|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2539
|
|
LONDON METAL EXCHANGE (LME) ตลาดโลหะแห่งลอนดอน ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 120 ปีที่แล้วและเป็นตลาดศูนย์กลางการซื้อขายโลหะที่ไม่มีส่วนผสมของเหล็ก (NON-FEROUS METAL) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หนึ่งในโลหะประเภทนี้ที่ซื้อขายกันที่นี่ก็คือทองแดง
เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (FUTURE CONTRACTS) ทั้งโลหะประเภททองแดงและอื่นๆอีก 5 ชนิดคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 62.5 ล้านล้านบาท
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาเริ่มปรากฎการเก็งกำไรให้เห็นมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะในช่วงเวลานั้นตลาด LME ได้ยกฐานะตัวเองขึ้นเป็นตลาดระหว่างประเทศอย่างเต็มตัว ซึ่งจะเห็นได้จากสัดส่วนสมาชิกของตลาดที่เป็นบริษัทนอกเกาะอังกฤษถึง 9 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมด
ในปี 1985 ตลาดเริ่มสั่นคลอน เมื่อสมาชิกตลาดประสบภาวะขาดทุนจากการซื้อขายดีบุกเป็นเงินรวมกันถึง 780 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 19,500 ล้านบาท) โดยราคาดีบุกดิ่งลงอย่างรุนแรง จนเป็นผลให้ตลาดดีบุกต้องปิดตายลงจนถึงปี 1989
และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตลาดถูกเขย่าอีกรอบแต่ครั้งนี้เป็นทองแดง โดยเทรดเดอร์อาวุโสรายหนึ่งของบริษัทผู้ผลิตทองแดงยักษ์ใหญ่ของโลก โคเดลโค (CODELCO) เกิดขาดทุนจากการซื้อขายทองแดงที่ไม่ถูกต้องตามครรลอง (UNAUTHORIZED TRADE) เป็นเงินถึง 170 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4,250 ล้านบาท)
ในช่วงปี 1991 และ 1993 ตลาดได้ตรวจพบการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายน่าสงสัยของเทรดเดอร์ของบริษัทซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ทว่า ไม่มีการดำเนินการใดๆเกิดขึ้น โดยทางการ LME กล่าวอ้างว่าได้ส่งเรื่องไปยังเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงแล้วซึ่งหลายฝ่ายได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบและยังเป็นการสร้างรอยด่างให้แก่ตลาดอีกด้วย
หลังเกิดเรื่องทาง LME ได้ปรับเพิ่ม INITIAL MARGIN พร้อมทั้งอนุญาตให้โบรกเกอร์รักษา POSITION ของตนเองด้วยการเรียก CALL MARGIN เพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็พุ่งเป้าไปที่สถาบันการเงิน เพื่อดูแลและควบคุมให้ตลาดทำงานไปได้อย่างราบรื่น ดังที่ ราจ บากรี (RAJ BAGRI) ประธานตลาด LME กล่าวไว้ว่า การหลีกเลี่ยงการหลอมละลายของตลาดเป็นเจตจำนงที่ต้องการให้ตลาดมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
ความพยายามนี้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เล่นในตลาดได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะมีหลายฝ่ายที่ยังเคลือบแคลงถึงอำนาจหน้าที่ของ LME ในการดูแลสอดส่องการซื้อขายในตลาดอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ทางผู้บริหารระดับสูงของโคเดลโคได้ร้องเรียนว่า การที่ตลาดมีโครงสร้างหละหลวมได้กลายเป็นแรงจูงใจให้เทรดเดอร์คิดไม่ซื้อขึ้น แม้แต่บริษัทชิลีที่มีระบบการควบคุมภายในที่แน่นหนา ก็อาจจะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเพราะมันอาจให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามากกว่าด้านผู้ใช้อะลูมิเนียมก็หันมาพนันขันต่อราคาในตลาดโลหะที่มีผู้เล่นใหญ่ๆเพียงไม่กี่รายครอบงำตลาดอยู่ทำให้การสร้างราคาทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
ตลาด LME ถึงคราวสั่นสะเทือนอีกครั้งเมื่อราคาทองแดงดิ่งลงอย่างไม่ลืมหูลืมตาหลังการเปิดโปงพฤติกรรมของยาสุโอะ ฮามานากะ หัวหน้าเทรดเดอร์ผู้ทรงอิทธิพลของซูมิโตโมที่ขาดทุนจากการซื้อขายทองแดงถึง 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 45,000 ล้านบาท) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาและเหตุการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาจนหลายฝ่ายวิตกว่า สถานะความเป็นสากลของตลาด LME อาจจะถึงกาลอวสานแล้ว
ปัจจุบัน LME กำลังค้นหาตัวเองภายใต้ขอบเขนกฎระเบียบที่มีอยู่อย่างจำกัด ในวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการการลงทุนและหลักทรัพย์ (SIB) ของอังกฤษ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลตลาดการเงินลอนดอน กล่าวว่าคณะกรรมการมีความตั้งใจที่จะทบทวนบทบาทของตลาด LME และตลาดโลหะทั่วไปตามคำเรียกร้องของประธานตลาด LME โดยจะมีการตรวจสอบในเรื่องกฎระเบียบและกระบวนการของตลาด ตลอดจนถึงวิธีการดูแลติดตามการซื้อขายในแต่ละวันของตลาด นอกจากนี้ยังจะเข้าไปดูเรื่องของกฎระเบียบการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าและสัญญาสิทธิโลหะ (METAL FUTURES & OPTIONS) รวมถึงการซื้อขายที่เกิดขึ้นนอกตลาดหรือตลาดโอทีซีด้วย และผลของการทบทวนนี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินว่าตลาด LME จะรักษาสถานภาพความเป็นศูนย์กลางการซื้อขายโลหะของโลกไว้ได้ต่อไปหรือไม่
การดำเนินการครั้งนี้ SIB คาดว่าจะใช้ระยะเวลาเพียง 6 เดือนโดยจะมุ่งประเด็นไปที่คำถาม 2 ข้อด้วยกันคือ 1. ทำอย่างไรจึงจะให้การซื้อขายโปร่งใสมากขึ้น หนทางหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้ก็คือ อาจจะยกเลิกกฎระเบียบที่ให้มูลค่าของสัญญาเพิ่มขึ้นจากมูลค่าในอดีต แทนที่จะอิงมูลค่าตลาดปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขบางประการ หรืออีกวิธีหนึ่งอาจจะบังคับให้สมาชิกของตลาดให้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของบริษัทให้มากขึ้น นอกเหนือจากนี้ LME ยังต้องพยายามเอาชนะด้วยการดึงธุรกิจที่กำลังออกนอกลู่นอกทางให้กลับเข้าสู่กรอบของตลาด เพราะนั่นจะทำให้การสอดส่องดูแลตลาดโดยรวมทำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้สำเร็จได้ยาก
ส่วนคำถามที่ 2 นั้นจะมุ่งไปที่วิธีการพิจารณาพิพากษาของ LME ต่อบริษัทที่มิใช่สมาชิก เพราะหากมิใช่ LME แล้วใครจะเป็นผู้จับตาดูบริษัทที่ซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ซึ่งจดทะเบียนในตลาดและบริษัทเหล่านั้นยังมีพลังผลักดันให้ราคาเคลื่อนไหวได้ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจดทะเบียนของตลาด? ซึ่งคำถามนี้ตอบได้ไม่ง่ายนัก
ในท้ายที่สุดแล้ว SIB จะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นโดยจะต้องปรับปรุงความน่าเชื่อถือในตลาด ทว่ากฎระเบียบที่มากเกินไปอาจจะทำให้ธุรกิจหายไปจากตลาดลอนดอน “สิ่งที่เรากำลังมองอยู่ไม่ใช่การปฏิรูปแต่เป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น” เดวิด คิง ผู้บริหารระดับสูงของ LME กล่าวสรุปปิดท้าย
|
|
|
|
|