ในช่วงเดือนมิถุนายน 1996 วงการการเงินระหว่างประเทศก็ต้องตกอยู่ในอาการช็อกอีกครั้งเมื่อปรากฎข่าวการขาดทุนของบริษัทเทรดดิ้งด้านอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น จากการค้าสัญญาล่วงหน้าและสัญญาสิทธิทองแดง (Copper Futures & Option) ในตลาดโลหะลอนดอน (London Metal Exchange : LME) เป็นเงินสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 45,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับการขาดทุนของอิกูชิเทรดเดอร์ค้าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแห่งธนาคารไดวาจำนวน 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 27,500 ล้านบาท) หรือแม้แต่กรณีการขาดทุนของธนาคารแบริ่งสจากการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ SIMEX มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 32,500 ล้านบาท) ด้วยฝีมือของนิโคลัส ลีสันจนเป็นเหตุให้ธนาคารเก่าแก่กว่า 2 ศตวรรษของอังกฤษถึงขั้นปิดกิจการและขายสินทรัพย์ทั้งหมดให้กับ ธนาคาร ING สัญชาติดัชต์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1995 ที่ผ่านมา
กรณีอื้อฉาวทางการเงินนี้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเพียง 16 เดือนหลังจากที่ธนาคารแบริ่งส์ล้มละลายและในครั้งนี้เป็นฝีมือของ ยาสุโอะ ฮามานากะหัวหน้าทีมเทรดเดอร์วัย 48 ปีซึ่งมีหน้าที่ซื้อขายทองแดงในตลาดระหว่างประเทศเพื่อนำไปขายต่อให้แก่บริษัทในเครือของซูมิโตโมและบริษัทอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเขาได้ทำหน้าที่นี้ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 23 ปี
ฮามานากะถือเป็นเทรดเดอร์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและทรงอิทธิพลอย่างมากในตลาดทองแดงระหว่างประเทศเพราะในแต่ละปีซูมิโตโมโดยฝีมือของฮามานากะจะเข้าไปซื้อทองแดงจากตลาดโลกเป็นปริมาณที่สูงมากเฉลี่ยตกปีละ 800,000 ตันขณะเดียวกันซูมิโตโมยังเป็นผู้กุมซัปพลายทองแดงของโลกอยู่ถึง 8% ซึ่งไม่รวมถึงส่วนแบ่งที่มีอยู่ในตลาดจีน และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก
ความเชี่ยวชาญในการค้าทองแดงของฮามานากะเป็นที่ยอมรับของบุคคลในวงการเป็นอย่างมาก ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยพูดไว้ว่า ซูมิโตโมมีความเชี่ยวชาญอย่างเยี่ยมยอดในการบริหารความเสี่ยงด้วยการซื้อขายทองแดง
ด้วยกลยุทธ์การซื้อขายที่หนักหน่วงทั้งในด้านปริมาณและราคา ทำให้เขาสามารถสยบคู่ต่อสู้ทุกรายได้อย่างราบคาบ ฮามานากะได้ชื่อว่าเป็นเทรดเดอร์ผู้ซึ่งไม่เคยปราณีคู่ต่อสู้ บีบคั้นคู่แข่งด้วยคำสั่งซื้อ-ขายจำนวนมหาศาลจนทำให้เขากลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลครอบงำตลาดขณะเดียวกันเขายังใช้วิธียืมมือโบรกเกอร์เล็กๆเป็นแหล่งเงินทุนในการซื้อขาย เช่นกลุ่ม Winchester Commodity โบรกเกอร์อังกฤษที่เริ่มดำเนินกิจการเมื่อปี 1991 แต่ในปี 1994 บริษัทสามารถจ่ายเงินให้แก่พนักงานเป็นจำนวนถึง 55 ล้านปอนด์หรือ 84 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,100 ล้านบาท) เช่นเดียวกับบริษัทโบรกเกอร์อเมริกัน Global Minerals and Metals Corporation ที่กลายเป็นช่องทางในการทำมาหากินของฮามานากะในช่วงกลางปีที่แล้ว (1995) แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ตาม
นอกจากนี้ในวงการยังได้เรียกขานเขาว่า ‘Mr 5%’ ทั้งนี้เพราะเขาและลูกทีมกุมส่วนแบ่งตลาดทองแดงโลกไว้ได้ไม่น้อยกว่า 5% ของตลาดรวมทั้งหมด จากบทบาทดังกล่าวของเขาจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม ฮามานากะจึงสามารถกระทำในสิ่งที่โลกตะลึงได้
ด้วยความที่เป็นคนมุมานะในการทำงานจนถึงขั้นเรียกว่า “บ้างาน” ซึ่งบ่อยครั้งเขาทำงานอยู่จนถึงตีสามเพื่อทำธุรกรรมในตลาดนิวยอร์กและลอนดอน ดังนั้นเขาจึงเป็นคนที่สร้างกำไรที่เป็นกอบเป็นกำจำนวนมหาศาลให้กับบริษัทอย่างน้อยก็บนแผ่นกระดาษ ซึ่งเป็นผลให้คงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นี้อย่างต่อเนื่องยาวนานไม่ได้มีการโยกย้ายเหมือนผู้บริหารคนอื่นและในบัญชีของเขายังแสดงให้เห็นว่าแผนกของเขามีเงินสดสำรองมากกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงไม่มีใครอาจหาญเข้าไปตรวจสอบการทำธุรกรรมของเขาอย่างใกล้ชิดมากนักในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
อำนาจหน้าที่ที่ไม่ธรรมดาที่เขาได้รับมอบหมายจากบริษัท ตลอดจนความหละหลวมในการตรวจสอบดูแล ได้กลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เขาสามารถลักลอบทำสมุดบัญชีขึ้นมา 2 เล่ม เล่มหนึ่งแสดงถึงผลกำไรที่งดงามจากการซื้อขายทองแดงรวมทั้งสัญญาล่วงหน้าและสัญญาสิทธิทองแดง ขณะที่อีกบัญชีหนึ่งเป็นตัวเลขบันทึกการขาดทุนเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่มีใครล่วงรู้ถึงเรื่องดังกล่าวเลย
“ฮามานากะเป็นคนที่มีชื่อเสียงมากจากธุรกิจที่เขานำเข้ามาให้แก่ตลาด เขาเป็นคนที่ได้รับมอบหมายหน้าที่อย่างใหญ่หลวงจากบริษัทของเขาและก็มีเพียงเจ้าหน้าที่ทางการนอกญี่ปุ่นเท่านั้นที่จับตาดูแลเขา” เคนิชิ โยชิดะ นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยนิกโก้ กล่าว
ผลจากการขาดทุนจำนวนมหาศาลครั้งนี้ทำให้ภาพพจน์ของฮามานากะจากเจ้าพ่อเขี้ยวลากดินในตลาดทองแดงกลายเป็นเทรดเดอร์ที่ไร้ฝีมืออย่างไม่น่าเชื่อทั้งนี้เพราะตลาดโลหะเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็กมาก ยิ่งไปกว่านั้นอิทธิพลของซูมิโตโมในตลาดทองแดงที่สั่งสมมาตั้งแต่เข้าวงการใหม่ๆในศตวรรษที่ 17 ก็มากจนไม่อาจหาใครเทียบได้ ดังนั้นการซื้อขายจนขาดทุนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 45,000 ล้านบาทจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก
หลังจากความลับของฮามานากะที่เก็บงำไว้เป็นระยะยาวนานกว่า 10 ปีถูกเปิดโปงออกมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนโดยบริษัทเทรดดิ้งรายใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า SOGO SHOSHA ส่งผลให้ราคาทองแดงในตลาดดิ่งลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วและภายหลังจากนั้นบริษัทต้นสังกัดซูมิโตโม โดยประธานบริษัทก็ได้ออกมาประกาศยอมรับการขาดทุนอย่างเป็นทางการในงานแถลงข่าวประจำปีที่โตเกียวเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาทองแดงในตลาดโลกดิ่งลงถึง 15% ทั้งๆที่ ประธานบริษัท อะกิยามายืนยันว่าเงินที่สูญไป 45,000 ล้านบาทนี้ไม่ได้ทำให้บริษัทถึงกับต้องล้มละลายเหมือนอย่างแบริ่งส์ที่ประสบชะตากรรมนั้น ทั้งนี้เพราะบริษัทมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นมากถึง 50 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,250,000 ล้านบาททีเดียว
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่าเม็ดเงินจำนวน 45,000 ล้านบาทอาจจะไม่ใช่จำนวนเงินจริงที่ซูมิโตโมขาดทุนเพราะหลังจากที่บริษัทประกาศเรื่องนี้ให้สาธารณชนได้รับทราบราคาทองแดงได้ดิ่งลงอย่างรุนแรง ซึ่ง ณ เวลานี้ยังไม่มีใครทราบว่าซูมิโตโมจะขาดทุนจากสัญญาล่วงหน้าที่มีอยู่ในมือเพิ่มขึ้นเป็นเงินเท่าไหร่และบริษัทเองก็ไม่ได้บอกกล่าวในเรื่องนี้เพียงแต่อ้างว่าบริษัทไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวเท่านั้น แต่การที่บริษัทยกเลิกแผนการที่จะซื้อหุ้นคืนในจำนวน 20 ล้านหุ้นและระงับโบนัสที่จะให้แก่ผู้จัดการอาวุโสเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบริษัทจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อนำมาอุดการขาดทุนครั้งนี้
ประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังการขาดทุนที่เกิดขึ้นรวดเร็วราวสายฟ้าแลบในตลาดระหว่างประเทศนี้คือว่าบทบาทและอิทธิพลของซูมิโตโมในตลาดทองแดงโลกจะถึงกาลอวสานหรือไม่ และการซื้อขายเป็นจำนวนเงินมหาศาลนี้ได้รับการสอดส่องดูแลจากหน่วยงานรัฐบาลและบริษัทผู้ค้าเอง โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นดีเพียงพอหรือไม่
ในวันแถลงข่าวประจำปีของบริษัทซูมิโตโมที่สำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียวเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โตมิอิชิ อากิยามาประธานบริษัทได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยาสุโอะ ฮามานากะก็ถูกไล่ออกจากงานในข้อหาดำเนินการทำธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่มาเป็นระยะเวลาถึง 10 ปีโดยทำบริษัทขาดทุนเป็นจำนวนเงินถึง 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การทำธุรกิจ 2 ทางของฮามานากะเริ่มเผยให้เห็นเมื่อเดือนธันวาคม 1995 เมื่อสำนักงาน COMMODITY FUTURES TRADING COMMISSION (CFTC) ของสหรัฐและ SECURITIES AND INVESTMENT BOARD (SIB) ของอังกฤษซึ่งมีหน้าที่ดูแลตลาดสินค้าโภคภัณฑ์นิวยอร์กและลอนดอน ขอความร่วมมือไปยังซูมิโตโมให้สืบสวนเกี่ยวกับเรื่องการสร้างราคาทองแดงที่ต้องสงสัย ในเวลาต่อมาทางซูมิโตโมก็ได้เริ่มต้นสืบสวนภายในบริษัทของตนเอง
อะกิยามา กล่าวอ้างว่าผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทได้ตรวจพบการทำธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนในต้นเดือนพฤษภาคม โดยมีการส่งเงินจำนวนหนึ่งไปยังธนาคารต่างประเทศที่ไม่เปิดเผยชื่อแห่งหนึ่ง ซึ่งอะกิยามา กล่าวว่าการซื้อขายครั้งนั้นมีมูลค่าไม่มากนัก แต่รายงานชิ้นนั้นเป็นเสมือนการกรุยทางไปยังสำนักงานของฮามานากะ ที่ชั้น 3 ของสำนักงานใหญ่ข้างพระราชวังอิมพีเรียลในกรุงโตเกียวและในวันที่ 9 พฤษภาคมบริษัทได้มีคำสั่งย้ายฮามานากะไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของแผนก NON-FEROUS METALS DIVISION ทันทีโดยทำเสมือนหนึ่งเป็นการเลื่อนตำแหน่ง
ในวันที่ 5 มิถุนายน ฮามานากะก้มหัวคารวะยอมรับอย่างจำนนและสารภาพต่อผู้บริหารของบริษัทว่าเขาได้กระทำการซื้อขายโดยไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อพลิกฟื้นการขาดทุนที่พอกพูนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆแต่ก็เป็นความพยายามที่ไร้ความหมายพร้อมกันนั้น ฮามานากะยังได้แสดงรายละเอียดบันทึกการทำธุรกรรมที่เก็บเป็นความลับให้แก่ผู้บริหารของบริษัทด้วย
“มันอยู่นอกสมุดบัญชีการซื้อขายและบริษัทเองก็คิดไม่ออกว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะมันถูกเก็บไว้อย่างแยบยลมาก” อะกิยามากล่าว
ในกลางเดือนพฤษภาคม กลุ่มบริษัทสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มเทขายทองแดงออกมาโดยคาดการณ์ว่า ซูมิโตโมจะเข้ามารองรับและพยุงราคาไว้เหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่การณ์กลับตาลปัตร ภายในระยะเวลาเพียง 4 วันราคาทองแดงดิ่งลงถึง 15% ตลาดทองแดงระหว่างประเทศตกอยู่ภาวะโกลาหล
ทำอย่างไรเขาจึงปิดบังไว้ได้ถึง 10ปี?
ในฐานะประธานบริษัทอะกิยามา ยอมรับว่าฮามานากะเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและมีความชำนาญในงานอย่างชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่งและนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่ได้ถูกย้ายไปทำหน้าที่อื่นเลยนับตั้งแต่ที่เขาเข้ามาทำงานในบริษัทนี้
ความสำเร็จที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนที่เกิดจากฝีมือระดับพระกาฬของฮามานากะคือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเขาสามารถรักษาระดับราคาทองแดงไว้ในระดับสูงได้โดยไม่ต้องอิงอยู่กับความเป็นจริงทั้งๆที่ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานอยู่ในภาวะที่ตกต่ำมาเป็นเวลาช้านานแล้ว “ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ราคาทองแดงได้ขยับตัวสูงขึ้นอย่างที่หลายคนไม่อาจเข้าใจได้ แต่ในที่สุดเราก็ได้กลิ่น” นิคมอร์ นักวิเคราะห์จาก FLEMING GLOBAL MINING GROUP ในลอนดอนให้ความเห็น
การที่ราคาทองแดงอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ เป็นเสมือนแรงจูงใจกระตุ้นให้ผู้ผลิตโลหะหันมาเปิดเหมืองใหม่เพิ่มมากขึ้นจนเป็นผลให้ทองแดงล้นตลาดโลกและตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม ราคาทองแดงเริ่มไหลรูดลงประมาณ 25% จนถึงระดับ 2,145 เหรียญสหรัฐต่อตัน(เป็นเงินไทยประมาณ 53,625 บาทต่อตัน) ซึ่งมีนักวิเคราะห์พยากรณ์ว่า ผู้ผลิตใหญ่ๆหลายรายอาจจะต้องสั่งปิดการผลิตลงอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวเป็นที่จับตามองของทางการสหรัฐฯและอังกฤษ ซึ่งทั้งสองบริษัทอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนในทางอาญาในอังกฤษ มีการประกาศทบทวนกฎระเบียบของตลาดโลหะเพราะพนักงานสอบสวนต้องการรู้คำตอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าฮามานากะทำขาดทุนไปได้อย่างไร และมีการขาดทุนในช่องทางไหนบ้างและเขาสามารถซุกซ่อนไว้ได้อย่างไรและบริษัทรู้อะไรบ้างและเมื่อไหร่
ด้านซูมิโตโมอ้างว่า บริษัทได้เคยตรวจพบการซื้อขายที่ไม่ถูกต้องตามครรลองของฮามานากะครั้งหนึ่ง และก็ได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯและอังกฤษในทันทีต่อมาผู้บริหารของบริษัทจำนวนหนึ่งได้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ (มิติ) ของญี่ปุ่นพร้อมทั้งได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯและอังกฤษ ก่อนที่จะตัดสินใจจัดแถลงข่าวขึ้นอย่างเป็นทางการในปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
มีการตั้งข้อสังเกตว่าการตัดสินใจยอมรับผิดในเวลาอันรวดเร็วเมื่อเทียบกับกรณีของธนาคารไดว่าเพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นเหมือนกับที่เกิดกับไดวา ซึ่งทางการสหรัฐฯได้สั่งปิดการดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯทั้งหมด เนื่องจากธนาคารได้ปิดบังกิจกรรมที่ไม่สุจริตของเทรดเดอร์หลังจากที่ทราบเรื่องแล้วหลายเดือน
“ซูมิโตโมบอกว่า บริษัทได้ตรวจพบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนแต่ก็รอเวลาตั้งอาทิตย์ครึ่งจึงประกาศให้สาธารณชนรับทราบ พวกเขาต้องการประวิงเวลาเพื่อคำนวณยอดขาดทุนและการที่ออกมาแถลงข่าวก่อนหน้าหลายวันเพราะต้องการป้องกันไม่ให้ราคาทองแดงตกลงไปตามกระแสข่าวลือและความไม่แน่นอนไปมากกว่านี้” โตโมยาสุ คาโตะนักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยโนมูระ ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของบริษัทซูมิโตโมแสดงทัศนะอย่างไม่ค่อยสบอารมณ์นัก
ประมาณปลายเดือนเมษายน 1996 ทั้ง SIB และ CFTC ได้เริ่มเข้าไปตรวจสอบตลาดทองแดง โดยพยายามเข้าไปกดดันราคาในตลาดซื้อขาย ณ เวลานั้น (Spot Market) ด้วยการจำกัดอุปสงค์ของทองแดงและเมื่อสามารถควบคุมจุดนี้ได้แล้ว จึงมีการมุ่งประเด็นไปที่บริษัทญี่ปุ่น ซึ่งซูมิโตโมเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญโดยเฉพาะเรื่องการสร้างราคาทองแดงก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1991 ทางซูมิโตโมได้รับคำเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อขายทองแดงจากเจ้าหน้าที่ทางการต่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจาก LME ได้รับการร้องเรียนจากโบรกเกอร์รายหนึ่ง DAVID THRELKELD ว่าฮามานากะได้ขอร้องให้เขาออกใบเรียกเก็บเงิน ซึ่งไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริงและในปี 1994 ซูมิโตโมได้รับการติดต่อจากทางการอังกฤษถึงพฤติกรรมของฮามานากะอีกครั้ง ในระหว่างการสืบสวนมีการล้วงลึกลงไปถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มวินเชสเตอร์ กับนักค้าทองแดงของโคเดลโค (CODELCO) บริษัทผู้ผลิตทองแดงยักษ์ใหญ่ของชิลี แต่ไม่ปรากฎหลักฐานการกระทำผิดแต่อย่างใด ทว่าจากการสืบสวนของ Securities and Futures Authority (SFA) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของอังกฤษกลับพบว่ากลุ่มวินเชสเตอร์สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมากจากการทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ให้กับซูมิโตโม
ด้านซูมิโตโมเองก็ทราบดีว่าบริษัทของตนตกเป็นเป้า แต่สิ่งที่บริษัทดำเนินการก็คือการโยกย้ายฮามานากะไปยังฝ่ายอื่นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม และต่อจากนั้นก็ไม่มีการสืบสวนหรือค้นหาความจริงให้ลึกซึ้งลงไป ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่ทางการอังกฤษจึงได้ติดต่อมายังกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นซึ่งเป็นหน่วยงานสูงสุด ซึ่งวิธีนี้ดูเหมือนจะได้ผลเพราะในวันที่ 5 มิถุนายน บริษัทก็ตรวจพบการขาดทุนของฮามานากะ แต่อย่างไรก็ตามหากมีการสร้างราคาเกิดขึ้นจริง น่าจะเป็นวิถีทางที่ทำเงินให้แก่บริษัทมากกว่าขาดทุน
การที่ฮามานากะสามารถปกปิดการขาดทุนของเขาไว้ได้ถึง 10 ปีทั้งๆที่มีอำนาจในการสั่งซื้อและชำระด้วยตนเอง มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประการคือประการแรก ฮามานากะอาจจะสามารถโน้มน้าวใจให้บริษัทเชื่อว่าบริษัทมีทองแดงอยู่ในมือทั้งๆที่ไม่มีอยู่เลย ซึ่งวิธีการนี้อาจจะมีการทำสัญญาลับๆกับบริษัทภายนอกส่วนอีกประการหนึ่งมีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าฮามานากะใช้วิธีกู้ยืมเงินเพื่อนำมาอุดการขาดทุนของเขา ทั้งนี้เพราะเขาสามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารหลายแห่งโดยไม่ต้องขออำนาจจากผู้บริหารระดับสูงของซูมิโตโมเลย ซึ่งวิธีนี้ทำให้เขาสามารถจ่ายเงินค้ำประกันที่เขาจะต้องนำไปวางที่ LME เพื่อปิดบังสถานะที่ขาดทุนหรือเพื่อใช้ซื้อทองแดง
ผู้บริหารของซูมิโตโมอ้างว่าที่ผ่านมาพวกเขาทราบแต่เพียงว่ากิจกรรมของฮามานากะไม่ค่อยโปร่งใสนัก แต่ไม่เคยล่วงรู้มาก่อนเลยว่าฮามานากะเปิดบัญชีถึง 2 เล่มในลอนดอน คือที่เมอร์ริล ลินซ์และที่รูดอล์ฟ วูลฟฟ์ (RUDOLF WOLFF) บริษัทโบรกเกอร์สินค้าโภคภัณฑ์และในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทได้ปิดบัญชีทั้ง 2 แห่งหลังจากที่ทราบเรื่อง ทว่าในวันที่ 17 มิถุนายน เมอร์ริล ลินซ์ได้ออกมากล่าวว่าบัญชีทั้งหมดที่ซูมิโตโมทำขึ้นกับบริษัทเป็นบัญชีที่มีเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้มีอำนาจเต็มและบัญชีเหล่านั้นก็มีการยืนยันอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 1996
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้ได้เพิ่มความกดดันให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่นในอันที่จะต้องเข้มงวดมาตรการสอดส่องดูแลการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ให้มากขึ้นซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงมิติ (MITI)
ได้เพิ่มการควบคุมตลาดมากขึ้น โดยจะเข้าไปตรวจสอบด้วยตัวเองในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นทั้งๆที่ไม่มั่นใจว่ามิติจะมีอำนาจมากพอที่จะเข้าไปตัดสินการทำธุรกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ได้หรือไม่
“ความเสี่ยงในการพยุงธุรกิจมิให้เกิดขาดทุนมีอยู่เสมอ แต่มันจะกลายมาเป็นปัญหาเมื่อการขาดทุนเหล่านั้นเป็นผลมาจากการละเมิดกฎระเบียบ” นายกรัฐมนตรีเรียวทาดร่ ฮาชิโมโต้ได้แสดงความรู้สึกต่อเรื่องนี้ เช่นเดียวกับโฆษกรัฐบาลและหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เซโรกุ คาจิยามา ที่ให้ความเห็นว่า “เรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของบริษัทและของคนญี่ปุ่นทั้งหมดได้ตกต่ำลง ผมมีความห่วงใยอย่างมากเกี่ยวกับคนจำนวนมากที่มีทัศนคติต่อเงิน”
ต้นตอปัญหาราคาทองแดงตกต่ำ?
การกระทำของฮามานากะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเป็นสาเหตุทำให้ตลาดทองแดงตกอยู่ในภาวะโกลาหลและราคาทองแดงตกต่ำเพราะเขาเป็นบุคคลที่เข้ามาสร้างราคาทองแดงให้สูงขึ้นกว่าความเป็นจริง
แต่จากการศึกษาของคริสโตเฟอร์ กิลเบิร์ก และเซลโซ บรูเนตตี้ นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ RESOURCES POLICY 1996 ที่ได้ทำการศึกษาการซื้อขายโลหะ 6 ประเภทในตลาด LME ได้แก่ อะลูมิเนียม ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว นิกเกิล และสังกะสี โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ปี 1972 พบว่าความผันผวนโดยเฉลี่ยของราคาโลหะไม่ได้มีเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 1972 และในช่วง 3 ปีนับตั้งแต่ต้นปี 1993 เป็นต้นมาราคาโลหะผันผวนลดน้อยลงกว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามแม้ว่างานศึกษาชิ้นนี้จะกระทำขึ้นก่อนเกิดเหตุการณ์ในตลาดทองแดง แต่การแกว่งตัวของราคาทองแดงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ราคาทองแดงก็มีความผันผวนเช่นกัน และในงานวิจัยชิ้นนี้ได้อธิบายถึงวิธีการพิจารณาความผันผวนของราคาทองแดง ว่าจะต้องดูที่ระดับความต้องการโลหะทางกายภาพเทียบกับความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตและโลหะที่มีอยู่ในคลังสินค้าที่จะสามารถจำหน่ายออกไปได้เพราะเมื่อใดก็ตามที่กำลังการผลิตเหลือเพียงเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงของความต้องการแม้จะเกิดขึ้นเพียงเล็กๆน้อยๆก็สามารถมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อราคาได้โดยในงานวิจัยชี้ว่าในช่วงปี 1973-74 และ 1987-90 ราคาโลหะมีความผันผวนมากที่สุดและยังเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำมากที่สุดด้วย
นับตั้งแต่ปีที่แล้วราคาทองแดงซึ่งถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และ UTILITY ได้ตกลงอย่างรุนแรงประมาณ 50% และ ณ ขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มขาลงของราคาทองแดงโลกจะจบลงเมื่อใดทั้งนี้เพราะระดับกำลังการผลิตยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของตลาดโลกโดยโบรกเกอร์จากBRANDEIS ซึ่งเป็นสมาชิกรายหนึ่งของ LME ประมาณการว่าในยุโรปความต้องการทองแดงจะสูงถึง 31% ของความต้องการทั้งโลก ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 29% ญี่ปุ่น 14% เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนและอินเดียอีกประมาณ 10% แต่หากพิจารณากำลังซื้อทองแดงของสหรัฐฯเพียงแห่งเดียวเมื่อปีที่แล้วประมาณการว่ามีมากถึง 2.6 ล้านเมตริกตัน
มีการประมาณการกันว่าทองแดงที่มีอยู่ทั้งหมดในตลาดโลกประมาณ ? จะนำไปใช้ทำสายไฟและสายเคเบิล เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ไฟฟ้า เครื่องจักรอุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่ง ดังนั้น การที่ราคาทองแดงตกต่ำผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จำพวกนี้จะอยู่ในจุดที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างมาก ในเวลาเดียวกันผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากทองแดงหลายรายก็อาจจะประสบภาวะขาดทุนจากการที่ได้ซื้อสัญญาล่วงหน้าไว้ ณ ระดับราคาที่สูงมากก่อนหน้านี้ ขณะที่อีกหลายบริษัทที่ต้องขาดทุนจากสินค้าคงเหลือที่ได้รับซื้อมาในราคาแพง
|