ในขณะที่กรุงเทพฯกำลังเติบโตด้วยถาวรวัตถุหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูงระฟ้าหรือว่าระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่มีทั้งทางด่วน และรถไฟลอยฟ้าในอนาคตอันไกล
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเคียงคู่กับความเจริญของกรุงเทพฯก็คือฝุ่นละออง
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้รายงานไว้ว่าในปี 2538 ปริมาณฝุ่นในกรุงเทพฯโดยเฉลี่ยมีประมาณ 568 ไมโครกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตรในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งๆที่เราตั้งมาตรฐานส่วนนี้เอาไว้ที่ 330 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่องค์การอนามัยโลกนั้นตั้งมาตรฐานไว้ 120 ไมโครกรัม
นอกเหนือจากปริมาณฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างและยานพาหนะที่วิ่งตามท้องถนนจะมากจนน่าตกใจแล้ว คนกรุงยังมีเรื่องที่น่าตกใจและน่ากลัวยิ่งกว่านี้อีก
จากการสำรวจและศึกษาร่วมกันระหว่าง ศ.ดร.นายแพทย์เทพพนม เมืองแมนกับบริษัทชีวิตและสิ่งแวดล้อมโดยความสนับสนุนด้านเงินทุนของบริษัทเรกคิทท์ แอนด์ โคลแมน (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วงเดือนตุลาคม 2538-มกราคม 2539 พบว่าในฝุ่นละอองที่ลอยอยู่รอบตัวคนกรุงนั้นมีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ประมาณ 225-1,750 CFU (COLONY FORMING UNITS) ต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร โดยส่วนนี้ไทยเรายังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเอาไว้แต่ที่สหรัฐฯนั้น เขากำหนดมาตรฐานไว้ว่าในห้องทำงานที่สะอาดไม่ควรมีเชื้อจุลินทรีย์เกินกว่า 500 CFU มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนซึ่งมากจนสามารถจะเข้าสู่ร่างกายได้ลึกถึงถุงลมภายในปอดและจะลอยอยู่ได้เป็นเวลานานโดยไม่ตกพื้นเรียกกันว่า “ฝุ่นลอย” สามารถที่จะลอยไปตามกระแสลม
ทีมงานวิจัยได้ทำการสำรวจฝุ่นจากยานพาหนะต่างๆเช่น รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ 5 คัน,รถโดยสารประจำทางพ่วงปรับอากาศ 5 คัน,รถโดยสารประจำทางธรรมดา 5 คัน,รถโดยสารไมโครบัส 5 คัน,รถยนต์ส่วนบุคคล 10 คัน, รถสามล้อเครื่อง 10 คันและรถแท็กซี่ 10 คัน
การสำรวจครั้งนี้พบว่ามีเชื้อโรคถึง 38 ชนิดที่อาศัย “ฝุ่นลอย” เป็นพาหะเพื่อเข้าสู่ร่างกายคน โดยยานพาหนะที่นำมาสำรวจนั้นทุกคันต่างก็มี “ฝุ่นลอย” เกาะติดอยู่ตามพื้นเบาะนั่ง พนักพิงราวโหนเฉพาะรถส่วนตัวเที่เราท่านมั่นใจในเรื่องของความสะอาดนั้นยังพบว่ามีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ระหว่าง 437-1,750 CFU ต่อลูกบาศก์เมตร
เชื้อโรคที่พบจากการนำเอาเชื้อจุลินทรีย์ไปเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการนั้น มีอยู่ 18 ชนิดที่เป็นเชื้อราและอีก 20 ชนิดนั้นเป็นเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆเช่น
CEPHALO SPORIUM SP. ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ
CRYPTOCCUS NEOFROMANS ก่อให้เกิดโรคที่ปอดและเชื้ออาจจะเข้าสู่กระแสโลหิตก่อให้เกิดโรคตามอวัยวะส่วนอื่นๆได้ทั่วร่างกายเช่น ที่ระบบประสาทกระดูกและข้อ รวมถึงบริเวณผิวหนังและเยื่อบุด้วย
CURVULARIA SP. เป็นเชื้อราฉวยโอกาส สามารถก่อโรคที่ผิวหนังและเล็บใต้ผิวหนัง อาการคล้ายฝีมีอาการบวมอาจก่อให้เกิดโรค MYCETOMA ได้
HENDERSONULA SP. เป็นเชื้อราฉวยโอกาสอีกชนิดที่ทำให้เกิดโรคที่ผิวหนังและเล็บ
TRICHOPHYTON MENTAGROPHYTES ซึ่งจะทำให้เกิดโรคกลากที่ผิวหนัง เล็บและเส้นผม
ALCALIGENES SP. เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในเลือดเชื้ออาจจะเข้าแผล ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจและระบบทางเดินปัสสาวะ
ENTER OBACTER AEROGENES เป็นแบคทีเรียฉวยโอกาสอีกตัวที่ทำให้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและให้โลหิตเป็นพิษ
ECOLI ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะไส้ติ่งอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ แผลติดเชื้อและโลหิตติดเชื้อ
KLEBSIELLA PHEUMONIA ทำให้เกิดโรคปอดบวม โลหิตเป็นพิษ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ แผลติดเชื้อช่องท้องอักเสบ ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่มี ENTEROTOXIN จะทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงและก่อโรคทางเดินปัสสาวะ
MORAXELLA SP. เป็นเชื้อประเภทฉวยโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคติดเชื้อ ปอดอักเสบ อาการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะ
PSEUDOMONAS AERUGINOSA เป็นเชื้อประเภทฉวยโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆโดยเฉพาะโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเช่น การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โลหิตเป็นพิษ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ หนองฝีต่างๆและโรคตาอักเสบ
SERRATIA SP. เป็นเชื้อประเภทฉวยโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะและโรคโลหิตเป็นพิษ
STAPH AUREUS ทำให้เกิดโรคติดต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อเกือบทุกส่วนของร่างกายที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อที่ผิวหนัง
STREPTOCCOCUS ทำให้เกิดโรคคออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ไข้มารูติกโลหิตเป็นพิษ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ไฟลามทุ่ง ไข้ดำแดง ภาวะไข้หลังคลอดและอาจทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในช่องปาก โรคเหงือกและฟัน
STREPT VIRIDANS ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบและหนองในเทียม
เป็นที่รับทราบกันแล้วว่าฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายในอากาศรอบตัวเรานั้น อาจจะทำให้เราเกิดโรคมากมายได้โดยที่เราไม่รู้ตัวหลายท่านอาจจะกำลังเผชิญกับโรคเหล่านี้อยู่ก็ได้
เพื่อให้แน่ใจว่าท่านปลอดจากโรคที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรียต่างๆเหล่านี้ ควรจะให้แพทย์ได้ทำการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดอย่างน้อยปีละครั้ง และควรอาบน้ำชำระร่างกายอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และล้างมือทุกครั้งหลังเสร็จจากการทำกิจกรรมต่างๆ
นอกจากนี้อาจใช้สเปรย์ฆ่าเชื้อโรคฉีดทิ้งไว้ในรถหรือห้องนอนเพื่อช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับฝุ่นละอองลงบ้าง
หากบ้านอยู่ใกล้ถนนอาจจะติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยลดมลภาวะเป็นพิษลงบ้างก็ได้
|