Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2539
ภาวะตกต่อทางเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง             
 





การที่จะตำหนิความผิดในการรับผิดชอบภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ให้กับรัฐบาลชุดนายกฯบรรหาร ศิลปอาชาทั้งหมดเป็นเรื่องไม่ถูกต้องพอๆกับที่จะให้เครดิตแก่คนเก่าทั้งหมด มันก็เป็นเรื่องไม่ถูกการทำเช่นนี้มองข้ามข้อเท็จจริงบางประการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้มาจากการที่มีเงินทุนระยะสั้นจำนวนมากไหลเข้ามาในประเทศ และปัญหาอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่เรามีระบบตะกร้าเงินอย่างนี้ ซึ่งก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย และผมคิดว่าข้อดีก็มีไม่น้อยกว่าข้อเสีย ช่วงที่เงินเข้ามาเยอะเกินไปนั้นเราขาดกฎระเบียบของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในยุคก่อนหน้านี้ เมื่อมาถึงเวลานี้คงเห็นแล้วว่ามันเป็นอย่างไร

ปัญหาของเรานั้นไม่ใช่ว่าเรามีการลงทุนมากเกินไปเพราะเมืองไทยไม่ได้มีอัตราการออมต่ำ เพียงแต่ว่าเราลงทุนมากกว่าอัตราการออมไป 8% ดังนั้นเราจึงต้องการเงินทุนที่จะเข้ามา ซึ่งส่วนมากจะเข้ามาในรูปของหนี้บางส่วนเข้ามาในลักษณะหุ้น ปีหนึ่งๆฝรั่งเอาเงินเข้ามาซื้อหุ้นไทยประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาทเทียบกับเงินที่ไหลเข้ามาปีละ 300,000 ล้านบาทซึ่งส่วนมากเข้ามาในรูปของหนี้

เงินทุนที่เข้ามานี้ส่วนมากจะมีการใช้ไปในการลงทุนที่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนคืนมาในอัตราที่เป็นที่คาดหมายคือประมาณ 12%-13% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีการคาดหมายว่าผลตอบแทนของการลงทุนในไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ควรเป็นเท่านี้ เป็นที่เห็นชัดว่าผลตอบแทนการลงทุนในประเทศไทยในปีนี้ไม่ได้สูงอย่างที่มีการคาดหมายกัน และถือเป็นการลงทุนที่แย่หรือ bad investment ในช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก นี่เป็นอีกด้านหนึ่งของปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

การที่โครงการลงทุนต่างๆไม่สามารถให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอัตราที่มีการคาดหมาย ผู้ถือหุ้นของโครงการเหล่านั้นก็เดือดร้อน ไม่ว่าบริษัทนั้นจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ก็ตาม ผู้ที่เดือดร้อนรายถัดมาคือเจ้าหนี้ โดยเฉพาะพวกที่เป็น unsecured bond และ subordinated debt ส่วนพวกที่เจ็บตัวน้อยหน่อยคือพวกที่มีสินทรัพย์ถาวรเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ถึงกระนั้นก็ตามพวกที่ไปติดกับสินทรัพย์เหล่านี้ก็อาจจะได้เก็บตึกว่างๆไว้ตึกหนึ่งซึ่งมันก็ไม่ได้ดีเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับประเทศใดประเทศเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลกและเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในญี่ปุ่นช่วงปลายปี 1989

สำหรับมูลค่าการกู้และการออกหุ้นกู้เช่น ECD ของไทยในต่างประเทศ การซื้อขายตั๋ว B/E ไทยในต่างประเทศ ในช่วงที่ผ่านมาคาดว่ามีตัวเลขประมาณ 100,000 ล้านบาทได้ ซึ่งบางอันมีอายุยาวกว่าจะถึงกำหนดก็ราวปี ค.ศ. 2000 แต่บางอันก็จะมีทะยอยครบกำหนด ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาอีกอันหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ทุกตลาดที่เคยขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อปี 1993 อย่างฮ่องกงนั้น เวลานี้ก็เข้าใกล้สู่จุดเดิมแล้ว เพราะอัตราการเติบโตของรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (earning) มีการเติบโตตลอด สามารถรักษาอัตราการเติบโตนี้ได้ ROE กับ EPS Growth นั้นโตในเส้นแนวโน้มเดิมแต่สำหรับประเทศไทยนั้นอัตราการเติบโตตกจากเส้นแนวโน้มที่เคยเกิดขึ้น นี่เป็นจุดที่สะท้อนชัดว่าเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในประเทศเรานั้นไม่สามารถก่อให้เกิดผลตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อกับการคาดหมายได้ ดังนั้นมูลค่าหรือ value ของการลงทุนนั้นก็ต้องตกลงมา

นี่คือภาพปัญหา ซึ่งคุณอาจจะเห็นว่าส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมีไม่มากนัก ผมมองว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองมีความสนิทสนมกับข้าราชการประจำมากเกินไป เกื้อกูลผลประโยชน์กันเยอะแยะ นั่นหมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มันเหมือนกับฝีที่หัวมันมาแตกเอาตอนนี้ แต่ฝีเริ่มเกิดมาหลายปีแล้ว

ปัญหาที่แท้จริงคือกฎหมายสูงสุดของเราคือรัฐธรรมนูญนั้นไม่ดี ผมอยากให้คนลองอ่านเรื่อง Constitutionalism ของดร. อมร จันทรสมบูรณ์ใน 70 หน้านั้นบอกเราทุกอย่าง!

ปัญหาพื้นฐานคือเราไม่มีระบบ check & balance และเขาก็พูดชัดเจนว่าประเทศเราไม่มี States-man ที่ยินดีสละเก้าอี้ตัวเองหรือเสียสละตัวเองเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญที่มีความยุติธรรมและดีกับประเทศชาติ 95% ของคนในสภาฯ ไม่มีคุณสมบัติที่ดีในการเป็นรัฐมนตรีแต่เราไม่มีกลไกที่จะหาคนที่มีคุณสมบัติที่ดีพอมาบริหารประเทศโดยผ่านระบบที่มีอยู่แล้ว

เราเคยมีคนที่มีความสามารถ คนเก่งมาบริหารประเทศ แต่ปรากฎว่าคนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่สามารถรับใช้ใครก็ได้ที่มีอำนาจ ไม่มีใครที่มีกระดูกสันหลังที่จะบอกว่โดยกฎแล้วต้องเป็นอย่างนี้ คนที่ทำผิดก็คือทำผิดมีหลายคนที่ปล้นประเทศของเราไป

ผมอยากจะบอกว่าการเมืองได้ corrupt ระบบราชการและระบบธุรกิจของเราไปมาก มันก็เลยทำให้ปัญหาที่อาจจะแย่ในระดับหนึ่ง กลับเลวร้ายหนักเข้าไปอีก 20%-35% หรือเป็นการกลบปัญหาไว้ชั่วคราว ทำให้เกิดการแก้ไขช้าลง

ผมกำลังจะบอกว่าเรามีประเทศอย่างมาเลย์ สิงคโปร์ ซึ่งนักการเมืองและข้าราชการของเขามีความตระหนักในเรื่องเหล่านี้ เขาพยายามผลักดันแก้ไข แต่เมืองไทยนั้นเรามีแบงก์ใหม่ 15 แบงก์ที่ปล่อยกู้โดยไม่รอบคอบพอ เล่นเอาแบงก์เก่าแย่ไปตามๆกัน มาร์จินร่วงลงไปเหลือไม่ถึง 2% หนี้เสียเกิดจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก

เราไม่มีผู้นำที่จะมาใส่ใจกับปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ผมไม่แน่ใจว่าเรามีหรือไม่และพวกเขาทำอะไรกันอยู่?

ในภาพรวมนั้น ชนชั้นนำของประเทศไทยยังไม่เท่าคนที่เป็น top จริงๆของสิงคโปร์ ฮ่องกงและที่แย่คือเนื่องจากคนพวกนี้เป็นกลุ่มและมีความสัมพันธ์กัน จึงไม่มีความรับผิดชอบที่ชัดเจนเกิดขึ้นและมาตรฐานของจริยธรรมคืออะไร ผมสงสัยว่าเป็นอย่างไร?

คนที่บริหารประเทศหลายคนเป็นคนเก่ง แต่พวกเขาถูกตามใจหรือ spoil อย่างมากๆเหมือนกับคนเมาอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากมากเพราะว่าเรามีความสำเร็จมาเป็นเวลากว่า 10 ปีและคนก็ลืมว่าความสำเร็จนั้นมาจากอะไร

การที่จะแยกส่วนที่มาจากเฮงและเก่งนั้นมันแยกยาก!

ผมมองว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรอบนี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างมันเป็นปัญหาที่ค้างๆมาซึ่งเราอาจจะบอกได้ว่าคนเก่าไม่ได้มีการเตรียมการรับมืออย่างดีเท่าใดนักและโดยภาพรวมแล้ว 90% ของคนในประเทศนี้หลงตัวเองจนเกินไป ซึ่งเราก็กำลังจ่ายค่าความหลงตัวเองที่ผ่านมาอยู่

ส่วนโอกาสที่จะแก้ปัญหานั้น ผมยังมองโลกในแง่ดีคือ ในที่สุดมันก็จะต้องมีการแก้ไขจนได้ แต่จะแก้อย่างไรในรูปใดและใครเจ็บมาก เจ็บน้อยเจ็บนานเท่าใด?

ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งเรื่องการขึ้นภาษีรถยนต์ใหม่ 100% ผลกระทบจะมีอะไรบ้างโรงงานผลิตรถใหม่หรือนำเข้ารถคงตายแน่ แต่รถเก่าที่ตอนนี้ถูกยึดมากๆและขายไม่ออกจะทำให้เกิดหนี้เสียในระบบหลาย 100% อันนี้ในทันทีทันใดราคาคงไม่ขึ้นมา 100% แต่คงขึ้นมาอีกหลาย 10% ได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถแก้ปัญหาการจราจรด้วยการจำกัดจำนวนรถสามารถแก้ปัญหาการขาดทุนบัญชีเดินสะพัดเพราะแทบไม่มีการนำเข้าเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลบวกอย่างมากๆคุณสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้รถเก่าจะมีมูลค่าขึ้นมาทันที

ผมแค่ยกตัวอย่าง มันไม่มีปัญหาที่แก้ไม่ได้!

แต่ประเด็นคือ ใครเป็นคนที่มีอำนาจ มีอิทธิพลก่อให้เกิดการตัดสินใจเช่นนี้ขึ้นได้!

เรื่องแบบนี้มีคนได้และคนเสียผลประโยชน์ หากไปพูดกับคนที่เสียประโยชน์ เขาก็ต้องไม่พอใจ หากคุยกับคนที่ได้ประโยชน์ เขาก็ต้องขอร้องให้ทำเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วนี่คืองานของนักการเมือง

ส่วนมีเดียนั้น ผมขอถามว่าคุณใช้มาตรฐานอะไรในการตัดสินว่าการตัดสินใจในระดับนโยบายแต่ละครั้ง อะไรถูกอะไรผิดเพราะทุกคนก็มีกลุ่มที่จะเขียนให้ตัวเอง มีประเด็นที่จะนำเสนอ และนักวิชาการก็มีพวกมีกลุ่มของตัว มันเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่ประชาชนคนหนึ่งที่มีความยุ่งเหยิงในชีวิตปกติอยู่แล้วจะตัดสินใจเองได้ว่า แล้วอะไรถูกอะไรผิด?

โดยระบบประชาธิปไตยที่เรามีอยู่บวกกับสื่อสารมวลชนที่เรามีก็เป็นวิธีการที่เราตกลงว่าใครควรจะมาบริหารประเทศนี้ ซึ่งสิ่งที่มีอยู่นี้บวกกับระบบที่มีอยู่ มันก็คงจะมีการเปลี่ยนแปลงมากไม่ได้ เลือกตั้งกี่ครั้งแม้จะเปลี่ยนคน มันก็ยังกลุ่มเก่า เพราะพรรคการเมืองทำตัวเป็นเหมือน venture capital fund มันมี general partner กับ limited partner คนกลุ่มหลังจะถือว่าเป็นคนที่ contribute ให้กับกองทุนนี้ก็คือนักธุรกิจซึ่งบางคนก็ลงทุนไปทุกๆกอง ส่วน general partner ก็คือพวกนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อมาเป็นรัฐบาลก็แบ่งกำไรไป 20% ที่เหลือก็ส่งต่อให้นักลงทุนระยะยาวไป

ดังนั้นแต่ละพรรคการเมืองก็มีสภาพไม่ต่างจากสินค้าและโดยรวมแล้วก็คือการเข้ามาแบ่งผลประโยชน์ภายในสังคมของเรา ซึ่งหากมีการจัดสรรแบ่งกันตามส่วนจริงๆโดยกระจายไปทั่วประเทศก็ไม่เป็นไร แต่บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เกิดความมั่นใจว่าเรามีผลประโยชน์ระยะยาวอยู่และสิ่งนี้มันมีการเติบโตให้ประเทศมันอยู่ในลักษณะที่ว่าเราสามารถสร้างรายได้เข้ามามากพอที่จะจัดแบ่งกัน ซึ่งตรงนี้ผมรู้สึกว่ามันจะขาดอยู่

ผมคิดว่าในระดับความซีเรียสของปัญหาในประเทศเรานั้น เมื่อเทียบกับคนอื่นที่เขาเจอ ผมคิดว่าเราไม่ใช่คนที่ป่วยหนักที่สุด เราป่วยและครั้งนี้ก็ไม่เบาหรอก เพราะมันเป็นระดับโครงสร้างที่ต้องการการแก้ไขมันต้องใช้เวลาด้วย อย่างน้อยอาจจะปีหนึ่ง

กฎทางเศรษฐศาสตร์เป็นเช่นนี้ ผมหมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นส่วนที่ต้องเกิดขึ้น หากเมืองไทยไม่ผ่านจุดของการปรับตัวแก้ไขตรงนี้เราจะไปสู่ระดับของการเติบโตที่สูงกว่านี้ได้หรือ? เช่นเดียวกับที่ว่าหากอัตราการเติบโตของการส่งออกไม่ลดลงมากอย่างนี้ เราจะมาพูดกันในเรื่องนี้หรือ?

ผมไม่ได้บอกว่ามันดีที่มีคนเจ็บตัว มันอาจจะเป็นลักษณะของ “วัฎสงสาร” ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกประเทศ แต่ที่ประเทศไทยออกจะเสียเปรียบคือเรายังไม่เห็น “ขาขึ้น” และจุดต่ำสุดหรือ bottom ก็อาจจะไม่ลงสุดๆแต่อาจจะยื้อไปอย่างนี้ !!   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us