Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2531
เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ นักซื้อที่แท้จริง?             
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
 

   
related stories

Role Model 2002 Agents of Influence

   
search resources

เจริญ สิริวัฒนภักดี
เถลิง เหล่าจินดา
ฮั่งชอง แซ่ตั้ง




The Man Behind...อาจจะเรียกขานเขาเช่นนั้นได้ เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ เป็นตัวอย่างของคนหนุ่มกับยุคสมัยใหม่ ที่เวทีธุรกิจช่างคับแคบเหลือเกิน แต่เขาก็สามารถดันตัวเองขึ้นมาได้อย่างน่าพิศวง และที่แปลกก็คืออาวุธที่เขาใช้ฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามขึ้นสู่ชั้นแนวหน้านั้นล้วนแต่เป็นสิ่งเก่า ไม่แตกต่างจากผู้ประสบความสำเร็จในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเลย นั่นคืออำนาจ, เงินตรา ผนวกกับโอกาสที่ฉกฉวยได้

ไม่มีเงินอะไรที่ปลิวว่อนไปทุกแห่งทุกหนเช่น "เงิน" ของธุรกิจเหล้า เงินจำนวนมหึมานี้ล้มทับใครต่อใครตายมามากแล้ว และมันเป็น "เงิน" ที่ผ่านมาและผ่านไปผ่านธุรกิจและคนที่ควรใช้ "ผงซักฟอก" เสียด้วย

คนที่เกิดจากธุรกิจนี้ ธุรกิจที่เต็มไปด้วย "เขี้ยว-งา" ของเสือ สิงห์ กระทิง แรด มีความท้าทายที่ขัดแย้งกันระหว่างความมั่นคงของธรกิจที่สมควรยืนยงคู่ไทยตลอดไป กับความเปลี่ยนแปลงมิขาดสายของปัจจัยภายนอกซึ่งเข้ากระทบดุจระลอกคลื่น เขาเหล่านั้น กว่าจะไต่เส้นโลดโผนสู่ระดับแนวหน้าวัยจะเลยกลางคนด้วยกันทั้งนั้นซึ่งถือเป็นยอดคนทั้งสิ้น

เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ คือคนหนุ่มวัยเพียง 45 ปี ที่ก้าวพรวดๆ ขึ้นแท่นระดับแนวหน้า ขึ้นเทียบเคียงกับคนอย่าง อุเทน เตชะไพบูลย์ เถลิง เหล่าจินดา วานิช ไชยวรรณ หรือวิศาล ภัทรประสิทธิ์ ผู้จากไป นับว่าเป็นคนแรกที่เยาว์วัยที่สุดในประวัติศาสตร์ คนที่รู้จักเขาดีมักจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เจริญเป็นยอดคน ยอดนักต่อสู้ "แม้ตายแล้วเขาก็อาจจะสู้" มีคนเปรียบเปรยเอาไว้

"ทำไมคุณยังยิ้มได้" ดร.เฉลิมชัย วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิตเคยถามเขาในเช้าวันหนึ่ง ในช่วงหงส์ถูกพายุหนี้นับหมื่นล้านพัดจนซวนเซ (ปี 2528-2529) ขณะนั้นเถลิง เหล่าจินดา ผู้ก่อตั้งหงส์ทองคนสำคัญ แทบจะนอนพักอยู่ที่บ้านด้วยความท้อแท้ มีเพียงเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ เท่านั้นที่วิ่งเต้นอยู่ตลอดเวลา

"ความจริงผมไม่อยากตื่นขึ้นในตอนเช้าเลย ผมพบว่าดอกเบี้ยมันงอกขึ้นทุกครั้งวันละนับล้าน" เขาตอบ แล้วก็ยิ้มต่อ

เจริญ วันนี้ยัง "ยิ้ม" เหมือนเดิม แต่เป็นยิ้มแห่งชัยชนะที่แท้จริง?

หลายคนบอกว่า ที่เจริญมีวันนี้เพราะเขาสู้ไม่ถอยและที่เขาดูไม่วิตกกังวลกับสิ่งเลวร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะจุดเริ่มต้นชีวิตของเขานั้นเริ่มจากศูนย์

หนุ่มซินตึ๊ง ชื่อเพ้ง อิ้ว คนนี้ถือกำเนิดในย่านการค้าเสี่ยงโชคเก่าแก่ของสังคมไทย-ย่านทรงวาด เตี่ยกับอาม่า เปิดร้านเล็กๆ ชั้นเดียวและเช่าเขาอยู่ ขายหอยทอดประทังชีวิต เจริญได้เข้าโรงเรียนเผยอิง จนจบป.4 จากนั้นเขาก็ไม่เคยเข้าโรงเรียนอีกเลย แต่จบมหาวิทยาลัยชีวิตได้หลายปริญญาแล้ว คนเก่าย่านทรงวาดเล่าว่า ตี๋น้อยเป็นคนนิสัยดี อ่อนน้อมถ่อมตน ในวัยเด็กมิใช่กุมารจีนผู้คึกคะนอง แต่นิสัยเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้เวลาพบผู้ใหญ่จะเห็นผมสีดำของเขามาก่อน เพราะศีรษะค้อมมาแต่ไกล เรื่องราวของเขาช่วงนี้ ดำเนินไปเรียบๆ เรื่อยๆ แทบไม่มีความหมายมากนัก หากเขาไม่พบวรรณา และกึ้งจู แซ่จิว ซึ่งต่อมาคนแรกคือภรรยาของเขา ส่วนคนที่สองคือพ่อตาผู้อุ้มชูเขาเข้าสู่แวดวงธุรกิจ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเข้าไปสัมผัสโลกแห่งใหม่นี้อย่างแท้จริง

เรื่องราวของเจริญในช่วงนั้นยังดูลึกลับ เหมือนตัวของเขาที่ไม่ยอมเปิดเผยเรื่องราวของตนเองในอดีตให้ใครรับรู้ง่ายๆ เขาปฏิเสธที่จะสนทนากับสื่อมวลชนอย่างสิ้นเชิง แม้แต่คนใกล้ชิดของเขา "ผู้จัดการ" ถามถึงเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ พวกเขาเหล่านั้นจะปิดปากเงียบทันที

เช่นเดียวกัยเรื่องราวของคนเชื้อสายจีนเต็มตัวอย่าง กึ้งจู แซ่จิว หรือ Chou Chin Shu ผู้เก็บตัวเงียบและรวยเงียบๆ ย่านทรงวาด ธุรกิจที่พอจะเป็นเรื่องเป็นราวก็คือ กิจการโชวห่วยขายของ ซึ่งโรงงานแม่โขงกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ ราวๆ ปี 2505"ผมได้เริ่มรู้จักท่านผู้อำนวยการ เมื่อปี 2505 จากการเข้าไปขายของให้แก่โรงงานสุราบางยี่ขัน..." เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ เขียนคำไว้อาลัยในหนังสืองานศพของ จุล กาญจนลักษณ์ (มิถุนายน 2530) บอกไว้

ห้วงเวลานี้ถือเป็นการเดินทางค่อนข้างยาวนาน เพื่อสะสมและสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ กึ้งจูสนิทสนมกับคำรณ เตชะไพบูลย์ (โคโร่) แล้ว

"เจริญ เดิมทีเป็นพ่อค้าโชวห่วยขายของจิปาถะในแม่โขง ขี่จักรยานเข้ามาส่งตั้งแต่ไม้แขวนเสื้อ แปรงล้างขวด แปรงซักผ้า จนถึงจุกขวดแม่โขง และขยายใหญ่เป็นเครื่องจักร" แหล่งข่าวอดีตพนักงานแม่โขงเล่า

จากนั้นไม่นาน เจริญก็หอบครอบครัวซึ่งรวมทั้งน้องๆ หลายคนไปซื้อที่สร้างห้องแถว 3 คูหาขนาดใหญ่ สูงประมาณ 4-5 ชั้น ติดกับร้านเทพพาณิชย์ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในอดีตของปรีชา ตันประเสริฐ กรรมการหอการค้าปัจจุบัน ในช่วงที่เจริญเข้าทำงานแม่โขงเป็นลูกน้องคนสนิทเถลิง เหล่าจินดา จากการไต่บันไดผู้ขายของให้แล้วกิจการค้าเหล่านี้น้องเขาเข้ามาดูแลด้วย

ในปี 2515 กึ้งจู แซ่จิว ร่วมกับโคโร่ ก่อตั้งบริษัท ธนพัฒนาทรัสต์ และต่อมาในปี 2522 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ จำกัด อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โคโร่กำลังจะเปลี่ยนฐานะผู้จัดการธนาคารศรีนคร สาขาวังสระปทุม เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ธนาคารมหานคร และผู้จัดการใหญ่ในเวลาต่อมา

ส่วนเจริญนั้นเมื่อเขาได้เข้าร่วมกับเถลิง เหล่าจินดา ที่บริษัทสุรามหาคุณ ชีวิตของเจริญก็เปลี่ยนไป ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของเจริญบอก "ผู้จัดการ" ว่าคนที่เจริญต้องระลึกถึงตลอดเวลามี 2 คน คนแรกได้แก่กึ้งจู แซ่จิว พ่อตาผู้ฉุดเด็กที่ไม่มีอะไรเลยอย่างเขาเข้าสู่วงการการค้าเล็กๆ ในจุดเริ่มต้น และอีกคนก็คือเถลิง เหล่าจินดา ผู้ "จุดพลุ" เจริญให้เจิดจ้าตราบเท่าทุกวันนี้ เถลิง เหล่าจินดา

ปีนี้ย่างเข้าวัย 66 ปีแล้ว เขาเป็นคนอ่างทอง เริ่มเข้าสู่ยุทธจักรค้าขายจากกิจการร้านขายกาแฟเล็กๆ อยู่พักหนึ่ง จึงหักเหชีวิตเข้ากรุงเทพฯ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง พอเกิดสงครามจำต้องไปปักหลักที่อ่างทองบ้านเกิดอีกครั้ง เพราะกลัวภัยสงคราม แล้วก็มากรุงเทพฯ อีกเมื่อสงครามสงบลง ตั้งบริษัทขายส่งเหล้าชื่อบริษัทเศรษฐการ จำกัด จุดนี้ก็เข้าร่วมกับสหัส มหาคุณ ซึ่งจากนั้นไม่นานได้รับมรดกกิจการทำเหล้าจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เถลิง เหล่าจินดา จึงตามมาอยู่กับแม่โขงด้วย

"เถลิงเป็นคนใจถึงและฉลาดมาก เก่งในเรื่องการเดินเกมรุกเกมรับ ทั้งวงในวงนอก เล่นถึงลูกถึงคน เป็นคนใจป้ำกล้าได้กล้าเสีย

ในการค้าที่ต้องติดต่อผู้ใหญ่ และถ้าจะมองเห็นไม่ชัด เถลิงจะหว่านไปทั่วก่อน เมื่อทราบเป้าแน่นอนแล้ว เขาจะเจาะตรงเป้า

นอกจากนั้นยังสามารถดึงเอาที่สุดๆ ของหลายวงการมาเป็นพวก เช่น ชาตรี โสภณพนิช ในฐานะธนาคารใหญ่ที่สุดมาร่วมด้วยแคชเชียร์เช็ค 2,500 ล้านบาท หรือพงส์ สารสิน ในฐานะเลขาธิการพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด (ในขณะนั้น) และรากฐานตระกูลที่มีเส้นสนกลในมากที่สุดมาเป็นหุ้นส่วน พลโทนพ พิญสายแก้ว อดีตนายทหารคนสนิทพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก (ขณะนั้นกำลังใหญ่คับประเทศ) มาเป็นใหญ่ในบริษัทสุราทิพย์..." (ผู้จัดการ" ฉบับที่ 8 เมษายน 2527)

แม่โขงยุคที่สองสัญญาเริ่มจากปี 2513 เถลิง เหล่าจินดา ได้เปลี่ยนตำแหน่งจากงานคุมด้านการค้ามาเป็นรองผู้อำนวยการ และคุมฝ่ายโรงงานและจัดซื้อ ฝ่ายหลังนี้ถือเป็นฝ่ายที่สำคัญที่สุด เพราะต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่อยู่ในการผลิตแม่โขงมาตั้งแต่ฝาจุกขวดเหล้า ฯลฯ

"ช่วงนี้แหละเป็นช่วงของการแตกแยกเพราะการจัดซื้อในช่วงนั้น สืบไปสืบมาปรากฏว่า กลุ่มต่างๆ ที่ส่งของให้แม่โขงเป็นกลุ่มของเถลิงทั้งสิ้น" พนักงานแม่โขงที่เกษียณแล้วเล่าให้ฟัง

หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ กิจการค้าของเจริญ ซึ่งร่วมกับพ่อตา ถึงแม้จะเป็นส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยจากเถลิง เหล่าจินดา แต่สำหรับเจริญแล้วถือเป็นบทเรียนบทที่เขาได้นำมาใช้อีกหลายครั้ง และก็คือการเกิดขึ้นของบริษัทต่างๆ ที่เจริญตั้งขึ้นจนนับแทบไม่ถ้วน สุดท้ายก็คือความร่ำรวยอย่างมหาศาล มากกว่าผลตอบแทนอันเกี่ยวกับผลิตและค้าสุราโดยตรงหลายเท่านัก

ขณะนั้นเป็นที่ทราบกันว่ากลุ่มเถลิง-เจริญ กำลังจะแยกตัวออกจากบริษัทสุรามหาคุณ ด้วยความไม่ลงรอยกันกับสุเมธ เตชะไพบูลย์

และแล้วเถลิงกับเจริญก็เหมือนคนกับเงาที่แยกจากกันไม่ออก"เถลิงเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ชอบออกงาน พูดไม่เก่ง แต่จะใช้เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ เป็นทัพหน้าและเถลิงจะเป็น closed deal คนสุดท้าย" วงการกล่าวกันอย่างนั้น

"เมื่อปี 2518 ท่าน (จุล กาญจนลักษณ์ ) ได้กรุณาแนะนำผมว่า โรงงานสุราของบริษัทธารทิพย์ จำกัด นั้นดำเนินกิจการขาดทุน หากปล่อยให้ล้มไปเป็นเรื่องน่าเสียดาย ควรช่วยกันรักษาเอาไว้ จะได้เป็นการพัฒนาสุราพิเศษอีกทางหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นจุดนี้ สุราแสงโสมก็เกิดขึ้น และต่อมาก็หงส์ทองและสุราทิพย์..." เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ กล่าวไว้ในหนังสืองานศพสรรเสริญ จุล กาญจนลักษณ์ แต่สาระบ่งชี้ชัดว่า ปี 2518 เป็นปีที่กลุ่มเถลิง-เจริญ เริ่มต้นอย่างเป็นอิสระอย่างแท้จริง ด้วยการเข้าซื้อโรงงานธารน้ำทิพย์

สำหรับเจริญแล้วจุดนั้นยิ่งใหญ่พอๆ กับพ่อตาของเขาซึ่งได้เริ่มทำธุรกิจร่วมกับโค โร่ จากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ชักนำเข้ามาสัมพันธ์กับพงส์ สารสิน เพราะพงส์ก็คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธารน้ำทิพย์ และถือว่าเป็นก้าวแรกที่พงส์กระโดดเข้าสู่วงการน้ำเมาจนตัวเองก็เมาอยู่ตลอดเวลาตราบเท่าทุกวันนี้ โดนหนี้ก้อนใหญ่ซึ่งตนเซ็นค้ำประกันไว้ล้มทับอึดอัดขัดข้อง ว่ากันว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการจำต้องเป็นรองนายกรัฐมนตรี

เมื่อกลุ่มเถลิง-เจริญ ผลิตสุราแสงโสม กลุ่มสุรามาหราษฎรของตระกูลเตชะไพบูลย์ ก็ได้สัญญาแม่โขงต่อในปี 2523 ภายหลังการขับเคี่ยวอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ความพ่ายแพ้ของเถลิง-เจริญ ครั้งนั้นนำมาซึ่งบทเรียนแห่งชัยชนะของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ ในเวลาไม่นานจากนั้นนัก

นั่นคือการผลิตสุราขาวในย่านภาคกลาง อันเป็นถิ่นกำเนิดของเถลิง เหล่าจินดา ประวัติศาสตร์บอกไว้ทุกครั้ง คราใดที่เถลิงพ่ายแพ้หรือกลัวภัยเขาจะกลับมาเริ่มที่แถวบ้านเกิด เพื่อตั้งหลักเสมอเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรอย่างนั้น

สุราหงส์ทองซึ่งรสชาติใกล้เคียงกับแม่โขง (เพราะคนปรุงคนเดียวกัน) แต่ราคาถูกกว่าตีแม่โขงกระเจิดกระเจิง มิหนำซ้ำในปี 2525 กรมสรรพสามิตออกคำสั่งอนุญาตให้ขนสุราข้ามเขตได้ ตรงจุดนี้ภาพความยิ่งใหญ่ของเจริญก็เด่นชัดขึ้นเทียบเคียงบารมีของเถลิง เหล่าจินดา!

ผู้บันทึกประวัติศาสตร์หลายท่านต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ยามใดที่เกิดวิกฤติการณ์ย่อมมีคนได้ประโยชน์เสมอ เช่นในช่วงปี 2525 นี้ที่แม่โขงกระอักเลือด แต่หงส์ทองบินสู่ฟ้า

เช่นเดียวกัน เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ ได้สร้างอาณาจักรธุรกิจของตนอย่างก้าวกระโดดในช่วงนี้ ดูไปแล้วไม่แตกต่างจากเถลิง เหล่าจินดา ได้ฉกฉวยโอกาสงามนั้นมาแล้วในช่วงเป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายจัดซื้อแม่โขงเมื่อปี 2513

นั่นคือการเกิดขึ้นของบริษัทพงส์เจริญ การลงทุนซึ่งชื่อระบุชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพงส์ สารสิน กับเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ โดยไม่มีเถลิง เหล่าจินดา ร่วมด้วย กิจการนี้เป็นผู้ค้าสุราพร้อมทั้งเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีด้วย กาลต่อมาเมื่อพงส์กระโดดเข้าวงการการเมือง เขาจำต้องถอนหุ้นออกไป บริษัทนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็นเจริญวรรณกิจ ซึ่งความหมายของชื่อที่ต่อท้ายคำว่า "เจริญ" มาจากชื่อของภรรยาของเขา

และที่ขาดเสียมิได้ก็คือ กึ้งจู แซ่จิว ซึ่งเข้าร่วมตั้งแต่ต้นและตลอดมา

ปี 2525 นั้นยังเป็นปีที่เจริญร่วมมือกับเถลิงตักตวงความร่ำรวยอย่างมาก เขาทั้งสองร่วมตั้งบริษัทขึ้นมาจำนวนมาก อันเกี่ยวข้องกับการค้าสุรา อาทิ ทีซีซี, ทีซีซีธุรกิจ หรือ ทีซีซี บริหารธุรกิจ และก็ทุกบริษัทที่ว่า กึ้งจู แซ่จิว ก็จะถือหุ้นด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า เถลิง เหล่าจินดา กับเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ ทั้งสองมีจุดอ่อนจุดแข็งคนละด้าน แต่หากกล่าวถึงความเสียเปรียบได้เปรียบแล้ว คนวงในมองว่าเจริญดูจะได้เปรียบกว่าเถลิงตรงที่เขามีพ่อตาเป็นกำลังหนุนอยู่เบื้องหลังอยู่ตลอดเวลา ปีกทางพ่อตาของเขาก็สร้างอาณาจักรของตนเองอย่างเงียบที่สุด ด้วยสายสัมพันธ์กับเตชะไพบูลย์ โดยเฉพาะกับคำรณ หรือโคโร่ จนต่อมาได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของธนาคารมหานครในช่วงนั้น

เช่นเดียวกับบทบาทระหว่างเจริญกับเถลิงก็ประหนึ่งคลื่นลูกใหม่โถมทับคลื่นลูกเก่า ในระยะหลังๆ มานี้บทบาทเจริญในกิจการของกลุ่มทีซีซี จะดูมากกว่า ทั้งความเก่งของเขาและเถลิง เหล่าจินดา มอบความไว้วางใจอย่างมากด้วย

ในปี 2526 กลุ่มเถลิง-เจริญ ได้ร่วมทุนตั้งบริษัทแสงอรุณการสุรา ดำเนินกิจการขายสุราอันเป็นความร่วมมือกับกมล เอี่ยมสกุลรัตน์ น้องชายของเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ อันเป็นที่รู้กันว่าสนิทสนมกับชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสแบงก์กรุงเทพ และเป็นที่แจ่มชัดกันว่า การเข้ามาของกมลหรือเกียรติ ก็คือการเข้ามามีส่วนรับรู้และได้เสียกิจการค้าเหล้าของกลุ่มเถลิง-เจริญ หลังจากกลุ่มนี้ชนะประมูลโรงเหล้า 12 โรงในต่างจังหวัด โดยชาตรีให้การสนับสนุนทางการเงินไม่น้อยเลย

"คุณเกียรติแกไม่ค่อยทันคุณเจริญหรอก คุณชาตรีเลยสั่งฮั่งชองมาคุมอีกคน" แหล่งข่าวระบุชัด

ซึ่งมีความหมายว่า ฮั่งชอง แซ่ตั้ง รอบรู้ด้านบัญชี และ corporate financeing มากคนหนึ่งในวงการเงิน แต่เป็นคนที่เก็บเนื้อเก็บตัวอย่างยิ่ง เป็นคนที่ชาตรีเชื่อมืออย่างมาก ฮั่งชอง แซ่ตั้ง

อายุเกือบ 50 ปีแล้ว เป็นคนเชื้อสายจีนที่ชาตินิยมเอามากๆ หลายคนสงสัยว่าทำไมเขาไม่ยอมเปลี่ยนชื่อ-แซ่ ผู้ใกล้ชิดเขาคนหนึ่งบอกว่า ชื่อจีนอย่างนี้แหละดีเพราะหากทำตัวเด่น คนไทยทั่วไปก็ไม่คิดอะไรมาก เพราะถือเป็นคนต่างชาติ ข้อได้เปรียบของคนสัญชาติไทยย่อมมีมากกว่า

เขาเริ่มมีบทบาทในแวดวงสถาบันการเงินของชาตรี โสภณพนิช บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย ที่นายห้างชิน ปล่อยให้ชาตรีดูแล ฮั่งชองทำงานด้านสินเชื่อด้วยการศึกษาทางด้านบัญชีจากฮ่องกง จึงทำให้เขาไต่เต้าขึ้นถึงระดับวีพี (vice president) และในช่วงปี 2524 ก่อนที่สินเอเซียจะย้ายสำนักงานใหญ่จากถนนเสือป่ามาอยู่ที่หัวลำโพง ฮั่งชองก็ออกจากสินเอเซีย รายงานข่าวยืนยันว่า เขาไปปักหลักซุ่มฝึกวิทยายุทธที่ฮ่องกง ร่วมงานกิจการบริษัทการเงินของโรบินชาน ผู้เป็นพี่ชายแท้ๆ ของชาตรี

ครั้นเมื่อชาตรี กระโดดเข้าโอบอุ้มกลุ่มสุราทิพย์ของเถลิง-เจริญ ฮั่งชองก็ได้รับคำสั่งให้กลับมาดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาตรีร่วมกับเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์

ในที่สุดฮั่งชองก็เข้ามาอยู่ในแวดวงของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ อีกคน ด้วยสไตล์ของเขาที่เลียนแบบเถลิง เหล่าจินดา และพัฒนาขั้นสูงขึ้นไปอีก เจริญได้ชื่อว่าชอบ "ซื้อน้ำใจ" คน เขาต้องการเพื่อนและผู้ร่วมงานอย่างมาก แม้ว่ากว่าจะได้บุคคลเหล่านั้น เขาก็ต้องหว่านเงินออกไปจนคนได้ยินได้ฟังแทบไม่เชื่อหูตนเอง ทุกวันนี้ ฮั่งชอง แซ่ตั้ง เป็นกรรมการรองผู้จัดการธนาคารมหานคร ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามาในนามของกลุ่มเจริญ

ปี 2526 กลุ่มเถลิง-เจริญ โดดเด่นขึ้นอีกขั้น เมื่อพวกเขาเข้ายึดกิจการผลิตสุรา 12 โรงในต่างจังหวัดไว้ในมืออย่างมั่นคง ด้วยความร่วมมือจากหลายธนาคาร นอกจากธนาคารกรุงเทพ ของเจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช ธนาคารไทยพาณิชย์ แล้วที่น่าสังเกตคือธนาคารมหานคร ซึ่งขณะนั้นโคโร่และกึ้งจูอยู่ที่นั่น สิ่งที่กลุ่มเถลิง-เจริญ ต้องการอย่างมากในเวลาต่อมาคือกำลังคน เรียกได้ว่าตั้งแต่ผู้จัดการโรงงานแต่ละจังหวัด เจ้าหน้าที่ด้านบัญชีและการตลาด วิธีที่เจริญใช้ก็คือเอาเงินหว่านซื้อตัวมา

ปรากฏว่าในช่วงปี 2528 โรงงานสุราทั้ง 12 โรงทยอยสร้างเสร็จและเดินเครื่องนั้นวงการธนาคารก็สะเทือนกันครั้งใหญ่ด้วยปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารหลายระดับตั้งแต่ผู้จัดการสาขาซึ่งถือกันว่าเป็นที่รู้จักคนในท้องที่พอๆ กับข้าราชการระดับท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย ได้รับข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธจากกลุ่มเถลิง-เจริญ เข้ารับตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น"เท่าที่นับๆ ดูไม่ต่ำกว่า 20 คน" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว

"พวกเขาได้เงินเดือนเกือบๆ แสน บ้านคนละหลัง รถคนละคัน ขนาดบ้านเสนานิเวศน์ยังปรากฏว่าในช่วงนั้นบริษัทสุราทิพย์เข้าไปถือหุ้นด้วย เท่าที่ผมทราบคงจะแลกเปลี่ยนการช่วยเหลือกัน" ผู้ใกล้ชิดเหตุการณ์ยกข้อมูลสนับสนุน

ไม่เพียงเท่านั้น วิธีแสวงมิตรอย่างกว้างขวางของเจริญนั้นเขาค้อมหัวกับเจ้าหน้าที่ทางการในท้องที่ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับไหนตั้งแต่ผู้ว่าเป้นต้นมา ฝากเด็กเข้าทำงานเขาจะรับไว้หมด"แม้แต่จปร. รุ่น 7 ตกงานหลังการปฏิวัติล้มเหลว หลายคนยังมาทำงานกับคุณเจริญ" อีกกระแสข่าวว่าอย่างนั้น

ว่ากันว่า เถลิงก็เป็นผู้หนึ่งที่น้ำใจกว้างขวางอย่างยิ่งแล้ว พอมาเปรียบเทียบกับเจริญซึ่งพยายามสืบเท้าตามนั้นมิได้เลย เจริญพุ่งแรงทุ่มเค้าหน้าตักไม่อั้น"คนไหนที่เป็นประโยชน์เขาจะจ่ายจนจุก"

และแล้วมรสุมร้ายก็เข้ามาปกคลุมกลุ่มสุราทิพย์ นั่นคือภาระหนี้สินนับหมื่นล้านอันเนื่องมาจากการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายกับค่ายแม่โขง กวางทอง ผู้ตรวจสอบบัญชีจะงุนงงอย่างมากเกี่ยวกับรายจ่ายอันเนื่องจากบุคลากร หรือรายจ่ายพิเศษอื่นๆ มากมายด้วย

ที่สุดก็มีการเสนอแผนรวมกันระหว่างแม่โขงกับหงส์ทอง กว่าจะรวมกันได้ ก็ทำเอาทั้งสองฝ่ายสะบักสะบอมกันพักใหญ่ "ผู้จัดการ" คงไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บอีกว่างานนี้ใครได้ใครเสีย สำหรับเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ แล้วเขาไม่มีเสีย สถานการณ์ช่วงนี้ตึงเครียดมาก เถลิง เหล่าจินดา ท้อแท้ที่สุด เขานึกถึงเหตุการณ์สมัยวิกฤติการณ์บริษัทเศรษฐการ กิจการค้าเหล้าแห่งแรกของเขา มีเพียงเจริญเท่านั้นที่ออกหน้ารับภาระอันหนักหน่วงนี้แทน ในการวิ่งเต้นพบบรรดาเจ้าหนี้ พบเจ้าหน้าที่ทางการเพื่อเจรจาผ่อนปรนต่างๆ

เจริญก็ศึกษาบทเรียเถลิง เหล่าจินดา อีกเหมือนกัน ในช่วงบริษัทเศรษฐการของเถลิงมีปัญหา ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เถลิงต้องการให้อุเทน เตชะไพบูลย์ ช่วยเหลือ เขามารอที่บ้านตั้งแต่อุเทนยังไม่ตื่นนอน อุเทนตื่นขึ้นและออกจากบ้านไปทำงาน แม้เห็นเถลิงนั่งในห้องรับแขกโดยไม่พูดจาก็นึกว่ามาพบน้องๆ ตกเย็นกลับจากที่ทำงานอุเทนก็พบเถลิงนั่งอยู่ที่เดิม จึงได้รู้เรื่องราวว่าเถลิงต้องการให้ช่วยเหลือเช่นเดียวกับเรื่องราวของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ นั่งรอที่บ้านสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลัง ในฐานะเจ้าของสัมปทานหงส์ทอง และเจ้าหนี้รายใหญ่ (ค่าสิทธิ) ในขณะนั้นเขานั่งรอสมหมายแต่เช้า พลางรดน้ำพรวนดินต้นไม้สนามหญ้าหน้าบ้านสมหมายไปพลางๆ ภายหลังคนในกระทรวงการคลังยังเคยได้ยินคำชมเชยจากปากสมหมายว่า"คุณเจริญเป็นคนดี"

และแล้วแม่โขง-หงส์ทอง ก็รวมกันสำเร็จ ความสำเร็จนี้เริ่มฉายแสงตั้งแต่ต้นปี 2530 เป็นต้นมา ซึ่งปรากฏว่าดีด้วยกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น และการแก้ไขสัญญาทั้งหงส์ทอง แม่โขง ในระยะไล่เลี่ยกัน"ปัจจุบันสุราขาวกลายเป็นปัจจัยสำคัญ หรือรายได้หลักของธุรกิจค้าสุราทั้งระบบ" เจ้าหน้าที่ระดับสูงกรมสรรพสามิตกล่าวและแย้มให้ฟังต่อว่า"เหล้าขาวในปัจจุบันผลิตในกรุงเทพฯ แล้วค่อยๆ ออกไปขายทั่วประเทศ ผมคิดว่าไม่นานโรงงานของสุราทิพย์ในต่างจังหวัดบางโรงจะต้องปิดลง"

มันช่างโชคดีเสียจริงๆ ต้นปี 2530 แม่โขง-หงส์ทอง เริ่มหายใจคล่อง เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ เริ่มสบายใจอย่างแท้จริง ปีกทางด้านพ่อตาเริ่มมีปัญหา

และมันก็เป็นการพิสูจน์ว่า การจัดวางกำลังระหว่างปีกของเจริญ และกึ้งจู แซ่จิว พ่อตาของเขานั้นเหมาะสมกับสถานการณ์อย่างยิ่ง การหนุนช่วยซึ่งกันและกันทางธุรกิจดำเนินเป็นระลอกและได้ผลดี

ปัญหาเริ่มขึ้นที่ธนาคารมหานคร โคโร่ต้องระเห็จออกนอกประเทศ ติดตามด้วยปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงของธนาคารมหานคร จนแบงก์ชาติเข้ามาควบคุมตามด้วยมาตรการลดทุน เพิ่มทุนระดมผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา เดชะบุญที่กึ้งจู แซ่จิว ไหวตัวทัน ก่อนที่โคโร่จะจากเมืองไทยไป เขาได้ซื้อกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจจากโคโร่ มิฉะนั้นกิจการอาจตกอยู่ในมือเจ้าหนี้ก็ได้ ในเวลาเดียวกันกลุ่มหงส์ทองซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การบริหารเกือบจะสิ้นเชิงของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ จึงได้ถูกชักนำมาถือหุ้นข้างมากของธนาคารนี้

ปี 2530 คือปีที่เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ รุกขยายอาณาจักรร่วมกับกึ้งจู แซ่จิว อย่างขนานใหญ่ จากการประเมินของ "ผู้จัดการ" เห็นว่ากลุ่มนี้ขยายธุรกิจสร้างสินทรัพย์เติบโตและน่าสนใจที่สุด

กิจการร่วมทุนระหว่างเจริญกับเถลิง ปลายปี 2529 และต้นปี 2530 ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่หมด เถลิง เหล่าจินดา ได้ถอนตัวออกหมด (รวมทั้งคนในครอบครัวด้วย) ไม่ว่าจะเป็นบริษัทกลุ่มสุราทิพย์, ทีซีซี ธุรกิจ, ทีซีซี บริหารธุรกิจ, ศรีไพบูลย์ร่วมทุน, เสรีไพบูลย์ หรือพีซีพาณิชยการ ฯลฯ "คุณเถลิงแกถอนตัวอย่างสิ้นเชิงแล้ว แกเจออะไรต่อมิอะไรมากๆ เลยไม่ยอมสู้แล้ว ขณะนี้คุณเจริญจ่ายเงินให้คุณเถลิงเป็นการตอบแทนเดือนละ 150,000 บาท" แหล่งข่าวกล่าว ก็ไม่ทราบว่าตอบแทนอะไร อาจจะเป็นการตอบแทนบุญคุณที่อุ้มชูเจริญขึ้นสูงเด่น หรือตอบแทนที่มอบกิจการให้ก็ไม่ทราบชัด

ในเวลาเดียวกันกิจการที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือเถลิงเช่นดอกเห็ด บางคนบอกว่าเหตุการณ์คล้ายๆ กับตอนเถลิง เหล่าจินดา ขึ้นรับผิดชอบงานด้านจัดซื้อในยุคสัญญาแม่โขงช่วงที่ 2 ซึ่งปรากฏว่ากิจการของเถลิงเกิดขึ้นและเข้ารับช่วงขายอุปกรณ์แทบทุกชิ้นให้แม่โขง แต่วันนี้ของเจริญจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ หรือมีความพยายามอย่างนั้นหรือไม่ต้องถามเจริญเอง

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันกึ้งจู แซ่จิว กับคำรณ เตชะไพบุลย์ ที่ฝ่ายหลังต้องถอนตัวออกจากวงการไปแบบจำยอม (เถลิง เหล่าจินดา ยังดีกว่าที่ไม่ต้องหลบซ่อน) แล้วฝ่ายกึ้งจู ก็ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาแทนที่ เริ่มจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ จนถึงธนาคารมหานคร

ปี 2530 จึงเป็นปีที่ปีกของเจริญและกึ้งจู แซ่จิว มาบรรจบกัน ความยิ่งใหญ่แห่งเงินตราของเขาจึงเริ่มต้นตรงนี้ ฉะนั้นอย่าแปลกใจเลยที่ปีนี้กลุ่มนี้ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า

คำว่า "ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า" ที่เคยใช้กันมาในอดีตนั้น ที่แท้จริงเหมาะสมกับกลุ่มนี้มากที่สุด อันหมายถึงการซื้อกิจการหรือสินทรัพย์ที่พอจะเปลี่ยนจากเงินไปได้ อีกส่วนหนึ่งซื้อ "สิ่งที่ขวางหน้า" สิ่งซึ่งเป็นอุปสรรคขวากหนามในการก้าวไปข้างหน้าให้ได้มาซึ่งความราบรื่นในการเดินทาง ประการหลังนี้เขาดำเนินมานานแล้ว จึงมีวันนี้

พลิกดูโครงสร้างผู้ถือหุ้นในธนาคารมหานครนั้น บริษัท เจริญวรรณกิจ คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกองทุนฟื้นฟูฯ และยังมีบริษัททีซีซีธุรกิจอีก จำนวนเปอร์เซ็นต์ยังไม่แจ่มชัด เพราะยังมีบริษัทรายย่อยและบุคคลธรรมดาในกลุ่มอีกมาก หากดูโครงสร้างกรรมการจำนวน 18 คนแล้ว ก็จะพบว่ากลุ่มเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ มีถึง 6 คน ประกอบด้วย รองประธานกรรมการ 2 คน คือพลโทนพ พิณสายแก้ว กับ กึ้งจู แซ่จิว ส่วนตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการนั้นคือ ฮั่งชอง แซ่ตั้ง ที่เหลืออีก 3 คน เป็นกรรมการคือ ร.ท.การุณย์ เหมวานิช, ชูเกียรติ ตัญญพงศ์ปรัชญ์ ทนายความกลุ่มสุราทิพย์ และสุนีย์ จาตุรณแสงไพโรจน์ ลูกสาวอีกคนของกึ้งจู แซ่จิว

"การเพิ่มทุนล่าสุดก่อนสิ้นปี 2530 นี้มีข่าวว่า กลุ่มเจริญได้เข้าซื้อหุ้นจากกลุ่มของคุณหญิงพัชรี รัตตกุล ว่องไพฑูรย์ และเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ไว้อีกล็อตใหญ่" คนในวงการธนาคารกล่าว

ตรงจุดนี้มองในแง่ยุทธศาสตร์ของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือตัวเขาและภรรยาไม่โดดเข้ามาเป็นกรรมการ (แต่ส่งคนอื่นมาแทน) ที่ธนาคารมหานคร แต่เขาและเธอยังนั่งอยู่ที่ทำงานกลุ่มทีซีซี ถนนสุรวงศ์ทุกวันเหมือนเดิม

ผู้ใกล้ชิดเจริญคนหนึ่งกล่าวว่า วันนี้ของเขาดูเป็นสุขพอสมควรที่เขามีกิจการค้าเหล้าอยู่ในมือ พร้อมๆ กับกิจการไฟแนนซ์และธนาคาร อันเป็นสูตรความสำเร็จที่กลุ่มคนจีนในไทยใฝ่ฝันมานานนักหนาแล้ว

ไม่หยุดเพียงเท่านี้ เป้าหมายต่อคือการเข้าไปธนาคารนครหลวงไทย ถึงแม้จะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยและมีตัวแทนในกรรมการเพียงคนเดียว (ธเนศ จินดามณีโรจน์) แต่ก็ถือว่ามีความหมายและโอกาสต่างๆ ในการเข้าไปมากกว่านี้อยู่ในมือแล้ว

ในช่วงที่มีข่าวกลุ่มเจริญเข้าไปพัวพันกับกิจการธนาคาร ข่าววงในอีกทางหนึ่งกล่าวว่า เขาก็เข้าไปพัวพันกับสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่พลเอกเปรมรอดพ้นเงื้อมมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก หรือกรณีบรรหาร ศิลปอาชา หรือแม้แต่การที่ส.ส.ได้รับเชิญไปเที่ยวฮ่องกง"ผมว่าเขามีกิจการในฮ่องกงด้วย เวลาผู้ใหญ่เดินทางไปคุณเจริญจะมีคนที่นั่นมาคอยต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี" อดีตข้าราชการกรมสรรพสามิตคนหนึ่งกล่าว

นักการธนาคารบางคนบอกว่า แหล่งเงินหรือกระแสเงินระหว่างไทยสู่ฮ่องกงและฮ่องกงสู่ไทยนั้น เป็นมาอย่างไรในสมัยโพยก๊วน ในสมัยนี้ก็มีอยู่เช่นเดิม พ่อค้าจีนในไทยจำนวนไม่น้อยที่นิยมฝากเงินหรือขยักส่วนเกินของรายได้ฝาหไว้ที่นั่น (ในรูปของมูลค่าสินค้าตาม L/C) เงินส่วนที่ฝากที่ฮ่องกงมิเพียงก่อดอกผลในรูปดอกเบี้ยเม่านั้น ยังเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในทางหนึ่ง กับการใช้วงเงินกู้กับธนาคารไทยที่ผู้บริหารหรือเจ้าของมีกิจการธนาคารในประเทศไทย ตระกูลว่องวัฒนสิน อดีตเจ้าพ่อโรงงานน้ำตาลรายหนึ่งเคยดำเนินการมาแล้วกับโคโร่ เมื่อกิจการโคโร่ในฮ่องกงมีอันเป็นไปจึงเจ๊งไปพร้อมกัน เรื่องจึงค่อยปูดขึ้น

หลายคนอีกนั่นแหละเชื่อว่า วันนี้กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่เคยหากินในเมืองไทย แต่ต้องระเห็จไปอยู่ไต้หวัน มิเพียงแต่ตัวเท่านั้นที่ไปหลบภัย พวกเขายังมีเงินก้อนใหญ่ไปด้วย เงินเหล่านี้มักจะอยู่ที่ฮ่องกง

กระแสข่าวที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องในย่อหน้าข้างบนบอกว่า โคโร่กับกึ้งจู แซ่จิว ก็ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีเหมือนเดิม

เช่นเดียวกับคนที่รู้จัก เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ มักจะกล่าวว่า การขยายตัวทางธุรกิจของเจริญนั้นเขาแทบจะไม่ใช้เงินส่วนตัวเลย ส่วนใหญ่มาจากกิจการค้าเหล้า หรืออย่างอื่นๆ ทั้งสิ้น"อย่างนี้เงินทองของเขาในโฮลดิ้งคัมปะนี หรือเซฟส่วนตัวจึงมีแต่เพิ่มพูนขึ้น" อีกคนแสดงความเห็น

จะปะติดปะต่อเรื่องราวกันอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ปี 2530 ก็คือปีที่เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ ซื้อทรัพย์สินไว้อย่างมากมาย นอกจากธนาคารที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

เริ่มด้วยที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยจากสาทร สู่ชานเมือง จากซอยเสนานิคม บางเขน จนถึงถนนช้างคลานที่เชียงใหม่"ผมว่าแกคิดได้ว่าเมื่อหงส์ทองมีปัญหาหนักๆ นั้นแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเมื่อเทียบกับกลุ่มแม่โขง" แหล่งข่าวกล่าว จุดนี้เป็นจุดอ่อนของกลุ่มเจริญ ดังนั้นจึงเป็นไปได้เมื่อมีโอกาส เขาจึงระดมทุนซื้อทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ หรืออีกนัยหนึ่ง เขาได้รับอิทธิพลจากเถลิง เหล่าจินดา ที่มีสินทรัพย์ในรูปที่ดินหรือตลาดในบ้านเกิดหลายแห่ง ไล่ดะตั้งแต่อ.วังน้อย อยุธยา จนถึงอ่างทองบ้านเก่า แล้ววันนี้ที่เถลิงต้องนอนเลียแผล เขาจะเฉือนที่ดินในต่างจังหวัดซึ่งราคาขึ้นไปตามกาลเวลาขายเพื่อดำรงฐานะที่มั่นคง และเงียบๆ ต่อไปเช่นที่ "ผู้จัดการ" ไปพบมาแล้วที่ตลาดวังน้อย อยุธยา จากที่ดินไร่ละไม่กี่ร้อยบาทในสมัยเขาซื้อมา ปัจจุบันเถลิงปรับปรุงสาธารณูปโภคขึ้นพอประมาณขายออกเป็นแปลงๆ ราคาตารางวาละ 1,500-2,000 บาทแล้ว

แผนการต่อมาก็คือ การลุยซื้อสินทรัพย์ที่มิใช่ที่ดินอย่างเดียว เช่น สำนักงานใหญ่ธนาคารสหธนาคาร ที่สามแยกปลายถนนเยาวราช ที่ดิน 492 ตารางวา บรรเจิด ชลวิจารณ์ ผู้จัดการใหญ่สหธนาคารประกาศขายตารางวาละ 250,000 บาท รวม 123 ล้านบาท และอาคารพื้นที่ 12,396 ตารางเมตร ขายตารางเมตรละ 5,000 บาท เป็นเงิน 61,981,000 บาท รวมเป็นเงิน 184,981,000 บาท แต่ด้วยฝีปากการเจรจาของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ บรรเจิดตกลงขายในราคาเพียง 120 ล้านบาท ว่ากันว่าเป็นการตกลงกันเป็นการภายใน ยังมิได้ลงนามเซ็นสัญญาเป็นทางการ

"เท่าที่ทราบคุณเจริญบอกว่าจะใช้เป็นสำนักงานของเครือสุราทิพย์อีกแห่งหนึ่ง" ผู้รู้เรื่องดีกล่าว

ส่วนคลังสินค้าของบริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊ก (ประเทศไทย) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านถนนตกนั้นก็ซื้อหามาราคาร้อยกว่าล้านบาทเช่นเดียวกัน ซึ่งว่ากันว่า จะใช้เก็บอุปกรณ์สำหรับโรงเหล้า หรือสินค้าอย่างอื่น สินทรัพย์ชิ้นนี้ถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก หรือเสริมแขนขาของธุรกิจที่มีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับโรงงานน้ำตาลชลบุรี จากกระทรวงการคลัง"โมลาสจากโรงน้ำตาลใช้เป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งในการผลิตเหล้า" ผู้รู้กล่าวและคงจะยังจำกันได้ว่า กลุ่มสุรามหาคุณก็เคยมีโรงงานน้ำตาลมหาคุณชื่อเดียวกันมาแล้ว

งานนี้เจริญเดินแผนใชืชื่อว่าชาวไร่อ้อยชลบุรี ซึ่งนำโดย ดรงค์ สิงห์โตทอง เข้าซื้อมาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้มีหลายรายการตั้งแต่ ค่าหุ้นชำระหนี้สินแทน และจ่ายชดเชยให้พนักงานที่ต้องให้ออกจากงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 255 ล้านบาท โดยใช้แคชเชียร์เช็คของธนาคารมหานคร

"เท่าที่ทราบ ลูกเขยเฮียซุ้ย (ดรงค์ สิงห์โตทอง) เป็นผู้บริหาร แต่คุณเจริญก็ส่งคนสนิทคนหนึ่งเข้าประกบ" แหล่งข่าวใกล้ชิดเหตุการณ์กล่าว ซึ่งบ่งบอกสไตล์การทำงานของเจริญ อีกประการหนึ่งที่มิได้มอบงานให้ใครมากมาย เหมือนกับตนเองที่เคยได้รับจากเถลิง และจะมีการคานอำนาจกันอย่างมาก จนบางคนที่มองเจริญในแง่ไม่ดีกล่าวว่า เพราะเขากลัวเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำรอย ในช่วงสัญญาแม่โขงช่วงที่สอง เมื่อประมาณ 10 ปีผ่านมาเกิดขึ้นกับตนเอง

ล่าสุดก็ว่าเจริญบุกขึ้นเชียงใหม่เจรจาซื้อที่ดิน และโรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า ส่วนที่ดินเรียบร้อยไปแล้ว 3-4 ไร่ แถวไนท์พลาซ่า ประมาณ 75 ล้านบาท ส่วนโรงแรมบนเนื้อที่ 5 ไร่ นั้นกำลังต่อรองกันอยู่ ซึ่งคาดกันว่าคงจะตกลงกันราคาเกือบๆ 300 ล้านบาท และการเข้าไปถือหุ้นบริษัทสยามประชาคม เจ้าของโครงการหมู่บ้านเสนานิเวศน์ ซึ่งกลุ่มหงส์ทองมีหุ้นอยู่เกือบ 5% มา 2-3 ปีแล้ว

คนในวงการที่ดินกล่าวว่า วันดีคืนดีเขาอาจจะได้พบ ธงชัย ศรีสมบูรณานนท์ น้องชายของเจริญที่หน้าตาคล้ายกันมากมาถามไถ่เรื่องการซื้อที่ดิน มาพูดอ่อนน้อมถ่อมตนว่า"บอกมาเลยครับ ว่ามีที่ดินที่ไหนจะขาย เราจะขอซื้อทันที"

ชีวิตของเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ ได้ชื่อว่าเคยลำบากมามาก ดังนั้นเขาจึงเป็นคนปานกลาง ไม่หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ สำหรับตัวเอง เว้นแต่ต้องต้อนรับขับสู้ท่านผู้มีเกียรติ เขาจะไม่อั้นเลย วันนี้เขามีรถเบนซ์หลายคัน ซึ่งเขาบอกกับลูกน้องว่า มันจำเป็นสำหรับสังคมอย่างเขา เช่นเดียวกับสร้อยทองแขวนคอหรือนาฬิกาโรเล็กซ์เรือนทองก็จำเป็นไม่แตกต่างกับรถเบนซ์นัก

งานของเขาก็คือแผนการที่ยืดหยุ่นมีลูกน้องมากๆ มีเพื่อนมาก ซึ่งบทเรียนสอนว่า สิ่งเหล่านี้แผ้วทางไปสู่ความสำเร็จของเขา

ส่วนคนที่เขาไว้ใจนั้นมีเพียงไม่กี่คน ยกเว้น วรรณา ศรีสมบูรณานนท์ ภรรยาของเขาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนเก่งพอตัว มีสายสัมพันธ์แน่นอน บางคนบอกว่า เธอเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับคุณหญิงพันธ์เครือ ยงใจยุทธ แล้วก็พ่อตาของเขา กึ้งจู แซ่จิว และญาติทางเมียของเขา

แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงของชีวิตเจริญวันนี้ก็คือ เขาชอบทำตัวเงียบๆ ต่อสาธารณชน ชอบอยู่เบื้องหลังเรื่องราว เบื้องหลังความสำเร็จ ส่วนเบื้องหลังของเขานั้นคือเงิน และบางทีผู้คนในวงการธุรกิจก็ยังตอบคำถามได้ไม่ชัดว่า เงินเหล่านั้นมาจากไหน มันช่างมากมายเหลือเกิน????

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us