|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
น้ำมันแพงน่ากลัวกว่าอำนาจรัฐ รถร่วม ขสมก.กว่า 5 พันคัน ยืนยัน 1 ก.ค. ขึ้นค่าโดยสาร 2 บาทแน่ ขู่ถ้าโดนจับหยุดเดินรถทั่วกทม. เผยรอรัฐบาลช่วยไม่ไหว กรมการขนส่งฯ ยันขึ้นราคาโดนจับแน่ การบินไทยขึ้นค่าตั๋วในประเทศ 400 บาท เบนซินใกล้แตะ 4 ลิตร 100 หลังปรับราคาอีก 40 สตางค์วันนี้ เผยมาตรการบังคับประหยัด ปิดปั๊ม-ห้างเร็วขึ้น แต่ไม่กล้าปิดทีวีหลังเที่ยงคืน อ้างผลกระทบเยอะ ปรับระบบบัญชีกองทุนน้ำมันทำเรตติ้งพันธบัตรให้ถึงเกรด 2 เอ
นายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้สายการบินต่างๆ มีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันสูงขึ้น บริษัทฯ จึงขอจัดเก็บค่าธรรมเนียมชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) จากผู้โดยสารเพิ่มเติม สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศทุกเส้นทางบิน เรียกเก็บในอัตรา 200 บาท (เที่ยวเดียว) และ 400 บาท (ไป-กลับ) ต่อช่วงบิน (Flight Coupon) จากผู้โดยสารทุกประเภทที่เดินทางด้วยเที่ยวบินของการบินไทยและออกบัตรโดยสารเครื่องบินตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป
สำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศ บริษัทฯ ยังคงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันในอัตราเดิม คือ เส้นทางในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งตะวันออกกลาง เรียกเก็บในอัตรา 15 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 600 บาทต่อช่วงบิน (Flight Coupon) เส้นทางบินระหว่างทวีป (Intercontinental) รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เรียกเก็บในอัตรา 25 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,000 บาทต่อช่วงบิน (Flight Coupon) อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ของราคาน้ำมันกลับเข้าสู่ภาวะปกติ บริษัทฯ จะยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันในส่วนนี้ ซึ่งจะแจ้งให้ทราบต่อไป
รถร่วมขึ้น 2 บาท พร้อมให้จับ
วานนี้ (29 มิ.ย.) ผู้ประกอบการรถร่วมองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เกือบ 200 คัน นำรถจอดประท้วงที่บริเวณหน้าพระบรมรูปทรงม้าและหน้ากระทรวงคมนาคมเพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการปราบปรามรถยนต์สี่ล้อเล็กผิดกฎหมายที่วิ่งทับเส้นทางรถโดยสารที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และยืนยันที่จะปรับขึ้นค่าโดยสารรถร่วมเพิ่มอีกช่วงละ 2 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยไม่รอให้รัฐพิจารณา ซึ่งหากถูกจับจะพร้อมใจกันหยุดเดินรถทันที
นายวิทยา เปรมจิต ตัวแทนผู้ประกอบการชมรมรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.กล่าวว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ รถร่วมของขสมก.กว่า 3,000 คัน และรถมินิบัสกว่า 1,000 คัน จะปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นช่วงละ 2 บาท เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มทุกวันได้อีกต่อไป ในขณะที่แนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาลก็ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน
สำหรับอัตราค่าโดยสารที่จะปรับขึ้นนั้น รถร้อนจะปรับจาก 6 บาท เป็น 8 บาท รถปรับอากาศจาก 9-19 บาท เป็น 11-21 บาทส่วนรถมินิบัสปรับเพิ่มจาก 4.50 บาทเป็น 6 บาท และจะขอปรับเพิ่มอีกช่วงละ 1 บาท หากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นสูงกว่า 2บาทต่อลิตรจากอัตราปัจจุบันที่ราคาลิตรละ 20.59 บาท
"ผู้ประกอบการทั้งหมดเห็นตรงกันว่าอยู่ไม่ได้แล้ว แม้ผิดกฎหมายก็ต้องยอมปรับค่าโดยสาร เพราะหากไม่ขึ้นผู้ประกอบการก็ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถ้าถูกจับก็จะพร้อมใจกันหยุดเดินรถในทุกเส้นทางทั่วกรุงเทพฯ ทันที เรื่องนี้ต้องขอความเห็นใจจากประชาชนด้วย" นายวิทยากล่าว
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้เจรจาขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่กลับไม่ได้รับการพิจารณา ไม่เคยมีการหารือกับผู้ประกอบการอย่างจริงจัง มีแต่ขอผัดผ่อนไม่ให้ปรับค่าโดยสาร ขณะที่ราคาน้ำมันจากลิตรละ 14.59 บาท ขึ้นมาถึงเกือบ 21 บาทแล้ว ส่งผลให้ต้นทุนของรถร้อนสูงถึง 10 บาทต่อคนต่อเที่ยว แฉนักการเมือง-ตำรวจเอี่ยวซูบารุ
ส่วนปัญหารถสี่ล้อเล็ก (ซูบารุ) ผิดกฎหมายวิ่งทับเส้นทางเดินรถเมล์และส่งผลให้รถเมล์ไม่สามารถเข้าจอดตามป้ายได้ นายวิทยากล่าวว่า เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และรัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่มีนักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติอยู่เบื้องหลังแม้จะร้องไปยังบ้านพิษณุโลกก็ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมขอเวลาอีก 1 เดือน ให้รอดูผลการแก้ไขปัญหา หากยังไม่มีแนวทางออกที่ชัดเจน ทางผู้ประกอบการรถร่วมจะกลับมาชุมนุมที่กระทรวงอีก กรมขนส่งฯ ยันจับแน่
นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต อธิบดีกรมการขนส่งทางบกยืนยันว่า หากในวันที่ 1 ก.ค.นี้ตรวจพบว่ามีรถโดยสารประจำทาง รถตู้ รถร่วมของ ขสมก.มีการปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจะต้องถูกจับปรับตามกฎหมาย เพราะขณะนี้กระทรวงคมนาคมยังไม่มีนโยบายให้หน่วยงานใดปรับเพิ่มค่าโดยสาร แต่มีความเป็นไปได้ที่จำเป็นจะต้องพิจารณาให้ปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยภายใน สัปดาห์หน้า กรมการขนส่งทางบกจะสรุปแนวทางความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มค่าโดยสารว่าอัตราที่เหมาะสมจะเป็นเท่าใด แต่การพิจารณาว่าจะให้ปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องในระดับนโยบาย ซึ่งข้อสรุปของกรมฯ จะเป็นเพียงความเห็นหนึ่งเท่านั้น
ส่วนปัญหารถสี่ล้อเล็กผิดกฎหมายเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน และกลายเป็นแหล่งรวมของผู้มีอิทธิพล ทำให้การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลา เป็นโอกาสดีที่จะมีการสังคายนาเส้นทางเดินรถใหม่ เพื่อ ให้สอดคล้องกับถนน ตรอก ซอยที่มีการปรับปรุงขยายเพิ่มขึ้น มีถนนสายใหม่ๆเกิดขึ้นจึงต้องมีการปรับเส้นทางเดินรถให้เหมาะสมกับสภาพถนนที่เปลี่ยนไปด้วย ส่วนการปราบปรามนั้น ในเดือน ก.ค. นี้จะครบกำหนด 3 เดือน ที่นายอดิศร รมช.คมนาคม รับปากที่จะหาทางแก้ปัญหานี้ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมข้อมูลเส้นทางและจำนวนรถที่ผิดกฎหมายซึ่งจะได้ข้อสรุปในวันที่11 ก.ค.นี้ เพื่อประชุมหาทางแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
รถร่วม บขส.ขอขึ้นด้วย
ด้านผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร โดยนางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมฯ ได้นัดประชุมหารือถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอีก 6 สตางค์ต่อกิโลเมตร สำหรับรถโดยสารประจำทางในเส้นทางระยะยาว ส่วนสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทยโดยนายวิโรจน์ วงศ์ธีเรศ เลขาธิการ สมาคม เสนอขอปรับค่าโดยสารรถที่วิ่งในระยะทาง 40กิโลเมตรแรก และไม่เกิน 150 กิโลเมตร ปรับเพิ่มอีก 2 สตางค์ต่อกิโลเมตร ส่วนรถที่วิ่งเกิน 150 กิโลเมตรขึ้นไปปรับเพิ่ม 3 สตางค์ต่อกิโลเมตร
ปตท.ประกาศขึ้นน้ำมันอีก 40 ส.ต./ลิตร
ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันนี้ ราคาขายน้ำมัน ดีเซลและเบนซินขึ้นเพิ่มขึ้นอีกอีกลิตรละ 40 สตางค์ โดยเบนซิน 95 ราคา 24.94 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 91 24.14 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 23.44 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซล 21.39 บาทต่อลิตร ยกเว้นดีเซลของปตท.ที่ยังต่ำกว่ารายอื่น 40 สตางค์ต่อลิตร โดยอยู่ที่ระดับ 20.99 บาทต่อลิตร โดยดีเซลมีการปรับขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่รัฐประกาศลอยตัวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.48 ถึง 8 ครั้ง รวมเป็นการปรับขึ้นแล้ว 3.20 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้แจ้งขอปรับการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เบนซิน 91 ลิตรละ 30 สตางค์จากอัตราเดิม 1 บาทเป็น 1.30 บาทต่อลิตร ทำให้กองทุนมีรายได้เพิ่ม 115 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้การปรับเบนซิน 91 ของผู้ค้าครั้งนี้ได้เพียง 10 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น
เลิกอุ้มดีเซลในเดือน ก.ค.นี้
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การลดการอุดหนุนราคาดีเซลคาดว่าคงจะเร่งทำในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพราะเป็นช่วงที่คาดว่าดีเซลจะมีโอกาสปรับลดลง ขณะที่หากไตรมาส 4 ปกติดีเซลจะเริ่มกลับมาสูงอีกครั้งตามความต้องการที่สูงขึ้น ซึ่งการลดชดเชยดีเซลจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ส่วนการชดเชยก๊าซหุงต้มยังชดเชยอยู่ 2 บาทกว่าต่อกิโลกรัมนั้น ยังเป็นไปตามนโยบายเดิมคือยกเลิกการตรึงราคาภายในเดือนกรกฎาคมนี้
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังศึกษาที่จะเร่งลดการอุดหนุนดีเซลให้เร็วขึ้นซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่ลดการอุดหนุนในส่วนของกองทุนน้ำมัน ฯที่จะปลดล็อกหมดในเดือน ก.ค.นี้ แต่กำลังพิจารณาลดการชดเชยในส่วนของภาษีสรรพสามิตที่นำมาลดตามมติครม.ที่กำหนดชดเชยดีเซล 1 บาทต่อลิตรในเวลา 6 เดือนแรกหลังจากนั้น 4 เดือนหลังจะอุดหนุนเหลือ 50 สตางค์ต่อลิตร โดยส่วนนี้คาดว่าจะลดการอุดหนุนเหลือ 50 สตางค์ต่อลิตรให้เร็วขึ้นใน 1-2 เดือนนี้จากแผนเดิมที่กำหนดเป็นม.ค.49
บังคับประหยัดโขกค่าไฟธุรกิจบันเทิง
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวหลังหารือกับกลุ่มโรงกลั่นว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะไม่ใช้มาตรการควบคุมการนำเข้า แต่ทุกรายจะต้องมีการรายงานผลการนำเข้าและส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ว่ามีอัตราเท่าใดเพื่อทราบมูลค่านำเข้า หากนำเข้าผิดปกติก็อาจมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาแก้ไข แต่ขณะนี้ไม่ได้มีการสั่งให้โรงกลั่นลดนำเข้า 10% แต่อย่างใด
นายเชิดพงษ์กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ โดยจะนำไปรายงานผลการหารือต่อการประชุมระหว่างและนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายวิเศษ จูภิบาล รมว.พลังงาน จะประชุมเพื่อหารือการใช้มาตรการบังคับประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง โดยคาดว่าจะการเพิ่มเวลาปิด ปั๊มน้ำมันเพิ่มเติม จากที่ขณะนี้ปิดปั๊มเวลาหลังเที่ยงคืน (00.00น.-06.00น.) ขณะเดียวกันตนจะเสนอให้เก็บค่าไฟอัตราก้าวหน้าสำหรับธุรกิจฟุ่มเฟือยไม่เกิด ประโยชน์ต่อสังคม ในสถาบันเทิง การปิดห้างสรรพสินค้าเร็วขึ้น การเก็บภาษีรถกระบะดีเซลเพิ่มขึ้น
ถอยไม่ปิดทีวีบังคับประหยัด
นายเมตตากล่าวว่า มาตรการบังคับประหยัด ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ แต่แนวทางคงจะเลือกมาตรการมาใช้ 2-3 มาตรการ เพื่อปลุกกระแสประหยัด โดยมาตรการจะเลือกจากกรอบที่เคยหารือกันไว้และเน้นหนักไปที่การประหยัดน้ำมัน และอาจจะมีกรณีของไฟฟ้าที่จะส่งผลให้มีการประหยัดน้ำมันภาพรวมเข้ามาด้วย ส่วนการบังคับปิดทีวีหลังเที่ยงคืนนั้น คงจะไม่นำมาใช้เพราะกระทบหลายฝ่าย แต่จะเลือกมาตรการที่มีผลต่อการประหยัดน้ำมันมากๆ
ปรับบัญชีทำเรตติ้งบอนด์น้ำมัน
สำหรับการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วานนี้ (29 มิ.ย.) ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางในการส่งเสริมการออกพันธบัตรน้ำมันวงเงินรวม 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยออกล็อตละ 2 หมื่นล้านบาท ในระยะ 5 ปี 2 แนวทางสำคัญ ทั้งนี้เพื่อหวังนำไปสนับสนุนให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือเรตติ้งต่อการออกบอนด์น้ำมันของบ.ทริสเรทติ้ง จำกัด มีเรตติ้งที่ดีโดยคาดหวังในระดับ AA เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ
สำหรับแนวทางที่ 1. ได้อนุมัติขอแก้ระเบียบการเงินของกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง (กท.) ซึ่งเดิมระบบบัญชีกองทุนจะแยกเป็นบัญชีรายจ่าย และรายรับ แต่ต่อมารัฐบาลมีการตรึงราคาน้ำมันส่งผลให้การส่งเงินเข้ากองทุนระยะเวลา 10 วัน แต่การจ่ายให้แก่เอกชนใช้เวลาเป็นเดือนซึ่งทำให้ล่าช้าจึงมีการหักลบกลบหนี้กันไป แต่วิธีดังกล่าวจะมีแต่เงินไหลออกจึงจะทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจซื้อบอนด์ได้ ดังนั้น จึงขอให้กลับไปทำบัญชีเหมือนเดิม
"เพื่อให้นักลงทุนดูบัญชีง่ายๆ ก็ขอกลับไปทำอย่างเดิมซึ่งจะส่งต่อไปยังผู้ปฏิบัติคือกรมสรรพสามิต วิธีนี้ก็จะพอดีกับการที่จะไปอธิบายให้กับนักลงทุนได้ทันในสัปดาห์หน้า" นายเมตตากล่าว
แนวทางที่ 2 .ได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการจัดทำบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 บัญชีเป็นบัญชีพิเศษเพื่อชำระหนี้คืนบอนด์ จากเดิมที่มีอยู่ 3 บัญชีได้แก่ 1. บัญชีรายรับของกองทุนน้ำมัน 2. บัญชีรายจ่ายของทุนน้ำมัน และ 3. บัญชีรายรับจากการขายบอนด์ ซึ่งขณะนี้เปิดไว้แล้วรอการจำหน่ายบอนด์ก็จะมีเงินเข้าบัญชีเป็นรายรับทันที ทั้งนี้วิธีดังกล่าวจะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถไถ่ถอนตามอายุบอนด์ได้
นายเมตตากล่าวว่า การออกบอนด์ 8.5 หมื่นล้านบาท อายุ 5 ปี เพื่อนำมาใช้หนี้คืนเงินกู้แก่สถาบันการเงินที่กองทุนฯ กู้มารวม 6.3 หมื่นล้านบาท ในการนำไปตรึงราคาน้ำมันที่ผ่านมา โดยจะเหลือวงเงินจากการออกบอนด์ 2.2 หมื่นล้านบาท ก็จะนำมาบริหารในการตรึงราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตามนโยบายรัฐบาลชัดเจนว่าจะเลิกชดเชยดีเซลในสิ้นปีนี้ และจะลอยตัวก๊าซหุงต้มในช่วงก.ค. ก็จะทำให้มีเงินหมุนเวียนเพื่อบริหารหนี้ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ซึ่งปัจจุบันรายจ่ายของกองทุนฯ หลักๆ ตรึงดีเซล
|
|
 |
|
|