ยง ชำนาญวินิจฉัย ชาวจีนจากเกาะไต้หวันวัย 62 ปีข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานในไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้วจากนายช่างด้านเคมีภัณฑ์โรงงานไทยชูรส ปัจจุบันยงมีโรงงานผลิตรองเท้า 2 แห่งในไทยและโอนเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทยเต็มตัว
จากการพบเห็นธุรกิจเคเบิลทีวีนับร้อยช่องจากผู้ให้บริการหลายสิบรายทำธุรกิจกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในถิ่นเกิดทำให้ยงมองเห็นว่าเหตุการณ์เหล่านี้คงต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ยากเย็นนัก
เมื่อกรมประชาสัมพันธ์เปิดให้ใบอนุญาตเคเบิลทีวี ยงและผู้ร่วมหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของกิจการเคเบิลทีวีจากไต้หวันได้ยื่นขอใบอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์ในนามบริษัทไทยซุ่นเคเบิลทีวี
จากจำนวนผู้ได้รับในอนุญาตทำธุรกิจเคเบิลทีวีจากกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีมากถึง 24 ดรายแต่มีเพียงไม่กี่รายที่เปิดตัวสู่ตลาดและในจำนวนนี้ก็เปิดให้บริการในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ในขณะที่ในเขตกรุงเทพฯนั้นแทบไม่มีเลย เพราะโดยเงื่อนไขของกรมประชาสัมพันธ์นั้นบังคับให้ผู้ให้บริการต้องใช้สายเคเบิลเท่านั้นในการแพร่ภาพซึ่งการเดินสายเคเบิลไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
อีกทั้งสมรภูมิรบของธุรกิจเคเบิลทีวีมีเจ้าเก่าอย่างไอบีซีของค่ายชินวัตรและยูทีวีของค่ายซีพีจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับรายใหม่ แม้แต่ไทยสกายทีวีของค่ายวัฏจักรที่เริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ต้นๆยังออกอาการ ในขณะที่ไอบีซีเองยังต้องเฉือนหุ้นให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และแกรมมี่เพื่อผนึกกำลังสู้
แต่ไม่ใช่สำหรับไทยซุ่นเคเบิลทีวีที่ตัดสินใจเปิดให้บริการทันทีที่ได้รับใบอนุญาตมาไว้ในมือ
ยงลงมือหาที่ตั้งสำนักงานบนทำเลที่เป็นย่านชุมชนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งครั้งแรกเขาเลือกในแถบเยาวราชไชน่าทาวน์ของไทย แต่ด้วยราคาค่าเช่าตึกที่สูงลิบลิ่วทำให้ยงเปลี่ยนใจเลือกถนนเซ็นหลุยส์เป็นที่มั่น เช่าตึกแถวหน้าห้องเดียวเป็นสำนักงาน
ไทยซุ่นตัดสินใจลงทุนวางโครงข่ายเคเบิลเองไม่รอเช่าโครงข่ายเคเบิลจากบริษัทมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างองค์การโทรศัพท์ฯยูทีวี ไอบีซีและไทยสกายทีวีเพื่อวางข่ายสายเคเบิลจากชุมสายโทรศัพท์ย่อยไปยังบ้านพักอาศัย สำหรับให้บริการเคเบิลทีวีที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
วิธีการของไทยซุ่น คือ ลากสายเคเบิลจากสำนักงานในบริเวณเซ็นหลุยส์ซอย 3 ไปยังบริเวณใกล้เคียง แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดทำให้พื้นที่บริการของไทยซุ่นเคเบิลทีวี จึงครอบคลุมแค่บริเวณใกล้เคียงในแถบเซ็นหลุยส์ซอย 3 และสาธร
ด้วยยุทธวิธีเดินสายเคเบิลนี่เอง ทำให้ภายในสำนักงานของไทยซุ่นเต็มไปด้วยสายเคเบิลกองอยู่เรียงราย
ยงเล่าว่า ไทยซุ่นเป็นเคเบิลทีวีรายเดียวในจำนวน 24 รายที่ยอมลงทุนเดินสายเคเบิลเอง โดยไม่อยากรอข่ายสายของทางรัฐบาล
แต่การวางสายเคเบิลจำเป็นต้องพาดผ่านเสาไฟฟ้าซึ่งเป็นสิทธิของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่ผู้เดียวและอนุญาตให้เฉพาะหน่วยงานราชการมาใช้เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องใครจะทำได้และไทยซุ่นก็เคยประสบปัญหาโดนสั่งห้ามไปแล้ว จึงเลี่ยงด้วยการพาดผ่านชายคาของบ้านเรือนแทน และในเรื่องนี้ บัณฑิต รัตนวารกรรมการบริหารของไทยซุ่นเคเบิลทีวี ยอมรับว่าเป็นปัญหามากทีเดียว
สำหรับรูปแบบรายการซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจเคเบิลทีวี ไทยซุ่นใช้วิธีลดต้นทุนค่าลิขสิทธิ์รายการแบบง่ายๆด้วยการติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียม ขนาด 16 ดฟุตจำนวน 5-6 จานเพื่อรับรายการที่ถ่ายทอดผ่านดาวเทียมต่างๆเช่น ปาลาปา เอเชียแซท ดาวเทียมของรัสเซียและนำรายการเหล่านี้ส่งผ่านจากเครื่องส่งผ่านสายเคเบิลไปยังบ้านพักของบรรดาสมาชิก
ปัจจุบันไทยซุ่นเคเบิลทีวีมีช่องรายการให้บริการอยู่ 19 ช่องจาก 20 ช่องที่ได้รับอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งในจำนวนช่องรายการทั้งหมดนี้เป็นรายการจากดาวเทียมอยู่เกือบครึ่งเช่น สตาร์ทีวี, สตาร์พลัส, ซีเอ็นบีซี, ซีเอ็นเอ็น, สตาร์สปอร์ต เรียกว่าดูรายการจานรับสัญญาณดาวเทียมหรือไทยซุ่นเคเบิลทีวีคงไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก
ช่องรายการที่เหลือจะเป็นช่องฟรีทีวีจำนวน 5 ช่องคือ ช่อง 3,5,7,9และ 11 รวมทั้งช่องไอทีวี ส่วนรายการภาพยนตร์จากต่างประเทศทั้งฝรั่ง จีน ไทย รายการตลก สารคดี ไทยซุ่นใช้วิธีเช่าวิดีโอเทปจากร้านค้ามาให้ลูกค้ารับชม
“วิธีนี้ไม่ผิดกฎหมายในเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะเป็นรายการที่แพร่ภาพให้ทุกคนที่มีจานดาวเทียมรับชมได้อยู่แล้ว หากรายการไหนที่มีลิขสิทธิ์เขาล็อกสัญญาณไว้เราก็ไม่ไปเอา”
ไทยซุ่นเคเบิลทีวีใช้เงินลงทุนไปกับการซื้ออุปกรณ์ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไปสิบกว่าล้านบาทซึ่งเป็นตัวเลขที่เทียบไม่ได้กับเงินลงทุนของยูทีวีลงไปแล้วมากกว่า 500 ล้านบาท
ด้วยการประหยัดต้นทุนในเรื่องรายการ ทำให้ไทยซุ่นคิดค่าติดตั้งเครื่อง 1,500 บาทและค่าบริการรายเดือนๆละ 500 บาท ยงเชื่อมั่นว่าด้วยค่าบริการที่ถูกกว่าจะเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้แข่งขันกับยูทีวีได้
สมาชิกรายหนึ่งของไทยซุ่นเคเบิลทีวี เล่าว่าสมัครเป็นสมาชิกของไทยซุ่นเพราะบริเวณเซ็นหลุยส์ซอย 3 จะรับสัญญาณจากทีวีทั้ง 5 ช่องไม่ชัดเพราะมีตึกสูงบังอยู่เยอะ แต่เมื่อเป็นสมาชิกของไทยซุ่นแล้วทำให้รับสัญญาณได้ชัดเจนขึ้น
แม้จะมีสมาชิกกลุ่มหนึ่งที่ยอมเสียเงินค่าสมาชิกเพื่อดูทีวีชัดขึ้น แต่ปัจจุบันไทยซุ่นเคเบิลทีวีมียอดสมาชิกที่สมัครเข้ามาเพียง 40-50 รายต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งยงกล่าวอย่างท้อใจว่า ยังไม่คุ้มกับเงินทุนที่ลงไป
ในมุมมองของยง เขาเชื่อว่าสาเหตุเป็นเพราะความล้าสมัยของเครื่องโทรทัศน์ที่รับช่องรายการได้ไม่มากเป็นข้อจำกัดในการหาสมาชิกไม่ได้เกิดจากปัญหาเรื่องการแข่งขันหรือเรื่องรายการรวมไปถึงเทคโนโลยีการแพร่ภาพที่ค่อนข้างจะผิดแผกจากผู้ประกอบธุรกิจเคเบิลทีวีรายอื่นๆ
เพราะยังเชื่อมั่นจากบทเรียนของผู้ประกอบการในไต้หวันที่ดำเนินธุรกิจแบบนี้และประสบความสำเร็จหลายราย
“เรายอมรับว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในไต้หวันก็เป็นแบบนี้ต้องใช้เวลา เรายังไม่ถอยเวลานี้ คงรอดูอีกระยะหนึ่ง หากเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นก็อาจต้องตัดสินใจเลิก ซึ่งเรากำลังคิดอยู่ว่าจะหันไปทำในต่างจังหวัดดีหรือเปล่า” ยงกล่าวทิ้งท้าย
แม้ในวันนี้ไทยซุ่นเคเบิลทีวียังต้องรอเวลาพิสูจน์แต่การเข้ามาของไทยซุ่นสามารถเพิ่มสีสันให้กับธุรกิจนี้ได้ไม่น้อย
|