Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน ธันวาคม 2539
เยือนโฮจิมินห์ สัมผัสชีวิตแบบเวียดนาม             
 





ในประเทศแถบอินโดจีน ซึ่งกำลังมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง จนเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลกประเทศเวียดนาม ดูจะติดอันดับเต็งหนึ่งมาตลอด ด้วยเหตุที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีละประมาณ 10% มีสาธารณูปโภคที่พร้อมและมีการเปิดประเทศค่อนข้างมาก

แต่ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้วหลายๆคนยังมีคำถามในใจว่า “ปลอดภัยหรือเปล่า” “วิวทิวทัศน์สวยงามเพียงใด” และต้องใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน”

พวกเราได้มีโอกาสอันดีในการไปร่วมงานสัมมนาของบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ที่กรุงโฮจิมินห์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเวียดนาม พร้อมๆกับทำความรู้จักที่นี่ในแง่ของวัฒนธรรมการใช้ชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนไปด้วยเลยทีเดียว

สิ่งแรกที่พบเห็นเมื่อสัมผัสกับเวียดนามก็คือ บนเส้นทางที่พาเราไปยังที่พัก ขวักไขว่ด้วยรถมอเตอร์ไซต์และจักรยานซึ่งขับขี่กันในเลนขวา รถยนต์ที่นี่คนขับจะนั่งอยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งตรงข้ามกับการขับรถในไทย ด้วยความเคยชินบ่อยครั้งที่เราจะขึ้นไปนั่งแทนที่คนขับอยู่เสมอ

แท็กซี่มิเตอร์เริ่มต้นด้วยราคา 5,000 ดองเทียบเป็นเงินไทยประมาณ 12 บาทเพราะ 1 เหรียญสหรัฐจะแลกได้ประมาณ 11,000 ดองแท็กซี่ทุกคันจะมีวิทยุสื่อสารติดต่อกันได้และมีกฎหมายว่ารถแต่ละคันห้ามนั่งเกิน 5 คน (รวมคนขับ)

“มองหาคนหุ่นเหมือนฉันไม่เห็นมีเลย” พี่หนุ่ยร้องขึ้นอย่างขัดใจ พร้อมกวาดตาหาเป้าหมายแต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ เวียดนามคงจะมีแต่สาวสวยหุ่นดีอย่างที่ใครๆกล่าวขวัญไว้จริงๆ

ผู้หญิงที่นี่ยังคงนิยมสวมชุดประจำชาติซึ่งเป็นชุดเข้ารูป เสื้อยาวถึงเข่า ผ่าชายเสื้อซ้ายและขวาสูงจนเห็นเอวขาวๆสวมกางเกงผ้าเนื้อบาง บางคนก็จะสวมถุงมือยาวเกือบถึงข้อศอกด้วย

ชุดประจำชาติที่เน้นสัดส่วนเช่นนี้นี่เองทำให้สาวเวียดนามต้องพยายามรักษาหุ่นกันน่าดู โชคดีที่อาหารเวียดนามจะเน้นผัก ไม่ค่อยมีคาร์โบไฮเดรตและไขมันจึงช่วยได้มาก รวมถึงการเดินทางที่มักจะใช้วิธีปั่นจักรยานกัน ก็นับเป็นการออกกำลังกายที่ดีอีกอย่างหนึ่ง

ทันทีที่มาถึงโรงแรมนิวเวิลด์ในตอนบ่าย พวกเราก็นัดหมายกันตระเวนเดินชอปปิ้งเพื่อหาซื้อของฝากกลับบ้านโดยมีพี่ยงยุทธเป็นผู้นำ แวดล้อมด้วยสาวๆดั่งดาวล้อมเดือน จุดมุ่งหมายของเราคือโรงแรมเร็ซซึ่งอยู่เลยไปหลายถนน

ด้วยระยะทางประมาณ 2 กม.พวกเราเดินเข้าร้านนั้นออกร้านนี้กันอย่างสนุกสนานต่อราคาสินค้ากันอย่างเมามันประมาณ 50% ของราคาที่เขาบอกตามที่หลายๆคนได้ยินได้ฟังมาจากรุ่นพี่ๆต่อราคากันไปก็หวิวๆกันไปเพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรขว้างมาแทนคำตอบหรือไม่

แต่ที่สุดเราก็รอดปลอดภัยได้ โดยมีของติดไม้ติดมือกันพะรุงพะรัง ลองคิดถึงพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยที่ขายของให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หลายท่านก็คงจะนึกออกว่าชาวเวียดนามก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย เห็นต่อราคาทีไหร่ก็ได้ทุกที ถ้าทำท่าว่าจะไม่ให้เราจะใช้วิธีเดินออกเดี๋ยวเขาก็จะเรียกเองแหละ

อย่างไรก็ตามของค้าของขายที่นี่ก็นับว่าราคาค่อนข้างถูกอยู่แล้วเมื่อเทียบกับเมืองไทยเพราะค่าแรงของเขายังต่ำมาก แต่สำหรับราคาอาหารแล้วจานละประมาณ 20 บาทเท่าๆกับบ้านเรา ส่วนราคาเครื่องดื่มเช่นน้ำเปล่าอาจจะแพงกว่าในไทยซะด้วยซ้ำ เพราะน้ำธรรมดาในเวียดนามจะเป็นน้ำบาดาล ซึ่งมีสารตกค้างมาจากการทำสงครามมาก น้ำมีพิษและสกปรก ใครดื่มเข้าไปหากธาตุไม่แข็งพออาจจะมีอาการจู๊ดๆได้ไม่ยากเวียดนามจึงจำเป็นต้องนำเข้าน้ำจากต่างประเทศมาใช้สำหรับดื่มและส่วนใหญ่จะเป็นน้ำแร่จากฝรั่งเศส

หลังจากใช้จ่ายกันอย่างเศรษฐีหมดกันไปคนละนับแสนดอง พวกเราก็เดินย้อนกลับมาทางเดิม แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อเพื่อนคนหนึ่งถูกชาวเวียดนาม 2 คนเดินชนแล้วล้วงเงินในกระเป๋าเสื้อไป ทั้งๆที่เห็นชัดๆว่าคนหนึ่งเดินกลับมานั่งขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ใกล้ๆแต่ก็เอาเรื่องไม่ได้ ตำรวจอยู่ไกลและผู้หญิงวัยกลางคนคนนั้นก็ทำทีเดินไปส่งก๋วยเตี๋ยวที่อื่น โชคดีที่เป็นเพียงเงินสดประมาณ 60,000 กว่าดองเท่านั้น หากเป็นกระเป๋าสตางค์ที่มีเอกสารสำคัญหรือพาสปอร์ตคงเป็นเรื่องยุ่งยากน่าดู

แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าพิสมัยนักแต่ก็ช่วยเพิ่มสีสันการท่องเที่ยวกรุงโฮจิมินห์ได้ไม่น้อย วันต่อไปพวกเราคงรู้แล้วว่านักล้วงกระเป๋าชาวเวียดนามมีชุกชุมอย่างที่เคยรับรู้กันมาจริงๆและจะได้ระมัดระวังตัวกันมากขึ้น

แต่โดยทั่วไปแล้ว คนเวียดนามจะมีความเป็นมิตรมีอัธยาศัยดีตามลักษณะคนเอเชียทั่วไป ดังเพื่อนนักข่าวชาวเวียดนามของพวกเรา 2 คนที่คอยดูแล พาพวกเราเที่ยวชมเมืองโฮจิมินห์และสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นี่อย่างใกล้ชิด

ดิสโก้เทคแบบเวียดนาม

หลังจบจากการสัมมนาในวันแรก พี่ป๋องแนะนำให้พวกเรารู้จักกับเกริงและถาวเพื่อนนักข่าวชาวเวียดนาม ซึ่งอาสาพาพวกเราชมเมืองกันอย่างชุ่มปอด เราโดดกินอาหารมื้อเย็นของโรงแรมออกไปกินอาหารเวียดนามตามตึกแถวข้างถนน แล้วทุกคนก็ให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าอาหารข้างถนนมักจะอร่อยถูกปากกว่าอาหารในโรงแรมเสมอ แม้ตอนเช็กบิลจะตกใจบ้างกับราคาหลายแสนดองสำหรับ 8 คนแต่เมื่อเทียบเป็นเงินไทยแล้วตกคนละประมาณ 120 บาทเท่านั้น ถูกกว่าการกินอาหารเวียดนามในกรุงเทพฯมาก

เราเดินพุงกางออกจากร้านอาหาร อิ่มอร่อยสมกับที่คนพื้นเมืองพามาเอง โปรแกรมต่อไปคือการสัมผัสชีวิตราตรีของชาวเวียดนามบ้างล่ะ

“THAI SON” หรือ “ลูกหลานไทย” คือดิสโก้เทคที่ไกด์ของเราบอกว่าเป็นที่นิยมที่สุดในหมู่วัยรุ่นเวียดนามขณะนี้ ฟังจากชื่อก็พอจะคาดเดากันได้ว่าเจ้าของน่าจะเป็นคนไทยและพวกเราก็ปฏิเสธคำแนะนำของเกริงและถาวไม่เป็นอยู่แล้ว

คนละ 30,000 ดองหรือประมาณ 70 บาทสำหรับค่าบัตรผ่านประตู ส่วนค่าอาหารและน้ำข้างในจ่ายต่างหาก ภายในดิสโก้เทคแน่นขนัดด้วยผู้คนสมกับเป็นที่นิยมจริงๆส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานที่ไม่ใหญ่โตนัก ขนาดพอๆกับตึกแถว 3 คูหามี 2 ชั้นข้างบนจะค่อนข้างมืด ควันบุหรี่ตลบ แสงสีลานตาไม่แพ้ในบ้านเรา

ดิสโก้เทคที่นี่ปิดเวลา 5 ทุ่มตรงตามกฎหมายกำหนดแต่ก็มีบางแห่งที่เส้นสายดีก็สามารถเปิดเลยเวลาได้ ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะในไทยก็เป็นเช่นนั้น

“THAI SON” บรรยากาศผิดกับ “CAT-WALK” ในโรงแรมมาก เพราะในโรงแรมจะเปิดเพลงค่อนข้างช้าเป็นเพลงเต้นมากกว่าดิ้น คนที่เข้ามาเที่ยวสวมสูทผูกเนกไท ส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานและนักท่องเที่ยวมีหญิงสาวสวยคอยบริการเต้นคู่และนั่งคุยด้วยในอัตราชั่วโมงละประมาณ 10 เหรียญสหรัฐหรือ 250 บาทสำหรับอัตราค่าบัตรผ่านประตูจะประมาณ 200 บาท

วิถีชีวิตที่แตกต่าง

เวลาทำงานของคนเวียดนามคล้ายกับของไทยคือเริ่มต้นเวลา 8.00-9.00 น.และเลิกงานประมาณ 17.00 น.ในชั่วโมงเร่งรีบที่นี่รถไม่ติดมาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะขี่มอเตอร์ไซต์และจักรยาน ทุกครั้งที่รถติดไฟแดงมองออกไปจะรู้สึกตกใจว่าผู้คนช่างมากมายเหลือเกิน

โฮจิมินห์เป็นเมืองที่เล็กกว่ากรุงเทพฯ แต่มีพลเมืองประมาณ 8 ล้านคนลองนึกภาพความแออัดของโฮจิมินห์ในอนาคตเมื่อความเจริญเข้าไปถึงและผู้คนขับรถยนต์กันมากขึ้น คงไม่แตกต่างไปจากกรุงเทพฯทุกวันนี้ หากไม่มีการวางผังเมืองที่ดี มีการสร้างระบบขนส่งมวลชนไว้รองรับเสียแต่เนิ่นๆ

ผู้คนที่นี่พูดได้หลายภาษาอย่างน้อยก็คือภาษาเวียดนามและฝรั่งเศส แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่พูดภาษาจีนกลางได้ด้วย หากใครรู้ภาษาจีนกลางจะสามารถใช้ต่อราคาสินค้าได้เป็นอย่างดี เพราะคนค้าขายที่นี่ส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายจีน

การจับจ่ายซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยว เราสามารถใช้เงินสกุลดองของเวียดนาม เงินดอลลาร์สหรัฐหรือเงินสกุลบาทของไทยก็พอใช้ได้บ้าง

สิ่งที่แปลกตาอย่างหนึ่งก็คือ ร้านตัดผม สถานเสริมสวยของเวียดนามมักจะอยู่ตามข้างถนน ในลักษณะของ “ลมโชยบาร์เบอร์” มีกระจกหนึ่งบานแขวนไว้ข้างรั้วบ้านคนข้างถนน มีกรรไกร ปัตตาเลียน และหวีอาจจะมีผ้าคลุมหรือไม่ก็ได้ เพียงแค่นี้ก็ประกอบอาชีพอิสระเป็นช่างตัดผมได้แล้ว

สลากกินแบ่งรัฐบาลที่นี่เป็นเลข 6 หลักเหมือนของไทย ราคาใบละ 2,000 ดองรางวัลที่ 1 มีมูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐ แต่ออกรางวัลกันทุกวันเวลา 17.00 น.เรียกได้ว่ามีให้ลุ้นกันรายวัน

พวกเราซื้อล็อตเตอรี่ให้เกริงและถาวคนละใบ โดยให้เขาเลือกกันเอาเอง และอวยพรให้เขา 2 คนถูกรางวัลที่ 1 เพื่อที่จะได้ใช้เงินรางวัลตรงนี้บินมาเที่ยวเมืองไทยบ้าง มีคนพร้อมจะพาเที่ยวกันหลายคน

4 วันสำหรับกรุงโฮจิมินห์ได้ทั้งงานได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน กรุงโฮจิมินห์เป็นเมืองใหญ่ที่ค่อนข้างเจริญ คล้ายๆกับกรุงเทพฯ จึงไม่มีภาพวิวทิวทัศน์ที่น่าจดจำนัก แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่ก็น่าศึกษาไม่น้อย ภาพชีวิตเหล่านี้งดงามในความทรงจำของพวกเราเสมอ

ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับประมาณ 6,000-8,000 บาทต่อคนด้วยเวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงกว่า กรุงโฮจิมินห์นับว่าไม่ไกลนักหากว่าเราจะกลับไปเยือนอีกครั้ง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us