Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ 5 กรกฎาคม 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ5 กรกฎาคม 2548
คิดนอกกรอบ             
โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
 





วันก่อนได้มีโอกาสไปดูคอนเสิร์ตของวงออร์เคสตรา จากสิงคโปร์ (Singapore Chinese Orchestra) ที่อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเล่นดนตรีจีนร่วมสมัยให้ชาวจอร์ดี้ของนิวคาสเซิลได้ฟังเป็นบุญหูกัน ฉันเองก็พลอยได้อานิสงส์จากงานนี้ ไปร่วมฟังและปล่อยจิตใจให้เบิกบานไปอยู่สักพัก

คอนเสิร์ตครั้งนี้ทำให้ฉันมีอะไรเก็บไปนอนก่ายหน้าผากคิดต่อที่บ้านอยู่หลายคืน ถึงเรื่องการ "คิดนอกกรอบ" เพราะเพลงที่เขาบรรเลงให้ฟังนั้นแปลกแหวกแนวเพลงจีนโบราณออกไปมากเหลือเกิน ทั้งๆ ที่สมาชิกของวงเกือบ 30 กว่าคน (จากทั้งหมด 50 กว่าชีวิต) ก็เล่นเครื่อง ดนตรีโบราณของจีนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลองใหญ่ ขลุ่ย พิณ Guzheng พิณ Pi Pa หรือจะเป็นซอ Er Hu (คล้ายซออู้บ้านเรา) ก็ตาม แต่เสียงดนตรีที่ดังออกมากลับเป็นการผสมผสานระหว่างจีนโบราณกับดนตรีเทศได้อย่างน่าสนใจยิ่ง (คุณผู้อ่านสามารถดูรูปและลองฟังเสียงของเครื่อง ดนตรีแต่ละชนิดได้ที่ http://www.sco.com.sg/learn.asp)

ดนตรีที่ทางวงนำมาเล่นให้ชาวจอร์ดี้และไม่ดี้อย่างฉันฟังนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์จีนชื่อดังเรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon ซึ่งผสานเครื่องดนตรีจีนโบราณกับเครื่องดนตรีของฝั่งตะวันตกอย่างเชลโล่และไวโอลินเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังมีดนตรีร่วมสมัยที่นักประพันธ์เพลงชาวอังกฤษ Michael Nyman เพิ่ง แต่งให้วงออร์เคสตราของสิงคโปร์เสร็จไปหมาดๆ มาแสดง ด้วย คอนเสิร์ตจึงมีทั้งเสียงซออันโหยหวนชวนปวดใจ เสียง ขลุ่ยพลิ้วไหวชวนเคลิบเคลิ้ม สลับกับเสียงฉิ่งฉาบดังกังวาน ปลุกคนดูให้ตื่นจากภวังค์ รวมทั้งเสียงซอของนักดนตรีอีกยี่สิบกว่าชีวิต ที่ดังอี๊ดๆ อ๊าดๆ ไม่เป็นเพลง โดยเริ่มต้นอย่างช้าๆ และเร่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เป็นจังหวะ ซึ่งเสียงเหล่านี้ห่างจากท่วงทำนองของเพลงจีนโบราณที่เราคุ้นหูกันไปหลายหมื่นลี้ แถมยังมีเสียงทุ้มๆ ของเชลโล่เข้ามาแทรกอีก ทำให้ในบางช่วงของคอนเสิร์ต ฉันก็เริ่มงงไปเหมือนกันว่านี่มันเพลงจีนหรือเพลงชาติไหนกันแน่

แต่ที่ประทับใจที่สุดเห็นจะเป็นการละเลงบทกลอนกันสดๆ บนเวทีของนักกวีชาวจีน ด้วยการใช้พู่กันแท่งยักษ์ ชุบหมึกดำ ร่ายอักษรจีนเป็นบทกวีบนกระดาษขาวแผ่น โต ความเคลื่อนไหว ทุกย่างก้าวของเขาถูกถ่ายทอดให้ผู้ชมได้ชมกันบนโปรเจ็กเตอร์ใหญ่หน้าเวที นับเป็นการแสดงที่ไม่เหมือนใคร เป็น การ "คิดนอกกรอบ" ที่แหวกแนวไปจากคอนเสิร์ตทั่วไป

และก็ต้องขอชมความสามารถในการ "คิดนอกกรอบ" ของนักประพันธ์เพลงชาวจีน Tan Dun ที่แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ดังกล่าวได้อย่างยอดเยี่ยม โดยที่ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์โบราณของดนตรีจีนสมัยก่อน แต่กลับ นำสิ่งดีๆ ทั้งจากจีนและจากตะวันตกมาประยุกต์ใช้กับงาน ของตน ผลงานที่ออกมาจึงมีความเป็นตัวตนของตนที่แท้จริง ได้อรรถรสแห่งความนุ่มนวลของดนตรีทางฝั่งตะวันออก และความเร้าใจในแบบตะวันตก ไม่ใช่การเอาแต่เล่นเพลงจีนโบราณเดิมๆ หรือการไปลอกตะวันตกมาทั้งดุ้น พอได้ฟังเพลงของวงนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงภาพยนตร์ "โหมโรง" ฉากที่ "ท่านครู (ศร)" เล่นระนาดเพลงไทยเดิม แจมกับลูกชายที่เล่นเปียโนเพลงฝรั่ง แต่เพลงที่บรรเลงออกมานั้นเข้ากันได้อย่างกลมกลืนที่สุด ซึ่งก็แสดงถึงการ "คิดนอกกรอบ" อย่างหนึ่ง

คอนเสิร์ตที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถูกจัดขึ้นที่ The Sage โรงคอนเสิร์ตแห่งใหม่ของเขต Gateshead ซึ่งอยู่ห่างจากเขตนิวคาสเซิลไปเพียงแค่ช่วงข้ามแม่น้ำเท่านั้น สถาปัตยกรรมของโรงคอนเสิร์ตนี้ก็เป็นผลจากการ "คิดนอกกรอบ" อีกเหมือนกัน คนส่วนใหญ่มักคิดว่า โรงแสดง ดนตรีคลาสสิกต้องดูโอ่อ่าหรูหรา ประดับประดาให้อลังการ แต่ถ้าคุณผู้อ่านดูภาพ The Sage แล้วจะเห็นได้ว่า ต่างจาก ภาพของโรงคอนเสิร์ตทั่วไปอย่างลิบลับ เพราะ The Sage ดูเหมือนอุโมงค์ยักษ์สีเงิน และหลังคาที่โค้งและเว้าราวกับคลื่นทะเล การตกแต่งภายในเรียบ ไม่มีศิลปกรรมบนผนังให้เขรอะขระ ดูยังไงก็ไม่เหมือนโรงคอนเสิร์ตอยู่ดี แต่กลับเป็นสถาปัตยกรรมที่แปลกแหวกแนว ไม่เหมือนใคร ทาง The Sage เองก็ยังมีอารมณ์ขันอยู่ไม่น้อย ทำเสื้อยืดออกมา ขายในร้านของตนโดยพิมพ์คำปะหน้าอกเสื้อว่า 'Big, Curvy and Beautiful' ซึ่งตอนแรกฉันก็นึกว่าคงจะทำมาเอาใจคนอ้วน แต่เพื่อนอีกคนที่ตีโจทย์แตก เผยให้ฟังว่าเขาหมาย ถึงรูปร่างของตัวตึก The Sage ต่างหาก ที่ทั้งใหญ่ ทั้งโค้ง และเว้าแล้วก็สวยด้วย ฉันจึงถึงบางอ้อกับเขา

นอกจากจะนำเสนอดนตรีชั้นสูงแบบออร์เคสตราแล้ว The Sage ยังนำดนตรีหลายประเภทมาเอาใจคนดูหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นบ้านอย่างดนตรีเคลทิค (Celtic) อันเร้าใจของชาวสกอตและชาวไอริช ดนตรีอินเดียโบราณ จีนโบราณ หรือศิลปินจากคิวบาอย่าง Ibrahim Ferrer แห่งวง Buena Vista Social Club หรือจะเป็นคอนเสิร์ตเพลง แร็ป เขาก็ยังเอามาแสดงที่นี่ในคืนวันศุกร์ นำดีเจชื่อดังมาเปิดเพลงให้วัยรุ่นได้ดิ้นกันให้สะใจ เสียอยู่อย่างเดียว ยังไม่มี วงระนาดของไทยมาเล่นให้ฝรั่งได้ชื่นชมกัน (นักดนตรีไทย ท่านไหนสนใจ ลองติดต่อเขาดูนะคะที่ www.thesage gateshead.org) เรียกว่า The Sage เอาใจลูกค้าตั้งแต่รุ่นเด็กจนรุ่นดึก เชื่อมช่องว่างระหว่างวัยของประชากรภาคเหนือได้อย่างแนบเนียน และเป็นการใช้ประโยชน์ของสถานที่ได้อย่างเต็มที่ ไม่เหมือนกับโรงละครหรือโรงคอนเสิร์ตของบ้านเราและของอังกฤษเองอีกหลายๆ แห่ง ที่ยังมีความเป็นอนุรักษนิยมอยู่มาก นำเสนอแต่สิ่งเดิมๆ ดนตรีชั้นสูงแบบเดิมๆ ให้ผู้บริโภคมีระดับได้รับประโยชน์ไปเท่านั้น ไม่ได้นำเอาวิธี "คิดนอกกรอบ" มาใช้ในการส่งเสริมให้คนทุกชนชั้นได้มีโอกาสเสพวัฒนธรรมกันถ้วนหน้า (ขอเพิ่มเติมสักนิดว่า ค่าตั๋วคอนเสิร์ตของ The Sage ถูกมาก แถมนักศึกษายังได้ลดครึ่งราคาอีก) ซึ่งถ้าทำได้จะเป็น ประโยชน์ต่อประชาชนไม่น้อย เพราะจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ ของคน ให้หันมาใส่ใจกับวัฒนธรรมและประเพณีทั้งของตนและของประเทศรอบตัวและรอบโลก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในยุคโลกาภิวัตน์นี้

อีกตัวอย่างของการ "คิดนอกกรอบ" ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังก็คือ การที่รัฐบาลของเมืองบางแห่งในอังกฤษ นำตึกโรงงานเก่าๆ มาประยุกต์ดัดแปลงให้เป็นหอศิลป์ เปิดให้ประชาชนไปชื่นชมงานศิลป์ร่วมสมัยกัน เช่น ตึก The Baltic หอศิลป์แห่งใหม่ของ Gateshead ซึ่งแปลงตึกเก่าของโรงงานผลิตแป้ง Baltic Flour Mill ให้เป็นพื้นที่ศิลปะให้ประชาชนได้ยลงานศิลป์กันอย่างฟรีๆ ได้ประโยชน์ กว่าที่จะทุบตึกล้าสมัยนี้ทิ้งไปเปล่าๆ หรืออย่างการที่รัฐบาลของลอนดอน นำโรงไฟฟ้าเก่าแก่มาเปลี่ยนเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยชื่อ Tate Modern โดยโละเอาเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าออกไป แล้วปรับพื้นที่ให้เป็นศูนย์แสดงนิทรรศ การด้านงานศิลปะแทน ความคิดนอกกรอบแบบนี้เป็นการสร้างสรรค์งานจรรโลงใจที่น่าชื่นชม

ซึ่งทำให้ฉันหวนนึกไปถึงตึกเก่าๆ หลายแห่งในกรุงเทพฯ ที่มีแต่จะถูกละเลยปล่อยให้ทรุดโทรมไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็ถูกขึ้นบัญชีทุบทิ้ง แทนที่จะได้รับการบูรณะแล้ว นำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น เพราะตึกเหล่านี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อีกมากมาย หากทุบทิ้งไป ประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งของเราก็คงต้องหายสาบสูญไปกับตัวตึก

บางทีอาจต้องหันมา "คิดนอกกรอบ" กันสักนิด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us