|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2538
|
|
การเปิดตัวรถยนต์นิสสัน ซันนี่ โฉมใหม่ โดยบริษัท สยามกลการ จำกัด เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการเริ่มต้นยุคของพรเทพ พรประภา ในฐานะของกรรมการผู้จัดการใหญ่ อย่างแท้จริงก็ว่าได้
ตลอดระยะเวลาปีเศษนับจาก 5 ตุลาคม 2536 ที่ “พรเทพ” ดึงอำนาจการบริหารงานของสยามกลการ จากคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช พี่สาวมาได้สำเร็จ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดในด้านผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนและจริงจัง เช่นการเปิดตัวนิสสัน ซันนี่ โฉมใหม่นี้
ยุคของพรเทพ เป็นยุคที่สามของสยามกลการหลังจากที่ถาวร พรประภา เจ้าสัวผู้บุกเบิกจนอาณาจักรแห่งนี้เติบใหญ่ผ่านพ้นวิกฤต และยิ่งใหญ่ในยุครุ่งเรือง จนถึงยุคของคุณหญิงพรทิพย์ ที่ชื่อเสียงของสยามกลการ แผ่กว้างไปทั่วไม่เพียงระดับประเทศ แต่กว้างไกลถึงระดับนานาชาติ จนสยามกลการหรือนิสสันไทย กลายเป็นเป้าหมายหนึ่งที่นิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่น จะผลักดันให้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาค
แต่แล้วช่วงปลายยุคของคุณหญิง ด้วยปัญหาที่สั่งสมมาตลอดระยะหลัง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบองค์กร แผนงานต่าง ๆ ที่ดูจะไม่ทันเกมการตลาดที่ร้อนระอุยิ่ง หลังจากไทยเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์นั่ง ทำให้นิสสัน มอเตอร์ เพิ่มแรงกดดันอย่างหนัก ด้วยเกรงว่าความตกต่ำของนิสสันไทยในระยะสั้น จะฟื้นคืนยาก ถ้าปล่อยให้เนิ่นนาน ประกอบกับสถานการณ์ของนิสสัน มอเตอร์เองไม่ค่อยดีนักในช่วงนั้น
ปัญหาที่ก่อตัวจากเรื่องงาน จึงกลายเป็นเหตุผล ที่ต่อมาทำให้ “ศึกสายเลือด” ปะทุขึ้นอีกครั้ง และระเบิดขึ้น
ที่สุด พรเทพ จึงเข้ามากุมอำนาจ
ที่ว่าการเปิดตัวนิสสัน ซันนี่ โฉมใหม่ ไม่ต่างจากการเริ่มต้นยุคของพรเทพ นั้นมีมุมมองหลากหลายสอดรับ
หลังจากรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แล้ว สิ่งที่พรเทพ ต้องเร่งรีบคือการจัดโครงสร้างองค์กร ซึ่งเน้นหนักไปที่ตัวบุคคล เพื่อการทำงานที่คล่องตัว เป็นผลให้ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงในด้านตัวบุคคลยกใหญ่ และคงไม่ต้องกล่าวว่าเปลี่ยนแปลงเช่นไร
นอกจากบุคคลากรแล้ว แผนงานและช่องทางการค้าขายได้ถูกรื้อระบบ เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
จากเดิมสยามกลการถือเป็นบริษัทค้ารถยนต์ของไทยที่มีสาขามากที่สุด และนับเป็นต้นแบบของช่องทางการจำหน่ายในระบบนี้ของไทยทีเดียว แต่เมื่อพรเทพ เข้ามาบริหารจึงมีการเปลี่ยนพรเทพ ประกาศขายสาขาส่วนใหญ่ให้กับนักลงทุนท้องถิ่น พร้อมกับปรับระบบการจำหน่ายจากสาขามาเป็นระบบดีลเลอร์ ซึ่งครั้งนั้นเข้าใจว่าเงินจากการขายสาขาหมุนกลับเข้ามาเป็นรายได้ของบริษัทนับพันล้านบาท
และจากการพลิกนโยบายครั้งใหญ่นี้ เป็นผลให้คุณหญิงพรทิพย์ ถูกปลดเป็นครั้งที่สอง จากตำแหน่งกรรมการของสยามกลการ ในลักษณะหมดสิ้นเยื่อใยต่อกัน
เหตุแห่งการปลดครั้งสุดท้ายนี้ เพราะคำกล่าวท้วงติงของคุณหญิงที่มองว่า การพลิกนโยบายจากสาขาเป็นดีลเลอร์ และการขายสาขาออกไปนั้น ไม่ใช่สิ่งจำเป็นของสยามกลการ ที่สำคัญมองว่าการทำเช่นนี้เป็นขายทรัพย์สินที่รุ่นก่อน ๆ เคยสร้างกันมา ซึ่งเหมือนกับว่าสยามกลการถึงยุคการขายของเก่ากิน
สำหรับการพลิกนโยบายช่องทางการจำหน่ายครั้งนี้ ไม่มีใครกล้าชี้ชัดว่า ถูกหรือผิด และเหตุผลที่แท้จริงคืออะไรคงมีแต่กาลเวลา และ พรเทพเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การสร้างเครือข่าย ช่องทางการจำหน่ายด้วยระบบดีลเลอร์นั้น ในยุคหลัง มักประสบความสำเร็จค่อนข้างมากในบริษัทรถยนต์หลายแห่ง ด้วยความได้เปรียบที่ชัดเจน คือ เงินลงทุน ที่บริษัทผู้จำหน่ายและผลิตรถยนต์ ไม่ต้องทุ่มลงไป และการช่วงชิงตลาดในท้องที่ต่าง ๆ รวดเร็วกว่า ชำนาญพื้นที่มากกว่า มีการควบคุมดูแลใกล้ชิดกว่า ด้วยเถ้าแก่เจ้าของดีลเลอร์นั้น ๆ
ระยะเวลา 1 ปีเศษของพรเทพ หลังรับตำแหน่งเสมือนการเตรียมตัว จัดรูปแบบองค์กร สะสางเรื่องเก่าให้เป็นตามวิถีตน เพื่อการค้าที่จะเดินไปข้างหน้า นี่จึงเป็นเหตุผลที่มองว่าถึงยุคของพรเทพอย่างแท้จริง
หนึ่งปีที่ผ่านมาของสยามกลการ ในด้านการค้าหรือการตลาดนั้น ทุกอย่างเกือบจะเรียกได้ว่ากลับสู่ความว่างเปล่าโดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งซึ่งถือเป็นความท้าทายของบริษัทรถยนต์ทั้งหลายเนื่องจาก ภาวะการแข่งขันรุนแรงมาก
ปี 2537 สยามกลการไม่มีกิจกรรมทางการตลาดที่เด่นชัดแม้แต่น้อย จนชื่อของรถยนต์ นิสสัน แทบจะลบเลือนไปจากความทรงจำของคนไทยการออกรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น เอ็นวี ปิกอัพ และปรับโฉม เล็ก ๆ น้อยในรุ่นอื่นล้วนเป็นงานที่ตกค้างมาจากยุคก่อน
ความเงียบเหงาเหล่านั้นสะท้อนเป็นรูปธรรม เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาเมื่อพบว่า รถยนต์นั่ง นิสสัน จากที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตเทียบเทียม โตโยต้า กลับตกต่ำอย่างที่สุดกว่ายุคใด
ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งนิสสัน ตลอดปี 2537 มีเพียง 5,623 คัน ขณะที่ปี 2536 ยอดจำหน่ายมีถึง 23,342 คันยอดจำหน่ายตกต่ำถึง 4 เท่าตัวและกลายเป็นอันดับ 8 ของตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทย เป็นรองแม้กระทั่งเมอร์เซเดส-เบนซ์และบีเอ็มดับบลิว รถยนต์นั่งระดับหรูหรา ซึ่งยอดจำหน่ายต่อปีไม่มากนัก
ด้านรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็นปิกอัพขนาดเล็กหรือใหญ่ หรือรถตู้ของนิสสันล้วนมีสถานการณ์ไม่แตกต่าง เพียงแต่ไม่เลวร้ายลงไปมากนักเท่านั้น
ดูเหมือนว่า สถานการณ์ที่ผ่านมา 1 ปีเศษ ทางนิสสันมอเตอร์ จะทราบเรื่องราวทั้งหมดดี การปล่อยเวลาให้ผ่านไป ก็เพื่อการวางแผนที่รัดกุมและมองอนาคตอย่างยาวไกลเป็นการยอมเสียโอกาส ในช่วงสั้นเพื่อที่จะกลับมาอีกครั้งในระยะยาว
เข้าใจว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2537 เป็นการปรับด้านโครงสร้างบริษัทด้านการตลาดครึ่งปีหลัง 2537 เป็นการปรับขบวนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน เช่น สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ 10-15% ทั้งนี้ตามคำกล่าวของผู้บริหารในงานเปิดตัว นิสสัน ซันนี่โฉมใหม่
ผลงานชิ้นแรกของสยามกลการ ยุคใหม่ ก็คือ นิสสันซันนี่ โฉมใหม่ ซึ่งเป็นบทสรุปว่า นิสสัน มอเตอร์ ยอมรับแผนงานทั้งหมดของทีมบริหารชุดนี้แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากปลายปี 2536 ในช่วงที่มีปัญหาภายในตระกูลพรประภา นั้นทางนิสสันมอเตอร์ ได้กำชับผ่านผู้บริหารของบริษัท ที่มาร่วมงานเปิดตัว นิสสัน เอ็นวี ในเมืองไทย เมื่อครั้งนั้น โดยให้ทาง “พรประภา” จัดการปัญหาทุกอย่างให้จบสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งวางแผนการตลาด และภาคการผลิต ให้ทันเกมการแข่งขันในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นแล้ว นิสสัน มอเตอร์ จะไม่ส่งรถยนต์รุ่นใหม่ ให้กับสยามกลการทำตลาดในเมืองไทยอีกต่อไป ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็เท่ากับ สยามกลการ รอวันปิดกิจการเท่านั้นเอง
ในระยะนั้นจึงมีข่าวตามมาว่า นิสสัน มอเตอร์ จะเข้าเทกโอเวอร์ โรงงานสยาม นิสสัน ออโตโมบิล ในไทย ซึ่งคืบคลานไปถึงการบุกเข้าค้ารถยนต์นิสสันในไทยด้วยตัวเองซึ่งต่อมาได้มีการปฏิเสธข่าวดังกล่าว และการเปิดตัวนิสสันซันนี่ โฉมใหม่ ก็เป็นการยืนยันว่า นิสสัน มอเตอร์และสยามกลการ ยังผูกสัมพันธ์เพื่อค้ารถยนต์ในเมืองไทยต่อไป
นายโยชิคาสุ คาวานารองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ของนิสสัน มอเตอร์ แห่งประเทศญี่ปุ่น ที่ร่วมงานเปิดตัวนิสสันซันนี่ โฉมใหม่ ได้กล่าวอย่างมีความหมายว่า “บริษัท มีความพอใจกับผู้บริหารของสยามกลการ ชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของพรเทพ พรประภา และพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกด้านและแม้ว่าสถานการณ์ตลาดรถยนต์นิสสันในไทยจะตกต่ำลงแต่ก็พอใจในการปรับเปลี่ยนระบบช่องทางการจัดจำหน่ายจากระบบสาขามาเป็นดีลเลอร์ของสยามกลการ ส่วนแผนการลงทุนนั้น ทุกอย่างเพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว ซึ่งหวังว่านิสสัน จะกลับมายิ่งใหญ่ในตลาดเมืองไทยได้อีก อย่างไรก็ตาม จะต้องก้าวขึ้นไปอย่างเป็นขั้นตอน โดยมีแบบแผนในขณะนี้ บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือกมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี การพัฒนาสินค้า การพัฒนาตลาดและด้านวิศวกรรม”
การเดินทางมาปีเศษของสยามกลการ ในช่วงที่เส้นชีวิตดิ่งเหวอย่างที่สุด จนถึงวันนี้จนถึงการเปิดตัวนิสสัน ซันนี่โฉมใหม่ ดูเสมือนว่า บทสรุปทั้งหลายกระจ่างชัดขึ้น
สยามกลการ ยุค พรเทพ พระประภา มีหวังหรือไม่ น่าเกรงขามต่อคู่แข่งหรือไม่ เป็นเรื่องที่ดูไม่ยากแล้ว
|
|
|
|
|