|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2538
|
|
ข่าวลือ “ลดค่าเงินบาท” ที่เกิดจากฤทธิ์ร้ายเม็กซิโกโฟเบียได้เริ่มโหมกระแสขึ้นตั้งแต่ วันพุธที่ 11 มกราคม นักลงทุนฮ่องกงและอเมริกาบางคนเริ่มมีคำสั่งซื้อดอลลาร์คืนขายเงินบาท เพราะไม่มั่นใจว่าวิกฤติลดค่าเงินบาทอาจจะเกิดขึ้นในไทย โดยมีสมมุตฐานมาจากการตีความข้อเขียนวิเคราะห์ของจิม วอคเกอร์ ที่ตีพิมพ์ในอาเชี่ยนมอร์นิ่งไลน์ของเครดิต ลิยอนแนส์ ซิเคียวริตี้ โบรกเกอร์ใหญ่ที่ฮ่องกง
รุ่งขึ้นวันพฤหัส สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนัก เมื่อแบงก์พาณิชย์ไทยเริ่มเห็นคำสั่งซื้อดอลลาร์เข้ามามาก และในตลาดรับซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลหรือ “อาร์พี” ในเช้าวันนั้นมีการขอกู้มาก ๆ
ตกบ่าย “ฮอตไลน์” ถึงแบงก์ชาติเป็นไปจากทุกสารทิศ ไม่ว่าเสียงจากแบงก์พาณิชย์ไทยเทศที่รีบแจ้งแบงก์ชาติว่า ในตลาดฮ่องกงและสิงคโปร์มีคำสั่งซื้อดอลลาร์และขายเงินบาทมากผิดปกติ
“เหตุการณ์นี้ต้องเรียกว่า ATTACK แบบขายเงินทุกสกุลในละแวกภูมิภาคนี้ คือขายทั้งเงินบาท เงินริงกิต เงินเปโซ เป็นที่คาดหมายว่าเป็นการลดพอร์ตการลงทุนแถบเอเชียนี้ เพื่อเอากลับไปลงทุนในประเทศเม็กซิโกที่ตลาดหุ้นที่โน่นตกลงมาก ๆ บางคนก็ว่า พอร์ตของเขาในเม็กซิโกขาดทุนมาก จึงต้องลดพอร์ตที่นี่เพื่อเอาไปชดเชยกัน” นพมาศ มโนลีหกุล ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการแบงก์ชาติ เล่าให้ฟัง
ผลกระทบจากการถอนพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติที่มีความเคลื่อนไหวเงินทุนระยะสั้นผนวกกับข่าวการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้ส่งผลสะเทือนหนักต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย จนกระทั่งถึงวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นลงลึกเหลือเพียง 1191.26 จุดเท่านั้นเอง
ท่ามกลางภาวะสับสนของกระแสข่าวลือ สถาบันการเงินแต่ละแห่งก็ต้องป้องกันตัวเอง ด้วยวิธีการโค้ดราคาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสกุลดอลลาร์สูงพรวดจาก 25.25 พุ่งเป็น 25.80 บาทต่อดอลลาร์
ภาวะผันผวนสุดขีด ได้กลายเป็นไฟลามทุ่งที่โฆษกแบงก์ชาติคนใหม่ต้องรับภารกิจสำคัญออกมาแถลงข่าวดับกระแสตื่นตระหนก ดังที่เธอเล่าให้ฟังว่า
“พอเราทราบเหตุการณ์ปั๊ป ทางเราก็วิเคราะห์สถานการณ์แล้วเห็นว่า ต้องทำให้สถาบันการเงินมั่นใจก่อน คือหนึ่ง- เราออกข่าวยืนยันว่าไม่มีการลดค่าเงินบาท ขณะเดียวกันเราก็ปล่อยเงินนับเข้าตลาดเงินผ่านทางตลาดรับซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล และ LOAN WINDOW พร้อมทั้งยืนยันกับแบงก์พาณิชย์ไทยว่าจะช่วยสนับสนุนเต็มที่ให้เขาขายดอลลาร์ไปได้เท่าที่จำเป็นถ้าเขาต้องการเงินบาทเราก็ยินดีปล่อยให้ หรือถ้าเขาจะเปิดออฟฟิศขายดอลลาร์ รับซื้อบาทคืนจากสาขาในต่างประเทศเช่น ลอนดอนหรือนิวยอร์ก เราก็ให้ทำได้”
ตกเย็นวันนั้น ปัญหาดูเหมือนเริ่มคลี่คลาย อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ลดจาก 25.80 เป็น 25.25-25.30 บาท แต่ก็ยังนับว่าสูงพอสมควร
เช้าตรู่ของศุกร์ 13 ฝันร้ายปรากฏมาในรูปของอินเตอร์แบงก์เรตที่ให้กู้ยืมกันระหว่างแบงก์กระโดดขึ้นไปสูงมาก ๆ จาก 10-13% เป็น 30-50% และบางแบงก์ไทยโค้ดราคากันสุดฤทธิ์สุดเดชถึง 100% ก็มีเหตุผลคือป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง
แบงก์ต่างประเทศในไทยแทบกระอักเลือด เพราะไม่มีปัญญาไปหาเงินบาทมา ทั้ง ๆ ที่ ได้รับคำสั่งซื้อเงินบาทจากต่างประเทศเข้ามามาก เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่จึงวิ่งมากู้กับแบงก์พาณิชย์ไทยซึ่งก็ตกที่นั่งลำบาก เหมือนกันคือ ขาดเงินบาท !?
ประสบการณ์จากการลดค่าเงินบาทในปี 2527 แบงก์ชาติจึงประกาศยืนยันความสนับสนุนเต็มที่ในการปล่อยเงินเข้าทั้งในตลาดรับซื้อคืนพันธบัตรและ LOAN WINDOW ขณะเดียวกัน แบงก์ต่างประเทศก็สามารถเอาดอลลาร์มา SWAP ประกันความเสี่ยงขายแลกดอลลาร์เป็นเงินบาทได้ โดยมีสัญญาว่าอีก 7 วันเอาเงินบาทมาซื้อดอลลาร์คืนไป
“แบงก์ต่างประเทศเขาจึงหาเงินบาทได้โดยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและการปล่อยเงินบาทในแง่ของแบงก์ชาติ เราคิดดอกเบี้ยเขาแค่อัตรา 9.5% เท่ากับ เปิดหน้าต่าง LOAN WINDOW ให้เขา เพราะแบงก์ต่างประเทศในไทยไม่มีหรือแทบจะมีพันธบัตรน้อยมากที่จะเอามาแลกเงินบาทได้” นพมาศเล่าให้ฟังถึงความช่วยเหลือนี้
ปรากฏว่า สิ้นวันศุกร์ 13 ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจของคนแบงก์ชาติ อินเตอร์แบงก์เรต ลดลงมาเหลือเพียง 11% จากตอนเช้าที่ตัวเลขขึ้นไปแบบบ้าเลือดถึง 40-50% ส่วนดอลลาร์ก็ลดลงเหลือ 25.10-25.15 บาท
สัปดาห์ต่อมา ความมั่นใจเริ่มคืนกลับสู่ภาวะการเงินไทย ขณะที่แบงก์ชาติได้ดำเนินนโยบายต่อเนื่อง ในการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบและเปิดหน้าต่างกู้ยืมให้ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ลดมา ๆ จนใกล้เคียงกับอัตราที่ทุนรักษาระดับกำหนดไว้ 25.04 บาท และอินเตอร์แบงก์เรตเหลือ 10-13%
บทเรียนต้นปีจากข่าวลือลดค่าเงินบาทนี้ ได้สะท้อนว่ายังมีงานด้านนโยบายอีกอย่างหนึ่ง ที่แบงก์ชาติต้องเร่งมือทำนั่นก็คือ “การพัฒนาตลาดตราสารการเงิน” เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพราะบางแบงก์มีพันธบัตรของรัฐบาลสำรองน้อยมาก เนื่องจากแบงก์คิดว่าพันธบัตรรัฐบาลให้รายได้แก่แบงก์น้อยเกินไป แต่ในยามวิกฤต เมื่อหน้าต่าง LOAN WINDOW ของแบงก์ชาติเปิด หากใครมีพันธบัตรน้อยก็กู้ได้น้อย นี่คือปัญหา!
หลังมรสุมข่าวลือผ่านพ้นไป ฟ้าเริ่มใส ในงานเลี้ยงสื่อมวลชน ผู้ว่าแบงก์ชาติและคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงมีอารมณ์ชื่นมื่นพอที่จะร้องรำทำเพลงได้อย่างสนุกสนาน
แต่คนที่ยิ้มสวยในงานเห็นจะไม่พ้น “นพมาศ มโนลีหกุล” โฆษกสาวที่มีลักษณะโหงว- เฮ้งเด่นที่ “ไฝมหาลาภ” สองเม็ดเล่าให้ฟังถึงภารกิจใหม่ที่ทำนี้ว่า
“ไม่เบื่อ และไม่ตื่นเต้นเลยเมื่อทราบข่าวลือ เพราะเคยเห็นอย่างนี้มาแล้วในเมืองนอก เพราะเมื่อก่อนตามข่าวต่างประเทศ แต่คงตื่นเต้นเมื่อเทียบกับปี 2527 ที่เคยลดค่าเงินบาท แต่หนนี้เรื่องมันง่ายกว่ากันเยอะเลย เพราะมันเป็นเพียงข่าวลือ แต่หนที่แล้วเราไม่มีเงินจริง ๆ !!
ภารกิจข้างหน้ายังรอการพิสูจน์จากโฆษกแบงก์ชาติคนใหม่อีกมากมาย จับตากันให้ดีว่า ผู้หญิงเก่งคนนี้จะทำหน้าที่ได้ดีสักเพียงใด ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผันผวนยิ่งกว่าที่เคยมีมา
|
|
|
|
|