|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์กสิกรไทยสุดอั้นนำร่องปรับดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก 0.25% เพื่อสอดคล้องกับภาวะตลาดที่อยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น อีกทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์ต่ำกว่าระบบอยู่แล้ว เมื่อปรับขึ้นจึงอยู่ในระดับเดียวกับแบงก์ใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ด้านแบงก์กรุงศรีอยุธยายังยืนอัตราเดิมขอดูผลกระทบระยะหนึ่ง คาดแบงก์พาณิชย์อื่นๆ ขยับตาม
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ 0.25% ให้สอดคล้องกับภาวะตลาด โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อยู่ในระดับเดียวกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งอื่น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีเอ็มแอลอาร์ (MLR) จาก 5.50% ปรับเป็น 5.75% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 5.75% ปรับขึ้นเป็น 6.0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (MRR) จาก 6.0% เป็น 6.25% ทั้งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป
สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR ของธนาคารอยู่ในระดับต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ มาตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2546 ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาด ธนาคารจึงได้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้มาอยู่ในระดับเดียวกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งอื่น
"ที่ผ่านมาแบงก์กสิกรไทยนับเป็นผู้นำในการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดการเงินของไทยเพื่อส่งเสริมการใช้สินเชื่อมาโดยตลอด ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพคล่องและภาวะตลาด ที่มีแนวโน้มของดอกเบี้ยขาขึ้น"
นอกจากนี้ธนาคารได้พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือน จาก 1.25% เป็น 1.75% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 36 เดือน จาก 1.50% เป็น 2.0% ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินภายในธนาคารมีความเหมาะสม รวมทั้งให้มีอัตราที่สอดคล้องกับแนวโน้มภาวะตลาดการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ฝากเงินในการเลือกฝากเงินในระยะยาว เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยยังมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่พอสมควร ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งระดมเงินฝากแต่ประการใด
สำหรับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก โดยจะขอรอพิจารณาผลกระทบ ของการปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ก่อน โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ณ วันที่ 30 พ.ค. เงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ระดับ 0.75% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 1% เงินฝากประจำ 6 เดือนและ 12 เดือนอยู่ที่ระดับ 1.25% เงินฝากประจำ 24 เดือนอยู่ที่ระดับ 1.75% เงินฝากประจำ 36 เดือนอยู่ที่ระดับ 2.25%
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารยังไม่ได้มีการปรับขึ้นเลยตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2546 โดยดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์อยู่ที่ระดับ 5.75% เงินกู้เอ็มโออาร์ อยู่ที่ระดับ 6% และดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มอาร์อาร์อยู่ที่ระดับ 6.25% ซึ่งการจะปรับดอกเบี้ยนั้น ธนาคารจะพิจารณาตามสภาพคล่องและการบริหารเงิน รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ด้วย
ก่อนหน้านี้บล.ทรีนีตี้ คาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในสิ้นปีอยู่ในระดับ 3.75-4% หลังจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลดลง ขณะเดียวกันคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย R/P 14 วัน ในทิศทางเดียวกัน โดยในเบื้องต้นประเมินว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้ง ส่งผลให้สิ้นปีอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในระดับ 3-3.25% จาก 2.5% ในปัจจุบัน
มองว่าอัตราดอกเบี้ยเฟดจะปรับขึ้นไม่รุนแรงเช่นที่ผ่านมา เพราะสหรัฐฯ มีปัจจัยลบค่อนข้างมากทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยคาดว่าสิ้นปีจะมีการปรับขึ้นไม่เกิน 4% จาก 3% ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้แบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดช่องว่างในระดับประมาณ 3.25%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย R/P 14 วัน จะสะท้อนให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมองว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดเล็กจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีสภาพคล่องในระดับสูง โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีเงินฝากล้นระบบถึงประมาณ 10% และยังคาดว่าจะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับขึ้นก่อนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น
|
|
|
|
|