|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2539
|
|
ในนวนิยายคลาสสิกของจอห์น สไตน์เบกเรื่อง EAST EDEN อดัม ทรักสต์ พยายามที่จะใช้น้ำแข็งเพื่อเก็บรักษาผักกาดหอมให้สดใหม่เพื่อขนส่งจากหมู่บ้านซาลินาส รัฐแคลิฟอร์เนียไปยังนิวยอร์กโดยอาศัยทางรถไฟ ผลปรากฎว่าเจ้าผักกาดกรอบสีเขียวสดได้แปลงสภาพเป็นผักที่เปียกโชกเมื่อมาถึงนิวยอร์ก
บรูซ เชิร์ชและลูกเขยของเขาคือเทเลอร์และแมกนามาราได้ก่อตั้งเฟรช อินเตอร์เนชั่นแนลคอร์ป เพื่อทำธุรกิจที่ไม่หยุดเพียงแค่ขนส่งผักกาดหอมอย่างในนิยายของสไตน์เบกเท่านั้นแต่ยังก้าวไกลไปถึงขนส่งสลัดบรรจุถุงที่พร้อมรับประทานได้ทันที
เชิร์ชถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจปลูกผักกาดหอมในชาลินาสและเป็นหนึ่งในผู้ปลูกผักกาดหอมรายแรกๆที่ประสบความสำเร็จในการใช้น้ำแข็งเก็บรักษาผักกาดหอมสดและส่งออกไปขายนอกหมู่บ้านและเมื่อเขาถึงแก่กรรมในปี 1958 เขาก็ได้มอบบริษัทให้กับลูกเขยคือเอ็ดเวิร์ด เทด เทเลอร์
ในระหว่างทศวรรษที่ 1960 เทเลอร์ได้จับมือกับเวิร์ล พูล คอร์ป โดยเฟรช อินเตอร์เนชั่นแนลได้พัฒนาระบบการเก็บรักษาผักกาดโดยใช้ส่วนผสมของไนโตรเจน ออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อปรับเปลี่ยนอากาศในพื้นที่ปิดและยืดระยะเวลาช่วงที่ทำให้ผลไม้แช่แข็งและผักจะทำปฏิกิริยากับชั้นบรรยากาศจนเกิดการเน่าเสียออกไปและต่อมาระบบของเทเลอร์ก็กลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในการขนส่งทั้งสตอเบอรี่และของสดอื่นๆ
เทเลอร์ฝันที่จะลดการพึ่งพิงอยู่แต่เพียงธุรกิจผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ เขาต้องการที่จะก้าวถึงขั้นทำธุรกิจแพ็กสลัดไว้ในถุงขณะที่ยังสามารถคงความสดไว้หลายสัปดาห์และขายมันภายใต้แบรนด์เนมว่า “เฟรช เอ็กซ์เพรส”
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เขาวาดฝันไว้ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะผักกาดหอมก็เหมือนกับผักอื่นๆที่เมื่อเราตัดมันออกจากต้นแล้วก็จะสูดเอาออกซิเจนเข้าไปขณะที่คายคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและความร้อนออกมาและเมื่อถูกปล่อยทิ้งไว้ในอากาศที่เปิดโล่ง เจ้าผักกาดหอมก็จะสูดเอาออกซิเจนเก็บไว้มากเท่าที่จะเก็บได้ ซึ่งเท่ากับไปเร่งช่วงระยะเวลาการเน่าเปื่อยให้เร็วยิ่งขึ้น ขณะที่กลวิธีเก็บรักษาผักกาดไว้นานๆก็คือการควบคุมอัตราการสูดรับอากาศเพื่อชะลอการสูดออกซิเจน
ผลก็คือ ธุรกิจขายสลัดบรรจุถุงพร้อมรับประทานของเทเลอร์ล้มเหลวในตอนต้นเพราะสลัดส่วนใหญ่จะร้อนและไม่เป็นท่าเมื่อส่งมาถึงชั้นวางของแต่เขาก็แก้ปัญหาด้วยการผลิตถุงพลาสติกด้วยตัวเองซึ่งมีคุณสมบัติคือช่วยระบายเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผักกาดหอมสูดเข้าไปออกมามากกว่าปริมาณออกซิเจนที่เข้าไปขณะที่ไนโตรเจนก็จะถูกอัดฉีดเข้าไปถุงเพื่อแทนที่ออกซิเจน ผลก็คือช่วยชะลอระยะเวลาการเน่าเปื่อยของเจ้าผักสีเขียวชนิดนี้
เทเลอร์ผู้บุกเบิกธุรกิจการจัดจำหน่ายสลัดบรรจุถุงได้เริ่มขายสลัดยี่ห้อเฟรช เอ็กซ์เพรสในปี 1989 เนื่องเพราะผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มหันมานิยมอาหารที่สะดวกต่อการรับประทานและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ส่งผลให้สลัดสำเร็จรูปของเขาเริ่มฮิตติดตลาด แต่ในขณะที่เขากำลังใกล้จะเห็นความฝันเป็นผลสำเร็จขึ้นมา ก็มีอันต้องจบชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเสียก่อนในปี 1991 และได้ลูกชายคือบรูซและสตีฟรับช่วงกิจการต่อ
ปีนี้ ยอดขายของเฟรช อินเตอร์เนชั่นแนลคาดว่าอยู่ราว 450 ล้านดอลลาร์
โดยมีส่วนแบ่งในธุรกิจสลัดบรรจุถุงสำเร็จรูปอยู่ถึง 40% ผู้บริโภคติดใจสลัดบรรจุถุงสำเร็จรูปเพราะจ่ายเงินไม่มากแถมไม่ต้องมานั่งจู้จี้จุกจิกอยู่กับการตระเตรียมผักนับสิบชนิด โดยสนนราคาตก 1.29 ดอลลาร์ต่อ 1 ถุง จนถึง 2.99 ดอลลาร์สำหรับสลัดเม็กซิกันแฟนซีที่ประกอบด้วยผักกาดหอมแช่แข็ง แคร็อท เนยแข็ง ขนมปังข้าวโพดและครีมสลัดชนิดเปรี้ยว
ความสำเร็จของสลัดบรรจุถุงยังก้าวไกลไปถึงขั้นที่ว่าร้านค้าปลีกจำนวนมากถึงกับลงทุนตั้งตู้ขายสลัดแยกไว้ต่างหาก รวมถึงผักสดอีกหลากประเภทและตอนนี้เฟรช อินเตอร์เนชั่นแนลก็กำลังเล็งทำสลัดผลไม้รวม อย่างเช่นแตงโมหรือสตอเบอรี่และสลัดไก่
|
|
|
|
|