|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ 5 กรกฎาคม 2548
|
|
บทบาทของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของตลาดทุนไทย ทำให้ความพยายามผลักดันผลงานให้ปรากฏออกมาแบบมืออาชีพที่แท้จริง เป็นสิ่งที่จำเป็น
ต้องยอมรับว่าชื่อของก้องเกียรติ โอภาสวงการ ที่เริ่มโดดเด่นขึ้นในตลาดหุ้นไทยได้เมื่อ 17 ปีก่อน มิใช่มาจากสถานะของเขาที่เป็นผู้จัดการของแบริ่งรีเสิร์ช ประเทศไทยเพียงอย่างเดียว
แต่มาจากบทบาทของเขาที่พยายาม แสดงออกถึงความเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มืออาชีพคนแรกๆ ของไทย ที่อาศัยการวิเคราะห์ตามหลักการ โดยพิจารณาจากปัจจัยรอบด้าน มิใช่การวิเคราะห์จากข่าวที่เกิดขึ้นแต่ละวันเพียงอย่างเดียว
ทุกวันนี้ภาระหน้าที่ในฐานะประธาน กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส (AST) งานหลักของเขาคือการเจรจาเพื่อทำดีลต่างๆ ไม่ใช่การนั่งดูข้อมูลเพื่อวิเคราะห์หุ้นตัวนั้นตัวนี้ ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรเหมือนในอดีต
แต่เขายังมีความกังวลต่อแนวทางการทำงานของนักวิเคราะห์รุ่นน้อง ทั้งในฐานะนักวิเคราะห์รุ่นพี่ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
การเรียกประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เมื่อ 1 เดือนเศษๆ ที่ผ่านมา โดยมีวาระที่ต้องการให้นักวิเคราะห์ปรับแนวคิดใหม่ในการคำนวณและเปรียบเทียบผลกำไร ของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ เนื่องจากเป็น ปีที่บริษัทหลายแห่งเริ่มมีภาระต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล หลังจากได้รับการยกเว้นมา 7 ปี หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา
เพราะเป็นเสมือนการส่งสัญญาณให้ กับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้รับรู้ว่า การจะทำบทวิเคราะห์ใดๆ ออกมา จะต้องมองปัจจัยต่างๆ ให้รอบด้าน มิใช่ให้น้ำหนักไป ยังปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดเพียงอย่างเดียว
"ทุกวันนี้นักวิเคราะห์มีจำนวนมาก และบางคนก็ยังเด็ก อาจไม่มีประสบการณ์" เขาให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"
ที่เขาต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะมองว่าภาระภาษีที่แต่ละบริษัทต้องเริ่มจ่าย ทำให้เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะตัวเลข กำไรต่อหุ้น (EPS) ระหว่างปีนี้กับปี 2547 แล้ว จะดูเหมือนว่าหลายบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรลดลง ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่หลายบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น
แต่เนื่องจากต้องเข้ามาแบกรับภาระภาษีที่เริ่มจ่าย ทำให้ตัวเลขออกมาเหมือนจะไม่เป็นไปตามความสามารถในการทำกำไรที่แท้จริงของแต่ละบริษัท
"ปีนี้เป็นปีที่พิเศษ เพราะหลายบริษัทต้องเริ่มจ่ายภาษี ดังนั้นหากนักวิเคราะห์ไม่เข้าใจในจุดนี้แล้วนำตัวเลขผลกำไรต่อหุ้น ไปเปรียบเทียบกับผลกำไรที่แต่ละบริษัทเคยทำได้เมื่อปีที่แล้ว จะไม่เป็นการสะท้อนภาพที่แท้จริง"
ทางออกสำหรับเรื่องนี้ เขาแนะนำให้นักวิเคราะห์ ควรพิจารณาเปรียบเทียบจากตัวเลขกำไรขั้นต้นของแต่ละบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) สำหรับบริษัททั่วไป และกำไรขั้นต้นก่อนหักดอกเบี้ย และภาษี (EBIT) ของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แล้วนำไปเปรียบเทียบกับตัวเลขเดียวกันของปี 2547 จึงจะเห็นภาพชัด
แต่หลังจากปีนี้เป็นต้นไป เมื่อทุกบริษัท มีฐานภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเรื่องภาษีเหมือนกันทุกบริษัทแล้ว การเปรียบเทียบระหว่าง ปีต่อปี ก็สามารถทำได้เช่นเดิม
แผนภูมิการคาดการณ์กำไรต่อหุ้นเปรียบเทียบกับ EBIT และ EBITDA ของหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) ไทยพาณิชย์ (SCB) แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) และบริษัท อ.ส.ม.ท. (MCOT) ระหว่างปี 2547-2549 ซึ่งจัดทำโดยสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง ในประเด็นนี้อย่างเห็นได้ชัด
เมื่อประกอบกับบทวิเคราะห์ภาพรวมของหุ้นแต่ละกลุ่มที่เขาได้ให้ฝ่ายวิเคราะห์ของ AST แตกตัวเลขออกมา ยิ่งทำให้ภาพดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น
(ดูแผนภูมิและล้อมกรอบ "Highlight ประเด็นภาระภาษี" ประกอบ)
ประเด็นการเปรียบเทียบตัวเลขกำไรต่อหุ้นระหว่างปี 2547 กับปี 2548 ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความกังวลของก้องเกียรติ โอภาสวงการ ที่มีต่อนักวิเคราะห์หลักทรัพย์รุ่นใหม่ ที่กำลังมีจำนวนบุคลากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรม
ตามตัวเลขเป้าหมายของตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่กำลังต้อง การเพิ่ม Market Capitalization ซึ่งหมายถึงทั้งการเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนผู้ลงทุน และสินค้าสำหรับการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น
กลไกหนึ่ง ซึ่งต้องเร่งพัฒนา ก็คือเหล่าบรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จะมีบทบาทเป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้ชี้นำการลงทุน ให้กับนักลงทุนได้โดยตรง
|
|
|
|
|