อาร์.เอส.ฯ ปรับโครงสร้างโพเอม่าใหม่ หวังเป็นหัวหอกรุกสื่อสิ่งพิมพ์ ดึงคนจากค่ายเนชั่นและค่ายบางกอกโพสต์มาร่วมทีม พร้อมตั้งฝ่ายตลาดแยกจากกองตลาดรวม เพื่อลุยงานเต็มที่ ชี้สิ่งพิมพ์ไม่เสี่ยงสูงเหมือนสื่อทีวีและวิทยุที่เป็นระบบสัมปทาน ทุ่มทุน 150 ล้านบาท รีลอนช์ "นิตยสารฟร้อนท์" ใหม่อีกรอบ
นางบุณฑณิก บูลย์สิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โพเอม่า จำกัด ในเครือ อาร์.เอส. โปรโมชั่น เปิดเผยว่า ขณะนี้โพเอม่าได้มีการปรับโครงสร้างและแนวทางการดำเนินงานใหม่ และเปลี่ยนผู้บริหารใหม่เพื่อให้สามารถรุกธุรกิจสิ่งพิมพ์ได้เต็มที่ โดยตนเองเพิ่งเข้ามาดูแลโพเอม่าเมื่อเดือนเมษายนซึ่งเดิมดูแลทางด้านสื่อโฆษณาและการตลาดรวมของบริษัทแม่ และยังมีนายวิบูลย์ วันเกิดผล เข้ามาดูแลทางด้านผู้อำนวยการสายงานการตลาดจากเดิมที่ไม่มีฝ่ายตลาด เพราะใช้ทีมตลาดรวมของบริษัทแม่
ซึ่งนายวิบูลย์นี้มาจากค่ายบางกอกโพสต์ และยังมีนางสาวรัถยา ทองคงเย่า เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารฟร้อนท์ด้วย อดีตเคยเป็น บรรณาธิการบริหารของนิตยสารแฮร์ของกลุ่มเนชั่น ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปตามนโยบายของนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการของ อาร์.เอส.ฯ ที่จะให้ความสำคัญกับธุรกิจสิ่งพิมพ์มากขึ้น
นางสาวบุณฑณิกกล่าวต่อว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์นั้นมีความเสี่ยงน้อยกว่าธุรกิจทีวีหรือโทรทัศน์ แม้ว่าตลาดรวมจะมีมูลค่าน้อยกว่าโดยเฉพาะสื่อประเภทนิตยสารที่มีประมาณ 6,000 ล้านบาท เนื่องจากสื่อทีวีและวิทยุนั้นไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับระบบสัมปทาน แต่สื่อสิ่งพิมพ์นั้นหากสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับหัวนิตยสารได้แล้วก็จะสามารถอยู่ได้ในระยะยาว ทั้งนี้การหันกลับมารุกสิ่งพิมพ์ครั้งใหม่นี้บริษัทฯ ได้ลงทุนกว่า 150 ล้านบาทในช่วง 1-2 ปีนี้ ลงทุนด้านสตูดิโอ ตึกใหม่และบุคลากร และวางเป้าหมายรายได้ของโพเอม่าปีนี้ไว้ที่ 30 ล้านบาท แบ่งเป็นนิตยสาร 95% และพ็อกเกตบุ๊ก 5% ขณะที่ปีหน้าเป้าหมายรายได้ 100 ล้านบาท แบ่งเป็นนิตยสาร 70 ล้านบาท และพ็อกเกตบุ๊ก 30 ล้านบาท ในอนาคตสัดส่วนอาจจะเท่ากันระหว่าง นิตยสารกับพ็อกเกตบุ๊ก
โดยแผนการบุกพ็อกเกตบุ๊กวางแผนจะออกวางแผงประมาณ 3 ฉบับต่อเดือน โดยจะไม่เน้นงานแปลมากนัก ส่วนตลาดนิตยสารนั้น นอกจากการพัฒนาหัวของตัวเองแล้ว อนาคตอาจจะมีการซื้อลิขสิทธิ์หัวนอกโดยเฉพาะในย่านเอเชียเข้ามาทำตลาด แต่เวลานี้ต้องการเน้นหนักและทำตลาดหัวของตัวเองคือ ฟร้อนท์ (FRONT) ก่อน หลังจากที่ได้หยุดวางแผงไป 5 เดือน เพื่อปรับปรุงใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะทำส่วนแบ่งตลาดนิตยสารได้ 5% ในปีหน้าจากตลาดรวมเวลานี้ของนิตยสารประมาณ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเซกเมนต์ผู้หญิง 1,900 ล้านบาท เพราะตลาดมีแนวโน้มเติบโตดี ซึ่งที่ผ่านมาปี 2545 ตลาดนิตยสารผู้หญิงมีประมาณ 1,200 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,400 ล้านบาท เมื่อปี 2546 และปีที่แล้วรวม 1,900 ล้านบาท จากทั้งหมด 35 หัวในตลาดนิตยสารผู้หญิง
สำหรับการเปิดตัวครั้งใหม่ของนิตยสารฟร้อนท์ได้มีการปรับเปลี่ยนใหม่ โดยจะแยกเป็นหัวออกมาอีก 3 ฉบับคือ ฟร้อนท์มินิ ฟร้อนท์ชอปปิ้งและฟร้อนท์เฟม เป็นรายเดือนเริ่มวางแผงวันที่ 5 กรกฎาคมศกนี้ก่อน คือ มินิกับชอปปิ้ง ขายรวมกันช่วงเปิดตัวราคา 90 บาท และช่วงเดือนสิงหาคมจะเริ่มวางแผงมินิกับเฟมคู่กัน โดยตั้งแต่ต้นปีหน้าจะเริ่มแยกขายแต่ละเล่ม และคาดว่าจะคืนทุนประมาณ 2-3 ปี และก้าวขึ้นเป็นท็อปไฟว์ในนิตยสารผู้หญิงให้ได้ภายในปีหน้า
ทั้งนี้เดิมฟร้อนท์มียอดพิมพ์เฉลี่ย 80,000 ฉบับต่อเดือน แต่ขณะนี้จะเพิ่มยอดพิมพ์เป็น 150,000 ฉบับต่อหัวต่อเดือน ความหนาประมาณ 160 หน้าต่อเล่ม และมีส่วนของโฆษณาประมาณ 40% คาดว่ารายได้จากการขายโฆษณาประมาณ 80% ส่วนรายได้จากยอดขาย ประมาณ 20% เดิมมีสมาชิกประมาณ 1,000 กว่าคน จะโอนมาเป็นสมาชิกใหม่โดยอัตโนมัติ จนกว่าจะหมดอายุ โดยเป้าหมายปีหน้าจะมีสมาชิกประมาณ 4,000 คนต่อเล่ม
นายวิบูลย์ วันเกิดผล ผู้อำนวยการสายงานการตลาด กล่าวว่า งบตลาดช่วงแรกตั้งไว้ 120 ล้านบาท โดยจะทำตลาดแบบครบวงจรแบ่งเป็นการสร้างแบรนด์ 70% อีเวนต์ 20% และโปรโมชันกับผู้อ่าน 10% ทั้งการทำซีอาร์เอ็ม การแจกของพรีเมียม ซึ่งในแง่ของการทำตลาดนั้นจะผนึกกำลังกับสื่อที่มีอยู่ในเครือทั้งหมดเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมกับการซื้อสื่อโฆษณาภายนอกด้วย
ส่วนความแตกต่างของทั้ง 3 เล่มคือ ฟร้อนท์มินิ เจาะกลุ่มผู้หญิงเริ่มต้นทำงาน อายุ 20-35 ปี รายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 20,000-55,000 บาทต่อเดือน จะเป็นแนวไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตทั่วไป ขนาดเล่มเล็กเป็นไปตามแนวโน้มตลาด ในต่างประเทศ ส่วนฟร้อนท์ชอปปิ้ง เจาะกลุ่ม คนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปี รายได้เฉลี่ย 12,000-55,000 บาทต่อเดือน เนื้อหาเน้นการชอปปิ้งทั้งราคาและสไตล์ของสินค้าใหม่ๆ และ ฟร้อนท์เฟม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้หญิงที่มีกำลังซื้อสูง อายุ 30-45 ปี รายได้ 55,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป
|