ขณะที่ประเทศไทยกำลังดำเนินความพยายามที่จะผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งใหม่ของโลกแฟชั่น ภายใต้แนวความคิดที่ยิ่งใหญ่ว่าด้วย Bangkok Fashion City ประวัติการณ์กว่า 8 ทศวรรษของ Bunka Gakuen ที่ดำเนินไปอย่างราบเรียบ กลับอุดมไปด้วยบริบทที่เปี่ยมพลังควบคู่กับทิศทางของพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกลมกลืน
จากจุดเริ่มต้นในฐานะ Namiki Women's and Children's Dressmaking School ตามชื่อของ Isaburo Namiki ผู้ก่อตั้ง เมื่อปี 1919 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Bunka Sewing School for Women ในปีต่อมาสถานศึกษาในเชิงวิชาชีพแห่งนี้นับเป็น Educational Institute of Dressmaking แห่งแรกของญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองฐานะจากหน่วยงานของรัฐ เมื่อปี 1923 และถือเป็นปฐมบทของพันธกิจยิ่งใหญ่ที่ไม่ได้ประกาศในเวลาต่อมา
ประวัติการณ์แห่งการเกิดขึ้นของ Bunka Gakuen ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นท่ามกลางสุญญากาศที่เลื่อนลอย หากแต่เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของญี่ปุ่น ที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยแห่งการปฏิรูปและเปิดประเทศไปสู่ความทันสมัยของยุค Meiji (Meiji : 1868-1912) ซึ่งมุ่งสร้างเสริมความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานขนาดเบา ก่อนการก้าวสู่กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งระบบ เพื่อให้ทัดเทียมและสามารถแข่งขันกับพัฒนาการของโลกตะวันตกด้วย
ขณะเดียวกันพัฒนาการของอุตสาหกรรมสิ่งทอญี่ปุ่นในสมัย Taisho (Taisho : 1912-1926) ซึ่งต้องเผชิญกับห้วงเวลาอันหนักหน่วงของสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นกลไกในการสร้างเสริมมูลค่าการส่งออกและลดทอนการนำเข้า เพื่อระดมเงินตราต่างประเทศสำหรับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพ ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์หลักของรัฐบาลญี่ปุ่น การเติบโตขึ้นของอุตสาหกรรมสิ่งทอญี่ปุ่น จึงดำเนินไปควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการทหาร อย่างมีนัยสำคัญ
กระนั้นก็ดี การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมิติของชื่อสถาบันแห่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นกระบวนทัศน์ที่แหลมคม เมื่อสถาบันแห่งนี้เลือกที่จะใช้คำว่า Bunka ในภาษาญี่ปุ่นซึ่งหมายถึง "วัฒนธรรม" มาเป็นสื่อในการแสดงหลักปรัชญาพื้นฐานและแนวความคิดของสถาบันไว้อย่างชัดเจน
โรงเรียนสอนการตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งนี้ ได้วิวัฒน์ไปสู่การเป็น Bunka Fukuso Gakuen (Bunka Fashion College) ในปี 1936 ที่มิได้มุ่งเน้นเฉพาะการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถในเชิงการตัดเย็บตามแบบเท่านั้น หากความมุ่งหมายที่กลายเป็นรากฐานสำคัญของสถาบันแห่งนี้อยู่ที่การปรับปรุงและพัฒนารูปแบบของเครื่องแต่งกายในญี่ปุ่นให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่ดำเนินไป ภายใต้การศึกษาวิจัยผ่านมิติในเชิงวัฒนธรรม
พื้นฐานจากแนวความคิดดังกล่าว ส่งผลให้ Bunka Gakuen รวบรวมเก็บรักษาและสะสมเสื้อผ้าอาภรณ์หลากหลายชนิดจากนานาประเทศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง และทำให้ Bunka Gakuen มีฐานะเป็นคลังข้อมูลความรู้ที่สามารถสืบค้นพัฒนาการและความเป็นไปของแต่ละยุคสมัย เพื่อสรรสร้างนวัตกรรมสำหรับอนาคตได้อย่างน่าสนใจ ขณะที่องค์ความรู้ที่ได้รับการสะสมมาอย่างต่อเนื่องนี้ ได้กลายเป็นจุดกำเนิดของ Bunka Gakuen Costume Museum เมื่อปี 1979 อีกด้วย
เป็น knowledge-based ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ท่ามกลางกระบวนการค้นคว้า วิจัยและสังเคราะห์ ที่สามารถนำมาต่อยอด งอกเงยผลิดอกออกผลได้อย่างมั่นคงและมีรากฐานเชื่อมโยงกับความเป็นไปของสังคมโดยองค์รวม
ขณะเดียวกันตำราเรียน Bunka Dress-making Course และสื่อสิ่งพิมพ์ของ Bunka Fukuso Gakuen โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิตยสาร So-en ซึ่งถือเป็นนิตยสารแฟชั่นฉบับแรกของญี่ปุ่นได้เริ่มตีพิมพ์เผยแพร่จำหน่ายมาตั้งแต่ปี 1936 ได้กลายเป็นประหนึ่งคู่มือของการเรียนรู้ และเผยแพร่เทคนิควิธีการตัดเย็บเสื้อผ้าแบบตะวันตก ซึ่งแม้จะเป็นวัฒนธรรมที่เข้าสู่ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องจากผลของการเปิดประเทศมาตั้งแต่สมัย Meiji แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัดเฉพาะ กลุ่ม ให้กระจายเข้าสู่การรับรู้ในระดับสาธารณะ มากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของการปลุกกระแสความนิยม ที่ทำให้จำนวนนักเรียนของ Bunka Gakuen เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี แม้ในช่วงปี 1941 ที่สถานการณ์โดยทั่วไปจะเต็มไปด้วยความไม่สงบอันเกิดจากสภาวะสงคราม โลกครั้งที่ 2 แต่นักเรียนของ Bunka Gakuen ขณะนั้นก็มีจำนวนมากกว่า 3,000 คน
บทบาทและความเป็นมาของ Bunka Gakuen ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังกล่าว เป็นภาพสะท้อนวิสัยทัศน์ที่เริ่มต้นจากแนวความคิดเล็กๆ หากแต่มั่นคงด้วยหลักการและปรัชญาที่ก้าวหน้าของการเป็นโรงเรียนสอนตัดเย็บเสื้อผ้า
สอดรับกับการที่อุตสาหกรรมสิ่งทอของญี่ปุ่น กลายเป็นกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดพลวัตทางเศรษฐกิจ ก่อนการฟื้นตัวครั้งใหญ่ เพราะนอกจากอุตสาหกรรมสิ่งทอจะก่อให้เกิดการจ้างแรงงานแล้ว ความสามารถที่จะผลิตเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่สำคัญของมนุษย์ ยังช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และลดทอนการพึ่งพิงการนำเข้า ขณะที่พัฒนาการของกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยังเป็นประหนึ่งบันไดไปสู่การพัฒนาเครื่องจักรกลการผลิต และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ในอนาคต
สัญลักษณ์ที่ถือเป็น epoch-making แห่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับยุคสมัยใหม่ของ Bunka Gakuen เริ่มขึ้นในปี 1955 เมื่ออาคารรูปทรงกระบอกสูงที่มีฐานกลม ซึ่งถือเป็นเทคนิคการก่อสร้างแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในญี่ปุ่น ปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในฐานะอาคารหลักของสถาบัน เพื่อเป็นการสื่อแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์และความโดดเด่นของ Bunka Gakuen ที่ดำเนินไป โดยครอบคลุมบริบทของคำว่า fashion ไว้อย่างรอบด้าน ทั้งในมิติของการบริหารธุรกิจ การจัดการอุตสาหกรรม การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การออกแบบ รวมถึงประเด็นว่าด้วยมิติทางวัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐานของ fashion ด้วย
ขณะเดียวกัน ในปี 1955 นี้เองที่ Bunka Gakuen ได้ขยายบริบทไปสู่การเป็นสถาบันการศึกษาด้านเครื่องแต่งกายและแฟชั่นระดับนานาชาติ โดยมีนักศึกษาจากต่างประเทศให้ความสนใจเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้ ก่อนที่ Bunka Gakuen จะเป็นสถาบันด้านแฟชั่นแห่งแรกของญี่ปุ่น ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเพศชายเข้าศึกษาได้ในปี 1957 โดยมี Kenzo Takada เป็นนักศึกษาชายในรุ่นบุกเบิกนี้
แม้ว่า Bunka Gakuen จะมีภาพลักษณ์ เกี่ยวเนื่องกับแฟชั่นและการเป็นสถานศึกษาสำหรับสตรี แต่ fashion designer ชั้นนำที่เป็นบุรุษเพศจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น Yohji Yamamoto, Jun Takahashi (Undercover), Atsuro Tayama (Indivi), Keita Maruyama, Mitsuhiro Matsuda, Hybta Watanabe-(Junya Watanabe) รวมถึง Junko และ Michiko สองสตรีพี่น้องแห่งตระกูล Koshino ต่างล้วนดำรงสถานะเป็นศิษย์เก่าของ Bunka Fashion College เช่นกัน
ศิษย์เก่าของ Bunka Gakuen ที่โลดแล่นอยู่ในโลกแฟชั่นเหล่านี้ ได้หนุนนำให้ Tokyo มีสถานะเป็นมหานครเอกแห่งโลกแฟชั่น นอกเหนือไปจาก New York, London, Paris และ Milan ที่ล้วนยึดกุมชีพจรแวดวงแฟชั่นของโลก
ความโดดเด่นของ fashion designer เหล่านี้ในด้านหนึ่งนอกจากจะเป็นการแทรกเข้าไปมีบทบาทในการส่งผ่านทัศนะ และท่วงทำนองทางวัฒนธรรมผ่านการออกแบบ fashion แล้ว ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ fashion designer เหล่านี้ดำเนินไปไกลกว่าการเป็นเพียงช่างฝีมือ ที่มีเทคนิคและความชำนาญการเป็นเลิศ หากพวกเขามีความเข้าใจบริบททางธุรกิจ และมีความพร้อมที่จะสร้างให้เกิด brand สินค้าในลักษณะของ signature brand ที่มีอิทธิพลต่อ การร่วมกำหนดทิศทางของโลกแฟชั่นไม่น้อย
เป็นบทบาทของ fashion designer ที่ ดำเนินควบคู่ไปกับระดับความสามารถของกระบวนการผลิตและนวัตกรรมด้านเส้นใย ที่จะแปรเปลี่ยนความคิดบรรเจิดที่ปรากฏอยู่บนแผ่น กระดาษไปสู่การผลิตอย่างเป็นอุตสาหกรรม ซึ่ง เป็นกรณีที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
|