|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2539
|
 |
การเผยแพร่ศิลปะการขับขี่รถยนต์สปอร์ต ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยต่อการเปิดตลาดเพราะรถแรงใช่ว่าจะแรงได้ทุกสถานการณ์หรือทุกลักษณะการขับขี่ที่สำคัญคือความปลอดภัย
“ต้องรู้ใจเขาและเอาเขาให้อยู่”
พีระพงษ์ กลั่นกรองวิทยากรผู้แนะนำเทคนิคการขับขี่รถยนต์สปอร์ตยี่ห้อมาเซราติ กล่าวถึงการขับขี่ยนตรกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อความแรงและสะใจว่าต้องเข้าให้ถึง
ธนพล สมรูป ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและการขาย แผนกรถยนต์สปอร์ต มาเซราติ บริษัท สวีเดน มอเตอร์ส จำกัด (มหาชน) คิดแผนงานขึ้นมาเพื่อการสร้างตลาดรถยนต์สปอร์ตอย่างมาเซราติ ด้วยยุทธวิธีที่จะให้ลูกค้าเข้าถึงประสิทธิภาพของ “มาเซราติ” อย่างสมบูรณ์ที่สุด
“เราจะเริ่มในเดือนมีนาคมนี้ โดยจัดกลุ่มลูกค้าอย่างน้อยกลุ่มละ 10 คน นำมาเข้าฝึกอบรมการขับขี่มาเซราติ โดยใช้สนามไทยแลนด์เซอร์กิตที่จังหวัดนครปฐมเป็นสนามฝึกหัด โดยหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้ลูกค้าทั้งที่ซื้อไปแล้วและอยู่ระหว่างตัดสินใจได้รู้จักประสิทธิภาพของมาเซราติมากขึ้น”
โครงการนี้จะมี พีระพงษ์ กลั่นกรองเป็นผู้ฝึกสอนซึ่งทางธนพลกล่าวว่า ได้วางแผนงานนี้ไว้ปีต่อปี
สำหรับพีระพงษ์นั้นอดีตเป็นมือทดสอบรถยนต์ของนิตยสารกรังด์ปรีซ์ อดีตนายสนามพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ปัจจุบันเป็นผู้ฝึกสอนเทคนิคการขับขี่รถยนต์ให้หลายสถาบัน รวมทั้งฝึกสอบให้กับตำรวจกองปราบปรามและตำรวจท่องเที่ยวด้วย
ก่อนการฝึกอบรมให้กับลูกค้าจะเริ่มต้นขึ้นทางมาเซราติได้จัดโปรแกรมประเดิมเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยฝึกอบรมให้กับนักข่าวประมาณ 30 คนในโครงการ “THE ART OF DRIVING MASERATI” ณ สนามพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต
เริ่มต้นพีระพงษ์ วิทยากรผู้ฝึกสอนหรือครูฝึกของโครงการนี้ ได้เล่าถึงความเป็นมาของมาเซราติ พูดถึงลักษณะโดยทั่วไปของรถยนต์สปอร์ตอาการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในสภาพรถยนต์ที่มีรายละเอียดต่างกัน
เช่น อาการท้ายปัดเมื่อเข้าโค้งหรือเหยียบเบรกแรงๆซึ่งจะพบว่ารถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลังวางเครื่องด้านหน้าจะมีอาการท้ายปัดไม่มาก ถัดมารถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลังวางเครื่องตรงกลางหรืออาจเรียกว่ากลางลำจะมีอาการท้ายปัดมากขึ้นและสุดท้ายขับเคลื่อนล้อหลังวางเครื่องด้านท้ายจะมีอาการท้ายปัดมากที่สุด ส่วนกรณีรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อจะมีอาการดังกล่าวน้อยที่สุด
สำหรับมาเซราติเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลังวางเครื่องด้านหน้าและอีกหลายคุณลักษณะของมาเซราติ ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมครั้งนั้นจำเป็นต้องรับรู้ครูฝึกย้ำไว้เสมอไม่ว่าจะขับขี่รถยนต์รุ่นใดคันใดก็ตามจำเป็นจะต้องรู้ถึงรายละเอียดเอาไว้บ้างพอสมควรเพื่อการขับขี่อย่างปลอดภัย
ศิลปะการขับรถยนต์ที่ได้เรียนรู้ในวันนั้น แม้จะเป็นขั้นพื้นฐานแต่ก็มีประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นพื้นฐานที่ได้ลองกับรถสปอร์ตอย่างมาเซราติ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่ขับขี่ยากพอสมควรถ้าไม่ได้เรียนรู้ในคุณลักษณะแห่งความร้อนแรงนั้น
การจับพวงมาลัยที่ถูกต้องและดีที่สุดคือการคว่ำมือเข้าหาพวงมาลัย มือซ้ายอยู่ที่ตำแหน่งเลข 9 บนหน้าปัดนาฬิกาและมือขวาอยู่ที่ตำแหน่งเลข 3 สิ่งที่ไม่ควรกระทำก็คือการหงายมือสอดเข้าในพวงมาลัยเพื่อดึงพวงมาลัยในกรณีเลี้ยวรถหรือกลับรถก็ตามซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องตรงข้ามกับความเคยชินของนักขับรถทั่วไป
การเร่งเครื่องยนต์ในตำแหน่งต่างๆกรณีเข้าโค้งสิ่งที่ควรกระทำที่สุดเมื่อเข้าโค้งก็คือการผ่อนคันเร่งพร้อมลดเกียร์ต่ำลงมาหรือเหยียบเบรกก่อนเข้าสู่โค้งและจะเร่งส่งเครื่องยนต์ต้องแน่ใจว่าพ้นจุดกึ่งกลางโค้งไปแล้วซึ่งจะปลอดภัยที่สุด
“นั่งตัวตรงๆมองไปข้างหน้าไกลๆสายตาสำคัญต้องอ่านถนนให้ออกและต้องมองโดยรอบข้างหน้า 80% อีก 20% คือการมองขวา-หลัง-ซ้าย และแผงหน้าปัดรถยนต์เพื่อดูว่าส่วนใดมีปัญหาหรือไม่”
ครูฝึกพูดถึงการนั่งขับขี่รถยนต์ว่าที่ถูกต้อง ต้องทิ้งน้ำหนักที่ก้นกบ นั่งตัวตรงอย่าเอนมากเกินไป เพราะถ้าเอนมากน้ำหนักจะไปทิ้งที่กระดูกสันหลัง ซึ่งเวลาชนหรือกระแทกหนักๆอาจทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนได้และถ้าโชคร้ายอาจถึงขั้นพิการหรืออัมพาตเลยทีเดียว
การเข้ารับการฝึกอบรมทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับการขับขี่รถยนต์ที่ถูกต้องอย่างปลอดภัย ซึ่งจะว่าไปแล้วในหลายประเทศที่พัฒนาไปไกลกว่าไทยจะมีโรงเรียนสำหรับการนี้โดยเฉพาะ แต่สำหรับเมืองไทยแล้วยังไม่มีให้เห็นซึ่งครูฝึกกล่าวว่า การตั้งโรงเรียนขึ้นมาเพื่อเปิดสอนในลักษณะนี้ในเมืองไทย ความเป็นไปได้แทบจะไม่มีเลยเพราะคนไทยยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญมากนัก แค่ขับรถยนต์ได้ก็เพียงพอแล้ว
ถ้าไม่ใช่บริษัทรถยนต์ออกค่าใช้จ่ายเพื่อหวังผลจากการจำหน่ายสินค้าในลำดับต่อมาเชื่อว่าอีกนานที่จะเห็นการเปิดสอนการขับขี่รถยนต์อย่างถูกต้องและปลอดภัยมากที่สุดเกิดขึ้นในเมืองไทย
|
|
 |
|
|