หากมองผ่านทะลุระเบียงเข้าไปภายในห้องต่าง ๆ ของอาคารแห่งหนึ่ง คุณก็จะมองเห็นชายหนุ่ม 7 คนอัดกันอยู่ในห้องขนาด 12 ตารางเมตรซึ่งรายล้อมไปด้วยเตียงเหล็ก, พื้นคอนกรีต, หน้าต่างที่ผุพัง รวมทั้งเก้าอี้ตัวหยาบมองดูเผิน ๆ คุณอาจจะคิดว่ามันคือคุก แต่แท้จริงแล้วมันคือหอพักของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้คือ มหาวิทยาลัยเจียวตง ซึ่งเป็นที่เพาะของความรู้ด้านวิศวกรรม
แม้ว่าจะต้องนั่งทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าพิสมัยเท่าใดนัก นักศึกษาภาควิศวกรรมไฟฟ้าวัย 22 ปีอย่างหยาน กังร่ง ก็ยังสามารถแบกรับภาระการเรียนอันหนักอึ้งไว้ได้อย่างไม่ครั่นคร้าม หยานเชี่ยวชาญทั้งในเรื่องของการคำนวณชั้นสูง, คณิตศาสตร์, ทฤษฎีคอมพิวเตอร์, ฟิสิกส์กลศาสตร์, การบริหารธุรกิจ, เศรษฐกิจแบบไมโคร รวมทั้งการออกแบบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
หยานอุทิศเวลาว่างทั้งหมดให้กับความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ของอเมริกา รวมทั้งการออกแบบซอฟท์แวร์สำหรับการให้บริการด้านยาแก่บริษัทท้องถิ่นแห่งหนึ่งจากเครื่องพีซีที่ยืมผู้อื่นมา อนาคตของเขาหวังที่จะเข้าทำงานในบริษัทไฮเทคของต่างชาติหลังจากจบการศึกษาแล้ว
จำนวนนักศึกษาที่เปี่ยมด้วยความสามารถเหมือน อย่างเช่นหนุ่มรายนี้ ถือเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้บริษัทข้ามชาติจำนวนมากต่างพากันชื่นชมในศักยภาพของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ นักธุรกิจต่างชาติบางรายอาจจะมองเพียงแค่ปัญหาคอขวดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งการปล่อยปละละเลยในของคุณภาพและการบริหารของจีน ในขณะที่อีกหลายรายเล็งเห็นถึงพลังอำนาจอันสูงส่งของศตวรรษที่ 21 ในจีน ดังเช่นคำกล่าวสนับสนุนของ อัลเบิร์ต ซิว ผู้อำนวยการด้านทรัพยากรมนุษย์ ของเอที แอนด์ ที ไชน่า อิงค์ ที่ว่า “เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง มีมหาวิทยาลัยที่ดีมีการวางนโยบาย เศรษฐกิจล่วงหน้า รวมทั้งเป็นแหล่งป้อนวิศวกรขนาดใหญ่อีกด้วย”
ภายในปี 2000 เซี่ยงไฮ้หวังที่จะมีอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมียอดขายในแต่ละปีมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์เทียบกับ 80 ล้านในปี 1993 ทั้งยังตั้งเป้าไว้ว่าจะมีการว่าจ้างวิศวกรถึง 30,000 รายให้เข้าทำงานในศูนย์ซอฟท์แวร์ซึ่งได้วางแผนที่จะสร้างขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เซี่ยงไฮ้อาจไปไม่ถึงดวงดาวหากปราศจากความช่วยเหลือของต่างชาติ
บรรดานักวางแผนต้องการที่จะให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและการวิจัยหลักระหว่างประเทศเหมือนอย่างเช่นไต้หวัน, เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ปัจจัยดึงดูดของเมืองนี้ก็คือการมีวิศวกรที่หลั่งไหลออกจากมหาวิทยาลัยนับสิบ ๆ แห่งที่มีค่าจ้างแรงงานถูก แถมยังเพียบพร้อมด้วยความสามารถ
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเงินสดอย่างเช่นที่เจียวตงแห่งนี้ซึ่งมีนักศึกษาด้านคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อยู่ 2,000 คนซึ่งนักเรียนเหล่านี้มีความสามารถในการเรียนรู้ทฤษฎีความรู้ขั้นพื้นฐานได้อย่างรวดเร็ว แต่ในเรื่องของการเตรียมตัวไปพบกับการทำงานในระบบเศรษฐกิจแล้วดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่พร้อมเอาเสียเลย
เจียวตงพยายามอย่างมากในการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งข้างต้น และเพื่อเป็นการเตรียมนักศึกษาให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในยุคมัลติมีเดีย เจียวตง ก็ได้ริเริ่มสอดแทรกการฝึกหัดการเรียนสาขาอื่นเข้าไปด้วยซึ่งถือเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในเอเชียแห่งแรก ๆ ที่ริเริ่มทำแบบนี้ โดยส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าคอร์สในสาขานอกเหนือจากวิศวกรรม อย่างเช่น การบริหารธุรกิจ
ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการศึกษา ซึ่งในเรื่องนี้บรรษัทข้ามชาติสามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้อย่างมาก อย่างเช่นไมโครซอฟท์ บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งได้บริจากพีซี 25 เครื่องให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ในเซี่ยงไฮ้ หรือฮันนี่ เวลล์อิงค์ซึ่งได้ส่งมอบระบบความช่วยเหลือด้านการผลิตและการออกแบบคอมพิวเตอร์, มัตซูชิตะ อิเล็กทริก เวิร์กสซึ่งได้บริจาคเครื่องจักรที่จำเป็นต่อการออกแบบหุ่นยนต์
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับอินเทล, ดิจิตอล อิควิปเมนท์, ไอบีเอ็มและบริษัทอื่น ๆ อีกหลายแห่งเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านการเงินในการสร้างศูนย์ห้องทดลองไฮเทค บนตึกขนาด 24 ชั้นมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ซึ่งมีกำหนดเปิดในปี 1996
ในปัจจุบัน บรรษัทข้ามชาติอย่างเช่น เจเนรัล อิเล็กทริก, ฟิลิปส์, ฟ็อกซ์โบโร และ อินเว็นเทค ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ของไต้หวันล้วนแล้วแต่เข้ามาเปิดโรงงานคอมพิวเตอร์หลายแห่งตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์ไฮเทคเกาเหอจิง โดยบรรษัทส่วนใหญ่เชื่อว่าในระยะยาวแล้วเซี่ยงไฮ้จะก้าวขึ้นเป็นฐาน วิศวกรรมของโลกเท่าเทียมกับไต้หวัน และสิงคโปร์ทีเดียว
|