Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2538
โสภณ สุภาพงษ์ จับชาวไร่มาเป็นเจ้าของปั๊ม             
 





โสภณ สุภาพงษ์ หัวเรือใหญ่ของบางจากฯ กล่าวเสมอว่า “ทุกครั้งที่ผมออกจากเมืองไทย มันคล้าย ๆ กับผมได้เดินออกมาจากที่ไหนซักแห่งหนึ่งที่เขาเรียกว่า “ซ่อง” เพื่อนต่างประเทศมักถามถึงว่าที่นั่นเป็นอย่างไร เขาถามเหมือนกับผมได้เดินออกมาจากที่นั่นเมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะอยู่เฉยได้อย่างไร ผมคิดว่าจะต้องเป็นหน้าที่อะไรสักอย่างในเรื่องพวกนี้ และนี่เป็นเหตุหนึ่งที่บางจากฯ เข้ามาดำเนินการเรื่องนี้และถือเป็นนโยบาย” ก่อนที่จะแจงปัญหาสังคมอย่างสมเหตุสมผลกับ “ผู้จัดการ” ต่อไป

เหตุนี้ การวางแนวทางนโยบายธุรกิจที่ยั่งยืนและกำไรไปพร้อม ๆ กับคนส่วนใหญ่คือ สิ่งที่โสภณผลักดันและปฏิบัติอย่างจริงจัง ตลอด 8 ปีนับแต่เข้ามาบริหาร

“ธุรกิจลักษณะรวยคนเดียวมันจะต้องจบลงในช่วงต่อไป เพราะว่าสังคมรับไม่ไหวแล้ว” หนุ่มใหญ่วัย 48 กล่าวย้ำอีก

ซึ่งการกำไรไปพร้อม ๆ คนส่วนใหญ่ของโสภณ มิใช่แค่ราคาคุยเท่านั้น แต่หมายถึงปั๊มสหกรณ์การเกษตรขนาดเล็กที่เริ่มมาตั้งแต่ 2533 จนปัจจุบันมีกว่า 370 แห่งทั่วประเทศแล้ว มูลค่า ค้าขายกว่า 2,000 ล้านบาท กำไรกว่า 180 ล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มไปถึง 1,000 แห่ง ภายในสิ้นปี 2540

จากจำนวนปั๊มขนาดเล็กที่เริ่มขายเฉพาะน้ำมันดีเซล ล่าสุดได้พัฒนาเป็นปั๊มมาตรฐานเหมือนที่อยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว 5 แห่ง คือ ปั๊มสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง, สหกรณ์การเกษตรสันกำแพง, สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ด, สหกรณ์การเกษตรแม่ริม และสหกรณ์ศูนย์กลางผู้บริโภคภาคเหนือ รวมถึงที่กำลังจะพัฒนาขึ้นอีกอย่างไม่จำกัด

การส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันบริหารเอง เป็นแนวทางเล็ก ๆ ที่บางจากฯ หวังจะช่วยให้สถาบันเกษตรกรมีโอกาสเลี้ยงชีพมีรายได้ อันถือเป็นการป้องกันมิให้กลุ่มเหล่านี้ขายลูกไปเป็นโสเภณีได้ทางหนึ่ง อีกทั้งเพิ่มความสามารถในเรื่องค้าขาย การบริหารทุน

โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องมากังวลเรื่องขาดทุนเพราะบางจากฯ จะให้เงินกู้ไม่คิดดอกเบี้ยไปดำเนินการขั้นต้นประมาณ 300,000 บาท ในปั๊มขนาดเล็กไปจนถึง 3-7 ล้านบาท ในปั๊มมาตรฐานก่อน โดยผ่อนส่งคืนในระยะ 3 ปี และหากล้มละลายบางจากฯ ก็จะเข้าซื้อกิจการแทน ซึ่งกรณีหลังนี้แทบจะมองไม่เห็น เพราะนอกจากไม่ต้องซื้อน้ำมันจากคนกลางแล้ว บางจากฯ ยังจะส่งเจ้าหน้าที่อบรมเสริมเรื่องการค้าขาย การบริหารงานแก่สหกรณ์การเกษตรในทุกเดือนด้วย

“เราจะเติบโตในเมือง แต่จะใช้เวลาอย่างมากในเรื่องชนบทและประสานกับกองทุนพัฒนาชนบท, องค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอและหน่วยงานของรัฐ เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น อันนำมาซึ่งรายได้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญนอกจากการศึกษา และโอกาสในเรื่องการรับรู้ข้อมูล ทำให้เกิดการเรียนรู้ ขบวนการพัฒนาด้วยตนเอง ผมคิดว่าชนบทต้องแข็งแรงในเรื่องเหล่านี้ก่อน” โสภณกล่าวเสริมนโยบายบางจากฯ

ถึงแม้ว่าตลาดน้ำมันจะมีการแข่งขันกันสูงทั้งในท้องถิ่นและตัวเมือง แต่สำหรับบางจากฯ ภายใต้การนำของโสภณ 90% ของการพูดคุยกับผู้จัดการ กลับเป็นเรื่องวัฒนธรรม, ปัญหาชนบท ความยากจน, ปัญหาเด็ก, ปัญหาโสเภณีเด็ก ปัญหาครอบครัว และปัญหาสังคมอีกมากมาย เขาไม่ได้พูดถึงการแข่งขันกับผู้ค้าน้ำมันที่มีกว่า 20 รายแต่อย่างใด เสมือนว่าตนเองเป็นนักสังคมสงเคราะห์ยังไงยังงั้น

แต่โสภณ คือ กรรมการผู้จัดการใหญ่ นักบริหารธุรกิจของบริษัทซึ่งจากภาวะหนี้สินกว่า 4,000 ล้านบาท เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็กำลังจะไต่สู่อันดับ 3 ของบริษัทค้าน้ำมันในประเทศด้วยสถิติยอดขาย 14,047 ล้านบาท ในปี 2535, 25,060 ล้าน บาทในปี 2536 โดยคาดว่าจะได้กว่า 30,000 ล้านบาทในปี 37 และจะไต่ไปถึง 40,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2540

10 ปีของบางจากฯ และ 8 ปีของโสภณ หลังจากที่รัฐโดยกระทรวงการคลังเข้ายึดกิจการโรงกลั่นน้ำมันซัมมิท อินดัสตรี เมื่อ 2528 และตั้งบริษัทบางจากขึ้นมาดูแล ซึ่งถือเป็นโรงกลั่นแห่งแรกที่ไม่มีแรงงานต่างประเทศเลย จนถึงการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 2537 โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 48% การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) 24% ธนาคารกรุงไทย 8% และประชาชนทั่วไป 20% เหล่านี้นับเป็นสิ่งที่น่าจับตามองต่อไปว่าบางจากฯ จะทำสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ให้สังคมอีกบ้าง

รางวัลทางสังคมอาทิ บริษัทประหยัดพลังงานดีเด่นปี 2533 บริษัท พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ดีเด่น ปี 2534 และบริษัทที่มีความปลอดภัยดีเด่น ปี 2537 คงไม่สำคัญเท่าการปฏิบัติต่อสังคมอย่างจริงจังในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ทว่าบางจากฯ ในยุคโสภณจะทวนกระแสการแข่งขันทางธุรกิจได้ยาวนานแค่ไหนนโยบายการทำธุรกิจคู่ไปกับเรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมจะประสบผลสำเร็จได้เพียงใด จะสามารถจุดประกายสังคมหรือเพื่อนร่วมธุรกิจเดียวกันได้หรือไม่ ไม่มีการประเมินและคำตอบออกจากเขา เพียงแต่คำยืนยันทิ้งท้ายไว้เท่านั้นว่า

“เราคงจะสนับสนุนองค์การเกษตรกรและองค์กรชุมชนให้เป็นเจ้าของกิจการปั๊ม ร้านค้า และรถขนส่งน้ำมันบางจากฯ ต่อไปโดยเฉพาะ 3 ปีข้าง”

แล้วอย่างนี้ รางวัลบริษัทพัฒนาเพื่อสังคมดีเด่น กับรางวัลนักธุรกิจผู้ปฏิบัติงานเพื่อสังคมดีเด่น จะหนีไปไหนถ้าไม่ใช่ บางจากฯ และโสภณ สุภาพงษ์   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us