|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2539
|
|
ถ้าจะเขียนถึง CD ระดับออดิโอไฟล์แผ่นทอง 2 แผ่นคู่ของ Mobile Fidelity รหัส UDCD เพื่อรำลึกนักร้องชายหญิงอมตะของโลกดนตรีแจ๊สคงไม่ผิดกติกากรอบหน้านี้นะ แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยรู้จักทั้งคู่ก็ตาม
เอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์
หลุยส์ อาร์มสตรอง
คนแรกอำลาโลกนี้ไปในวัย 78 เมื่อเดือนก่อนหลังจากผมได้เป็นเจ้าของอัลบั้มนี้ไม่กี่ชั่วโมง คนหลังเดินทางล่วงหน้าไปก่อนนานแล้ว
“โลกแห่งดนตรีแจ๊ส และอเมริการู้สึกเจ็บปวดต่อการสูญเสียนักร้องที่มีความสามารถ คนที่มีการเอื้อนเสียงอันมหัศจรรย์ แน่นอนว่าเสียงของเธอจะอยู่ในความทรงจำของคนอเมริกันตลอดไปไม่ว่าจะมีคนกี่รุ่นผ่านมาก็ตามที”
บิล คลินตันประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวทันทีที่รู้ข่าวการเสียชีวิตของเอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์
เอลล่าเกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายนปี 1918 ในนิวปอร์ทเวลล์ รัฐเวอร์จิเนียครั้งแรกที่เอลล่าก้าวขึ้นสู่เวทีแสดงนั้นเธอมีอายุเพียงแค่ 15 ปีเท่านั้นว่ากันว่าเป็นเพราะพระเจ้านั่นเองที่ทำให้เธอก้าวขึ้นมาได้ถึงตรงนี้ เพราะตัวเธอเองนั้นขึ้นเวทีประกวดในฐานะของนักเต้น ซึ่งการเป็นนักเต้นรำกับคณะละคอนนี่เองที่เป็นความใฝ่ฝันในวัยเด็กของเธอ
ในอปอลโล เธียเตอร์ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานที่ซึ่งมีชื่อเสียงมากในนิวยอร์คขณะนั้นคนดูทำให้เธอปอดกระเส่า มันทำให้เธอดิ้นไม่ออก มีแต่อาการสั่นดิกๆของขาเท่านั้นที่เกิดขึ้น เอลล่ากล่าวภายหลังว่า ตอนนั้นเธอรู้สึกแต่เพียงว่าเธอจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้อาย เธอก็เลยตัดสินใจร้องเพลงๆหนึ่งซึ่งเธอเคยได้ยินแม่ของเธอเปิดให้ฟัง
เพลงนั้นเป็นเพลงของคอนนี่ บอสเวลล์
ผลปรากฏว่าคนดูชอบกันมาก แม้ว่าเธอจะไม่ได้รางวัลในฐานะนักเต้นแต่เธอก็ชนะเลิศในฐานะนักร้องขวัญใจคนดูพร้อมกับกำเงินจำนวน 25 ดอลลาร์กลับบ้านมาด้วย
การร้องเพลงบนเวทีอย่างฟลุ๊คๆครั้งนั้นบังเอิญมีนักดนตรีของวงสวิงแจ๊ซแบนด์ของซิค เว็บผู้ยิ่งใหญ่อยู่ด้วย
นักดนตรีท่านนั้นเสนอให้ซิค เว็บจ้างเธอเอาไว้ในวง
วันที่ 2 พฤษภาคม 1938 เพลงแรกของเธอก็ออกมาในชื่อ A-tisket A-tisket ความสำเร็จก็ประดังเข้ามาหาทันที ซิค เว็บไม่ได้อยู่ดูความสำเร็จของเธอนานนักเพราะเสียชีวิตด้วยวัณโรคในปีถัดมา เอลล่าก็เลยขึ้นมาเป็นผู้นำของวงต่อไป เธอผลิตงานชั้นเยี่ยมออกมาอาทิเช่น I’ll chase the blue away. A little bit later on. Four or five times ฯลฯ ในปัจจุบันงานเหล่านี้เป็นที่ต้องการของนักสะสมอย่างมากทีเดียว
ปี 1940 งานเพลงประเภทบีบ็อบก็เริ่มเกิดขึ้นมาและเป็นที่นิยมอย่างมากในสหรัฐด้วยจังหวะใหม่ๆที่เข้ามาและฮาร์โมนี่ที่เปลี่ยนไป วงหลายวงที่ปรับตัวไม่ทันตายจากไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ยากเกินความสามารถของเอลล่า เธอปรับสไตล์การร้องให้เข้ากับบีบ็อบได้อย่างรวดเร็ว และยังพัฒนาสไตล์การร้องของเธอเองที่เรียกกันว่า scat singing อีกด้วย
นั่นคือการอิมโพรไวซ์เสียงร้องของเธอไปขณะที่นักดนตรีกำลังโซโล่อยู่ด้วย
แม้ว่าเทคนิคนี้จะไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ผู้คนยกย่องก็คือเธอทำให้มันสมบูรณ์แบบขึ้นมา
ตั้งแต่ปี 1946 เธอเริ่มออกทัวร์อเมริกาพร้อมกับมีวงฟิลฮาร์โมนิค คัมพานีตามด้วยการทัวร์นอกประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย ถือว่าเป็นยุคทองของเอลล่ามีงานดีๆมากมาย
รวมทั้งงานที่ชื่อ songsbook ซึ่งเป็นงานที่เธอร่วมกับศิลปินดังๆ อาทิ ดุ๊ค เอลลิงตัน และ โคล พอร์ตเตอร์ งานชิ้นนี้นั้นในปี 1993 มีการรวบรวมกันมาออกเป็น CD set ขนาด 16 แผ่นติดกันด้วย
ขณะที่งานที่ออกกับออสการ์ ปีเตอร์สันก็เป็นงานที่น่าสะสมไว้ด้วย
เช่นเดียวกับงานร่วมกับหลุยส์ อาร์มสตรองที่แปรมาเป็น CD ทอง 2 แผ่นคู่ชุด Ella and Louis again ของ Mobile Fidelity Sound Lab ที่นำหน้าปกของแผ่นแรกมาลงให้ดูนี้ด้วย
2 สุดยอดเสียงร้องชายหญิงที่เป็นอมตะ กับอีก 1 เสียงทรัมเป็ตที่เป็นตำนาน
ไม่มีอะไรที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์กันอีกแล้ว เมื่อนำมาสเตอร์ที่อัดเสียงในช่วงปี 1957 โด่งดังมากสมัยเป็น LP แปรมาเป็น CD ในระบบ AAD ถึงจะแพงแต่ก็คุ้ม
ดอน เฮคแมน นักเขียนเรื่องแจ๊สในลอสเองเจอลีสไทม์ กล่าวถึงเอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์เอาไว้ว่าเธอนั้นอยู่ในชั้นเดียวกับบิลลี่ ฮอลิเดย์, ซาร่า วอห์นและคาร์เมน แม็คเร
ในบรรดาสุดยอดเหล่านี้ เอลล่าเป็นนักร้องที่นักแต่งเพลงทั้งหลายรักมากที่สุด
ดอน เฮคแมนยังกล่าวด้วยว่า เสียงร้องของเอลล่าเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นแบบอย่างให้แก่นักร้องเกือบทั้งหมดในสหรัฐฯไม่ว่าจะเป็นนักร้องระดับอภิมหาอมตะอย่างเช่นแฟร้งค์ ซิเนตร้าหรือในแนวแจ๊ซอย่างเช่นโทนี่ เบนเน็ท
ตั้งแต่ช่วงปี 1960 ชื่อเสียงของเอลล่าเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเธอตัดสินใจเปลี่ยนสถานที่แสดงของเธอจากแจ๊ซคลับ มาอยู่ในคลับหรูราคาแพงและร้องเพลงในโรงแรมแทน ว่ากันว่ามันออกจะทำให้คนที่ติดตามเธอมาตลอดถึงกับช็อคเพราะเป็นการผิดขนบของแจ๊ซมาสเตอร์ที่ดี
หลายคนก็เลยตั้งฉายาเธอว่านักร้องเพลงซึ่งเห็นแก่เงินมากที่สุดแทน
เอลล่าไม่ยี่หระ...ยังคงผลิตงานดีๆออกมาอย่างต่อเนื่อง
ผลของความสำเร็จของเอลล่านั้นมีนับไม่ถ้วน แม้ว่าสื่อมวลชนรุ่นเก่าๆจะไม่ค่อยชอบนักก็ตามที เธอคว้ารางวัลแกรมมี่ถึง 10 รางวัล ขณะที่นิตยสารดาวน์บีทประกาศให้เธอเป็นนักร้องหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะชนะเลิศโพลอวอร์ดของนิตยสารถึง 18 ปีติดต่อกัน
ตั้งแต่ปี 1985 เอลล่าเริ่มสุขภาพไม่ดี ตลอดทัวร์คอนเสิร์ทในปีนั้นเธอต้องทนร้องเพลงทั้งๆที่ต้องต่อสู้กับโรคน้ำท่วมปอด ปี 1986 รับการผ่าตัดหัวใจในเดือนกันยายนทำให้ต้องยกเลิกทัวร์ทั้งหมด
แต่กลางปี 1987 เธอก็กลับมาร้องเพลงได้อีกโดยเฉพาะเทศกาลเพลงมอนทรีล แจ๊ส เฟสติวัลและเธอก็ได้รับการโหวตให้เป็นนักร้องที่ดีที่สุด
กระทั่งปี 1993 โรคเบาหวานก็มาเยี่ยมเยียนเอลล่าอย่างรุนแรงเป็นแผลเรื้อรังที่ขา ทำให้เธอเดินไม่สะดวกและเดินไม่ได้ในเวลาต่อมา จนหมอต้องตัดขาท่อนล่างของเธอออก
และเมื่อวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 1996 เอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์ก็อำลาโลกนี้ไปตลอดกาล
ตลอดชีวิตของเอลล่า ออกอัลบั้มมากกว่า 250 อัลบั้ม เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักร้องหญิงจำนวนมากรุ่นหลังของเธอไม่ว่าจะเป็นสไตล์แจ๊ซหรือสไตล์ป๊อป
“เธอเป็นนักร้องที่ดีที่สุดในโลกนี้”
โทนี่ เบนเน็ท กล่าวเมื่อถูกถามถึงความรู้สึก
“เธอเป็นครูที่สอนให้เราทุกคนรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเรียกว่าเป็นการร้องเพลงมันเหมือนกับว่าทุกครั้งที่เธอร้องเพลงอยู่นั้น เธอเป็นวิญญาณรูปแบบหนึ่งไม่ใช่มนุษย์”
สำหรับอัลบั้มแผ่นทองคู่ ‘Ella and Louis again’ ของ Mobile Fidelity Sound Lab รหัสUNCD 2-651 ที่เธอร้องคู่กับหลุยส์ อาร์มสตรองเมื่อปี 1957 วิจิตร บุญชู บรรณาธิการนิตยสารว้อทไฮ-ไฟ คอลัมนิสต์ผู้จัดการรายวัน และผู้จัดรายการของโครงการวิทยุผู้จัดการ เมื่อได้ฟังแล้วกล่าวสั้นๆเพียงว่า...
“เป็นอัลบั้มโมโนที่บันทึกได้ดีที่สุด”
|
|
|
|
|