|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ 5 กรกฎาคม 2548
|
|
"การได้ ดร.ประสารมา ถือเป็น very strategic move เลย ทำให้ผมสามารถทำงานแบบนี้ได้ เพราะมีคนที่คอยคัดท้ายให้อยู่แล้ว" บัณฑูร ล่ำซำ พูดเมื่อคืนวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา กลางโต๊ะอาหารในภัตตาคารแห่งหนึ่งที่เมืองเฉินตู มลฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน
เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่เขามีโอกาสทำคือ การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในอนาคตให้กับธนาคารกสิกรไทย นอกเหนือจากภารกิจหลักคือการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับธนาคารกสิกรไทย และกลุ่มธุรกิจในเครือ ที่เพิ่งประกาศตัวออกไปในนาม K Group เมื่อ 2 เดือนก่อน
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เริ่มเข้ามาทำงานในธนาคารกสิกรไทยเมื่อเดือนเมษายน 2547 หลังพ้นวาระจากตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
โดยส่วนตัวทั้งประสารกับบัณฑูรรู้จักกันมาก่อนแล้ว ขณะที่ทั้งคู่ไปเรียนหนังสือที่ Harvard University
"ผมเข้าไปเรียนปริญญาโทปีแรก คุณบัณฑูรไปเรียนอยู่ที่นั่นแล้ว ถือเป็นรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย 1 ปี" ประสารเล่ากับ "ผู้จัดการ"
บัณฑูรเป็นคนชักชวนประสารเข้ามาทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย หลังเขาพ้นจากงานที่ ก.ล.ต. เนื่องจากเห็นว่าเป็นคนที่มีประวัติการทำงานโปร่งใส โดยในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยของประสาร เป็นสัญญาจ้าง มีอายุสัญญา 3 ปี
นับเป็นบุคคลที่มาจากภาครัฐคนที่ 2 ต่อจาก ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่บัณฑูรชักชวนมาดำรงตำแหน่งประธานบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย เมื่อ 2 ปีก่อน
"โดยเนื้องานที่ธนาคารกสิกรไทยมีมากกว่า แต่ระบบรองรับก็มาก มีสต๊าฟ พูดถึงความสบายใจก็สบายใจกว่ามาก เมื่อเทียบกับที่ ก.ล.ต. เพราะไม่ต้องไปยุ่งกับการเมือง คือเราเลือกได้ แล้วในตลาดทุนมันก็เกี่ยวกับผลประโยชน์ต่างๆ ขึ้นอยู่กับเราจะเลือกว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งก็ต้องมีทั้งฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบ ส่วนเรื่องส่วนตัวก็เป็นกำไรชีวิตที่เราได้มีประสบการณ์ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ได้เรียนรู้ เพราะหลายอย่างเมื่อมองจากข้างใน ไม่เหมือนกับมองจากข้างนอก" ประสารบอกถึงความรู้สึก
ตอนประสารเข้ามาเริ่มงาน การปรับโครงสร้างของธนาคารกสิกรไทยยังไม่ได้ข้อสรุปถึงขั้นการผนวกกิจการในเครือขึ้นเป็น K Group แต่แนวคิดที่จะเติมเต็มธุรกิจธนาคารให้ครบวงจรนั้น ถูกวางไว้พอสมควรแล้ว จึงถือว่าเขาได้รับรู้กระบวนการนี้มาโดยตลอด
การเข้ามาของประสาร เป็นการแบ่งเบาภาระงานให้กับบัณฑูรได้อย่างมาก ทำให้เขามีโอกาสมองภาพรวมของกิจการธนาคารได้ในวงกว้าง โดยมีประสารเข้ามารับภารกิจดูแลงานในระดับปฏิบัติการ
"ทุกคนพูดว่า ดร.ประสารมา ผมไม่มีงานทำ ไม่ใช่ ผมก็เปลี่ยนรูปแบบของโจทย์ของผม ดร.ประสารเขาก็มีโจทย์ของเขา แต่เราจะต้องเกาะกันแน่น ต้องเข้าใจในหลักการ นโยบาย หัวแยกไม่ได้ ถ้าข้างล่างเห็นว่าหัวแยก มันจะมีคนแซะ แล้วองค์กรมันจะยุ่ง แต่ ณ ขณะนี้ไม่ หัวเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำงานร่วมกัน แต่แยกกันทำกันคนละด้าน ไม่ใช่ว่าเข้าห้องนั้นไม่ได้ แล้ววิ่งมาห้องนี้ อย่างนี้ไม่ได้ อันตรายที่สุด ถ้ายอมให้ทำอย่างนั้นพัง องค์กรนี้พัง คุณต้องไปจบที่ห้องโน้น ถ้าเรื่องห้องนี้ ก็เป็นเรื่องของนโยบาย" เป็นอีกช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ของบัณฑูร
ทุกวันนี้ ขณะที่บัณฑูรกำลังมองภาพใหญ่ในเรื่องของนโยบายและทิศทางในอนาคต ประสารคือคนที่ต้องเข้าไปดูแลสร้างความกลมกลืนให้กับระดับปฏิบัติการ โดยทุก 2 สัปดาห์ เขาต้องเป็นประธานประชุมร่วมกับกรรมการผู้จัดการบริษัทในเครือ K Group ทุกบริษัท เพื่อให้แนวทางการทำงานที่ประกาศไว้เมื่อ 2 เดือนก่อน มีความคืบหน้า
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประสารได้เป็นประธานในการประชุมโดยมีวาระสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. การทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของ K Group ให้มีพลัง และ 2 คือเรื่อง IT Platform ที่จะต้องเชื่อมประสานกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว
ส่วนในเดือนนี้ (กรกฎาคม) เขามีวาระที่จะต้องพิจารณาเรื่องการจัดยุทธศาสตร์การขาย เพราะปัจจุบันในกลุ่ม K Group มีบางผลิตภัณฑ์ที่เริ่มจะเหลื่อมล้ำกัน เช่น การหาเงินฝาก กับการขายหน่วยลงทุน
"การที่จะผนึกกำลังอันนี้ได้ เราต้องการ 4 อย่าง อย่างที่ 1 คือการจัดยุทธศาสตร์ร่วมกัน อย่างที่ 2 คือการประสานงานในเชิงปฏิบัติการ การบริหารจัดการให้ไปด้วยดี มีประสิทธิภาพ อย่างที่ 3 คือการบริหารข้อมูลข่าวสาร อย่างที่ 4 ที่ต้องทำ คือประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น เราต้องสามารถแก้ไขได้โดยไม่ชักช้า" ประสารเล่า
"จุดสมดุลที่เราบอกว่าเราต้องการเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า กับกำไรที่อาจจะแตกต่างกันไป ระหว่างสินค้าแต่ละตัว ระหว่างกำไรที่จะเข้าธนาคาร หรือบริษัทลูกจะแตกต่างกัน อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่เราต้องมาร่วมกันคิด"
จุดแข็งที่สำคัญที่สุดของธนาคารกสิกรมีอยู่คือฐานลูกค้า และฐานข้อมูลของลูกค้า ซึ่งสิ่งหลังนั้น หากสามารถนำมาผนวกรวมกับฐานข้อมูลของลูกค้าบริษัทในเครือที่มีอยู่ก่อนแล้ว จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ K Group
เพียงแต่จะจัดการบริหารข้อมูลเหล่านี้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และไม่ขัดกับหลักกฎหมายการเปิดเผยความลับของลูกค้า
"บทบาทของ KBANK ในฐานะเป็นพี่ใหญ่และมีข้อมูล เราก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดระบบข้อมูล และทำความเข้าใจกับข้อมูลนั้น ทำความเข้าใจลูกค้า นี่ก็คือคอนเซ็ปต์ KBANK"
ในบทบาทนายแบงก์ ทุกวันนี้ประสารดูจะมีความสบายใจมากขึ้น หากเทียบกับภาระงานในฐานะผู้กำกับดูแลที่เขาเคยปฏิบัติมาตลอดเกือบ 30 ปี
เขาถือว่างานในฐานะกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของเขา
"สิ่งที่ได้เรียนรู้คือเรื่องการตลาด การเข้าถึงลูกค้าสมัยเป็นผู้กำกับดูแล เราพูดอย่างไร เขาก็ต้องฟังเรา แต่พอมาอยู่ในภาคเอกชน เขาไม่จำเป็นต้องฟังเรา เราจะทำอย่างไรให้เขาฟัง เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีหลายอย่างที่ต้องทำในบริบทของ marketing"
|
|
|
|
|