|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2539
|
|
การสูญเสียฟันโดยเฉพาะฟันแท้ ในทางการแพทย์ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร สุขภาพร่างกายและมีผลต่อบุคลิกภาพอาจทำให้บุคคลนั้นสูญเสียความมั่นใจที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข มีบางรายที่สามารถใส่ฟันปลอมชนิดติดแน่นแต่ต้องกรอฟันธรรมชาติเพื่อเป็นหลักยึด และมีไม่น้อยที่ต้องใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ซึ่งบางรายก็สามารถปรับตัวได้และบางรายที่ต้องทนใส่อยู่ คำถามในใจของคนที่สูญเสียฟันแท้คือ เขาน่าจะป้องกันรักษาฟันไว้ดีกว่านี้ หรือเมื่อสูญเสียฟันไปแล้วมีวิธีอื่นใดที่ดีกว่าวิธีการใส่ฟันปลอมแบบเดิม
มนุษย์มีฟันธรรมชาติชุดแรกที่เรียกว่า ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ฟันชุดที่สองคือ ฟันแท้จะขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 ปี ฟันชุดนี้เป็นชุดสุดท้ายแข็งแรงกว่าชุดแรก ถ้าไม่มีปัญหาโรคฟันและเหงือกแล้วสามารถทำงานบดคี้ยวอาหารได้ตลอดชีวิตของมนุษย์ ฟันธรรมชาติจะยึดติดกับกระดูกขากรรไกรด้วยส่วนของรากฟันโดยมีเอ็นยึดปริทันต์อยู่รอบรากฟัน ยืดหยุ่นรับแรงบดเคี้ยวอาหาร
ถ้าใครสูญเสียฟันแท้ซี่ใดก็ตาม ยกเว้นฟันกรามซี่สุดท้ายที่ไม่มีประโยชน์ ไปด้วยสาเหตุฟันผุ โรคเหงือกอุบัติเหตุหรือสาเหตุอื่นๆแน่นอนผลที่ตามมาก็คือฟันห่างฟันคู่สบยาวลงมาในช่องว่างเคี้ยวอาหารได้มีประสิทธิภาพมีผลต่อสุขภาพ บุคลิกภาพด้วยวิธีการที่จะทดแทนฟันที่สูญเสียไป มนุษย์พยายามค้นหาวิธีการทำฟันปลอมทดแทนมานับพันปี พัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆเป็นชนิดถอดได้และติดแน่นเหมือนในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราต้องการและฝันไว้คือการสร้างรากฟันใหม่ยึดติดกับกระดูกเหมือนรากฟันธรรมชาติ ในที่สุดความฝันเริ่มเป็นจริง โดยเมื่อ ค.ศ. 1950 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่ามีวัสดุหลายชนิดสามารถนำมาฝังยึดติดกับกระดูกและเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์ได้ แต่ที่ดีที่สุดคือโลหะไทเทเนียม ทำให้มีการศึกษาเรื่องราวของโลหะไทเทเนียมกันอย่างจริงจัง
การนำโลหะหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆฝังลงในกระดูกขากรรไกร โดยปกติขบวนการทางธรรมชาติของร่างกายจะต่อต้านไม่ยอมรับสิ่งแปลกปลอม โดยเม็ดเลือดขาวจะเข้าไปต่อต้านและเร่งขบวนการเกิดออกซิเจนบนพื้นผิวโลหะ ถ้าเป็นโลหะชนิดอื่นเช่นเหล็กก็จะเกิดสนิม การผุกร่อน แต่ไทเทเนียมไม่เป็นสนิม การเพิ่มออกซิเจนบนพื้นผิวโลหะไทเทเนียมกลับให้ผลดีคือจะหยุดยั้งขบวนการต่อต้านของเม็ดเลือดขาวและมีการสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อเข้ายึดติดกับโลหะไทเทเนียม นี่คือจุดเปลี่ยนแปลงในการทำรากเทียมให้เหมือนฟันธรรมชาติและเป็นจุดหักเหที่สำคัญสำหรับอนาคตโดยต้องขอบคุณต่อผู้ที่ค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะศาสตราจารย์เปอร์ อิงกวา เบรนเนมาร์คแพทย์นักวิจัยชาวสวีเดนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการค้นพบวิธีการทำรากเทียมระบบเบรนเนมาร์คที่มีชื่อเสียงที่สุดโดยหลักการเดียวกันทำให้ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าโลหะไทเทเนียมสามารถยึดติดกับกระดูกและเนื้อเยื่อของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นส่วนของกระดูกขากรรไก ใบหน้า แขนขาและส่วนอื่นๆทำให้มีการค้นคว้าวิจัยและประสบความสำเร็จในการรักษาคนไข้ที่พิการทุพพลภาพจำนวนมาก
การฝังรากเทียมให้เกิดความสำเร็จจะต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นอย่างดี จะต้องพิถีพิถันในการเลือกคนไข้ที่เหมาะสำหรับการรักษาโดยวิธีนี้ การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน สะอาดปราศจากเชื้อ เทคนิคการทำต้องแม่นยำแน่นอน ขั้นตอนแรกเป็นการทำโดยฝังส่วนของรากเทียมไทเทเนียมลงในกระดูกขากรรไกรแล้วเย็บปิดให้แผลหาย รอเวลาให้กระดูกเข้าเชื่อมยึดกับรากเทียมไทเทเนียมประมาณ 4 เดือนสำหรับกระดูกขากรรไกรล่างและ 6 เดือนสำหรับกระดูกขากรรไกรบนขั้นตอนต่อไปคือ การต่อส่วนโลหะกับรากเทียมโผล่พ้นเหงือกเพื่อใช้เป็นหลักยึดของครอบฟันเมื่อเหงือกรอบๆรากเทียมหายเป็นปกติ จะมีการพิมพ์ปากเพื่อนำไปทำครอบฟันในห้องแล็บทันตกรรมแล้วนำมายึดติดแน่นกับส่วนของโครงโลหะรากเทียม ทำให้สามารถมีฟันที่ทำหน้าที่เหมือนฟันธรรมชาติมากที่สุด
การทำรากเทียมในปัจจุบันมีหลายระบบที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับได้ แต่ที่ดีที่สุดและยอมรับกันทั่วโลกคือระบบของเบรนเนมาร์ค ซึ่งคุณภาพของรากเทียมคงจะคุ้มกับราคาที่ค่อนข้างสูง ถ้าหากท่านสูญเสียฟันแท้ การใส่ฟันโดยการทำรากเทียมจะเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีที่สุด ทำให้ฟันที่ใส่ใหม่สามารถทำได้โดยไม่ต้องไปยึดหรือกรอเนื้อฟันข้างเคียง ไม่ต้องถอดเข้าถอดออกไม่ต้องอาศัยการทำความสะอาดที่ยุ่งยากและที่แน่นอนที่สุดจะให้ความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่า ฟันแท้ที่เราสูญเสียไปแล้วในอดีตได้กลับคืนมาเหมือนเดิม
|
|
|
|
|