที่จะกลายเป็น "Multi-media Information Super
highway" ของเอ็มกรุ๊ป
ตามยุทธศาสตร์ เอ็มกรุ๊ปยังจะมีการร่วมลงทุนในดาวเทียม Morning Star หรือ
M-Star อีก
ในปี 1995 เป็นการตั้งบริษัท ABCN เพื่อบริหารดาวเทียมแอล-สตาร์ ตั้งบริษัท
DBS (Asia) เพื่อบริหาร DTH และตั้งบริษัท เอเชีย แอ็กเซส จำกัด เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตในชื่อบริการ
Asia Access
แอล-สตาร์ จึงเป็นแพล็ตฟอร์มที่ก่อให้เกิดสองโครงข่ายใหญ่คือ เครือข่าย
DTH บริหารโดย DBS (Asia) และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริหารโดย เอเชีย แอ็กเซส
ระหว่างปี 1996-1997 คือขั้นตอนในการเริ่มดำเนินการ DTH โดยสร้างศูนย์แพร่ภาพขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังขณะเดียวกันก็แสวงหาพันธมิตรร่วมลงทุนในแต่ละประเภท
โดยมี DBS (Asia) เป็นบริษัทแม่ มีสาขาอยู่ในแต่ละประเทศในลักษณะพันธมิตรท้องถิ่นร่วมถือหุ้นกับบริษัทแม่
ช่วงนี้คือการแอล-สตาร์ ส่วนดาวเทียมเอ็ม-สตาร์ อยู่ในขั้นแสวงหาพันธมิตรร่วมลงทุนและออกแบบ
สำหรับอินเทอร์เน็ตก็ยังอยู่ในขั้นให้บริการด้วยสายเคเบิลและโทรศัพท์
ระหว่างปี 1998-1999 เป็นการให้บริการ DTH ในลักษณะ Pay Per View ส่วนดาวเทียมแอล-สตาร์
อยู่ในขั้นดำเนินงาน และเอ็ม-สตาร์ อยู่ในระหว่างการก่อสร้างในฟากฟ้าของอินเทอร์เน็ตก็จะมีการให้บริการในแบบไดเร็กต์พีซีผ่านดาวเทียม
หลังปี 1999 โครงข่าย "Multi-media Information Superhighway" ของเอ็มกรุ๊ปก็จะสมบูรณ์
คือมีบริการ DTH ในระดับวิดีโอตามสั่งหรือ Viedo on demand ดาวเทียมเอ็ม-สตาร์
เริ่มให้บริการช่องสัญญาณในฟากฟ้าอินเทอร์เน็ตก็จะให้บริการผ่านดาวเทียมอย่างเต็มรูปแบบ
DBS สร้างพันธมิตรทั่วเอเชีย
สำหรับคนไทยด้วยกัน สนธิมิได้คิดเรื่อง DTH ก่อนผู้อื่น เพียงแต่แพล็ตฟอร์มที่เอ็มกรุ๊ปสร้างขึ้นออกจะสมบูรณ์ทั้งในเชิงดึงดูดแหล่งเงินทุนและการทำตลาด
เขามีนโยบายที่จะสร้างธุรกิจ DTH ในแบบสลากกินแบ่ง มิใช่สลากกินรวบ นี่เป็นที่มาของการหาพันธมิตรท้องถิ่น
"เราไม่ได้หารายได้จากค่าสมาชิกอย่างเดียว ในประเทศที่กฎหมายเอื้ออำนวยเราก็จะหารายได้จากโฆษณาด้วย
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตลาดและข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ" จเรรัตน์ ปิงคลาศัย
Senior Vice Persident และ Chief Technical Officer ของ ABCN กล่าว
แม้จะกล่าวกันว่าเสียเงินค่าสมาชิกเพียง 800 บาท ก็สามารถดูรายการของ DBS
ได้ถึง 150 ช่อง แต่นี่ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิด จากการสอบถามไปยังแหล่งข่าวในเอ็มกรุ๊ป
ซึ่งบริหาร DBS ปรากฏว่าดูได้เพียง 40 ช่องเท่านั้น ช่องที่เหลือจะสามารถรับชมได้ในรูปแบบ
near video on demand ซึ่งจะต้องจ่ายเงินกันเป็นครั้งคราวนี่ก็น่าจะเป็นเงินหมุนเวียนที่สำคัญของ
DBS
ในสหรัฐฯ รายได้จาก near viedo on demand สร้างเม็ดเงินให้ DTH และเคเบิลทีวีอย่างมากมายเพราะเป็นเงินที่เข้ามาทุกชั่วโมง
"เราจะมีหนังให้ดูทุก 15 นาที และมีหลายช่องทาง หนังใหม่จะมีช่องมากกว่าหนังเก่า
เป็นลักษณะการฉายวน โดยเราจะมีรายการหนังแจกทุกเดือน สนใจเรื่องไหนกดรีโมตคอนดทรลดูได้
แต่จะต้องเสียเงิน อาจจะเป็นครั้งละ 10 บาท นี่ยังเป็นลักษณะ pay per view
แต่ถ้าเป็นระบบวิดีโอตามสั่ง เราต้องสำรวจตลาดก่อน เพราะการลงทุนสูง หากคนสนใจมาก
เราก็จะเริ่มบริการประเภทนี้ คือโทรสั่งหนังดูทางโทัศน์ได้เลย"
ตามยุทธศาสตร์แอล-สตาร์ จึงเท่ากับว่า ABCN เป็นผู้บริหารดาวเทียม โดยมีบริษัทในเครือคือ
DBS (Asia) เป็นผู้เช่าช่องสัญญาณเพื่อดำเนินการในเรื่อง DTH โดย DBS (Asia)
จะลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อตั้ง DBS ในแต่ละประเทศขึ้น เช่น ดีบีเอส
ประเทศไทย, ดีบีเอส เกาหลี, ดีบีเอส ฮ่องกง แต่ละสาขาจะทำหน้าที่ขายจานดาวเทียม
เซ็ทท้อปบ็อกซ์ หาสมาชิก ตลอดจนบริหารรายการที่เหมาะสมกับในท้องถิ่น
การซื้อรายการนั้นแต่ละสาขาจะกระทำร่วมกับ DBS (Asia) โดยแบ่งแยกหน้าที่กันดังนี้
1) ซอฟต์แวร์ท้องถิ่น ผู้ซื้อคือดีบีเอสท้องถิ่นเพราะย่อมรู้รสนิยมผู้บริโภคดีกว่า
2) ซอฟต์แวร์พิเศษ ผู้ซื้อคือ DBS (Asia) แต่ก็จะมีการประสานกับดีบีเอสท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด
3) ซอฟต์แวร์อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ซื้อคือ DBS (Asia) กำเนิดศูนย์แพร่ภาพ
แหลมฉบัง
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในโครงการดาวเทียมของสนธิคือ การตั้งศูนย์แพร่ภาพหรือ
Broadcast Center ในไทยและไต้หวัน ซอฟต์แวร์ทุกประเภทจะถูกส่งมาสู่ศูนย์แพร่ภาพที่แหลมฉบัง
จังหวัดระยอง ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างด้วยเงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท
มีลักษณะเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ขนาดใหญ่ และสถานีอัพลิงค์รายการขึ้นไปที่ทรานสปอนเดอร์ของแอล-สตาร์
โดยจะเสียงบประมาณในการบริหารปีละ 200 ล้านบาท
ก่อนเลือกแหลมฉบังเป็นที่ก่อสร้าง DBS เคยคิดที่จะไปก่อตั้งศูนย์ในลาว สิงคโปร์
หรือไม่ก็ไต้หวัน
โดยเฉพาะสิงคโปร์นั้นเต็มไปด้วยความสะดวกทุกอย่างสำหรับโปรดักชั่นเฮาส์ขนาดใหญ่เช่นนี้
เนื่องจากสิงคโปร์กำลังช่วงชิงเป็นศูนย์กลางแพร่ภาพทีวีผ่านดาวเทียมแห่งภูมิภาคเอเชีย
โดยอาศัยสิ่งจูงใจต่างๆ คือ โครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารและเทคนิคในขั้นดีเยี่ยม
ต้นทุนในการอัพลิงค์รายการ และสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องโปรดักชั่นก็มีราคาต่ำกว่าที่อื่น
กฎระเบียบทุกอย่างเป็นไปด้วยความโปร่งใสและมีใบอนุญาตสำหรับการทำอัพลิงค์รอท่าบริษัทต่างชาติอยู่แล้ว
จึงไม่แปลกที่บริษัทด้านมีเดียทยอยตั้งออฟฟิศในสิงคโปร์เป็นทิวแถว เช่น เอ็มทีวี,
เอเชีย บิสสิเนสนิวส์, บีบีซีเวิลด์ไวด์, อีเอสพีเอ็น (รายการกีฬายอดฮิต),
โฮมบอกซ์ออฟฟิศ (HBO) และวอลท์ดิสนีย์
ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ไทยทีวีสีช่อง 3 และกรรมการผู้จัดการของทีวีบี
3 เน็ตเวิร์ก กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นสิ่งดีที่เอ็มกรุ๊ปคิดทำธุรกิจดาวเทียม
เพราะเมื่มีฮาร์ดแวร์มากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีซอฟต์แวร์ เช่น
ช่อง 3 ในระยะยาวอาจร่วมธุรกิจกันได้เพราะแพร่ภาพถึง 150 ช่อง ก็ย่อมต้องการซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมาก
"สิ่งที่เราจะต้องจับตาดูให้ดีคือ สิงคโปร์ เพราะตอนนี้เขาพยายามเป็นศูนย์กลางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
โดยให้ความสะดวกต่างๆ เพื่อดึงโปรดักชั่นเฮาส์ไปตั้งในประเทศเขา แทนที่จะเป็นในไทย
นี่เป็นเรื่องที่ทำให้ไทยเสียประโยชน์"
มุมมองของปราโมทย์ไม่ต่างจากสนธิเท่าใดนัก "ที่ผมตั้งศูนย์บรอดคาสติ้งขึ้นมาในไทยเพราะต้องการให้ไทยเป็นศูนย์บรอดคาสติ้งในภูมิภาคนี้
เราต้องช่วงชิงความเป็นเจ้าในเรื่องนี้จากสิงคโปร์ อีกหน่อย HBO Discovery
หรือทุกอย่างที่มาลงที่สิงคโปร์นั้น ผมหวังว่าผมคงจะชักชวนให้เขามาลงที่เมืองไทยได้"
สนธิกล่าว
เหตุที่ DBS เลือกแหลมฉบังเป็นเพราะว่า 1) สะดวกต่อการบริหาร เพราะอยู่ภายในประเทศ
2) สนธิอยากให้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยุ่ในเมืองไทย และสร้างบุคลากรที่เป็นคนไทย
3) เอ็มกรุ๊ปมีโอกาสได้สัมปทานทีวีผ่านดาวเทียมในกลางปี 4) นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นเขตที่ได้รับการยกเว้นภาษี
5) ในนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง ผู้ประกอบการต้องซื้อที่ดิน แต่ที่แหลมฉบังเป็นลักษณะให้เช่าในราคาถูก
น้ำไม่ท่วม
"สนธิมีที่ดินอยู่หลายแห่ง ซึ่งจะเลือกตรงไหนสักแห่งก็ได้ แต่เราบอกว่าที่แหลมฉบังเหมาะสมที่สุด"
แหล่งข่าวใน DBS กล่าว
สนธิดวงดีพอสมควรเนื่องจากสมเจตน์ ทิณพงษ์ ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมยินดีสนับสนุนโครงการของ
DBS เพราะว่าเป็นการส่งออกซอฟต์แวร์รายการถึง 80% จึงเข้าข่ายที่จะตั้งศูนย์กลางอยู่ในแหลมฉบังอันเป็นเขต
EPZ หรือ Export Processing Zone ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษในเรื่องภาษี โชคดีของสนธิคือ
ต่อมามีการแก้ไขข้อกฎหมายทำให้แหลมฉบังเป็น FCT หรือ Free Trade Zone อุตสาหกรรมทุกชนิดที่ประกอบการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทุกชนิดที่ประกอบการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม
ไม่ต้องเสียภาษีตลอดระยะเวลาที่ดำเนินงานอยู่ แปซิฟิกฯ เริ่ม DTH รายแรก
แต่ล้มเหลว
ไล่เลี่ยกับที่สนธิคิดทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอย่างเป็นรูปธรรม ดูเหมือนดร.สมเกียรติ
อ่อนวิมล อดีตกรรมการผู้จัดการแปซิฟิกอินเตอร์คอมมูนิเคชั่น เคยดำเนินการล่วงหน้าไปก่อนด้วยซ้ำ
โดยใช้วิธีซื้อหุ้นบางส่วนและเช่าสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมชื่อ โทปาสเน็ตเวิร์ก
ตั้งอยู่ที่ดาร์วิน ออสเตรเลีย ส่งรายการโดยอาศัยช่องสัญญาณดาวเทียม ปาลาป้า
เขาพบว่าการลงทุนทำทีวีด้วยวิธีนี้น่าพิสมัย เพราะเสียงบประมาณเพียง 500
ล้านบาทเท่านั้น แต่ถ้าจะตั้งสถานีโทรทัศน์ในระบบยูเอชเอฟ ต้องใช้งบประมาณ
4,000 ล้านบาท
คนไทยน้อยคนนักที่รู้ว่า ดร.สมเกียรติเกือบจะเป็น "เมอร์ด็อคฉบับย่อ" มาแล้ว
เหตุที่แปซิฟิกฯ ต้องไปอาศัยสถานีที่ออสเตรเลียก็เพราะหมดโอกาสผลิตรายการทางช่อง
9
ทีวีผ่านดาวเทียมของดร.สมเกียรติยุติไปภายในเวลา 1 เดือน เพราะพบปัญหาหลายประการ
ข้อแรกคือไม่สามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้ จึงต้องถอนหุ้นคืน แต่อีกปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจคือ
เขาตั้งใจหารายได้จากการบอกรับสมาชิก แต่ไม่สามารถที่จะตามเก็บเงินได้ ดร.สมเกียรติจึงมักจะเชื่อว่า
DTH จะต้องหารายได้จากโฆษณาไม่ใช่จากค่าสมาชิก
ปัญหาของดร.สมเกียรติคือเขาเป็นเพียงสื่อมวลชนที่อยากทำรายการข่าวทางโทรทัศน์
แต่ขาดวิธีคิดทางการตลาดต่างจากโครงการดาวเทียมแอล-สตาร์ ในส่วน DTH ซึ่ง
DBS อาศัยพันธมิตรท้องถิ่นเป็นแขนขาอยู่ทุกประเทศเรื่องเก็บเงินค่าสมาชิก
จึงไม่น่ามีปัญหา
นอกจากนี้ แต้มต่อที่มีช่องรายการที่มีความหลากหลายถึง 150 ช่อง ก็สร้างความน่าสนใจได้ง่าย
ต่างจาก DTH ของดร.สมเกียรติซึ่งมีอยู่ไม่กี่ช่องเท่านั้น
"เราจะทำอย่างสตาร์ทีวีนี่แหละ ส่งช่องหนึ่งเป็นภาษาไทยไปย่านไหนก็ได้ที่เขาต้องการดู
ส่วนช่องหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษที่เชิดชูข่าวสารความเป็นไทย ช่องนี้กินทุนอย่างเดียว
อย่างมาก็เสมอตัว" ดร.สมเกียรติกล่าว
หลังจากนั้นดร.สมเกียรติเคยแวะเวียนไปยังประเทศลาว เพื่อตั้งสถานี DTH ที่นั่น
แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรมากนักสาเหตุเป็นเพราะเข้าไม่ถึงโปลิตบุโรหรือคณะผู้บริหารประเทศของลาว
หลากหลายแนวคิด
แนวคิดของตนไทยในการดำเนินธุรกิจ DTH นั้นมีอยู่หลายกลุ่ม แนวคิดแบบสตาร์ทีวีนั้นได้แก่
เอ็มกรุ๊ป เทเลคอมเอเซีย แต่เอ็มกรุ๊ปต่างจากสตาร์ทีวีคือมีแพล็ตฟอร์มเป็นของตนเอง
ช่อง 3 นั้นเลียนแบบ HBO คือมีจุดหนักที่หารายได้จากซอฟต์แวร์รายการเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่คลังบันเทิงที่มีหนังอยู่เป็นจำนวนมาก
ยุทธวิธีคือร่วมลงทุนกับทีวีบีของฮ่องกง จัดตั้งบริษัททีวีบี 3 ทำการรวมซอฟต์แวร์ให้อยู่ภายใต้แบรนด์
AEN หรือ Asian Entertainment Network จากนั้นก็จำหน่ายไปตามเอาท์เล็ต เช่น
เคเบิลทีวี และทีวีผ่านดาวเทียมเป้าหมายใหญ่ก็คือตลาดที่มีคนจีนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในบางประเทศ
ทีวีบี 3 แพร่ภาพรายการทางยูทีวีจนอยู่ในขั้นทำกำไร ในเวลานี้เตรียมแพร่รายการในเคเบิลทีวีที่สหรัฐฯ
โดยอาศัยใบอนุญาตของทีวีบีฮ่องกง แต่ก็ใช่ว่าธุรกิจของทีวีบีจะมีเพียงทางเคเบิลเท่านั้นในแง่ของฟรีทีวี
และทีวีผ่านดาวเทียม ทีวีบี 3 ก็พร้อมที่จะขายรายการ โดยที่หน้าจอเครื่องรับจะต้องขึ้นโลโก
AEN อันเป็นการเลียนแบบ HBO
นี่เป็นการต่อสู้กับตะวันตกในลักษณะหนึ่งเพียงแต่ปราโมทย์อาจนึกไม่ถึงว่าเขานั้นก็เข้าข่ายนักปฏิวัติ
เชื่อว่า แอล-สตาร์ หาสมาชิกได้
DTH มีคู่แข่งทั้งฟรีทีวีและเคเบิลทีวี แม้ DTH ของเอ็มกรุ๊ปจะมีช่องสัญญาณนับร้อยช่อง
แต่ปราโมทย์ยังเห็นว่าการจะได้รับความนิยมขึ้นอยู่กับซอฟต์แวร์การจะหาซอฟต์แวร์มาสนอง
150 ช่อง ไม่ใช่เรื่องง่าย และโดยส่วนใหญ่คงเป็นซอฟต์แวร์ไร้คุณภาพทำให้คนดูเบื่อง่าย
"คนที่ทำฮาร์ดแวร์ก็มักจะมองปัญหาซอฟต์แวร์เป็นเรื่องเล็ก ในขณะที่คนทำซอฟต์แวร์
ก็จะมองปัญหาฮาร์ดแวร์เป็นเรื่องง่ายๆ คือมีเงินก็เช่าฮาร์ดแวร์ได้หรือไม่ก็ส่งรายการไปออกทางฮาร์ดแวร์ที่คนนิยม
ไม่เห็นจะต้องลงทุนสร้างฮาร์ดแวร์เอง เพราะการลงทุนสูงและมีความเสี่ยงมาก"
อย่างไรก็ดี ปราโมทย์ยอมรับว่ากรณีที่ดีบีเอสจะเก็บค่าสมาชิกเพียง 800 บาท
แล้วดูรายการได้ถึง 150 ช่อง เป็นจุดขายที่สำคัญมากในด้านการตลาด "ผมจะบอกอะไรให้ก็ได้นะ
สำหรับเรื่องบันเทิงแล้ว ไม่ว่าจะแพงแค่ไหน คนไทยก็มีปัญญาเสีย ถ้าเสียเงิน
800 บาทแล้วดูได้ 150 ช่องจริงๆ ก็คงหาสมาชิกได้แน่ๆ"
สนธิให้ความเห็นถึงตลาดว่า "ในญี่ปุ่นได้มีการตั้งบริษัทขึ้นมาแล้ว โดยมีเราถือหุ้นด้วย
(บริษัทดีบีเอสญี่ปุ่น-ผู้เขียน) คิดกันง่ายๆ อย่างนี้ก็แล้วกัน มีการคำนวณออกมาแล้วว่าภายใต้สามลำแสงของแอล-สตาร์
ครอบคลุมคนญี่ปุ่นที่อยู่นอกประเทศถึง 5 แสนครอบครัว หากคนพวกนี้รับโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
แล้วดูทีวีญี่ปุ่นได้ถึง 9 ช่อง ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ ทุกวันนี้พวกเขาดูได้ช่องเดียวคือ
NHK (หมายถึงถ้ารับแอล-สตาร์ จะดูได้มากกว่านี้-ผู้เขียน) ผมเชื่อว่าครอบครัวหนึ่งต้องจ่ายประมาณ
1,200 บาท 5 แสนครอบครัวก็ประมาณ 600 ล้านบาท เห็นชัดๆ เลย" เงื่อนไขของความสำเร็จ
โดยทั่วไปแล้วการจะทำธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมให้ประสบความสำเร็จจะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยที่สำคัญคือ
1) การตลาดี 2)ประสบการณ์ในด้านบริหารและการมีพันธมิตรยุทธศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี
3) การออกแบบระบบให้มีต้นทุนต่ำ 4) ขนาดของตลาด
ดูเหมือนเอ็มกรุ๊ปเดินตามปัจจัยนี้ทุกประการ
ในเรื่องการตลาด บทเรียนจากสตาร์ทีวี ซึ่งถูกต่อต้านโดยรัฐบาลหลายประเทศและมีรายการที่ไม่สอดคล้องกับรสนิยมท้องถิ่น
ทำให้การร่วมลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นของดีบีเอสเป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้
รวมทั้งปัญหาในข้อกฎหมาย
"ที่จริงคอนเซ็ปต์ของผมก็คือ สตาร์ทีวีนั่นเอง" สนธิกล่าว "ความที่รูเพิร์ต
เมอร์ด็อคเป็นฝรั่ง เขามาในเอเชียมีความอหังการมากในตอนแรก จึงถูกต่อต้านหนักแต่เราเป็นคนเอเชีย
ทำธุรกิจในเอเชียจึงมีโอกาสมากกว่าในการเจรจาความให้เข้ามาร่วมมือกัน รูเพิร์ตเขาไม่เคยเชื่อในเรื่องพาร์ตเนอร์
แต่สำหรับเราในทุกประเทศจะมีพันธมิตรท้องถิ่นเป็นคนทำหมด"
นอกจากนี้ การที่มีฐานสมาชิกทั่วภูมิภาคก็เป็นข้อได้เปรียบประการหนึ่งเพราะทำให้ต้นทุนการซื้อซอฟต์แวร์มีราคาต่ำกว่าเช่น
การซื้อซอฟต์แวร์หนัง HBO นั้นจะคิดราคาต่อหัว หากปริมาณสมาชิกน้อย ก็มีค่าใช้จ่ายสูง
แต่ถ้าสมาชิกเยอะค่าใช้จ่ายก็ต่ำลง "เมื่อเราขอซื้อเขาเราก็ขอซื้อโดยมีฐานจากสมาชิกทั่วทั้งภูมิภาคซึ่งมีตัวเลขมากกว่า
ดังนั้นเมื่อมันลงมากระจายตามแต่ละประเทศ ตัวเลขก็จะถูกลงไปมากกว่า" สนธิเปิดเผย
แน่นอนว่า DBS ขาดประสบการณ์ในด้านการบริหาร แต่ก็มีผู้ร่วมถือหุ้นเช่น
อิโตชู ซึ่งประกอบการด้าน DTH ในญี่ปุ่นและ Echo Star เป็นผู้ประกอบการ DTH
ในสหรัฐอเมริกา
ในส่วนการบริหารดาวเทียม เจ้าหน้าที่ของ ABCN ได้รับการฝึกอบรมจากเทเลแซทของแคนาดา
โดย ABCN ทุ่มงบประมาณในเรื่องนี้ถึง 50 ล้านบาท เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนไทยและลาวจำนวน
30 คนเป็นเวลา 3 ปี ในเวลานี้พวกเขาก็กำลังเร่งศึกษาอยู่ จึงพอมีหลักประกันว่า
DBS และ ABCN ซึ่งอยู่ใต้ปีกเอ็มกรุ๊ป จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"พอ hugh DTV เกิดขึ้นก็มีเจ้าที่สองคือ Echo Star ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของเรา
เพราะฉะนั้นเราใช้เทคโนโลยีในเรื่องไดเร็กต์ทีวีจากเขาได้หมด เท่ากับเราไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์
Echo Star เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว ผลิตจานดาวเทียมออกขายไม่ทันเหมือนกัน
เขาเริ่มธุรกิจด้วยการทำเซ็ทท้อปบ็อกซ์แล้วจึงค่อยมาทำ DTH" สนธิกล่าว
Hugh DTV เป็น DTH เจ้าแรกในสหรัฐฯ ใช้เทคโนโลยี super high power ตอนแรกฮิวจ์คาดการณ์ว่าจะมีสมาชิกในปีแรก
2 แสนคน ปีที่สอง 5 แสนคน แต่พอดำเนินการได้สองปี สมาชิกทวีจำนวนถึง 3 ล้านกว่าราย
และหุ้นของฮิวจ์ไดเร็กต์ทีวีก็มีราคาสูงมากด้วย
เมื่อรู้ว่าเอ็มกรุ๊ปจะทำ DTH ฮิวจ์จึงขอถือหุ้นด้วย โดยขอเป็นผู้บริหารแต่เพียงผู้เดียว
แต่เอ็มกรุ๊ปไม่ยอมเพราะเห็นว่าหากให้ฮิวจ์บริหารคนเอเชียก็ไม่มีโอกาสเรียนรู้ธุรกิจ
ฮิวจ์เองก็จ้องขยายตลาดเข้ามาในเอเชียนานแล้ว จึงไม่แปลกที่จะต้องเสน่ห์ของแพล็ตฟอร์ม
เช่น แอล-สตาร์
"ระหว่างดู 20 ช่องกับ 150 ช่อง คุณจะเลือกอย่างไหน ในยุคโลกาภิวัตน์ยิ่งหลากหลายมากเท่าไร
ยิ่งได้เปรียบเท่านั้นอีกประการหนึ่ง DTH ของเรามีอะไรที่เป็นพิเศษ หากเป็นคนอินเดียที่อยู่ในประเทศไทยก็สามารถดูรายการอินเดียได้ทันทีเพราะทางเดอะไทมส์อินเดียจะผลิตซอฟต์แวร์แล้วส่งขึ้นแอล-สตาร์
จีนก็เหมือนกัน จำนวนช่องที่มากพอจะทำให้คนไทยที่อยู่ในฮ่องกง ญี่ปุ่น สามารถดูรายการของช่อง
3, 5, 7, 9, 11 และไอทีวี" สนธิให้ความเห็น
ในเรื่องการออกแบบระบบให้มีต้นทุนต่ำจะเห็นว่าโดยทั่วไปแล้วการแข่งขันสร้างดาวเทียมจะทำให้ราคาฮาร์ดแวร์ต่ำลงแต่กลับมีประสิทธิภาพดีขึ้น
ไม่ต่างจากธุรกิจคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ดีการขึ้นสู่วงโคจรช้ากว่า ทำให้เสียเปรียบในแง่ของการมีฐานลูกค้า
ทว่านี่เป็นปัญหาที่เกิดกับดาวเทียมบรอดคาสติ้ง ซึ่งยังมีคู่แข่งขันไม่มาก
ยกตัวอย่าง แม้อินเทลแซทจะส่งสัญญาณทีวีได้ แต่โดยทั่วไปแล้วอินเทลแซทถูกออกแบบให้เป็นดาวเทียมสื่อสารมิใช่บรอดคาสติ้ง
และเป็นธุรกิจให้เช่าช่องสัญญาณ ต่างจากแอล-สตาร์ ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มธุรกิจอย่างครบวงจร
ทั้งสองรายจึงไม่ใช่คู่แข่งขัน
ในกรณีของสตาร์ทีวี ต้องยอมรับว่าเป็นคู่แข่งของแอล-สตาร์ โดยตรง สตาร์ทีวีลงตลาดก่อน
สร้างความนิยม ยึดกุมลูกค้าไปแล้วอย่างมากมาย แต่จุดอ่อนของสตาร์ทีวีคือไม่มีแพล็ตฟอร์มเป็นของตนเอง
อาศัยการเช่าแพล็ตฟอร์มต่างๆ ส่งสัญญาณสร้างฟุตปรินท์ไปทั่ว สัญญาณในแต่ละแห่งมีความเข้มไม่เท่ากันจึงเกิดปัญหาในด้านความคมชัดของภาพ
นอกจากนี้สตาร์ทีวีขาดคู่ค้าท้องถิ่นในขณะที่เครือข่ายการจำหน่ายของแอล-สตาร์ออกแบบมาให้คู่ค้าท้องถิ่นได้ประโยชน์จึงมีข้อจูงใจในด้านการตลาดมากกว่า
เคล็ดลับดีไซน์ แอล-สตาร์
โดยเนื้อแท้แอล-สตาร์ เป็นธุรกิจที่ถูกดีไซน์เพื่อให้ได้ประโยชน์จาก Economy
of Scale ทั้ง 3 เขตที่ 3 ลำแสงทาบฟุตปรินท์ (foot print) ลงไป มีประชากรประมาณ
2,000 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก และเป็นตลาดบันเทิงที่กำลังเติบโต
เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุน จึงนับเป็นต้นทุนที่ต่ำมาก
แอล-สตาร์ 1 และ 2 มีน้ำหนักประมาณ 3,500 กิโลกรัม อายุการใช้งาน 14 ปี
แต่ละดวงมีช่องสัญญาณเคยูแบนด์ 32 ช่อง แต่ละช่องสัญญาณทีวีได้ 7-8 ช่อง
จึงเท่ากับว่าจุดขายคือมีช่องทีวีให้เลือกมากกว่า และสามารถเป็นพันธมิตรกับสถานีโทรทัศน์และสตูดิโอทั่วโลกเนื่องจากมีแพล็ตฟอร์มรองรับ
และมีขนาดตลาดที่ใหญ่
ส่งผลไปถึงการซื้อซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า ซอฟต์แวร์อินเตอร์เนชั่นแนล และสเปเชียลซอฟต์แวร์
การมีผู้ดูมากทำให้มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำมาก
การลงทุนสร้างและจำหน่ายจานดาวเทียมและเซ็ทท้อปบ็อกซ์ (ฮาร์ดแวร์ซึ่งทำหน้าที่ประมวลผล
มีลักษณะเป็นนาวิเกเตอร์สำหรับเลือกชมรายการ และโต้ตอบแบบอินเตอร์แอกทีฟ)
ก็จะได้ประโยชน์จาก Economy of Scale เช่นเดียวกัน จุดแข็งนี้ส่งผลไปถึงการจัดไฟแนนซ์กล่าวคือสร้างฐานผู้ชมรายการโดยใช้วิธีใให้เช่าซื้อจานดาวเทียมและเซ็ทท้อปบ็อกซ์
DBS ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาร์เก็ตติ้งอาร์มของ แอล-สตาร์ กำลังเตรียมทำตลาดอย่างจริงจัง
"ตอนนี้อยู่ในขั้นตระเตรียมอุปกรณ์ภาครับ เช่น จานดาวเทียม และเซ็ทท้อปบ็อกซ์
เราจะให้บริการพร้อมกันทุกประเทศ โดยการสั่งอุปกรณ์ล่วงหน้า 3 ปี หรือ 3
ล้านชุด วิธีนี้จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง สามารถมใช้กลยุทธ์การตลาดมากระตุ้นความต้องการผู้บริโภค"
สุรเดช มุขยางกูรกล่าว
เขาเชื่อว่าคนที่อยากทำธุรกิจอย่างแอล-สตาร์ มีมาก แต่ก่อนที่รายอื่นจะยิงดาวเทียมในอีก
4-5 ปีข้างหน้า DBS ก็มีสมาชิกไปหลายล้านคน เป็นไปตามหมายกำหนดการ
แหล่งข่าวระดับสูงใน ABCN กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามหมายกำหนดการอย่างแน่นอน
เพราะธุรกิจจะดำเนินไปไม่ได้ หากมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งชะงัก
ก่อนจะยิงดาวเทียมแอล-สตาร์ 1 ในเดือนธันวาคมปี 2540 นี้ สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินที่เวียงจันทน์และสถานีสำรองที่เพิร์ธ
ออสเตรเลีย ก็จะต้องก่อสร้างเสร็จเสียก่อน ABCN ยังมีสถานีสำรองอีกแห่งหนึ่งที่กรุงออตตาวา
แคนาดา โดยได้รับความร่วมมือจากเทเลแซท ส่วนศูนย์แพร่ภาพที่แหลมฉบังก็จะต้องเสร็จก่อนหน้ายิงดาวเทียมเช่นเดียวกัน
"ปลายปีนี้แอล-สตาร์ 1 ขึ้นสู่วงโคจรแน่" เขาย้ำ
ในขณะที่ "ผู้จัดการ" เหลือบไปเห็นป้าย ABCN หน้าสำนักงานเป็นเพียงแผ่นกระดาษบางๆ
ง่ายที่จะร่วงหล่น สนธิ นักสู้-นักฝัน
"สนธิเป็นคนชอบฝัน แต่เขาก็ทำจริง ตอนทำผู้จัดการร่วมกันใหม่ๆ เขาจะชอบนั่งคุยถึงความคิดของเขา
อยากทำนั่นทำนี่ และก็มักจะย้ำว่าเราจะต้องทำให้ได้" ไพศาล มังกรไชยา กล่าว
อดีตเขาคือบรรณาธิการบริหารนิตยสารผู้จัดการ ปัจจุบันคือ ผู้อำนวยการกองข่าวของฐานเศรษฐกิจ
กนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้จัดการแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป ปัจจุบันกรรมการผู้จัดการบริษัท
โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด กล่าวในทำนองเดียวกับไพศาลว่า "พี่สนธิแกเป็นคนดี
แต่แกก็เหมือนคนติดบุหรี่ คือเห็นอะไรก็อยากทำไปหมดปัญหาก็คือเรื่องการควบคุมต้นทุน
เช่น จะทำหนังสือเล่มใหม่เราก็น่าเอานักข่าวที่มีอยู่แล้วไปทำ เพราะคนมันก็ล้นเกินอยู่แล้ว
แต่ผู้จัดการก็มักจะรับคนเข้ามาอีก"
ความผิดพลาดในทำนองนี้ทำให้สนธิดูเหมือนจะพ่ายแพ้ ทั้งที่เขาสามารถดีไซน์เรื่องดาวเทียมโดยอาศัยแต้มต่อในแง่ต้นทุนเป็นหลักใหญ่
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็จะตำหนิสนธิไม่ได้
บ่อยครั้งทีเดียวที่รู้ว่าธุรกิจบางตัวทำแล้วก็ขาดทุน แต่เขาก็ยินดีเปิดโอกาสให้กับความใฝ่ฝัน
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในกรณี รุ่งมณี เมฆโสภณ ผู้อำนวยการโครงการวิทยุผู้จัดการ
ซึ่งประสบปัญหาขาดทุน จนต้องปรับกลยุทธ์ให้บริษัทอื่นเข้าร่วมธุรกิจ โดยแบ่งช่วงเวลาไปทำขณะที่วิทยุผู้จัดการยังออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์
4 ชั่วโมง ทำให้จากขาดทุนเดือนละสามล้านบาทเริ่มจะมีกำไรเดือนละ 1 ล้านบาท
เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าสถานีอีก 20 ชั่วโมง ซึ่งแพงมาก
"สบายตัวขึ้นเยอะเลย ไม่ต้องทำรายการตั้ง 24 ชั่วโมง เราก็มุ่งให้ 4 ชั่วโมงที่เรามีอยู่
มีคุณภาพ ต้องขอบคุณคุณสนธิมากๆ ที่เปิดโอกาสให้ทำวิทยุเพราะได้เรียนรู้ทุกอย่าง"
รุ่งมณีกล่าว
ความใฝ่ฝันเรื่องดาวเทียมของสนธิให้โอกาสแก่ใคร?
150 ช่องที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง เป็นโปรดักชั่นเฮาส์จำนวนมากเพราะแอล-สตาร์
ก็เป็น Back Bone ที่จะเกิดธุรกิจได้อีกนับร้อยชนิดเหมือนเคเบิลใยแก้วของเทเลคอมเอเซีย
เพียงแต่ต้นทุนสื่อสารดาวเทียมย่อมต่ำกว่าแต่สามารถให้ภาพระดับเลเซอร์ดิสก์ได้เช่นเดียวกัน
นี่เป็นการเริ่มต้น ซึ่งทำให้ชีวิตที่ดูเหมือนจะแพ้ ยังมีโอกาสแผ้วทางไปสู่ชัยชนะ!!