ชัดเจนมากสำหรับเจตนารมณ์ของฮอนด้า มอเตอร์แห่งประเทศญี่ปุ่นที่หวังจะให้โรงงานประกอบรถยนต์ของฮอนด้าคาร์ส์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ซึ่งตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นฐานสำคัญของเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคนี้
เป็นความตั้งใจอย่างยิ่งยวด ของฮอนด้า มอเตอร์แห่งประเทศญี่ปุ่น ที่จะทำให้ภาพของพิธีเปิดโรงงานประกอบรถยนต์แห่งนี้ออกมายิ่งใหญ่สมกับความสำคัญที่มอบหมายให้
รวมถึงคำกล่าวอย่างหนักแน่นของโนบุฮิโกะ คาวาโมโต้ประธานกรรมการของฮอนด้า มอเตอร์แห่งประเทศญี่ปุ่น
“การเปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่นี้ นับเป็นก้าวสำคัญแห่งการเริ่มต้นยุคใหม่แห่งการพัฒนาประเทศไทย ในฐานะที่เป็นตลาดที่สำคัญในภาคพื้นเอเชีย โรงงานแห่งใหม่นี้ยังมีความสำคัญในการประสานความต้องการระหว่างผู้จัดหาวัตถุดิบในประเทศไทยกับตลาดวัตถุดิบในภูมิภาคเอเชียด้วยการปฏิบัติงานดังกล่าวได้รับการเกื้อหนุนจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของฮอนด้า รีเสิร์ชแห่งประเทศไทย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตของไทยให้ทัดเทียมระดับโลก”
สำหรับหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งตั้งขึ้นใหม่นี้แม้ว่าจะไม่ใช่การวิจัยและพัฒนาที่เริ่มจากจุดศูนย์ก็ตาม แต่ก็มีความสำคัญไม่น้อยเพราะจะเป็นหน่วยงานที่ประสานการทำงานต่อเนื่องจากที่ญี่ปุ่นส่งมาให้ เช่นการวิจัยด้านตลาดของภูมิภาคนี้และที่สำคัญเป็นการเน้นการพัฒนาชิ้นส่วนในภูมิภาคเอเชียทั้งปริมาณและคุณภาพ
การตั้งบริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์จำกัด ขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2537 ก็คืออีกส่วนงานหนึ่งของแผนที่จะให้ไทยเป็นตัวหลักในการรุกไปข้างหน้าในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย โดยปัจจุบันฮอนด้าจัดเครือข่ายระดับโลกไว้ 4 กลุ่มคือ ทวีปอเมริกา ทวีปยุโรปรวมถึงตะวันออกกลางและแอฟริกา ประเทศญี่ปุ่นและสุดท้ายฮอนด้าในภาคพื้นเอเชียและโอเชียเนีย
เอเชี่ยน ฮอนด้าฯ คือตัวแทนจากญี่ปุ่นโดยตรง มีอำนาจตัดสินใจในทันที ทั้งด้านตลาดและการผลิตเป็นเสมือนหัวหน้ากลุ่มของเครือข่ายฮอนด้าในภูมิภาคเอเชีย การเกิดของโรงงานฮอนด้า โรจนะหรือการทำให้โครงการผลิตชิ้นส่วนในภูมิภาคเป็นรูปธรรมก็มาจากความสำเร็จของการจัดกลุ่มโครงสร้างนี้
ก้าวต่อไปก็คือ การขยายระบบการบริหารในประเทศไทยให้กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารงานในภูมิภาคนี้ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน
“Glocalization” คือบัญญัติศัพท์ที่ฮอนด้า คิดค้นขึ้นมาเอง มันเป็นการรวมเอาคำสองคำมาไว้ด้วยกัน หนึ่งคือ Globalization อีกหนึ่งคือ Localization ภายใต้แนวคิดที่จะนำโลกาภิวัฒน์มาสู่ท้องถิ่นหรือภูมิภาคนั้น
ฮอนด้าเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการนำโลกถึงกัน ก็คือการเคารพในความหลากหลายและเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นเครือข่ายฮอนด้าในแต่ละแห่งจึงนำข้อดีทั้งด้านวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ของประเทศหรือภูมิภาคนั้นๆมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ฮอนด้ามุ่งหวังที่จะให้เครือข่ายในภูมิภาคต่างๆใช้ประโยชน์จากความมั่งคั่งและความเป็นตัวของตัวเองในฐานะสมาชิกของชุมชนท้องถิ่นให้มากที่สุด
นี่คือความหมายใหม่สำหรับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียซึ่งไทยจะเป็นฐานหลัก
ฮอนด้า ซิตี้ ซีดานคือรถยนต์นั่งโมเดลแรกภายใต้แนวคิดนี้
มาเลเซีย,อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์,ปากีสถานและไต้หวันคือ 5 ประเทศแรกที่จะรับชิ้นส่วนฮอนด้า ซิตี้ จำนวนหนึ่งจากประเทศไทยไปทำการประกอบจำหน่ายในประเทศของตน นี่คือภาพชัดว่าไทยคือศูนย์กลางในการเปิดจุดยุทธศาสตร์นี้
นอกจากซิตี้ ซีดานแล้วจะมีทยอยตามมาอีกในรอบ 1 ปีจากนี้และฮอนด้าซิตี้ 3 ประตู มีความเป็นไปได้มากที่สุดจะออกมาเผยโฉมต่อจากซีดาน
ฮอนด้าซิตี้ภายใต้โครงการนี้ ทางฮอนด้าได้ยื่นแบบต่อหน่วยงานรัฐไปทั้งสิ้น 9 แบบด้วยกัน ซิตี้ซีดานทั้ง 3 สเปกที่ออกมาให้ยลโฉมแล้วนั้น คือ 3 แบบแรกจากนั้น ซิตี้สามประตูจะเป็นอีก 3 แบบถัดมา ส่วน3 แบบสุดท้ายภายใต้รหัสนี้ ยังอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะเป็นอย่างไรและมีความเป็นไปได้ในการเปิดตลาดหรือไม่ โดย 3 แบบสุดท้ายนี้คาดหมายกันว่าจะเป็นฮอนด้า ซิตี้ 5 ประตู
ในขณะที่งานด้านโรงงานกำลังถูกวางและเดินหน้า ฮอนด้าก็ได้คิดแผนงานด้านตลาดไปพร้อมกัน
ฮอนด้าหวังจะวางสินค้าครอบคลุมตลาดหลักให้ครบทุกระดับไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสินค้าหรือราคาไล่ลงมาตั้งแต่แอคคอร์ด,ซีวิค ซีดาน,ซีวิค 3 ประตูซึ่งวางราคาไว้ระดับใกล้เคียงกับ ซิตี้ ซีดานและตัวเล็กสุดตามแผนงานในขณะนี้ก็คือซิตี้ 3 ประตู ซึ่งรวมแล้วรถยนต์นั่งฮอนด้าจะมีมากกว่า 10 แบบและราคาตรงนี้เป็นความพยายามที่มีมาตลอดในเรื่องความหลากหลายของสินค้า
อดีตฮอนด้ามีอุปสรรคอยู่ 2 ประการหลักจนทำให้ความหวังที่จะสร้างยอดขายเป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทยต้องพลาดเป้าหมายไป ทั้งๆที่เข้ามาตลาดนี้ได้ไม่กี่ปีก็ไล่ติดโตโยต้าซึ่งเป็นเจ้าตลาดอย่างชนิดเปิดไฟไล่หลังกันแล้ว
อุปสรรคแรกคือตัวสินค้าที่มีให้เลือกน้อยมาก ตรงนี้ทำให้ในเวลาต่อมาตลาดของฮอนด้าขยายตัวอย่างลำบาก แต่กระนั้นฮอนด้าก็ไม่ถือว่าพ่ายแพ้เสียทีเดียว เพราะเมื่อด้านยอดขายขยายได้ยาก ฮอนด้าที่ไม่ยอมเสียเวลาเลยหันมาเน้นด้านภาพพจน์ขององค์กรและตัวสินค้า ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามเพราะถ้าพูดถึงรถยนต์ญี่ปุ่นด้วยกันแล้ว ความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้ายังอยู่ที่ยี่ห้อฮอนด้ามากกว่ายี่ห้ออื่นใด
อุปสรรคประการที่สองก็คือการที่ฮอนด้าไม่มีโรงงานเป็นของตนเองในประเทศไทย แม้ว่าบางชัน เยนเนอเรล เอเซมบลี จะรับจ้างประกอบให้กับฮอนด้า และฮอนด้าคาร์ส์ฯ ถือหุ้นอยู่ 34% ด้วยนั้น แต่ก็ไม่เพียงพอกับการขยายงานในยุคบุกเบิกนั้น มิหนำซ้ำการขยับขยายโรงงานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะฮอนด้า ไม่ได้ถือหุ้นใหญ่และการที่จะสร้างโรงงานขึ้นใหม่ด้วยตัวเองก็ติดที่ใบอนุญาตไม่มีเนื่องจากขณะนั้นรัฐยังปิดกั้นรายใหม่อยู่
ความพยายามของฮอนด้ามีมาตลอดจนถึงวันนี้อาจกล่าวได้ว่าอุปสรรคที่จะคอยฉุดความร้อนแรงของฮอนด้าได้หมดไปแล้ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าฮอนด้าจะบุกทะลวงและวางยุทธวิธีในการศึกครั้งนี้อย่างไร
แต่จะออกมาอย่างไรผู้ร่วมกรำศึกในสมรภูมิที่ถือว่าเดือดที่สุดในภูมิภาคเอเชียแห่งนี้ก็คงต้องเตรียมแผนรับมืออย่างเต็มที่ไม่ว่ารายนั้นจะใหญ่แค่ไหนหรือเล็กเท่าใดก็ตามที
“โรงงานที่โรจนะแห่งนี้กำลังการผลิตเริ่มต้นจะอยู่ที่ 30,000 คันในปีนี้และในปี 2541 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 60,000 คันต่อปีและสามารถขยายการผลิตเป็น 400 คันต่อวันหรือราว 100,000 คันต่อปีได้” โนบุฮิโกะ คาวาโมโต้กล่าวพร้อมทั้งอธิบายว่า
ด้วยศักยภาพของพื้นที่โรงงานที่มีอยู่พร้อมด้วยแบบแปลนของโรงงานที่วางไว้ สามารถทำให้โรงงานแห่งนี้นอกจากจะสามารถปรับสายการผลิตได้อย่างคล่องตัวแล้ว การเพิ่มกำลังการผลิตก็สามารถทำได้โดยง่ายด้วยเงินลงทุนเพิ่มที่ไม่มากนักด้วย
“ถ้าจะขยายเป็นแสนคันก็คงต้องลงทุนเพิ่มอีก แต่คงไม่ใช่เงินลงทุนมากมายนักเพราะสามารถขยายได้หลายทาง เช่นการเพิ่มเครื่องจักร เพิ่มเวลาการทำงานหรือบุคลากร”
ยอดผลิตแสนคันต่อปีเฉพาะรถยนต์นั่งนั้นถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมากทีเดียว ซึ่งถ้าเกิดขึ้นภายในช่วงไม่เกิน 5 ปีจากนี้ คงคาดหมายได้ว่านั่นคือ ฮอนด้า กลายเป็นอันดับหนึ่งของตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทยไปแล้ว เสียดายตรงที่ว่าประธานฮอนด้าแห่งญี่ปุ่นยังไม่ระบุว่าแผนงานนี้วางไว้แน่นอนปีไหน
“ขยายในปีไหน ยังไม่อาจบอกได้ แต่เราเชื่อว่าในเวลาไม่กี่ปีจะเพิ่มขึ้นเป็นแสนคัน”
|