ทำไมผู้หญิงเก่งจึงต้องเสียเพื่อน
เมื่อผู้หญิงประสบความสำเร็จในการทำงานและสามารถ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้นไปในบริษัท
เธอต้องเผชิญกับการต่อต้านและการทำร้ายมากขึ้นตลอดเวลา แต่หาใช่จากคนที่เธอคาดคิดไม่
ไม่ใช่ จากนายเพศชายที่มีความคิดเหยียดเพศ ผู้เห็นว่าผู้หญิงควรอยู่กับ เหย้าเฝ้ากับเรือน
และไม่ใช่จากคู่แข่งต่างเพศที่เห็นเธอเป็นศัตรูคู่แข่ง ที่มาแย่งชิงตำแหน่งผู้บริหาร
แต่คนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นศัตรูตัวฉกาจของผู้หญิงเก่ง ตามความเห็นของ
Pat Heim และ Susan Murphy 2 ผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้มาจากคนที่เธอคิดไม่ถึง
นั่นคือ ผู้หญิงด้วยกันนี่เอง
Heim และ Murphy เขียนไว้ว่า "ตลอด 20 ปีที่เราจัด ประชุมหรือประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับความแตกต่างของเพศที่มี
ผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพ ผู้เข้าร่วมประชุมแทบทุกคนต่างยอม รับว่า ผู้หญิงคือคนที่ทำลายความฝันในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับ
สูงของพวกเธอ" ผู้ประพันธ์ทั้งสองยืนยันคำพูดนี้ด้วยสถิติ กล่าว คือ จากการสำรวจเมื่อเร็วๆ
นี้ของสมาคมนักบริหารอเมริกัน (American Management Association) ที่ทำการสำรวจผู้หญิง
จำนวน 1,000 คน พบว่า 95% ยอมรับว่า ผู้หญิงเป็นหนึ่งในศัตรู ความก้าวหน้าในการทำงานของพวกเธอ
การทำร้ายทางอ้อม
ผู้ประพันธ์ทั้งสองอธิบายว่า วิธีการทำร้ายกันของผู้หญิง เป็นการทำร้ายทางอ้อม
ซึ่งเปรียบได้กับการต่อสู้กันของแมว ใน ขณะที่สุนัขจะกระโจนเข้าตะลุมบอนกันอย่างซึ่งหน้า
แล้วก็บาดเจ็บ เลือดตกยางออกกันไปทั้งสองฝ่าย แต่แมวจะใช้วิธีข่มขู่คุกคามศัตรู
เช่น โก่งหลัง แยกเขี้ยว และกางเล็บ จ้องอย่างประสงค์ร้าย หรือ ใช้เสียงขู่คำราม
ผู้หญิงก็เช่นเดียวกันจะใช้วิธีทำร้ายศัตรูทางอ้อม ซึ่งแม้มิได้เป็นการทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บ
แต่กลับส่งผลทำร้าย จิตใจฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นผู้หญิงเหมือนกันอย่างลึกซึ้ง
วิธีทำร้าย ทางอ้อมเหล่านี้ก็ได้แก่ การซุบซิบนินทา การกระจายข่าวลือ และการเปิดเผยความลับ
การพูดกระทบกระแทกแดกดัน หรือดูถูก เหยียดหยามทั้งต่อหน้าและลับหลัง การแกล้งทำลายงานของผู้หญิง
อื่น หรือการจงใจแสดงท่าทีเฉยเมยกระทั่งไม่คบหาสมาคมด้วย
ราคาที่ผู้หญิงต้องจ่ายให้แก่การต่อสู้ทำร้ายกันทางอ้อมแบบนี้ ไม่ได้ส่งผลเสียหายแก่เฉพาะผู้หญิงที่ถูกทำร้ายเท่านั้น
แต่ยังส่งผล เสียหายต่อผู้หญิงโดยส่วนรวมอีกด้วย เพราะผู้บริหารและบริษัทที่
ได้เห็นวิธีทำร้ายกันอย่างเลือดเย็นของผู้หญิงแบบนี้แล้ว จะกล้าที่จะส่งเสริมให้เพศหญิงได้ก้าวขึ้นเป็นใหญ่ในองค์กรได้อีกหรือ
ดังนั้น ผู้หญิงคนไหนก็ตามที่กำลังกลั่นแกล้งทำร้ายผู้หญิงเก่งคนอื่นอยู่
พวก เธอไม่เพียงแต่ทำลายผู้หญิงคนนั้นเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังทำลาย โอกาสความก้าวหน้าของเพศหญิงโดยรวม
ซึ่งรวมทั้งตัวเธอเองด้วย
ทำไมผู้หญิงต้องทำร้ายผู้หญิงด้วยกัน
ในเมื่อการทำร้ายกันของผู้หญิงส่งผลเสียหายอย่างใหญ่ หลวงขนาดนี้ ทำไมผู้หญิงจึงยังคงทำร้ายผู้หญิงด้วยกันอยู่
เหตุผลแรกที่ผู้ประพันธ์ทั้งสองหยิบยกขึ้นมาคือสิ่งที่พวกเธอ เรียกว่า
"กฎการมีอำนาจเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์" (Power Dead-Even Rule) ผู้ประพันธ์อธิบายว่า
มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ที่ประกอบขึ้นเป็นความสุขของผู้หญิง กล่าวคือ
ความสัมพันธ์ อำนาจ และความภาคภูมิใจในตนเอง การที่จะรักษาความสัมพันธ์ให้แข็งแรง
ตลอดไป อำนาจและความภาคภูมิใจในตนเองของผู้หญิงที่คบหา เป็นมิตรกันจะต้องเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์
หากมีคนใดคนหนึ่ง มีอำนาจหรือมีความภาคภูมิใจในตัวเองมากกว่า จะส่งผลเสียหาย
ต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง 2 คนนี้ทันที
กฎที่มองไม่เห็น
แม้ว่าจะมองเห็นไม่ได้ แต่ผู้ประพันธ์ยืนยันว่า ผู้หญิง ส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยกฎที่รู้กันนี้โดยไม่จำเป็นต้องพูดออกมาให้ชัดเจน
ผู้หญิงจะพยายามรักษาสมดุลของอำนาจและความภาคภูมิใจใน ตนเองกับเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานทุกครั้งที่กำลังจะเกิดความไม่
สมดุลขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อ Sandra กล่าวชม Martha เพื่อนร่วม งานซึ่งวันนี้ใส่เสื้อตัวใหม่มาทำงานว่าวันนี้ใส่เสื้อสวย
"เสื้อตัวนี้ เหรอ เก่าแล้วล่ะ ซื้อตอนเซลส์ด้วย" นี่คือคำตอบหนึ่งที่มีความเป็น
ไปได้สูงว่า Martha จะใช้ เพราะการชม Martha ว่าใส่เสื้อสวยนั้น Sandra กำลังเพิ่มอำนาจและความภาคภูมิใจในตนเองให้แก่
Martha ทำให้ Martha ต้องพยายามดึงอำนาจและความภูมิใจใน ตนเองของตนที่เพิ่มสูงขึ้นให้ลงต่ำมาสู่จุดสมดุลในทันที
ด้วยการกล่าวถ่อมตัวเกี่ยวกับเสื้อ แม้ว่าความจริงมันจะเป็นเสื้อที่เธอ เพิ่งซื้อมาใหม่จริงๆ
ก็ตาม
เมื่อผู้หญิงได้รับการเลื่อนตำแหน่ง จึงเท่ากับว่ากฎการมี อำนาจเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ถูกทำลายลงไป
เพราะผู้หญิง คนหนึ่งมีอำนาจมากกว่า (ซึ่งมักจะหมายรวมถึงมีความภาคภูมิใจ
ในตนเองมากกว่าด้วย) ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง และยิ่งถ้าผู้หญิง 2 คน นั้นเคยเป็นเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานกันมาก่อน
ความเสียสมดุลของ อำนาจ ก็ยิ่งทำลายความสัมพันธ์ของทั้งคู่ให้เสียหายหนักขึ้นไปอีก
นอกจากจะอธิบายกฎดังกล่าวในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว ผู้ประพันธ์ยังอธิบายในเชิงวัฒนธรรมด้วย
โดยยกตัวอย่างการเล่น ของเด็กผู้หญิง จะมีเป้าหมายแบบ win-win อย่างเช่นการเล่น
กระโดดเชือก สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้มีเพียงแค่ อดเล่น
1 ตาเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็กลับมาต่อแถวเล่นต่อได้ ในขณะที่การเล่นของเด็กผู้ชาย
ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาหรือเล่น เกมคาวบอย จะต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ชัดเจน
เด็กผู้ชายจึงเท่ากับ ถูกสอนให้ยอมรับตั้งแต่ยังเล็กๆ แล้วว่า ไม่ใช่ทุกอย่างในโลกนี้ที่
จะต้องเท่าเทียมกันเสมอไป