และแล้วสงครามเหล้าก็เกิดขึ้น แสงโสมที่ตอนหลังต้องกลายเป็นโสม
การเข้าซื้อโรงงานสุราธาราวิสกี้ที่นครไชยศรี คือการวางแผนล่วงหน้าอันแยบยลของกลุ่มเถลิง
เมื่อพลาดจากการประมูลเข้าทำสุราแม่โขง แผนการถล่ม “แม่โขง” จึงเกิดขึ้นทันที
โดยการใช้โรงงานสุราธาราวิสกี้ผลิตสุรา “แสงโสม” เลียบแบบอย่างสุรา “แม่โขง”
เริ่มตั้งแต่ออกแบบฉลากปิดขวด ซึ่งคำว่า แสงโสมมีสระ “แ” และสระ “โ” สามารถออกแบบเหมือนฉลากของ
“แม่โขง” อย่างพอดิบพอดี ซ้ำยังมีการโฆษณาอย่างเปิดเผยว่า เป็นสุราที่ผลิตโดยผู้ปรุงสุราคนเดียวกับสุราแม่โขงด้วย
ความจริงในการขออนุญาตผลิตสุราแสงโสมนั้น สุราแสงโสมได้รับอนุญาตให้ผลิตสุราเป็นสุราประเภท
“รัม” ตามนโยบายของรัฐบาลที่ประสงค์จะส่งเสริมให้มีการผลิตสุราที่มีกลิ่นและรสแบบเดียวกับต่างประเทศ
เพื่อนำออกจำหน่ายแทนสุราต่างประเทศอันเป็นการสงวนเงินตรามิให้ออกสู่ต่างประเทศ
สิทธิการผลิตและจำหน่ายของสุรา “แสงโสม” จึงได้เปรียบสุรา “แม่โขง” หลายประการ
เช่น
ได้รับสิทธิให้ประกอบการโดยมิต้องมีการประมูล ไม่มีการจำกัดอายุสัญญา และไม่มีการกำหนดปริมาณการผลิตและจำหน่าย
เหมือนกับผู้ประกอบการสุรารายอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีอัตราค่าปรับ
ได้รับสิทธิให้จำหน่ายได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ต้องเสียค่าสิทธิหรือค่าผลประโยชน์แก่รัฐบาล
ในขณะที่สุราแม่โขงต้องเสียค่าสิทธิแก่รัฐถึงร้อยละ 45.67 ของราคาขายปลีก
ไม่ต้องมีภาระในการปลูกสร้างอาคารโรงงานยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ในขณะที่สุราแม่โขงต้องปลูกสร้างอาคารโรงงานมูลค่ามากกว่า
1,800 ล้านบาท และยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลตามสัญญาการประมูลครั้งหลังสุด
ได้รับสิทธิในการเสียภาษีสุราประเภทสุราพิเศษในอัตราลิตรละ 17 บาท ในขณะที่สุราแม่โขงต้องเสียภาษีสุราประเภท
“สุราปรุงพิเศษ” ถึงลิตรละ 60 บาท
นอกจากความได้เปรียบสิทธิพิเศษดังกล่าวในช่วงที่มีการรับมอบหาโรงงานสุราบางยี่ขัน
จากบริษัทสุรามหาคุณมาให้บริษัทสุรามหาราษฎรผู้ชนะการประมูล เถลิง
เหล่าจินดา ซึ่งช่วงหลังกุมอำนาจหลายฝ่ายอยู่ในบริษัท สุรามหาคุณ ยังใช้วิธีการ
“ดึงเกม” ในการส่งมอบงานรวมทั้งการลด “ซัปพลาย” ขวดเก่า ขวดใหม่และฝาจุกเกลียวที่อยู่ในคอนโทรลของกลุ่มคน
เพื่อให้การผลิตของสุราแม่โขงมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการในทางตลาด
ทำให้ร้านค้าปลีกฉวยโอกาสขึ้นราคาจำหน่ายสุราแม่โขง ทำให้แม่โขงถูกด่าอย่างแหลกลาญและดูเหมือนว่าแผนอันนี้จะได้ผล
แม่โขงต้องมานั่งปวดหัวกับการแก้ปัญหาภายในอยู่พักหนึ่งซึ่งก็มีผลพอสมควร
ในช่วงปี 2523 ที่แสงโสมออกมาถล่มแม่โขงนั้น นับได้ว่าเป็นปีของการบุกทุกรูปแบบ
ทั้งด้านการประชาสัมพันธ์และด้านผู้หลักผู้ใหญ่
ในยุคนั้นแสงโสมเอา ปลูก พูลสุข อดีตผู้จัดการโฆษณารถยนต์มาสด้า เข้าเป็นผู้จัดการประชาสัมพันธ์
เพราะ “คุณปลูกเขารู้จักหนังสือพิมพ์ทั่วไปหมด และขอร้องกันได้ในเรื่องการลงข่าวเพื่อประโยชน์ของแสงโสม”
อดีตพนักงานทีซีซีของเถลิงพูดให้ฟัง
ปลูกจะขอร้องได้หรือไม่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเรื่องสำคัญอยู่ที่ว่า ประชาชนผู้นิยมสุราเมรัยไม่ชอบ
40 ดีกรี ของแสงโสม แสงโสมจึงตกไป
ในช่วงนั้นแสงโสมจะโหมโฆษณาการประชาสัมพันธ์มาก
ในด้านการตลาดแสงโสมให้ส่วนลดแก่ร้านค้าจำหน่ายมากกว่าแม่โขงหลายเท่าตัว
แต่เถลิงเอาใจคนไทยผิดไป จากการที่เคยชินกับเหล้า 35 ดีกรีมานานแล้ว เมื่อเจอแสงโสม
40 ดีกรี เข้าก็ทำเอาเป๋ไปเหมือนกัน
แสงโสมถึงต้องรีบออก “รินน้อยหน่อย ผสมมากหน่อย อร่อยกำลังเหมาะ” แต่ก็ไม่ได้ผล
เพราะถึงตอนนั้นแล้วสุรามหาราษฎรก็ชักจะเริ่มตั้งตัวติดแล้ว และแม่โขงก็กลับมาเป็นเจ้าตลาดอีก
แสงโสมมีชีวิตอยู่ในตลาดอย่างดีพอสมควรในช่วงปี 2523 พอเริ่มเข้าปี 2524
ยอดขายก็ตกลงไปมากเพราะแม่โขงตั้งลำได้
แสงโสมในที่สุดก็เลยกลายเป็นโสมไป!
แม่โขงเองตัวเลขก็เห็นได้ชัดว่า ในปี 2523 ซึ่งยังไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาภายในได้เต็มที่นั้น
ยอดเงินที่จ่ายค่าสิทธิและภาษีสุราเป็นจำนวน 2,654 ล้านบาท (แต่ก็ยังมากกว่าชุดสุรามหาคุณเคยจ่ายถึง
300 กว่าเปอร์เซ็นต์)
พอมาปี 2524 ซึ่งเริ่มตั้งตัวติด ยอดเงินที่จ่ายให้ทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม
กับกรมสรรพสามิตกระทรวงการคลัง เพิ่มขึ้นเป็น 3,390 ล้านบาท หรือเพิ่มกว่าปี
23 ถึง 30% เมื่อแสงโสมกลายเป็นโสม “หงส์ทอง” ผยองบินผินสู้ฟ้า
ในสงครามเหล้าระหว่างทั้งสองฝ่ายนี้มีบุคคลหนึ่งซึ่งต้องยืนอยู่ตรงกลางและอยู่ในสภาพที่กระอักกระอ่วนมาก
แต่ก็เป็นการกระอักกระอ่วนอย่างมีความสุขที่สุด
คนนั้นคือ จุล กาญจนลักษณ์
จุล กาญจนลักษณ์ เป็นเภสัชกรที่เริ่มมาทำงานในโรงงานบางยี่ขัน โดยถูกขอยืมตัวมาจากกรมวิทยาศาสตร์
กระทรวงอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ.2487
จุล กาญจนลักษณ์ เป็นผู้รับผิดชอบในสูตรแม่โขง หงส์ทอง กวางทอง มังกรหยก
กวางเงิน ฯลฯ
ความจริงแล้วต้นตำรับสำหรับสูตรปรุงแม่โขงนั้น ประเสริฐ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาคนแรก ในขณะนั้นจุลยังเป็นเพียงผู้ปฏิบัติงานด้านผลิตสุรา
ประเสริฐได้ออกจากโรงงานสุราบางยี่ขันในปี พ.ศ.2489 พร้อมทั้งสูตรแม่โขงด้วย
ซึ่งเป็นต้นเหตุพิพาทระหว่างประเสริฐกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งประเสริฐอ้างว่า
สูตรแม่โขงเป็นของตัวเอง
จุลไปค้นหลักฐานเก่าและก็พอจะได้สูตรที่เก็บเอาไว้เลยเอามาปรุงต่อให้ดีขึ้นจนเป็นแม่โขงเมื่อกินแล้วตาไม่แฉะและไม่ร้อนใน
ตั้งแต่นั้นมาจุลเป็นคู่ใจของแม่โขงเหมือนแม่โขงเป็นคู่จิตของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
“คุณจุลเป็นคนรู้คุณคนมาก แกถือว่าคุณศุภสิทธิ์ มหาคุณ เป็นนายแก ที่แกไปปรุงเหล้าให้แสงโสมเพราะคุณเถลิงใช้ชื่อคุณศุภสิทธิ์มาอ้าง
แต่มาตอนหลังคุณเถลิงฉลาดเอาคุณจุลมาร่วมด้วยคือมีบริษัท ทีซีซี (เถลิง-เจริญ-จุล)
ขึ้นมา” แหล่งข่าวกรมโรงงานอุตสาหกรรมเล่าให้ฟัง
“คุณจุลบอกผมว่า ความจริงแล้วเหล้าแต่ละยี่ห้อนั้นสูตรมันไม่เหมือนกัน แม่โขงก็คือแม่โขง
กวางทองก็เป็นกวางทอง หงส์ทองก็เป็นหงส์ทอง” แหล่งข่าวคนเดิมพูด
จากการที่มีหน้าที่ต้องปรุงเหล้าให้ทุกฝ่ายอย่างน้อยก็พอจะทำให้จุลเป็นเศรษฐีขึ้นมาได้คนหนึ่งเหมือนกัน
จุลเมื่อปีที่แล้วติดหนึ่งในอันดับ 250 คนแรกที่เสียภาษีสูงให้รัฐ!
แสดงว่ารายได้ของจุลก่อนหักภาษีก็ต้องประมาณหลายล้านขึ้นไป!
ทุกวันนี้จุลเองถึงแม้จะเป็นหุ้นส่วนกับเถลิงก็ยังคงปรุงเหล้าให้แม่โขงเหมือนเดิม
และก็มีวันหนึ่งที่จุลปรุงเหล้าชื่อ “หงส์ทอง” ขึ้นมา
กลุ่มเถลิงจากการมีสิทธิ์ในฐานะผู้ขายส่งเหล้าขาวและเหล้าผสมของโรงงานสุราจังหวัดอยุธยาขององค์การสุรากรมสรรพสามิต
ซึ่งมีเขตจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ 12 จังหวัด คือ อยุธยา สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง
สิงห์บุรี นครราชสีมา กำแพงเพชร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา
ซึ่งเป็นเขตจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออกทั้งหมด
จะโดยบังเอิญหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือจงใจก็ไม่ทราบที่เผอิญรสเหล้าของหงส์ทองเกิดมาใกล้เคียงกับแม่โขงมาก
“หงส์ทอง” ก็เลยโผผินบินผยองตั้งแต่บัดนั้นในราคาขายแค่ขวดละ 20 กว่าบาทแก่ร้านค้า
ซึ่งร้านค้าก็ขายต่อในขวดละ 30-35 บาท ต่ำกว่าแม่โขงซึ่งเวลานั้นขายขวดละ
52 บาท และกวางทองขวดละ 44 บาท
“ในช่วงนั้นผมขายแต่หงส์ทองทั้งนั้น ผมขายหงส์ทองขวดละ 33 บาท ให้ลูกค้าขณะที่ขายกวาง
44-48 บาท แม่โขง 52-60 บาท คุณนึกดูซิว่าลูกทุ่งบ้านนอกจะกินอะไร” เจ้าของร้านสุรายาปิ้งแถวๆ
บางแสนพูดให้ฟัง
สำหรับคอเหล้าแล้วปากต่อปากเร็วยิ่งกว่าไฟไหม้ทุ่งเสียอีกเมื่อรู้ว่าซื้อ
“หงส์” ก็เท่ากับได้ “โขง”
หงส์ทองนั้นถ้าขายในแค่ 12 จังหวัดที่ได้รับอนุญาตก็คงจะไม่เป็นอะไรนัก
แต่หงส์ทองจะปรากฏอยู่ใน 72 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยการลักลอบขนข้ามเขต
“เราไม่เคยสั่งเหล้าข้ามเขต เพราะเราขายเฉพาะ 12 จังหวัดที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น
การขายข้ามเขตเราก็ห้ามไว้แต่ถ้าผู้ซื้อจะทำการขายข้ามเขตเราก็ไม่สามารถจะควบคุมได้”
กาญจนา เพชรมณี หรือช่อลัดดา นักเขียนชื่อดังประชาสัมพันธ์ใหม่ของหงส์ทองให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นประจำในเรื่องนี้
กรมสรรพสามิตเองก็คงจะไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหนก็เลยอนุญาตให้หงส์ทองผลิตได้นอกเขตจังหวัดดังกล่าวอีก
2 แห่ง คือจังหวัดกาญจนบุรี และนครปฐม เพราะกลุ่มเถลิงอ้างว่า เครื่องจักรเสียผลิตไม่ทัน
และในคำสั่งอนุญาตก็ระบุว่าเหล้าหงส์ทองที่ผลิตจากกาญจนบุรีและนครปฐมจะต้องขนกลับไปจำหน่ายในเขตจังหวัดที่รับอนุญาตจำหน่ายเท่านั้น
ก็เลยมีปรากฏการณ์เหล้าหงส์ทองตกหล่นระหว่างที่ต้องขนเหล้าผ่านกลับไปสู่เขตที่ได้รับอนุญาตให้ขายตลอดเวลา
และในวันที่ 17 พฤษภาคม 2525 กรมสรรพสามิตก็ออกคำสั่งอีกฉบับหนึ่งอนุญาตให้มีการขนสุราข้ามเขตเพื่อบริโภคได้
ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพสามิตจังหวัดก็สามารถอาศัยอำนาจจากคำสั่งดังกล่าวออกใบอนุญาตขนสุราให้
“ผู้บริโภค” หลายๆ ใบพร้อมกันเพื่อความสะดวกในการที่จะขนรวมเป็นคันรถ
ยิ่งกว่านั้นใบอนุญาตดังกล่าวมีอายุใช้ได้ 3 วัน
แปลว่า จากใบอนุญาต 1 ใบ “ผู้บริโภค” สามารถขนเหล้าหงส์ทองข้ามเขตได้หลายๆ
เที่ยว
ส่วนอธิบดีกรมสรรพสามิตซึ่งออกคำสั่งทั้งสองคำสั่งนั้นชื่อบัณฑิต บุญยะปาณะ
และก็บังเอิญอีกเหมือนกันที่อธิบดีบัณฑิตเป็นน้องชายแท้ๆ ของพงษ์ สารสิน
ซึ่งก็เผอิญเป็นหุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งของกลุ่มเถลิง
"อีกประการหนึ่ง หงส์ทองจะแจกเหล้าเป็นว่าเล่น ไม่ว่าหน่วยราชการที่ไหนจัดงานอะไร
ขอมาก็แจกแหลกเป็นการสร้างความสัมพันธ์กันไว้”
ยุทธการ “หงส์บินข้ามเขต” ในราคาขวดละ 30-35 บาท ถึงมือคอเหล้าได้ผลอย่างมากๆ “คุณไม่จำเป็นต้องขนไปขายข้ามเขตหรอก ถ้าเหล้าคุณถูกกว่าคุณภาพใกล้กัน
ยี่ปั๊วมันเลยให้เอง ผลกำไรมันคุ้มมากแล้วยิ่งมีคำสั่งให้ขนเพื่อบริโภคด้วยแล้วก็ยิ่งสบายใหญ่”
พ่อค้าเหล้าระดับหนึ่งเล่าให้ฟัง
ถึงแม้แม่โขงจะพยายามให้รางวัลนำจับอย่างเต็มที่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
“แม่โขงและกวางทอง” ซึ่งเป็นเหล้าที่รัฐบาลเป็นเจ้าของแต่ให้กลุ่มเตชะไพบูลย์เช่าทำต้องขายตกฮวบลงไปอย่างเห็นได้ชัด
จากเงินค่าสิทธิค่าภาษีที่เคยจ่ายให้รัฐบาลในปี 2524 เป็นเงิน 3,390 ล้านบาท
ในปี 2525 ยอดลดลงเหลือเพียง 3,220 ล้านบาท
กลุ่มเตชะไพบูลย์และหุ้นส่วนเองก็ต้องรีบเพิ่มทุนถึง 2 ครั้ง ถึงจะยืนได้ โดยครั้งแรกเป็น
1,000 ล้านบาท และเพิ่มครั้งที่ 2 เป็น 1,500 ล้านบาท แม่โขงกับรัฐบาลที่ลืมไปว่าแม่โขงเป็นสมบัติของชาติ
ปี 2525 นับว่าเป็นปีที่แม่โขงแทบจะกระอักโลหิตออกมาเพราะโดน “หงส์ทองบินข้ามเขต”
ปะทะด้วยราคาที่ถูกกว่า จนทำให้ยอดขายต้องตกลงอย่างฮวบฮาบ
“หงส์ทองเขาได้เปรียบกว่ามากเพราะฐานภาษีมันไม่เท่ากัน แม่โขงต้องเสียภาษีลิตรละ
26 บาทเท่านั้น อันนี้เลยเป็นช่องว่างให้หงส์ทองถูกขายข้ามเขตและแม่โขงถูกหงส์ทองเล่นเกมนี้เหมือนถูกผีหลอก
เพราะเหล้าที่ขายข้ามเขตมันผิดกฎหมาย แต่ยิ่งประท้วงไปประท้วงมากลายเป็นว่ามีเหล้าหงส์ทองขายอยู่ทั่วราชอาณาจักรไปเสียแล้ว
พอจะพูดได้ว่า ในยุคของอธิบดีบัณฑิต บุญยะปาณะ ซึ่งเป็นน้องของคุณพงษ์ สารสิน
หุ้นส่วนของหงส์ทองได้มีการลักลอบขนสุราข้ามเขตไปจำหน่ายในเกือบทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร
นับว่าเป็นประวัติการณ์ของการลักลอบขนสุราของเมืองไทยทีเดียว” เอเย่นต์เหล้าต่างประเทศที่รู้เรื่องการขายเหล้าดี
เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟังเพิ่มเติม
จะเป็นเพราะว่าแม่โขงและกวางทองเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม และหงส์ทองกับแสงโสมเป็นของกระทรวงการคลังเลยทำให้เจ้ากระทรวงแต่ละแห่งต้องขยันหามาตรการออกมาฟาดฟันกันอย่างถึงพริกถึงขิง
หรืออาจจะเป็นเพราะว่า สมหมาย ฮุนตระกูล ไม่ถูกกับ อบ วสุรัตน์ ก็เลยทำให้ความขัดแย้งนี้แผ่ขยายลงมาถึงสินค้าที่แต่ละคนถืออยู่
หรืออาจจะเป็นเพราะว่า สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นหลานแท้ๆ ของพระยาศรีวิศาลวาจา
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างสนิทสนมกับพจน์ สารสิน พ่อของพงส์ สารสิน หุ้นใหญ่ของหงส์ทอง
เพราะแม่โขงดูจะไม่ถูกชะตากับกระทรวงการคลังเป็นอย่างยิ่ง!
บทบาทของกระทรวงการคลังทุกอย่างที่ทำลงไปดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ได้มองข้อเท็จจริง
และลืมไปว่า “แม่โขง” คือ “ชื่อสินค้า” ของรัฐบาลที่ได้รับการพัฒนามาเป็นกว่า 20 ปีแล้ว
และเป็นสินค้าที่นำรายได้เข้ารัฐหลายหมื่นล้านบาท
ส่วน “หงส์ทอง” นั้นเป็น “ชื่อสินค้า” ของเอกชนที่ได้สิทธิ์เช่าโรงงานมาผลิตเมื่อสัญญาหมด
“หงส์ทอง” ก็ยังคงเป็นของเอกชนซึ่งอาจจะผลิตเองด้วยโรงงานเหล้าธาราที่นครไชยศรี
ส่วนรัฐบาลก็ให้สิทธิ์เอกชนคนอื่นต่อไป ที่ได้แล้วก็จะมีเหล้าชื่อใหม่ออกมาอีก
ข้อแตกต่างระหว่าง “แม่โขง” กับ “หงส์ทอง” ก็อยู่ตรงนี้!!
กระทรวงการคลังนอกจากจะเก็บภาษีเหล้าไม่เท่ากันแล้วยังได้มีมาตรการหาเงินเข้าคลังจากภาษีสุราซึ่งเป็นมาตรการของการฆ่าแม่โขงทางอ้อม
เช่น
...ได้มีการเสนอให้เพิ่มภาษีแม่โขงจากเดิมลิตรละ 60 บาท เป็นลิตรละ 80 บาท
แต่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ตกไป
...ปลายปี 2525 กระทรวงการคลังเกิดอยากจะให้องค์การสุรากรมสรรพสามิตผลิตเหล้าปรุงพิเศษเพื่อขายทั่วราชอาณาจักร
เหมือนแม่โขงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะเปิดให้มีการประมูลผู้ขายส่ง และผู้ประมูลได้จะต้องสร้างโรงงานเพื่อผลิตเหล้านี้
ซึ่งเป็นการให้สัมปทาน แต่รัฐบาลยังไม่คล้อยตาม เพราะยังมีคนเห็นว่าจะต้องคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของโรงงานสุราบางยี่ขัน
เรื่องก็ถูกระงับไป
...ปลายปี 2525 กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงฉบับที่ 80 เปลี่ยนแปลงการเรียกเก็บภาษีสุราใหม่
โดยเรียกเก็บเป็น “หรือร้อยละ 32 ของมูลค่า” ซึ่งมาตรการนี้หงส์ทองเสียภาษีจริง
26 บาท จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด มีแต่แม่โขงซึ่งเจอเข้าหนักก็ตรงชนิดขวดแบน
350 ซีซี และ 187 ซีซี ซึ่งเป็นเหล้าของคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก
และก็เป็นหมากกลที่วางไว้ ถ้าแม่โขงขึ้นราคาจะต้องแบกภาษีถึง 2 ทาง คือค่าสิทธิ์ที่คิดจากร้อยละ
45.67 ของราคาขายปลีก และค่าภาษีเหล้าที่คิดจากร้อยละ 32 ของมูลค่าจำหน่าย
(ซึ่งหมากอันนี้เกือบจะเป็นผลในภายหลังเมื่อรัฐมนตรี อบ วสุรัตน์ สั่งให้แม่โขงขึ้นราคา)
กระทรวงอุตสาหกรรมเองซึ่งเป็นเจ้าของแม่โขง เคยเสนอให้แก้ไขภาษีสุราให้ยุติธรรมกันระหว่างแม่โขงกับหงส์ทอง
ถึงขนาด อบ วสุรัตน์ จะเอาเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี แต่
“กำลังภายในของกลุ่มหงส์ทองเขาแข็งน่าดู เพราะเขาเล่นการเมืองกับการค้าแบบถึงลูกถึงคน
ดูง่ายๆ ซิ อบ วสุรัตน์ ออกมาทำเสียงแข็งว่า ต้องปรับภาษีภาษีหงส์ทองกับสุราผสมให้ใกล้เคียงกับภาษีแม่โขงเห็นเสียงดังว่า
จะเอาเข้าคณะรัฐมนตรี พอวันต่อมา อบ วสุรัตน์ ก็ขอถอนกะทันหันแล้วจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ไม่ให้เหตุผลอะไรเลยว่า
ทำไมถึงถอนแม้แต่แอะเดียว ทั้งๆ ที่ข่าวที่แกปล่อยไปว่าจะปรับลงหนังสือพิมพ์กันโฉ่งฉ่างไปหมด
ไม่ทราบว่ามีอะไรไปอุดแกไว้” นักหนังสือพิมพ์ที่ติดตามข่าวแม่โขงหงส์ทอง
ออกความเห็น
และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ท่าทีของกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเคยปกป้องผลประโยชน์ของแม่โขงในฐานะเป็นสินค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนไป
มีการย้ายนายวีระ สุสังกรกาญจน์ ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างสายฟ้าแลบ
เพราะไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรีซึ่งหนึ่งในนโยบายนั้นคือการให้แม่โขงรวมกับหงส์ทอง
เพื่อตั้งบริษัทกลางขึ้นมา ซึ่งวีระ สุสังกรกาญจน์ คัดค้าน เพราะจะทำให้แม่โขงซึ่งเป็นของรัฐเสียประโยชน์
เมื่อฮั้วกันไม่ได้ก็ต้องให้แม่โขงขึ้นราคา
การให้แม่โขงขึ้นราคานั้นเป็นการอ้างเพื่อให้เสียสิทธิกับรัฐบาลมากขึ้น
แต่กระทรวงอุตสาหกรรมคงลืมไปว่า เป็นกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งได้อนุมัติให้แม่โขงลดราคาในต้นปี
2526 เพราะกระทรวงเองก็เห็นด้วยว่าแม่โขงกำลังถูกสุราข้ามเขตที่ขายผิดกฎหมายและไม่ต้องเสียสิทธิ
เสียภาษีสรรพสามิตที่น้อยกว่าเกือบ 150% มาทำให้แม่โขงขายตก ทำให้จำนวนค่าสิทธิ์และภาษีรัฐได้น้อยลง
เพียงไม่ถึง 120 ล้านบาทต่อเดือน (ตั้งแต่ ต.ค.-ก.พ.26) และหลังจากลดราคาแล้วตั้งแต่มีนาคม
26 จนถึงธันวาคม 26 ค่าสิทธิ์และภาษีรัฐได้รับเฉลี่ยเดือนละ 300 ล้านบาท (มากกว่าเดิมเกือบ
150%) ซึ่งก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า แม่โขงทำรายได้ให้รัฐมากกว่าเมื่อลงราคาสู้กับคู่ต่อสู้
มากกว่าสมัยซึ่งขายแพงแล้วขายไม่ออกทำให้รัฐขาดรายได้
และก็ทันทีที่นายวีระ สุสังกรกาญจน์ เข้าสำนักนายกฯ อบ วสุรัตน์ ก็สั่งให้แม่โขงขึ้นราคาจากเดิมทันที!
บทบาทของ อบ วสุรัตน์ ที่เปลี่ยนไปอย่างมากในเรื่องนี้ที่ยากจะเดาใจได้เพราะตรรกวิทยาไม่สมพงษ์กันเลยแม้แต่ข้อเดียว
ตั้งแต่เคยขอให้ขึ้นภาษีสุราหงส์ทองให้ยุติธรรมแก่แม่โขง มาเป็นถอนเรื่องออก
แล้วปิดปากเงียบ จนกระทั่งถึงสั่งให้แม่โขงรวมกับกลุ่มหงส์ทองเพื่อตั้งตลาดกลางจนสุดท้ายสั่งให้แม่โขงขึ้นราคา
“ความจริงฝ่ายเตชะไพบูลย์เขาก็รู้จักคุณอบดี สมัยหนึ่งลูกเขยคุณอุเทนคือสมพงษ์
อมรวิวัฒน์ ก็เคยอยู่พรรคชาติประชาธิปไตย และมีข่าวว่าจะลงสมัครที่ชลบุรี
แต่ตอนหลังคุณอุเทนสั่งห้ามเล่นการเมืองเด็ดขาด เพราะกลุ่มนี้เขาเป็นพ่อค้าอยากค้าขายอย่างเดียว
ไม่ต้องการเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ก็เลยอาจจะไม่ดีนัก”
แหล่งข่าวทางการเมืองชี้แจงให้ฟัง
ถึงกับมีข่าวภายในว่า มีกลุ่มเหล้ากลุ่มหนึ่งแกล้งทำเงินตกประมาณ 200 กว่าล้านบาทแถวๆ
กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้แม่โขงขึ้นราคา
“เท็จจริงแค่ไหนก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าธุรกิจเหล้าเป็นหมื่นล้าน 200 ล้านมันแค่
2% มันเล็กน้อยเหลือเกิน แต่ 200 ล้านก็สามารถเอามาทำอะไรในพรรคการเมืองได้เหมือนกัน
เช่น ซื้อเสียง ส.ส. หรือปิดปากข้าราชการ อย่างว่าเมืองไทยมันเน่าเฟะ มันดูจะดีอยู่พักหนึ่ง แต่ดูจริงๆ
แล้วมันชักจะเริ่มกลับไประบบเก่า เงินไม่เข้าใครออกใคร มันสามารถทำให้คนลืมหลักการ
และอุดมการณ์ได้เหมือนกัน” อาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ กล่าวเสริม
ประมูลโรงเหล้า 12 ยุทธการการร่วมมือที่ช่วยเอกชน กระทรวงการคลัง
จากการที่สามารถสั่นสะเทือนแม่โขงได้ด้วย “หงส์ทอง” ราคาที่ถูกกว่ามากและมีการลักลอบขายข้ามเขตทำให้กลุ่มเถลิงมองถึงแผนสุดท้ายที่จะล้อมกรอบแม่โขงตามยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง
ในปี 2528 โรงเหล้า 32 โรงของกรมสรรพสามิตจะหมดสัญญาเช่าและกระทรวงการคลังจะเปิดประมูลล่วงหน้า
2 ปี เพื่อหาเงินเป็นพันล้านเข้ากระเป๋าก่อน
โรงเหล้า 32 โรงนี้ถ้ากลุ่มใครได้ไปหมดก็เท่ากับว่าเป็นกลุ่มน่ากลัวมาก
ถ้าสามารถผลิตเหล้าที่มีคุณภาพขายในท้องถิ่นได้ในราคาไม่แพง
แต่การจะประมูลทั้ง 32 โรงเข้ามาอยู่ในเครือตัวเองหมดนั้นดูจะไม่ง่าย เพราะเป็นเบี้ยหัวแตกและถ้าประมูลได้ไม่หมดก็จะทำให้แผนการตลาดต้องเสียไปด้วย
ดูเหมือนกระทรวงการคลังจะเห็นอกเห็นใจความยากลำบากของกลุ่มเถลิง ก็เลยตัดสินใจรวม
32 โรง แล้วแบ่งให้เหลือ 12 โรง และแบ่งการผลิตและจำหน่ายไว้ตั้งแต่เขตโรงงานละ
2 ถึง 14 จังหวัด
“ทางเราคิดว่ามันมีจำนวนน้อยจะควบคุมง่ายกว่า แล้วผู้ประมูลได้ต้องสร้างโรงงานใหม่
ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับกระทรวงการคลัง เพราะเป็นสมบัติของกรมสรรพสามิต ไม่ใช่เพราะ
เราทำให้กับกลุ่มเถลิง” เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังซึ่งรับเรื่องต่อจากกรมสรรพสามิตพูดกับ
“ผู้จัดการ”
แต่กระทรวงการคลังอาจจะลืมนึกถึงหรือแกล้งนึกไม่ออกถึงข้อเท็จจริงบางข้อ
เช่น :-
...โรงงานสุราทั้ง 32 โรงนั้น ขณะนั้นเป็นสมบัติของรัฐไปแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะเอาไว้ทำอะไร
ทั้งๆ ที่สภาพยังสามารถจะทำงานต่อไปได้อีกนานพอสมควร คิดเป็นมูลค่าก็ร่วม
2,000 ล้านบาท
...เงินที่จะสร้างโรงเหล้า 12 แห่งนั้น ตามข้อเท็จจริงแล้วเป็นเงินของรัฐที่ผู้ประมูลออกให้ก่อนแล้วหักจากเงินที่ส่งให้รัฐทีหลังเป็นตัวเลขทั้งหมดรวม
5,000 ล้านบาท
ก็ไม่รู้ว่างานนี้ใครหลอกใครกันแน่!
อีกปัญหาหนึ่งคือ เรื่องปัญหาแรงงานปรากฏว่า โรงเหล้าใหม่ที่จะสร้างขึ้น
สร้างอยู่ที่เดิม 7 จังหวัด อีก 5 โรงต้องสร้างที่อื่น ปัญหาคนว่างงานต้องเกิดแน่โดยเฉพาะในเขตภาคใต้
14 จังหวัด ซึ่งเดิมมีอยู่ 6 โรงถูกยุบเหลือเพียงโรงเดียว
แต่ก่อนการประมูลจะเกิด ก็มีความพยายามของเจ้าของสัมปทานเดิม 32 โรง ซึ่งมี
29 ราย เป็นผู้ได้รับสัมปทานอยู่ 31 โรง มีเขตการจำหน่าย 55 จังหวัด ได้ขอต่ออายุสัญญาอีก
15 ปี โดยเอาเงินลงขันให้รัฐ 3,200 ล้านบาท แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ
ทั้งหมดยื่นหนังสือให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งมีข่าวว่า อุเทน เตชะไพบูลย์
เป็นตัวแทน
“ความจริงเจ้าของโรงเหล้าเข้ามาพบ ขอร้องให้คุณอุเทนในฐานะเป็นผู้ใหญ่ในวงการนี้ เป็นตัวแทนไปเสนอ
แต่คุณอุเทนเองก็ได้แต่กำลังใจและช่วยเท่าที่จะช่วยได้ แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนเข้าไปหรอก”
แหล่งข่าวในกลุ่มเตชะไพบูลย์อ้างกับ “ผู้จัดการ”
ในที่สุดการประชุมที่สะท้านฟ้าสะเทือนดินก็เริ่มขึ้น
ในการประมูลครั้งแรก วันที่ 17 มีนาคม 2526 กลุ่มเถลิงชนะขาดในการประมูลโรงเหล้า
12 โรง ด้วยค่าผลประโยขน์ทั้งสิ้น 5,884 ล้านบาท สูงกว่าคู่แข่งร่วมๆ 2 พันล้านบาท
แต่เถลิง เหล่าจินดา และสหายก็ล้มการประมูลเพราะบรรดาธนาคารที่สนับสนุนพากันบอกว่า
ถ้าประมูลในราคานั้นต้องเจ๊งแน่ๆ ก็เลยสั่งให้ล้มเสีย โดยทำเป็นไม่มีเงินไปจ่ายทั้งหมด
แต่จ่ายได้แค่ 5 โรงเท่านั้น
กรมสรรพสามิตก็อยากจะช่วยให้กลุ่มเถลิงได้ใจแทบขาด!
“ก็เลยให้ประมูลกันใหม่ ทั้งๆ ที่โดยหลักการปฏิบัติทั่วไปนั้น ผู้ที่ทิ้งการประมูล
จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าประมูลใหม่ การเอาเปรียบรัฐบาลเช่นนี้แทนที่จะถูกลงโทษทางใดทางหนึ่งกลับได้รับการสนับสนุน”
เถลิงและพวกในวันชำระสามารถจ่ายเงินค่าผลประโยชน์แก่รัฐเพียง 2,253 ล้านบาทเท่านั้น
ก็เลยได้เพียง 5 โรงไป คือขอนแก่น หนองคาย เชียงใหม่ กาญจนบุรี และราชบุรี
ส่วนอีก 7 โรง ต้องสละสิทธิ์และยอมเสียเงินค่าประกันซองไปเปล่า
กรมสรรพสามิตกำหนดวันประมูลครั้งที่ 2 ขึ้นมาในวันที่ 26 เมษายน 2526 หรืออีกเดือนหนึ่งให้หลัง
คราวนี้เถลิงก็ชนะอีกเพราะ “ไม่มีใครอยากสู้ด้วย เพราะราคาที่เสนอนั้นมันบ้าเลือด
ดูแล้วคิดเฉพาะต้นทุนอย่างเดียวก็เห็นได้ว่า ขายไม่ออก” พ่อค้าเหล้าที่เข้าประมูลโรงหนึ่งโวยวายในวันประมูล
แต่ราคาประมูลครั้งที่ 2 ตกลงมาจาก 3,631 ล้านบาท สำหรับ 7 โรง ในครั้งแรกเหลือเพียง
2,835 ล้านบาท ในครั้งที่ 2
“ประมูลครั้งที่ 2 นี่เห็นได้ว่า เถลิงดึงเอาพงส์ สารสิน เข้ามาเล่นด้วยเต็มตัว
เพราะพงส์ต้องโดดเข้ามาช่วยหาแหล่งเงินให้หลายแห่ง อีกประการหนึ่ง ชาตรี
โสภณพนิช ก็โดดเข้ามาเล่นด้วยโดยผ่านทางเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ ซึ่งถือแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพจำนวนเงิน
2,500 ล้านบาท เข้ามาร่วม
คุณเกียรติแกเป็นคนสนิทของชาตรีมีพี่ชายชื่อกมล ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับเถลิง”
แหล่งข่าววงในสาธยายให้ฟัง
“งานนี้คุณชินไม่รู้เรื่องเพราะตอนประมูลคุณชินไม่อยู่ ถ้าอยู่คงไม่เล่น
ได้ข่าวว่า คุณชินต่อว่าชาตรีเรื่องนี้ เพราะคนจีนเขาถือกันทางใครทางมัน
แต่ชาตรีคงอยากจะเล่น เพราะชาตรีคิดว่าตัวเองคงได้หลักประกันที่ดี อีกอย่างหนึ่งชาตรีคงคิดว่าเส้นทางทหารก็คงมีบ้าง
เพราะสว่าง เลาหทัย กำลังติดพันพลเอกอาทิตย์อย่างใกล้ชิด” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อ
หลักประกันของแหล่งเงินนั้นจากการสืบถามมาของ “ผู้จัดการ” ปรากฏว่าทั้งธนาคารกรุงเทพและไทยพาณิชย์ซึ่งปล่อยกู้ให้กลุ่มเถลิงต่างยืนยันว่า
มีหลักประกันแน่นหนาเรียกว่าเกิดอะไรขึ้นหนี้จะไม่สูญ
แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ทุกวันนี้ที่กลุ่มสุราทิพย์กู้เงินมาโดยใช้เงินธนาคารทั้ง
6 แห่ง ประมาณหมื่นกว่าล้านบาทนั้น ทั้งก้อนนี้ค้ำประกันโดยคนเพียง 5 คน
คือ เถลิง เหล่าจินดา พงส์ สารสิน เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ เกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์
กมล เอี่ยมสกุลรัตน์ เท่านั้นเอง
นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ของวงการเงินไทยที่ใช้คน 5 คน ค้ำประกันเงินหมื่นกว่าล้าน
ก็ไม่ทราบว่าทีกรณีเช่นนี้ทำไมธนาคารชาติและกระทรวงการคลังไม่เห็นกระโดดโลดเต้นออกมาจวกบ้างล่ะ
ทำไมถึงเอาหูไปนาเอาตาไปไร่? หรือเป็นเพราะรัฐมนตรีสั่งมาให้ทำเช่นนี้ได้?
กลุ่มเถลิงต้องประมูลโรงเหล้า 12 โรงให้ได้ เพราะยุทธศาสตร์ของการใช้หงส์ฟ้าปิดแม่โขง โดยเฉือนกันที่ราคาและในเมื่อคนปรุงคือ
จุล กาญจนลักษณ์ แล้วมันแค่แบเบอร์ว่า หงส์ใน 12 โรงเหล้าจะเป็นหงส์เขียว
หงส์ขาว หงส์แดง และหงส์ดำ ย่อมไม่สำคัญ ที่สำคัญคือเป็นแม่โขงในคราบหงส์ในราคาถูกสำหรับคอเหล้า
แต่เบื้องหลังที่แท้จริง ที่กลุ่มสุราทิพย์กล้าทุ่มประมูลด้วยเงินสูงมากเช่นนี้
เป็นเพราะได้ใจจากการขายเหล้าข้ามเขต ซึ่งสามารถทำกำไรให้กลุ่มสุราทิพย์หลายร้อยล้านบาท
และยังรู้ว่าทางกลุ่มจะได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังหลังจากประมูลได้แล้ว
ด้วยการขึ้นภาษีเหล้าแม่โขงและกวางทองให้สูง ขณะเดียวกันก็จะช่วยหงส์ ด้วยการให้สิทธิพิเศษยังไม่ขึ้นภาษีหงส์ทำให้มีต้นทุนต่ำและแย่งตลาดแม่โขงได้
“จากการที่ในปี 2525 เขาสะเทือนแม่โขงได้ ทำให้เขาเห็นว่าจะสู้กันจริงๆ
ก็ต้องทั่วประเทศ ซึ่งแม่โขงมีสิทธิ์ขาย จะใช้สิทธิ์นั้นมาสู้แม่โขงก็ต้องเอาโรงเหล้า
12 โรงให้ได้” พ่อค้าเหล้าคนเก่าพูดเพิ่มเติม
แต่ในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มประมูลมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งถ้าการประมูลเกิดขึ้นในปลายปี
26 แทนที่จะเกิดขึ้นต้นปี 26 กลุ่มเถลิงอาจจะนั่งคิดให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้งก่อนที่จะใส่ตัวเลขประมูล
5 พันกว่าล้านลงไป
เหตุการณ์ในเดือนมีนาคมคือ การที่แม่โขงและกวางทองตัดสินใจสู้กับหงส์ทองข้ามเขตด้วยระบบราคาต่อราคา
หลังจากที่พยายามพึ่งหน่วยราชการให้ช่วยปราบปรามหงส์ข้ามเขตแล้วไม่ได้ผล
ความจริงกวางทองถูกลดราคาจากขวดละ 44 บาท มาเป็น 32 บาท ตั้งแต่กลางปี 2524
พร้อมทั้งทุ่มโฆษณาและส่งเสริมการขายเข้าไปอีก 10 กว่าล้าน
ยอดขายกวางทองก็กระโดดจากที่เคยขายได้เดือนละ 5 แสนขวดมาเป็นเดือนละ 6 ล้าน 5 แสนในปี
2526 หรือเพิ่มขึ้น 1,200% ในเวลาไม่ถึง 3 ปี
แต่กวางทองไม่ใช่ตัวหลักในการทำกำไร!
กลับเป็นแม่โขงที่ต้องรีบช่วยชีวิตไว้!
แม่โขงจึงถูกลดราคาจากขวดละ 55 บาทเหลือ 45 บาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2526
ยุทธวิธีนี้ได้ผลเพราะยอดแม่โขงขึ้นจากเดือนละ 2 ล้าน 2 แสนขวด มาเป็น 5 ล้าน 5 แสนขวดต่อเดือน
“ยุทธศาสตร์ขั้นนี้ทำเอากลุ่มเถลิงกลุ้มใจ ตอนแรกเขามองไม่เห็น ก็คงจะไม่มีใครคาดไว้
เพราะกลุ่มสุรามหาราษฎรเองก็ประหลาดใจเหมือนกันที่ยอดขายดีแบบนี้ แต่ราคาขายแบบนี้ผมคิดว่าเขาคงไม่มีกำไรเท่าไร
อาจจะขาดทุนเสียด้วยซ้ำ แต่เขาต้องทำเพราะไม่งั้นถูกดึงส่วนแบ่งตลาดไปหมด
ยิ่งถ้าทางโรงเหล้า 12 โรง เริ่มผลิตได้ก็ยิ่งเหนื่อย” พ่อค้าเหล้าคนเดิมพูดต่อ
แต่ก็เป็นเวลาไม่นาน หลังจากการประมูลเสร็จสิ้นแล้ว กลุ่มเถลิงเมื่อหันกลับมาคิดตัวเลขใหม่
และหันมามองราคาแม่โขงที่ค้ำไว้ตรง 45 บาท กับกวางทองที่ค้ำไว้ 32 บาท ก็ทำให้เย็นไปทั้งตัว
“ผมคิดดูแล้ว 1 มกราคม 2528 กลุ่มเถลิงต้องผลิตเหล้าออกตามสัญญา เฉพาะต้นทุนเหล้าอย่างเดียวออกจากโรงงานก็ตก
38 บาทแล้ว ยังแพงกว่ากวางทองอีกถ้าบวกค่าขนส่งค่าเปอร์เซ็นต์ก็คงต้องขายราคาใกล้แม่โขงดูแค่นี้ก็รู้ว่าใครจะซื้อเหล้าอะไรกัน
นอกจากเขาจะยอมขายขาดทุน” พ่อค้าเหล้าคนเดิมพูดต่อ
“ถ้าเป็นสมัยแรกเถลิงทำและมีเงินหมุนอยู่เถลิงคงเอาเพราะเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย
แต่ศึกครั้งนี้เถลิงดึงแนวร่วมเข้ามามาก พงส์ สารสิน เอย ชาตรี เอย การตัดสินใจอะไรพวกนี้ต้องเกี่ยว
แล้วในวงการก็รู้ดีว่าชาตรีเป็นคนอย่างไร เขาเป็นพ่อค้าเต็มตัวอะไรต้องขาดทุนนาน
อีไม่เอาหรอก บทอีจะถอนอีก็ถอนเอาดื้อๆ ฉะนั้นตอนนี้เถลิงขี่เสืออยู่หลายตัว
แต่ละตัวเขี้ยวยาวๆ ทั้งนั้น ลงมาเมื่อไรก็โดนกัดเละแน่” พ่อค้าเหล้าเจ้าเก่าสรุป
“เฉพาะดอกเบี้ยของเงิน 5,088 ล้าน ที่ได้จ่ายไปให้รัฐบาลแล้วนั้นกลุ่มเถลิงต้องจ่ายวันละ
2.5 ล้านบาท!!!"
ฉะนั้นเมื่อถึงมกราคม 2528 ดอกเบี้ยทั้งหมดที่กลุ่มเถลิงต้องจ่ายถึง 1,540
ล้านบาท!!!
ทุกคนในกลุ่มเถลิงจึงต้องสร้างยุทธการดิ้นสุดฤทธิ์ขึ้นมา!
เมื่อภาพที่ต้องต่อเป็นชิ้นๆ เริ่มชัดขึ้นมาทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งชัดขึ้นมาในที่สุดว่า
อนาคตของกลุ่มเถลิงจะมีแต่อุปสรรคและขวากหนามในการผลิตเหล้า เพราะต้องเอาไปผูกเงื่อนที่คอตัวเองเอาไว้ก็ต้องหาคนมาช่วยแก้ปัญหาที่ตนเป็นคนก่อ
“ทั้งหมดนี้คุณต้องโทษกลุ่มเถลิงเอง เขาไปตั้งราคาประมูลไว้สูง แล้วหวังว่าจะใช้การเมืองบีบแม่โขงในกรณีที่เขาทำไม่ได้
นี่เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดระหว่างการทำงานของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายแม่โขงเขาประมูลในตัวเลขที่เขาทำได้จริงๆ
และให้ผลประโยชน์รัฐได้เต็มที่ เรียกว่าได้ด้วยกันทั้งคู่ แต่ทางกลุ่มเถลิงเล่นใช้ตัวเลขที่ตัวเองต้องการได้โรงเหล้ามาเพื่อสับคู่แข่งขัน
ไม่ได้มองในแง่การค้าและเมื่อตัวเองเห็นว่าจะทำไม่ได้ก็เริ่มใช้การเมืองและต่อมาก็พยายามดึงทหารให้กลับเข้ามามัวเมาในวงการนี้อีก
หลังจากที่ทหารได้ล้างมือไปแล้วและสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่ประชาชน” ผู้ติดตามข่าวเหล้าวิจารณ์ให้ฟัง
การเคลื่อนไหวของกลุ่มเถลิงหลังการประมูลเป็นการเคลื่อนไหว 2 แนวทาง
แนวทางแรก คือการพยายามหาผู้หลักผู้ใหญ่มาไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองกัน
โดยเจาะเข้าทางอุเทน เตชะไพบูลย์ ซึ่งได้ลงมาเป็นประธานบริษัทสุรามหาราษฎรแทนสุเมธ
เตชะไพบูลย์ ซึ่งเถลิงรู้ดีว่าสุเมธไม่คุยด้วยแน่ๆ
แต่เถลิงลืมนึกไปว่าสุรามหาราษฎรนั้นไม่ใช่ของเตชะไพบูลย์ฝ่ายเดียว กรรมการบริหารส่วนหนึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นจอมยุทธในวงการทั้งนั้น
เช่น โกเมน ตันติวิวัฒน์พันธ์ เจ้าพ่อเหล้าภาคอีสาน วิศาล ภัทรประสิทธิ์
ภาคกลาง หรือคนอย่าง วานิช ไชยวรรณ ที่มีทุกอย่างพร้อม ฯลฯ และบรรดากรรมการบริหารตอนนี้ก็เลือดเข้าตาจะสู้ยิบตาแล้ว
“ธรรมดาถ้าเริ่มค้าขายกันต่างคนต่างอยู่ไม่มีลูกเล่นกันก็พอจะพูดกันได้
แต่นี่ฝ่ายเราโดนรุกมาตลอด เราต้องนั่งแก้เกมตลอดเวลา ที่เราอยู่ได้เพราะเราตั้งใจทำธุรกิจให้เป็นธุรกิจ
และเราต้องการคุ้มครองสมบัติของชาติไว้ เราไม่ต้องการให้ในอนาคตมีคนมาประณามว่า
แม่โขงพังไปในยุคที่เราทำ” ฝ่ายสุรามหาราษฎรกล่าวกับ “ผู้จัดการ”
การประนีประนอมของกลุ่มเถลิงซึ่งผู้ริเริ่มที่แสดงตัวออกมาคือ อบ วสุรัตน์
รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ซึ่งให้ตั้งบริษัทกลางขึ้นมารับเหล้าทั้งสองฝ่ายไปขาย โดยแต่ละฝ่ายถือหุ้นอยู่
45% ส่วนอีก 10% นั้นฝ่ายเถลิงเสนอให้เอาองค์การทหารผ่านศึกเข้ามาโดยคิดว่า
การดึงให้ทหารเข้ามาร่วมด้วยจะเป็นอำนาจต่อรองอันหนึ่ง
แต่ข้อเสนอของบริษัทกลางนี้กลับเป็นหลุมพรางซึ่งแม่โขงเห็นเกมทันที
แนวทางที่ 2 คือการออกมาขายชนกัน แต่การจะขายได้นั้นราคาของแม่โขงและกวางทอง
จะต้องสูงกว่านี้ อย่างน้อยแม่โขงจะต้องกระโดดไปเป็นราคาเก่าที่ 55 บาท และกวางทองเป็น
44 บาท เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้วจะขายสู้ไม่ได้
ซึ่งก็จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ที่หลังจากที่กลุ่มเถลิงประมูล
2 โรงเหล้าได้ในเดือนเมษายน 2526 อีกไม่ถึง 10 เดือน ก็มีข้อเสนอให้ประนีประนอมโดยตั้งบริษัทกลาง
และเมื่อข้อเสนอบริษัทกลางพับไปอีกไม่นานก็มีคำสั่งจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในวันที่
9 มีนาคม 2527 สั่งให้แม่โขงและกวางทองขึ้นราคาภายใน 7 วัน ซึ่งสุรามหาราษฎรก็ตอบไปว่าทำไม่ได้
“10 เดือนหลังจากประมูลได้ทางกลุ่มเถลิงก็เห็นแล้วว่า มีทางออกเพียงง 2
ทาง และอีกประการหนึ่งทางกลุ่มเขาเองก็ประสบปัญหาด้าน cash flow มาก ทั้งหมดนี้เป็นลางบอกเหตุว่า
ถ้าดิ้นไม่ออกตามที่ต้องการแล้ว 1 มกราคม 2528 ก็ดูเหมือนจะเป็นวัน D-day"
แหล่งข่าวในวงการเหล้าอธิบายให้ฟัง
อบ วสุรัตน์-ธาตรี ประภาพรรณ และ จำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์
อบ วสุรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นโควตาพรรคชาติประชาธิปไตย
อบเป็นคนโผงผางและกล้าได้กล้าเสีย บทบาทของอบนั้นเป็นบทบาทของนักบู๊ที่สู้มาตลอด
ในยุคแรกๆ ที่อบเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรมอยู่ อบมักจะชนกับสมหมาย ฮุนตระกูล
อยู่เสมอในเรื่องเหล้าแม่โขง กวางทอง ที่ถูกกระทรวงการคลังพยายามจะขึ้นภาษีอยู่ตลอดเวลา
แต่อบก็ได้เปลี่ยนท่าทีตัวเองอย่างเห็นได้ชัดโดยกลับมาเข่นฆ่าเหล้าแม่โขง
กวางทอง ที่กระทรวงตนเองเป็นเจ้าของอยู่
ธาตรี ประภาพรรณ เป็นเลขาฯ ของอบ วสุรัตน์ ธรรมดาแล้ว คนที่ชื่อธาตรีนี้ไม่น่าจะได้มีโอกาสมานั่งเป็นเลขารัฐมนตรีหรอก
ถ้าไม่ใช่เพราะพ่อตาของธาตรี ประภาพรรณนั้นชื่อ บรรณสมบูรณ์ มิตรภักดี
บรรณสมบูรณ์ มิตรภักดี ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของพรรคชาติประชาธิปไตย ซึ่งมีพลเอกเกรียงศักดิ์
ชมะนันทน์ อดีตนายพลที่เขาไม่ได้นัดแต่ตัวเองต้องการจะมาในคดีกบฏ 9 กันยายนนี้เอง
ธาตรี ประภาพรรณ เป็นคนชงเรื่องราวต่างๆ ใส่พานเข้าไปหาอบ
ว่ากันว่างานต่างๆ นั้นมีอยู่มากที่อบฟังจากธาตรี แล้วก็เซ็นชื่อลงไปเพราะตาอบมองไม่ค่อยเห็น
ธาตรีนั้นสนิทสนมกับทหารมาก็นาน เพราะอาชีพเดิมของธาตรีนั้นคือ พ่อค้าอาวุธที่ติดต่อค้าขายกับทหาร
และก็จากสายสัมพันธ์ของพ่อตา และจากการอ้างอิงว่า ตัวเองรู้จักทหารเยอะเลยทำให้ธาตรีได้มานั่งเป็นเลขาฯ
หน้าห้องของอบ วสุรัตน์
จำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์ เป็นข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมที่บุญมาวาสนาส่ง
เพราะมีเจ้านายที่ชื่ออบ วสุรัตน์
เดิมทีจำนงค์อยู่กระทรวงพาณิชย์ และสมัยที่อบเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ยุคสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ อัญชันบุตร เอ๊ย! ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจำนงค์เป็นคนที่อบรักมากๆ
อาจจะเป็นเพราะจำนงค์เป็นคนว่านอนสอนง่ายและแก้ปัญหาให้รัฐมนตรีอบได้ทุกประการโดยไม่มีการคัดค้านว่า
“ท่านครับเรื่องนี้ทำไม่ได้เพราะติดโน่นนติดนี่...” จำนงค์ก็เลยกลายเป็นคนดำเนินงานให้อบตั้งแต่สมัยอยู่กระทรวงพาณิชย์
เหมือนอย่างที่เขาว่ากันว่า “ค่าของคนอยู่ที่เป็นคนของใคร” พออบออกจากการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ก็เริ่มตกต่ำลงแบบศุกร์เข้าเสาร์แทรก
จนดูเหมือนว่าชีวิตราชการของจำนงค์นั้นคงจะเริ่มนับซีกันได้แล้วว่าชีวิตนี้จะขึ้นได้อีกกี่ซีเท่านั้น
แต่เมื่อมันมีกลางคืนมันก็ต้องมีกลางวัน
ในที่สุดกลางวันของจำนงค์ก็ฉายแสงออกมา เมื่ออบได้กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ในยุครัฐบาลผสมที่พรรคชาติประชาธิปไตยตัดสินใจเข้าไปร่วม
อบย้ายจำนงค์จากกระทรวงพาณิชย์มาสู่กระทรวงอุตสาหกรรมอย่างไม่รอช้า ถึงแม้ประเภทของงานมันจะคนละประเภทก็ช่างมันเถอะ
เพราะสิ่งที่อบต้องการนั้นไม่ใช่คนที่รู้เรื่องงานดี แต่ต้องเป็นคนที่รู้คำสั่งดีว่า
พอสั่งแล้วก็ต้อง “ครับผม”
ทีมงาน อบ-ธาตรี-และจำนงค์ก็เริ่มยุทธการฟาดฟันแม่โขงทันที!
แต่เผอิญกระทรวงอุตสาหกรรมเกิดมีคนชื่อ วีระ สุสังกรกาญจน์ เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
วีระเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่รู้เรื่องแม่โขงดีที่สุด เพราะวีระเคยเป็นอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งตามกฎหมายคือเจ้าของสุราแม่โขงและกวางทองนั่นเอง
วีระเผอิญเป็นคนชอบขวางลำเสมอ ถ้าตัวเองคิดว่าคำสั่งนั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ
และชื่อเสียงของวีระนั้นก็เป็นชื่อเสียงที่ไม่ด่างพร้อย
ในต้นปี 2527 ได้มีการเจรจากันอย่างลับๆ เพื่อให้มีการขึ้นราคาแม่โขง ผลจะเป็นอย่างไรและใครเข้าเจรจาด้วยนั้นก็คงจะลงมาตีพิมพ์ให้รู้กันไม่ได้
แต่ที่แน่ๆ คือมีคนแกล้งทำเงินสดหล่นหายกันแถวๆ กระทรวงอุตสาหกรรมไว้ก้อนหนึ่ง
ว่ากันว่าเงินก้อนนั้นเป็นก้อนที่ใหญ่มาก ตัวเลขไม่ใช่เจ็ดหลักแต่เป็นเก้าหลัก!
ส่วนใครจะได้ไปนั้น คนรับก็คงรู้ดี และก็คงจะพอดูฐานะคนรับออก คอยไปอีกไม่นานก็คงต้องมีการใช้เงินก้อนนี้กันบ้าง
แต่ที่แน่ๆ วีระ สุสังกรกาญจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมถูกหวยเข้าจังเบ้อเริ่ม!
เพราะไม่ยอมให้แม่โขงขึ้นราคาก็เลยโดนสั่งย้ายอย่างสายฟ้าแลบ เข้าประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในข้อหา
5 ข้อหา
1. มีความผิดในการกระทำข้ามขั้นตอนข้ามหน้าผู้บังคับบัญชา ด้วยการทำหนังสือถึงปลัดสำนักนายกฯ
โดยไม่ผ่านรัฐมนตรีว่าการฯ
2. มีการกระทำขัดคำสั่งหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งซึ่งสั่งชอบด้วยกฎหมาย
3. แสดงออกถึงความกระด้างกระเดื่องและต่อต้านนโยบายของผู้บังคับบัญชาและไม่รักษาวินัยข้าราชการ
4. รายงานเท็จและรายงานโดยปกปิดข้อความจริงอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ
5. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบส่อไปในทางทุจริตและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ
หรือสรุปสั้นๆ ได้ว่า วีระ สุสังกรกาญจน์ ถูกสั่งย้ายเพราะไม่ยอมขึ้นราคาแม่โขงตามที่อบ
วสุรัตน์ ต้องการให้ขึ้น เถลิง เหล่าจินดา-เจริญ ศรีสมบูรณานนท์-พงส์ สารสิน-เกียรติ/กมล
เอี่ยมสกุลรัตน์
เถลิง เหล่าจินดา เป็นคนอ่างทอง
ปีนี้อายุ 63
สมัยอยู่อ่างทองขายกาแฟ
เคยเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ในระหว่างสงครามโลกกลับไปอยู่อ่างทองดำเนินกิจการขายข้าวจนมีเงินมีทอง
แล้วก็กลับมากรุงเทพฯ ตั้งบริษัทขายส่งเหล้าชื่อ บริษัทเศรษฐการ จำกัด
จากจุดนี้เองก็เข้ามาร่วมกับ สหัท มหาคุณ
บริษัทเศรษฐการอยู่ได้ไม่นานประสบปัญหาขาดทุนก็ต้องเลิกทำ
กลับไปอยู่กับสหัท มหาคุณ ทำเรื่องก่อสร้าง จนกระทั่งสหัทไปได้แม่โขงมาทำจากจอมพลสฤษดิ์
ก็ถูกให้เข้ามาร่วมในแม่โขง
เถลิงเป็นคนพูดน้อยมีความอดทนสูง
เมื่อครั้งบริษัทเศรษฐการมีปัญหาเรื่องการเงิน
เถลิงวิ่งไปหาอุเทน เตชะไพบูลย์ เพื่อขอความช่วยเหลือ
แต่จากเป็นคนพูดไม่เป็น ว่ากันว่าเถลิงแวะไปหาอุเทนที่บ้านตั้งแต่เจ้าสัวยังไม่ตื่น
นั่งจิบน้ำชารออยู่ในห้องรับแขก จนเจ้าสัวตื่นลงบันไดมาก็ไม่พูดว่ามาเรื่องอะไร
เจ้าสัวก็คิดว่าเถลิงมาหาน้องๆ เจ้าสัวก็เลยออกไปทำงาน
จนตกค่ำ เจ้าสัวกลับบ้านเข้ามาก็เจอเถลิงยังคงนั่งอยู่ที่เดิม ไม่ได้ไปไหน
ก็เลยสอบถามว่ามีเรื่องอะไร? ต้องการอะไร?
ถึงรู้ว่า เถลิงจะมาให้ช่วยเรื่องบริษัทเศรษฐการ
เถลิงเป็นคนใจถึงและฉลาดมาก เก่งในเรื่องการเดินเกมรุกเกมรับทั้งวงนอกวงใน
เล่นถึงลูกถึงคน เป็นคนที่ใจป้ำและกล้าได้กล้าเสีย
ในการค้าที่ต้องติดต่อผู้ใหญ่ และถ้ายังมองเห็นไม่ชัด เถลิงจะหว่านไปให้ทั่วก่อน
เมื่อทราบเป้าแน่นอนแล้วถึงจะเจาะเข้าตรงเป้า
สมัยที่เถลิงทำแม่โขงยุคแรก เขาคุมฝ่ายการค้าในขณะที่สุเมธ เตชะไพบูลย์
คุมด้านโรงงานและการจัดซื้อ
ต่อมาเถลิงเป็นผู้ดึงเอาทหารใหญ่ทั้งหลายเข้ามาตั้งบริษัทบวรวงศ์เพื่อมาเป็นเสือนอนกินในเหล้าแม่โขง
ซึ่งสมัยนั้นทำภายใต้ชื่อบริษัทสุรามหาคุณ
เถลิงและเตชะไพบูลย์เริ่มมีความขัดแย้งกันในสมัยแม่โขงยุคที่สอง ซึ่งเถลิงได้เข้ามาคุมฝ่ายจัดซื้อและโรงงานในขณะที่สุเมธ
เตชะไพบูลย์ กลับไปคุมการตลาด
ความขัดแย้งเกิดเพราะของที่จัดซื้อส่งให้แม่โขงยุคนั้นเป็นของกลุ่มเถลิงทั้งสิ้น
ความขัดแย้งได้แตกหักเห็นได้ชัดก็เมื่อมีการประมูลเหล้าแม่โขงยุคที่ 3 ซึ่งเป็นยุคที่บริษัทสุรามหาราษฎรได้ไป
เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ เคยเป็นคนขายของโชวห่วย ส่งของให้โรงงานแม่โขงโดยเป็นลูกน้องของเถลิงมาก่อน
เจริญเป็นคนเข้าผู้ใหญ่เก่งมาก พูดเอาใจคนเก่งและนิ่มนวล งานติดต่อผู้ใหญ่ต่างๆ
ในช่วงหลังก็เป็นเจริญนี่แหละที่ทำหน้าที่แทนเถลิง
เจริญจะเป็นคนวิ่งเต้นผู้ใหญ่เก่งมากและพร้อมที่จะจับเส้นผู้ใหญ่ได้ตลอดเวลา
ในยุคที่พลเอกเกรียงศักดิ์เป็นนายกฯ อยู่นั้น เจริญพยายามเข้าทางสายพลเอกเกรียงศักดิ์
โดยพยายามเจาะผ่านทางพลเอกพร ธนะภูมิ โดยพยายามลงทุนต่างๆ โดยชวนพลเอกพรเข้ามาร่วมถือหุ้นถึงขนาดรับเอาลูกเขยพลเอกพร
ธนะภูมิ เข้ามาทำงานในระดับบริหารในบริษัททีซีซี (เป็นอักษรย่อของเถลิง เจริญ และจุล)
ปัจจุบันเจริญแทบจะเป็นตัววิ่งเต้นพบปะและประสานงานให้กับกลุ่มบริษัทสุราทิพย์
แม้แต่การไปพบรัฐมนตรีจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เมื่อเร็วๆ นี้ถึง 2 ชั่วโมงก็เป็นเจริญ
ศรีสมบูรณานนท์ เป็นผู้ไปพบ
พงส์ สารสิน เข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการเหล้าตั้งแต่สมัยเข้าหุ้นกับประสิทธิ์
ณรงค์เดช เพื่อตั้งโรงงานสุราผลิตเหล้าชื่อธารา พอเถลิงติดต่อขอซื้อโรงงานนี้จากประสิทธิ์
ณรงค์เดช ก็เลยได้หุ้นส่วนที่ชื่อพงส์ สารสิน ไปด้วยคน
พงส์ สารสิน เป็นบุตรคนโตของพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และพจน์
สารสิน ก็มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษกับพระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันที่ชื่อสมหมาย
ฮุนตระกูล นอกจากนั้นแล้ว พงส์ สารสิน ยังเป็นเลขาธิการพรรคกิจสังคมซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ค้ำรัฐบาลชุดพลเอกเปรม
ติณสูลานนท์อยู่อีกด้วย พงส์ สารสิน เป็นนักธุรกิจใหญ่ที่มีกิจการคลุมไปหมดตั้งแต่ที่ดินและศูนย์การค้า เช่นราชดำริอาเขต
หรือเครื่องดื่ม เช่น โคล่า ซึ่งไม่โดนกระทรวงการคลังยุคสมหมาย ฮุนตระกูล ขึ้นภาษีเลยแม้แต่บาทเดียว
มิหนำซ้ำกระทรวงการคลังยังออกมาปกป้องให้เสียอีก!
ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง พงส์ สารสิน เองก็เป็นกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์
1 ใน 6 ธนาคารที่ให้เงินกู้แก่กลุ่มเหล้าตระกูลหงส์เป็นเงินหมื่นกว่าล้านบาท
พงส์ สารสิน มีน้องชายแท้ๆ อยู่คนหนึ่งที่ชื่อ บัณฑิต บุญยะปาณะ บัณฑิต
บุญยะปาณะ ก็เผอิญรับราชการอยู่กระทรวงการคลัง เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังซึ่งเปรียบเสมือนมันสมองและมือทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง
และยังเคยเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิตซึ่งมีหน้าที่ควบคุมเหล้าตระกูลหงส์โดยตรง
ก็เผอิญอีกเหมือนกันที่บัณฑิต บุญยะปาณะ ได้เคยออกคำสั่งมา 5ครั้งด้วยกันตั้งแต่ปี
2519 สมัยที่ยังเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจนถึงปี 2525 สมัยที่เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต
คำสั่งทั้ง 5 ครั้งนั้นเป็นคำสั่งที่ช่วยเหล้าตระกูลหงส์ที่พงส์ สารสิน ผู้เป็นพี่ชายมีหุ้นอยู่ และคำสั่งนั้นก็กระทบกระเทือนการขายของเหล้าแม่โขงอย่างมาก
(อ่านล้อมกรอบ “คำสั่งและหนังสืออนุญาตของบัณฑิต บุญยะปาณะ เลือดที่ย่อมข้นกว่าน้ำ”)
เกียรติ-กมล เอี่ยมสกุลรัตน์ เป็นพี่น้องกัน และคร่ำหวอดอยู่ในวงการเหล้ามานาน
เกียรติเป็นเพื่อนสนิทกับชาตรี โสภณพนิช ที่ชาตรีเชื่อใจ ส่วนกมลนั้นเคยเป็นหุ้นส่วนทางแม่โขง
เมื่อกมลและเกียรติเข้าร่วมสังฆกรรมกับเถลิง เหล่าจินดา และเจริญ ศรีสมบูรณานนท์
ก็เป็นเกียรตินี่แหละที่เป็นคนเอาแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพมูลค่า 2,500
ล้านบาทมาประมูลโรงเหล้า 12 โรงจากกรมสรรพสามิต
2527 ปีแห่งการเตรียมรบทั้งสองค่าย
ทั้งสองฝ่ายสะสมกำลังเตรียมพร้อม
2527 พอจะเป็นปีที่สงบมากพอสมควรทั้งกลุ่มแม่โขง กวางทอง และกลุ่มสุราทิพย์
ถึงแม้ว่าแม่โขงและกวางทองจะโดนกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่อบสั่งสมุนคู่ใจคือจำนงค์
พนัสจุฑาบูลย์ เข้ามาเป็นอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อบีบให้แม่โขงขึ้นราคา
โดยทำการกวาดล้างจับร้านค้าที่จำหน่ายแม่โขง กวางทอง ที่ขายเกินราคา 5,169
ราย จึงคาดโทษให้ปรับรายละ 2 แสนบาท เป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น 1,033 ล้านแปดแสนบาท
ส่วนสุรามหาราษฎรก็ยันกลับมาว่าการขายเหล้าส่งนั้นบริษัทไม่ได้ขายเกินราคา
แต่ถ้าร้านค้าใดไปบวกราคาเพิ่มเติมนั้น ก็เป็นเหตุผลทางการค้าของแต่ละร้านซึ่งบริษัทไปคุมไม่ได้
อุปมาอุปไมยดังโอเลี้ยงร้านริมถนนหน้าสลัมอาจจะขาย 3 บาท แต่โอเลี้ยงในร้านแอร์ก็จะขาย
5 บาท ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นถ้าจะอ้างว่าบริษัทรู้เห็นเป็นใจก็ต้องไปพิสูจน์กันในศาล
ส่วนกลุ่มสุราทิพย์ก็ใช้ปี 2527 เป็นปีของการวิ่งเต้นหาเงินหาทองมาเพิ่มเติมและเร่งสร้างโรงงานให้เสร็จทันตามสัญญา
และก็เป็นการวางแผนเพื่อบุกตลาดแม่โขง-กวางทอง ให้ได้
ยุทธการตีแม่โขงและกวางทองนั้นมีอยู่วิธีเดียว คือต้องให้ต้นทุนของแม่โขงสูงขึ้นและต้นทุนหงส์คงที่
และวิธีทำให้ต้นทุนแม่โขง-กวางทอง สูงขึ้นก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการขึ้นภาษีแม่โขง-กวางทอง
และคงภาษีของหงส์เอาไว้
การที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้บีบให้แม่โขงและกวางทองขึ้นราคาจาก 45 บาทของแม่โขงเป็น
52 บาท และ 32 บาทของกวางทองเป็น 44 บาท นั้นก็ยังไม่เป็นตัวแปรที่สำคัญ
ในการทำให้เข้าตลาดแม่โขงได้เพราะต้นทุนของเหล้าตระกูลหงส์หลังจากบวกค่าภาษีและค่าผลประโยชน์กับค่าปรับแล้วจะตกขวดละ
38.32 บาท
ซึ่งในต้นทุนดังกล่าว ราคาขายส่งจะตกประมาณ 43-45 บาท ทำให้ราคาต่ำกว่าแม่โขงเพียง
7 บาท ซึ่งแน่นอนที่สุดคงจะเข้ายึดครองตลาดแม่โขงไปได้ เพราะยังจะต้องเจอกวางทองที่ราคาถึงขึ้นไปแล้วก็เพียง
44 บาทเท่านั้น!!
ฉะนั้นจะเห็นได้ชัดว่าการขึ้นภาษีแม่โขงและกวางทองนั้นคือทางเดียวที่จะทำให้เหล้าตระกูลหงส์ได้เข้าตลาดแม่โขงอย่างแน่นอน!!
2528 ปีแห่งการทำลายล้างแม่โขง-กวางทอง ด้วยความร่วมมือของกระทรวงการคลัง
เค้าแห่งการทุ่มเทกำลังเข้าช่วยกลุ่มสุราทิพย์โดยกระทรวงการคลังเป็นพี่เลี้ยงและกรมสรรพสามิตเป็นหัวหอกก็เริ่มขึ้นมาแล้ว
ในเดือนมกราคม กลุ่มสุราทิพย์ยังไม่สามารถส่งมอบโรงงาน 12 โรงให้กับกรมสรรพสามิตได้ตามสัญญา
และพยายามจะขอยกเงินค่าประกันวันละ 1.2 ล้านบาท
รองอธิบดีกรมสรรพสามิต นายบรรหาร บัณฑุกุล ได้แสดงความเห็นใจชนิดที่น้ำตาแทบจะไหลออกมาว่าทางกรมฯ
จะร่วมกับคณะกรรมการเพื่อพิจารณาผ่อนผันการรับมอบโรงงาน ซึ่งบริษัทสุราทิพย์เสนอขอยืดไปอีก
6 เดือน
ยิ่งกว่าการชี้โพรงให้กระรอกเสียอีก!
และก็จริงเหมือนอย่างที่คิดเอาไว้ทุกประการ!
เพราะจนถึงวันนี้นาทีนี้กลุ่มสุราทิพย์ยังไม่ได้จ่ายค่าปรับให้กับกระทรวงการคลังเลยแม้แต่บาทเดียว!!!
นี่มันจะครบ 1 ปีแล้ว
ก็ไม่ทราบว่าข้าราชการกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังยังสบายดีอยู่หรือเปล่า?
ค่าปรับทั้งหมด 396 ล้านบาท เป็นเงินสิทธิอันชอบธรรมที่รัฐควรจะได้เข้าสมทบเงินคงคลัง
แต่กลับถูกละเลยโดยข้าราชการที่ต้องรับผิดชอบในหน้าที่โดยตรง
แต่นั่นก็คือแผนการขนาบแม่โขงทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
ข้างหน้าโดยอบ วสุรัตน์ กับ ชาตรี ประภาพรรณ โดยใช้จำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นคนคู่กายคู่ใจของอบด้วยการฟาดฟันแม่โขงไม่ให้ขายเกินราคาและตั้งแท่นปรับแม่โขงพันกว่าล้านบาท!
ส่วนข้างหลังก็โดยกระทรวงการคลังใช้นโยบายอะลุ้มอล่วยกับกลุ่มสุราทิพย์กันอย่างชื่นมื่น!
และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 28 ยุทธการบีบแม่โขงก็เริ่มมองออกให้เห็นเป็นรางๆ
กันแล้ว
ในขณะที่กระทรวงการคลังทุ่มจนสุดตัวเพื่อช่วยกลุ่มหงส์ทองและกระทรวงอุตสาหกรรมอัดแม่โขงจนสุดแรง
เพื่อให้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากันไป
ก็มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นเพื่อเสนอเป็นทางออกทันที นั่นคือ การตั้งบริษัทมวลชนพัฒนา
จำกัด ขึ้นมา โดยพลโทนพ พิณสายแก้ว ประธานกลุ่มสุราทิพย์เสนอขึ้นมาว่าบริษัทนี้น่าจะเข้ามาเป็นคนกลางในการจัดจำหน่ายสุราของทั้งสองฝ่าย
เหมือนคอหอยกับลูกกระเดือก ทันทีที่ลมปากของพลโทนพยังไม่ทันจะจาง นายอบ วสุรัตน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีนายธาตรีประภาพรรณ พ่อค้าอาวุธเป็นเลขานุการก็เอ่ยเอื้อนวจีว่าเห็นควรด้วย
และก็บังเอิญเหมือนกันที่บริษัทมวลชนพัฒนานี้ดันมีคนชื่อนายธาตรี ประภาพรรณ
เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย!!!
แหม! หมากตานี้มันช่างสง่างามอะไรเช่นนี้!!!
เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านได้รู้ว่า มวลชนพัฒนาจะรับทรัพย์ขนาดไหน ก็ต้องรู้ว่ามวลชนพัฒนาจะได้ค่าต๋งจากการคุมการจำหน่ายเหล้าของ 2 ยี่ห้อนี้ในอัตราขวดละ
50 สตางค์ เดือนหนึ่งๆ ขายเหล้าได้เกือบ 20 ล้านขวด ก็ลองคิดดูซิว่า เดือนหนึ่งจะต้องรับเท่าไร?
หมากของการตั้งมวลชนพัฒนาขึ้นมานั้นเป็นหมากที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของแม่โขงและหงส์ทอง
ในขณะที่เหล้าสกุลหงส์ทองกำลังดิ้นสุดฤทธิ์ ฉะนั้นข้อเสนออะไรก็ได้ที่เข้ามาแล้วตัวเองจะต้องดีขึ้น
หรือถ้าตัวเองไม่ดีขึ้นก็ต้องให้แม่โขงแย่ลง ตัวเองก็จะรับหมด
ในขณะเดียวกันทั้งอบและธาตรีก็ใช้อำนาจที่มีอยู่ในกระทรวงบีบแม่โขงอย่างหนัก
และในภาวะของการกำลังสำลักน้ำจะจมตายอยู่นี้ก็เกิดมีเรือลอยลำหนึ่งและเผอิญเรือลำนี้เป็นเรือทหารเสียด้วย
รายชื่อทหารแต่ละคนที่ใส่เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นนี้ล้วนแต่ทำให้พ่อค้าต้องสยองขวัญกันทั้งนั้น
เพราะมีทั้งพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ฯลฯ มิหนำซ้ำยังมีการแพร่ข่าวอีกว่า
บริษัทนี้ตั้งขึ้นมาด้วยความเห็นชอบของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก
มันลงล็อกพอดี!
"พวกนี้ฉลาด เขาจับความขัดแย้งของพ่อค้าแล้วฉวยโอกาสเอาทหารมาบังหน้า ใช้ชื่อทหารใหญ่มาขู่
ธรรมดาของคนค้าขายก็ไม่อยากไปขัดแข้งขัดขาหรือขัดความประสงค์ของผู้ใหญ่อยู่แล้ว
มันก็เลยลงตัว ยิ่งกระทรวงอุตสาหกรรมตีกระแทกเข้าไปตลอด แล้วผู้ถือหุ้นของมวลชนก็ดันมีพลเรือนอยู่คนเดียวที่ชื่อธาตรี
ประภาพรรณ ซึ่งก็เป็นเลขานุการรัฐมนตรีอุตสาหกรรม กระทรวงที่กำลังอัดแม่โขงอยู่จนอ่วมอรทัย
ฉะนั้นมันก็แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งว่า ถ้าให้มวลชนพัฒนาเข้ามาจัดการ เรื่องจากหนักมันก็เป็นเบาไปได้”
แหล่งข่าวในวงการเหล้าแจงสี่เบี้ยให้ฟัง
เป็นอันว่าจู่ๆ ก็เกิดมีตาอยู่ขึ้นมารับผลประโยชน์ ส่วนเจ้าความคิดที่ประเสริฐแบบเจ้าเล่ห์เช่นนี้
จะเป็นใครก็ลองถามคนชื่อธาตรี ประภาพรรณ พ่อค้าอาวุธ ลูกเขยบรรณสมบูรณ์ มิตรภักดี
นายทุนพรรคชาติประชาธิปไตยที่เป็นเลขานุการ นายอบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมดูเอาเองซิ!
ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่วีระ สุสังกรกาญจน์ กำลังโดนจวกหนัก ซึ่งกรณีของปลัดอุตสาหกรรมวีระนั้นเ
มื่อมาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังแล้ว ก็จะเห็นข้อแตกต่างและก็จะเข้าใจรายการรุมกินโต๊ะจีนของทั้ง
2 กระทรวงที่มีต่อบริษัทสุรามหาราษฎรอย่างเห็นได้ชัด
ปลัดวีระถูกนายอบตั้งกรรมการชุดที่ 2 จำนวน 5 คน ขึ้นมาสอบหลังจากที่กรรมการชุดแรกบอกว่าเขาไม่ผิด
กรรมการชุดที่ 2 บอกว่าปลัดวีระผิดเพราะ :-
1. ไม่ควรให้แม่โขง-กวางทอง ลดราคา
2. ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.เรื่องการทำสัญญา
3. ไม่สามารถสั่งการให้บริษัทสุรามหาราษฎรปรับราคาให้สูงขึ้นได้เนื่องจากไม่ได้มีการทำสัญญาเพิ่มเติมตามมติ ครม.
แต่เมื่อเรื่องถูกสรุปและส่งไปสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นเจ้าสังกัดของวีระ สุสังกรกาญจน์
ปรากฏว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็บอกออกมาชัดแจ้งแดงแจ๋ว่า
วีระไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา
และถ้าเราหันมาดูการทำงานของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงการคลังแล้ว จะเห็นว่า
มีข้อกล่าวหาต่างๆ ดังนี้ :-
1. ทำไมกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตไม่ดำเนินการให้สุราทิพย์จ่ายค่าปรับและจ่ายค่าสิทธิผลประโยชน์ที่ต้องจ่ายให้รัฐตามสัญญา
(ข้อนี้ถือได้หรือไม่ว่าอธิบดีกรมสรรพสามิตสมัยนายอรัญ ธรรมโน ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยละเลยและเพิกเฉย)
2. กระทรวงการคลังฝ่าฝืนมติ ครม.ที่ สร.0203/2418 ลงวันที่ 2 มีนาคม 26 ที่มีมติให้กระทรวงการคลังประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าประมูลขอรับอนุญาตทำและจำหน่ายสุราขาว-ผสม
พ.ศ.2528-2542 ว่า “ห้ามมผลิตสุราผสมที่ใช้สูตรของสุราปรุงพิเศษแม่โขงและหรือกวางทอง
ออกจำหน่าย” (ข้อนี้ถือได้หรือไม่ว่าตั้งแต่รัฐมนตรีไปจนถึงอธิบดีสมัยบัณฑิต
บุญยะปาณะ และอรัญ ธรรมโน ฝ่าฝืนมติ ครม. อันเป็นการทำผิดกฎหมายแผ่นดิน)
3. เมื่อกลุ่มสุราทิพย์ประมูลโรงงานสุราครั้งแรกได้แล้วทิ้งประมูลต้องเปิดประมูลใหม่
ซึ่งทำให้รัฐขาดค่าสิทธิไปปีละ 800 ล้านบาท (15 ปีเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท)
ในหลักปฏิบัติทั่วไปนั้น คนที่ทิ้งประมูลจะต้องถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าประมูลใหม่
การเอาเปรียบรัฐบาลแบบนี้เจ้าหน้าที่รัฐกลับให้การส่งเสริม ไม่ทราบว่าอธิบดีกรมสรรพสามิตในขณะนั้นมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่?
เพียงแค่ 3 ข้อนี้ก็เชื่อกันได้ว่า ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลาย ก็คงจะต้องวิ่งกันเข้ามาช่วยพรรคพวกตัวเองแก้ตัวกันเป็นการใหญ่
จะเห็นได้ชัดถึงความลำเอียงและร่วมกันปกป้องผลประโยชน์เหล้าหงส์ของข้าราชการประจำบางคนในกระทรวงการคลัง
และก็จะเห็นได้ชัดว่า ในขณะที่ปลัดวีระของกระทรวงอุตสาหกรรมถูกเจ้ากระทรวงเล่นงานอย่างหนักหน่วง
แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังกลับหมั่นละเลย และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กันอย่างครื้นเครง
และก็ไม่ยี่หระต่ออะไรทั้งสิ้น
พอจะเห็นข้อแตกต่างกันหรือยังครับ!
เขาถึงบอกกันเป็นสัจธรรมในแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองนี้ว่า กฎหมายบ้านนี้เมืองนี้มันศักดิ์สิทธิ์
แต่จะศักดิ์สิทธิ์ตรงที่ว่า ใครเป็นคนใช้และเจตนาคนใช้จะเป็นอย่างไร?
เมษายน 2528 วันพิพากษา แม่โขง-กวางทอง
ในช่วงที่สมหมาย ฮุนตระกูล เข้ามาบริหารงานประเทศชาติในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตลอดระยะเวลาหลายปีมานี่
แทบจะไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่สมหมายได้ทำอะไรลงไปให้นักธุรกิจไม่อกสั่นขวัญแขวนเลย
ครั้งนี้ก็เช่นกัน!
กระทรวงการคลังขาดรายได้อยู่ 6 พันล้านบาท
เมื่อมันเป็นเช่นนี้ กระทรวงการคลังทำงานเป็นอยู่อย่างเดียวในชีวิตคือ การขึ้นภาษี
คราวนี้ขอขึ้นทีเดียว 580 รายการ
เหล้าและเบียร์ได้ขึ้นหมดทั่วหน้า ส่วนจะมากหรือน้อยกว่ากันนั้นก็สุดแล้วแต่ความลำเอียงว่าใครเข้าข้างใคร!
ที่แน่ๆ คือ ภาษีน้ำอัดลมชื่อโคล่าของพงส์ สารสิน กับเป๊ปซี่ ที่คึกฤทธิ์
ปราโมช ถือหุ้นอยู่ไม่ได้ถูกขึ้นเลยแม้แต่บาทเดียว คงเป็นเพราะว่าทั้งคู่มีบุญบารมีมากพอที่ทำให้สมหมาย
ฮุนตระกูล ต้องเกรงอกเกรงใจเป็นพิเศษ
สำหรับเหล้านั้นถูกขึ้นภาษีอย่างแบเบอร์ตามที่คาดเอาไว้
แต่การขึ้นภาษีครั้งนี้ก็แฝงความแยบยลไว้อย่างน่าเกลียดและบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายกาจที่สุด
แม่โขงถูกขึ้นภาษีอีก 61%
กวางทองถูกขึ้นภาษี 100%
สุราตระกูลหงส์ขึ้น 137%
ถ้าดูตัวเลขตามเปอร์เซ็นต์แล้วแม่โขงก็ไม่น่าจะมาแหกปากร้องให้ช่วย เพราะแม่โขงถูกขึ้นภาษีน้อยที่สุด
แต่ตัวเลขเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นตัวเลขที่หลอกตาชาวบ้าน
เพราะถ้าคิดจากฐานภาษีก็จะเห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดแจ้งว่า :-
แม่โขงมีฐานราคาที่ 60 บาท ถูกขึ้นเป็น 100 บาท
กวางทอง มีฐานราคาที่ 50 บาทขึ้นเป็น 100 บาท
สุราหงส์ มีฐานราคาที่ 26 บาท ขึ้นเป็น 60 บาท
อุปมาอุปไมยของชิ้นหนึ่งราคา 100,000 บาท ขึ้นไป 60% เป็น 160,000 บาท กับของอีกชิ้นหนึ่งราคาเพียง
30,000 บาท แต่ขึ้น 137% เป็น 71,000 บาท ถ้าฟังดูเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คิดว่าของชิ้นหลังขึ้นมากกว่า
แต่ถ้ามาดูตัวเลขแล้วยังห่างกันไกลมาก
นอกจากนั้นแล้วที่ซ่อนเงื่อนเอาไว้อีกอย่างที่ประชาชนไม่ค่อยจะรู้กันก็อยู่ตรงที่ว่า
การขึ้นภาษีครั้งนี้หงส์ที่ขึ้นจากลิตรละ 26 บาท เป็น 60 บาทต่อลิตร นั้นขึ้นเฉพาะ
8 จังหวัด ที่ยังไม่ครบสัญญา แต่หงส์อีก 12 เขตกลับได้รับการชดเชยให้เหลือเพียง
40 บาทต่อลิตรเท่านั้นเอง
อีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความลำเอียงและการเอาสีข้างเข้าถูของกระทรวงการคลัง
คือการขึ้นภาษีเหล้ากวางทองจากลิตรละ 50 บาทเป็น 100 บาท เพราะกระทรวงการคลังอ้างว่า
คุณภาพกวางทองกับแม่โขงใกล้เคียงกัน แต่ในขณะเดียวกันข้อเท็จจริงในการทำเหล้าหงส์นั้นมีอยู่ว่าถูกปรุงขึ้นมาโดยผู้ปรุงเหล้าแม่โขง
และมีสี กลิ่น และรส แบบเดียวกับแม่โขง แต่เสียภาษีเพียงลิตรละ 40 บาท ในขณะที่แม่โขงเสียลิตรละ
100 บาท
แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า แพ้กันในมุ้งแล้วเพราะกรรมการรับเงินอีกฝ่ายหนึ่งมาจะเท่าไรคนรับก็น่าจะรู้!
และก็ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังที่กินเงินภาษีอากรประชาชนจะสำเหนียกหรือเปล่าว่า
การตั้งอัตราภาษี 2 อัตราให้เหล้าตระกูลหงส์นั้นเป็นการติดปีกให้เสือ
เพราะทุกวันนี้เหล้าข้ามเขตที่กรมสรรพสามิตเอาหูไปนาเอาตาไปไร่สนับสนุนแบบปิดตาเอามือคลำกำลังระบาดหนัก
เมื่อเป็นเช่นนี้อยู่แล้วกลุ่มสุราทิพย์ก็สามารถที่จะเอาเหล้าหงส์ที่เสียภาษีลิตรละ
40 บาท ข้ามเขตเข้าไปขายในเขต 8 จังหวัดที่ต้องเสียลิตรละ 60 บาท ได้กำไรมหาศาล
โดยที่รัฐก็เสียผลประโยชน์อย่างมหาศาลเช่นกัน
ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังโง่เองหรือแกล้งทำเป็นโง่!!!
มิน่าเล่าทำงานกันแบบนี้บ้านเมืองมันถึงได้ฉิบหายวายป่วงกัน เพิ่งจะรู้ต้นตอของการพินาศของประเทศไทยเองว่า
แท้ที่จริงแล้วมาจากกระทรวงการคลังนี้เองแหละ!
กระทรวงการคลังก็พยายามจะอธิบายว่าการชดเชยภาษีให้เหล้าหงส์นั้นเป็นเพราะ
กลุ่มสุราทิพย์ต้องลงทุนอย่างมากในช่วงแรกจึงควรจะได้รับการชดเชย แต่กระทรวงการคลังก็ลืมนึกถึงความเป็นธรรมบ้าง
เพราะในขณะที่กลุ่มสุรามหาราษฎรประมูลแม่โขง-กวางทอง ได้ลงทุนสร้างโรงงานใหม่และปรับปรุงโรงงานเดิมเป็นเงินถึง
2,400 ล้านบาทเศษ และตลอดเวลา 6 ปีที่ทำงานมาก็ไม่สมควรได้รับการชดเชยบ้างหรือ?
ตรงนี้แหละที่กระทรวงการคลังได้ลำเอียงมาตลอด และถ้าเรามาดูราคาจำหน่ายของเหล้า
3 ตัวที่ถูกกำหนดออกมา คือ แม่โขง กวางทอง และหงส์ แล้วเราจะเห็นข้อแตกต่างกันมาก
ทั้งๆ ที่กระทรวงการคลังโดยนายบัณฑิต บุญยะปาณะ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต
เองก็ยอมรับว่า เหล้าตระกูลหงส์นั้นมีรส สี และกลิ่น ใกล้เคียงแม่โขงมาก
จะอย่างไรก็ตาม แม่โขง กวางทอง ถูกข่มขืนทางภาษีอย่างหนัก และทำให้ยอดขายตกลงไปอย่างมหาศาลทำให้ค่าภาษีที่เรียกได้เพิ่มขึ้นนั้นยังต่ำกว่าค่าภาษีที่ขาดไป
เพราะขาดลดลงในช่วงหลังจากการปรับภาษี 6 เดือน เป็นเงินถึง 145.21 ล้านบาท
หรือประมาณปีละ 290 ล้านบาท
ก็เป็นอันว่า แผนพิฆาตแม่โขงก็สำเร็จดังใจนึก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า
จะบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้อย่างอิสรเสรี ปี2523
ปี2523 ปี2524 ปี2525 ปี2526 ปี2527 ปี2528
แม่โขง 40 52 52 45 52 65
กวางทอง 32 44 32 32 44 60
หงส์ 35 35 35 35 35 44
หงส์แพ้ภัยตัวเอง!!!
ในช่วงกลางปี 2528 เป็นภาวการณ์ที่ลำบากอย่างมากๆ ของแม่โขง “เราต้องอัดฉีดส่งเสริมการขายเข้าไปถึงร้อยกว่าล้าน
เพื่อไม่ให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาด แต่มันก็ไม่ดีขึ้นเท่าไรนัก เพราะราคาเหล้าหลังขึ้นภาษีมันเป็นตัวค้ำคอเราอยู่มาก”
ฝ่ายการตลาดของแม่โขงพูดกับ “ผู้จัดการ”
ภายหลังการปรับภาษีแล้วแม่โขงเริ่มเข้าสู่สภาพที่เลวร้ายลงทุกขณะ เปรียบเทียบกับกลุ่มหงส์ทองที่แพ้ภัยตัวเอง
เพราะต้องแบกต้นทุนสูงและมีปัญหาในเรื่องเงินหมุนเวียนแล้วก็อาจจะพูดได้ว่า
สถานการณ์ในช่วงกลางปีเป็นสถานการณ์ที่ทั้ง 2 ค่ายมีปัญหาพอๆ กัน เพียงแต่เป็นคนละปัญหาเท่านั้น
ก็เป็นธรรมดาที่ช่วงนี้จะต้องมีข่าวเรื่องความพยายามที่จะมีการเจรจากันระหว่าง
2 ค่ายมากเป็นพิเศษ อีกทั้งการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารในกลุ่มสุรามหาราฎรนั้นก็มองกันว่าเป็นความตั้งใจของ
“เตชะไพบูลย์” ที่ต้องการจะหาทางตกลงกับกลุ่มสุราทิพย์
เดือนมิถุนายนเรื่องของบริษัทมวลชนพัฒนา ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนายพลที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางจัดจำหน่ายสุราให้ทั้งแม่โขงและหงส์ทุกตัว
ก็เลยเริ่มหนาหูและดูเหมือนจะเป็นจริงเป็นจังขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา
นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวว่า ได้มีการพบปะเจรจากันอย่างลับๆ ระหว่างผู้ใหญ่ของฝ่ายสุรามหาราษฎรกับผู้ใหญ่ของฝ่ายสุราทิพย์เพื่อหาทางยุติศึก
แต่ไม่มีคำแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข่าวดังกล่าวนี้จากทั้ง 2 ค่าย
แต่มีรายงานข่าวกล่าวว่า การเจรจาเพื่อหาทางยุติศึกระหว่างค่ายแม่โขงกับค่ายหงส์ทองล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ด้วยเหตุที่มี “ตัวแปร” หลายประการระหว่างการเจรจา
ยอดขายของแม่โขงยังไม่กระเตื้องแต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกลับปฏิเสธว่ายอดขายแม่โขงและกวางทองนั้นเพิ่มขึ้น
กล่าวคือ ในเดือนพฤษภาคมแม่โขงขายได้ 4,250 ล้านขวด เดือนมิถุนายนขายได้
4,440 ล้านขวด ขายเพิ่มขึ้น 180,000 ขวด หรือเพิ่มขึ้น 4.32% ส่วนกวางทองเมื่อเดือนพฤษภาคมขายได้
560,000 ขวด เดือนมิถุนายนขายได้ 1.5 ล้านขวด เพิ่มขึ้น 940,000 ขวด หรือ
165.56% กรมโรงงานอุตสาหกรรมยืนยันว่า การปรับภาษีมีผลกระเทือนต่อยอดขายในช่วงแรกๆ
เท่านั้น
ส่วนกลุ่มหงส์ก็มีปัญหาในเรื่องยอดขายเหมือนกัน แต่ตัวปัญหานั้นอยู่ที่การระบาดของเหล้าเถื่อน
ซึ่งมีผลทำให้ยอดขายของกลุ่มหงส์ทำได้เพียง 60% ของโควตาที่ได้รับเท่านั้น
บริษัทสุราทิพย์ได้เรียกร้องให้กรมสรรพสามิตหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนต่อไป
นอกจากที่ตัวเองจะต้องเจอปัญหาเหล้าเถื่อนแล้วกลุ่มสุราทิพย์ยังประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างหนัก
ทั้งๆ ที่ค่าสิทธิ์ก็ยังไม่ได้จ่ายให้กับรัฐบาลแม้แต่ค่าปรับที่ส่งโรงงานให้ช้าก็ยังไม่ได้จ่าย
ภาระการเงินที่ต้องกู้มาจาก 6 ธนาคารนั้นเฉพาะค่าดอกเบี้ยอย่างเดียวก็กว่า
3 ล้านบาทต่อวัน
สภาพการเงินของกลุ่มสุราทิพย์กำลังซวนเซอย่างหนัก ผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานสุราให้กลุ่มสุราทิพย์พากันโอดครวญถึงเรื่องการจ่ายเงินช้าและการยืดเวลาจ่ายเงิน
ในนาทีวิกฤตเช่นนี้หงส์ก็เลยตัดสินใจใช้แผนเหนือเมฆเข้ามาแก้ปัญหาทันที!
และแผนนี้ต้องได้รับความร่วมมือกับกรมสรรพสามิต ตลอดจนกระทรวงการคลังถึงจะทำได้!
และถ้าทำสำเร็จก็เท่ากับว่าหงส์สามารถจะประหยัดเงินในปี 2528 ไปได้ 4 พันกว่าล้านบาท!!!!
ยุทธการยอกย้อน ฉ้อฉลผลประโยชน์รัฐ
ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะได้ฟังยุทธการยอกย้อนอันนี้ จำเป็นจะต้องทราบถึงการปฏิบัติและวิธีการค้าสุราที่มีมาแต่โบราณกาลตั้งแต่สมัยปู่สมัยทวด
และวิธีการปฏิบัตินี้ก็เป็นขนบธรรมเนียมในวงการค้าเหล้าที่ทุกคนยอมรับกันมาตลอด
ในสัญญาของการดำเนินการผลิตสุรากับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมโดยผ่านทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม
หรือกับกระทรวงการคลัง โดยผ่านกรมสรรพสามิต เมื่อใกล้จะหมดสัญญาการผลิตแล้ว
ทางหน่วยงานของรัฐก็จะประกาศเปิดการประมูลให้เช่าสัญญาต่อ และการประมูลก็จะมีก่อนสัญญาจะหมดประมาณ 1 ปี
หรือ 2 ปีสุดแล้วแต่ว่าการประมูลใหม่ผู้ประมูลได้จะต้องสร้างโรงงานอะไรหรือไม่?
ถ้าต้องลงทุนสร้างโรงงานเช่นที่กลุ่มสุราทิพย์ประมูลได้ก็จะเปิดประมูลเร็วขึ้น
เมื่อผู้ประมูลรายใหม่ประมูลรับช่วงต่อไปได้และมีการประกาศออกมาเป็นทางการว่าใครประมูลได้ ซึ่งถ้าไม่ใช่เจ้าเก่าได้เจ้าใหม่ก็จะต้องประสบปัญหาดังนี้
:-
เหล้าค้างสต๊อก เจ้าเก่าที่ทำอยู่เมื่อรู้ว่าตัวเองจะไม่ได้ทำต่อไปแล้วก็จะเร่งผลิตเหล้าทั้งวันทั้งคืน
ผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะต้นทุนด้านภาษีของตนต่ำกว่าเจ้าใหม่มาก
เหล้าค้างสต๊อกนั้นก็จะถูกนำออกมาจำหน่ายเพื่อตัดราคาเจ้าใหม่ที่เข้ามาทำโรงงานต่อ
และประเพณีเป็นเรื่องที่ทุกคนในวงการเหล้าได้ประสบพบเห็น พร้อมทั้งยอมรับกันทั่วหน้า
ทางแก้ของผู้ประมูลใหม่ก็มีอยู่ 2 ทางคือ ยอมให้เหล้าเก่าของเจ้าเก่าขายไปจนใกล้จะหมด
หรือวิธีที่ 2 ที่มักจะทำกันคือการขอซื้อเหล้าค้างสต๊อกทั้งหมดในราคาที่ทั้ง 2 ฝ่ายยินยอมพร้อมใจกัน
กรณีของกลุ่มสุราทิพย์ก็เช่นกัน เถลิง เหล่าจินดา เจริญ ศรีสมบูรณานนท์
เกียรติ และกมล เอี่ยมสกุลรัตน์ ก็คือพ่อค้าเหล้าที่คร่ำหวอดมากับวงการน้ำเมาหลายสิบปี ขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ก็ต้องรู้อยู่แก่ใจ
ฉะนั้นเมื่อกลุ่มสุราทิพย์นี้ประมูลได้สิทธิ์ในการทำเหล้า 12 โรงงานทั่วประเทศเมื่อ
2 ปีที่ผ่านมานั้น กลุ่มนี้ก็ได้เตรียมแก้ปัญหานี้ไว้แล้ว โดยไปรับเซ้งหรือร่วมกิจการจากผู้ผลิตเดิม
31 โรงงาน โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการแทนผู้ผลิตเดิมทั้งเกือบ 31
โรงงาน ก่อนที่โรงงานนั้นจะครบอายุสัญญาปี 2527
ในการเข้าไปก็ผลิตสุราค้างสต๊อกขึ้นมาประมาณ 7.8 ล้านเท ซึ่งเป็นเหล้าที่กลุ่มสุราทิพย์เป็นผู้ผลิตขึ้นมาเองก่อนที่โรงงานเหล้านั้นจะครบอายุสัญญาด้วยการรับโอนกิจการไว้ก่อน
สุราค้างสต๊อก 7.8 ล้านเทนี้เป็นเหล้าที่เสียภาษีตามแสตมป์ที่ปิดขวดเท่านั้น
แปลได้ว่า เป็นเหล้าที่ไม่ต้องเสียค่าสิทธิ์ ค่าภาษี ค่าปรับตามเงื่อนไขใหม่ของโรงงาน
12 ที่เพิ่งประมูลได้
และกลุ่มบริษัทที่เข้าไปซื้อเหล้าเก่าพวกนี้ก็คือบริษัทท่าจีนการสุรา ซึ่งโดยสภาพแล้วเป็นนิติบุคคลอีกบริษัทหนึ่งซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสุราทิพย์เลย
ปัญหามันก็เกิดขึ้นเมื่อสุราทิพย์เกิดสมองใสจะเอาตัวรอดขึ้นมา!!!
สุราทิพย์ก็เลยเสนอกระทรวงการคลังว่า ตัวเองต้องรับซื้อสุราค้างสต๊อกจากผู้ผลิตเดิม
7.8 ล้านเท และเมื่อบวกกับโควตาการผลิตปี 2528 ตามสัญญาใหม่อีก 14.66 ล้านเทแล้ว
สุราทิพย์ก็อ้างว่า ตนเองต้องรับภาระถึง 22.46 ล้านเท จะหนักไป ฉะนั้นก็จะขอลดโควตาการผลิตเสียภาษีและค่าผลประโยชน์ให้แก่รัฐในปี
2528 นี้ลงไป 7.8 ล้านเท โดยถือเสมือนว่า สุราทิพย์ได้เป็นผู้ผลิตเสียภาษีและค่าผลประโยชน์จากเหล้าที่ซื้อมาจากผู้ผลิตเก่า
7.8 ล้านบาทให้กับรัฐแล้ว
เรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาของกระทรวงการคลังมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยปลัดกระทรวงการคลัง
พนัส สิมะเสถียร กลัวว่ากลิ่นเหล้าจะเหม็นหึ่งมาถึงวงศ์ตระกูลก็คัดค้านไม่เห็นด้วย
จะด้วยอาเพศอันใดที่ประเทศนี้ยังมีอยู่ก็ไม่ทราบได้? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ส่งเรื่องกลับมาโดยตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาใหม่อีก
โดยมีตัวกรรมการอยู่สามคน
คนแรกคือ เฉลิมชัย วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างสดๆ
ร้อนๆ ต่อจากอรัญ ธรรมโน
คนที่สองคือ นิพัทธ พุกกะนะสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้มีศักดิ์เป็นหลานรักของสมหมาย
ฮุนตระกูล ที่กำลังขึ้นหม้ออยู่ปัจจุบัน และนิพัทธนี้เองในยุคสมัยหนึ่งก็เป็นผู้เสนอให้มีการประมูลสร้างโรงงานเหล้าขึ้นมาใหม่เพื่อผลิตแอลกอฮอล์
และทำสุราปรุงพิเศษลักษณะเดียวกับแม่โขงและกวางทอง โดยให้ขายทั่วราชอาณาจักรได้
แต่เผอิญความคิดนี้คณะรัฐมนตรียังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่ก็เลยไม่เห็นด้วย
คนสุดท้ายคือเจ้าเก่าที่เลือดข้นกว่าน้ำชื่อ บัณฑิต บุญยะปาณะ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต
ปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง และก็เป็นน้องชายแท้ๆ ของพงส์ สารสิน หุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งของกลุ่มสุราทิพย์
เห็นแค่ชื่อกรรมการก็ต้องบอกว่าเลือกได้เจ็บมาก เหมือนกับสั่งมาเลย และแทบจะทำนายผลออกมาได้
กลุ่มสุราทิพย์ก็ค่อยหายใจคล่องหน่อยที่เห็นชื่อกรรมการชุดนี้หลังจากที่ผิดหวังและอารมณ์เสียมากับพนัส
สิมะเสถียร ครั้งหนึ่ง
แต่เผอิญงานนี้เฉลิมชัย วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิตไม่เล่นด้วย เพราะ “ท่านอธิบดีเห็นว่าไม่ถูกต้อง
และรัฐเสียผลประโยชน์มาก อีกประการหนึ่งท่านเองอีกไม่กี่ปีก็เกษียณแล้ว ท่านคงไม่อยากจะต้องมีเรื่องมีราวหลังเกษียณ”
คนใกล้ชิดเฉลิมชัย วสีนนท์ พูดให้ฟัง
เป็นอันว่าแผนนี้ก็คงค้างเติ่งกันต่อไป
แต่เพื่อความกระจ่างของการที่รัฐสูญเสียผลประโยชน์อย่างไรถ้ายอมให้กลุ่มสุราทิพย์เอาเหล้าค้างสต๊อกหักออกจากโควตาปี
2528 ก็ลองมาดูคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานกัน ก. สัญญาค่าสิทธิ์และภาษีของกลุ่มสุราทิพย์ปี
2528
1. ค่าภาษี 2,709 ล้านบาท ต่อ 14.66 ล้านเท
(คิดเป็นค่าภาษีเทละ 184.80 บาท)
2.ค่าสิทธิ์ 5,088 ล้านบาท
(คิดเป็นค่าสิทธิ์เทละ 347.07 บาท) ข. ถ้ารัฐบาลยอมให้เอาเหล้าค้างสต๊อกจำนวน
7.8 ล้านเทหักออกจากโควตา จะทำให้ยอดโควตาที่ต้องเสียภาษีเหลือเพียง 6.86
ล้านเท ซึ่งคิดเป็นเงินดังนี้
1. ค่าภาษี (6.68X184.80)=1,267.73 ล้านบาท
2. ค่าสิทธิ์ (6.86X347.07)=2,380.90 ล้านบาท
3. รวมเป็นเงินที่เสียให้รัฐ 3,648.63 ล้านบาท หลังจากหักเหล้าค้างสต๊อกออก
ค. จะเห็นได้ว่ารัฐจะสูญเสียผลประโยชน์ในปี 2528 เฉพาะกรณีหักเหล้าค้างสต๊อกไป
:- ก.(3)-ข(3)=7,797,000,000-3,648,630,999=4,148,370,000 บาท ง. เหล้าที่ค้างสต๊อก
7.8 ล้านเทนั้นก็สามารถเอาไปขายในท้องตลาดได้อีก โดยที่ต้นทุนค่าภาษีเก่าของเหล้าจำนวนนี้เพียงเทละประมาณ
220 บาท ฉะนั้น 1. รัฐเสียผลประโยชน์ไปอีก [(184.80 ค่าภาษี+347.07 ค่าสิทธิ์)-220]=311.87
บาทต่อเท 2. คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 34.87X7,800,000 เท= 2,432,586,000 บาท
จ. รวมทั้งสิ้นที่รัฐต้องเสียผลประโยชน์ไปจากงานนี้ (ค)+(ง)=4,148,370,000+2,432,586,000=6,580,956,000
บาท
ท่านผู้อ่านที่เคารพเงินก้อนนี้พอเทียบเท่ากับยอดภาษีที่กระทรวงการคลังขอขึ้นเมื่อเมษายน
28 เพื่อเอามาอุดเงินคงคลังที่ขาดไป!! มวลชนพัฒนา เสือนอนกินที่ไม่อายฟ้าดิน
แล้วเดือนกันยายนเสือที่ไม่มีลายชื่อ มวลชนพัฒนา ก็เกิดขึ้นมาดังที่คาดหมายเอาไว้
ท่ามกลางความเซ็งและความหดหู่ของบรรดาวงการธุรกิจและผู้รักความเป็นธรรมว่าบริษัทลักษณะใช้อำนาจท็อปบูตเช่นนี้น่าจะหมดและสูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทยได้แล้ว
มวลชนพัฒนาตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเก็บค่าต๋งขวดละ 50 สตางค์ ซึ่งก็คงจะได้ประมาณเดือนละ
10 ล้าน หรือปีละ 120 ล้านบาท
แม่โขงก็ได้จ่ายค่าต๋งไปให้เพียงเดือนเดียวหรือ 2 เดือนก็หยุดจ่ายเพราะความไม่ถูกต้องในการกระทำเช่นนี้และหงส์เองไม่ได้ร่วมจ่ายด้วย
มีกระแสข่าวว่าทั้งพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ต่างก็ปฏิเสธกับคนใกล้ชิดกันเป็นพัลวันว่าไม่ได้รู้เรื่องนี้และถูกแอบอ้างชื่อไปใช้
ตลอดจนบรรดาสื่อมวลชนก็พากันวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ถูกต้องในเรื่องนี้กันเป็นการใหญ่
ในที่สุดมวลชนพัฒนากับค่าต๋งเหล้าก็อ่อนแรงลงไปเมื่อคนที่ชื่ออบ วสุรัตน์
กับธาตรี ประภาพรรณ ต้องเดินออกจากกระทรวงอุตสาหกรรมไปพร้อมกับควันหลงของเหตุการณ์
9 กันยายน ท่ามกลางความโล่งอกและเสียงชยันโตของบรรดาข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม
ก็คงจะมีเสียงไม่กี่เสียงที่เสียดายการจากไปของอบ วสุรัตน์ และหนึ่งในไม่กี่เสียงนี้ก็น่าจะเป็นจำนงค์
พนัสจุฑาบูลย์ ที่ถูกย้ายออกจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่ออบ วสุรัตน์ต้องพ้นตำแหน่งเสนาบดีไป
ทั้งจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ กับเฉลิมชัย
วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ต่างก็เป็นคนตรงไปตรงมาที่มีความยุติธรรมอยู่ในหัวใจ
ที่สำคัญคือจิรายุไม่ใช่นักการเมืองที่ต้องหาเงินเข้าพรรค และเฉลิมชัยก็ไม่มีพี่ชายที่มีผลประโยชน์ในการค้าเหล้า
ทั้งสองคนจึงปรารภกับคนใกล้ชิดว่าปัญหาสุราเรื้อรังนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างยุติธรรมที่สุดที่เป็นผลประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง
ทั้งสองก็รู้ว่าสุรามหาราษฎรและสุราทิพย์มีแต่มาแล้วจากไป จะมีก็เพียงประเทศไทยและประชาชนชาวไทยเท่านั้นที่ต้องอยู่คู่ดินฟ้า
แต่หงส์กำลังกระหายเลือด
จากการที่ต้องแพ้ภัยตัวเอง หงส์กำลังประสบปัญหาการเงินอย่างหนักค่าปรับที่ส่งมอบโรงงานให้ช้า
196.81 ล้านบาท ค่าผลประโยชน์ที่กลุ่มสุราทิพย์ต้องจ่ายตามสัญญาประมูล 2,649.93
ล้านบาท และค่าผลประโยชน์ปี 2529 ซึ่งถึงกำหนดจ่ายไปแล้วเมื่อเดือนกันยายนนี้อีก
5,088 ล้านบาท รวมทั้งหมด 7,934.74 ล้านบาท ซึ่งถ้ารวมค่าดอกเบี้ยค้างชำระอีกด้วยแล้ว
ยอดค้างที่กลุ่มสุราทิพย์ค้างอยู่จะตกประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท
การดิ้นของหงส์ในครั้งนี้ก็ต้องพยายามวิ่งเต้นทางการเมืองเพื่อให้กระทรวงการคลังยอมให้หักเหล้าค้างสต๊อกลงไปอีก
ซึ่งปัญหานี้ก็ต้องอยู่ที่สมหมาย ฮุนตระกูล แต่ผู้เดียวว่าจะสั่งให้เป็นไปดังกล่าวหรือไม่
หลังจากที่พนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลัง และเฉลิม วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิตได้คัดค้านและไม่เห็นด้วยออกไปแล้ว
ที่แน่ๆ คือกลุ่ม 6 ธนาคารก็กำลังเวียนหัวกับกลุ่มสุราทิพย์มากๆ “เราหนุนเขาเพราะตอนแรกเขาเอาตัวเลขมาให้เราดูและมันมีกำไรมากจริงๆ
ซึ่งเรามารู้ทีหลังว่ามันกำไรได้เพราะเขาใช้การขายสุราข้ามเขต ที่กำไรปีนั้น
400 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะเขตจังหวัดชลบุรีซึ่งเคยประมูลกันแค่ 70,000 เท
แต่กลุ่มสุราทิพย์ประมูล 320,000 เท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเขตนั้นขายได้เต็มที่ก็แค่
120,000 เท อีก 200,000 เท จะต้องถูกปรับประมาณเดือนละ 40 กว่าล้านบาท เขาก็เลยผลิตออกหมดทั้ง
320,000 เท แต่เอาข้ามเขตเข้ามาขายในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2524 และมาหนักเอาปี
25 และปี 26 ได้กำไรมากเพราะเขาไม่ต้องเสียค่าปรับ ขายออกไปก็ยังได้กำไรอีก”
แหล่งข่าวในธนาคารไทยพาณิชย์เล่าให้ฟัง
และในปี 2524-25-26 ที่มีการขายเหล้าข้ามเขตมากๆ นั้นก็เป็นยุคที่บัณฑิต
บุญยะปาณะ น้องชายพงส์ สารสิน เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิตด้วย
จากตัวเลขนี้แหละคือพื้นฐานที่กลุ่มธนาคารให้การสนับสนุนการประมูลโรงเหล้า
12 โรงของสุราทิพย์
“จริงๆ แล้วคนทำตัวเลขเขาเก่งมาก รู้สึกจะใช้ชื่อจีนเคยอยู่สินเอเซียมาก่อน
เขาบอกว่าเขามีทุนจดทะเบียน 2,400 ล้าน แต่ตอนหลังเรามาเช็กอย่างละเอียดถี่ยิบปรากฏว่าเขามีแค่
800 ล้านบาท ซึ่งเขาใช้วิธีโยงไปโยงมาจนได้ทุนจดทะเบียน 2,400 ล้านบาทนี้เก่งจริงๆ
เอาเป็นว่าธนาคารถูกสุราทิพย์หลอกเข้าไปแล้ว” คนวิเคราะห์สินเชื่อกลุ่มสุราทิพย์จากธนาคารแห่งหนึ่ง
พูดให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
ถ้าธนาคารทั้ง 6 วิเคราะห์สินเชื่อให้ดีและวิเคราะห์ลักษณะการจัดตั้งองค์กรและทรัพยากรบุคคลให้ดีเหมือนกับที่วิเคราะห์กิจการอื่นๆ
แล้วก็คงจะพอเห็นได้ชัดว่า ปัญหาของกลุ่มสุราทิพย์ที่แท้จริงแล้ว การขาดแคลนเรื่องทุนรอนในเบื้องต้นนั้นเป็นเพียงปัญหาหนึ่งในหลายๆ
ปัญหา
เพราะเมื่อพูดถึงทรัพยากรบุคคลแล้ว สุราทิพย์ยังขาดคนที่มีความรู้ความสามารถอีกมาก
ประกอบกับการจัดตั้งองค์กรนั้นเป็นการจัดตั้งที่ขาดหลักบริหารในการกระจายความรับผิดชอบมาก
“ก่อนหน้านั้น คุณเจริญเขาเป็นเสนาธิการสั่งเองหมด เพิ่งมาตอนหลังนี้เองที่แบ่งให้คุณเถลิงคุมภาคเหนือ
คุณเกียรติคุมภาคอีสาน และคุณเจริญคุมภาคใต้ อีกอย่างหนึ่งหุ้นส่วนของสุราทิพย์ตอนนี้กำลังเริ่มไม่ไว้ใจกัน
เพราะเริ่มมีการตรวจสอบออกมาว่ามีการสั่งซื้อของเข้าโรงงาน 12 โรง โดยมีการแอบไปตั้งบริษัทสั่งของกันเอง”
แหล่งข่าวในสุราทิพย์เล่าให้ฟัง
เหมือนสมัยแม่โขงยุคแรกๆ ไม่ผิดยังไงยังงั้น!
ธนาคารต่างๆ เองก็หายใจไม่ทั่วปอด เพราะถ้าสุราทิพย์เป็นอะไรไปผู้จัดการหลายๆ
ธนาคารก็คงต้องเกิดอาการหน้ามืดไปตามๆ กัน
เมื่อตุลาคมที่ผ่านมานี้ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร 4 แห่งที่ให้กลุ่มสุราทิพย์กู้ไปถึงกับต้องเข้าไปพบเฉลิมชัย
วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อขอรู้หน่อยว่าถ้าจะให้เงินสุราทิพย์ต่อไปจะเป็นอย่างไรบ้าง?
ก็ยังดีที่ไม่ได้ไปผูกดวงดูลายมือ!
เฉลิมชัย วสีนนท์ ก็คงไม่กล้าพูดตรงๆ ว่าสุราทิพย์คงไปได้ยาก เพราะถ้าพูดเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นมรณภาพให้กับหงส์เลย
แล้วกรมสรรพสามิตก็คงจะต้องเหนื่อยมานั่งแก้ปัญหาให้ยุ่งไปหมด สรุปแล้วอธิบดีคนใหม่ที่ไม่รู้เรื่องที่คนเก่าทำเอาไว้ก็ได้แต่ปลอบใจไปว่าอีก
2-3 ปีคงจะดีขึ้น ถ้าเร่งปราบเหล้าเถื่อนได้
นอกจากนั้นแล้วบรรดานายแบงก์ทั้งหลายก็พากันไปพบกำจร สถิรกุล อีกเพื่อชี้แจงและขอความเห็นเรื่องการที่ธนาคารให้เงินอุดหนุนหงส์ต่อ
กำจร สถิรกุล ก็คงไม่มีความเห็นอะไร เพราะเป็นคนไม่มีความเห็นมานานแล้ว
เนื่องจากตั้งแต่มาเป็นผู้ว่าแบงก์ชาตินี่ก็มีแต่หน้าที่รับความเห็นมาจากสมหมายลูกเดียว
และสมหมายเองก็ได้บอกคนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบรรดานายแบงก์ออกมาแล้วว่าอยากจะให้ช่วยสุราทิพย์ต่อไปอีก
ในที่สุดแบงก์ก็กัดฟันจัดหาเงินให้อีก 800 ล้านบาท เพื่อต่ออายุชั่วคราว
ส่วนเงินค่าสิทธิ์ปี 29 ที่ต้องจ่ายในกันยายนที่ผ่านมานี้ 5,088 ล้านบาทนั้น
ก็ขอต่อรองจ่ายแค่ 25% หรือ 1,272 ล้านบาทเท่านั้นก่อน กรมสรรพสามิตเมื่อผูกเรื่องนี้ขึ้นมาก็ต้องแก้มันด้วยตัวเองก็ต้องกล้ำกลืนรับไป
ส่วนหนี้เก่าที่ค้างๆ กันอยู่ก็ไม่มีใครพูดกันสักแอะเลย เป็นใบ้กันไปหมด
เงินก้อนใหม่นี้ที่ปล่อยออกไปก็คงจะต้องเฉลี่ยกันไประหว่างธนาคารต่างๆ ตามแต่ความโง่ของแต่ละแห่งที่ถูกสุราทิพย์หลอกมากหรือหลอกน้อย
แต่ที่น่าคิดอยู่ประการหนึ่งก็ตรงที่ว่าเวลาชาวบ้านชาวช่องมากู้เงิน หรือพ่อค้ารายย่อยมากู้เงินทำธุรกิจก็เรียกโน่นเรียกนี่มันสารพัด
มิหนำซ้ำวันดีคืนดีผู้บริหารแบงก์ เช่น ของไทยพาณิชย์ก็แหกปากออกมาว่า ปีหน้าจะให้กู้แต่ธุรกิจใหญ่ๆ
มันคงมีการบริหารดีๆ ส่วนไอ้ประเภทเถ้าแก่หรือธุรกิจร้านค้าคูหาหนึ่งหรือ
2-3 คูหานั้นให้หลบไปเสีย
ก็เลยอยากจะขอถามธนาคารไทยพาณิชย์โดยเฉพาะเลยว่า ที่ให้สุราทิพย์กู้ไปนั้นมีหลักทรัพย์อะไรค้ำประกันเป็นพันๆ
ล้าน แล้วที่ว่าต้องมีการบริหารที่ดีก็ไม่ทราบว่าสุราทิพย์บริหารตรงไหนหรือเป็นเพราะมีคนชื่อพงส์
สารสิน เป็นกรรมการแบงก์อยู่ด้วย นี่หรือที่เขาเรียกว่าแบงก์มืออาชีพ!!!
แม่โขงที่บอบช้ำเช่นกัน
แม่โขง-กวางทอง เองหลังจากผ่านเมษายนนี้มาก็อยู่ในสภาพที่ทุลักทุเลพอสมควร
จากการที่ต้องขาดทุนสะสมมา 6 ปี เกือบ 2 พันล้านบาท จนต้องเพิ่มทุนเพื่อให้มีสายป่านยาวต่อไป
พอมาเจอภาษีเมษายนเข้าก็ส่ออาการไข้ขึ้นพอสมควร
“เราขาดทุนเดือนละ 50 ล้านบาท เพราะยอดขายตกมากจากภาษีใหม่นี้” แหล่งข่าวในแม่โขงพูดออกมา
ถึงแม้อดีตอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์
จะเคยพูดว่ายอดแม่โขงไม่ตกหลังปรับภาษี แต่ “ก็จะตกได้อย่างไร เพราะเรามีโควตาต้องซื้อจากกรม
แต่เราไปจัดสต๊อกให้กับเอเย่นต์จนเอเย่นต์หลังแอ่นไปหมดเพราะขายไม่ออก” แหล่งข่าวคนเดิมพูดต่อ
ทั้งๆ ที่ทุ่มการแจกการแถมไปมูลค่า 110 ล้านบาทสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น
ยอดการขายสุรามหาราษฎรลดลงจากที่เคยขายได้ 11.5 ล้านขวดระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายนในปี
2527 มาเป็นเพียง 6.53 ล้านขวดในระยะเวลาเดียวกัน
“ของผมนี่ยอดขายตกถึง 70% หลังปรับภาษี แย่มากๆ” เอเย่นต์แม่โขง-กวางทอง
ที่นครสวรรค์พูดให้ฟัง
จากการที่ยอดขายตกทำให้รัฐสูญรายได้ถึง 1,800 ล้านบาท จากการที่ยอดขายลดลงกว่า
50% ปัญหาที่กระทรวงการคลังสร้างขึ้นแล้วไม่ยอมรับรู้
ปัญหาเหล้าที่ยืดเยื้อและยุ่งเหยิงทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากฝีไม้ลายมือของคนกระทรวงการคลังทั้งสิ้น
ถ้าจะนับก็เริ่มตั้งแต่
1. การที่กรมสรรพสามิตจงใจปล่อยปละละเลยให้เกิดมีการขายข้ามเขตของเหล้าหงส์ที่ทำกำไรให้แก่กลุ่มสุราทิพย์อย่างมหาศาล
จนทำให้สุราทิพย์ได้ใจจากกำไรที่ไม่ชอบธรรมนี้ ใช้พื้นฐานตัวเลขกำไรนี้มาหลอกให้กลุ่มธนาคารสนับสนุนการประมูลที่ให้ค่าสิทธิ์และค่าภาษีแก่รัฐถึง
7,787 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนของเหล้าหงส์ต้องขึ้นถึงขวดละ 33-35 บาท ในขณะที่แม่โขงขายอยู่ในราคา
45 บาท และกวางทองขายเพียง 32 บาท
2. ทำให้กลุ่มสุราทิพย์เห็นว่าเมื่อต้นทุนตัวเองสูงขนาดนี้แล้วคงสู้กันในตลาดไม่ได้แน่ๆ
เพราะกำไรจากการขายข้ามเขตถึงจุดจุดหนึ่งก็คงทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะเมื่อเสียค่าสิทธิ์ค่าภาษีแล้วขายเขตไหนราคาก็ไม่ต่างกัน
ฉะนั้นการให้หงส์อยู่ได้ แม่โขง-กวางทอง ต้องขึ้นราคา
3. กระทรวงอุตสาหกรรมโดย อบ วสุรัตน์ และธาตรี ประภาพรรณ ในตำแหน่งเลขาซึ่งอยู่พรรคชาติประชาธิปไตย
กับจำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์ ก็ดำเนินการสั่งให้แม่โขง-กวางทอง ขึ้นราคา แต่วีระ
สุสังกรกาญจน์ ปลัดกระทรวงฯ ขัดขวางก็เลยตั้งกรรมการสอบแล้วย้ายไปอยู่สำนักนายกฯ
เสีย ในที่สุดแม่โขงก็ถูกบีบให้ขึ้นเป็น 52 บาท และกวางทองเป็น 44 บาท
แต่ในราคานี้ก็ยังทำให้การขายของหงส์ลำบาก เพราะถ้าสุรามหาราษฎรเอากวางทอง
44 บาทมาตีกับหงส์ซึ่งราคาขายจะใกล้เคียงกวางทองมากก็จะทำให้ลำบาก
4. กระทรวงการคลังขึ้นภาษีในเดือนเมษายนโดยทำให้แม่โขงต้องกระโดดไปเป็น
65 บาท และกวางทองเป็น 60 บาท ในขณะที่หงส์ได้รับชดเชยภาษีทำให้ราคาขายหงส์เหลือเพียง
44 บาท หรือเท่ากับกวางทองก่อนขึ้นภาษี
5. แต่จากการที่ประมูลเหล้าและทำธุรกิจบนพื้นฐานเงินกู้เสียส่วนใหญ่ ทำให้สุราทิพย์ประสบปัญหาจากเงิน
และการจัดตั้งโรงงานและกำลังซื้อคนที่ตก ทำให้สุราทิพย์ต้องพลิกแพลงหาทางเอาเหล้าค้างสต๊อกหักออกจากโควตา
และขอให้กรมสรรพสามิตขอร้องให้ธนาคารลดดอกเบี้ย ทั้งให้รัฐมนตรีคลังขอให้ธนาคารปล่อยกู้ให้ตนเพิ่มอีก
ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนและความอัปยศอดสูของวงการธุรกิจการค้าและวงการราชการเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าเกลียดขึ้นหลายคำถาม เช่น
:-
1. ก่อนที่กรมสรรพสามิตทำการเปิดประมูลโรงงานสุรา 12 โรงงาน ทางคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้คุ้มครองค่านิยมในสุราปรุงพิเศษแม่โขง-กวางทอง
โดยให้กระทรวงการคลังประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าประมูลโรงงาน 12 โรง ถือปฏิบัติว่า
ห้ามผลิตสุราที่ใช้สูตรของสุราปรุงพิเศษแม่โขง-กวางทอง ออกจำหน่าย (รายละเอียดดูได้จากหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ที่ สร.0203/2418 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2526) แต่มติอันเป็นเงื่อนไขดังกล่าวหาได้ปรากฏเป็นเงื่อนไขในการประมูลโรงงาน
12 โรงของกรมสรรพสามิตไม่?
สุราตระกูลหงส์จะเรียกชื่อว่า สุราชนิดใดก็สุดแต่ แต่แท้ที่จริงนั้น กลิ่น
รส หรือสูตรผสมก็เช่นเดียวกับสูตรของสุราปรุงพิเศษแม่โขง-กวางทอง ที่พิสูจน์ได้เสมอ
แม้แต่อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต (บัณฑิต บุญยะปาณะ) ก็ได้ยอมรับอย่างเปิดเผยว่าสุราตระกูลหงส์ก็คือสุราปรุงพิเศษแม่โขง-กวางทอง
คำถามข้อนี้กระทรวงการคลังน่าจะเป็นผู้ตอบ และน่าจะมีการให้กฤษฎีกาตีความไปเลยว่าการกระทำของกระทรวงการคลังนี้ฝ่าฝืนมติ ครม.หรือไม่?
2. ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมอัตราภาษีของสุราแม่โขง-กวางทอง กับหงส์ จึงไม่เท่ากัน?
หรือเป็นเพราะให้ไม่เท่ากันแม่โขงกับกวางทองจะได้เจ๊งไป ส่วนหงส์ก็จะได้ครองตลาด?
3. ไม่ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมทราบหรือไม่ว่า
“แม่โขง-กวางทอง” คือชื่อสินค้าของประเทศ เป็นสมบัติของชาติ ที่ผู้ประมูลเมื่อหมดสัญญาแล้วไม่มีสิทธิ์นำไปใช้
และยี่ห้อนี้ได้ผ่านการลงทุนและสร้าง brand loyalty มาแล้วเป็นสิบๆ ปี เป็นเงินหมื่นๆ
ล้านบาท แต่ขณะเดียวกัน “หงส์ทองหรือหงส์ต่างๆ” นั้นเป็นของกลุ่มสุราทิพย์
ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีสิทธิ์ ฉะนั้นทุกวันนี้กระทรวงการคลังได้ช่วยเหลือเอกชนมาทำลายยี่ห้อของประเทศชาติ
4. ในการประมูลอะไรก็ตามถูกหรือไม่ที่พ่อค้าผู้ประมูลควรจะต้องเตรียมตัวในด้านการเงิน
และรับทราบถึงเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติ ตลอดจนการรับผิดชอบในเรื่องการจ่ายค่าผลประโยชน์ให้รัฐ
การที่กลุ่มสุราทิพย์ค้างเงินค้างทองรัฐบาลเช่นนี้ไม่ทราบว่าเป็นเพราะกระทรวงการคลังรู้เห็นเป็นใจด้วย
หรือเป็นเพราะเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังที่มีอำนาจบางคนได้รับเงินสินบาทคาดสินบนจากกลุ่มสุราทิพย์เป็นจำนวนมาก?
5. ในขณะนี้เรากำลังประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างหนักในขณะที่ชาวนาต้องการให้มีการประกันราคาข้าว
กระทรวงการคลังบอกไม่มีเงิน ชาวไร่อ้อยต้องการราคาอ้อยที่ดี กระทรวงการคลังบอกไม่มีเงิน
เหมืองดีบุกล้มละลาย กระทรวงการคลังบอกไม่มีเงินช่วย การเคหะฯ ต้องการสร้างบ้านให้คนจนอยู่
แต่กระทรวงการคลังบอกให้ช่วยตัวเองเพราะไม่มีเงิน แต่เมื่อกลุ่มสุราทิพย์ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจใหญ่
บางคนเป็นถึงกรรมการธนาคารติดค้างเงินประเทศชาติ 5-6,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังกลับนิ่งเฉย
แล้วจะให้อธิบายกับชาวไร่ชาวนา ประชาชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยได้อย่างไรว่ากระทรวงการคลังกำลังทำอะไรกับประเทศชาตินี้อยู่
เวลากลุ่มสุราทิพย์ร่ำรวยขึ้นมาเขาก็ไม่ได้เอาเงินเอาทองไปแจกชาวไร่ชาวนาหรือคนจน
เขาก็รวยของเขาเสพสุขทุกอย่างที่คนจนๆ ไม่มีโอกาสแม้แต่จะฝันถึงมัน แต่เวลาคนจนจะใช้สิทธิ์ของคนไทยในเงินค่าผลประโยชน์ที่กลุ่มสุราทิพย์ต้องจ่ายให้รัฐ
อันจะออกมาเป็นสิทธิ์ของเขาในแง่การใช้เงินเพื่อประเทศชาติ กระทรวงการคลังกลับหันไปปกป้องกลุ่มสุราทิพย์
เวลานี้บ้านนี้เมืองนี้มันเป็นไปอย่างนี้แล้วหรือ? จะมีใครในกระทรวงการคลังเสนอหน้าออกมาตอบให้หน่อยได้ไหม?
6. ทำไมกระทรวงการคลังไม่ค้นหากลุ่มพ่อค้าหรือนักธุรกิจที่เขาพร้อมจะเข้ามาแบกรับภาระของกลุ่มสุราทิพย์
และพร้อมที่จะจ่ายผลประโยชน์ให้แก่รัฐอย่างไม่ขาดตกบกพร่องหรือผิดเวลา และพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐทุกประการเข้ามาแทนที่ล่ะ
แทนที่จะไปตะแบงสีข้างถูไถหลับหูหลับตาช่วยกลุ่มนี้ไปเรื่อยๆ หรือว่ารับเขามาแล้วไม่ทำก็ไม่ได้?
7. รัฐบาลนี้ก็พิกลพิการ ปากบอกว่าสนับสนุนให้มีการค้าเสรี แต่เวลาปฏิบัติกลับเป็นอีกอย่างหนึ่งไปเสียอีก
การแข่งขันกันในทางการค้านั้นรัฐบาลควรจะเป็นกรรมการที่สร้างกฎเกณฑ์ให้ความยุติธรรม
ถ้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสู้กันไม่ได้ด้วยเชิงการค้าก็ควรจะให้กลุ่มนั้นลงจากเวทีไป
ไม่ใช่ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแอบช่วยอีกข้างหนึ่ง หรือตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่เพื่อเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง
ตำนานเหล้าของเมืองไทยเป็นตำนานที่เกิดจากความโลภ และเข้ามาผูกพันกับอำนาจ
แล้วใช้อำนาจเพื่อความโลภต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่
อำนาจนั้นมีตั้งแต่อำนาจของปากกระบอกปืนและท็อปบูตไปถึงอำนาจทางการเมืองและอำนาจของการเป็นผู้ปกครอง
อำนาจทั้งหลายนี้ถูกซื้อและตั้งทิศทางหางเสือด้วยเงินตรา
คงจะอีกนานกว่าตำนานเหล้านี้จะจางหายไป แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ก็ขอให้รู้กันว่าตำนานนี้เพียงเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น