Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2539
สมาคมการตลาดไทยก้าวสู่เวทีโลก ดัน EM AWARD เป็นรางวัลระดับเอเชียแปซิฟิก             
 





จากกระแสโลกที่มีความตื่นตัวในเรื่องของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปเหนือ แม้กระทั่งในอเมริกาต่างก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมกันมาเป็นเวลานานแล้ว ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มิได้เพิกเฉยต่อกระแสดังกล่าว หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์โฆษณาในสื่อต่างๆรวมทั้งผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคต่างก็เริ่มมีการคำนึงถึงสภาวะสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะช่วยกันรักษาให้คงอยู่กับเราไปชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม (GREEN MARKETING)

EM AWARD หรือ ENVIRONMENTAL MARKETING AWARD หรือ “รางวัลการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม” จึงเป็นรางวัลที่ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นประกาศเกียรติคุณขององค์กรต่างๆ ที่ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดอันเป็นการดำรงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรเหล่านั้นคงกิจกรรมอันเป็นประโยชน์นี้ไว้ รวมทั้งเป็นการกระตุ้น และให้กำลังใจแก่บริษัทอื่นที่กำลังจะทำหรือยังไม่ได้ทำให้ได้เริ่มประกอบกิจกรรมอันจะมีส่วนในการรักษาสภาวะแวดล้อมกันมากขึ้นและที่สำคัญเป็นการช่วยสร้างจิตสำนึกให้เกิดแก่ทุกหน่วยในสังคมด้วย

“ในแง่ของวิชาการตลาด เราต้องพยายามกระตุ้นสำนึกของผู้บริโภคให้เข้าใจถึงสภาวการณ์สิ่งแวดล้อมปัจจุบันว่าน่าเป็นห่วงเพียงใด ถึงเวลาจะต้องช่วยกันแล้ว รวมทั้งกระตุ้นทางด้านผู้ผลิตว่า ขณะนี้มีผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ให้ความสนใจแก่สิ่งแวดล้อมแล้ว กลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้ รวมทั้งผู้ผลิตก็จะได้มีชื่อเสียงและได้มีส่วนในการคืนกำไรแก่สังคมด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา กีระนันท์ คณบดีคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะประธานโครงการ

EM AWARD ปี’96 นับเป็นครั้งที่ 3 ของการประกาศรางวัลนี้ ซึ่งในปีนี้ทางคณะกรรมการผู้จัดงานได้เพิ่มรางวัลพิเศษขึ้นอีก 1 รางวัลคือ รางวัลแผนงานประชาสัมพันธ์ดีเด่นที่มีประจำทุกปี

ซึ่งในปีแรกของการประกาศรางวัล EM AWARD นั้นไม่ได้มีการแยกประเภทของรางวัล ดังนั้นผลงานที่ส่งเข้ามาก็จะมีทั้งแผนการตลาดและแผนประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำให้คณะกรรมการตัดสินลำบากมาก เนื่องจากทั้ง 2 แผนนี้ไม่สามารถตัดสินเปรียบเทียบกันได้ ต่อมาในปีที่ 2 จึงกำหนดให้มีแต่รางวัลแผนการตลาดเพียงรางวัลเดียว แต่ก็เกิดปัญหาตามมาอีกว่า มีผลงานส่งเข้าประกวดจำนวนน้อยมาก เนื่องจากแผนประเภทนี้เป็นแผนใหญ่ต้องทำให้ครบวงจรและใช้เวลา ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ทุกบริษัท ในปีที่ 3 นี้คณะกรรมการจึงพิจารณาว่า การที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงความจำเป็น ที่จะต้องรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้างและมองเห็นว่าการประชาสัมพันธ์เป็นวิธีที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายที่สุด

ดังนั้น EM AWARD ปี’96 คณะผู้จัดโครงการจึงได้เพิ่มรางวัลประชาสัมพันธ์ดีเด่นขึ้นอีก 1 รางวัลเพื่อให้บางบริษัทที่ไม่ได้ทำในเรื่องของแผนการตลาด แต่ทำในแง่ของการประชาสัมพันธ์ได้มีโอกาสส่งผลงานเข้าประกวดด้วย

สำหรับรางวัลแผนการตลาดดีเด่นในปีนี้ก็ได้แบ่งออกเป็น 2 รางวัลคือ สำหรับองค์กรที่มียอดรายได้รวมต่อปีต่ำกว่า 500 ล้านบาทและแผนที่ส่งมานั้นจะต้องเริ่มปฏิบัติจริงมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

การประกาศผลการตัดสินจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2540 ณ โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งงานนี้คณะกรรมการผู้ตัดสินต่างก็ทำงานหนัก โดยเริ่มจากการอ่านแผนงานที่ส่งเข้าประกวดทุกแผนงานโดยละเอียดและพิจารณาให้คะแนนตามกติกาที่วางไว้

ส่วนคณะกรรมการที่ทำการตัดสินก็ไม่ใช่ใครอื่นไกลที่ไหนเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อม การตลาดและการประชาสัมพันธ์ โดยแยกเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลประเภทแผนงานการตลาด ได้แก่ สุวัจน์ สงวนวงศ์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล สุดารา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จิระนันท์ พิตรปรีชาและไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติเป็นต้น และคณะกรรมการการตัดสินรางวัลแผนงานประชาสัมพันธ์ ได้แก่ ดร.กันทิมา ธนะโสภณ รองกรรมการผู้อำนวยการ IBC และดร.เสรี วงศ์มณฑา ประธานกรรมการบริหารบริษัท สยามวิชั่น จำกัดเป็นต้น

EM AWARD ไม่หยุดแค่ประเทศไทย

“ขณะนี้เรากำลังผลักดันให้ EM AWARD เข้าไปเป็นกิจกรรมของสหพันธ์สมาคมการตลาดแห่งเอเชียแปซิฟิกหรือ APMA : ASIA PACIFIC MAKETING ASSOCIATION ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสมาชิกของสมาพันธ์นี้ และจากการประชุมที่ซิดนีย์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไทยก็เป็นผู้เสนอโครงการนี้แก่ที่ประชุม ซึ่งหลายฝ่ายก็เห็นด้วยขณะนี้เราก็กลับมาศึกษาในรายละเอียดต่างๆเพื่อจะนำเข้าที่ประชุมอีกครั้งในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ ถ้าทุกอย่างสามารถสรุปได้ และไม่มีอุปสรรคใด เราก็สามารถเริ่มโครงการได้ในปี’97และในปี’98 ก็จะเป็นปีแรกที่มีการประกาศรางวัล โดยประเทศไทยจะเป็นแม่งานของโครงการนี้” สุรินทร์ ธรรมนิเวศ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน เล่าถึงความคืบหน้าของการประกวดแผนงานการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โครงการนี้เป็นโครงการที่สุรินทร์เข้ามาสานต่อหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมการตลาดฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาแม้ว่าเขาเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนี้ได้ไม่นานนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ทราบถึงความเคลื่อนไหวของสมาคมการตลาดฯเลย ที่กล่าวเช่นนี้ก็เนื่องจากสุรินทร์ได้เล่าว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมาเขาได้คลุกคลีอยู่กับสมาคมนี้ในฐานะของที่ปรึกษาสมาคม รวมทั้งยังเคยรับหน้าที่เป็นเลขานายกสมาคมอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ยากนักหากเขาจะสานต่อแนวทางการดำเนินกิจกรรมของสมาคมฯ

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเป็นแค่เลขาสมาคมฯ ตอนนั้นผม ACTIVE อยู่ที่สมาคมโฆษณามากกว่า แต่ทางนี้ก็มีช่วยบ้างเป็นครั้งคราว เช่นสอนหนังสือ เป็นกรรมการตัดสินรางวัลต่างๆแต่คราวนี้จับพลัดจับผลูมาเป็นนายกฯซะเอง” สุรินทร์เล่าอย่างอารมณ์ดี

งานที่เขาจะเข้ามาสานต่อให้แก่สมาคมการตลาดฯนั้นไม่ได้หยุดเพียงแค่การผลักดันให้รางวัลการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นรางวัลของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น หากเขายังมีงานใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าคือการก่อตั้งสหพันธ์สมาคมการตลาดโลก (WORLD MARKETING ASSOCIATION) ซึ่งได้มีการลงนามร่วมสัตยาบันกันไปเรียบร้อยตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อคราวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน ASIA PACIFIC MARKETING CONFERENCE

“โครงการนี้ทางสมาคมฯก็เป็นผู้ริเริ่มและเสนอเข้าที่ประชุมเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสมาชิกจากยุโรปอเมริกาและเอเชียแปซิฟิกต่างก็เห็นด้วย เท่ากับว่าเราได้ก้าวไปสู่เวทีโลกแล้ว เพียงแต่ยังไม่เป็นรูปร่างเท่านั้น ดังนั้นการประชุมครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือนตุลาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ชิคาโกซึ่งทาง AMA : AMERICAN MARKETING ASSOCIATION หรือสมาคมการตลาดของอเมริกาเป็นเจ้าภาพเชิญสมาคมการตลาดทั่วโลกก็จะคุยกันต่อถึงความคืบหน้าหลังจากการประชุมที่เมืองไทยไปแล้ว” สุรินทร์กล่าวและทิ้งความหวังไว้ว่า

“หากโครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จและสามารถทำให้ประเทศไทยเป็นแม่งานในการจัดงานระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ นั่นหมายความว่า ชื่อเสียงของประเทศชาติก็จะตามมาพร้อมกับเม็ดเงินที่จะเข้ามาในประเทศอีกด้วย”   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us