|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2539
|
|
ท่ามกลางความยินดีกับความล่มสบายของระบบโซเวียตเมื่อ 5 ปีก่อนมีคำเตือนสอดแทรกขึ้นมาว่า รัสเซียมีศักยภาพมหาศาล การปลดพันธนาการอันเกิดจากการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ตลอดระยะเวลาเจ็ดสิบกว่าปีที่ผ่านมาจะเปิดโอกาสให้รัสเซียผงาดขึ้นมาสร้างความเกรียงไกรที่น่าเกรงขามในทุกๆด้านนับตั้งแต่ด้านอวกาศ การทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและจะรวมทั้งในด้านเศรษฐกิจด้วย
แต่ข่าวคราวจากรัสเซียเท่าที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยวิกฤติการณ์ วิกฤติการณ์และวิกฤติการณ์ นานาสารพัดเรื่องทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ-การเงินและสังคม ปัญหาการขาดแคลนอาหาร ปัญหาอาชญากรรม การคอร์รัปชั่น การก่อเกิดและเหิมเกริมของอันธพาลกลุ่มแก๊งแบบมาเฟียและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะเงินเฟ้อซึ่งสร้างความเดือดร้อนและความไม่พอใจแก่ประชาชนทั่วไปมากขึ้นทุกที
รัสเซียในปัจจุบันแม้จะยังอยู่ในรูปของสหพันธรัฐ มีชนชาติกลุ่มน้อยปกครองตนเองอยู่ในสังกัด แต่อิทธิพลทางการเมืองที่เคยมี ด้อยลงไปมากเนื่องจากบรรดาประเทศที่อยู่ในกลุ่มสหภาพโซเวียตแสดงความจำนงที่จะแยกตัวออกไปเป็นอิสระจากกลุ่มสหภาพฯกันหมด ทรัพยากรที่รัสเซียได้ลงทุนลงรอนไปและเคยอาศัยใช้ประโยชน์ก็ถูกเพิกถอนสิทธิไปมากโรงงานสถานที่ทำการที่เคยเป็นแหล่งทำเงินของรัสเซีย ถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของสาธารณรัฐเจ้าของดินแดนเดิม
ในรัสเซียเองได้มีความพยายามที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ เพื่อว่าทรัพยากรที่มีอยู่จะได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเสรีในแบบทุนนิยม อันจะนำไปสู่การกระจายรายได้ กระจายโภคทรัพย์และความเติบโตของเศรษฐกิจ
ผลลัพธ์ของความคาดหวังเหล่านี้ยังอยู่ในภาวะสับสน หน่วยธุรกิจใหญ่ๆที่เกิดขึ้นมาในระยะหลังมีทีท่าว่าจะเข้าผูกขาดการทำธุรกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ ของรัฐ โดยมีอิทธิพลในลักษณะที่ไม่สู้จะตรงไปตรงมาหนุนหลังอยู่ หน่วยธุรกิจเหล่านี้ถูกเปรียบว่าคล้ายกับกลุ่มไซบัตสึของญี่ปุ่นสมัยสงครามและแชโบลของเกาหลีใต้สมัยปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน คนในโลกทุนนิยมโดยเฉพาะที่เคยเป็นศัตรูคู่สงครามเย็นและคนที่มีศรัทธากับระบอบทุนนิยมทั้งในและนอกรัสเซียก็มีความหวังอยู่ว่า กลุ่มธุรกิจที่ทรงอิทธิพลด้านการเงิน-อุตสาหกรรมเหล่านี้ จะมีส่วนแก้ไขเยียวยาภาวะเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้น พร้อมกับประคับประคองมิให้รัสเซียถอยกลับไปสู่ระบอบสังคมนิยมอีก
ยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในด้านการเงินการลงทุนและอุตสาหกรรมหลักๆนับกันไว้ว่ามีอยู่ราว 32 กลุ่มหรือบรรษัทเชื่อมโยงโรงงานกว่า 200 แห่งธนาคารอีก 72 แห่งซึ่งว่าจ้างคนทำงานรวมแล้วกว่า 2.5 ล้านคนโดยที่กำลังอยู่ในระหว่างก่อตั้งหรือก่อร่างสร้างตัวอยู่อีกกว่าสิบ
บรรษัทที่ใหญ่ที่สุด ขณะนี้ควบคุมอุตสาหกรรมน้ำมัน แก๊สและอุตสาหกรรมโลหะชนิดต่างๆของรัสเซีย นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่หาเงินตราต่างประเทศสกุลแข็งเข้าประเทศด้วย
บรรษัทเหล่านี้ ผงาดขึ้นมาได้ก็โดยอาศัยอิทธิพลของบุคคลสำคัญๆที่มีอำนาจทางการเมืองอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งที่มีมาแต่อดีต นั่นคือพวกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เก่า
บรรษัทที่ใหญ่ที่สุดได้แก่ โอเน็กซิมแบงก์ (ONEXIMBANK) เจ้าของธุรกิจการทำเครื่องยนต์เจ๊ต โรงงานผลิตรถยนต์ เหมืองน้ำมัน โรงงานถลุงโลหะและธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์
อันดับที่สองที่นิตยสารบิสเนสวีคจัดให้คือ เมนาเตป (MENATEP) ธนาคารเอกชนที่ใหญ่เป็นที่ 10 ของรัสเซียเจ้าของธุรกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ยูคอส ซึ่งคุมโรงงานพลาสติก โรงงานถลุงโลหะ สิ่งทอ โรงงานเคมีกับบริษัทแปรรูปอาหาร ฯลฯ รวมแล้วกว่า 20 บริษัทมีสินทรัพย์มูลค่ารวมในปี 1995 ทั้งสิ้น 2,100 ล้านดอลลาร์ว่าจ้างคนทำงานประมาณ 150,000 คน
อันดับสามได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในภาคมอสโก (ไม่ใช่เฉพาะในเมืองหลวง) คืออัลฟ่า (ALFA) ทำธุรกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ ซีเมนต์ ขนมและอุตสาหกรรมเคมี
รอสซีสกายา เมตัลลูร์เกีย (ROSSIS KAYA METALLURGIA) ควบคุมสถาบันที่สำคัญ 14 แห่งกับโรงงานที่มีปัญหา (ขาดทุน) แต่มีความสำคัญต่อประเทศเพราะผลิตสินค้าที่เป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมของประเทศอย่างเหล็กกล้า อัลลอยและโลหะชนิดอื่นๆ
โมสต์กรุ๊ป (MOST GROUP) ชื่อแกมภาษาอังกฤษ ทำธุรกิจใหญ่โตอยู่ในเมืองหลวง ในด้านการธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างเครือข่ายโทรทัศน์อิสระและหนังสือพิมพ์รายวันที่ทรงอิทธิพลมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ทูเดย์ (TODAY)
กลุ่มบรรษัทที่ใหญ่ที่สุดอีก 3 กลุ่มนัยว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่อย่างหลวมๆได้แก่ ก๊าซปรอม (GAZPROM) ลัคออยล์ (LUKOIL) และธนาคารอิมพีเรียล (IMPERIAL BANK) โดยบริษัทแรกผูกขาดอุตสาหกรรมแก๊สของรัสเซีย บริษัทที่สองเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดและทั้งสองบริษัทที่กล่าวมานั้นก็เป็นเจ้าของบริษัทที่สามคือธนาคารอิมพีเรียล
ผู้ถือหุ้นและบริหารกลุ่มบรรษัทเหล่านี้โดยมากร่ำรวยขึ้นมาอย่างว่องไวด้วยการฉกฉวยโอกาสตอนที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบการเงิน-การทำธุรกิจในรัสเซียใหม่ๆในสมัยเปเรสตรอยกาของนายกอร์บาชอฟ อาทินายวลาดิมีร์ โปตานิน ผู้บริหารบรรษัทโอเน็กซิมแบงก์ ซึ่งร่ำรวยขึ้นมาจากธุรกิจการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการค้าหุ้นแล้วหลังจากนั้นเมื่อรัฐบาลเริ่มนำเอาหุ้นรัฐวิสาหกิจออกจำหน่าย นายโปตานินก็ก่อตั้งบริษัทระดมทุนกว้านซื้อเอาไว้ได้มากในราคาถูกๆเพียงไม่นาน เขาก็กลายเป็นมหาเศรษฐีในครรลองที่คล้ายคลึงกันกับ “เศรษฐีใหม่” อีกหลายคนในรัสเซีย
การดำเนินธุรกิจของคนเหล่านี้อาศัย “ญาติผู้ใหญ่” ในรัฐบาลเป็นเส้นสายทำให้การติดต่อกับราชการที่วางอำนาจเจ้าระเบียบเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากการล็อบบี้ให้รัฐบาลกำหนดนโยบายและออกกฎหมายอย่างที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ความเติบโตของธุรกิจของตนโดยมีเหตุผลเรื่องประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมควบเข้ามาด้วย
ปัญหาของรัสเซียขณะนี้ พอจะประมวลได้ตามลำดับความสำคัญดังนี้
หนี้สิน แม้ว่าจะมีความร่วมมือกับบรรดาประเทศทางตะวันตกในเรื่องเงินกู้ในระยะหลังๆนี้ แต่รัสเซียก็ยังต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศ (ขณะนี้มีเข้ามาปีละเพียง 1,000 ล้านดอลลาร์) เพราะตลาดทุนในรัสเซียไม่คล่องตัวพอที่จะระดมเงินทุนเข้ามาได้ ความไม่สันทัดในการการดำเนินงานตามแบบอย่างทุนนิยมเป็นเรื่องที่กล่าวกันมาตั้งแต่เริ่มแรกเปเรสตรอยก้าหรือจัดโครงสร้างใหม่ ของนายกอร์บาชอฟและเมื่อนายเยลต์ซินเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆการต่อต้านจากผู้ยึดถือแนวคิดแบบเก่ายังคงมีอยู่และเริ่มมีมากขึ้น เมื่อประเทศประสบภาวะยุ่งยากทางเศรษฐกิจซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เงินเฟ้อ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในระดับล่างมากที่สุด เงินรูเบิลของรัสเซียไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนรัสเซียเองมากนัก ผิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีค่าคงที่ ผลลัพธ์ก็คือรัสเซียเป็นประเทศที่มีเงินดอลลาร์สหรัฐแพร่สะพัดอยู่ภายในประเทศมากที่สุดรองจากสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวเท่านั้น
ความเดือดร้อนของคนยากจนในรัสเซีย ซึ่งหาเงินได้ไม่พอจะใช้จับจ่ายซื้อของจำเป็นในการประทังชีวิต เพราะราคาแพงขึ้นลิบลิ่วรวดเร็วกว่ารายได้ กำลังเป็นปัจจัยทางการเมืองที่สำคัญ สถาบันสังคมวิทยาของมอสโก เคยสุ่มถามความเห็นของประชาชนทั่วไป ได้ผลลัพธ์ว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ถึง 80 เปอร์เซ็นต์กำลังเอือมระอากับภาวะเศรษฐกิจที่รัฐบาลแก้ไม่ตก และคิดว่าการกลับไปหาระบบเก่าจะทำให้ชีวิตสุขสบายขึ้น มีความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้นมิใช่มีเศรษฐีใหม่ที่รวยล้นฟ้าเพียงหยิบมืออย่างที่เป็นอยู่
ปัญหาเศรษฐกิจนี้ มีผลต่อเนื่องไปสู่ปัญหา การเมือง ซึ่งมิใช่เพียงแค่การต่อสู้แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะดำเนินไปตามครรลองในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ หากเป็นความแตกแยกทางการเมืองในหมู่ประชาชนเอง อนึ่ง การก่อรัฐประหารของกลุ่มที่ต้องการขัดขวางการเปลี่ยนแปลงและการแยกตัวของสาธารณรัฐในเครือสหภาพฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1991 เมื่อเสียงเชียร์เปเรสตรอยกายังหนักแน่นดังชัด ก็มิใช่ว่าจะขาดประชาชนสนับสนุน
คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนสำคัญของนายบอริส เยลต์ซินขณะนี้ได้แก่นายเกนนาดี ซูกานอฟ อดีตครูโรงเรียนผู้เป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ในปัจจุบัน นายซูกานอฟได้รับคะแนนนิยมมากเป็นพิเศษ เมื่อเขาประกาศนโยบายว่าจะไม่พาประเทศกลับไปสู่ภาวะการให้รัฐเข้าเป็นเจ้าของกิจการทุกอย่างเสียทั้งหมดตามแนวคอมมิวนิสต์ หากจะเข้ามาจัดการเฉพาะธุรกิจที่มีปัญหาเท่านั้น
ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น และการทำงานของระบบราชการที่อุ้ยอ้าย ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับคนสามัญส่วนใหญ่ การผลิตเคยเป็นปัญหามาแต่ก่อนและยังคงเป็นปัญหาซึ่งดูจะยิ่งซ้ำร้ายหนักลงผลผลิตมวลรวมในประเทศของรัสเซียตกลงถึง 19 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ที่นายเยลต์ซินเริ่มดำเนินโครงการปฏิรูปเมื่อวันที่ 2 มกราคม ปีค.ศ. 1992 โดยที่ผลผลิตในด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการสร้างเครื่องจักรกลตกลงไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อของรัสเซีย กำลังถูกนักสังเกตการณ์ผู้ชำนาญการมองว่า ได้ดำเนินมาถึงที่สุดแล้ว ไม่มีทางที่จะเลวร้ายลงไปกว่านี้ได้อีก ทุกสิ่งทุกอย่างจะเริ่มกระเตื้องขึ้นในปีหน้า และเมื่อกลไกเศรษฐกิจเริ่มทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำตามที่ได้กำหนดคะเนกันไว้ ความก้าวหน้าจะดำเนินไปในอัตราเร่งทวีไปเป็นลำดับ
นักสังเกตการณ์กล่าวกันว่า ไม่ว่าแนวการเมืองจะเอียงค่อนไปทางซ้ายหรือขวาไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะออกมาในรูปไหนก็จะไม่ขัดขวางความเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีผลต่อการกระจายโภคทรัพย์บ้าง
ปัจจุบันนี้ ยุโรปตะวันออกซึ่งเคยมีการปกครองในแนวสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์กำลังเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่สำคัญแห่งหนึ่ง บริษัทต่างๆมากมาย รวมทั้งที่มีสำนักงานใหญ่สำนักงานแม่อยู่ในเอเชียเข้าไปตั้งโรงงานอยู่ที่นั่น โดยอาศัยประโยชน์และความสะดวกจากวัตถุดิบและแรงงานฝีมือที่มีราคาถูก สภาพเช่นนี้คาดว่าจะเกิดกับรัสเซียด้วยเช่นเดียวกันในอนาคตอันใกล้
ขุมทรัพย์ในรัสเซียยังมีรอให้เข้าไปขุดอยู่มาก
|
|
|
|
|