|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2539
|
 |
การเมืองเรื่องการเงินหรือการเงินเรื่องการเมืองเดือนที่ผ่านมาคงไม่มีอะไรเกินเรื่องเอกเรื่องนี้
ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
สุชาติ ตันเจริญและกลุ่ม 16
เรื่องราวเริ่มต้นและจบลงอย่างไรผมคงไม่ต้องบอกเล่า ณ เนื้อที่ออเดิร์ฟตรงนี้หรอกนะ ว่าไปแล้วก็ “ผู้จัดการรายเดือน” เองนี่แหละที่เพิ่งทำเรื่องจากปกว่าด้วยกรณีนี้ไปหมดๆโดยนักข่าวการเงินผู้เชี่ยวชาญชำนาญการเฉพาะด้าน ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องสรุปย่อซ้ำ ในขณะที่ประเด็นการเมืองนั้นก็ไม่มีอะไรลึกซึ้งนัก เป็นวิธีการทำมาหากินนำเงินมาเล่นการเมืองโดยการสมาคมกันระหว่างนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง กับนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่เคยเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของธนาคารแห่งประเทศไทย จะว่าเลวกว่าหรือดีกว่ากรณี ส.ป.ก. 4-01 ก็ว่ากันไป
สุเทพ เทือกสุบรรณ พลิกบกจากผู้ร้ายเมื่อปีก่อนมาเป็นพระเอกในปีนี้ ก็ว่ากันไป !
ผมไพล่ไปนึกถึงเรื่องต้นกำเนิดของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมากกว่า คุณผู้อ่านที่อ่าน “ผู้จัดการรายเดือน” มาก็พอจะรู้แล้วว่าไม่ใช่เริ่มต้นจากคนของตระกูลอินทรฑูต
ตระกูลอินทรฑูตเข้ามาเป็นใหญ่ได้ก็เพราะคนดังในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคนหนึ่ง
พระพินิจชนคดี
ท่านผู้นี้เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้ทำคดีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตกจากอำนาจของรัฐบุรุษอาวุโส มันสมองของคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
ท่านปรีดี พนมยงค์
พระพินิจชนคดีเป็นต้นตระกูลอินทรฑูต
พระพินิจชนคดีเป็นสามีของ ม.ร.ว.บุญรับ (ปราโมช) พินิจชนคดี พี่สาวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเคยเป็นนักการเงินผู้ยิ่งใหญ่พอตัวในธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ
ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การมีปัญหาในการดำเนินงานมาพอสมควร ส่วนหนึ่งก็เพราะความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น ในที่สุดผู้ถือหุ้นกลุ่มตระกูลอินทรฑูตก็ได้ชัยชนะเป็นคำรบ 2 หลังจากพระพินิจชนคดีได้ชัยคำรบแรกมาแล้ว
เมื่อ 10 ปีก่อน
เกริกเกีรยติ ชาลีจันทร์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลอินทรฑูตลาออกจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นเบอร์ 1 ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์เป็นลูกชายของอินทิรา (อินทรฑูต) ชาลีจันทร์ลูกสาวของพระพินิจชนคดี ภรรยาของนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์
เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ที่จริงเป็นคนมีความสามารถ
การแก้ปัญหาธนาคารให้ทำเงินจากกิจการพื้นฐานของธนาคารแม้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำสำเร็จในระยะสั้น พอดีตลาดหุ้นบูม การหาเงินให้ธนาคารด้วยวิธีที่ไม่ใช่พื้นฐานของกิจการธนาคารดั้งเดิมจึงเริ่มต้นขึ้น
เผอิญตลาดหุ้นไม่บูมนาน
โศกนาฏกรรมจึ่งเกิดขึ้นด้วยประการที่เห็นกันอยู่
ข้อมูลที่เป็นตะปูตอกฝาโลงให้ตระกูลอินทรฑูตต้องหลุดออกจากธนาคารที่ไม่ใช่ของตัวเองแต่แรกนั้น น่าสนใจในสายตาผมว่าไม่ได้มาจากไหนหรอก
พรรคประชาธิปัตย์
ย้อนประวัติศาสตร์ไปไกลสักหน่อย พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ของชวน หลีกภัย พิชัย รัตตกุลหรือใครต่อใคร แรกเริ่มเดิมทีคนตั้งพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับควง อภัยวงศ์มากับมือก็บรรพบุรุษของเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์เองนี่แหละ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
และก็ด้วยภารกิจเพื่อโค่นล้มท่านปรีดี พนมยงค์ หนทางสายเดียวกับพระพินิจชนคดี
กล่าวกันว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชมีของรักของหวงอยู่ 2 ประการคือ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ กับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ทั้ง 2 ประการนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชรักษาไว้ได้ยามมีชีวิตอยู่
สิ้นชีวิตไปได้ไม่นานทุกสิ่งทุกอย่างก็หลุดลอยไป
|
|
 |
|
|